ครูนักต่อสู้ เพื่อสิทธิเสรีภาพ
ธรรมศักดิ์ งามเมืองแมน
ถ้าพูดถึง ครูนักข่าว ที่นอกจากเป็นแม่แบบ เป็นตัวอย่างให้คนวงการสื่อรุ่นหลังก้าวเดินตาม ในด้านการทำงานที่ยืนหยัดอย่างมั่นคงในจุดยืนด้านจริยธรรมในการประกอบวิชาชีพ สมกับที่อาชีพนี้ได้รับการย่องจากสังคมในฐานะฐานันดรที่สี่ ยังเป็นต้นแบบของครูที่รักในเรื่องสิทธิ เสรีภาพ จนเป็นที่มาของต่อสู้ครั้งแล้วครั้งเล่า
ครูมานิจ สุขสมจิตร บรรณาธิการอาวุโส หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ คือครูต้นแบบข้างต้น เป็นครูที่เข้าร่วมการต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับเพื่อนร่วมวิชาชีพ เพื่อเรียกร้องเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ความยุติธรรม มาตั้งแต่ครั้งเริ่มทำงาน ผ่านยุคสมัยที่รวมตัวกันเรียกร้อง ปลดโซ่ตรวน ของอำนาจเผด็จการ ทั้งที่แสดงตัวอย่างชัดเจน หรือที่แอบแฝงที่ล้วนแล้วไม่ต่างกันในเรื่องของการจ้องเข้ามาครอบงำ ครอบคลุม แทรกแซงวงการๆนี้
ไม่มีครั้งไหนของการรวมตัวเรียกร้องสิทธิเสรีภาพหนังสือพิมพ์ที่จะไม่มี ครูมานิจ เข้าร่วมเคียงบ่าเคียงไหล่กับผู้อาวุโสและเพื่อนพ้องน้องพี่ในวงการ โดยเฉพาะในช่วงหลังมานี้พูดได้ว่า ครูมานิจ คือ หัวหอก ถือธงนำยืนอยู่แถวหน้าร่วมกับบรรดาพี่ป้าน้าอาของคนสื่อ
ผ่านยุคสมัยทั้งอำนาจเผด็จการ รัฐบาลปฏิวัติ ปฏิรูป ประชาธิปไตยกึ่งอำมาตยาธิปไตย ประชาธิปไตยเต็มใบ รัฐบาลเศรษฐีนายทุน จนกระทั่งยุคปัจจุบันกับรัฐบาลที่มาจาการรัฐประหาร ตั้งแต่ การเรียกร้องปลดแอกยกเลิกพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 ที่เป็นมรดกชิ้นสำคัญของเผด็จการทหาร จนประสบความสำเร็จ โดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้มีมติให้ตราพ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550 เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2550 อันมีผลให้ยกเลิกพ.ร.บ.การพิมพ์พ.ศ 2484 ซึ่งใช้มาเป็นเวลา 66 ปี รวมทั้งก่อนหน้านี้กับการต่อสู้ ปลดโซ่ตรวน ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่17 และประกาศคณะปฏิรูปการปกครองฉบับที่42
ตลอดจนการปักหลักยืนเป็นกำแพงกั้น ปกป้องและต่อสู้กับอำนาจไม่ชอบธรรมทั้งหลาย ที่ย่างก้าวเข้ามาในพื้นที่ของความเป็นสื่อ ทั้งการข่มขู่ คุกคาม และแทรกแซง ในสารพัดรูปแบบวิธี
{xtypo_quote}ผมสู้มาตลอดชีวิตการทำหนังสือพิมพ์{/xtypo_quote}กระทั่งจนถึงบัดนี้ การต่อสู้ของ ครูมานิจ ก็ยังไม่จบ และจะไม่มีวันจบ ตราบเท่าที่ผู้ใช้อำนาจรัฐยังไม่อยากให้สื่อวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของตนด้วยคิดว่าเป็นการบ่อนทำลายความเชื่อมั่น โดยหาได้ตระหนักว่านั่นเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย และตราบเท่าชีวิตนี้ของครู ผู้ซึ่งเลือกแล้วว่าจะขอเป็นนักหนังสือพิมพ์ตลอดไป
จากแม่สะเรียงสู่ท่าพระจันทร์
ก่อนจะมาเป็นนักหนังสือพิมพ์ผู้ยิ่งยงและยืนหยัดในอุดมการณ์อันแรงกล้าทุกวันนี้ ย้อนหลังไปเมื่อเกือบ68ปีก่อน ครูมานิจ คือเด็กต่างจังหวัดคนหนึ่ง ถือกำเนิดที่อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ดินแดนไกลปืนเที่ยง ถึงขั้นที่ว่าจะเข้าตัวเมืองเชียงใหม่แต่ละครั้ง ต้องเดินเท้าตามเขาตามห้วยกันหลายวัน
เป็นนักเรียนที่โรงเรียนสามัคคีวิทยาคาร และมาต่อในระดับมัธยมที่โรงเรียนแม่สะเรียงบริพัตรศึกษา โรงเรียนมัธยมศึกษาประจำอำเภอแม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ด้วยความที่เป็นลูกครู เด็กชายมานิจในสมัยนั้นจึงเป็นเด็กที่ตั้งใจเล่าเรียน จัดได้ว่าเป็นเรียนดีคนหนึ่ง ได้ทุนเรียนดีของจังหวัด โดยเมื่อจบการศึกษาระดับมัธยมปีที่ 5 แล้ว ได้เดินทางเข้ามาศึกษาต่อในกรุงเทพฯ มาอาศัยเป็นลูกศิษย์วัดที่วัดบวรนิเวศฯ แต่เนื่องด้วยโรงเรียนวัดบวรฯ ที่นั่งเต็ม จึงต้องไปเรียนที่วัดราชบพิธ แต่เป็นเด็กวัดบวรฯ
และด้วยความที่อาศัยอยู่วัด เป็นเด็กวัดนี่เอง ทำให้ครูได้ใกล้ชิดกับพระธรรม คำสอน และวินัย จากผู้ดำรงสมณเพศ คอยอบรมสั่งสอนใกล้ชิด ที่วัดบวรนิเวศน์สมัยนั้น สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก ยังเป็นพระมหาเจริญ สุวัฒโน โดยเด็กวัดทุกคนต้องปฏิบัติตามกฏของวัดที่มีสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมพระวชิรญาณวงศ์(ม.ร.ว.ชื่น นพวงศ์)เป็นเจ้าอาวาส
การที่ผมได้มีโอกาสอยู่กับวัด ทำให้มีโอกาสได้ใกล้ชิดพระ ตกเย็นทุกวันต้องเข้าโบสถ์ ใครขาดไปเจ้าคณะปกครองในวัดต้องรับผิดชอบ ว่าเด็กในปกครองขาดไปไหน ไปเรียนหนังสือหรือหนี ต้องมีหนังสือแจ้ง ตื่นเช้ามาต้องออกกำลังกาย แล้วนั่งรถรางจากตลาดบางลำพู ไปเรียนวัดราชบพิธ
พอจบก็ไปสอบที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา พญาไท คนเขาก็งงว่า ผมสอบได้ไง ตอนสอบออกม.6 ได้ที่สี่ แต่คนสอบได้ที่หนึ่งที่สองที่สามสอบไม่ได้ คนก็งงหาว่ามีเส้น มีได้ไง เรามาจากบ้านนอก ไม่รู้จักใครเลย ครูมานิจย้อนชีวิตในวัยเรียน
ในช่วงเข้าสู่ชั้นอุดมศึกษา ที่ธรรมศาสตร์นี่เอง ครูมานิจ เลือกที่จะทำงานเพื่อส่งตัวเองเรียน โดยได้มีโอกาสดีเข้าสู่วงการหนังสือพิมพ์ โดยได้ทำงานเป็นนักข่าวครั้งแรก ที่หนังสือพิมพ์กรุงเทพรายวัน สมัยประดิษฐ์ ไกรว่อง เป็นบ.ก. แล้วย้ายไปอยู่หนังสือพิมพ์หลักเมือง สมัย สุเทพ เหมือนประสิทธิเวช ผู้อาวุโส สิงห์โตฮึ่มๆ กุมบังเหียน เป็นหัวหน้ากองบรรณาธิการ
และมีนักข่าวรุ่นใกล้เคียง ทั้งรุ่นพี่อย่าง แถมสิน รัตนพันธุ์ เจ้าของนามปากกา ลัดดา ซุบซิบ ทวิทย์ โปสินธุ์ รวมทั้ง ระวิ โหลทอง แห่งสยามสปอร์ต ส่วนพงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร ก็ตามเข้ามาร่วมงานด้วยกันทีหลัง
หลังจากนั้นจึงได้เข้ามาร่วมค่ายชายคาหนังสือพิมพ์ไทยรัฐของกำพล วัชรพล จอมพลคนหนังสือพิมพ์ ในยุคซอยวรพงษ์ โดยไทยรัฐยุคนั้นมีทีมงานประกอบด้วยคนหนุ่มไฟแรง ทั้งกระชาย ประสบ จุลเดชะ กระแช่ ประสาน มีเฟื่องศาสตร์ เจือ ศิริประเสริฐ ม.ร.ว.ไววุฒิ รุจวิชัย เลิศ อัศเวศน์, ถนอม อัครเศรณี, สมิต มานัสฤดี, สมบูรณ์ วรพงษ์, เฉลิมชัย ทรงสุข ฯลฯ
ช่วงที่อยู่ไทยรัฐนี่เอง เป็นจังหวะที่ ได้รับความเมตตาจาก หัวหน้าให้สามารถเรียนไปด้วยทำงานไปด้วยได้ ทั้งนี้เหตุที่เลือกเข้าเป็นสมาชิกรั้วเหลือง-แดง ครูมานิจ เล่าว่ามหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์สมัยนั้นเป็นตลาดวิชา เก็บค่าเล่าเรียนปีละ40บาทเท่านั้น และมีชื่อเสียงจุดยืนมั่นคงในเรื่องของการยืนอยู่ข้างประชาชน และตอนที่เรียนอยู่โรงเรียนราชบิธ ได้มีโอกาสมาเดินเล่นที่สนามหลวงบ่อย เห็นกิจกรรมนักศึกษาธรรมศาสตร์ และคิดว่าที่เรียนวิชากฎหมายจะช่วยใครต่อใครได้เยอะ โดยมีภาพประทับใจตั้งแต่วัยเยาว์ ตอนอยู่อ.แม่สะเรียง เห็นผู้พิพากษาที่ศาลจังหวัดแม่สะเรียงได้รับความเคารพนับถือจากชาวบ้าน เพราะให้ความเป็นธรรมให้ความยุติธรรมกับชาวบ้านได้ โดยนักกฎหมายท่านนั้นคือศาสตราจารย์กำธร พันธุลาภ ซึ่งต่อมาได้มาเป็นลูกศิษย์ท่านที่ธรรมศาสตร์
{xtypo_quote}ตอนนั้นหัวหน้าผมคือคุณวิมล พลกุล หัวหน้ากองบ.ก.ที่ไทยรัฐเห็นว่า อยากจะให้เรียนให้จบ เพราะรุ่นๆพี่ๆที่มาทำงานหนังสือพิมพ์เรียนธรรมศาสตร์กันเยอะแต่ไม่จบ เลยบอกว่ามานิจ ไปทำข่าวศาลก็แล้วกัน แล้วไปเรียนธรรมศาสตร์ เรียนให้จบให้ได้{/xtypo_quote}เพราะฉะนั้น เช้ามืดเราตื่นแต่เช้าไปเข้าเรียนธรรมศาสตร์ตั้งแต่ 7 โมง - 9โมง และอาจารย์ก็เดินข้ามฟากมาเป็นศาล อีกฝั่งเราก็ตามอาจารย์มา ทำข่าวศาล มีอะไรก็จดๆไว้ ตกเย็นมาอาจารย์ข้ามฟากมาสอนหนังสือ เราก็ตามไปเรียนอีก จนสองทุ่มอาจารย์เลิก เราก็ขึ้นรถเมล์จากสนามหลวงมาลงบางลำพู เข้ามาเขียนข่าวส่งหัวหน้า ทำอย่างนี้ทุกวันเว้นวันเสาร์-อาทิตย์
หลงเสน่ห์กระดาษและกลิ่นหมึก!!
ภายหลังจบการศึกษาคณะนิติศาสตร์รุ่นเข้าเรียนปี2501 หรือนิติฯ01 ที่มีเพื่อนร่วมรุ่นระดับคนดังการเมืองและนักกฎหมาย ทั้ง ชวน หลีกภัย อดีตนายกฯ หรือปรมาจารย์ทางกฎหมาย อย่างอดีตประธานวุฒิสภาและประธานสนช. มีชัย ฤชุพันธุ์ หรืออุดม เฟื่องฟุ้ง กรรมการคตส. สมลักษณ์ จัดกระบวนพล กรรมการป.ป.ช. และจรัล หัตถกรรม ตุลาการศาลปกครองสูงสุด และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เป็นต้น โดยต่างคนต่างแยกย้ายกันไป โดยเพื่อนๆส่วนใหญ่หากไม่ไปเรียนต่อต่างประเทศ ก็เข้ารับราชการ โดย ครูมานิจ เองก็เกือบจะเข้าทำงานในอาชีพนี้เช่นกัน
หลังจากสอบเข้ารับราชการที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตามคำชักชวนของเพื่อน ถึงจะเป็นการทดลอง แต่ผลปรากฏว่าสอบได้ โดยเมื่อรู้ผลสอบแล้ว ครูมานิจ เลือกที่จะปฏิเสธไม่เข้ารับราชการ แม้ว่าดร.อดุล วิเชียรเจริญ เลขาธิการมหาวิทยาลัยสมัยนั้น หรือเปรียบเทียบแล้วก็ระดับรองอธิการบดีสมัยนี้ จะเสนอเงื่อนไขพิเศษให้ก็ตาม
{xtypo_quote}ด็อกเตอร์อดุลก็มาถามผมว่า ทำไมไม่เอา ผมจะส่งคุณไปเรียนเมืองนอก กลับมาเป็นอาจารย์ ผมก็บอกว่า ตอนนั้นถ้าเป็นข้าราชการเงินเดือน 750 บาท ผมได้ที่ไทยรัฐ 1,200 บาท แล้วอีกอย่างที่สำคัญกว่าเงินคือ ชีวิตผมเป็นข้าราชการคงไม่ได้ เข้ากันไม่ได้ ผมต้องการทำงานหนังสือพิมพ์เรื่อยไป{/xtypo_quote}ทั้งนี้หากถามถึงเป้าหมายและแผนการของชีวิตต่อไปในช่วงนั้นว่าตั้งเป้าเป็นนักหนังสือพิมพ์หรือเปล่า ครูมานิจปฏิเสธ โดยบอกว่า เดิมทีตั้งแต่เด็กตั้งใจไว้ว่า จะเป็นนักกฎหมาย แต่เมื่อได้มาทำงานหนังสือพิมพ์ ก็ติดอยู่ตรงนี้ด้วยใจรัก ไม่คิดจะไปประกอบอาชีพอย่างอื่นเลย
แม้แต่ช่วงหนึ่งหลังทำงานที่ไทยรัฐมาหลายปี มีบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งมาชวนให้ไปทำงานด้วยในตำแหน่งประชาสัมพันธ์บริษัท ด้วยความรักในวิชาชีพพิเศษนี้ ครูมานิจ ก็ได้บอกปัด แม้ว่าจะได้รับข้อเสนอเรื่องเงินเดือนที่น่าสนใจก็ตาม
ครูมานิจ ยังแจงข้อสงสัย เหตุใดจึงเลือกที่จะปักหลักที่อาชีพนักหนังสือพิมพ์ ทั้งๆที่ อาชีพข้าราชการมีความมั่นคง ขณะที่หากพูดถึงเรื่องรายได้ ก็มีบริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่เป็นทางเลือก โดยยืนยันถึงความพิเศษของวิชาชีพนี้ว่า เป็นอาชีพที่มีเสน่ห์ คนทำอาชีพหนังสือพิมพ์ยิ่งทำไปแล้ว จะรู้ว่ามันมีโอกาสช่วยคนอื่นได้มากกว่า
ตัวอย่างในการช่วยเหลือคนตั้งแต่ยังเรียนในชั้นเรียนคณะนิติศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยที่ยังจำได้ก็คือ กรณีนี้มีนักเรียนแพทย์กำลังจะจบคนหนึ่ง มาลงเรียนนิติศาสตร์ด้วย เมื่อถึงเวลาสอบ ก็เอากระดาษข้อสอบของเพื่อนนักศึกษานิติศาสตร์ไปแก้เป็นของตัวเอง ทำให้เพื่อนของครูมานิจสอบตก ทั้งที่เรียนเก่ง และด้วยความที่เป็นนักข่าว ใช้ความเป็นคนที่มีนิสัยช่างสังเกต ช่างสงสัย ทำให้ช่วยเหลือเพื่อนสำเร็จ
{xtypo_quote}เพื่อนคนนั้นไปขอดูคะแนนเขาไม่ให้ดู ด้วยความเป็นนักข่าวผมก็ไปขอดู เขาบอกไม่ให้ มันผิดระเบียบ ผมก็เลยบอก ขอดู ไม่จดอะไร เมื่อดูแล้วมีข้อสังเกตุ ก็เห็นรอยขีดฆ่าหัวกระดาษ ฆ่าเลขประจำตัว เขียนใหม่ ก็ถามเพื่อน เขาก็บอกไม่มี ขีดฆ่าเลขประจำตัวเขาๆก็ต้องจำได้ ก็เลยรู้ว่ามีการเปลี่ยนกระดาษคำตอบ ก็สืบสาวราวเรื่อง เราก็เขียนข่าว มีการเปลี่ยนกระดาษคำตอบในมหาวิทยาลัย ผลก็คือเรานำเสนอข่าว มีการสอบสวน เขาก็ให้เพื่อนเราสอบได้ หมอนั่นตก แล้วมีหนังสือไปถึงมหาวิทยาลัย ถูกถอนปริญญาแพทย์ด้วย{/xtypo_quote}นอกจากนี้ความรู้ทางกฎหมายที่ได้เรียนมา ครูมานิจ ยังนำมาปรับใช้กับอาชีพงานข่าวและประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่ ทั้งการเขียนข่าวอย่างระมัดระวังข้อกฎหมาย ทำให้ตลอดเวลาที่เป็นนักข่าว ข่าวของครูเรียกว่าไม่เคยถูกฟ้องเลย
รวมทั้งยังนำความรู้ไปใช้ในงานเขียนบทความ มีคอลัมน์ ทนายชาวบ้าน โดย พงศ์อมร ที่ใช้ชื่อลูกชายมาเป็นนามปากกาอีกหนึ่งนามปากกา นอกเหนือไปจาก เสมา วิจิตรัตนา- นขลิขิต หรือ นายเถื่อน เพื่อนนายเมือง และ สีสด
โดยคอลัมน์ทนายชาวบ้านนี้ ถือเป็นอีกคอลัมน์ยอดนิยมของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐมาหลายสิบปี เพราะผู้เขียนนำภาษากฎหมาย ที่อ่านเข้าใจยาก มาเขียนเป็นภาษาชาวบ้านง่ายๆ ภายหลังมีสำนักพิมพ์ขอเอามาพิมพ์รวมเล่มเป็นหนังสือถึง5เล่ม รวมทั้งบริษัทกันตนายังได้นำไปทำเป็นละครฉายทางโทรทัศน์ช่อง7 ใช้ชื่อ คดีแดง ฉายทุกคืนวันอังคารหลังข่าวนาน2ปี
ไม่เพียงแต่เท่านั้นความรู้ทางกฎหมายของครูมานิจ ยังมีส่วนช่วยเพื่อนพ้องน้องพี่ในวงการสื่อสารมวลชน โดยครูจะเป็นหลักในฝ่ายกฎหมาย ช่วยดูข้อกฎหมาย ช่องทางในการต่อสู้เรียกร้องสิทธิเสรีภาพของสื่อหลายต่อหลายครั้ง โดยครูถือเป็นความสำเร็จร่วมกันของพลังนักหนังสือพิมพ์
โดยเฉพาะในช่วงปี2517-2518 ครูนักข่าวของสื่อรายนี้ก็ได้รับเกียรติจากคนในวงการ เลือกให้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย ทั้งที่อายุยังน้อย เนื่องจากก่อนหน้านั้น ได้ช่วยงานส่วนรวมของชาวนกน้อยในไร่ส้มอย่างเข้มแข็งและต่อเนื่องมาหลายปี จนเป็นถึงเลขาธิการสมาคมนักข่าวฯ และได้ผ่านเหตุการณ์สำคัญ เมื่อคนนอกที่เป็นนายทุนนักธุรกิจเข้ามาครอบงำ เป็นนายกสมาคม จนเกิดความแตกแยกของผู้ใหญ่ในวงการสื่อที่สมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และแตกตัวแยกกันออกเป็นสองสมาคมฯ
โดยในช่วงนั้น ครูมานิจ ที่ยังถือว่าอาวุโสน้อย ก็มีบทบาทร่วมในการตั้งองค์กรใหม่ของสื่อ คือสมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ทั้งช่วยดูในเรื่องข้อกฎหมาย ข้อบังคับสมาคม ไปจนกระทั่งการทำสัญญาเช่าที่ดินจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ที่ตั้งของสมาคมนักข่าวฯในทุกวันนี้
ครูผู้สู้เพื่อสิทธิเสรีภาพสื่อ
กระนั้นก็ตาม ความแตกแยกภายในวงการ เป็นเรื่องที่เด็กอย่างครูมานิจ
มองว่าเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ แต่ที่เป็นภัยสำคัญในวงการสื่อสารมวลชนไทยช่วงนั้น คือภัยคุกคามจากภายนอก โดยเฉพาะการครอบงำสื่อ โดยผู้ถือครองอำนาจรัฐเผด็จการ ที่คนในวงการต่อสู้กันมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งพ.ร.บ.การพิมพ์ปี 2484 มรดกตกทอดของเผด็จการ และมรดกตกทอดในการต่อสู้ของนักข่าว
ต่อเนื่องจากการต่อสู้ให้ยกเลิกพ.ร.บ.การพิมพ์ 2484 ก็มาถึงประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่17ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ห้ามออกหนังสือพิมพ์ใหม่ ห้ามวิพากษ์วิจารณ์การเมือง เพราะจะทำให้ต่างชาติเสื่อมความเคารพเชื่อถือในรัฐบาลไทย ห้ามทำให้ก่อให้เกิดความแตกแยกขัดศีลธรรมอันดีของประชาชน สุดแท้จะอ้างขึ้น
พอปลดแอกปว.17 มาได้ ช่วงรัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์ ปี2517 เมื่อได้ มารุต บุนนาค ที่ปรึกษาของสมาคมฯ เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติ เสนอพ.ร.บ.ในสภานิติบัญญัติ ยกเลิกได้สำเร็จ แต่พออยู่มาได้หลายปี พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ยึดอำนาจ มีการนำปว.17 มาปัดฝุ่น เขียนปะหัวปะท้ายประกาศใช้ใหม่อีก ในอีกชื่อ เป็นประกาศคณะปฏิรูปฉบับที่ 42 ที่ต้องต่อสู้กันมานาน จนถึงยุครัฐบาลพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ที่กว่าวงการนักข่าวประสบ ชัยชนะ สามารถปลดโซ่ตรวน ของวงการ สารพัดกลยุทธ์ได้ถูกนำมาใช้
ทั้งรณรงค์ชูสโลแกนเยาะเย้ยผู้มีอำนาจ เสนาะ-บรรหาร-ชาติชาย โดยเอาพล.อ.ชาติชายไว้ข้างหล้ง เพราะถูกรมว.และรมช.มหาดไทยครอบอยู่ p เป็นนายกฯแต่ไม่มีบทบาท p ปากหวาน รับปากว่าจะยกเลิกปร.42 แต่ก็ไม่ยกเลิก นอกจากนั้นยังยกขบวนไปมหาดไทย เปิดอภิปรายในมหาวิทยาลัย จัดชุมนุม ออกแถลงการณ์ ทำเสื้อ โปสเตอร์ ออกมาแจก โปสเตอร์ ทำรูปปั้นลิง 3 ตัว ปิดหู ปิดตา ปิดปาก ออกแจก
มีอยู่วันหนึ่ง ได้ร่วมกับตัวแทนองค์กรสื่อขอเข้าพบพล.อ.ชาติชาย ที่โรงแรมปริ๊นเซส ตอนนั้นยังชื่อโรงแรมราชศุภมิตร และอธิบายให้ฟัง พล.อ.ชาติชายก็บอกว่าอยากให้ยกเลิกปร.42 เช่นกัน แต่เป็นอำนาจของรมว.มหาดไทยจะดำเนินการ ก็ถามไปว่าได้สั่งการไปหรือยัง พล.อ.ชาติชายก็บอกสั่งแล้ว เลยขอจดหมายสั่งการมาดู แล้วก็ขอถ่ายเอกสารเก็บไว้
โชคดี หลังจากเราพบพล.อ.ชาติชายคืนนั้นพร้อมพี่หยัด(บัญญัติ ทัศนียะเวช) เจ๊วิภา(วิภา สุขกิจ) วันรุ่งขึ้น พอดีหนังสือพิมพ์ไทยรัฐจะไปเปิดโรงเรียนที่นครศรีธรรมราชได้นั่งเครื่องบินทหารซี130ไป ตอนนั้นคุณชาติชายก็นั่งข้างหน้า โดยไม่มีใครกล้าไปนั่งข้างๆ ที่ว่าง อยู่ ต่อมาก็มีคุณบรรหารนั่งข้างหลัง เราก็ได้โอกาสดีเข้าไปถาม ท่านนายกฯ จดหมายเมื่อคืนส่งให้คุณบรรหารแล้วหรือยัง พล.อ.ชาติชาย บอกส่งแล้วๆ
ผมก็บอก เมื่อกี้นี้ถามคุณบรรหาร คุณบรรหารบอกไม่ได้รับ ท่านก็บอก ไม่ได้รับได้ไง ผมส่งให้แล้ว ผมก็เลยบอก ผมเอามาด้วยจดหมายเมื่อคืน ผมเอาไปให้คุณบรรหารได้มั้ย พล.อ.ชาติชาย บอกให้เลยๆ เราก็ไปยื่นให้บนเครื่องบิน เล ย คุณบรรหารก็บอกโอเคๆ ไปคุยกัน
{xtypo_quote}เราก็ยกขบวนไปคุยกับคุณบรรหาร ที่บ้านถนนจรัญสนิทวงศ์ คุณบรรหารก็บอก คุณมานิจ คุณมาเรียกร้องให้ยกเลิกปร.42 ถ้ายกเลิกไปแล้วหนังสือพิมพ์ออกมาเต็มบ้านเต็มเมือง คุณกำพลนายคุณเขาจะเล่นงานคุณนะ ให้ออกมาแข่งกับเขา ผมก็บอก ท่านรัฐมนตรีครับ ที่ผมประชุมๆกันทุกคืน ท่านรู้มั้ยผมได้เงินจากไหน คุณกำพลเขาร่วมลงขันด้วยสองหมื่น คุณกำพลรู้ตลอดว่าพวกผมมาทำอะไร เพราะฉะนั้นท่านรัฐมนตรีไม่ต้องห่วงหรอก คุณกำพลท่านอยากให้มีหนังสือพิมพ์ออกมามากๆ ประชาชนจะได้มีทางเลือก{/xtypo_quote}การต่อสู้เรื่องนี้นอกจากต้องปลุกเร้า รณรงค์ รวมพลังของคนวงการสื่อให้เป็น หนึ่ง เพื่อเป็นพลังในการเข้าต่อกร เจรจา ที่ต้องใช้การชิงจังหวะไหวพริบกับนักการเมือง ในยุคนั้น โดยเฉพาะจากพรรคการเมืองที่ขึ้นชื่อเรื่องลื่นไหลแล้ว ยังต้องใช้วิชาการความรู้เข้าสู้ทางข้อกฎหมายกับทีมที่ปรึกษานายกฯบ้านพิษณุโลก ที่มีนักกฎหมายมือเอกอย่าง ด็อกเตอร์บวรศักดิ์ อุวรรโณ อยู่ในทีม
หลังจากนั้น พล.อ.ชาติชาย นัดพบกับตัวแทนองค์กรสื่อที่บ้านพิษณุโลก ที่ปรึกษาบ้านพิษฯเต็มไปหมด พล.อ.ชาติชาย ก็ถามจะทำไง เพราะตอนที่ยกเลิกปว.17 นั้นออกเป็นกฎหมาย ก็มีคนขององค์กรสื่อที่ไปด้วยกันและเขาไม่ใช่นักกฎหมาย ก็เสนอว่าออกมาเป็นพระราชกำหนดสิ ยกเลิกไปเลย
{xtypo_quote}คุณบวรศักดิ์ อยู่ด้วย เป็นนักกฎหมายบอกทำไม่ได้ การออกพ.ร.ก.ต้องเป็นกรณีฉุกเฉิน อะไรต่ออะไร ผมก็ว่าเขียนให้มันเข้ากฎเกณฑ์พระราชกำหนดสิ เขาก็บอกต้องหาทางเขียนกฎหมายออกเป็นพ.ร.บ. ดีกว่า ทีนี้อีกไม่เกิน 7 วัน มีคนโทรมาบอก เขาจะออก พ.ร.ก .แล้ว ก็ออกจริงๆ แต่เราก็ไม่กล้ายืนยันใครสั่ง เพราะคุณบวรศักดิ์ ก็ไม่ยอม พล.อ.ชาติชายก็เชื่อคุณบวรศักดิ์ แล้วก็ออกเป็นพ.ร.ก.จริงๆ ยกเลิกเลย{/xtypo_quote}อำนาจลึกลับที่ทำให้วงการสื่อประสบความสำเร็จในการปลดแอกจากกฎหมายที่ค้างมาจากยุคเผด็จการได้สำเร็จนั้น ครูมานิจ มองว่าน่าจะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้วงการสื่อสารมวลชน ไม่ต้องเจอกับกฎหมายอีกฉบับ ที่กำลังถูกโยนมาเป็นบ่วงรัดคอควบคุมสิทธิเสรีภาพของสื่ออีกครั้ง ในรัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน ที่ได้เสนอแก้กฎหมายเพิ่มโทษทั้งทางอาญาคดีหมิ่นประมาท และโทษทางแพ่งในคดีละเมิด ที่ให้ปรับตั้ง 4 ล้านบาท
จากการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพของวิชาชีพสื่อ และการทำงานในฐานะนายกสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย ครูมานิจ ยังมีบทบาทเป็นอย่างมาก เมื่อได้ร่วมก่อตั้ง รวมทั้งได้รับเลือกเป็นประธานสมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งอาเซียน จากประเทศไทยคนแรก เมื่อปี 2526-2527 pโดยสามารถเชื่อมโยงองค์กรสื่ออาเซียนกับองค์กรสื่อของไทย และองค์กรสื่อนอกภูมิภาค ในการพัฒนาคนในวิชาชีพนี้
ทั้งการประชุม แลกเปลี่ยน มอบทุนการศึกษา เจรจากับประเทศอื่นๆนอกภูมิภาค จัดทุนให้ไปอบรมศึกษาด้านหนังสือพิมพ์ จัดประชุมทางวิชาการ ไม่ว่าจะเป็นกับประเทศญี่ปุ่น ออสเตรเลีย แคนาดา เยอรมัน อังกฤษ สวีเดน ฯลฯ รวมทั้งเป็นผู้ริเริ่มเสนอความคิดให้จัดการประกวดภาพข่าวอาเซียน ส่งเสริมช่างภาพมีฝีมือในการถ่ายภาพข่าวในภูมิภาค
อุทิศตนเพื่อการศึกษา!!
ผลงานที่สำคัญอีกอย่าง ที่ครูมานิจ ภูมิใจเป็นอย่างมาก ก็คือด้านการศึกษา โดยหลังจากได้มีโอกาสเป็นนักข่าวการศึกษาและต่อมาได้เป็นหัวหน้าข่าวการศึกษา ช่วงคุณหญิงอัมพร มีศุข เป็นหัวหน้ากองเผยแพร่การศึกษา มีม.ล.ปิ่น มาลากุล เป็นปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้พูดคุยจนเกิดสนใจ เข้าใจในเรื่องที่ว่าประเทศไทยจะเจริญได้ ประชาชนจะต้องมีการศึกษาเสียก่อน
ความคิดนี้ช่างเหมาะเจาะต้องตรงกันกับความคิดของ กำพล วัชรพล ผู้บริหารหนักสือพิมพ์ต้นสังกัดของ ครูมานิจเอง ที่แม้จะเล่าเรียนมาไม่มาก แต่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ จึงก่อเกิดเป็นจุดเริ่มของโรงเรียนไทยรัฐ โรงเรียนที่ครูยังเป็นกรรมการมูลนิธิไทยรัฐ ดูแลบริหารจัดการ จัดอบรมครูผู้สอน สนับสนุนเรื่องทุนโรงเรียน100กว่าแห่งอยู่จนทุกวันนี้ ผอ.กำพล ก่อนตายท่านจับมือผม บอกอย่าทิ้งมูลนิธิฯ
ทั้งจุดเริ่มของโรงเรียนไทยรัฐ ครูมานิจก็ถือว่ามีส่วนร่วมในประกายความคิดสำคัญเรื่องนี้ โดยเมื่อปี2512 เมื่อนักข่าวไทยรัฐได้รวมตัวไปเตะฟุตบอลการกุศลที่จ.ลพบุรี มีการตั้งโต๊ะเก็บเงินบริจาค ได้เงินถึง6หมื่นกว่าบาท ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรีก็มาปรึกษาหารือว่าจะเอาเงินก้อนนี้ไปทำอะไร เพราะทางจังหวัดไม่อยากเก็บไว้
{xtypo_quote}ไทยรัฐก็มาคุยกัน คุณอุทธรณ์ พลกุล ก็เสนอให้ทำโรงเรียนไทยรัฐ ทำไปเรื่อยๆ ก็ตั้งโรงเรียนไทยรัฐเป็นแห่งแรก ปรึกษาผอ. ก็บอกเอาเลยๆ ผอ.ก็ให้เงินสนับสนุน แล้วเงินที่คุณกำพลเคยให้อ.บางไทรไปทำโรงเรียนสองโรงเรียน วัชรพลวิทยา 1-2 ก็โอนมาเป็นไทยรัฐ 2-3{/xtypo_quote}จากนั้นมีการประชุมกัน ผอ.กำพลบอกว่าไทยรัฐเราอยู่ได้ด้วยประชาชน ต้องหาทางตอบแทนประชาชนเขา ต้องตอบแทนเรื่องการศึกษา คุณกำพลให้ความสำคัญกับการศึกษา โดยเฉพาะของนักเรียนด้อยโอกาสที่อยู่ในท้องที่ธุรกันดาร บางปีเรามีกำไรมาก ก็สร้างถึง10โรงเรียน โดยผอ.กำพลสั่งว่าเวลาไปเลือกสถานที่สร้างโรงเรียน ไปสร้างให้ไกลที่สุด ที่กันดารมาก แล้วอย่าไปถามว่าอ่านไทยรัฐหรือเปล่า ไม่เช่นนั้นเขาจะคิดว่าเราต้องการสิ่งแลกเปลี่ยน
{xtypo_quote}คุณกำพลท่านคิดอะไรดีๆเยอะ อย่างที่คนไม่ค่อยพูดกัน แต่อยากให้รู้ เช่นไทยรัฐไม่เคยมีโฆษณาพรรคการเมืองหรือโฆษณาผู้สมัครตำแหน่งทางการเมืองเลย เพราะผอ.กำพลเห็นว่าถ้ารับลงโฆษณา พรรคใหญ่จะผูกขาดหมด พรรคเล็กไม่มีโอกาส เนื่องจากอัตราค่าโฆษณาในไทยรัฐแพงมาก แพงกว่าที่อื่นหลายเท่า อะไรเป็นข่าวลงให้ฟรีๆ แต่ไม่รับโฆษณา{/xtypo_quote}บทบาทสื่อบนความขัดแย้ง!!
อีกบทบาทหน้าที่ในปัจจุบัน ที่การเมืองมีความแตกแยกเป็นสองขั้ว แน่นอนว่า สื่อสารมวลชนก็มีจุดที่ต้องยืนอยู่บนท่ามกลางความขัดแย้งเสมอ วันนี้ก็เช่นกัน ครูมานิจ เอง ช่วงที่เข้าไปเป็นสสร. เป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญปี2550 ครูได้ให้เหตุผลตรงนี้ไว้ว่าหลังการยึดอำนาจ มีรัฐธรรมนูญชั่วคราว แต่คนวงการสื่อเห็นว่ารัฐธรรมนูญชั่วคราวปี2549 ไม่มีจุดใดที่พูดถึงเรื่องสิทธิเสรีภาพหนังสือพิมพ์เลย เขียนไว้แค่กว้างๆว่าอะไรเป็นประเพณีก็ปฏิบัติตามนั้น ก็ไม่มีอะไรรับรองเรื่องสิทธิเสรีภาพว่าจะเป็นไปตามนั้น
พวกเราจึงยกทีมตัวแทนองค์กรสื่อเข้าไปพูดคุยกับประธานคมช.ขณะนั้น ที่รับปากจะให้มีโควต้าตัวแทนสื่อเข้าไปร่วมร่างรัฐธรรมนูญ โดยรับปากจะจัดให้อยู่ในสัดส่วนที่เสนอชื่อโดยคมช.10คน แต่ในที่สุดผมก็ได้กรอกประวัติสมัครเป็นสมาชิกสสร. ผ่านทางการเลือกตั้งทางอ้อมโดยสมัชชาสสร.2,000คน เลือกให้เหลือ200คน แล้วก็เหลือ100คนที่ได้รับพระมหากรุณาโปรดเกล้าแต่งตั้ง
{/xtypo_quote}เราก็เลยไม่ได้มีชื่อใน1ใน10 โควตาที่เขารับปาก ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี ไม่งั้นเราจะรู้สึกเป็นแผลในใจ อย่างนี้ก็ยังมาจากเลือกตั้ง แม้จะไม่ทางตรงก็ตาม ที่ได้เป็นกรรมาธิการ1ใน25คน ผมก็มาจากการเลือกตั้งจากส.ส.ร.100คน{/xtypo_quote}ก็คิดว่าเมื่อเข้าไปแล้ว รัฐธรรมนูญใหม่ที่จะร่างนั้น อย่างน้อยเรื่องสิทธิเสรีภาพจะต้องมีเท่าเดิม แต่ปรากฏว่าได้มากกว่าเดิมก็คือ ในกรณีที่ห้ามผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมาเป็นเจ้าของสื่อ ห้ามแทรกแซง ไม่ว่าทางตรงทางอ้อม ห้ามถือหุ้น นอกจากนี้ที่ได้มาโดยง่ายๆ คือมาตรา39 ที่ว่า ห้ามไม่ให้เซ็นเซอร์หนังสือพิมพ์ เว้นแต่ในภาวะสงครามหรือการรบ จากรัฐธรรมนูญปี2540 ที่สุดท้ายได้มีการตัดออกในเรื่อง การรบ
{xtypo_quote}ก็ต่อสู้กันมาตั้งแต่ในชั้นกรรมาธิการยกร่าง จนเข้าสภาฯ ก็ติดคำว่าให้เซ็นเซอร์ได้ในภาวะสงครามและการรบมาเรื่อย จนกระทั่งถึงในสภาใหญ่ ก็มีอีกมาตราที่เกี่ยวกับเรื่องการเดินขบวนการชุมนุมเรียกร้อง จะกระทำไม่ได้ในภาวะสงครามและการรบ มันมีคำเหมือนกัน แล้วเขาก็ให้ตัดคำว่าการรบออก ผมก็เลยได้ที ไปบอกเกียรติชัย พงษ์พานิช ถ้าถึงมาตรานี้ให้เสนอตัดคำว่า การรบ ออกด้วย {/xtypo_quote}พอถึงมาตรานี้ คุณเกียรติชัยอภิปราย ผมยกมือขอชี้แจง พอประธานชี้ปั๊บ ผมก็ได้ทีบอกเรื่องนี้คณะกรรมาธิการหารือแล้ว ไม่ขัดข้องที่จะตัดออกครับ
สำหรับเหตุผลถึงการเข้าไปร่วมยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่บางฝ่ายวิพากษ์ วิจารณ์ว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับเผด็จการ ครูมานิจบอกว่า โดยหลักการไม่เห็นด้วยกับเรื่องการยึดอำนาจ แต่กับเรื่องเสรีภาพสื่อ ถ้าไม่มีตัวแทนสื่อเข้าไปเป็นกรรมาธิการ ใครจะมาต่อสู้แทน ไม่มีใครจะมาต่อสู้เพื่อพวกเรา มีคนพร้อมจะถล่มตลอดเวลา จึงคิดว่าเข้าไปเป็นประโยชน์มากกว่า
เกียรติประวัติของครูนักข่าว!!
แต่ละสายงานของความเป็นนักข่าว ครูมานิจผ่านมาเกือบครบ จากนักข่าวสายศาลยุติธรรม นักข่าวโรงพัก นักข่าวประจำกระทรวงศึกษา ขึ้นเป็นหัวหน้าข่าวการศึกษา หัวหน้าข่าวการเมือง หัวหน้าข่าวหน้า1 หัวหน้าแผนกสารคดีและบทความ ทำหน้าที่เขียนบทบรรณาธิการ เป็นรองหัวหน้ากองบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ มีลูกศิษย์ลูกหา ที่ปัจจุบันกลายมาเป็นนักหนังสือพิมพ์ คอลัมนิสต์ที่มีชื่อเสียงมากมาย
อาทิ กำแหง ภริตานนท์ ที่เดลินิวส์ ประหยัด คูณสมบัติ กรรณิกา วิริยะกุล-อ้วน อรชร ไทยโพสต์ ปกาศิต คำพิมพ์ ในสถานีเอเอสทีวี ส่วนในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐปัจจุบัน ระดับหัวหน้าข่าวมีทั้ง ธงชัย ณ นคร-สุชิน ติยวัฒน์ นอกจากนี้ยังมีที่ทำงานวิทยุโทรทัศน์อีกหลายสถานี หลายคนออกไปประกอบอาชีพอิสระ
โดยครูคนนี้ ก็มีครูที่เป็นต้นแบบ ทั้งวิมล-อุทธรณ์ พลกุล ทวี เกตะวันดี เสฐียร พันธรังษี ทองเติม เสมรสุต แม้กระทั่ง อิศรา อมันตกุล ที่ไม่เคยร่วมงานแต่ก็ให้ความเคารพนับถือในความจริงจังในการทำงาน และเป็นคนสะอาด ในแบบที่ยกมือไหว้ได้ ไม่ต้องกลัวเสียมือ รวมทั้งผอ.กำพล วัชรพล ที่เคยทำงานใกล้ชิด ครูมานิจ ก็ยึดถือเป็นต้นแบบสำคัญในการดำรงสถานะในวิชาชีพ นักหนังสือพิมพ์จนทุกวันนี้
ผลงานที่ครูมานิจฝากไว้ ในหลายนามปากกา บทความ สารคดี บทความเรื่องจริยธรรมสื่อมวลชนต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2501 หนังสือกฎหมายการพิมพ์เปรียบเทียบในประเทศอาเซียน เป็นภาษาอังกฤษ หนังสือกฎหมายที่นักข่าวควรรู้ หนังสือหลักวิชาชีพหนังสือพิมพ์ ประธานจัดทำหนังสือ สัญญา ธรรมศักดิ์ คนดีของแผ่นดิน เป็นประธานกองทุนศาสตราจารย์สัญญาธรรมศักดิ์ ได้รวบรวมเงินลูกศิษย์ ประชาชนที่ศรัทธาสร้างอนุสาวรีย์ศาสตราจารย์สัญญาสูงเด่นเป็นสง่าที่มธ.ศูนย์รังสิต และหนังสือธรรมศาสตร์ประกาศนาม ในวาระมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เฉลิมฉลองครบ 70 ปีแห่งการสถาปนา ฯลฯ
และสำหรับเกียรติประวัติของครูมานิจที่ต้องขอบันทึกไว้ นอกจากเป็นนายกสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทยปี 2517-18 ประธานสมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่อาเซียน ปี 2526-2527 เป็นคนไทยคนแรก เป็นประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติปี 2540-2545 (คนแรก) ประธานสถาบันพัฒนาการสื่อมวลชนแห่งประเทศไทยปี 2530-ปัจจุบัน คณะกรรมการสภาสถาบันพระปกเกล้า ปี 2541-2549
ประธานกองทุนศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ 2545-2547 กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งแต่ปี 2521 ถึงปัจจุบัน เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสภามหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา เป็นอุปนายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ได้โล่รางวัลผู้บำเพ็ญประโยชน์แก่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ดีเด่น ปี 2523 ศิษย์เก่าดีเด่นมธ.ปี 2543 รางวัลนักหนังสือพิมพ์ที่ควรยกย่อง ปี 2542 และได้รับเลือกจากคณะกรรมการเอกลักษณ์แห่งชาติเมื่อพ.ศ.2542 ให้เป็นครอบครัวประชาธิปไตยดีเด่น
เคยผ่านโรงเรียนบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ หลักสูตรวิชาการหนังสือพิมพ์ชั้นสูง โดยทุนมูลนิธิทอมสัน ประเทศอังกฤษ ได้รับปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาสื่อสารมวลชน ม.รามคำแหง ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ทางด้านวารสารศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวารสารศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปริญญาศิลปศาสตร์บัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขานิเทศศาสตร์ ม.ราชภัฎสวนสุนันทา รวมทั้งได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ถึงชั้น มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (มปช.)
นอกจากนี้ยังได้รับเข็ม เสมาคุณูปการ ในฐานะเป็นผู้ทำคุณประโยชน์ให้แก่กระทรวงศึกษาธิการประจำปีพ.ศ.2550 จากศ.ดร.วิจิตร ศรีสะอ้าน รมว.ศึกษาธิการ รวมทั้งได้รับพระราชทานเข็มลูกเสือสดุดีชั้นที่1
จิตวิญญาณสื่อ ที่เป็นแบบอย่าง!!
ทุกวันนี้ ครูมานิจ ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย กับพิมพ์ทอง สุขสมจิตร ภรรยา ซึ่งเกษียณอายุจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน(นิติกร9ช.ช.) กรมทางหลวง และเกษียณอายุอีกครั้ง(อายุ65ปี)จากตำแหน่งผู้ตรวจการกกต. และลูกๆทั้ง 3 คน พงศ์อมร พิฆเนศ และดร.พัชรพิมล มีหลาน 2 คน โดยแต่ละวันส่วนใหญ่จะเข้าสำนักงานหนังสือพิมพ์ไทยรัฐช่วงเช้าทุกวัน ในฐานะบรรณาธิการอาวุโสหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เป็นวิทยากรอบรมถ่ายทอดความรู้ให้นักข่าวรุ่นหลังทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เป็นกรรมการมูลนิธิไทยรัฐ ดูแลโรงเรียนในสังกัด 101 โรง เป็นประธานโรงเรียนสวัสดิการของมธ. ดูแลโรงเรียนอนุบาล โรงเรียนประถมฯ และมัธยมฯ
ส่วนในองค์กรสื่อ ก็ยังเป็นที่ปรึกษาสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประธานมูลนิธิพัฒนาการสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ที่มีสถาบันอิศรา อยู่ในสังกัด จัดอบรมหลักสูตรต่างๆ อาทิ พิราบน้อย โครงการฝึกอบรมนักศึกษาด้านสื่อสารมวลชน
เป็นกรรมการสภาการศึกษาแห่งชาติ กรรมการเอกลักษณ์แห่งชาติ กรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กรรมการลูกเสือแห่งชาติ เป็นสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวมทั้งเป็นกรรมการค่าตอบแทนผู้เสียหาย ค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา กระทรวงยุติธรรม
นอกจากนี้หากเวลาอำนวย ครูจะไม่ปฏิเสธหากได้รับเชิญ อาทิ ไปเขียนตำราให้มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และเป็นครูสอนหนังสือให้แก่นักศึกษาในมหาวิทยาลัยภาครัฐและเอกชน ทั้งทางด้านกฎหมายการพิมพ์และด้านหนังสือพิมพ์ โดยที่ทำมาต่อเนื่องคือ ที่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ที่คณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กับที่คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเป็นกรรมการสอบไล่ภายนอกของมหาวิทยาลัยรังสิต
{xtypo_quote}ที่รับไปสอนก็เพราะ อยากไปสอน ถึงแม้จะไม่มีเวลา ผมอยากพบปะกับคนรุ่นใหม่ อยากรู้ว่าเขาคิดอะไร และก็อยากถ่ายทอดประสบการณ์ให้พวกเขา เราก็รับฟังเขามาด้วย{/xtypo_quote}ทั้งนี้เรื่องสำคัญที่ครูมานิจ เน้นนักเน้นหนา ทั้งกับลูกน้องในสมัยที่เป็นหัวหน้าข่าว รวมทั้งปัจจุบัน ที่ไปถ่ายทอดประสบการณ์ความรู้แก่นักศึกษา เด็กรุ่นหลังที่ต้องการเติบโตบนเส้นทางวิชาชีพสื่อ นอกจากต้องมีความเป็นธรรมกับผู้ตกเป็นข่าว,การใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง และต้องเป็นคนรอบรู้ สิ่งสำคัญคือเรื่องที่ทุกคนต้องมีจริยธรรม
จะต้องมีอาชีวะปฏิญาณ แม้คนที่เข้าสู่อาชีพนี้จะไม่มีพิธีปฏิญาณตน แต่ต้องปฏิญาณอยู่ในใจไว้เสมอว่าคนในอาชีพนี้ต้องยึดถือจริยธรรมเป็นวิถีชีวิตในการประกอบวิชาชีพ และปฏิบัติตามกรอบในการประพฤติปฏิบัติ หากไม่ทำตามก็ไม่ควรอยู่ในวงการนี้ เพราะจะทำให้เกิดความเสื่อมเสียแก่วงการ
นักหนังสือพิมพ์ไม่เก่งไม่เป็นไร แต่ถ้าคุณไม่มีจริยธรรมเสียแล้ว สังคมจะปั่นป่วน หนังสือพิมพ์นั้นจะถูกดูถูก ไม่ได้รับการยอมรับ และอย่าไปหวังรวย อาชีพหนังสือพิมพ์มีแหล่งรายได้หลักคือจากนายจ้างเรา หากมีค่าจ้างมาจากที่อื่นด้วยก็ไม่ดี ไม่สมควร ทำให้เราโอนเอียง เราต้องไปเห็นแก่อามิสสินจ้าง ลาภยศสรรเสริญ กับนักการเมือง กลุ่มผลประโยชน์ ทุกคนมีเพื่อนได้ แต่ต้องรักษาระยะห่างไว้ให้พอดี
เพราะคนที่มาทำหนังสือพิมพ์ ไม่มีใครไปบังคับคุณให้คุณมาทำ แล้วคุณจะมาอ้างว่าเงินเดือนไม่พอกินมันไม่ได้ ถ้าคุณเห็นว่าไม่พอกินก็ต้องไปทำอาชีพอื่น
{xtypo_quote}อยากให้อาชีพนี้เป็นที่ยอมรับของสังคม พวกเราก็ต้องสร้างกันเอง ไม่ต้องอะไรมาก ขอแค่ให้อาชีพนี้มีบุคคลากรที่มีเกียรติยศและเชื่อถือได้ เท่ากับคุณสมบัติที่ลูกเสือทั้งหลายจะพึงมีก็พอ{/xtypo_quote}คือสิ่งที่ครูนักข่าวรายนี้ ทิ้งท้ายเอาไว้!
(ปล. 2ส่วนนี้ต่อจากนี้ ครูพูดถึงเพื่อน และ ลูกศิษย์พูดถึงครู ผมฝากล้อมกรอบเสริมให้ด้วยครับ)
ครูพูดถึงเพื่อน(นักการเมือง)
เพื่อนๆของครูมานิจมีอยู่มากมายและหลากหลายวงการ ที่น่าสนใจคือ คนในวงการเมือง ที่สมาชิกร่วมรุ่นนิติ01 ธรรมศาสตร์ ของครู ล้วนแล้วแต่คนดังๆ อาทิ ชวน หลีกภัย อดีตนายกฯ ที่ปัจจุบันเป็นประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ มีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานวุฒิสภา และอดีตประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ นิพนธ์ วิศิษฐ์ยุทธศาสตร์ อดีตรองประธานวุฒิสภา เพื่อนต่างรุ่นที่มาจบรุ่นเดียวกัน รวมทั้งเกลอเก่าสมัยเด็กจากจังหวัดแม่ฮ่องสอน อย่าง ประมวล รุจนเสรี ที่สนิทสนมกัน เพราะเป็น ลูกครู เหมือนกัน
แต่ถึงจะมีเพื่อนเป็นคนการเมืองp คนหนังสือพิมพ์อย่าง ครูมานิจ ก็ไม่เคยคิดถึงจะเปลี่ยนอาชีพไปร่วมงานการเมืองกับเพื่อน ถึงจะได้รับการชักชวนกี่ครั้ง ก็คงจะได้รับคำตอบเดิมๆ ได้ยินประโยคคมๆ อย่างช่วงสมัยที่เรียนจบใหม่ๆ
{xtypo_quote}เพื่อนมาชวนเล่นการเมืองก็ไม่เอา ช่วงนั้นการเมืองล้มลุกคลุกคลาน เดี๋ยวก็ยึดอำนาจ เดี๋ยวก็ยุบสภาอะไรต่ออะไร เราก็บอกเราอยู่ตรงนี้ เป็นนักหนังสือพิมพ์ เป็นผู้แทนหนังสือพิมพ์ตลอดกาลไม่ดีกว่าหรือ{/xtypo_quote}นอกจากนี้ยังมีความทรงจำเป็นเกร็ดเล็กๆของเพื่อนนิติฯ01 ที่ครูมานิจย้อนความหลังที่น่าสนใจ ก็คือเรื่องของเพื่อนที่ปัจจุบันเป็นมือกฎหมายชั้นปรมาจารย์ของเมืองไทยไปแล้ว มีชัย ฤชุพันธุ์
{xtypo_quote}คุณมีชัยนี่เขาขยัน นั่งหน้าห้องเสมอ จดเล็กเชอร์ตลอด พอตอนเย็นไปพิมพ์ลงกระดาษไข แล้วไปจ้างเขาโรเนียว เช้ารุ่งเอามาตั้งโต๊ะขาย สองแผ่นบาท คนซื้อกันใหญ่ เพราะนักศึกษาสมัยนั้นต่างก็ทำงานกัน ไม่มีเวลาจดเล็กเชอร์ก็ต้องซื้อโรเนียวไปเรียนกัน หลายคนเรียนจบเพราะโรเนียวคุณมีชัย{/xtypo_quote}และที่เป็นตัวอย่างที่รุ่นหลังน่าจะจำเอาไปเป็นแบบอย่าง ถึงมีเพื่อนที่เป็นนักการเมือง กับสถานะความเป็นนักข่าวของครู ที่แน่นอนว่าย่อมมีเหตุให้ข้องเกี่ยวกัน โดยเฉพาะการขอความช่วยเหลือ เรื่องนี้สิ่งที่ครูเลือกที่จะทำให้ได้ ไม่เสียความเป็นเพื่อนและไม่กระทบกับการทำหน้าที่สื่อ ที่ต้องแยกแยะจากกัน
{xtypo_quote}ใครมาขอระงับข่าว เราก็ให้เขาชี้แจงมา ก็ให้โอกาสชี้แจง ส่วนจะให้ปิดข่าวมันไม่ได้ ผมปิดไม่ได้ ถึงปิดได้แต่คนอื่นในหนังสือพิมพ์อื่นเราก็ห้ามเขาไม่ได้ เราไม่เปิดข่าวฉบับอื่นเขาก็เปิด เลยบอกเพื่อนๆไปว่า สู้พูดความจริงไม่ดีกว่าหรือ{/xtypo_quote}ลูกศิษย์พูดถึงครู !!
ถ้าจะให้หาลูกศิษย์สักคนพูดถึงครูการเมือง ธงชัย ณ นคร หัวหน้าข่าวหน้าหนึ่ง กองบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ พอจะทำหน้าที่เป็นตัวแทนได้
ถึงจะออกตัว ว่าขอแอบคิดเอาเองว่าเป็น ศิษย์ก้นกุฏิ ของครูมานิจ แต่ที่จริงก็ไม่ได้เกินเลยตามที่อ้าง เพราะ ธงชัย ถือว่าได้มีโอกาสทำงานใกล้ชิดครูมานิจ ตั้งแต่ย่างเท้าก้าวเข้าสู่ชายคาหัวเขียว-ไทยรัฐ เมื่อปี2518 ในฐานะนักข่าวการเมือง เป็นลูกน้องในสายงานโดยตรง รวมทั้งถูกหอบหิ้วไปช่วยงาน ในช่วงที่ ครูมานิจ เป็นประธานสมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์อาเซียน ในตำแหน่งเลขาธิการประธานสมาพันธ์
ธงชัย บอกว่า การได้มาเป็นสมาชิกหัวเขียว นอกจากถือเป็นโอกาสดีที่ได้ร่วมงานในหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่อันดับ1 แล้ว ยังโชคดีที่ได้เป็นศิษย์ของ ครูดี ถึงสองคน คนแรกคือหัวหน้าสมิต มานัสฤดี อีกคนก็คือ ครูมานิจ และครูทั้งคู่ ธงชัยมองว่าเป็นส่วนผสมที่ลงตัวในการบริหารงานหนังสือพิมพ์ ทำงานเป็นทีมเสริมจุดด้อยจุดเด่นซึ่งกันและกันนิดลูกน้องเห็นแล้วทำงานกันลืมตาย
หลังจากฝากตัวเป็นลูกศิษย์ ธงชัยก็ได้รับคำชี้แนะจากครูมานิจ ครูใจดีที่ถ่ายทอดความรู้ให้โดยไม่มีปิดบัง มีอะไรผิดก็ตักเตือน ไม่เคยกราดเกรี้ยวหรือตวาดใส่ลูกน้องให้เห็น โดยที่ผู้อาวุโสพร่ำสอนจะเน้นมากคือเรื่องความถูกต้องของเนื้อหาสาระ ต้องตรงไปตรงมา ไม่บิดเบือนหรือแต่งเติมความเห็น
โดยเฉพาะความถูกต้องเกี่ยวกับชื่อบุคคล สถานที่ และทุกอย่าง สถานที่ทางภูมิศาสตร์ ต้องตรวจสอบให้ถูก โดยครูให้เหตุผลว่าไทยรัฐคนอ่านเยอะ มีความน่าเชื่อถือมานาน pหากเสนออะไรผิด คนอ่านที่รู้ จะมองว่าแค่เรื่องเล็กๆยังผิด เรื่องใหญ่ๆจะไม่ผิดได้อย่างไร
เป็นเรื่องสำคัญที่จำใส่ใจ และยึดถือปฏิบัติมาจวบจนปัจจุบันในการทำงาน ในฐานะหัวหน้าข่าว นักข่าวไทยรัฐทุกคนจะรู้ดีว่าหัวหน้าข่าวอย่างธงชัยจะซีเรียสกับเรื่องที่ว่ามาข้างต้นนี้มาก ดังเช่นครูของเขาที่พร่ำสอนมา
เช่นเดียวกับเรื่องการวางตัว ความประพฤติ และความซื่อสัตย์ในวิชาชีพ ที่ ธงชัย ซึมซาบและรับการถ่ายทอดมาจากการทำให้เห็นโดยครู สอนให้รู้จักแยกแยะความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างแหล่งลข่ากับความรับผิดชอบในงาน แต่ก็ไม่ได้ปิดกั้นในการคบหาสมาคมกัน
{xtypo_quote}พี่มานิจสอนว่า เราอาจจะสนิทได้ ตำรวจ ทหาร นักการเมือง แต่เมื่อมีข่าวแล้วต้องเสนอข้อเท็จจริงเราต้องใช้ความสนิทนั้นให้เป็นประโยชน์ต่อโรงพิมพ์ ไม่ใช่โรงพิมพ์เป็นประโยชน์ต่อคนๆนั้น นี่คือหลักการที่พี่มานิจยึดถือ และพิสูจน์ตัวเองให้เป็นแบบอย่าง เราในฐานะลูกศิษย์ ก็พยายามตามรอย ในสิ่งที่รุ่นพี่ทำไว้ แม้จะไม่เพียบพร้อมเท่าก็ตาม{/xtypo_quote} {xtypo_quote}ผมคิดว่าที่ชีวิตเราเดินมาได้ โดยไม่ออกนอกลู่นอกทาง ก็เพราะการปลุกปั้นของพี่มานิจมีส่วนสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ในเมื่อเราได้ครูดี ก็ต้องยึดครูดีเป็นแบบอย่าง{/xtypo_quote}