ยุวดี ธัญญสิริ

เทคนิคในสนามข่าว

ฉบับ  เจ๊ยุ  ครูคนข่าว

กล่าวกันว่า ในวงการ  สื่อมวลชน  ก็คล้ายๆ กับวงการมายา ที่ต้องคอยมีลูกล่อ ลูกชน และเสแสร้ง ปั้นหน้า เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูล ที่จะมาเขียนข่าว

จนบางครั้ง  นักข่าวน้องใหม่  ในวงการ ที่ยังไม่เข้าใจ หรือปรับตัวไม่ได้ถึงกับ อำลาอาชีพ และ ทิ้งความฝันที่ตั้งใจมาตั้งแต่ต้น

จะมีใครสักกี่คนที่อยู่ทน และ อยู่นานได้ในวงการสื่อมวลชน จนถึงขั้นเกษียณอายุงาน อย่าง  ยุวดี ธัญญสิริ  ผู้สื่อข่าวอาวุโส ประจำทำเนียบรัฐบาล ที่น้องๆ สายสื่อ ต่างเรียกกันติดปากว่า  เจ๊ยุ  แต่ใครจะรู้ว่า บุคคลที่ได้รับการขนานามว่าเป็น  เจ๊  ผู้นี้จะเป็นคนข่าวที่คล่ำหวอดอยู่ในวงการมากว่า

40 ปี และรักษาจุดยืน  ความเป็นคนข่าว  ไว้ได้อย่างมั่นคง นับตั้งแต่ได้เข้ามาเป็นนักศึกษาฝึกงานที่บางกอกเวิลด์

 นักข่าวอาวุโสผู้นี้  หากจะเรียกคำนำหน้าชื่อว่าเป็น  ครู  ของนักข่าวในวงการก็คงไม่มีใครคัดค้าน แม้ว่านักข่าวที่เพิ่งเป็นเด็กจบใหม่ มีไฟแรง มีอีโก้ มีความเชื่อมั่น ถือมั่นในตัวเองสูง ยังต้องยอมรับและนับถือ

 เจ๊ยุ  บอกว่า นักข่าวใหม่ไฟแรงนั้นเป็นสิ่งที่ดีต่อการทำงาน แต่ถ้ามีอีโก้ ความทะเยอทะยาน ไม่ยอมฟังใครคิดว่าตัวเองถูกเสมอ ก็ต้องปล่อยให้ได้บทเรียนบ้าง เพื่อเขาจะได้จำ เข้าใจ และแก้ไขตัวเอง เพราะการที่ชื่อว่านักข่าว หน้าใหม่ย่อมมีสิทธิที่จะถูกแหล่งข่าวหลอกใช้ได้ง่าย โดยเฉพาะนักการเมืองที่ชอบปล่อยข่าวทำลายคู่ต่อสู้

 ครูนักข่าว  ยังบอกเล่าด้วยว่า การทำงานข่าวนั้นสิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงเสมอคือ ข้อเท็จจริง ความน่าเชื่อถือมานำเสนอเป็นหลัก แต่ด้วยที่นักข่าวมีความอ่อนด้อยประสบการณ์ สิ่งที่เป็นจุดเริ่มต้นได้ดีที่สุดคือ การเรียนรู้ ฝึกฝน ติดตามข่าวสารบ้านเมืองในสื่อต่างๆ แต่ด้วยเวลาที่จำกัดในการทำงานแต่ละวัน การอาศัยเทคโนโลยีอย่างเช่น อินเตอร์เน็ต เข้ามาช่วย ก็จะสามารถช่วยให้นักข่าวใหม่เรียนลัด ในหลักสูตร ก้าวมาเป็นคนข่าวที่ดี มีคุณภาพได้เร็วขึ้น แต่มีวงเล็บว่าต้องใช้ให้ถูกต้อง เหมาะสม

 นักข่าวเก่า หรือ นักข่าวใหม่ แทบไม่มีอะไรแตกต่างกัน ความรู้ต่างๆ สามารถเรียนทันกันหมด ปัญหาอยู่ที่ว่านักข่าวรุ่นเก่าอาจจะมีความได้เปรียบ ในแง่ที่มีประสบการณ์ ผ่านงานต่างๆ มาเยอะ แต่นักข่าวรุ่นใหม่ต้องเข้ามาแล้วสร้างแหล่งข่าวของตนเองควบคู่ไปกับเรียนรู้จากรุ่นพี่ในสนามข่าว และต้องยอมรับว่าในด้านการข่าวไม่มีใครเกิดมาแล้วเป็นนักข่าวเลย แต่คนที่ตั้งใจจะเป็นนักข่าว พึงสำเหนียกไว้ว่าจะต้องมีความรับผิดชอบต่อตนเอง ต่อสังคมส่วนรวม  ครูนักข่าว ชี้แนะ

นอกจากนี้  เจ๊ยุ  ยังสอนเทคนิคในการต่อสู้ในสนามข่าว ว่า นักข่าวใหม่นั้นจะต้องมีแหล่งข่าว แต่การสร้างแหล่งข่าว เป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับไหวพริบของนักข่าวเอง ที่จะต้องเลือกมอง ไม่ใช่ว่าใครพูดอะไรมาเชื่อในคำพูดทั้งหมด หากเป็นเช่นนั้นเสร็จแน่ๆ แต่ถ้าไม่แน่ใจในว่าแหล่งข่าวนั้นมีความน่าเชื่อถืออย่างไร ควรถามรุ่นพี่ในสนามดีที่สุด แต่ที่สำคัญอย่าอวดเก่ง และต้องอ่าน ติดตามข่าวสารให้มากๆ หัดเป็นคนฟังคน และเอามากลั่นกรองด้วยตัวเราเอง ส่วนการวางตัวระหว่างนักข่าว กับแหล่งข่าวนั้น ก็ควรให้มีระยะห่างพอสมควร

 สื่อบางคนเข้าไปคลุกคลีตีโมงกับแหล่งข่าว เพื่อหวังจะได้ข่าวเชิงลึก แต่ต้องไม่ลืมว่าแหล่งข่าวก็หวังใช้นักข่าวด้วยเหมือนกัน ไม่ใช่แค่ให้ข่าวเพียงอย่างเดียว คือ ต่างคนต่างใช้ ทั้งนี้บางข่าวก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ ซึ่งเรื่องนี้ควรวางตัวให้เหมาะ ไม่ว่าฝ่ายใด สำคัญอย่าไปอคติ ต่อฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด เรื่องอคติ หรือ นิยมชมชอบ เป็นเรื่องที่ห้ามกันไม่ได้ แต่เรื่องข่าวสาร ต้องรักษาความตรงไปตรงมา ตัวฉันเอง ตลอดเวลาที่ทำงานมาเราก็พยายามรักษาการให้ความเคารพแหล่งข่าว ความน่าเชื่อถือของตนเอง ไม่ไปทำอะไรในสิ่งที่ไม่ดี คือ คิดว่าต้องทำงานอย่างตรงไปตรงมา หากเป็นเรื่องจริง ก็ต้องมีคนยอมรับ เพราะไม่ได้คิดอคติกับใคร หรือ ฝ่ายใด 

บททดสอบ หรือ บทพิสูจน์ นักข่าว หรือ  หมาเฝ้าบ้าน  ที่ดีที่สุดอีกประการคือ การเอาตัว เอาใจให้รอด จาก  ขอกำนัล-ของล่อใจ  ที่ถูกหยิบยื่นให้จากแหล่งข่าว

 เจ๊ยุ  ได้ถ่ายทอดประสบการณ์ที่เจอมากับตนเองว่า  ตอนที่มีคนเชิญไปงาน และคนจัดเขาก็แจกซองให้เรา ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเป็นอะไร แต่พอเปิดดูก็อ้าวเป็น สตางค์ โดยจรรยาบรรณนักข่าวก็บอกว่ารับไม่ได้และคืนเขาไปอย่างสุภาพ แต่ก็ยังถูกรบเร้า ว่าให้เป็นค่ารถ ค่าเดินทาง เราก็บอกไม่เป็นไร ที่สำนักพิมพ์ก็มีค่ารถให้แล้ว ซึ่งหลังๆ เจอหนักเราก็บอกทีเล่นที่จริงไปว่า ให้แค่นี้ก็ไม่รวยหรอก ถ้าจะให้ก็ต้องให้เยอะกว่านี้ 

นอกเหนือจากที่คนเป็นสื่อมวลชนจะต้องมีความรับผิดชอบแล้ว ต้องยึดมั่นใจจริยธรรม คุณธรรม และจรรยาบรรณของนักข่าวไว้ให้มากที่สุด เพราะการนำเสนอข่าวแท้จริง ไม่ได้มองเรื่องดี หรือเรื่องชั่วอย่างเดียว ต้องมองเรื่องความมีคุณธรรมจริยธรรมด้วย เพราะต้องยอมรับว่า หนังสือพิมพ์ เป็นสื่อที่ต้องเสพ และประชาชนจะเลือกรับ เลือกเสพ ดังนั้น คนในวงการสื่อจะต้องให้ความเคารพต่อสังคมส่วนรวม และนำเสนอสิ่งที่ดีมีคุณประโยชน์ และต้องมีการปฏิรูปตัวเอง หากยกตัวอย่างก็เหมือนกับคนที่เป็นครูบาอาจารย์ ก็ต้องศึกษา พัฒนาการความรู้ ที่ในสมัยนี้มีก้าวหน้าไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากครู นำเอาเนื้อหาในตำราเก่าๆ ครูก็จะคร่ำครึ และเด็กนักเรียนก็จะไม่ได้อะไร เช่นเดียวกับสื่อ ที่ต้องทำมากกว่า ครูบาอาจารย์ ชีวิตต้องไม่หยุดนิ่ง ต้องรู้เท่าทัน

ด้วยความที่เป็นคนข่าวที่ทำงานมานาน  เจ๊ยุ  ได้บอกเล่าความมหาโหดของวงการสื่อมวลชนให้ฟังด้วยว่า อาชีพสื่อเป็นอาชีพที่ลำบาก พอๆ กับเจ้าหน้าที่ที่ออกสนาม เพราะต้องใช้ความอดทนอย่างสูง ไม่มีความเป็นตัวของตัวเอง เพราะไม่รู้ว่าเหตุการณ์จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ เมื่อหัวหน้าสั่งให้ไป เราก็ต้องไป บางครั้งก็ต้องไปทั้งต่างจังหวัด หรือ ต่างประเทศ ซึ่งยอมรับว่าเหนื่อย แต่ก็ชอบการทำงานอาชีพนี้ เพราะเป็นงานท้าทาย ตื่นเต้น และเข้าถึงเหตุการณ์ก่อนคนอื่น และนำข้อมูลข้อเท็จจริงมา เล่าให้สังคมฟังว่ามีอะไรเกิดขึ้นที่ไหน เมื่อไหร่ และเมื่อนำเรื่องมาขยายผลก็จะทำให้เกิดความภูมิใจ การทำงานข่าวเป็นเรื่องแข่งขัน ที่ต้องเร็ว ต้องถูกต้อง แต่เมื่อทำงานมาถึงขนาดนี้ แทบไม่เชื่อตัวเองเลย มีชีวิตรอดมาได้อย่างไร เพราะมันลำบากจริงๆ ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ

ก่อนที่จะจบบทเรียนจากชีวิตจริงคนข่าว ที่ทำงานในวงการสื่อมวลชนมากว่า 40 ปี  เจ้าแม่แห่งวงการ  ได้ทิ้งท้ายไว้ว่า  การทำงานให้อยู่ทน และอยู่นาน อันดับแรก ต้องรักษาจุดยืนของตัวเอง ซึ่งจุดยืนของตนนั้น ก็ คือ ความน่าเชื่อถือ ตรงไปตรงมา และ ให้ความเคารพ ให้เกียรติกับในแหล่งข่าว

 บางครั้งตอนที่ทำข่าว ก็เคยมีแหล่งข่าวมาด่า ว่าเขียนข่าวไปได้อย่างไร เรื่องไม่ได้เป็นอย่างนั้นซักหน่อย เราก็ถามกลับทันทีว่า แล้วเรื่องเป็นอย่างไร เพราะเรื่องที่เราไปทำนั้นเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ วิธีการหาเงินของนักการเมืองในสภา คือหากใครนำเรื่องเข้าไปสภาได้ ก็จะได้รับเงิน แต่ถ้าสามารถเอาไปอภิปรายได้ก็จะได้รับเงินอีกระดับหนึ่ง เผอิญว่าหนังสือพิมพ์ที่เราสังกัด เสนอข่าว แล้วเขาก็มาต่อว่า เรื่องนี้ไม่ได้เป็นเช่นนั้น เราก็ตอบกลับไปว่า อ้าวก็เรื่องของคุณ เราไปเกี่ยวอะไร จะลงข่าวเช่นนี้ไปเกี่ยวอะไรกับคุณ แต่ก็ยืนยันว่าข่าวที่ได้มามันเป็นเช่นนั้น และถูกต้อง 

อย่างไรก็ตาม สื่อเป็นอาชีพที่สอนกันไม่ได้ ดังนั้นหากใครคิดที่จะก้าวเท้าเข้ามาทำแล้ว นอกจากใจรัก จะต้องมีความฉลาดเฉลียว กล้าถาม เรื่องไหนที่ไม่รู้ก็ต้องถามรุ่นพี่ ถามเพื่อน อย่าไปตัดสินใจด้วยตัวเอง เพราะความเห็นของเราคนเดียวก็ไม่ได้ถูกเสมอไป นี่คือ เคล็ดวิชาจาก เจ๊ยุ