ถาวร สุวรรณ

 ถาวร สุวรรณ  หรือคุณลุงถาวร คลุกคลีอยู่ในแวดวงสื่อมวลชนมานานกว่า 50 ปี  ผ่านประสบการณ์มามากมายทั้งงานหนังสือพิมพ์จากเดลิเมล์  พิมพ์ไทย บ้านเมือง    

    รวมถึงงานนิตยสาร งานหนังสือเล่ม งานสร้างภาพยนตร์ งานเขียนบทภาพยนตร์ หรือแม้กระทั่งงานโทรทัศน์ ลุงถาวรก็ทำมาแล้วทั้งสิ้น

     เรียกได้ว่า ชีวิตลุงถาวร ผ่านประสบการณ์ชีวิตในแวดวงน้ำหมึกมาอย่างโชกโชน นำมาเล่าขานทีไรก็ยังสนุกไม่รู้จบ

    คุณลุงบอกนักข่าวรุ่นหลานว่า อยากรู้ว่าชีวิตนักข่าวสมัยก่อนเป็นอย่างไร ในหนังสือชื่อ "ฝ่าทะเลน้ำหมึก" บันทึกความทรงจำ นักข่าว-นักหนังสือพิมพ์ 50+2 ปี จะบอกได้เป็นอย่างดี      

     ลุงถาวร กล่าวว่า  .."หน้าที่ของนักข่าวในยุคนั้น ยุคที่ต้องดิ้นรนทุกวิถีทาง เพื่อให้ได้มาซึ่งข่าว ข่าวที่นักข่าวต้องหามาให้ได้ท่ามกลางการแข่งขันชิงดี ชิงข่าว โดยไม่กระทบต่อความสัมพันธ์ส่วนตัวที่มีต่อกันอยู่

     ใช่แต่เท่านั้น ยังต้องผจญกับการกีดกันของเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งการไม่ยอมรับรู้ของผู้ที่ตกเป็นข่าวที่เดินหนีแถมคำด่าทอชนิดที่ฟังไม่ได้ด้วย กว่าจะได้รับการยอมรับและร่วมมือในเวลาต่อมาก็ผ่านความบากบั่นของการทำหน้าที่นักข่าวไม่น้อยเลย "

     ลุงถาวร เล่าย้อนความให้ฟังว่า  ยุคที่ จอมพล ป. กำลังฟูเฟื่องพร้อมด้วยบารมียิ่งใหญ่ของจอมอัศวิน "เผ่า" โดยได้ส่งนายตำรวจใหญ่ที่คุ้นเคยกับ คุณแสง   เหตระกูล เจรจาให้ทุนเดลิเมล์ 10 ล้านบาท คุณสนิท(เอกชัย) ทราบเรื่องจากคุณแสงและตกลงกันที่จะไม่รับเงินที่เสนอมา ซึ่งมีเงื่อนไขว่าจะต้องเชียร์คุณเผ่า

     ในตอนสายของวันนั้นพวกเรายังอยู่กันพรักพร้อม รอว่าจะทำอย่างไรต่อไป คุณแสงโทรศัพท์ถึงผมขอให้ลงไปพบ และเมื่อรู้ว่าคุณราเชนทร์ก็อยู่ด้วยจึงขอให้ลงไปพร้อมกัน

     เราสองคนเข้าไปพบคุณแสงในห้องชั้นล่าง "เวลานี้ เท่ากับเขายึดใบอนุญาตการเป็นบรรณาธิการของคุณสนิท เขายังไม่ได้สั่ง เกี่ยวกับเรื่องแท่นพิมพ์ คุณสองคนคิดว่ายังไง"

     "ผมคิดว่า ผู้อำนวยการบอกมาเลยว่าจะให้เราทำยังไง" คุณแสงหันมาทางผม "คุณถาวร พร้อมไหมที่จะจดทะเบียนเป็นบรรณาธิการ"

     ผมหันมามองหน้าคุณราเชนทร์ (วัฒนปรีชากุล) เป็นเชิงปรึกษาแล้วจึงตอบว่า "ถ้าผู้อำนวยการจะสามารถขออนุญาตได้ ผมก็พร้อม" แล้วหันมาหาราเชนทร์อีก "นายว่ายังไง"

     "เอาเลย" คุณราเชนทร์หนุนส่ง

     "ถ้ายังงั้น คุณสองคนจัดการเรื่องที่จะออกหนังสือพิมพ์ที่จะใช้ชื่อบางกอก ไม่มีคำว่าเดลิเมล์ เรื่องใบอนุญาตผมจะจัดการเอง"

     เท่านั้น เราก็กลับขึ้นมาข้างบนจัดการบอกกล่าวกับเพื่อนฝูงที่ยังอยู่กันพรักพร้อม และที่ขาดไม่ได้ก็คือ สายสันติบาลจะต้องไปดูว่า พวกเราถูกคุมขังที่ไหน และมีใครอื่นอีกที่ถูกจับมาคราวนี้ จากนั้นคุณราเชนทร์ก็จัดการเกี่ยวกับหน้าในทั้งหมด หน้าต่างประเทศไม่มี ให้เอาภาพเหตุการณ์เมื่อคืนมาใส่ให้เต็ม แบ่งงานกันทำด้วยหวังว่าจะออกวางตลาดเช้าวันรุ่งขึ้น

     ลุงถาวร เล่าว่า นักข่าวกลับเข้ามาเขียนรายงานการจับกุมซึ่งมีนักหนังสือพิมพ์อื่นถูกจับมาด้วยอีกหลายคน ลงว่า สถานการณ์เป็นบรรยากาศของการปฏิวัติล่ะก็ สายอาชญากรรมแทบไม่ต้องตระเวน ขโมย  ขโจรจะรู้เชิงว่าขืนสุ่มสี่สุ่มแปดไปทำร้ายผู้คนหรือลักทรัพย์ในภาวะเช่นนี้ โทษจะหนักกว่าปกติ นักข่าวโรงพักจึงเปลี่ยนไปตระเวนดูและเก็บภาพทั่วๆ ไป

     การทำงานครั้งนี้ต่างเร่งรีบกันมากทีเดียว คุณราเชนทร์หนักกว่าผมซึ่งจะดูแลหน้าหนึ่ง...ความมืดคืบคลานเข้ามาแล้ว ประมาณสองทุ่มเห็นจะได้ นักข่าวสันติบาลส่งเสียงมาว่า เขาได้ยินว่าตำรวจจะมายึดแท่นพิมพ์ราวๆ ห้าทุ่ม ผมบอกกับคุณราเชนทร์ให้รับรู้ด้วย

     เวลานั้นมีเหลือหน้าหนึ่งกับหน้าต่อข่าวเท่านั้น อย่างไรเสียก็คงจะได้ยินเสียงแท่นพิมพ์ทำงาน เราคิดกันว่า คือชัยชนะของเราด้วย

     ผมจะถามไปทางช่างเรียงตลอดเวลาว่า ทำไปถึงไหนแล้ว ยกหน้าต่อลงไปที่ห้องแท่นหรือยัง หน้าใน "ตบแบบ" หมดหรือยัง และสุดท้ายผมถามว่า สี่ทุ่มเสร็จไหม คำตอบต้องมาจากห้องแท่นคือน่าจะเรียบร้อย

     ผมนั่งไม่ติด เดินลงไปที่ห้องแท่นพิมพ์ซึ่งสมัยนั้นใช้แท่น "ตบแบบ" โดยเป็นแท่นระบบ "โรตารี" เมื่อช่างเรียงยกหน้าหนังสือลงมาแล้วก็จะเอากระดาษที่มีไส้ในเป็นกระดาษซับหนาปิดทับลงบนกรอบหน้าแล้วอัด กระดาษนั้นก็จะเป็น "แบบ" สำหรับขดตามรูปโค้งเพื่อเทตะกั่วหล่อออกมาเป็นหน้าๆ ไป

     ผมยืนดูทุกคนทำงานชนิดที่เรียกว่ารีบเร่งจนคุณเซียว หัวหน้าช่างแท่นหันมายิ้มๆ กับผมคล้ายจะบอกว่า ไม่น่ามีปัญหา

     ครั้นแล้ว หน้าทุกหน้าที่หล่อตะกั่วแล้วก็ถูกยกเข้าไปสอดกับตัวแท่นพิมพ์ อีกไม่กี่นาทีแท่นพิมพ์ก็จะเดินเครื่อง คืนนี้คุณแสงมาอยู่เป็นกำลังใจด้วย แต่ก่อนที่แท่นจะเริ่มเดิน รถจี๊ปตำรวจแล่นพรืดมาจอดหน้าสำนักงาน มีนายตำรวจสองนายพร้อมตำรวจอีกสองคนก้าวลงมาพร้อมกับยื่นหนังสือให้ หมายความว่า แท่นพิมพ์จะจัดพิมพ์สิ่งใดมิได้เลย

     ภาษาของเราเรียกว่า "ล่ามโซ่"

     มันเป็นเวลาสี่ทุ่มพอดี ตำรวจมาเร็วกว่าที่เรารู้ ถ้ามาห้าทุ่มจริง เราก็มีหนังสือออกได้ ผมเดินขึ้นมาบอกกับพรรคพวกถึงเหตุการณ์ คนที่ไม่อยากกลับบ้านก็คงนอนที่นั่นสักคืน รุ่งเช้าจึงค่อยกลับบ้าน เวลาไม่มีความสำคัญกับพวกเราอีกแล้ว

     เสียงดนตรีดังกระแทกกระทั้นท่ามกลางแสงไฟสลัวๆ เสียงนักร้องส่งเสียงเจื้อยแจ้ว เรา-ผมกับราเชนทร์ออกจากสี่พระยาแล้วมาแวะที่ไนต์คลับ "ซาวอย" ตรงใกล้กับสุขุมวิท ซอย 3 ซึ่งปัจจุบันไม่มีแล้ว เรามีความเห็นตรงกันว่า ถึงจะกลับบ้านตอนนี้ก็คงนอนไม่หลับ แวะฆ่าเวลาจนไนต์คลับปิด เราจึงแยกทางกัน

     ก่อนที่คุณราเชนทร์จะแยกทางเขายื่นมือมาจับมือผมและบีบไว้แน่น ถึงจะไม่มีคำพูดหลุดออกมาเราก็ยังคิดว่าสักวันหนึ่งวิถีชีวิตของคนหนังสือพิมพ์คงจะมีโอกาสได้โคจรมาพบกันอีก

     นี่คือส่วนหนึ่งที่ลุงถาวรเล่าถึงการต่อสู้ในยุคที่เสรีภาพของหนังสือพิมพ์ถูกคุกคามไว้อย่างจับใจ

    ปัจจุบัน ลุงถาวรในวัย 84  ปี  เล่าว่า ช่วงนี้ต้องไปหาหมอนวดอยู่เป็นประจำ (แต่อย่าเข้าใจผิด) เพราะเป็นหมอนวดเพื่อสุขภาพ(ครับ)  คุณลุงบอกว่า  ฝีมือชั้นหนึ่งเลย  

      ช่วงหลังปวดเอวไปจนถึงขา เวลาขับรถเหยียบขันเร่งไม่สะดวก หาหมอแผนปัจจุบันอยู่ 2 เดือนไม่หายสักที เพื่อนที่เป็นตำรวจก็พาไปหาหมอนวดย่านฝั่งธนปรากฏว่าดีขึ้น  กลับมาขับรถได้หมือนเดิมแล้ว(ครับ)