อัศศิริ ธรรมโชติ

 การทำหนังสือพิมพ์ ก็คือทำงานศิลปะอย่างหนึ่ง

วรพล กิตติรัตวรางกูร

อีกหนึ่งนักเขียนนักหนังสือพิมพ์ ที่แม้หลายคนจะรู้จักเขาในฐานะนักเขียนเจ้าของรางวัลซีไรท์ปี 2524 และศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์มากกว่านักหนังสือพิมพ์ แต่ อัศศิริ ธรรมโชติ  ที่ปัจจุบันปักหลักในฐานะคอลัมนิสต์แห่งสนามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ก็เป็นอีกหนึ่งคนที่อยู่ในวงการสื่อแขนงสิ่งพิมพ์มายาวนานและยืนหยัดในความคิดและความเชื่อของตัวเอง หลังจากผ่านประสบการณ์มาอย่างโชกโชน จากหลายที่ ทั้งหนังสือพิมพ์ "ประชาชาติ" , "สยามรัฐรายวัน" , "สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์" , "มาตุภูมิ" , "สู่อนาคต" ก่อนจะยึดหน้าสุดท้ายของสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์มาอย่างยาวนาน

{xtypo_quote}น้าอัศฯ ของน้องๆหลายคนในวงการนักเขียน และแวดวงวรรณกรรมรวมถึงคนทำสื่อ บอกด้วยความเชื่อของเขาอย่างเต็มเปี่ยมในท่ามกลางการพยากรณ์จากหลายคนว่าสื่อสิ่งพิมพ์โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์กำลังอยู่ในสถานการณ์ลำบากในอนาคตที่การรับรู้ข่าวสารจะผ่านเทคโนโลยีและสื่อมัลติมีเดียเกือบทุกอย่าง แต่สำหรับ อัศศิริ บอกว่าเป็นเรื่องจริงที่ต่อไปคนจะเปิดรับข่าวสารจากสื่อเทคโนโลยีโดยเฉพาะอินเตอร์เน็ตกันเป็นส่วนใหญ่ แต่ขอให้เชื่อเถอะว่าสื่อสิ่งพิมพ์โดยเฉพาะ หนังสือพิมพ์ไม่มีวันตายและหายไปจากโลกนี้{/xtypo_quote}

เจ้าของงานเขียนที่ถ่ายทอดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 มาเป็นแรงบันดาลใจในการเขียนเรื่องสั้นแนว สัจจนิยม อย่าง "เธอยังมีชีวิตอยู่อย่างน้อยก็ในใจฉัน"และอีกหลายเรื่องจนนำไปสู่การรวมงานเขียนเรื่องสั้นครั้งแรกของเขาในชื่อ "ขุนทอง...เจ้าจะกลับเมื่อฟ้าสาง" ซึ่งได้รับรางวัลสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งเอเซียนหรือซีไรท์ ปี พ.ศ.2524 สะท้อนภาพอิทธิพลทางการเมืองและการทหารของยุคอดีตกับปัจจุบันในรูปแบบของการเสนอข่าวในเวลานี้ว่า

{xtypo_quote}สมัยก่อนการทำข่าวต่างจากยุคนี้ เดิมผมว่านักข่าวกับแหล่งข่าวมีความเคารพนับถือกันและกันสูง แต่ไม่ใช่หมายความว่าเคารพแล้วไม่ตรวจสอบนะ แต่เคารพในแง่ความเป็นผู้ใหญ่และการแข่งขันหาข่าวสมัยก่อนไม่ร้อนแรงเหมือนสมัยนี้ อย่างจะให้โทรไปเช็คข่าวกับแหล่งข่าวดึกๆ สมัยก่อน 2-3 ทุ่มก็ไม่ได้แล้วเพราะเกรงใจผู้ใหญ่ ต่างกับสมัยนี้ที่มีโทรศัพท์มือถือก็โทรเช็คกันได้ตลอด แต่สมัยผมเราไม่กล้ารบกวนผู้ใหญ่กันขนาดนั้น สมัยก่อนผมว่านักข่าวที่ถือว่าเก่งและเป็นศูนย์รวมนักข่าวเก่งๆคือสายทหาร เพราะสมัยอดีตทหารมีบทบาทสำคัญมากทั้งการเมือง ความมั่นคง ข่าวปฏิวัติต่างๆ{/xtypo_quote}

 อัศศิริ บอกว่ายุคก่อนหนังสือพิมพ์เน้นการต่อสู้กันที่ความคิดและการวิเคราะห์ของปรากฏการณ์ข่าว หนังสือพิมพ์ที่มีคนเก่งๆด้านนี้ก็จะได้เปรียบเช่นสยามรัฐ สมัยก่อนที่มีอย่าง ทหารเก่า ที่ทำงานจนถึงอายุเกือบ 90 ปีหรือสละ ลิขิตกุล ที่จะไปนั่งฟังการประชุมสภาผู้แทนราษฏรทุกนัดแล้วกลับมานั่งเขียนว่าวันนี้ส.ส.แต่ละคนเขาพูดถึงปัญหาเดือดร้อนของประชาชนอย่างไร ส่วนสื่อทีวีและวิทยุสมัยก่อนไม่ได้เน้นข่าวสารมากนักเป็นสื่อเพื่อการบันเทิงเป็นหลัก บทบาทของหนังสือพิมพ์สมัยก่อนจึงสูงมาก

เมื่อเราถามว่าสมัยก่อนอย่างนักข่าวใหม่ๆที่เข้ามาจะมีการสอนการทำข่าวอย่างไร  อัศศิริ เล่าภาพให้ฟังว่าตอนเขาเข้ามาที่สยามรัฐรายวัน ที่มีพล.ต.ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ยังคุมหนังสือพิมพ์สยามรัฐอยู่ อันดับแรกนักข่าวแต่ละคนต้องรู้ทิศทางและนโยบายของหนังสือพิมพ์ตัวเองก่อน สิ่งที่จะรู้ก็คือต้องอ่าน บทนำหนังสือพิมพ์ เพราะบทนำหนังสือพิมพ์คือจุดยืนของหนังสือพิมพ์ต่อเรื่องนั้นๆ เราก็จะรู้ว่าเรื่องนี้แนวทางจะเป็นอย่างไร และสิ่งสำคัญไม่ว่านักข่าวยุคไหนหากจะเป็นนักข่าวที่ดีก็ต้อง ทำการบ้าน อย่างพล.ต.ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ นักข่าวคนไหนไปสัมภาษณ์แล้วไม่ทำการบ้านมาถามถูกไล่กลับหมดว่าทำไมไม่ทำการบ้านมาก่อน

{xtypo_quote}นักข่าวที่ดีผมว่าต้องมีพื้นฐานการอ่านที่ดีมาก่อน แต่เท่าที่เห็นนักข่าวรุ่นใหม่ๆไม่ทำการบ้าน ไม่อ่านหนังสือ พอไม่อ่านยิ่งเป็นคนทำหนังสือพิมพ์มาทำงานก็เขียนข่าว เขียนวิเคราะห์ข่าวลำบาก เพราะเขาไม่มีพื้นฐานการจัดวางระบบความคิด พอมาปะทะกับข่าวเขาก็กลายเป็นเหยื่อ เพราะไม่รู้จริง ไม่มีพื้นฐานในสิ่งที่ไปทำข่าว{/xtypo_quote}

นักเขียนเรื่องสั้นผู้โด่งดังคนนี้ มีข้อเสนอแนะสำหรับนักข่าว-นักหนังสือพิมพ์ที่สนใจอยากเป็นนักเขียนหรือคิดจะเอาดีทางการเขียนเช่นเขียนรายงาน เขียนสกู๊ป เขียนวิเคราะห์ข่าว จนกระทั่งเขียนวรรณกรรมด้วยว่า

{xtypo_quote}โดยพื้นฐานนักข่าวเป็นนักเขียนอยู่แล้ว ยิ่งคนทำหนังสือพิมพ์ยิ่งต้องเขียนทุกวันอยู่แล้ว การส่งข่าวทางโทรศัพท์หากทำบ่อยๆคงไม่ดีเพราะจะทำให้ขาดพื้นฐานการเขียนและการจัดระบบความคิด ยกเว้นแต่สถานการณ์ในเวลานั้นที่ทำให้ต้องส่งข่าวทางโทรศัพท์ การเขียนข่าวจะทำให้ฝึกการจับประเด็น การเรียบเรียงความคิด เพราะเทปสัมภาษณ์ 2 ม้วนหากจับประเด็นไม่ได้ก็ทำงานไม่ได้เพราะไม่มีทางที่หนังสือพิมพ์จะลงข่าวทั้งหมดในม้วนเทปสองม้วน การเริ่มต้นหากจะเขียนหนังสือหรือคนทำสื่ออยากเป็นนักเขียนอาชีพเลย เริ่มต้นจากสองอย่าง 1.อ่านในสิ่งที่คนอื่นเขียน 2.ลงมือเขียนเลย{/xtypo_quote} {xtypo_quote}จริงๆอาชีพนักข่าวหากจะมาเป็นนักเขียน ถือว่าได้เปรียบคนอื่น เพราะว่าได้เห็นประสบการณ์จริง ได้พบปะเหตุการณ์มากมาย ได้คุยกับคนหลากหลายอาชีพ ยิ่งอยู่ในสนามข่าวก็ยิ่งเห็นภาพทุกอย่าง และนักข่าวจะมีพื้นฐานการจับประเด็นข่าวอยู่ เช่นเขียนให้กระชับ เขียนให้คนสนใจ ตรงนี้พอจะหัดเป็นนักเขียนจะง่ายมาก อย่างเช่น ไปทำข่าวไฟไหม้ เวลาเราส่งข่าวเข้าไปก็อาจจะเขียนในรูปแบบการเสนอข่าวธรรมดา ว่าเกิดเหตุที่ไหนอย่างไร ตัวข่าวจะดราม่ามากไม่ได้ แต่ภาพที่เราเห็นเช่น เสียงคนกรีดร้อง ร่ำไห้เพราะสูญเสียทรัพย์สินหรือคนรัก คนร้องตกใจเพราะกำลังจะหมดตัวแล้วบ้านที่ไฟไหม้ก็มักจะเกิดกับบ้านคนจนทุกครั้ง บ้านคนรวยไม่ค่อยไฟไหม้ เราเห็นภาพการทำงานของเจ้าหน้าที่ เห็นสีหน้าความหวาดกลัวของคนเข้าไปดับไฟ เห็นการกรีดร้อง เห็นภาพคนเสี่ยงชีวิตเข้าไปช่วยแมวที่ติดไฟเพราะไม่ต้องการให้แมวตาย ภาพแบบนี้ถ้าส่งเป็นข่าวมันไม่ได้อะไรมาก แต่ถ้ามาเป็นการถ่ายทอดงานเขียน มันสะท้อนอารมณ์ความรู้สึก ทำให้คนอ่านเห็นภาพและรู้สึกตาม มันก็เหมือนกล้อง ขึ้นอยู่กับว่านักข่าวคนนั้นจะเลือกเอามุมไหนของกล้อง ของข่าวที่พบมาเล่า หรือแค่วันที่หัวหน้าพรรคการเมืองเดินขึ้นไปจับเลขที่จะใช้หาเสียง สีหน้าตอนจับเบอร์ เสียงร้องกองเชียร์ ก็เขียนเป็นงานเขียนได้แล้ว จะเห็นได้ว่านักข่าวจะมีวัตถุดิบสูงมากหากคิดจะมาเป็นนักเขียน{/xtypo_quote}

เมื่อเราถามแย้งว่าแต่การเขียนหนังสือแบบนี้มันต้องอาศัยความรู้สึกหรือทักษะพิเศษหรือไม่ เพราะใช่ว่าใครจะเขียนงานเป็นวรรณกรรมได้ทุกคน โดยเฉพาะงานข่าวที่ต้องอยู่กับความจริงเป็นหลักของอาชีพนี้  อัศศิริ แย้งว่า ใครกันที่คิดเช่นนั้นก็ปิดความเป็นศิลปินของตัวเอง

ทำเอาเราประหลาดใจที่ศิลปินแห่งชาติผู้นี้บอกว่า งานข่าวกับศิลปะ อยู่ห่างกันแค่เอื้อมหรือแท้ที่จริง มันเกี่ยวโยงกันและกันอยู่ในที

{xtypo_quote}การทำหนังสือพิมพ์ก็คือการทำงานศิลปะแขนงหนึ่ง ทุกบริษัททุกออฟฟิศต่างก็มีศิลปิน จริงอยู่ว่าข่าวคือข้อเท็จจริง แต่การถ่ายทอดออกมามันต้องมีศิลปะด้วย หนังสือพิมพ์ที่ดีที่สมบูรณ์ต้องใช้ภาษาสวย การเขียนข่าวที่หนังสือพิมพ์มีข้อจำกัดไม่เหมือนโทรทัศน์ ดังนั้นข่าวที่ตีพิมพ์ต้องทำให้คนอ่านเห็นภาพได้ สมัยผมเรียนอยู่นิเทศศาสตร์ จุฬาฯอาจารย์ประยูร จรรยาวงษ์ นักวาดภาพการ์ตูนส์ของไทยรัฐที่ปัจจุบันเสียชีวิตไปแล้ว ท่านไปสอนที่คณะ ท่านบอกว่าหากคุณคิดจะอยู่ในวงการหนังสือพิมพ์แล้วคุณเขียนหนังสือได้ คุณจะอยู่ในอาชีพนี้ได้อย่างถาวรตลอดชีวิต เพราะการเขียนซึ่งก็อยู่ในหนังสือพิมพ์ทั้งเขียนข่าว เขียนบทความ เขียนรายงาน มันคือวรรณศิลป์ หนังสือพิมพ์ไม่ใช่เพียว์อาร์ท แต่การถ่ายทอดต้องอาศัยคนที่เข้าใจในศิลปะ เช่นคนพาดหัวข่าว ที่จะมีเนื้อที่มาให้ว่าต้องใช้กี่คำ ที่พาดหัวข่าวแล้วทำให้คนสนใจและเข้าใจได้ทันที ถ้าคุณไม่มีศิลปะในการใช้ภาษาและถ่ายทอดภาษาออกมา ก็พาดหัวข่าวไม่ได้ การพาดหัวข่าวจึงเป็นศิลปะแห่งการใช้ภาษาอย่างหนึ่งหรือการนำภาพมาประกอบหนังสือพิมพ์ก็ต้องดูว่าภาพไหนจะให้ความรู้สึกกับคนอ่านได้มากที่สุดในแต่ละวัน หนังสือพิมพ์จึงเป็นศิลปะแห่งการใช้ภาษอย่างแท้จริง{/xtypo_quote}

นักเขียนซีไรท์ยังย้ำเตือนมายังน้องๆนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ ที่ขยันขันแข็งในการหาข่าวแต่ไม่ชอบการเขียนรายงานหรือการเขียนวิเคราะห์ว่าขอให้รีบเปลี่ยนความคิดนี้ แล้วเริ่มต้นเขียนอะไรก็ได้ เพื่อพัฒนาตัวเองให้มีความชำนาญมากขึ้นในวิชาชีพนี้

{xtypo_quote}ในความคิดผม การออกไปหาข่าวก็เหมือนการออกไปรบ วันหนึ่งก็ต้องมีอ่อนล้าไปตามวัย แล้วจะมาทำข่าวแบบเดิมๆทุกวันคงไม่ได้ การเขียนหนังสือหรือเขียนวิเคราะห์ วิพากษ์วิจารณ์ได้มันจะดีกับตัวเราอย่างมาก และทำให้เรามีทางเลือกในวิชาชีพนี้มากขึ้น ยิ่งปัจจุบันข่าวสารมันท่วมโลก แต่คนเสพข่าวเขาไม่รู้ว่าอะไรคือจริง อะไรคือผลกระทบ หรือเบื้องหลังเป็นอย่างไร เขาก็จะต้องการสิ่งที่มากกว่าข่าว มันก็คือการวิเคราะห์ การสังเคราะห์เบื้องหลังปรากฏการณ์ให้เขาเข้าใจ อย่างอาจารย์คึกฤทธิ์สาเหตุที่ท่านได้รับการยกย่องว่าเป็นปราชญ์ทางการเขียน และคอลัมน์ท่านมีคนอ่านมากเพราะท่านอ่านแล้วก็ถ่ายทอดมาให้คนอ่านเข้าใจได้ง่ายๆ แต่ก่อนท่านจะเริ่มลงมือเขียนทุกครั้ง ท่านจะอ่านหนังสือพิมพ์ทุกฉบับทุกเล่มแล้วก็ดูหนังสือพิมพ์สยามรัฐของท่านทุกหน้าทุกบรรทัด หนังสือพิมพ์ผิดตรงไหนท่านรู้หมด{/xtypo_quote} {xtypo_quote}ผมว่ายุคนี้นักข่าวได้เปรียบกว่ายุคผมมากมาย เพราะยุคผมมันเป็นยุคขาดข้อมูลข่าวสารอย่างมาก แต่เวลานี้ข่าวสารมันท่วมโลก มันวิ่งเร็วมาก นักข่าวจึงต้องทำหน้าที่กลั่นกรองให้ผู้อ่านด้วยการวิเคราะห์ ผมอยากเห็นสิ่งเหล่านี้ให้มากขึ้นในหนังสือพิมพ์เพื่อให้คนอ่านได้เข้าใจว่าอะไรคือข่าวปล่อย อะไรคือข่าวที่น่าเชื่อถือ ถ้านักข่าวกลั่นกรองไม่ดีบ้านเมืองก็สับสน ดังนั้นนักข่าวก็ต้องเขียนวิเคราะห์ได้ด้วย มันจะช่วยคนอ่านได้มาก{/xtypo_quote} {xtypo_quote}อย่างการเขียนสกู๊ปข่าวที่ดีหรือรายงานวิเคราะห์ข่าว สิ่งสำคัญคือต้องทำให้คนอ่านเข้าใจได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมันคืออะไร เกิดเพราะอะไรและผลจะเป็นอย่างไร บทความที่ดีจึงต้องมีการเท้าความให้เขาเห็น และนำเสนอข้อมูลเปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่างในบางรายงาน สิ่งสำคัญก็คือการสังเคราะห์ข้อมูลย่อยออกมาให้คนอ่านเข้าใจได้ง่าย และต้องมีการตรวจสอบให้รอบด้าน ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญหรือ Expert ในเรื่องนั้นมายืนยันการเขียนรายงาน อย่างกรณีเรื่องหุ้นชินคอร์ปฯ ลองดูสิทีวีอะไรต่างๆ เขาไม่สามารถทำได้มากนักเพราะมีข้อจำกัดเรื่องเวลา เรื่องการนำเสนอข้อมูล แต่สื่อสิ่งพิมพ์เรามีพื้นที่ มีเวลาสังเคราะห์มาให้เห็นว่าเรื่องนี้มันมีที่มาอย่างไร มีกระบวนการอย่างไร ทำไมคนบอกว่ามีการเลี่ยงภาษี แล้วการซื้อขายผิดปกติอย่างไร ก็ต้องแสดงให้ประชาชนเห็นให้เขาเข้าใจภาพรวมทั้งหมดของกรณีนี้{/xtypo_quote}

เป็นการเสนอแนะจากอดีตบรรณาธิการบทความของนิตยสารวิเคราะห์ข่าวหลายฉบับที่เสนอมุมมองเอาไว้ในเรื่องการเขียนข่าวเชิงวิเคราะห์

 อัศศิริ ออกตัวเมื่อเราถามถึงเส้นแบ่งของนักข่าวกับแหล่งข่าวว่าในยุคก่อนกับยุคนี้เป็นอย่างไร โดยเขาบอกว่าที่ผ่านมาเติบโตในการทำข่าวภาคสนามน้อยเพราะอยู่ไม่กี่ปีก็เข้ามาช่วยงานกองบรรณาธิการเป็นหลัก แต่ที่ผ่านมาก็ได้พบปะแหล่งข่าวหรือได้เห็นการทำงานของนักข่าวกับแหล่งข่าวพอประมาณ สิ่งที่อยากจะสะท้อนให้ฟังก็คือ บางครั้งแหล่งข่าวที่นักข่าวคิดว่าเป็นคนดีบางครั้งก็อาจซ่อนเหลี่ยมเอาไว้ หรือสร้างภาพหลอกตานักข่าว ยิ่งเป็นแหล่งข่าวที่ทำงานใกล้ชิดกับนักข่าวก็เป็นเรื่องธรรมดาที่อาจมองแหล่งข่าวในแง่ดีมาตลอด จนบางครั้งหากแหล่งข่าวทำไม่ดีจนเหลือกำลังจริงๆก็จะละเว้นกันไป ยกเว้นแต่เหลืออดจริงๆถึงค่อยตรวจสอบ แบบนี้ก็ต้องรักษาระยะห่างไว้ด้วย

ก่อนจากกัน  อัศศิริ ขยายความถึงความเชื่อที่เขามั่นใจว่า Newspapers never dies ว่าหนังสือพิมพ์ยังคงอยู่ตลอดไปแน่นอน เพราะหนังสือพิมพ์ที่พิมพ์ด้วยกระดาษและน้ำหมึก มันคือประจักษ์พยานที่อ้างอิงทางประวัติศาสตร์ได้ทุกยุคทุกสมัย ต่อให้โลกก้าวไกลไปขนาดไหน ทุกบ้านจะมีอินเตอร์เน็ตใช้ แต่คนก็ยังต้องอ่านหนังสือที่พิมพ์ด้วยกระดาษที่พกพาไปไหนก็ได้ เก็บไว้อ่านตอนไหนก็ได้ เพราะหนังสือพิมพ์คือสิ่งที่จับต้องได้ พวกข่าวในอินเตอร์เน็ตมันลอยอยู่ในอากาศ จับต้องไม่ได้ อ้างอิงไม่ได้ เก็บไว้เป็นหลักฐานไม่ได้ และไม่ใช่ประจักษ์พยานทางกฎหมายเหมือนตัวหนังสือที่พิมพ์ในกระดาษ

{xtypo_quote}จริงอยู่อาจมีคนอ่านหนังสือพิมพ์จากกระดาษน้อยลง แต่มันก็จะคงอยู่ หนังสือพิมพ์ก็จะมีประวัติศาสตร์ของตัวเอง เพราะสังคมเราสร้างวัฒนธรรมการอ่านจากกระดาษ ตัวหนังสือสร้างจินตนาการ ก็ดูเวลาแต่งตั้งโยกย้ายพวกข้าราชการ ทหาร ตำรวจ รายชื่อครม. ทีวี วิทยุ อินเตอร์เน็ตก็แพร่ตลอดทั้งวัน แล้วทำไมตอนเช้าคนต้องมาอ่านหนังสือพิมพ์อีกครั้งทั้งที่รู้ทั้งวันแล้ว ก็เพราะเขาต้องการคำยืนยันต้องการเห็นในสิ่งที่เป็นประจักษ์พยานนั่นก็คือหนังสือพิมพ์ หนังสือพิมพ์จึงไม่มีวันตายไปจากสังคม{/xtypo_quote}

 ล้อมกรอบประวัติ อัศศิริ ธรรมโชติ 

นักเขียนเรื่องนั้นมือทอง เจ้าของรางวัลซีไรท์ปี พ.ศ. 2524 คนนี้พบว่าเกิดเมื่อวันที่ 10 กรกฏาคม พ.ศ. 2490 ที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จบชั้นมัธยมปีที่ 4 จากโรงเรียนไกลกังวล หัวหิน แล้วมาศึกษาต่อที่โรงเรียนผดุงศิษย์พิทยา กรุงเทพมหานคร หลังจากเป็นลูกจ้างชั่วคราวของสำนักงานสถิติแห่งชาติ 2 ปี จึงกลับมาสอบเข้าศึกษาต่อที่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หลังจบการศึกษาได้เริ่มต้นอาชีพคนข่าวคนหนังสือพิมพ์และนิตยสารหลายแห่ง โดยเริ่มแรกที่จับงานเขียน นอกจากทำข่าวแล้วยังมักเขียนเรื่องสั้นและวิจารณ์หนังที่เข้าฉายโรงภาพยนตร์แล้วเขียนส่งไปลงที่ต่างๆ ก่อนจะเริ่มต้นจับงานเขียนอย่างจริงจัง และโด่งดังในฐานะนักเขียนจนถึงปัจจุบัน 

งานวรรณกรรมที่มีการตีพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือมีด้วยกันหลายเล่ม ถือได้ว่ามีงานเขียนมากที่สุดคนหนึ่ง อาทิเช่น ขุนทอง เจ้าจะกลับเมื่อฟ้าสาง (2521) เหมือนทะเลมีเจ้าของ (2524) ขอบฟ้าทะเลกว้าง (2525) ฟุตบอลบ้านนอก (2526) บ้านริมทะเล (2527)

โลกสีน้ำเงิน (2528) งามแสงเดือน (2529) มหกรรมในท้องทุ่ง (2530)

ขอทาน แมว และคนเมา (2531) นวลน้อย (2531) ผู้หญิง คนแก่ เด็ก แมว และผม (2531)

ชีวิตคือวัยอันผ่านพ้น (2532) ทะเลร่ำลมโศก (2533) หลายๆครั้งในชีวิต (2532)

2534 มโนสาเร่ 2534 ทะเลร่ำลมโศก2535 เสือกระดาษ

นอกเหนือจากรางวัลนักเขียนซีไรท์แล้ว ที่ผ่านมาเขาได้รับการเชิดชูจากหลายสถาบันทั้งในฐานะนักเขียนและนักหนังสือพิมพ์เช่น "นักหนังสือพิมพ์ดีเด่นที่ควรยกย่อง" ของคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ   รางวัลชมเชย คณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ ปี 2528  รางวัลชมเชย คณะกรรมการสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ปี 2530  รางวัลชนะเลิศวรรณกรรมบัวหลวง มูลนิธิธนาคารกรุงเทพ ปี  ๒๕๓๒  รางวัล ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ปี 2543 เป็นต้น