สมชาย อาสนจินดา

ผู้จองหองทุบหมอข้าวตัวเองกระชิ่งเผด็จการ

ส.อาสนจินดา เป็นนักหนังสือพิมพ์ นักเขียน และนักแสดง โดยเริ่มจากเป็นครูสอนหนังสือ ม.3 โรงเรียนอำนาจศิลป์ ต่อมาหันเอาดีไปรับราชการเป็นเสมียนสหกรณ์เชียงราย และใช้ช่วงเวลากลางคืนเขียนเรื่องสั้นส่งให้นิตยสารสุภาพบุรุษประชามิตร ก่อนลาออกจากราชการ เพื่อเริ่มต้นนับหนึ่งงานหนังสือพิมพ์ที่กรุงเทพฯ โดยเข้าทำงานที่หนังสือพิมพ์บางกอกรายปักษ์ ก่อนขยับไปทำ  บางกอกรายวัน  ที่คึกคักไปด้วยนักเขียนหนังสือพิมพ์ชื่อเฟื่องระดับ  อิศรา อมันตกุล   เสนีย์ เสาวพงศ์   อุษณา เพลิงธรรม  โดยน้องใหม่ถูกมอบหมายให้รับหน้าที่ตระเวนข่าวโรงพัก

แต่  บางกอกรายวัน  ขายดินขายดีไม่ทันไรก็ร่วงผล็อยต้องปิดตัวลง เพราะนายทุนถอดใจ

เขาตกงานอยู่พักใหญ่ ต้องหอบเสื่อผืนหมอนใบ กลับไปอาศัยวัดมหรรณพฯ อันเป็นวิวาสสถานเดิม กระทั้งเกิดรัฐประหารโดยพล.ท.ผิน ชุณหะวัณ ในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 ได้อาทิตย์กว่าๆ เขายังนุ่งผ้าขาวม้าอาบน้ำอยู่กลางลานวัด มีหนุ่ม 2 คน ชื่อ  ประทีป โกมลภิศ  และ  สุเทพ เหมือนประสิทธิเวช  แนะนำตัวว่าทั้งสองได้รับหมอบหมายจากผู้ใหญ่ในคณะรัฐประหาร จะเป็นใครไม่ขอเปิดเผย ให้เตรียมการออกหนังสือพิมพ์รายวัน  8 พฤศจิกา  จึงมาเชื้อเชิญให้นั่งเก้าอี้บรรณาธิการ อันมี  หลวงกาจสงคราม  และ  ขุนจำนง ภูมิเวท  เป็นหัวเรือใหญ่ เขาตอบตกลงในเงื่อนไขว่า  มีอิสระในภาระหน้าที่บรรณาธิการอย่างเต็มภาคภูมิ ผู้ใหญ่ไม่ว่าใครในคณะรัฐประหารจะเข้ามาแทรกแซงมิได้ 

หนังสือพิมพ์  8 พฤศิจิกา  จึงเดินเครื่องตามมงคลฤกษ์ที่ผู้จัดการชื่อ  เทพ สาริกบุตร  โหรใหญ่เป็นผู้กำหนด มียอดขายในระยะเริ่มแรกค่อนข้างดี เพราะมีข่าวความเคลื่อนไหวติดตามจับ  ปรีดี พนมยงค์  กับพวก และบุคคลในคณะรัฐบาลชุดเก่าอย่างตื่นเต้น ต่อเนื่อง

กระทั้งวันหนึ่งคณะรัฐประการจับกุมคนหนังสือพิมพ์เกือบ 20 คน ไปคุมขัง ในจำนวนนี้ มี  อิศรา อมันตกุล  หัวหน้ากองบรรณาธิการเอกราช รวมอยู่ด้วย

ต้องไม่ลืมว่า  ส.อาสนจินดา  บูชา  อิศรา อมันตกุล  ว่า เป็นพระเจ้าผู้บริสุทธิ์ในอุดมการณ์ ไม่มีค่ายไม่เอียงฝ่ายไหนยืนหยัดอยู่เคียงข้างประชาชน

เขา จึงใช้คอลัมน์บรรณาธิการ คือ บทนำ เขียนตำหนิ จอมพลป. พิบูลสงคราม หัวหน้ารัฐบาลในขณะนั้นอย่างดุเดือด การกระทำดังกล่าวเปรียบเหมือนผู้จองหองทุบหม้าข้าวตัวเอง ที่บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ฝ่ายรัฐประหาร เขียนบทนำ ตำหนิการกระทำของงฝ่ายรัฐประหารเอง

ปัญหาจึงเกิดขึ้นภายในโรงพิมพ์โดยพลันอย่างน่าใจหาย เมื่อปรากฏว่าสัปดาห์นั้น เงินทุกบาทของกองบรรณาธิการไม่ออกตามกำหนด

ส.อาสนจินดา เป็นนกรู้ อยู่เหมือนกัน รู้ว่าตัวเองควรปฏิบัติสถานใด เพื่อมิให้พรรคพวกในกองบรรณาธิการและครอบครัวต้องระทบกระเทือนเดือนดร้อน เขาจึงบินเดี่ยว ทำหนังสือลาออก

เป็นหนังสือพิมพ์ฉบับสุดท้ายที่เขาทำงานในวิชาชีพหนังสือพิมพ์ ก่อนหลุดวงจรทะยานเข้าสู่แวดวงบันเทิง

เขาเคยรำพึงรำพันว่า ไม่มีอาชีพใดที่ผมจะเป็นสุขได้เท่ากับเป็นนักเขียนไส้แห้ง เป็นนักหนังสือพิมพ์เตะฝุ่น ผมขอยืนยันว่าวันหนึ่งผมจะกลับมา  ทว่าในท้ายสุดหาได้กลับมาไม่ เพราะวันที่ 19 กันยายน 2536 ในวัย 71 ปีเขาปิดฉากชีวิตด้วยโรคหัวใจ