อารีย์ ลีวีระ

คนหนังสือพิมพ์ตายเพื่อหน้าที่ได้ แต่เสรีภาพหนังสือพิมพ์ต้องไม่ตาย

อดีตนายกสมาคมหนังสือพิมพ์ 2 สมัย ระหว่างว่าง พ.ศ. 2491-2494 มีประวัติการต่อสู้อัดยาวเหยียด เมื่อสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเอหมึง(อามอย) ประเทศจีน จนได้รับปริญญาทางอักษรศาสตร์ กลับเมืองไทยก็ใช้ความรู้ที่ร่ำเรียนมาสอนนักเรียนที่โรงเรียนเผยอิง ถนนทรงวาด กทม.และโรงเรียนฮั่วเฉี่ยว ขณะที่มีอาชีพครู เริ่มแสดงให้เห็นถึงความมีใจรักทางหนังสือพิมพ์โดยใช้เวลาว่างเขียนบทความ สารคดี ข่าวให้หนังสือพิมพ์จีนหลายฉบับ เริ่มโบยบินเข้าสู่วงการน้ำหมึกประจำหนังสือพิมพ์  หมินก๊กยิเป้า  ระหว่างทำงานหนังสือพิมพ์ได้พยายามเผยแพร่วัฒนธรรม วรรณคดีไทยและจีน ให้ผู้อ่านมีความเข้าใจตรงกับ เป็นคนเปิดหน้าภาษาไทยในหนังสือพิมพ์จีนคนแรก ต่อมาย้ายมาเป็นผู้สื่อข่าวประจำหนังสือพิมพ์  จงฮัวหมินเป้า  ด้วยความเอาใจใส่ในกิจการหนังสือพิมพ์ของ อารีย์  พวกเพื่อนจึงร่วมกันออกหนังสือพิมพ์ภาษาจีนชื่อ  เสียนจิงสีเป้า  โดยมี  อารีย์ นั่งเก้าอี้ผู้อำนวยการเอง ท่ามกลางการแข่งขันหนังสือพิมพ์จีนอีกหลายฉบับ ในที่สุด  อารีย์ ต้องขายกิจการ และรามือจากวงการหนังสือพิมพ์ไปพักใหญ่ แต่ก็ทนต่อความเย้ายวนของอาชีพหนังสือพิมพ์ไม่ไหว โดดเข้ามาทำหนั้งสือสยามสมัยรายสัปดาห์

ช่วงนั้นสงครามโลกครั้งที่สองระเบิดขึ้น อารีย์  มีบทบาทต่อต้านกองทัพญี่ปุ่น โดยเข้าร่วมขบวนการเสรีไทย และได้ออกหนังสือพิมพ์  ไทยฮั้ว เซียนเป้า  ซึ่งเข้าไปนั่งกุมบังเหียนเอง เมื่อกองทัพญี่ปุ่นพ่าย  อารีย์ ได้ทุบกระปุกร่วมทุนกับญาติ ซื้อกิจการบริษัทไทยพาณิชย์ ซึ่งเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์หลายฉบับ เช่น Siam Chronicle หนังสือพิมพ์สยามนิกร หนังสือพิมพ์ไทยเสรี หนังสือพิมพ์สตรีไทย เป็นต้น แต่บริษัทฐานะการเงินไม่ดี จำเป็นต้องยุบเลิกหนังสือพิมพ์หลายฉบับ เหลือเพียงหนังสือพิมพ์ สยามนิกร  ฉบับเดียว และไม่นานบริษัทไทยพาณิชย์ ได้ฤกษ์คลอดหนังสือพิมพ์ พิมพ์ไทย  เป็นหนังสือพิมพ์ออกกรอบเช้าได้สำเร็จ เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2489 และได้แต่งตั้งผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดทั่วราชอาณาจักร ที่ใช้อักษรย่อว่า ข.ท.อ. ระหว่างที่ออกตระเวน แต่งตั้งผู้เหมาะสมประจำจังหวัด และได้ตรวจตลาดหนังสือพิมพ์โดยตั้งเอเยนต์อีกด้วย เพื่อให้หนังสือพิมพ์ถึงมือคนอ่านมากที่สุด นับได้ว่าเป็นคนหนังสือพิมพ์เต็มตัว

ถือได้ว่าเป็น  ราชาหนังสือพิมพ์ ยุคหนึ่งของไทย โดยในวางนโยบายสำหรับหนังสือพิมพ์แต่ละฉบับให้เห็นอิสระ ทำตามหน้าที่ รับผิดชอบอย่างเคร่งครัด ไม่ให้พัวพันกับพรรคการเมือง เพื่อบริการสาธารณะ รับใช้ประชาชน และระบอบประชาธิปไตยอย่างมีประสิทธิภาพ

เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2492 วันฌาปนกิจศพ  มนัส วิจารณ์ภูธร  นักข่าวหัวเห็ดของสยามนิกร  อารีย์ ได้บันทึกด้วยสายเลือดของคนฐานันดรที่ 4 ว่า   คนหนังสือพิมพ์ตายเพื่อหน้าที่ได้ แต่เสรีภาพของหนังสือพิมพ์ต้องไม่ตาย  และก่อนที่ราชาหนังสือพิมพ์จะจากไป  ประกาศ วัชราภรณ์ มีโอกาสพบ อารีย์ โดยบังเอิญบนรถไฟ ได้แนะนำด้วยความจริงใจว่า   คุณประกาศ เขียนเรื่องให้หมาพูดได้ซิครับ คุณจะมีชื่อเสียง  วาทะประโยคนี้  ประกาศ บันทึกไว้

และแล้ววันที่9 มีนาคม 2496 วงการนักข่าวก็เศร้าสลดเมื่อ  อารีย์   ถูกคนร้ายบุกเข้าไปยิงสิ้นชีวิตด้วยวัยเพียง 40 ปี ขณะที่ดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์ ที่บ้านพักหนองแก หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์

ผู้รับช่วงงานต่อจาก  อารีย์ บันทึกไว้ว่า   เขาตายเพราะเหตุนี้ แต่พิมพ์ไทย-สยามนิกร และไทยพาณิชยการ ไม่ได้ตายอย่างนักการเมืองผู้นั้นหวัง ตรงกันข้าม แม้จะเสียบิดาผู้บังเกิดเกล้าไป แต่เลือดพ่อยังอยู่ ไทยพาณิชยการ ยิ่งแข็งแกร่ง และอดทนยิ่งขึ้น น้ำตาของเขาไหลก็จริง แต่ไหลเข้าไปข้างในอก เรายิ้มได้ภายนอกหน้า และเราก็ก้มหน้าก้มตาทำงาน เพื่อให้บรรลุจุดหมายที่เขาได้วางไว้ด้วย