การแยกข่าวกับความเห็นออกจากกันโดยเด็ดขาด
ได้รับการยอมรับจากคนในวงการหนังสือพิมพ์ให้เป็นปรมจารย์ เพราะทรงเป็นนักหนังสือพิมพ์ นักการทูต นักปรัชญา นักประวัติศาสตร์ นักภาษาศาสตร์ นักประพันธ์ ทรงใช้ความรู้ความวิริยะ อุตสาหะ และภูมิปัญญา ประกอบภารกิจให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติอย่างมหาศาล โดยหลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นประชาธิปไตย ปี 2475 ได้ทรงเป็นพระอาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ทรงประทานคำศัพท์ในวงการหนังสือพิมพ์ที่ได้ใช้มาจนถึงปัจจุบัน คือคำ นิเทศศาสตร์ ตรงกับคำภาษาอังกฤษ Communication Arts และคำ วารสารศาสตร์ ตรงกับคำภาษาอังกฤษ Journalism คำ สื่อสารมวลชน ตรงกับคำภาษาอังกฤษ Mass Communication
ขณะเดียวกันทรงเป็นผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์รายวัน ประชาชาติ สำนักงานตั้งอยู่ใกล้สี่แยกถนนหลานหลวง แรงจูงใจทรงทำหนังสือพิมพ์ เพราะ เล็งเห็นว่าปี 2475 ไม่ใช่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองเท่านั้น ยังเป็นการเปลี่ยนวิถีชีวิตของชาติไทยที่เดียว มีหลักมูลแห่งวัฒนธรรมของเราจะเปลี่ยนแปลงไปในทางประชาธิปไตย เพราะฉะนั้นได้คิดตั้งหนังสือพิมพ์เพื่อจะชี้แจงให้ประชาชนชาวไทยเข้าใจ
ประชาชาติ เป็นหนังสือพิมพ์ การเมืองฉบับแรก ของเมืองไทย มีชื่อเสียงโด่งดัง เป็นที่นิยมของประชาชน มีอิทธิพลต่อมติมหาชนอย่างมากที่สุดในสมัยนั้น รัฐบาล และคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน ต้องอ่านบทความในประชาชนชาติ เนื่องจากแต่ละเรื่องได้แนะนำรัฐบาลว่าควรทำอย่างไรภายหลังการปฏิวัติระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย โดยเฉพาะบทความการเมืองหน้า 5 ของพระองค์ท่าน ในนามของ ไวรรณ ได้ทรงให้ความรู้ด้านการเมือง การปกครอง และยังทรงพยายามสอนให้ผู้อ่านรู้จัก เข้าใจใน เสรีภาพ บทบาท หน้าที่ของหนังสือพิมพ์ เพราะทรงตระหนักดีว่า หนังสือพิมพ์จะเป็นสื่อที่สำคัญต่อไปในอนาคต
บทเรียนที่มีราคาสูงสุดอย่างหนึ่งที่พวกเราไม่สามารถจะหาจากมหาวิทยาลัยที่ไหนได้ เกิดจากความผิดพลาดอย่างไม่น่าจะให้อภัยในการทำงานของเรา เพราะหนังสือพิมพ์ประชาชาติ ไปวิจารณ์การทำงานการกระทำของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ท่านหนึ่งในสมัยนั้นเข้า
แม้การวิจารณ์พฤติการณ์ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่หรือผู้น้อย ซึ่งกระทบกระเทือนถึงความเสียหายต่อประโยชน์สาธารณะ ไม่ใช่ของแปลกอะไรสำหรับหนังสือพิมพ์อย่างประชาชาติแต่ความผิดพลาดอยู่ที่การวิจารณ์ของประชาชาติในเรื่องนั้นไม่ถูกต้องตามข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ซึ่งหนังสือพิมพ์ประชาชนเองรายงานข่าวนั้นลงไป และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ท่านนั้นก็เขียนมาขอให้แก้เสียใหม่ให้ถูกต้อง
เราลงจดหมายฉบับนั้นให้ตามความประสงค์ แต่ในขณะเดียวกันกลับลงหมายเหตุกำกับไว้ท้ายจดหมายฉบับนั้น ยืนยันไม่เปลี่ยนแปลงทรรศนะของเรา เพราะถือว่าบทนำที่เขียนนั้นวิจารณ์ตามข่าวที่ลง เมื่อเป็นเช่นนี้ก็เป็นธรรมดาที่ท่านข้าราชการผู้เป็นเจ้าทุกข์จะเขียนไปทูลเสด็จฯในกรมฯ ถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น
พระองค์ท่านทรงแสดงจดหมายฉบับนั้นให้พวกเราดู พร้อมรับสั่งว่า ฉันอ่านบทความนั้นแล้วถ้ามันเป็นจริงตามที่เธอลงข่าวก็เป็นการถูกต้อง แต่ตัวเจ้าทุกข์ร้องมาอย่างนี้น่าจะลองสอบทานข้อเท็จจริงดูอีกครั้ง
เราปฏิบัติตามที่รับสั่ง ปรากฏว่าคนข่าวของเรารายงานคลาดเคลื่อนจริง เพราะไปได้ข่าวจากพรรคพวกที่สภากาแฟ ร้านกาแฟสีแยกวัดตึก และสี่กั๊กเสาชิงช้าสสมัยนั้น ซึ่งเป็นที่ชุมนุมของนักข่าวหนังสือพิมพ์ เมื่อเป็นเช่นนั้นเราจึงได้แก้ข่าว เขียนขออภัยข้าราชการผู้เป็นเจ้าทุกข์ ทั้งลงพิมพ์ในประชาชาติ และในจดหมายไปถึงท่านเป็นการส่วนตัว
ต่อจากนั้นข้าพเจ้าได้รับมอบหมายจากพวกเราให้ไปเฝ้าที่วังถนนเพลินจิตต์ ทูล สารภาพผิด ทั้งปวงที่ได้กระทำไปแล้ว เมื่อกลับมาถึงสำนักงานพวกเราซึ่งคอยอยู่ด้วยความเร่าร้อนใจต่างชิงถามว่า
ท่านอาจารย์ใหญ่รับส่งว่าอย่างไรบ้าง
พวกเราทุกคนได้ รับบทเรียน อันยิ่งใหญ่ในการทำหนังสือพิมพ์ ซึ่งเราคิดว่า รู้มากพอ แล้วในวันนั้น ถึง คุณค่าของการเสนอข่าวอย่างสุภาพ ถึงการ ยอมรับฟังความเห็นอกเห็นใจในความเดือดร้อน ที่ผู้เป็นทุกข์ในข่าวได้รับถึงศัพท์และความของซึ่งพวกเราได้ยินเป็นครั้งแรก
การแยกข่าว กับ ความเห็น ออกจากกันโดยเด็ดขาด และทรรศนะที่แสดงตามข้อเท็จจริงของรายงานข่าวที่คลาดเคลื่อน ย่อมจะบิดเบือนตามไปด้วยอย่างช่วยไม่ได้ แม้ไม่มีเจตนา
เธอก็รู้ โบราณท่านว่าผิดนะเป็นครู ถ้ารู้จัดใช้ให้เกิดประโยชน์ อย่าไปผิดซ้ำ เธอก็อาจจะเรียนจากความผิดพลาดได้มากกว่าการทำอะไรถูกเสมอไป
ใจความที่รับสั่งเหล่านั้นทำให้ข้าพเจ้าแปลความหมายได้คิดเพิ่มขึ้นอีกหลายประการ ในกาลต่อมามนุษย์เราได้สติและปัญญาจากความผิดพลาดมากกว่าความถูกต้อง และความล้มเหลวมากกว่าความสำเร็จ บางทีผู้ที่ไม่เคยทำอะไรผิดเลย อาจจะไม่เคยค้นพบความจริงข้อนี้ก็ได้
เสด็จในกรมฯประทานบทเรียนให้ข้าพเจ้าด้วยว่า ผู้ใดก็ตามที่มีความรู้สึกผิดชอบแจ่มใจย่อมมีพลังอยู่ในตัวของตัว ไม่จำเป็นจะต้องไปเกรงกลัวในการที่จะเผชิญกับทรรศนะ หรือความคิดเห็นของใครที่ตรงกับข้ามกับตน และสิ่งที่เราควรจะมีเหตุผลสะพรึงกลัวมากกว่าก็ได้แก่การสรรเสริญ เยินยอ เกรงใจกัน อุปสรรค์ทั้งหลายแหล่เป็นเครื่องทดลองธาตุแท้ของมนุษย์เท่าๆกับจำลองธาตุแท้ของชาติทั้งหลาย และชัยชนะใดที่ได้มาโดยปราศจากการขวนขวายต่อสู้ดิ้นรน ย่อมจะหาความภาคภูมิใจได้ยาก ใจความตอนหนึ่ง ที่ มาลัย ชูพินิจ บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ประชาชาติรายวันและรายสัปดาห์ เขียนไว้ในชุมนุมนิพนธ์ เพื่อถวายพระเกียรติแก่พระองค์ท่าน
แนะใช้ปัญญาต่อสู้โดยรู้จักถอย เพื่อต่อสู่ต่อไป
ท่านได้ต่อสู้กับฮิตเลอร์เมืองไทยด้วยการออกหนังสือพิมพ์ประชาชาติ เราได้เดินตามอุดมการณ์ของท่านอย่างเคร่งครัด เราได้ต่อสู่กับเผด็จการทหาร ซึ่งกำลังเข้ามาครอบงำเมืองไทย
เมื่อเหลียวหลังไปข้างหลังยุคนั้น ที่จอมพลป. พิบูลสงคราม ตั้งต้นเปิดประตูศาลพิเศษสั่งประหารชีวิตนักการเมือง 18 คน โดยบางคนไม่รู้ว่าตัวทำผิดอะไร เราคิดว่าเป็นคนเคราะห์ดีที่รอดคุกตะรางมาได้ และท่านวรรณ(นามเดิมหมอเจ้าวรรณไวทยากร) ก็ทรงรู้สึกเช่นเดียวกันเมื่อการต่อสู้ของเราได้ถึงจุดยอด ประชาชาติจะต้องถูกสั่งเปิด ท่านวรรณก็เรียกเข้าไปพูดความจริงที่รัฐบุรุษจะพึงพูด ไม่อมพะนำ คือพูดว่า
เราต้องต่อสู้เพื่อชนะไม่ใช่เพื่อแพ้ เราต้องใช้ปัญหาเพื่อต่อสู่ต่อไป การใช้ปัญญาคือต้องรู้จักถอย เพื่อจะสู้ต่อไปอีก และเราเดินมาถึงจุดถอยแล้ว ขอให้เราถอยชั่วคราว เพราะแม้ทหารก็ต้องมีถอย เมื่อถึงเวลาถอย ขออย่าเสียใจ ให้มองไปข้างหน้า ซึ่งจะต้องเป็นของเรา ถ้าเรารู้เวลาถอย พวกเรารับสั่งด้วยความตื้นตันใจ ไม่มีใครดื้อถือดี ทุกคนยอมถอย เพื่อจะต่อสู้ต่อไปอีกจนถึงที่สุด สด กูรมะโรหิต เขียนลงในสยามมิตร เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2519
ก่อนหน้านั้น สด กูรมะโรหิต ได้เล่าถึงสาเหตุที่ลาออกจากหนังสือพิมพ์ประชาชาติไว้ว่า เนื่องจากถูกบีบบังคับทางการเมืองในราว ปี 2480 หัวหน้ารัฐบาล คือ หลวงพิบูรณ์สงคราม ไม่พอใจที่กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ฉบับนี้มุ่งหน้าแต่จะคัดค้านรัฐบาล จึงได้บีบบังคับมายังเจ้าของหนังสือพิมพ์ คือ หม่อมพร้อยสุภิณ วรวรรณ ให้คณะผู้จัดทำชุดนี้ลาออกไป สด กูรมะโรหิต ได้รับโน๊ตเล็กๆจากหม่อมสุภิณ อ้างเหตุผลว่า เนื่องจากอยู่ในภาระหน้าสิ่งหน้าขวาน จึงจำเป็นต้องขอร้องให้ลาออกทั้งคณะ ดังนั้น กุหลาบ สายประดิษฐ์ มาลัย ชูพินิจ จึงเดินออกจากประชาชาติทั้งหมด ด้วยความสำนึกเป็นครั้งแรกว่า การเมืองกับหนังสือพิมพ์หนีกันไม่พ้น
ปี 2481 ประชาชาติ ในชุดผู้จัดทำใหม่ บ้านเมืองตกอยู่ระหว่างเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ข่าว บทความ เริ่มเน้นเรื่องการต่างประเทศ ปัญหาสงคราม เรื่องการเมือง และการปกครองลดความสำคัญลงไป โดยทหารเก่าแห่ง ไทยรัฐ ได้บันทึกถึงประชาชาติยุคนี้
เป็นประเพณีสำหรับการทำหนังสือพิมพ์ในสมัยนั้น ไม่ว่าจะเป็นคนใหญ่เล็กแค่ไหน ก่อนจะเข้าทำงานในหนังสือพิมพ์ประชาชาติ จะต้องถูกท่านวรรณ เรียกเข้าไปเฝ้าที่ตำหนัก ซอยหลังสวน เพื่อพระองค์จะทรงสอบถาม นิสัย ตลอดจน ความรัก และ นิยมในอาชีพ แต่พระองค์ไม่เคยถามถึง ความรู้
เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดขึ้น และติดตามมาด้วยสงครามมหาเอเชียบูรพา ในกรมทรงเป็นที่ปรึกษากระทรวงต่างประเทศ ผมได้รับหน้าที่จากพระองค์ท่านพิเศษอีกด้านหนึ่ง โดยเป็นผู้ไปรับ และเขียนคำบอกจากพระองค์ท่าน ที่ตำหนักซอยหลังสวน โดยในกรมทรงนิพนธ์คอลัมน์ ไขข่าว ในหนังสือพิมพ์ประชาชาติเป็นประจำเกี่ยวกับเรื่องสงคราม และการเมือง การรับคำบอก และเขียนตามคำบอกมาลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ประชาชาติในครั้งนั้น เท่ากับผมเข้ามหาวิทยาลัยการทำหนังสือพิมพ์ เพราะในระหว่างเสวยพระกระยาหารตอน 2 ทุ่ม ในกรมจะทรงบรรยายเรื่องต่างๆเกี่ยวกับหนังสือพิมพ์ การเมือง การทูต ตลอดจนการคาดหมายจากสงครามของโลก ผมมีความรู้กว้างขวาง เมื่อได้รับฟังเรื่องในกรมรับสั่ง บางทีก็จด บางทีก็จำ และจดจำมาใช้ในวิชาชีพ
ด้วยพระปรีชาสามารถของพระองค์ท่าน ทำให้ ประชาชาติ เปรียบเสมือนเข็มทิศนำทางให้ประชาชน ให้คณะผู้ปกครองประเทศ ในส่วนของคนหนังสือพิมพ์ประชาชาติเปรียบเสมือนมหาวิทยาลัยของพวกเรา ที่ได้ประทานความรู้ที่ถูกต้อง ในเรื่องการทำข่าว ซึ่งพวกเราได้ยึดถือเป็นหลักในการทำงานต่างๆ พระองค์ท่านทรงเป็นพระอาจารย์ของพวกเรา
กรมหมื่นนราธิปฯทรงตรากตรำทำงานหนักรับใช้ชาติบ้านเมืองมาตลอด จนกระทั้งวันที่ 5 กันยายน 2516 สิ้นพระชนม์ด้วยโรคพระหทัยวาย สิริพระชนมายุได้ 85 พรรษา