วิมลพรรณ ปีตธวัชชัย

อาชีพนักหนังสือพิมพ์ ต้องเป็นผู้ใหญ่ เป็นเด็กไม่ได้

ขนิษฐา เทพจร

เป็นคนข่าวตัวจริงของวงการนักหนังสือพิมพ์อีกคน ที่คล่ำหวอดในวงการมากว่า 30 ปี และมีผลงานด้านงานข่าว-งานเขียนจนได้รับการกล่าวขาน ว่าเป็นบุคคลที่ทำคุณประโยชน์ให้กับสังคมไทย โดยเฉพาะแวดวงการศึกษา-สิ่งแวดล้อม อีกคน สำหรับ  วิมลพรรณ ปีตธวัชชัย  อดีตนักข่าวสาวเหล็ก แห่งหนังสือพิมพ์ สยามรัฐ ยุค  ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช  ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษากองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ และคอลัมภ์นิสต์

 วิมลพรรณ  ย้อนความหลังสมัยที่ก้าวมาเป็นนักข่าวหญิงคนแรกของ ค่ายสยามรัฐให้ฟังว่า ตนเข้ามาทำงานเป็นนักข่าวที่หนังสือพิมพ์สยามรัฐเมื่อประมาณปลายปี พ.ศ. 2517 หลังจากที่เป็นนักเขียนอิสระและนักค้นคว้ามา ตอนที่ผันตนเองมาสู่สนามข่าวครั้งแรก ก็ถูกส่งให้ไปเป็นนักข่าวกระทรวงศึกษาธิการ แต่ด้วยความที่ไม่เคยเป็นนักข่าวกระทรวงมาก่อนจึงไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่าง แต่ถือว่าเป็นโชคดี ที่มีนักข่าวผู้ใหญ่แนะนำว่า เริ่มแรกต้องอ่านหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ แล้วให้ดูว่าข่าวแต่ละวัน ใครทำอะไร เป็นข่าวเด่น ข่าวอะไรน่าสนใจ วิธีการพาดหัวข่าวของหนังสือพิมพ์แต่ละฉบับ ใครใช้สำนวนภาษาได้ดีกว่ากัน และให้ไปดูงานที่กรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งขณะนั้นตั้งอยู่ตรงข้ามโรงพิมพ์สยามรัฐ แต่สภาพที่เห็น คือ รุ่นพี่คนข่าวสนใจแต่เรื่องส่วนตัว ไม่ได้ออกไปทำข่าวอย่างจริงจัง ทำให้ตัดสินใจลุยไปทำข่าวที่กระทรวงศึกษาธิการด้วยตนเอง โดยอาศัยพื้นฐานที่เป็นนักค้นคว้ามาก่อน ซึ่งผลงานข่าวช่วงที่ตนเป็นนักข่าวกระทรวงอยู่นั้น ทำให้ข่าวการศึกษาของหนังสือพิมพ์สยามรัฐได้รับการกล่าวขวัญ ว่าทำประโยชน์ให้กับการศึกษาของชาติพอสมควร และพอทำข่าวที่กระทรวงศึกษาธิการกว่า 3 ปีก็ได้ไปประจำกระทรวงต่างๆ อาทิ กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำงานข่าวด้านสิ่งแวดล้อม

 นักข่าวหญิงเหล็ก  เล่าความหลังต่อว่านอกจากตนได้ทำข่าวการศึกษาจนทำให้หนังสือพิมพ์สยามรัฐหน้าการศึกษาได้รับการกล่าวขานมากแล้ว เมื่อประมาณ พ.ศ. 2520 ข่าวที่ตนไปทำพร้อมกับเพื่อนนักข่าว เรื่อง  งมแร่  ก็ได้รับรางวัลข่าวยอดเยี่ยมของมูลนิธิอิศรา อมันตกุล สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งชาติด้วย เพราะได้เข้าไปขุดคุ้ยการขุดแร่ที่ทะเล จ.พังงา-จ.ภูเก็ต แล้วนำข้อมูลข้อเท็จจริงนำเสนอต่อประชาชน รวมไปถึงรัฐบาล และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ยุคนั้นคือ คุณสมัคร สุนทรเวช ว่าสิ่งที่รัฐบาลนำเสนอข่าวการให้สัมปทานขุดแร่ไปก่อนหน้านั้นไม่ใช่ข้อเท็จจริง ทำให้หนังสือพิมพ์สยามรัฐถูกสั่งปิดอย่างไม่ชอบธรรม โดยอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยถึง 3 ครั้ง

คนข่าวผู้ไม่ยอมศิโรราบให้กับความไม่ถูกต้องบอกกล่าวด้วยว่า การทำงานข่าวยุคนั้นทำให้คิดได้ว่าความภาคภูมิใจของคนข่าวไม่ใช่การที่ทำอาชีพนักข่าวแล้วมีฐานะร่ำรวย มีอำนาจ มีอิทธิพล แต่เป็นเรื่องของการที่ทำหน้าที่ ที่สร้างประโยชน์ให้กับสังคมส่วนรวม และส่วนรวมเองก็ได้รับผลประโยชน์จากการที่คุณได้เป็นนักข่าว ดังนั้นชีวิตของคนอาชีพหมาเฝ้าบ้านจะเป็นอย่างไรก็ตาม อย่าได้หลงระเริง หรือ มองว่า อาชีพนักข่าวเป็น บุคคลที่มีอภิสิทธิ์ที่อาชีพอื่นมี อย่าหลงระเริงจนลืมตัวตนที่แท้จริงว่าคืออะไร จะเป็นอันตรายอย่างมาก

 อดีตคนข่าวสยามรัฐ  ได้หยิบประสบการณ์ที่ได้จากการทำงานในวงการนักหนังสือพิมพ์-นักเขียนที่ยาวนานเกือบครึ่งชีวิต เล่าสู่ให้ฟังว่า ขึ้นชื่อว่าทำงานเป็นนักข่าวแล้ว พื้นฐานที่คนข่าวต้องมี คือ ขยัน หมั่นหาความรู้ใส่ตัว ศึกษาหาความรู้ในสิ่งที่กำลังจะไปทำให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ อย่าเขียนข่าวแบบ สุกเอาเผากินฉาบฉวย เพราะนอกจากตัวเองจะไม่ได้อะไรแล้ว ประชาชนก็จะไม่ได้รับทราบข้อมูลข้อเท็จจริงด้วย นอกจากนั้นแล้ว  คนเป็นสื่อมวลชน  อย่าเชื่ออะไรง่ายๆ ใครพูดอะไรมา เราต้องเช็คข่าวให้แน่ว่าไม่ใช่ข่าวปล่อย หรือ ข่าวหลอก เช่น หากเป็นนักข่าวกระทรวงก็ต้องศึกษาถึงนโยบายรัฐบาลของกระทรวงว่ามีอะไรบ้าง หน้าที่หลักๆ ของกระทรวงคืออะไร ในระยะเวลาการทำงานมีโครงการใดบ้างที่กระทรวงจะทำ ประสานกับหน่วยงานใดหรือไม่ รัฐบาลสมัยนั้นมีนโยบายสำหรับกระทรวงนั้นๆ อย่างไร เพราะหากเกิดปัญหาอะไรขึ้นมา ในโครงการ หรือ เกิดการบริหารงานที่ผิดพลาด ก็จะไม่ถูกแหล่งข่าวหลอก และทำให้นักข่าวเอง ตามข่าวได้อย่างถูกต้อง ว่าควรจะไปตามข่าวจากใคร หน่วยงานใด นอกจากนั้นแล้ว สิ่งที่สำคัญจะต้องรู้ให้ลึกว่า บุคคลที่ได้รับมอบหมายให้ทำโครงการ หรือ เกี่ยวข้องกับนโยบายนั้นๆ มีภูมิหลังเป็นมาอย่างไร มีสายสำพันธ์กับใครบ้าง เอื้อประโยชน์ หรือไม่เอื้อประโยชน์กับใคร สรุปก็คือว่า การทำงานข่าวให้ดีมันไม่ใช่ว่าคุณไปทำข่าวแค่สัมภาษณ์ไปวันๆ เขาบอกคุณ คุณได้ข่าวและพอใจอยู่แค่นั้น มันไม่ได้ คุณจะต้องรู้จักที่จะเจาะข่าว หาว่าข่าวที่เขาบอกจริง หรือไม่จริงด้วย

{xtypo_quote}ในทัศนของตนเองเห็นว่าอาชีพนักข่าวเป็นอาชีพที่ไม่เหมือนคนอื่น ที่ว่าต้องมีอุดมคติในการทำงาน นึกถึงประโยชน์ส่วนรวมมีสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม มีจิตสำนึกสาธารณะ เพราะอาชีพนักข่าวก็เหมือนกับ ดาบที่มีสองคม จะเขียนข่าวเพื่อทำประโยชน์ให้กับใคร หรือเขียนข่าวเพื่อทำร้าย ให้ร้ายใครก็ได้ หรือจะใช้ความเป็นอาชีพที่มีอภิสิทธิ์ มีความเป็นฐานันดรที่สี่หาผลประโยชน์เข้าตัวอย่างเดียวก็ได้ และโดยส่วนตัวแล้วมองว่าอาชีพนักข่าว เป็นอาชีพที่มีความสำคัญ พอๆ กับการเป็นนักการเมือง ขณะที่ตัวนักข่าวเองเรียกร้องสำนึกสาธารณะจากนักการเมือง เชื่อว่าคนทุกสาขาอาชีพก็อยากเรียกร้องสำนึกสาธารณะของคนเป็นนักข่าวด้วยเช่นกัน{/xtypo_quote}

นอกจากนั้นแล้ว  นักข่าวก้นหม้อของค่ายสยามรัฐ  ยังได้ยกคำสอนของ  หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช  ครั้งเมื่อเริ่มเป็นนักข่าว ที่ยังจำไว้เป็นสิ่งเตือนใจในการทำงานจนถึงทุกวันนี้ ว่า คนที่ก้าวมาเป็นนักหนังสือพิมพ์ และมีอาชีพเป็นนักหนังสือพิมพ์แล้ว คุณ ต้องเป็นผู้ใหญ่ จะเป็นเด็กไม่ได้ จะโจมตี เขียนติเตียน หรือ ตำหนิใคร ก็อย่าต้อนคนให้จนมุม คุณต้องมีทางให้คนเขาเดิน เพราะคนเราเกิดมาไม่ได้มีใครดี 100 เปอร์เซ็นต์ และไม่ได้เลว 100 เปอร์เซ็นต์ และที่สำคัญคนทำงานหนังสือพิมพ์จะต้อง มีสำนึกรู้ผิดชอบ ชั่ว-ดี ต้องบรรลุให้ได้ว่าอะไรคือความดี อะไรคือความชั่ว ศีลธรรม แตกต่างจากมนุษยธรรมอย่างไร

{xtypo_quote}ความมีมนุษยธรรมอาจจะเป็นความรู้สึกว่าต้องเมตตาเขา แต่เมื่อถามว่าในขณะที่คิดอย่างนั้น คุณมีศีลธรรมไหม ถ้าคุณเสนอข่าวด้านเดียว เช่น มีคนมาร้องทุกข์กับคุณ ว่าถูกรังแก คุณรู้สึกว่าเขาน่าสงสาร ที่ถูกรังแก และเพื่อมนุษยธรรม คุณต้องเขียนข่าวช่วยเขา ขณะที่ไม่ได้ไปถามฝ่ายตรงข้ามเลยว่า เขามีเหตุผลอะไร นั่นคือคุณกำลังขาดคุณธรรม เพราะนำเสนอข่าวด้านเดียว ดังนั้นคนเป็นนักข่าว จะต้องแยกความมีมนุษยธรรมและ ความมีศีลธรรม ออกจากกันให้ได้ ความเป็นธรรมในจิตใจต้องตรง{/xtypo_quote}

และอีกสิ่งหนึ่งที่  วิมลพรรณ  ได้รับเชิดชูจาก บรรดานักข่าวด้วยกันเองว่า เป็น  นักข่าวที่มีความจำเป็นเลิศ  ซึ่ง เจ้าตัวบอกว่า  ฉันเชื่อว่าทุกคนมีความสามารถที่จะจำได้เท่ากัน แต่มีความแตกต่างอยู่ตรงที่ คุณจับประเด็นในสิ่งที่เขาพูดกับคุณได้หรือไม่ ถ้าจับได้ก็ไม่ยากที่จะนำเรื่องมานำเสนอกับคนอ่าน แต่ถ้าจับไม่ได้ก็จะเขียนเรื่องแบบไม่ได้สาระไรทั้งสิ้น

ก่อนที่จะปิดท้ายบทความนี้  คนข่าวรุ่นลายคราม  ประเมินการทำงานข่าวของ  สื่อมวลชน  ในปัจจุบันไว้อย่างน่าสนใจว่า นักข่าวใหม่ส่วนหนึ่งก็มีคุณภาพ แต่ว่าอาจจะเป็นเพราะว่าสมัยนี้การแข่งขันสูง การทำงาน การเช็คข่าว หรือกรองข่าวมีน้อย ก็ทำให้พลาดบ่อย บางครั้งคนรุ่นใหม่ค่อนข้างที่จะทำอะไรฉาบฉวย มุ่งแต่ประเด็นที่จะแข่งขันกัน และคิดว่าแค่ว่า  มันเป็นข่าว  ทั้งที่ข่าวบางข่าวไม่ได้ให้ประโยชน์อะไรกับคนส่วนใหญ่

 ในฐานะเป็นนักข่าวรุ่นพี่ ยังอยากเรียกร้องให้คนที่มีอาชีพนักข่าวทุกคน เวลาจะคิด จะทำอะไร ต้องมีสำนึกสาธารณะ มุ่งเน้นในเรื่องศีลธรรม จรรยา ให้มาก ไม่ใช่ว่า คิดแค่ มันเป็นข่าว จะดีจะเลวอย่างไร แต่มันเป็นข่าว ไม่สนใจ ว่าข่าวนั้นจะทำให้เกิดความเสียหายอย่างไร บอกตามตรงว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง  นักข่าวรุ่นลายครามกล่าวปิดท้าย

++++++++++++++++++

ประวัติ

เกิดเมื่อ วันที่ 1 พ.ย. พ.ศ. 2492 ที่กรุงเทพมหานคร

การศึกษา จบมัธยมปลายที่โรงเรียนเซนโยเซฟคอนเวนต์ หลังจากเรียนจบก็หันมาจับงานเขียน และเป็นนักเขียนอิสระ ควบคู่ไปกับนักค้นคว้า และเคยได้ทุนจากมูลนิธฟอร์ด และ มหาวิทยาลัยขอนแก่นให้ทำเรื่องศิลปพื้นบ้าน เกี่ยวกับเรื่องผ้า และประเพณี 12 เดือนของภาคอีสาน

พ.ศ. 2515 ร่วมเป็นหนึ่งการขุดวัตถุโบราณ หลักฐานทางโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ ที่บ้านเชียง และได้เขียนข่าวส่งไปยังหนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆ ที่สนใจเรื่องดังกล่าวด้วย

พ.ศ. 2517 เป็นนักข่าวที่หนังสือพิมพ์สยามรัฐ เริ่มต้นเป็นนักข่าวประจำกระทรวงศึกษาธิการ ในระหว่างที่ทำข่าวกระทรวงศึกษาธิการ ได้รับแต่งตั้งจากสภาการศึกษาแห่งชาติ ให้เป็นอนุกรรมการการปฏิรูปการศึกษา จากนั้นก็ได้รับการแต่งตั้งจากกรมวิชาการให้เป็นกรรมการในการทำคู่มือครู เรื่อง  สถาบันพระมหากษัตริย์ ความมั่นคงของชาติ 

พ.ศ. 2524 ทำงานที่นิตยสารสู่อนาคต

พ.ศ. 2533 ทำงานที่หนังสือพิมพ์สยามโพสต์

พ.ศ. 2538 เป็นผู้ร่วมก่อตั้งหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ กับ เปลว สีเงิน

ธันวาคม พ.ศ. 2550 เป็นที่ปรึกษากองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ และ คอลัมนิสต์ (ใครเป็นใคร คนเป็นข่าว)