สมบูรณ์ วรพงษ์

จาก ครู ของนักเรียน
มาเป็นครูของนักข่าว-นักเขียน
สมบูรณ์ วรพงษ์

อิศรินทร์ หนูเมือง

ผู้เขียนได้พบหน้า ลุงสมบูรณ์ ครั้งล่าสุดที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

จากนั้น กุลชีพ วรพงษ์ ลูกชายของคุณลุง ก็คอยส่งข่าวอาการของคุณลุง ให้ลูก หลาน น้องๆ ในวงการนักข่าว ได้รับทราบอยู่อย่างสม่ำเสมอ

ทันทีที่ทราบว่า คุณลุงสมบูรณ์ ฟื้นไข้สามารถสนทนายาวๆ และอ่านหนังสือได้บ้างแล้ว การสนทนาผ่าน จดหมายอีเล็กทรอนิกส์ จึงเริ่มต้นขึ้น

ลุงสมบูรณ์ ตอบ 30 คำถามเป็น ภาษาเขียน ผ่านจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ ของ พี่กุลชีพ แล้วถูกส่งต่อมาที่ผู้เขียนอีกทอด

ต้นฉบับ บันทึกอีกเสี้ยวชีวิตของ ลุงสมบูรณ์ ในฐานะ ครูของนักข่าว จึงสมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น

คนรุ่นหลังจึงได้รู้กันว่า ครูแห่งครู ของนักข่าวคือ มาลัย ชูพินิจ บรรณาธิการชื่อก้องบรรณพิภพ

{xtypo_quote}ผมเริ่มทำงานเขียนหนังสือก่อนเข้าวงการหนังสือพิมพ์ งานเขียนเรื่อง รถเที่ยวสุดท้ายจากตองยี เป็นเสมือนใบเบิกทางเข้าสู่วงการหนังสือพิมพ์ ซึ่งคุณมาลัย ชูพินิจ หรือ น้อย อินทนนท์ บรรณาธิการหนังสือพิมพ์พิมพ์ไทยในขณะนั้นเป็นเหมือนครูคนแรกของผม{/xtypo_quote}

คนรุ่นก่อน ผูกพันกันทั้งด้วยผลงาน และถ่ายทอดจิตวิญญาณกันแทบจะวรรคต่อวรรค ลุงสมบูรณ์ จึงจดจำวรรคทอง ของ อิศรา อมันตกุล ได้แจ่มชัด

เมื่อผู้เขียนถามว่า เกี่ยวพันกับ อิศรา อมันตกุล ในทางไหนบ้าง  ลุงสมบูรณ์ จึงเล่าได้อย่างเห็นภาพ

{xtypo_quote}ผมติดตามคุณอิศรา อมันตกุลไปทำหนังสือพิมพ์ เดลิเมล์ และ บางกอกเดลิเมล์ ทำอยู่ได้ 8 เดือน จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็ทำการปฏิวัติเมื่อ 1 ตุลาคม 2501 เหตุการณ์นั้นสร้างภัยคุกคามเสรีภาพของหนังสือพิมพ์ทำให้เกิดอมตะวาจาจากคุณอิศรา อมันตกุลว่า คุกขังคนได้ แต่ขังความคิดคนไม่ได้{/xtypo_quote}

ครูของนักข่าว คนนี้เป็น ครูตัวจริง มาก่อน จึงมีทักษะการถ่ายทอด และการอบรมบ่มสอน คนในวงการหนังสือพิมพ์ ที่สำคัญชนชั้นระดับ เจ้าฟ้า แห่งสหภาพพม่า บางพระองค์ก็เคยเป็น ศิษย์ ของ ลุงสมบูรณ์

{xtypo_quote}ก่อนจะมาทำงานหนังสือพิมพ์ ผมเป็นครูมาก่อน แล้วระหว่างที่เป็นครู ผมได้ไปอยู่ที่สหภาพพม่า มาสองปี ไปสอนภาษาไทยให้กับลูกเจ้าฟ้าต่างๆ ในรัฐฉาน ทำให้ได้ประสบการณ์หลายอย่างด้วยกัน เห็นความเหลื่อมล้ำต่ำสูง ความไม่เป็นธรรมต่างๆ{/xtypo_quote}

แรงบันดาลใจจากการเป็น ครู ดลใจให้อยากเป็น นักเขียน

{xtypo_quote}ตอนที่เป็นครู ก็เกิดแนวคิดว่า ถ้าเราเป็นครูเราก็ทำได้แค่นั้น แต่ถ้าเราออกมาทำงานขีดเขียน มันจะเป็นการขยายความคิดออกไป เพราะผมชอบการเขียนตั้งแต่สมัยเรียนแล้วนะ ผมอ่านกวีนิพนธ์ อ่านกามนิตวาสิฏฐี อ่านผู้ชนะสิบทิศ อ่านบทความในประมวลวัน อ่านหนังสือพิมพ์ในกรุงเทพ แล้วสมัยเรียน ผมก็ทำหนังสือพิมพ์ในห้อง มันสิ่งที่เราชอบ เป็นจุดเริ่มต้นนะ{/xtypo_quote}

ไม่ใช่แค่ความอยากเท่านั้น แต่ ลุงสมบูรณ์ ลงมือทำ ลงมือเขียน พาดตัวเองเข้าไปสู่สิ่งแวดล้อม ที่เต็มไปด้วยนักเขียน

{xtypo_quote}ผมมาอยู่ในกรุงเทพตอนแรกๆ ก็ยังเป็นครูอยู่ ระหว่างที่ทำงานครู ผมก็ไปเรียนหนังสือพิมพ์ภาคค่ำ พร้อมกับเขียนหนังสือไปด้วย เรื่องแรกคือ รถเที่ยวสุดท้ายจากตองยี เป็นเรื่องยาวได้ลงในหนังสือพิมพ์สยามสมัย ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ระดับแนวหน้าในสมัยนั้น ที่นั่นจะเต็มไปด้วยนักคิดนักเขียนมากมาย ทุกวันศุกร์ก็จะมีการเสวนาชมรมนักประพันธ์กันที่นั่น ผมเองเข้ามากรุงเทพก็ยังไม่รู้จะไปที่ไหน ก็เลยมาที่ชมรมนักประพันธ์ ทำให้ได้เจอนักเขียนผู้ใหญ่ เป็นแหล่งความรู้ของผมเลย{/xtypo_quote}

ถนนนักเขียน สะพานของการเป็นนักข่าว เริ่มต้นขึ้น หลังจากอำลาชีวิต ครู

{xtypo_quote}ผมลาออกจากครู มาทำหนังสือพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2496 ที่หนังสือพิมพ์ พิมพ์ไทย ทำงานตั้งแต่ระดับล่างคือเป็นคนข่าวโรงพัก แต่โชคดีอย่างหนึ่งคือไม่ต้องไปตรวจบรู๊ฟ เพราะปกติคนที่มาทำหนังสือพิมพ์นี่จะต้องตรวจบรู๊ฟทุกคน เพื่อเรียนรู้การเขียนการสะกดคำ การเรียบเรียงต่างๆ เพราะเราเคยเขียนหนังสือมาก่อน เขาก็ให้โอกาสทำข่าวเลย {/xtypo_quote}

ออกจากโรงเรียนไปขึ้นโรง ขึ้นศาล แวะเวียนไปโรงพัก ขึ้น-ลง ทำเนียบรัฐบาล รัฐสภาและกระทรวงต่างๆ เพื่อทำข่าว การเมือง

ผมทำข่าวโรงพักไม่นานก็ได้ทำข่าวการเมือง อยู่พิมพ์ไทยได้สามปีผมก็ลาออก ไปอยู่บางกอกเดลิเมล์ เพราะมีนักหนังสือพิมพ์ผู้ใหญ่ที่ผมนับถือ เป็นต้นแบบที่ผมยึดถือมากอยู่ที่นั่น คือ คุณอิศรา อมันตกุล พอเขาออกหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ก็เลยไปทำด้วยเลย

{xtypo_quote}เริ่มงานที่พิมพ์ไทย ก็เป็นนักข่าวการเมือง ก็พยายามเรียนรู้วิธีการซักถาม หาข่าว การตั้งคำถาม สมัยก่อนไม่มีการสัมภาษณ์แบบเอาไมค์จ่อปากแบบเดี๋ยวนี้ แต่เราต้องไปพบเป็นการส่วนตัว รู้จักกันเป็นการส่วนตัวให้เขาไว้เนื้อเชื่อใจ{/xtypo_quote} {xtypo_quote}ผมก็เริ่มจากงานคนข่าวกระทรวงมหาดไทย เทศบาล สาธารณสุข กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตร กระทรวงคลัง กระทรวงต่างประเทศ ก็ต้องศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม เพราะนักหนังสือพิมพ์ไม่ใช่รู้หมด แต่ต้องเรียนรู้จากแหล่งข่าวซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ผมเองเป็นคนที่มีบุคลิกนิ่มนวลสุภาพ ก็ได้รับความเมตตาจากผู้ใหญ่หลายท่าน{/xtypo_quote}

ข่าวชิ้นแรกของ ลุงสมบูรณ์ เป็นข่าวเชิงอาชญากรรมสังคมเมื่อ กว่าปีตอนที่มี อิศรา อมันตกุล เป็นบรรณาธิการ

{xtypo_quote}ข่าวแรกของผมจำได้ว่า วันที่ 6 ตุลาคม 2496 เรื่อง สามล้อยกพวกตีกันที่โรงพักสำราญราษฎร์ ผมกับเทพชู ทัพทิมทอง ช่างภาพไปทำข่าวนี้ ตอนแรกก็คิดว่าไม่น่าจะมีอะไรสำคัญเพราะสิบเวรบอกว่า พวกนี้ตีกันเป็นประจำอยู่แล้ว ผมได้สัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้องหลายคนก็ได้ความจริงว่า คนขับสามล้อชาวอีสานที่มาทำมาหากินในกรุงเทพฯ ถูกสามล้อเจ้าถิ่นสบประมาทเรียก บักเสี่ยว ก็เลยเจ็บใจรวมตัวกันขึ้นมาจนเป็นเรื่องเป็นราวใหญ่โต{/xtypo_quote}{xtypo_quote}ตอนนั้นอิศรา อมันตกุล ซึ่งเป็นบรรณาธิการข่าวชอบใจพาดหัวไม้ (ตอนนั้นยังใช้เรียงพิมพ์ด้วยมือ) นี่เป็นข่าวแรกที่ได้ ชื่อผม ซึ่งหมายถึงอนาคตของผมในวิชาชีพนี้มีความมั่นคงยิ่งขึ้น และความเชื่อมั่นของแหล่งข่าวมีมากขึ้น{/xtypo_quote}

จิตสำนึก และจิตวิญญาณของ

{xtypo_quote}ในความเป็นนักหนังสือพิมพ์นี่ผมจะถืออย่าง คืออย่าให้เขากลัว อย่าให้เขาเกลียด แต่ให้เขารักและยำเกรงความรักคือรักในความที่เขาเชื่อถือเราได้ เช่น อะไรที่เขาบอกมาว่า อันนี้ผมบอกคุณส่วนตัวนะ ห้ามเอาไปเขียน เราก็ต้องไม่เขียน ต้องรักษาสัจจะ และทำตัวให้คนยำเกรง พูดง่ายๆ คืออย่าไปรีดไถหรือไปขออะไรเขา ผมก็อยู่อย่างนี้มา ก็ทำงานมาได้ ไม่รวยไม่จน มีคนเคารพนับถือ แต่ผมก็ไม่ได้พูดว่าตัวเองวิเศษอะไร แต่มันอาจจะเป็นนิสัยนะ{/xtypo_quote}

แม้ยุคก่อนจะไม่มีคำจำกัดความ สื่อแท้ และ สื่อเทียม แต่คนในรุ่น ลุงสมบูรณ์ ยึดมั่นนักหนากับคำว่า จรรยาบรรณ

{xtypo_quote}การเป็นนักข่าวที่ดีมันเป็นจิตสำนึก มันไม่เป็นตัวสอนที่ต้องบังคับว่าคุณต้องทำอย่างนั้นนะ อย่างนี้นะ แม้แต่จรรยาบรรณของสมาคมต่างๆ ที่เขียนเป็นบรรทัดฐาน แต่ถ้าเราไม่มีจิตสำนึกมันก็ไร้ความหมาย นักหนังสือพิมพ์นี่จะมีสองอย่างนะ คือนักหนังสือพิมพ์จริงๆ กับนักธุรกิจหนังสือพิมพ์ คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ พูดเอาไว้ว่านักหนังสือพิมพ์จริงๆ นั้นหาได้ยาก แต่ผู้ทำงานหนังสือพิมพ์นั้นอาจหาได้{/xtypo_quote}{xtypo_quote}คือนักหนังสือพิมพ์ที่มาจากชีวิตจิตใจนั้นหาได้ยาก แต่ยังไงก็ตาม ผมก็คิดว่าสถาบันการศึกษาในสมัยนี้ น่าจะสามารถหล่อหลอมให้เราได้นักหนังสือพิมพ์ที่ดีมาได้ แต่ขออย่างเดียว คนที่เข้ามาอย่าหลงตัวเอง อย่านึกว่าตัวเองเป็นเอก เพราะมันจะทำให้เราไปไม่ถึงดวงดาว เพราะการเป็นนักข่าวก็ไม่ควรคิดแค่การเป็นนักข่าวอย่างเดียว แต่ควรพัฒนาขึ้นไปเป็นหัวหน้าข่าว เป็นบรรณาธิการ ผมเองจากนักข่าวโรงพัก เข้ามาอยู่กรุงเทพคนเดียว หัวเดียวกระเทียมลีบ มาอยู่วัด แล้วก็มาทำงานเป็นครูจนมาเป็นบรรณาธิการได้ และเป็นในช่วงที่มีความขัดแย้งระหว่างฝ่ายซ้ายกับฝ่ายขวารุนแรง ก็ประคับประคองมาได้ พยายามอยู่กึ่งกลางในความถูกต้องมาตลอด{/xtypo_quote}

คุณค่าข่าว และคุณค่าของนักข่าว ในทัศนะของ ลุงสมบูรณ์ นั้นคือสิ่งเดียวกัน แยกกันไม่ออก

{xtypo_quote}นักข่าวในอุดมคติ กับนักข่าวในความเป็นจริงนั้นจะต้องเป็นคนคนเดียวกัน ถึงจะก้าวไปได้ ผมจะแนะนำว่า นักข่าวรุ่นใหม่ที่เพิ่งเริ่มงานนั้นอย่าได้เล็งผลเลิศจนเกินไป คนรุ่นใหม่จบปริญญาตรี ปริญญาโทมา ยังไงก็ต้องไปเริ่มงานในระดับล่างก่อนทั้งนั้น เพราะการทำงานเราไม่ได้วัดกันที่ปริญญา ปริญญานั้นทำให้รู้แค่ทฤษฎีเท่านั้น{/xtypo_quote} {xtypo_quote}ผมเห็นที่ต่างประเทศนักข่าวเขาอายุ 50-60 เขาถึงจะไปเป็นนักข่าวประจำสายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทำเนียบขาว กระทรวงต่างประเทศ เพราะมันต้องให้ได้คนที่มีความชำนาญเฉพาะเรื่อง แต่ของเรานี่เข้ามาก้าวเดียวก็จะไปเป็นนักข่าวการเมือง นักข่าวเศรษฐกิจเลย ซึ่งมันไม่ได้นะ เพราะถึงจะมีความรู้ แต่ยังขาดวิจารณญาณ ความสันทัดจัดเจนยังน้อย อย่าลืมว่าคนที่เราจะต้องไปสัมภาษณ์นี่เขาย่อมจะมีความรู้มากกว่าเรา{/xtypo_quote}

ความเป็นครูของนักข่าว นั้นเป็นนิสัยตามธรรมชาติของ ลุงสมบูรณ์ โดยไม่ต้องฝึกฝน

{xtypo_quote}ระหว่างที่ผมเป็นหัวหน้าข่าวอยู่ที่นี่ มีนักศึกษามาฝึกงานนี่ผมจะเรียกมาประชุมแล้วจะบอกเลยว่า คุณมาฝึกงานกับผมนี่ถ้าคุณหายไป พอวันสุดท้ายคุณมาขอใบรับรองนี่ผมจะไม่ออกให้ แล้วผมจะฟ้องอาจารย์ด้วย ผมขู่ไว้ บอกว่าน้องทั้งหลายจะต้องมาทำงาน ให้ไปตระเวนกับผู้สื่อข่าว ไปตอนเช้า พอเที่ยงกลับมา ผมจะบอกเลยว่าถ้าคุณเห็นข่าวอะไรที่คนข่าวเขาไม่เอา แม้จะเป็นข่าวเล็กๆ คุณเอามาให้หมดเลย ไม่ลงไม่เป็นไร{/xtypo_quote} {xtypo_quote}จากนั้นพอถึงเที่ยงวัน ก็มาประชุมกันผมก็จะบอกให้เขียน แต่ผมไม่บอกนะว่าต้องเขียนยังไงเพราะเรียนทฤษฎีจากมหาวิทยาลัยมาแล้ว พอเขียนมาวางบนโต๊ะผมก็จะมีปากกาแดงขีดไว้เลย ผมจะบอกว่าเวลาที่เขียนข่าวอะไรเราต้องไม่ไปซ้ำเติม เพราะข้อมูลที่ได้มานั้นศาลยังไม่ได้ตัดสิน เขาเป็นเพียงผู้ต้องหา เราต้องเคารพในด้านของสิทธิความเป็นคนของเขา อย่างคำว่าลูกทรพีหรืออะไรอย่างนี้ผมจะตัดออกหมด{/xtypo_quote}

ลุงสมบูรณ์ ไม่สอนเฉพาะวิชาชีพ แต่ยังปลูกฝัง กล่อมเกลาอุดมการณ์ อุดมคติด้วย

{xtypo_quote}อีกอย่างหนึ่งคือ เข้ามาทำงานหนังสือพิมพ์นี่อย่าคิดว่ามาทำงานเพื่อรับเงินเดือนนะ เพราะหนังสือพิมพ์มันเป็นงานในอุดมการณ์ เราขายความคิด ดังนั้นเมื่อเข้ามาทำเราต้องรับสภาพของการทำงานด้วย อย่างหนังสือพิมพ์บางฉบับนี้จะมีนโยบายไม่เหมือนกันสไตล์การเขียนข่าวก็จะต่างกัน {/xtypo_quote}{xtypo_quote}อย่างเวลานี้มีหนังสือพิมพ์ออกมามาก การแข่งขันมันสูง นักข่าวบางคนไม่เคยเข้ามาโรงพิมพ์เลย ส่งแต่ข่าวทางโทรศัพท์ ทางโทรสาร ซึ่งมันทำให้ผิดพลาดได้เยอะ ไม่เหมือนสมัยก่อนที่นักข่าวต้องกลับเข้ามาเขียนเอง เราก็ไตร่ตรอง กรองแล้วกรองเล่าให้มันดี ดังนั้นนักข่าวรุ่นเก่านี่จะได้เปรียบกว่า เพราะว่าเขียนข่าวเป็น ทำให้ได้ก้าวไปเขียนสารคดี เขียนบทความได้ อย่างเช่นตอนที่ผมเป็นนักข่าวโรงพักอยู่ ผมก็เขียนเบื้องหลังข่าว เป็นรายได้พิเศษขึ้นมา ผมทำงานสี่ปี ผมเขียนหนังสือได้เล่มหนึ่งคือคดีสังหารสี่อดีตรัฐมนตรี และก็เขียนมาเรื่อยๆ มันก็ได้จากประสบการณ์{/xtypo_quote}{xtypo_quote}การเป็นนักข่าวต้องมีจิตใจเป็นกลาง การมองเหตุการณ์ต่างๆ ต้องเป็นไปโดยมองลึกลงไปว่ามันมีที่มาอย่างไร มีอะไรอยู่เบื้องหลัง มีอะไรที่ซ่อนเร้น เวลาเขียนต้องไม่ใช่การลงสีสันระบายสี แต่เราต้องให้ข้อเท็จจริง เพื่อเตือนสังคมว่าสิ่งที่มันเกิดนั้นมันเกิดขึ้นเพราะอะไร{/xtypo_quote}

ข่าว ในยามบ้านเมืองวิกฤติ นักข่าวต้องทำข่าว ที่ไม่ได้ตีพิมพ์ เช่นเดียวกับ ลุงสมบูรณ์

{xtypo_quote}ผมมีข่าวหลายชิ้นที่ไม่ได้ตีพิมพ์ลงหนังสือพิมพ์ด้วยเหตุผลทางด้านบรรณาธิการ หรือเทคนิคการพิมพ์ แต่ที่เป็นเหตุผลที่อยู่นอกเหนือการควบคุมหรือเหตุจากภายนอกที่จำได้ดีคือเป็นเหตุผลทางการเมือง คือข่าวเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2516 ซึ่งมีการปราบปรามนักศึกษาที่ชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จนมีผู้เสียชีวิตบาดเจ็บจำนวนมาก พอตกเย็นวันนั้นก็มีการยึดอำนาจทำรัฐประหารและมีคำสั่งเซ็นเซอร์หนังสือพิมพ์{/xtypo_quote} {xtypo_quote}ตัวผมเองขณะนั้นเป็นบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ก็ถูกยื่นคำขาดจากฝ่ายทหารให้ปลดออกจากตำแหน่งร่วมกับเพื่อนนักหนังสือพิมพ์อีกหลายคน{/xtypo_quote} {xtypo_quote}แต่คุณกำพล วัชรพล ผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์ไทยรัฐบอกว่า เขาไม่ได้ทำความผิดอะไร จะให้ออกจากงานได้อย่างไร แต่เพื่อความอยู่รอดของหนังสือพิมพ์ก็เปลี่ยนให้คนอื่นมาเป็นบรรณาธิการแทน แล้วตั้งให้ผมเป็นกรรมการเซ็นเซอร์ข่าว คือขณะนั้นหนังสือพิมพ์ก็ต่อรองกับฝ่ายทหารว่าไม่ต้องให้ทหารมาตรวจข่าวก่อนแต่จะเซ็นเซอร์ตัวเอง{/xtypo_quote}

ข่าวชิ้นที่ไม่ได้ลง ในวันที่ 7 ตุลาคม 2519 ซึ่ง ลุงสมบูรณ์ ยังเก็บไว้อยู่นั้น เช่น ให้ 3 ร.ม.ต.ลาออกเขียนไว้ด้วยลายมือว่า

เมื่อเวลา 16.40 น.กลุ่มประชาชนที่มาชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาลได้ช่วยกันเลื่อยตัดโซ่คล้องประตูหน้าแล้วฮือกันเข้าไปชุมนุมบริเวณสนามหญ้าในทำเนียบรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีพร้อมด้วยรัฐมนตรีหลายคนเช่น นายประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ รองนายกรัฐมนตรี นายทวิช กลิ่นประทุม ร.ม.ต.คมนาคม กับพล ต.ชาติชาย ชุณหะวัณ ร.ม.ต.อุตสาหกรรมซึ่งอยู่ในชุดลูกสือชาวบ้านได้ออกไปพบปราศรัยกับประชาชนบนหลังคารถกลางสนาม

ระหว่างที่กลุ่มผู้รักชาติและลูกเสือชาวบ้านกำลังจะพากันแยกย้ายออกจากทำเนียบรัฐบาลนั้น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฏราชกุมารได้เสด็จไปยังทำเนียบรัฐบาล พร้อมด้วยนายธรรมนูญ เทียนเงิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นผู้ตามเสด็จ เมื่อกลุ่มชนเหล่านั้นทราบข่าวจึงได้พากันเข้าไปในทำเนียบอีกครั้งหนึ่งแล้วนั่งลงอย่างเป็นระเบียบ ขณะเดียวกันก็มีรัฐมนตรีหลายคนเข้าเฝ้าอย่างใกล้ชิด สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ได้มีพระราชดำรัสกับประชาชนที่เข้าเฝ้า มีความว่า รู้สึกปลื้มพระทัยและยินดีที่เห็นความจงรักภักดีและความเป็นมิตร ขอให้ทุกคนทำอารมณ์ให้ดีเพื่อรักษาความสงบ

ตลอดชีวิตการเป็นนักหนังสือพิมพ์ เป็นครูของนักเรียน เป็นครูของนักข่าว ยึดถือเรื่อง ความจริง เท่านั้น

{xtypo_quote}ผมจำได้ว่าเมื่อไปดูงานที่หนังสือพิมพ์นิวยอร์คไทม์และคริสเตียนไซแอนมอนิเตอร์ในอเมริกา เขามีคำขวัญว่า No one to injured ไม่ทำร้ายคนใดคนหนึ่ง ผมยึดคำขวัญนี้ในการทำงานมาตลอดชีวิตการเป็นนักหนังสือพิมพ์ เพราะนักข่าวนั้นเป็นผู้ทำความจริงให้ปรากฎ ขอให้น้องๆ หัดพูดหัดเขียน เอาแต่ไมค์จ่อปากเท่านั้นยังไม่พอ ต้องหัดพูดหัดเขียนด้วย เขียนหนังสือไม่ได้เท่ากับเราขาดสติปัญญา เขียนหนังสือไม่ได้ก็เท่ากับปิดประตูความก้าวหน้าของตัวเอง{/xtypo_quote}

........................................................................

ล้อมกรอบ

ประวัติชีวิต ครู ของ ลุงสมบูรณ์

เกิดเมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๔๗๑ ที่ ต.ริมใต้ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เรียนจบชั้นประถมศึกษา จากโรงเรียนประชาบาล อ.ฝาง เรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ ๔ โรงเรียนปรินส์รอยฯ จบมัธยมศึกษาปีที่ ๖ โรงเรียนยุพราช สอบครูพิเศษมัธยม (พม.) เรียนประกาศนียบัตรวิชาการหนังสือพิมพ์ (ภาคค่ำ) ที่จุฬาฯ เคทำงานสำรวจบ่อน้ำมัน งานตรวจปรู๊ฟ ครูสอนหนังสือที่รัฐไทยใหญ่ โรงเรียนนิมมานรดีกรุงเทพฯ

เริ่มเป็นผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์  พิมพ์ไทย  ปี 2496 ตั้งแต่นั้นอยู่ในแวดวงหนังสือพิมพ์ มาตลอด อาทิ เดลิเมล์ บางกอกเดลิเมล์ หลักเมืองชีวิตใหม่และเสียงอ่างทอง จนกระทั่ง ประจำตำแหน่งบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ไทยรัฐตั้งแต่ปี 2517 ถึง 2519 เป็นเลขาธิการมูลนิธิไทยรัฐ กรรมการและเหรัญญิกมูลนิธิหมู่บ้าน กรรมการมูลนิธิเด็ก เคยผ่านการฝึกอบรมจากสถาบันหนังสือพิมพ์นานาชาติ (International Press Institute)

ได้รับทุนดูงานหนังสือพิมพ์ ทั้งในสหรัฐอเมริกา อังกฤษ เยอรมนี เคยไปสังเกตการณ์ประชุมสุดยอดสิ่งแวดล้อมโลกครั้งแรกที่สตอกโฮล์ม เมืองหลวงของประเทศสวีเดน

ปัจจุบัน ยังคงเขียนหนังสืออยู่ใช้ทั้งนามจริงและนามปากกา คนข่าวอิสระ ผลงานที่ตีพิมพ์ ได้แก่ รถเที่ยวสุดท้ายจากตองยี (นวนิยาย) จากลุ่มเจ้าพระยา (นวนิยาย) ยึดรัฐบาล (สารคดีการเมือง) คดีสังหาร ๔ อดีตรัฐมนตรี (สารคดีการเมือง) กรายมะริกัน (สารคดีท่องเที่ยว) บนเส้นทางนักหนังสือพิมพ์ (บันทึก) ชุนเทียนที่ปักกิ่ง (สารนิยาย) ครูดี เด่นดวง (สารนิยาย),ไพร่หนีนาย (นวนิยาย),จดหมายเหตุจากปักกิ่ง (สารนิยาย)

รางวัลที่ได้รับ เช่น รางวัลผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์จากสมาคมนักหนังสือพิมพ์ แห่งประเทศไทย (2536),รางวัลผู้พัฒนาอาชีพดีเด่น ของสโมสรโรตารี่พระนคร,(2539) Cerlificate Co-operation in Education จาก The Elizabeth Johnson Organisation ประเทศอังกฤษ (2539),รางวัลนักเขียนเกียรติยศ ช่อการะเกด  (2540), รางวัลบทนำดีเด่น จากสมาคมนักหนังสือพิมพ์ แห่งประเทศไทย 2531,รางวัลศรีบูรพา(๒๕๔๘),รางวัลนราธิป จากสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ปี พ.ศ. 2549

เคยดำรงตำแหน่งนายกสมาคมนักหนังสือพิมพ์ กรรมการสมาคมนักข่าว กรรมการสมาพันธ์หนังสือพิมพ์อาเซียน,เลขาธิการมูลนิธิไทยรัฐ สมบูรณ์ วรพงษ์ อุทิศตนให้กับกิจกรรมการพัฒนาชุมชน สนับสนุนวงงานวรรณกรรมและสื่อมวลชน ให้กำลังใจคนรุ่นใหม่ และส่งเสริมให้เด็กๆ มีโอกาสทางการศึกษาอย่างเต็มกำลัง