ในหมู่นักข่าวรัฐสภาในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ไม่มีใคร ไม่รู้จัก บัญญัติ ทัศนียะเวช หรือ ป้าญัติ อดีตคนข่าวแห่งหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ แม้ว่า ปัจจุบันจะเกษียณจากบางกอกโพสต์ไปแล้ว แต่ก็ยังทำงานให้กับองค์กรสื่อ อย่างขยันขันแข็ง ไม่ว่าจะเป็น ที่ปรึกษา คณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์ แห่งชาติ
ไม่เคยนึกมาก่อนว่า จะมีตำแหน่งอะไร เพราะตอนที่เริ่มต้นทำงาน อายุก็แค่ 20 กว่าๆ เนื่องด้วยคำชวนของเพื่อน เราก็เออออ เข้ามาทำที่หนังสือพิมพ์สยามนิกรเป็นที่แรก เราเริ่มต้นเป็นนักข่าวทั้งที่ไม่มีประสบการณ์ มีเพียงความตั้งใจดีเท่านั้น ซึ่งนับว่าโชคที่สยามนิกรมีนักเขียนชื่อดัง อาทิ มาลัย ชูพินิจ ประจำอยู่จึงได้เห็นและทำให้เกิดแรงใจ จึงอาศัยการเรียนรู้จากรุ่นพี่ และเรียนรู้ด้วยตัวเองมาทำงาน แต่อยู่ที่สยามนิกรได้ประมาณ 5-6 ปี ก็ย้ายมาทำที่หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ และทำอยู่จนเกษียณ ป้าญัติย้อนเรื่องตอนที่เป็นนักข่าวใหม่ให้ฟัง
แม้จุดเริ่มแรกของการเริ่มต้นเป็นหมาเฝ้าบ้าน จะได้มาด้วยความไม่ตั้งใจ แต่ป้าญัติก็ทุ่มเททั้งแรงกาย และแรงใจ ให้กับงานในสายสื่อมวลชนมานานกว่า 50 ปี ด้วยเหตุที่หลงเสน่ห์การทำงานคนข่าว ที่มีเรื่องสนุก ตื่นเต้น ได้ไปไหนต่อไหน และได้พบเจอกับผู้คนมากหน้าหลายตา สำคัญที่สุดได้นำข้อมูล ข้อเท็จจริงมานำเสนอให้กับประชาชนให้ได้รับรู้เรื่องราวต่างๆ แต่สำคัญที่สุดการทำงานแม้ว่าจะน่าสนุก ตื่นเต้น แค่ไหน ก็ต้องใช้ความทุ่มเท มีวิจารณญาณ และความตั้งใจ สนใจในงานข่าว
{xtypo_quote}นักข่าว เป็นวิชาชีพที่มองเผินก็เหมือนกับเป็นการนำข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องเสนอให้กับประชาชน แต่ที่นับวันความเป็นนักข่าวจะยิ่งมีความสำคัญ เพราะข่าวถือว่าเป็นเครื่องมือที่ให้ความรู้แก่ประชาชนดีที่สุด ดังนั้น ไม่ว่ารัฐบาลประชาธิปไตยหรือไม่ สถานการณ์บ้านเมืองจะมีความสลับซับซ้อนเพียงใด คนข่าวจะต้องมีความมุ่งมั่น และจะต้องมีการศึกษา เรียนรู้ตลอดเวลา อยู่เฉยไม่ได้ เพราะสถานการณ์ เหตุการณ์ ก็เปลี่ยนแปลงไป ข่าวสารมีความซับซ้อนยิ่งกว่าเดิม แม้แต่คนที่เป็นหัวหน้าข่าวก็ตาม ต้องตื่นตัวตลอดเวลาตราบใดที่คุณยังอยู่ในวงการ{/xtypo_quote}สำหรับหลักการทำข่าว คนข่าวอาวุโส บอกว่าง่ายๆ คือ ต้องสร้างแหล่งข่าวให้ได้ โดยการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ ซื่อสัตย์กับแหล่งข่าว ทำให้เขาเห็นว่าเขาสามารถเชื่อใจนักข่าวอย่างเราได้ เพราะข่าวบางข่าวที่เรารู้มา ก็อาจจะส่งผลกระทบกับแหล่งข่าวเราได้ หากเราเปิดเผยชื่อ ซึ่งหากแหล่งข่าวขอว่าให้ off record ก็ต้องทำ ดังนั้นแหล่งข่าวของป้าญัติ ส่วนใหญ่จะเป็นรัฐมนตรีที่มาจาก ส.ส. แต่แหล่งข่าวเหล่านั้นมักพูดเกินความจริง ซึ่งนักข่าวเองต้องกลั่นกรอง ใช้วิจารณญาน ให้มาก นอกจากนั้นแล้วนักข่าวเองก็ต้องทำตัวให้น่าเชื่อถือ มีความรับผิดชอบ
ป้าญัติ ในมาดครูข่าวแนะวิธีสร้างแหล่งข่าวสำหรับคนที่อยากจะเป็น คนข่าวตัวจริง ว่าหากนักข่าวใหม่ อยากจะสร้างแหล่งข่าวให้ได้ไว ต้องคิดอย่างเดียวว่า แหล่งข่าวจะพูดกับเราก็ต้องเมื่อเรารู้เรื่อง ดังนั้นนักข่าวใหม่จะต้องศึกษาว่าข้อมูลที่จะไปถามขณะนี้ไปถึงไหนมีอะไรที่จะสอบถามต่อได้ และต้องให้แหล่งข่าวรู้สึกว่า นักข่าวอย่างเราก็รู้ทัน ส่วนการวางตัวกับแหล่งข่าว อย่าให้แหล่งข่าวดูถูกเราได้ ต้องรักษาระยะห่าง เช่น เราจะไม่ไปสนใจซื้อสินบน หรือ สินน้ำใจเขา หากเราแสดงความสนใจ หรือ อยากได้ใคร่ดี เขาก็จะตีค่าเท่านี้เอง หากเราไม่สนใจ เขาก็จะรู้ว่า เขาไม่สามารถที่จะไปประมาทเราได้ สิ่งสำคัญต้องไม่เห็นแก่เล็กน้อย ลุ่มหลงในสินน้ำใจต่างๆ
และนั่นก็เป็นแนวคิดที่นักข่าวที่ถือว่าตัวเองเป็นหมาเฝ้าบ้าน พิทักษ์การรับรู้ข่าวสารอย่างตรงไปตรงมาของประชาชนใช้เป็นแนวทางทำงานมาตลอดชั่วอายุอาชีพ และแนวทางดังกล่าวนี้เองที่ทำให้นักข่าวหญิงที่ชื่อ บัญญัติ อยู่ในวงการนักหนังสือพิมพ์นี้มาอย่างยาวนานและสง่างาม
นอกจากนั้นแล้วช่วงที่ป้าญัติทำงานเป็นนักหนังสือพิมพ์ ก็ได้อุทิศเวลาส่วนหนึ่งทำงานให้กับ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ โดยได้รับตำแหน่งหลายตำแหน่ง อาทิ เป็นกรรมการ เป็นเลขาธิการสมาคมฯ และได้ก้าวสู่ตำแหน่งนายกสมาคมฯ เมื่อ ปี พ.ศ. 2535 และเป็นปีที่เกิดเหตุการณ์นองเลือด พฤษภาทมิฬ นายกฯหญิงเหล็ก ได้ทำหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ อาทิ ออกแถลงการณ์ประณามการใช้ความรุนแรง และเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจ อย่าทำร้าย สื่อมวลชนที่ออกไปทำข่าวภาคสนามเพื่อนำข้อเท็จจริงรายงานไปยังประชาชน
ในปีต่อมา บัญญัติ ทัศนียะเวช ก็ได้รับความไว้วางในใจให้ดำรงในตำแหน่งอีก1สมัย
การทำหน้าที่คนสื่อ เพื่อสื่อมวลชน ยังไม่หมดเท่านั้น ในปี พ.ศ. 2540 ก็ได้มีการตั้งสภาการหนังสือพิมพ์เพื่อดูแลองค์กรวิชาชีพสื่อ
เมื่อเกษียณจากบางกอกโพสต์ ป้าญัติ ได้รับตำแหน่งประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติโดยการสนับสนุนจากคนในวงการ อย่างพร้อมเพรียง
ถึงแม้จะพ้นอาชีพผู้สื่อข่าว แต่ ป้าญัติ อันเป็นที่รักของคนในวงการนักหนังสือพิมพ์ยังวนเวียนในแวดวงสื่อมวลชนมาโดยตลอด
หลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ชื่อของ บัญญัติ ทัศนียะเวช ติด 1 ใน 240 ของผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
{xtypo_quote}การทำหน้าที่ในสภา เราก็ได้ทุ่มเทอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการแสดงความคิดเห็น อภิปรายที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพ ถือว่าเราได้รับผิดชอบต่ออาชีพ ต่อเกียรติยศ เกียรติศักดิ์ของสื่อสารมวลชน เราจึงถือจริยธรรมเป็นกรอบในการปฏิบัติงานมาโดยตลอด ผลงานที่ผ่านมาก็ได้มีส่วนในการผลักดันกฎหมายหลายฉบับที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสื่อ อาทิ พ.ร.บ. จดแจ้งการพิมพ์ 2550{/xtypo_quote}บทส่งท้ายของ นักข่าวรุ่นลายคราม ที่มองลอดแว่นถึงสภาพการทำงานของบุคคลที่ได้ชื่อว่าอยู่ในอาชีพสื่อมวลชน ว่า แม้ว่านักข่าวรุ่นใหม่จะมีความพร้อมในการทำงานอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นความรู้ และอุปกรณ์ แต่มีสิ่งหนึ่งที่จับได้ถึงความเปลี่ยนแปลงคือ ความสัมพันธ์ระหว่างนักข่าว กับเพื่อนนักข่าว แม้กระทั่งหัวหน้าข่าว ที่ปัจจุบันแทบจะเรียกได้ว่า ตัวใครตัวมัน
แต่กระนั้นแล้วยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่คนข่าวพึงรักษาให้มั่น คือ ศักดิ์ศรี เกียรติยศ ความภาคภูมิใจในวิชาชีพ หมาเฝ้าบ้าน หากจะยึดอาชีพนี้ไปตลอดแล้ว สิ่งที่กล่าวมาข้างต้นจะต้องคงไว้อย่างมั่นคง ไม่เปลี่ยนแปลง ดั่งเสาหลักแห่งวิชาชีพ
{xtypo_quote}สิ่งที่ถือว่าเป็นความสำเร็จของคนวิชาชีพสื่อ ไม่ได้ขึ้นอยู่ที่เงินทอง แต่อยู่ที่การยอมรับของสังคม และคุณมีศักดิ์ศรีที่จะยืนอยู่ในสังคมนี้ได้เช่นไร{/xtypo_quote}