การต่อสู้ของนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ไทย
หนังสือพิมพ์นับเป็นสื่อมวลชนที่มีความเป็นมายาวนานที่สุดในบรรดาสื่อมวลชนทุกประเภท นับแต่หนังสือพิมพ์อุบัติขึ้นในสังคมไทยมาจนถึงปัจจุบัน เป็นเวลาร่วม 2 ศตวรรษ นักข่าวนักหนังสือพิมพ์ไทยแต่ละยุคสมัยได้อุทิศตนร่วมกับประชาชนและสังคม ในการต่อสู้เพื่อให้ได้รับสิทธิและเสรีภาพจากผู้มีอำนาจตลอดมา
ประวัติของการต่อสู้เชิงสิทธิเสรีภาพการสื่อสารของประชาชนและสังคม จึงมีความเป็นมาที่ยาวนาน และน่าภาคภูมิยิ่ง
หนังสือพิมพ์ไทยเริ่มต้นขึ้นในสังคมไทยเมื่อใด จากประวัติศาสตร์พบว่าสื่อสิ่งพิมพ์ในไทยเริ่มจากประกาศของราชการ จนพัฒนาเป็นสื่อประเภทหนังสือพิมพ์ที่มีลักษณะคล้ายๆ กับนิตยสาร และเมื่อสังคมยอมรับการแสดงความคิดเห็นกว้างขวาง และเนื้อหาที่เพลิดเพลินก็เกิดเป็นนิตยสาร ขณะที่หนังสือพิมพ์ก็มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบ และเนื้อหาอย่างต่อเนื่องตลอดมา
ประวัติการต่อสู้ของนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ไทยอาจแบ่งออกเป็น 5 ยุค โดยอาศัยกรอบความคิดเกี่ยวกับสภาพทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมมาประกอบการแบ่งลำดับเวลา ได้ดังนี้
- ยุคแรกเริ่มโดยศาสนจักร (ก่อน พ.ศ. 2349) หรือยุคของมิชชันนารี ก่อนสมัยรัชกาลที่ 4
- ยุคราชสำนัก (พ.ศ. 2347 – 2475) สมัยรัชกาลที่ 4 ที่กิจการการพิมพ์ได้เริ่มต้นขึ้นในไทยอย่างเป็นทางการ จนถึงรัชกาลที่ 7 ที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชเป็นระบอบประชาธิปไตย
- ยุคการเมือง (พ.ศ. 2475 – 2535) นับแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง จนถึงเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองครั้งสุดท้าย (พฤษภาทมิฬ)
- ยุคธุรกิจหนังสือพิมพ์ (พ.ศ. 2535 – 2540) นับจากสิ้นสุดเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง จนกระทั่งมีการปฏิรูปการเมือง ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540
- ยุคการปฏิรูปสื่อ (พ.ศ. 2540 – ปัจจุบัน) เริ่มจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ที่มีการปฏิรูปสื่อมวลชนตามมาตรา 39 – 40 ในวงวิชาชีพหนังสือพิมพ์ก็ได้จัดตั้งสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติขึ้นสำเร็จ จนกระทั่งปัจจุบันนี้
หนังสือพิมพ์ยุคแรกเริ่มโดยศาสนจักร (ก่อน พ.ศ. 2349)
ยุคแรกเริ่มโดยศาสนจักร (ก่อนปี พ.ศ. 2349) คือ ยุคก่อนรัชกาลที่ 4 กล่าวคือ นับแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จนถึงรัชกาลที่ 3
กิจการการพิมพ์ของไทยในยุคแรกเริ่มนี้ ดำเนินการโดยกลุ่มชาวต่างประเทศที่เข้ามาตั้งหลักฐานในประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นพวกมิชชันนารีที่เข้ามาอเมริกันที่เข้ามาสอนศาสนา
หมอบรัดเลย์กับบางกอกรีคอร์ดเดอร์ : จุดเริ่มของการร้องขอสิทธิเสรีภาพหนังสือพิมพ์ในไทย
หมอแดน บีช บรัดเลย์ (Dan Beach Bradley) ซึ่งเป็นมิชชันนารีอเมริกันที่เข้ามาเผยแพร่ศาสนาคริตส์ มีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์หนังสือพิมพ์ไทย เป็นผู้เริ่มต้นจัดทำสิ่งพิมพ์ที่มีลักษณะบันทึกจดหมายเหตุ คล้ายๆ กับหนังสือพิมพ์ ชื่อ “บางกอก รีคอร์เดอร์” จึงถือกันว่าหนังสือพิมพ์ประเภทหนังสือพิมพ์ได้เริ่มต้นขึ้นในยุคนี้
บางกอก รีคอร์เดอร์ ถือเป็นหนังสือพิมพ์รายปักษ์ฉบับแรกที่มีการจัดพิมพ์ในไทย โดยชาวต่างชาติ พิมพ์ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ออกตีพิมพ์อยู่ไม่ถึง 2 ปีก็ต้องปิดกิจการ
แม้หมอบรัดเลย์ เป็นชาวต่างชาติก็ตาม แต่บทบาทของหนังสือพิมพ์ที่หมอบรัดเลย์เริ่มต้นขึ้นนั้นก็ได้รับการยอมรับว่า นับเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียกร้องสิทธิให้กับคนไทย รวมทั้งผู้ไร้อำนาจในสังคม
หลังจากนั้น ก็มีหนังสือพิมพ์ออกมาหลายฉบับ ทั้งรายสัปดาห์ รายปักษ์ และรายปี โดยมีเจ้าของและบรรณาธิการเป็นมิชชันนารีอเมริกันทั้งสิ้น
ในยุคแรกเริ่มของมิชชันนารีอเมริกันนี้เป็นการเริ่มต้นของกิจการหนังสือพิมพ์ในประเทศไทยในสมัยต่อมาของยุคราชสำนัก ซึ่งนับจุดเริ่มในสมัยรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องจากในรัชกาลที่ 4 กิจการการพิมพ์ในไทยมีการดำเนินการอย่างชัดเจนทั้งโดยชาวต่างชาติและคนไทย
หนังสือพิมพ์ยุคราชสำนัก (พ.ศ. 2349 – 2475)
ยุคราชสำนักเริ่มตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 จนถึงรัชกาลที่ 7 (ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นประชาธิปไตยใน พ.ศ. 2475) ความโดดเด่นของหนังสือพิมพ์ยุคราชสำนักคือ เจ้านายในพระราชสำนัก รวมทั้ง รัชกาลที่ 4 เอง ได้เข้ามามีบทบาทในการจัดพิมพ์สื่อสิ่งพิมพ์ ทั้งในรูปแบบหนังสือเล่ม นิตยสาร และหนังสือพิมพ์
นอกเหนือจากชาวต่างชาติกลุ่มมิชชันนารีอเมริกันที่มีบทบาทมาตั้งแต่ยุคแรกเริ่มโดยศาสนจักร และยังมีบทบาทต่อเนื่องมาจนถึงสมัยยุคราชสำนักที่ยิ่งมีบทบาทมากขึ้นเช่นเดียวกัน หนังสือพิมพ์ในยุคราชสำนัก ได้ถูกนำมาใช้เพื่อการเผยแพร่ข่าวราชการในยุคราชสำนัก
รัชกาลที่ 4 กับหนังสือพิมพ์ราชกิจจานุเบกษา : สื่อสิ่งพิมพ์เริ่มแรกของคนไทย
หนังสือพิมพ์ราชกิจจานุเบกษา พิมพ์ในรัชกาลที่ 4 ในปี พ.ศ. 2401 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นผู้จัดทำ ไม่มีกำหนดออกชัดเจน นับเป็นเริ่มแรกของการพิมพ์หนังสือโดยคนไทย ทำให้งานหนังสือพิมพ์เป็นเสมือนบทสนทนาในเรื่องสิทธิ เสรีภาพ
ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ของหนังสือพิมพ์ราชกิจจานุเบกษา ออกมาเพื่อชี้แจงข่าวต่างๆ ที่หมอบรัดเลย์ตีพิมพ์ข่าวคลาดเคลื่อน เพื่อตอบโต้บทวิพากษ์วิจารณ์ของหมอบรัดเลย์เกี่ยวกับกิจการบ้านเมือง เพื่อประกาศกฎหมายที่พระองค์ทรงประกาศใช้ และเพื่อแจ้งข่าวบริหารกิจการบ้านเมือง
ออกได้ปีเดียวก็เลิก และมาออกใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 5 ในปี พ.ศ. 2417 กำหนดออกเป็นรายสัปดาห์ มาถึงปัจจุบันดำเนินการโดยโรงพิมพ์สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี นับเป็นหนังสือพิมพ์ที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย
ค็อตข่าวราชการ : หนังสือพิมพ์รายวันภาษาไทยฉบับแรกของคนไทย
รัชกาลที่ 4 ทรงสนพระทัยกิจการการพิมพ์เป็นอันมาก ในปี พ.ศ. 2418 มีการพิมพ์ หนังสือพิมพ์ ข่าวราชการ ขึ้น เป็นหนังสือพิมพ์รายวันภาษาไทยฉบับแรกที่คนไทยเป็นเจ้าของและบรรณาธิการ คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช พระโอรสในรัชกาลที่ 4
ฉบับแรกออกเมื่อวันที่ 26 กันยายน พ.ศ.2518 มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า Court มาเปลี่ยนเป็นชื่อภาษาไทยว่า ข่าวราชการ ในปี พ.ศ. 2519 และเมื่อสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ทรงโปรดให้พิมพ์ในคราวฉลองพระชันษา 64 ปี พ.ศ. 2466 นั้น จึงรวมเรียกชื่อเป็น “หนังสือค็อตข่าวราชการ”
หนังสือพิมพ์ข่าวราชการ ตีพิมพ์ที่กรมอักษรพิมพการ ซึ่งทรงกำกับโดยกรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณ โรงพิมพ์ดังกล่าวเรียกในชื่อสามัญว่า “โรงพิมพ์หลวง”
หนังสือพิมพ์ดรุโณวาท : ต้นเค้าการเสนอข่าวสารของสื่อมวลชนในยุคหลัง
หนังสือพิมพ์ที่ถือเป็นต้นเค้าของการนำเสนอข่าวสารในฐานะสื่อมวลชนอย่างแท้จริง กล่าวคือแตกต่างจากราชกิจจานุเบกษาที่จำกัดอยู่เฉพาะการเสนอข่าวราชการเป็นสำคัญ คือ หนังสือพิมพ์ ดรุโณวาท ที่มีความหมายว่า “โอวาทของเด็ก”
ผู้จัดพิมพ์หนังสือพิมพ์ฉบับนี้เป็นคนรุ่นหนุ่ม คือ พระองค์เจ้าเกษมสันต์ โสภาคย์ ซึ่งเป็นพระอนุชาของรัชกาลที่ 5 กำหนดออกเป็นรายสัปดาห์ ฉบับแรกออกเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ.2417 ถึงปี พ.ศ.2418 มีอายุเพียง 1 ปีเท่านั้น
ก.ศ.ร. กุหลาบ นักหนังสือพิมพ์สามัญชนคนแรกของไทย
สมัยรัชกาลที่ 5 มีนักหนังสือพิมพ์คนสำคัญที่เป็นนักคิด นักเขียนมากมายบุคคลที่ถือเป็นสัญลักษณ์หรือตัวแทนของนักหนังสือพิมพ์ผู้หาญกล้าในนี้คือ นายกุหลาบ ตฤษณานันท์ เจ้าของนามปากกา “ก.ศ.ร. กุหลาบ” (ก.ศ.ร. มาจากคำว่า เกศโร ซึ่งเป็นชื่อเมื่อตอนนายกุหลาบบวชเป็นพระภิกษุ)
นายกุหลาบ เกิดในสมัยรัชกาลที่ 3 มีความถนัดในการเขียนเรื่องเกร็ดประวัติศาสตร์ได้อย่างน่าติดตาม หนังสือพิมพ์ สยามประเภท ที่นายกุหลาบเป็นบรรณาธิการ ได้รับความชื่นชอบของผู้อ่านหนังสือพิมพ์ในสมัยนั้น
อย่างไรก็ตาม บางเรื่องราวก็ถูกตั้งข้อสังเกตว่าไม่น่าจะเป็นความจริง เช่น กรณีการถูกตำหนิจากกรมหมื่นวชิรญาณวโรรสในเรื่องแต่งประวัติสมเด็จพระสังฆราชผิดเพี้ยนไป จนมีผลทำให้ภาพของ ก.ศ.ร. กุหลาบ เป็นภาพของคนเชื่อถือไม่ได้
อเนก นาวิกมูล ให้ข้อสังเกตไว้ว่า “คำว่า “กุ” ที่ใช้พูดกันอยู่ในปัจจุบันนี้ เริ่มมาจากนายกุหลาบ ที่ชอบพูดเกินจริง”
ศาสตราจารย์ชัยอนันต์ สมุทวนิช นักวิชาการสาขารัฐศาสตร์ ผู้ซึ่งได้ศึกษาชีวิตและงานของ ก.ศ.ร. กุหลาบ ได้เขียนคำนิยมในหนังสือ “”ก.ส.ร.กุหลาบ” ของ มนันยา ธนะภูมิ ซึ่งเป็นเหลนของ ก.ศ.ร. กุหลาบ ถึงคุณูปการผลงานของ ก.ศ.ร. กุหลาบ ว่า
“งานของ ก.ศ.ร.กุหลาบที่พิมพ์ในสยามประเภทหลายเรื่องก็ได้เป็นเค้าเงื่อนสำคัญของการศึกษาประวัติศาสตร์ ทั้งในสมัยที่ ก.ศ.ร. ยังมีชีวิตอยู่และในสมัยต่อๆ มา ดังเช่นกรณีของ ฟ.ฮีแลร์ สอบถามเรื่องราวสมัยพระนารายณ์ เป็นต้น…. ก.ศ.ร.เป็นนักเลงหนังสือคนสำคัญในสมัยที่สยามยังไม่มีผู้รู้หนังสือและอ่านหนังสือมากนัก เว้นแต่ในวงแคบๆ อาจกล่าวได้ว่า ก.ศ.ร.กุหลาบเป็นทางเลือกแห่งความรู้อีกทางหนึ่ง นอกเหนือไปจากที่มาแห่งความรู้ที่จำกัดวงเฉพาะของทางราชการ”
นายเทียนวรรณ นักหนังสือพิมพ์ผู้มากอุดมการณ์แต่ต้องรับโทษทางการเมืองคนแรก
นักหนังสือพิมพ์บุคคลสำคัญอีกผู้หนึ่งในประวัติศาสตร์สื่อสิ่งพิมพ์ยุคราชสำนัก คือ นายเทียนวรรณ (ต.ว.ส. วัณณาโภ) ต้นตระกูลโปรเทียร์ณ เป็นนักต่อสู้เพื่อความชอบธรรม ผู้มีอาชีพหลักเป็น ทนายความ
นายเทียนวรรณ ได้จัดพิมพ์หนังสือพิมพ์ชื่อ “ตุลยวิภาคพจนกิจ” แสดงความคิด ความเห็นเป็นปฏิปักษ์กับข้าราชการในสมัยนั้นที่ทุจริต จนบางครั้งไม่มาสามารถต่อสู้คดีได้ จึงถูกโบยและเข้าจำคุก นับเป็นตัวอย่างของนักหนังสือพิมพ์ที่ไม่ยอมให้กับอธรรมให้กับนักหนังสือพิมพ์ยุคหลัง
ในบั้นปลายของชีวิตนายเทียนวรรณ เมื่อปี พ.ศ.2451 ขณะที่อายุ 66 ปี ได้ออกหนังสือพิมพ์ฉบับใหม่ชื่อ “ศิริพจนภาค” เป็นรายเดือน
นักเขียนนักหนังสือพิมพ์หัวสมัยใหม่ในยุคเฟื่องฟู
ในช่วงยุคการเมือง จึงปรากฏว่ามีสื่อสิ่งพิมพ์ประเภทนิตยสารเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก และมักนำเสนอเนื้อหาให้ความรู้ ความบันเทิง ในรูปแบบของเรื่องสั้น นิยาย เช่น นิตยสาร ลักวิทยา, ถลกวิทยา, ทวีปัญญา, ผดุงวิทยา, ศรีกรุง เป็นต้น ส่วนใหญ่ผู้จัดทำมักเป็นกลุ่มที่เรียกกันว่า “หัวนอก” หรือ “หัวสมัยใหม่”
ปี 2472 –2475 มีนิตยสารที่สนับสนุนให้เรื่องสั้นเกิดขึ้นอีกมาก ทำให้ช่วงปลายยุคราชสำนักเกิดนักหนังสือพิมพ์ และนักเขียนที่เป็นสามัญชนขึ้นหลายคน ทำให้ประเทศไทยมีนักหนังสือพิมพ์ที่เป็นนักเขียนมีชื่อเสียงหลายคน
เช่น กุหลาบ สายประดิษฐ์ (ศรีบูรพา), สด กูรมะโรหิต, อิศรา อมันตกุล, มาลัย ชูพินิจ, โชติ แพร่พันธ์ (ยาขอบ), ม.จ.อากาศดำเกิง รพีพัฒน์, มนัส จรรยงค์, สันต์ เทวรักษ์, เปลื้อง ณ นคร (นายตำรา ณ เมืองใต้), ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช, ศักดิ์ชัย บำรุงพงศ์ (เสนีย์ เสาวพงศ์) เป็นต้น
ในตอนช่วงปลายของยุคราชสำนักนี้ กล่าวคือ ในสมัยรัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 7 แนวความคิดการจัดทำสื่อสิ่งพิมพ์ได้เริ่มเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมืองการปกครองขึ้นแล้ว ซึ่งนับเป็นรากฐานของหนังสือพิมพ์ในยุคการเมือง ซึ่งเป็นยุคต่อมานั่นเอง
หนังสือพิมพ์ยุคการเมือง (พ.ศ. 2475 – 2535)
หนังสือพิมพ์ยุคการเมืองเริ่มตั้งแต่ภายหลังเปลี่ยนการปกครอง มีความโดดเด่นในด้านการใช้อำนาจรัฐเข้าควบคุมนักหนังสือพิมพ์ในช่วงต้นของยุค
ในเวลาต่อมานักหนังสือพิมพ์ก็ต้องต่อสู้เชิงเสรีภาพ ในท่ามกลางปัญหาด้านการเมืองในเหตุการณ์ 16 ตุลาคม 2414 และ 6 ตุลาคม 2519 นำไปสู่การใช้หนังสือพิมพ์เพื่อการกระตุ้นด้านเศรษฐกิจที่มีความรุ่งเรื่องในช่วงปลายของยุคนี้
ความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจทำให้เกิดการคอรัปชั่นการเมืองอย่างมาก นักหนังสือพิมพ์ได้มีบทบาทในการนำเสนอข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน (Investigative Reporting) หลายกรณี จนนำไปสู่การปฏิวัติ และเกิดความรุนแรงทางการเมืองครั้งหลังสุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย คือเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ในปี 2535 เป็นอันว่าสิ้นสุดยุคการเมือง
ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในปี พ.ศ.2475 เป็นระบอบประชาธิปไตยแล้ว ประวัติศาสตร์ของหนังสือพิมพ์ไทยเข้าสู่ยุคการเมือง เริ่มจากยุคประชาธิปไตยระยะแรกของคณะราษฎร์ จนเข้าสู่ยุคมืด เป็นเผด็จการทหารของจอมพล ป. พิบูลสงคราม จนถึงสมัย จอมพลสฤษฎ์ ธนะรัชต์ จอมพลถนอม กิตติขจร และ จอมพลประภาส จารุเสถียร
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ กับหนังสือพิมพ์ประชาชาติรายวัน
ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 แล้ว กุหลาบ สายประดิษฐ์, สนิท เจริญรัฐ, มาลัย ชูพินิจ (เจ้าของนามปากกาแม่อนงค์, เรียมเอง), โชติ แพร่พันธ์ (ยาขอบ เจ้าของผลงานผู้ชนะสิบทิศ) ได้ร่วมกันจัดทำ “หนังสือพิมพ์ประชาชาติรายวัน” โดย ม.จ.วรรณไวทยากร วรวรรณ เป็นเจ้าของ นับเป็นการรวมตัวนักหนังสือพิมพ์คนสำคัญและชื่อเสียงเลื่องลือแห่งยุคไว้ด้วย กัน นักหนังสือพิมพ์กลุ่มนี้ยกย่อง ม.จ.วรรณไวทยากร (ภายหลังได้รับสถาปนาพระยศเป็นพลตรีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์) เป็นผู้นำความคิดและอุดมการณ์หนังสือพิมพ์ แม้ “ท่านวรรณ” เป็นนักการเมืองที่มีบทบาทอยู่ในขณะนั้นก็ตาม พลตรีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ทรงประทานคำศัพท์ในวงการหนังสือพิมพ์ที่ได้ใช้มาจนถึงปัจจุบัน คือคำ “นิเทศศาสตร์” ตรงกับคำภาษาอังกฤษ “Communication Arts” และคำ “วารสารศาสตร์” ตรงกับคำภาษาอังกฤษ “Journalism” คำ “สื่อสารมวลชน” ตรงกับคำภาษาอังกฤษ “Mass Communication”
อารีย์ ลีวีระ : นักหนังสือพิมพ์ที่ผู้มีอำนาจบงการให้ตำรวจฆ่าตาย
ปี 2488 ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลงแล้ว กฎเกณฑ์การใช้ภาษาแผลงๆ ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ถูกยกเลิกไป อุปกรณ์การพิมพ์ก็พร้อม นักเขียนนักหนังสือพิมพ์ตื่นตัวอีกครั้ง แหล่งรวมนักหนังสือพิมพ์และนักเขียนยุคนั้น คือ “ค่ายสีลม” ของบริษัท ไทยพาณิชยการ จำกัด มีเจ้าของคือ นายอารีย์ ลีวีระ นักหนังสือพิมพ์ที่ผู้มีอำนาจบงการให้ตำรวจฆ่าตาย สมัยที่พลเอกเผ่า ศรียานนท์ เป็นอธิบดีกรมตำรวจ คนั้นมีหนังสือพิมพ์หลายฉบับ เช่น พิมพ์ไทย – รายเดือน และรายวัน, สยามนิกร –รายวัน, เริงรมย์ – รายสัปดาห์, พิมพ์ไทย – วันจันทร์, สยามสมัย – รายสัปดาห์ เป็นต้น ทำให้เกิดนักเขียนนักหนังสือพิมพ์ที่มีชื่อเสียง เช่น อาจินต์ ปัญจพรรค์, นพพร บุณยฤทธิ์ (ภายหลังเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ซึ่ง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 25 มิถุนายน 2493) และ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ เป็นต้น
กุหลาบ สายประดิษฐ์ : แบบอย่างนักหนังสือพิมพ์ นักเขียน นักต่อสู้ทางการเมือง
ในยุคต่อมา หนังสือพิมพ์ถูกเข้มงวดจากผู้ปกครองขึ้นมาก กล่าวคือ มีการออกกฎหมายมาควบคุม นับแต่ พ.ร.บ. การพิมพ์ 2476 มีการใช้หนังสือพิมพ์เป็นกระบอกเสียงของผู้มีอำนาจ มีการออกหนังสือพิมพ์โดยผู้มีอำนาจ
บันทึกประวัติศาสตร์สำคัญของหนังสือพิมพ์ไทยยุคนี้ คือ การต่อสู้เพื่อความชอบธรรมในสังคมของนักคิด นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ที่สำคัญคือ นายกุหลาบ สายประดิษฐ์ ผู้เป็นเจ้าของนามปากกา “ศรีบูรพา” ผู้เขียนนิยายขนาดสั้นเรื่อง “ข้างหลังภาพ” ซึ่งตัวเอกของเรื่องได้แสดงแนวความคิดด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมได้อย่างแนบเนียน
ในภาวะขณะนั้นที่นักหนังสือพิมพ์ถูกแทรกแซงจากผู้ปกครองบ้านเมือง บทความเรื่อง “มนุษยภาพ” ของกุหลาบ ที่เขียนขึ้นเพื่อแสดงจุดอ่อนของระบอบการปกครองสมบูรณาญาสิทธิราชเป็นเหตุให้หนังสือพิมพ์ศรีกรุงถูกปิด
กุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือ “ศรีบูรพา” มีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยขึ้นในปี พ.ศ.2484 (ซึ่งเป็นปีเดียวกันที่รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม บังคับใช้พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ. 2484 ที่ใช้มาจนถึงปัจจุบัน)
แต่นายกุหลาบ ขอไม่รับตำแหน่งใดๆ ของกรรมการบริหารสมาคมชุดแรก กรรมการได้เห็นชอบให้พระยาปรีชานุสาสน์ (เสริญ ปันยารชุน) บิดา นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรีเป็นนายกสมาคมฯ คนแรก ภายหลังนายกุหลาบ เป็นนายกสมาคมคนที่ 3 ในระหว่างปี พ.ศ.2488 – 2489
นักหนังสือพิมพ์อีกผู้หนึ่งซึ่งมีแนวคิดต่อสู้เพื่อความชอบธรรมในสังคมเช่นเดียวกับนายกุหลาบ คือ สนิท เจริญรัฐ เจ้าของนามปากกา “ศรีสุรินทร์” เพื่อนนักหนังสือพิมพ์ใน “กลุ่มสุภาพบุรุษ” ที่มีสมาชิกรวม 11 คน
อิศรา อมันตกุล ต้นแบบการต่อสู้เสรีภาพกับเผด็จการ แบบอย่างการทำข่าวเจาะและจริยธรรมนักหนังสือพิมพ์
อิศรา อมันตกุล ได้รับเลือกตั้งเป็นเอกฉันท์ให้เป็นนายกสมาคมนักข่าวคนแรกและเป็นติดต่อกันถึง 3 สมัย (พ.ศ. 2499 – 2500 – 2501) โดยมี สนิท เอกชัย (ค่ายสี่พระยา), ชลอ อาภาสัตย์ (ค่ายสีลม), และ เลิศ อัศเวศน์ แห่งหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เป็นตัวตั้งตัวตีในการรวมเพื่อนพ้องน้องพี่กลุ่มยังเตอร์กในวงการข่าวเวลานั้น
การชุมนุมของกลุ่มนี้ เกิดขึ้นเมื่อ 5 มีนาคม พ.ศ. 2498 โดยการชุมนุมครั้งแรกเกิดขึ้นที่ ศาลานเรศวร ในสวนลุมพินี มี ชาญ สินศุข หนังสือพิมพ์สยามนิกร แห่งค่ายสีลม เป็นประธานการประชุมภายหลัง เลิศ อัศเวศน์ ชี้แจงในเบื้องต้นแล้ว
คณะผู้ก่อตั้งสมาคมนักข่าวในเวลานั้นมี 15 คน ได้แก่ โชติ มณีน้อย, เท่ห์ จงคดีกิจ, ประจวบ อัมพะเสวต, วิเชียร โรจนวงศานนท์, ถาวร มุ่งการดี, สนิท เอกชัย, เชาว์ รูปเทวินทร์, จรัญ โยบรรยงค์, กุศล ประสาร, ชลอ อาภาสัตย์, อนงค์ เมษประสาท, วิสัย สุวรรณผาติ, นพพร ตุงคะรักษ์, วิภา สุขกิจ, และเลิศ อัศเวศน์
ที่ทำการของสมาคมนักข่าวฯ ในระยะแรกเริ่มใช้ที่ทำการของหนังสือพิมพ์ต่างๆ จนในเวลาต่อมาได้ใช้พื้นที่บนอาคารโรงหนังเฉลิมกรุง และภายหลังเมื่อหนังสือพิมพ์ บางกอกโพสต์ ย้ายจากที่ทำการอาคารถนนราชดำเนิน ประสิทธิ์ ลุลิตานนท์ ซึ่งเป็นผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ในเวลานั้น ให้เข้าใช้อาคาร 8 ถนนราชดำเนิน นับแต่นั้นมา
อิศรามีความถนัดในการใช้ภาษาอังกฤษ เป็นผู้มีคะแนนยอดเยี่ยมทางภาษาอังกฤษในระดับประเทศ ผลงานคอลัมน์การใช้ภาษาอังกฤษ ใช้นามปากกา “แฟรงค์ ฟรีแมน นอกจากงานหนังสือพิมพ์แล้ว เขาก็คล้ายกับเพื่อนรักกุหลาบ สายประดิษฐ์ ที่นิยมเสนอความคิดทางการเมืองในรูปแบบงานประพันธ์และวรรณกรรม
ผลงานด้านการประพันธ์ทั้งเรื่องสั้น และเรื่องยาวหลายชิ้นมีการนำเสนอความคิดทางการเมืองอย่างชัดเจน เช่น เขาตะโกนหานายกรัฐมนตรี, นาถยา – สถาพร ผู้กลับมา และข้าจะไม่แพ้
อิศราชอบทำงานอิสระของตนเองมากกว่าที่จะเข้าสังกัด ชีวิตหนังสือพิมพ์เริ่มต้นที่หนังสือพิมพ์สุภาพบุรุษ – ประชามิตร ร่วมกับ กุหลาบ สายประดิษฐ์ และ มาลัย ชูพินิจ และได้ร่วมก่อตั้งหนังสือพิมพ์สุวัณณภูมิ ร่วมกับทองเติม เสมรสุต (เป็นผู้ออกแบบตราสัญลักษณ์ของสมาคมนักข่าวในครั้งนั้น), วิน บุญอธึก, สว่างวงศ์ กรีบุตร, เสนีย์ เสาวพงศ์ และวิตต์ สุทธเสถียร
ภายหลังได้ทำหนังสือพิมพ์อีกหลายแห่ง เช่น หนังสือพิมพ์บางกอกรายวัน, หนังสือพิมพ์เอกราช, หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทยเบื้องหลังข่าว, หนังสือพิมพ์บางกอกเดลิเมล์
อิศราถูกอำนาจเผด็จการยุคนั้นจับกุมไปคุมขังที่เรือนจำลาดยาว ด้วยข้อหามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ เป็นเวลา 5 ปี 10 เดือน ได้รับการปลดปล่อยเป็นอิสระโดยไม่มีการฟ้องร้องศาลแต่อย่างใด ภายหลังได้ทำงานที่หนังสือพิมพ์
ชีวิตการต้อสู้ของอิศรา เป็นแบบอย่างการทำข่าวเจาะ และเขาเป็นแบบอย่างของนักหนังสือพิมพ์ผู้เคร่งครัดในหลักจริยธรรมวิชาชีพ จนสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ นำชื่อมายกย่องตั้งเป็นชื่อ “รางวัลอิศรา” ให้กับผลงานข่าว – ภาพข่าวยอดเยี่ยมประจำปี อิศราคือผู้ที่กล้าประกาศว่า
“หนังสือพิมพ์ในสายตาของคนทั่วไปอาจเป็นเศษกระดาษ ซึ่งเมื่ออ่านเสร็จแล้วก็โยนทิ้งไป หรืออย่างดีก็เก็บเอาไว้ชั่งกิโลขายเจ๊ก แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ผมอยากจะกล่าวว่าหนังสือพิมพ์คือเอกสารทางประวัติศาสตร์สันต่อวัน สัปดาห์ต่อสัปดาห์ เดือนต่อเดือน ปีต่อปี นั่นเอง หนังสือพิมพ์วันนี้ ย่อมจะกลายเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในวันหน้าไปอย่างแน่นอนมิพักต้องสงสัย”
อิศรา ถึงแก่กรรมเมื่อ 14 มีนาคม 2512 ด้วยโรคมะเร็ง แต่ แบบอย่างที่งดงามในความหนักแน่นต่อหลักจริยธรรม ความรักในเสรีภาพ และการต่อสู้ต่ออำนาจเผด็จการแม้แลกด้วยอิสระภาพของตนเอง เป็นแรงบันดาลใจให้เพื่อนร่วมวงการหนังสือพิมพ์ เสริมศรี เอกชัย (เรือใบ) เขียนถึงเขาไว้ในหนังสือวันนักข่าว 5 มีนาคม ชื่อบทความ “อิศรา ตัวตายแต่ชื่อยัง”
สำนักพิมพ์โอเลี้ยง 5 แก้ว แหล่งเพาะนักเขียนนักหนังสือพิมพ์มีบทบาทในยุคต่อมา
ปี 2500 สำนักพิมพ์เอเดียนสโตร์ และสำนักพิมพ์ก้าวหน้า เริ่มผลิตหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊คขนาดมาตรฐาน รวมเรื่องสั้นราคา 6 บาท ต่อมาปี 2508 อาจินต์ ปัญจพรรค์ ตั้ง “สำนักพิมพ์โอเลี้ยง 5 แก้ว” พิมพ์เรื่องสั้นชุดเหมืองแร่ออกจำหน่ายจนมีชื่อเสียงมาก
หลังจากนั้น เกิดนักเขียน “กลุ่มก้าวหน้า” เช่น รมย์ รติวัน, เจญ เจตนธรรม, นเรศ นโรปกรณ์, ลาว คำหอม และไพฑูรย์ สุนทร นำเสนอเนื้อหาแนวสะท้อนสังคม ซึ่งบางท่านในกลุ่มนี้ได้มีบทบาทในวงการหนังสือพิมพ์ไทยยุคต่อมา
พระจันทร์เสี้ยว – หนุ่มเหน้าสาวสวย กลุ่มนักเขียนนักหนังสือพิมพ์ผู้มีบทบาทสำคัญในวงการหนังสือพิมพ์ร่วมสมัย
ปี 2510 เกิดการรวมตัวของนักเขียน “กลุ่มพระจันทร์เสี้ยว” ประกอบด้วย สุชาติ สวัสดิ์ศรี, วิทยากร เชียงกูร (นักวิชาการผู้เป็นเจ้าของบทประพันธ์ “ฉันจึงมาหาความหมาย”, สุรชัย จันทิมาธร (น้าหงา วงคาราบาว ที่ชื่อเสียงโด่งดังถือเป็นต้นแบบของศิลปินนักร้องเพลงเพื่อชีวิต), นิคม รายวา (นักเขียนรางวัลซีไรท์ เรื่องสั้นตลิ่งสูงซุงหนัก), วิสา คัญทัพ, ตั๊ก วงศ์รัฐ, มงคล วัชรางค์กูล, ทะนง เป็นต้น
ในปีเดียวกันเกิดนักเขียน “กลุ่มหนุ่มเหน้าสาวสวย” ได้แก่ สุจิตต์ วงศ์เทศ (เจ้าของบทกวี กูเป็นนิสิตนักศึกษา), ขรรค์ชัย บุนปาน, ณรงค์ จันทร์เรือง, สุวรรณี สุคนธา, มนัส สัตยารักษ์, ประเสริฐ สว่างเกษม, เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์, บรรณ วีรวรรณ เป็นต้น รวมทั้ง มีนักเขียน “กลุ่มคลื่นลูกใหม่” โดย เสถียร จันทิมาธร และสมาชิกบางคนจากกลุ่มพระจันทร์เสี้ยวและกลุ่มหนุ่มเหน้าสาวสวยรวมกัน
เฉลิม วุฒิโฆสิต – เสฐียร พันธรังษี กับการก่อตั้ง สมาคมนักหนังสือพิมพ์ฯ
การก่อตั้งสมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยในครั้งแรกมีนักหนังสือพิมพ์ประจำการประมาณ 50 คน มี เฉลิม วุฒิโฆสิต บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ ชาวไทย เป็นหัวหน้า พบปะกันที่หนังสือพิมพ์ชาวไทย เมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2508
ผู้เริ่มก่อตั้งที่มีชื่อในการจดทะเบียน 3 คน คือ เฉลิม วุฒิโฆสิต, ไชยยงค์ ชวลิต บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ พิมพ์ไทย และ เสลา เลขะรุจิ บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ หลักเมือง สำนักงานชั่วคราวอยู่ที่ หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย
ที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร ครั้งที่ 9 / 2509 กำหนดให้วันที่ 20 พฤษภาคม เป็นวันเกิดของสมาคม
ต่อเมื่อมา เสฐียร พันธรังษี หนังสือพิมพ์ ชาวไทย เป็นนายกสมาคมคนต่อมา ในสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มอบที่ดินของกรมธนารักษ์ที่อยู่ในความดูแลของสำนักนายกรัฐมนตรี เนื้อที่ 1 ไร่เศษ ฝั่งตรงข้ามโรงพยาบาลวชิระ ถนนสามเสน ซึ่งเป็นบ้านพักของผู้แทนราษฎร์อยู่ เพื่อเป็นที่ก่อสร้างที่ทำการของสมาคมฯ
ในปี พ.ศ. 2512 เสฐียร พันธรังษี เป็นนายกสมาคมฯ ได้ทำหนังสือกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์อาคารที่ทำการของสมาคม และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2512
นับตั้งแต่ก่อตั้งสมาคมในปี พ.ศ. 2508 จนถึงการรวมกับสมาคมนักข่าวฯ สมาคมนักหนังสือพิมพ์มีนายกสมาคม ดังนี้ เฉลิม วุฒิโฆสิต, เสฐียร พันธรังษี, ประสิทธิ์ ลุลิตานนท์, เสริมศรี เอกชัย, โชติ มณีน้อย, สมบูรณ์ วรพงษ์, กิตติ ชูพินิจ, พอใจ ชัยเวฬุ, ศุภเกียรติ ธารณกุล, ไตรรัตน์ สุนทรประภัสสร์, บัณฑิต รัชวัฒนะธานินทร์, เชาว์ รูปเทวินทร์, สุทิน กาญจนไพบูลย์, สมาน สุดโต, สุวัฒน์ ทองธนากุล
โชติ มณีน้อย กับการประกาศศักดิ์ศรีกรณีนักการเมืองกล่าวหานักหนังสือพิมพ์รับอามิสสินจ้างให้โจมตี
โชติ มณีน้อย แห่งหนังสือพิมพ์ ชาวไทย เป็นนายกสมาคมนักข่าวฯ (5 สมัยเว้นช่วงเวลา) ปี พ.ศ. 2514 ในสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี พันเอกถนัด คอมันตร์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
พันเอกถนัด ได้ให้สัมภาษณ์ว่ามีนักหนังสือพิมพ์บางคนรับอามิสสินจ้างจากต่างชาติให้โจมตีนโยบายของตน แต่เมื่อถูกถามให้ระบุชื่อที่แน่ชัด เพราะการกล่าวเช่นนั้นทำให้วงการหนังสือพิมพ์มีมลทินมัวหมอง แต่พันเอกถนัด ปฏิเสธที่จะระบุชื่อ
กำแหง ภริตานนท์ แห่งหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ นายกสมาคมนักข่าวฯ พ.ศ. 2524- 2525 เขียนเล่าถึงปฏิกิริยาหนังสือพิมพ์ไว้ว่า สมาคมวิชาชีพในเวลานั้น คือ สมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย และสมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมหนังสือพิมพ์ส่วนภูมิภาคแห่งประเทศไทย เรียกประชุมกรรมการบริหาร ณ ที่ทำการสมาคมนักข่าว (ในเวลานั้นตั้งอยู่ที่ถนนราชดำเนิน)
ที่ประชุมมอบกรรมการคณะหนึ่งประกอบด้วย นเรศ นโรปกรณ์, มานิจ สุขสมจิตร, สมบูรณ์ วรพงษ์, ประสาน มีเฟื่องศาสตร์, ละเอียด พิบูลสวัสัดิ์, ชิต วิภาสธวัช, ปรีชา พบสุข, เฉลียว จงเจริญ และ มารุต บุนนาค ที่ปรึกษากฎหมายของสมาคมนักข่าวฯ เขียนร่างแถลงการณ์ตอบ
หลังจากนั้นพันเอกถนัด ได้เชิญผู้แทนสมาคมทั้ง 4 เข้าพบเพื่อทำความเข้าใจและออกแถลงการณ์ว่ารัฐมนตรียังเชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ของนักหนังสือพิมพ์ แต่หลังจากนั้น รัฐมนตรีก็ยังก้าวร้าวเช่นเดิม หนังสือพิมพ์ก็ “คว่ำบาตร” จนทำให้จอมพลถนอม กิตติขจร ต้องเชิญทุกฝ่ายทำความเข้าใจ และให้รัฐมนตรีถอนแจ้งความ
ต่อสู้กับ คำสั่ง ปร. 42 ยุคมานิจ สุขสมจิตร นักหนังสือพิมพ์มือกฎหมาย
มานิจ สุขสมจิตร แห่งหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เป็นนายกสมาคมนักข่าวใน พ.ศ. 2517 - 2518 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สถานการณ์ทางการเมืองเพิ่งจะสงบลงจากเหตุการณ์14 ตุลาคม 2516 หนังสือพิมพ์มีความคึกคักขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง
วงการหนังสือพิมพ์ได้รับความคาดหวังไปให้อยู่ข้างประชาชน ไปพร้อมๆ กับการเรียกร้องให้จัดตั้งสภาการหนังสือพิมพ์ขึ้นมาควบคุมจริยธรรมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์
ในเวลานั้น ฝ่ายผู้มีอำนาจได้ใช้อำนาจตามคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับที่ 42 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 โดยมีอำนาจสั่งปิดหนังสือพิมพ์
มานิจ สุขสมจิตร นักหนังสือพิมพ์ มือกฎหมาย นิติศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง ให้ความสำคัญมาตลอด นับตั้งแต่รัฐบาลดำเนินการออกคำสั่งฉบับนี้
การรณรงค์ให้มีการยกเลิก ปร. 42 มาสำเร็จใน พ.ศ. 2533 ยุคที่สมาคมนักข่าวฯ มีนายกสมาคมฯ คือ ไพฑูรย์ สุนทร แห่งหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ร่วมค่ายกับมานิจ สุขสมจิตร นั่เอง
ในเวลานั้น พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี สมาคมนักข่าวฯ เป็นแกนกลาง ในการประสานงานกับผู้ประกอบวิชาชีพข่าวทั่วประเทศ เพื่อเคลื่อนไหวในนาม “สมัชชานักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย” จนได้รับการยกเลิก รวมเวลาคำสั่ง ปร.42 ใช้บังคับนานถึง 14 ปี
วิภา สุขกิจ แบบฉบับนักข่าวหญิงแกร่ง ขึ้นชั้นนายกหญิงคนแรกของสมาคมนักข่าวฯ
วิภา สุขกิจ เป็นชื่อจริงของเจ้าของฉายานาม “เจ๊วิภา” ที่นักข่าวนักหนังสือพิมพ์รุ่นหลังเรียกขานด้วยความเคารพรัก ทั้งยังเกรงในความแกร่งของนักข่าวหญิงผู้นี้ ชีวิตหนังสือพิมพ์เริ่มต้นที่ หนังสือพิมพ์ “พิมพ์ไทย” ในปี พ.ศ. 2498 ปีเดียวกันกับการก่อตั้งสมาคมนักข่าวฯ โดยการชักชวนของ ทวีป วรดิลก บรรณาธิการ ผู้เป็นเตรียม มธก. รุ่นพี่
ก่อนที่จะฝากชีวิตนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ที่งดงามให้รุ่นหลังได้เป็นแบบอย่างที่ หนังสือพิมพ์มติชน ตามคำชักชวนของพงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร แห่งหนังสือพิมพ์มติชน (นายกสมาคมนักข่าวฯ พ.ศ.2521) เคยดำรงตำแหน่งบรรณาธิการ และสุดท้ายเป็นที่ปรึกษา
ขรรค์ชัย บุนปาน เจ้าของหนังสือพิมพ์มติชน กล่าวถึง เจ๊วิภา เจ้าของนามปากกาคอลัมน์สังคม ชื่อ “หญิงเล็ก” ว่า “เหล็กน้ำพี้ยังแสยง”
วิภา สุขกิจ เป็นนักข่าวหญิงรุ่นบุกเบิกทีทำงานเคียงข้างนักข่าวชายอย่างทรหดอดทน ไม่เกรงกลัวต่อภัยอันตรายใดๆ เป็นผู้ผ่านเหตุการณ์สำคัญๆ ของบ้านเมืองมามากมาย รายงานข่าวนายกรัฐมนตรีมาแทบทุกสมัย และต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมต่างๆอย่างกล้าหาญ เด็ดเดี่ยว
ได้รับยกย่องจากมูลนิธิศาสตราจารย์บำรุงสุข สีหอำไพ ผู้ก่อตั้งคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นนายกสมาคมนักข่าวฯ ผู้หญิงคนแรก ในปี พ.ศ. 2528 - 2529
สู้เพื่อสิทธิเสรีภาพประชาชนท่ามกลางเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ นำโดยบัญญัติ ทัศนียะเวช
ในปี พ.ศ. 2535 พลเอก สุจินดา คราประยูร ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี บ้านเมืองเข้าสู่ความสบสน สิทธิเสรีภาพของประชาชนถูกปิดกั้นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะข่าวที่เผยแพร่ทางสื่อมวลชนประเภทวิทยุและโทรทัศน์ซึ่งเป็นสื่อของหน่วยงานภาครัฐ ในเวลานั้นประชาชนได้รับข่าวสารที่สนับสนุนรัฐบาลเพียงด้านเดียว
บัญญัติ หรือที่นักข่าวนักหนังสือพิมพ์กล่าวถึงด้วยความเคารพว่า “เจ๊ญัติ”เป็นนายกสมาคมนักข่าวฯ ระหว่าง พ.ศ. 2534 – 2535 อันเป็นช่วงที่สมาคมนักข่าวในฐานะองค์กรวิชาชีพนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ต้องประกาศอุดมการณ์หนังสือพิมพ์ท่ามกลางเหตุการณ์สำคัญทางการเมือง “พฤษภาทมิฬ” ใน พ.ศ. 2535
บัญญัติ ทัศนียะเวช เป็นนักข่าวหญิงรุ่นบุกเบิก เริ่มต้นชีวิตหนังสือพิมพ์ที่ สยามนิกร และย้ายมาอยู่ที่หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ จนปัจจุบัน บัญญัติ เป็นต้นแบบของนักข่าวหญิงที่เด็ดเดี่ยว และยึดหลักจริยธรรมอีกผู้หนึ่ง ได้รับการยกย่องให้เป็นกรรมการจรรยาบรรณของสมาคมนักข่าวมาตลอด
กลุ่มนักข่าวหญิงรุ่นบุกเบิก นอกจากบัญญัติ, วิภา แล้วก็มี สมศรี ตั้งตรงจิตร, เสริมศรี เอกชัย, อนงค์ เมษประสาท, จิรภา อ่อนเรือง, ผุสดี คีตะวรนาฏ, คณิต นันทวาณี, ยุวดี ธัญญสิริ, ชุติมา บูรณะรัชดา เป็นต้น
หนังสือพิมพ์ยุคธุรกิจหนังสือพิมพ์ (พ.ศ. 2535 – 2540)
ยุคทองของหนังสือพิมพ์แนวเศรษฐกิจ-การเมือง
หนังสือพิมพ์ในยุคธุรกิจหนังสือพิมพ์นี้ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วงปลายยุคการเมืองที่เศรษฐกิจเพื่องฟู และได้เติบโตต่อเนื่องมา กล่าวคือ ผลจากความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจของสมัยรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหวัณ ในช่วงปลายปี 2530 ส่งผลเรื่อยมา
ภาวะเศรษฐกิจดังกล่าวส่งผลให้มีหนังสือพิมพ์ด้านเศรษฐกิจและการเมืองเกิดขึ้นหลายฉบับ จนอาจกล่าวได้ว่าเป็น “ยุคทองของหนังสือพิมพ์แนวเศรษฐกิจการเมือง” (Economic – Political Newspaper) เลยทีเดียว
เปิดฉากสมาคมนักข่าวฯ ยุคริเริ่มโครงการใหม่ๆ ในยุคปราโมทย์ ฝ่ายอุประ
ภายหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬสิ้นสุดลง ประเทศไทยมีนายอานันท์ ปันยารชุณ เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อมีการเลือกตั้ง นายชวน หลีกภัย ได้เป็นนายกรัฐมนตรีจากการผสมหลายพรรคการเมือง เช่นเดียวกับในช่วงเวลาต่อมาในสมัยนายกรัฐมนตรี พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ และนายบรรหาร ศิลปอาชา
ปราโมทย์ ฝ่ายอุประ แห่งหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เป็นนายกสมาคมนักข่าวฯ ระหว่างพ.ศ. 2536 – 2537 มีนโยบายสำคัญในการปรับปรุงให้ที่ทำการของสมาคมนักข่าวฯ ในยุคที่ตั้งอยู่ที่อาคาร 8 ถนนราชดำเนิน มีลักษณะเป็นแหล่งพบปะชุมนุมของนักข่าว เรียกว่า “เพรสคลับ” หรือ “Press Club”
กรรมการบริหารสมาคมนักข่าวฯ สมัยนี้ที่เป็นนักข่าวรุ่นหลัง เช่น ภัทระ คำพิทักษ์, ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี, ดิสทัต โรจนาลักษณ์, สันชาย จันทราวัฒนากุล เข้ามามีบทบาทนำเสนอแนวความคิดใหม่ๆ ให้กับโครงการของสมาคมนักข่าวฯ ที่ดำเนินการมาจนปัจจุบันหลายโครงการ เช่น โครงการเพรสคลับ, โครงการอบรมนักข่าวใหม่, โครงการสัปดาห์อิศรา อมันตกุล, โครงการประกวดหนังสือพิมพ์ฝึกปฏิบัติในสถาบันการศึกษา, โครงการพิราบน้อย เป็นต้น
ช่วยเหลือนักข่าวประสบภาวะวิกฤติและคัดค้านการออกกฎหมายควบคุมหนังสือพิมพ์ ยุคชุติมา บูรณะรัชดา
ชุติมา บูรณะรัชดา เป็นนายกสมาคมนักข่าวฯ ระหว่าง พ.ศ. 2540 – 2541 ซึ่งเป็นช่วงเวลา “ยุคเศรษฐกิจฟองสบู่แตก” (bubble economy) ทำให้นักข่าวต้องประสบกับภาวะวิกฤติไปด้วย
ผลจากภาวะเศรษฐกิจวิกฤติเศรษฐกิจทำให้หนังสือพิมพ์หลายฉบับต้องปิดตัวเองลง หรืออย่างน้อยก็มีการปรับเปลี่ยนองค์กรภายใน มีการจัดโครงการอาสาสมัครลาออก (early retire) ในหนังสือพิมพ์หลายๆ ฉบับ เป็นผลให้ในช่วงนั้น มีผู้สื่อข่าวตกงานมากถึงกว่า 3,000 คน นับเป็นประวัติการณ์ครั้งสำคัญในวงการหนังสือพิมพ์ไทย ในช่วงเวลานี้ สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย ได้มีโครงการช่วยเหลือนักข่าวมากมายหลายโครงการ
ตั้งสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติสำเร็จ
เหตุการณ์ที่สำคัญในประวัติศาสตร์หนังสือพิมพ์ไทยที่เกิดขึ้นในช่วงปลายของยุคนี้คือ การจัดตั้งองค์กรอิสระเพื่อควบคุมกันเองของวงการหนังสือพิมพ์ได้สำเร็จ เมื่อ 4 กรกฎาคม 2540 เป็นสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ
มานิจ สุขสมจิตร นักหนังสือพิมพ์อาวุโสจากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เป็นประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติคนแรก ต่อมา พ.ศ. 2545 สมชาย กรุสวนสมบัติ เจ้าของคอลัมน์ “ซอกแซก โดยซูม” ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เป็นประธานคนที่สอง
ปัจจุบัน พงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร แห่งหนังสือพิมพ์มติชน อดีตนายกสมาคมนักข่าวฯ พ.ศ. 2521 เป็นประธานฯ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติในปัจจุบันมีบทบาทสำคัญในการควบคุมจริยธรรมวิชาชีพหนังสือพิมพ์ มีองค์กรสมาชิก 36 องค์กรวิชาชีพหนังสือพิมพ์จากทั่วประเทศ
หนังสือพิมพ์ยุคปฏิรูปสื่อ (พ.ศ. 2540 – ปัจจุบัน)
รวมสมาคมนักข่าว + สมาคมนักหนังสือพิมพ์ ขยายความร่วมมือกับองค์การวิชาชีพในต่างประเทศ ยุคกวี จงกิจถาวร
หลังจากนักหนังสือพิมพ์อาวุโสในวงการหนังสือพิมพ์ไทยมีความเห็นตรงกันในรวมสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย กับสมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เป็น “สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย”
กวี จงกิจถาวร แห่งหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น เป็นนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์คนแรก ใน พ.ศ. 2542 และ พ.ศ. 2543, 2544
คณะกรรมการบริหารชุดแรก กำหนดนโยบายการทำงานไว้ 4 ประการ คือ พัฒนาความเป็นปึกแผ่นขององค์กรวิชาชีพหลังจากรวมสมาคม, ส่งเสริมการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ ยึดมั่นในจรรยาบรรณ และเป็นกลาง เพื่อให้เกิดการยอมรับและน่าเชื่อถือในวิชาชีพต่อสังคม,
พัฒนาการประกอบวิชาชีพด้านการเรียนรู้เพื่อนำไปสู่ผู้นำทางความคิด และเสริมสร้างและส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างสมาคม สมาชิก องค์กรผู้ประกอบธุรกิจสื่อมวลชน และองค์กรวิชาชีพในต่างประเทศ
กรรมการบริหารได้วางแผนการดำเนินงานในแต่ละนโยบายอย่างชัดเจน ซึ่งรวมถึงการย้ายที่ทำการจากอาคาร 8 ถนนราชดำเนิน มารวมกันที่อาคารสมาคมนักหนังสือพิมพ์ฯ เดิมที่ถนนสามเสน
งานของกรรมการยุคนี้ จึงเป็นการวางโครงสร้างพื้นฐานทั้งทางวัตถุและทางการบริหาร เพื่อรองรับกิจกรรมในอนาคต ที่สมาคมจะต้องรองรับหน้าที่สำนักงานเลขาธิการขององค์กรทางด้านสื่อมวลชนต่างๆ อีกด้วย
หลังจากนั้น วีระ ประทีปชัยกูร แห่งหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ เป็นนายกสมาคมคนที่ 2 ระหว่าง พ.ศ. 2545 – 2546 ปัจจุบัน ผุสดี คีตะวรนาฏ แห่งหนังสือพิมพ์ภาษาจีน ซิงจงเอี๋ยน เป็นนายกสมาคมฯ
ในยุคนี้หนังสือพิมพ์ต้องถูกตรวจสอบโดยองค์กรต่างๆ มากมาย รวมทั้ง จากประชาชนผู้อ่านหนังสือพิมพ์ จึงเชื่อว่าน่าจะมีส่วนเอื้อประโยชน์ให้นักข่าวนักหนังสือพิมพ์สามารถทำหน้าที่เป็นคุณต่อสังคมโดยยึดหลักจริยธรรมวิชาชีพได้มากขึ้นกว่าในอดีตจนเป็นที่ยอมรับจากสังคมในที่สุด
บทสรุป
ประวัติศาสตร์ของหนังสือพิมพ์ในไทยตั้งแต่มีสื่อสิ่งพิมพ์อุบัติขึ้น พิจารณาจากกรอบความคิดเกี่ยวกับสภาพทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม แบ่ง “ยุคสมัยของหนังสือพิมพ์” ออกเป็น 5 ยุคหลัก เริ่มจากยุคแรกเริ่มโดยศาสนจักร (ก่อน พ.ศ. 2349) หรือยุคของมิชชันนารี ก่อนสมัยรัชกาลที่ 4 หลังจากนั้นเป็นยุคราชสำนัก (พ.ศ.2347 – 2475) สมัยรัชกาลที่ 4 ที่กิจการการพิมพ์ได้เริ่มต้นขึ้นในไทยอย่างเป็นทางการ จนถึงรัชกาลที่ 7 ที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชเป็นระบอบประชาธิปไตย จนถึงยุคการเมือง (พ.ศ.2475 – 2535) นับแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง จนถึงเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองครั้งสุดท้าย (พฤษภาทมิฬ) เรื่อยมาจนถึงยุคอุตสาหกรรมหนังสือพิมพ์ (พ.ศ.2535 – 2540) นับจากสิ้นสุดเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง จนกระทั่งมีการปฏิรูปการเมือง ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 จนกระทั่งถึงยุคการปฏิรูปสื่อและสื่อทางเลือก (พ.ศ.2540 – ปัจจุบัน) เริ่มจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ที่มีการปฏิรูปสื่อตามมาตรา 39 – 40 จนกระทั่งปัจจุบันนี้ที่หนังสือพิมพ์กำลังถูกท้าทายจากสื่อใหม่อย่างอินเตอร์เน็ต
เอกสารอ้างอิง
- ขรรค์ชัย บุนปาน และสุจิตต์ วงษ์เทศ. (บรรณาธิการ). (2512). หนุ่มเหน้าสาวสวย. (ฉบับปฐมฤกษ์), พระนคร : โรงพิมพ์ผดุงศิลป์.
- ชัยอนันต์ สมุทวณิช. (2524). ชีวิตและงานของเทียนวรรณ และ ก.ศ.ร. กุหลาบ. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์บรรณกิจ.
- โชติ มณีน้อย. ใน ดิสทัต โรจนาลักษณ์ (บรรณาธิการ). (2537). โชติ ทัศนียะเวช อนุสรณ์และศัพท์บัญญัติวิชาการหนังสือพิมพ์ (หนังสืออนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ โชติ ทัศนียะเวช, 17 กรกฎาคม 2537). กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ลิเบอร์ตี้เพรส.
- ดรุณี หิรัญรักษ์. (2530). การหนังสือพิมพ์เบื้องต้น. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
- ดิสทัต โรจนาลักษณ์ (บรรณาธิการ). (2537). โชติ ทัศนียะเวชอนุสรณ์ และศัพท์บัญญัติวิชาการหนังสือพิมพ์ (หนังสืออนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ โชติ ทัศนียะเวช, 17 กรกฎาคม 2537). กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ลิเบอร์ตี้เพรส.
- นวลจันทร์ รัตนากร, ชุติมา สัจจานันท์ และ มารศรี ศิวรักษ์. (2524). ปกิณกะเรื่อง หนังสือในสมัยรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : รุ่งเรืองสาส์นการพิมพ์.
- นักข่าวแห่งประเทศไทย, สมาคม. หนังสือวันนักข่าว 5 มีนาคม ระหว่างปี พ.ศ. 2507 – พ.ศ. 2547.
- นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, สมาคม. หนังสือที่ระลึกประจำปีของสมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย.
- ประกาศ วัชราภรณ์. (2538). นักเขียน……นักหนังสือพิมพ์. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ดอกหญ้า.
- “--------------------------------“. (2543). “สุภาพบุรุษ” นักประพันธ์. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ดับเบิ้ลนายน์ พริ้นติ้ง.
- ประทีป เหมือนนิล. (2519). วรรณกรรมไทยปัจจุบัน. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์อักษรสัมพันธ์.
- มนันยา ธนะภูมิ. (2539). ก.ส.ร. กุหลาบ. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
- วัลลภ สวัสดิวัลลภ.(2527). หนังสือและการพิมพ์. ลพบุรี : วิทยาลัยครูเทพสตรี.
- วิชัย พยัคฆโส. (2542). “การพิมพ์ยุคโลกาภิวัฒน์” เอกสารประกอบการสัมมนาเรื่อง “การจัดเตรียมและวางแผนเพื่อการผลิตสื่อสิ่งพิมพ์”. ณ สำนักส่งเสริมและฝึกอบรม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
- สถิตย์ เสมานิล. (2539). วิสาสะ ว่าด้วยการหนังสือพิมพ์ไทย (เล่ม 2). (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ต้นอ้อ แกรมมี่.
- สมบูรณ์ วรพงษ์. (2538). บนเส้นทางหนังสือพิมพ์. (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ดอกหญ้า.
- สุภาพรรณ บุญสะอาด. (2517). ประวัติหนังสือพิมพ์ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ :สำนักพิมพ์บรรณกิจ.
- สุรสิทธิ์ วิทยารัฐ. (2542). ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับสื่อสิ่งพิมพ์. กรุงเทพฯ : ศูนย์หนังสือสวนสุนันทา.
- “---------------------------”. (2552). “ปฏิรูปหนังสือพิมพ์ไทย : พันธกิจร่วมนักวิชาชีพ – วิชาการ”. ใน 5 มีนาคม วันนักข่าว, สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย.
- “----------------------------”. (2543). ยุคสมัยหนังสือพิมพ์ไทย : จากเริ่มถึงปัจจุบัน., เอกสารประกอบการบรรยาย รายวิชา หลักวารสารศาสตร์ โปรแกรมวิชานิเทศศาสตร์ สถาบันราชภัฏสวนสุนันทา, (อัดสำเนา 40 หน้า).
- เสลา เรขะรุจิ. (2544). ๑ ศตวรรษหนังสือพิมพ์ไทย. (พิมพ์ครั้งแรก). กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ดอกหญ้า 2543.
- หนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์, สมาคม. (2544). ๖๐ ปี ส.น.ท., กรุงเทพฯ : ศูนย์การพิมพ์พลชัย