รายงาน “ทางรอดวิกฤติแรงงานไทย”
จัดทำโดย กลุ่ม 3 การสื่อสารมวลชนระดับต้น (กสต.) รุ่นที่ 1
1. นางสาวศศินภา วัฒนวรรณรัตน์ หนังสือพิมพ์มติชน
2. นางสาวอุทุมพร เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา หนังสือพิมพ์เอเอสทีสีผู้จัดการ
3. นายอดินันท์ เหมือนยัง หนังสือพิมพ์สยามกีฬา
4. นายพีรพัฒน์ ดิลกกัลยากุล สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
5. นาวสาววชิรญาณ์ เจริญทรัพย์ ทีเอ็นเอ็น
6. นางสาววันทนีย์ จรัสวงศ์ สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น
7. นายจักรพงษ์ พันธ์พรสม มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต
8. นางสาววรรัตน์ ชัยชนะ สถาบันพระปกเกล้า
9. นางสาวรัชดาพร บุญต่อ เครือเซ็นทรัล
10. นางสาวอนุธิดา สง่าศรี มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ
หลักสูตร การสื่อสารมวลชนระดับต้น (กสต. ) รุ่นที่ 1
สถาบันอิศรา มูลนิธิ พัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย
(ดาวโหลดเนื้อหารายงานได้ที่นี้)
//////////////////////////////////
คำนำ
นับตั้งแต่ปี 2551 ต่อเนื่องมายังปี 2552 ปัญหาสำคัญประการหนึ่งที่ประเทศไทยประสบอยู่ คือ ปัญหาวิกฤตแรงงาน อันเนื่องมาจากการปิดตัวของบริษัทและโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ สืบเนื่องมาจากสภาวะซบเซาของเศรษฐกิจโลก รวมทั้งปัญหาทางการเมืองในประเทศไทยเองอีกชั้นหนึ่ง ข่าวสารที่ปรากฏผ่านสื่อต่างๆ อย่างต่อเนื่อง คือ การปลดคนงาน, การลดชั่วโมงการทำงาน,การประท้วงเรียกค่าชดเชยของผู้ถูกเลิกจ้าง,การคาดการณ์สภาวะการว่างงานที่มีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้น
สาเหตุสำคัญ คือ การที่การส่งออกของไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากประเทศที่เป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทย เช่น สหรัฐอเมริกา, สหภาพยุโรป และ ญี่ปุ่น ซึ่งประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจชะลอการสั่งซื้อสินค้า ประเทศที่ผูกติดกับการส่งออกในอัตราสูงเช่นกรณีของไทยจึงได้รับผลกระทบรุนแรง เมื่อขายสินค้าไม่ได้โรงงานอุตสาหกรรมหรือบริษัทย่อมต้องลดกำลังการผลิตตามลงไปด้วย และนำมาสู่การปลดคนงานออกบางส่วนเพื่อให้ธุรกิจของตนเองยังเดินหน้าไปได้ เมื่อรวมกับการที่บริษัทแม่ของบริษัทที่ต่างชาติที่มาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย มีปัญหาทางการเงินต้องลดการผลิตหรือปิดตัวก็ยิ่งทำให้อัตราผู้ว่างงานมากยิ่งขึ้น ยังไม่นับรวมกับบัณฑิตใหม่ที่จะจบการศึกษามาสมทบอีก
ในภาพรวมผลกระทบไม่ได้ส่งผลเฉพาะแต่กลุ่มคนที่อยู่ในภาวะว่างงานเท่านั้น เพราะเมื่อตัวเลขดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น ย่อมส่งผลต่อกำลังซื้อของประชาชน และความเชื่อมั่นในการใช้จ่าย ทำให้ภาคเศรษฐกิจในประเทศ เช่น ภาคธุรกิจซบเซา ขายสินค้าไม่ได้ กลายเป็นปัญหาถมทับมากยิ่งขึ้น
รัฐบาลได้พยายามผลักดันมาตรการต่างๆ เพื่อมาบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้น เช่น มาตรการลดค่าครองชีพ หรือการแจกเช็กช่วยชาติ 2,000 บาท เพื่อให้เกิดการกระตุ้นการใช้จ่าย อันจะเป็นการกระตุ้นภาคเศรษฐกิจให้ฟื้นอีกครั้ง แต่ก็ยังถูกตั้งข้อสังเกตและข้อสงสัยว่ามาตรการเหล่านั้น เป็นการแก้ไขที่ถูกจุด หรือจะเพียงพอในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นหรือไม่ ขณะเดียวกันก็มีคำถามว่า ปัญหาการว่างงานจะลุกลามต่อไป หรือจะปรับเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น
ขณะเดียวกันบทบาทของสื่อสารมวลชนกับการรายงานข่าวด้านเศรษฐกิจ ได้ทวีความสำคัญมากขึ้นตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป การรายงานข่าวสารที่รวดเร็วและรอบด้าน ย่อมจะเป็นข้อมูลให้ประชาชนเตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดได้ดียิ่งขึ้น บุคลากรทางด้านสื่อจึงจำเป็นต้องมีความรู้ไม่เพียงแต่สายข่าวด้านใดด้านหนึ่ง แต่จำเป็นต้องมองเห็นภาพรวมของสังคม เพื่อติดตามข่าวได้อย่างครบถ้วนรอบด้านด้วย
กลุ่มผู้เข้าอบรมหลักสูตรการสื่อสารมวลชนระดับต้น (กสต.) กลุ่มที่ 3 จึงเลือกประเด็นดังกล่าวมาศึกษา ควบคู่กันไปทั้งสถานการณ์การว่างงานและบทบาทของสื่อสารมวลชนในการรานงานข่าว โดยได้รวบรวมข้อมูลจากเอกสาร, การสัมภาษณ์ ผู้เกี่ยวข้อง, นักวิชาการ รวมไปถึงการจัดสัมมนา โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญ คือ ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ และคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.หอการค้าไทย มาวิเคราะห์ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นและเสนอแนะทางออกในอนาคต โดยจัดทำเป็นเอกสารเพื่อรวบรวมข้อมูลทั้งหมดมาไว้ ณ ที่นี้