ครอบครัวนักข่าว สนิท-เสริมศรี เอกชัย
ออกกฎเหล็กห้าม !ดื่มสุรา เล่นม้า
เมื่อเอ่ยถึง สนิท ก็ต้องพ่วง เสริมศรี ด้วย เพราะทั้งสองเป็นคู่หูดูโอ แนบชิดทางกายและใจ ใช้นามสกุล เอกชัย เหมือนกัน
สนิท ก้าวเข้าสู่งานหนังสือพิมพ์ตั้งแต่สมัยเรียนอยู่ธรรมศาสตร์ และหนังสือที่เคยทำงานอย่างจริงจังมีหนังสือพิมพ์ เอกราช ยุค อิศรา อนันตกุล ต่อมาได้เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ สัจจา เป็นหัวหน้าข่าว หนังสือพิมพ์ นครสาร เป็นหัวหน้าข่าวและผู้ช่วยบรรณาธิการ เดลิเมล์ เป็นหัวหน้ากองบรรณาธิการ เดลินิวส์ และเป็นหัวหน้ากองบรรณาธิการ เดลิไทม์
สนิท ยังเป็นตัวตั้งตัวตีในการก่อตั้งสมาคมนักข่าวแห่งประเทศ และสมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
เขาเกลียดการ คอรัปชั่น เกลียดคน เบ่ง นักหนังสือพิมพ์ที่ร่วมทำงานด้วยต้องอยู่ใต้กฎเหล็ก คือ ห้ามเล่นม้า และ ห้ามกินเหล้า ในเวลาทำงาน โดยให้เหตุผลว่าการเล่นม้าเป็นการพนันที่ทำลายคน และคนกินเหล้าไม่สามารถจะให้ความเชื่อถือได้ในการทำหน้าที่นักหนังสือพิมพ์
สนิท-เสริมศรี ให้ความเคารพและนับถือนักหนังสือพิมพ์อย่าง สุภา ศิริมานนท์ อิศรา อนันตกุล กุหลาบ สายประดิษฐ์ เฉลิม วุฒิโฆษิต
ขณะที่ เสริมศรี เริ่มเข้าคลุกวงการน้ำหมึกจากการตรวจปรู๊ฟหนังสือพิมพ์ นครสาร ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์การเมือง เขาทำหน้าที่ปรู๊ฟตัวอักษรได้แค่ 2 เดือน ก็เกิดมีสถานการณ์ต้อง หักเห ให้ขยับขึ้นเป็นนักข่าว โดยมีข่าวที่สันติบาล หัวหน้าข่าว สังข์ พัธโนทัย ถามแกมสั่งว่าไปได้หรือไม่ เขาตอบรับทันที เมื่อกลับมาถึงโรงพิมพ์ได้อาศัยผ่านงานด้านการตรวจปรู๊ฟ รู้หลักว่าเขียนข่าวกันอย่างไร
หัวหน้าข่าวแก้ตรงไหน แก้สำนวนอย่างไร ประสบการณ์ดังกล่าวทำให้เขาเขียนข่าวได้ เนียน มาก เมื่อส่งข่าวให้หัวหน้าข่าว หัวหน้าข่าวถามด้วยความข้องใจทำไมเขียนข่าวได้ข่าวชินแรกผ่าน ฉลุย ผลงานติดตาตรึงใจหัวหน้าข่าว จึงถูกสั่งให้ทำข่าวย่านสันติบาล สอบสวนกลาง ต่อมาย้ายไปเป็นนักข่าวกระทรวงมหาดไทย และอีกหลายกระทรวง ชีวิตวนเวียนอยู่ที่กระทรวงมหาดไทย และโรงพิมพ์ ดำเนินไปอย่างราบเรียบ แต่การทำงานเริ่มเริ่มมีสีสันขึ้นเมื่อเกิดเหตุปฏิวัติ ปี 2501จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้จับนักหนังสือพิมพ์หลายคน เข้าห้องขัง ข้อหาเป็นคอมมิวนิสต์ รวมถึง สนิท ก็โดนด้วย
เดลิเมล์ ที่ สนิท ทำงานอยู่ถูกปิด ขณะที่ สนิท เคยมีปัญหากับพล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ผู้ทรงอิทธิพลในทางการเมืองในขณะนั้น เนื่องจาก เดลิเมล์ ไม่ยอมก้มหัวให้ผู้มีอิทธิพลเข้ามาครอบงำหนังสือพิมพ์ด้วย เงินตรา
ระหว่างที่ สนิท ติดคุก เสริมศรี ไม่มีงานทำ เพราะหลังจากแต่งงานแล้วได้ลาออกจากนักข่าวไปอยู่บริษัทแห่งหนึ่ง ในที่สุดบริษัทดังกล่าวได้ปิดตัวลง เตะฝุ่นอยู่นาน จะไปขอความช่วยเหลือใครก็ยาก เพราะผู้คนส่วนใหญ่รังเกียจคอมมิวนิสต์ แม้แต่ญาติพี่น้อง สนิท ยังเมินหน้าหนี จนกระทั้งเจ้านายของพี่สาวสงสารแม่ลูกอ่อน สามีถูกจับข้อหาคอมมิวนิสต์ เลยเรียกไปทำงานเป็นแคชเชียร์ ที่บริษัทของท่าน
สนิท นอนดูมุ้งสายบัวประมาณ 1 ปี จอมพลสฤษดิ์ ที่ชอบพอกับเขาคงละอายใจ จึงสั่ง ประเสริฐ รุจิระวงศ์ รองอธิบดีกรมตำรวจในสมัย ให้ปล่อยตัว และตอบแทนความไม่สบายใจที่กระทำต่อ สนิท โดยเสนอให้ไปที่การท่าเรือ กองสลาก เดือนละ 5,000 บาท
แต่ผู้มีจิตวิญญาณนักหนังสือพิมพ์ปัดทิ้งข้อเสนอดังกล่าว ก็เคว้งคว้างเตะฝุ่นอยู่นาน แล้วก็มีมืออันอบอุ่นของมิตรผู้ยิ่งใหญ่ เฉลิม วุฒิโฆสิต บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ ชาวไทย ได้ให้ สนิท ไปเขียน โดยเขียนคอลัมน์ จอเงิน จอแก้ว ใช้นามปากกา ดนัย เอกสิทธิ์ มาจากสนิทเอกชัย วิพากษ์วิจารณ์รายการทีวี และวิจารณ์หนังอย่างถึงพริกถึงขิง คอลัมน์ดังเป็นพุแตก แต่ช่วงหลังๆได้เอยปากข้อร้องโยนให้ เสริมศรี รายเวทมนต์ต่อ อาทิตย์หนึ่งเขียน 5 วัน ได้ค่าเหนื่อยเดือนละ 800 บาท
เขียนอยู่หลายปีดีดัก จน แสง เหตะกูล มาชวนหลายครั้งไปออกหนังสือพิมพ์ ถือเป็นจุดกำเนิดหนังสือพิมพ์ เดลินิวส์ ในปี 2507 เริ่มแรกใช้ชื่อหัวหนังสือพิมพ์ แนวหน้า ก่อนเปลี่ยนเป็นหนังสือพิมพ์ เดลินิวส์
เมื่อ สนิท ตอบตกลงก็ดึง เสริมศรี ไปเป็นผู้จัดการโฆษณา และใช้นามปากกา สนทะเล เขียนคอลัมน์แม่ครัว คอลัมน์นักเลงรถ วันไหนบทนำไม่มีก็เขียนบทนำ วันไหน สนิท ไม่อยู่ หรือขี้เกียจตอบจดหมายก็ตอบดี.ดี.ที. 100%
เสริมศรี ก็ใช้นามปากกาดี.ดี.ที.99% เขียนแทน สนิท ตัวแทนตัวตายแบบกลมกลืน
อยู่หนังสือพิมพ์ เดลินิวส์ 1ทศวรรษ งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา สนิท แม้รัก แสง มากขนาดไหน เพราะคลุกคลีตีโมงมาด้วยกัน แต่ต้องมาแตกหัก กรณีเงินสวัสดิการกองบรรณาธิการ
ออกไปลงทุนตั้งหนังสือพิมพ์ เดลิไทม์
ช่วงหลังๆ สนิท เริ่มป่วยกระเซาะกระแสะ เสริมศรี ต้องเข้ามานั่งแทนบริหารแทน ทำได้ 5 ปี ขาดทุนป่นปี้ ต้องเทขายหุ้นหมดหน้าตัก
แล้ว สนิท ก็วางมือในวงการตลอดกาล ด้วยวัย 70 ปี เมื่อปี 2536