จริยธรรมการนำเสนอข่าว : สิทธิของผู้ตกเป็นข่าว
รายละเอียดการติดต่อสมาชิกกลุ่มที่ 2
1. นางสาวมณฑาทิพย์ แซ่ปู้ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
2. นางสาวบุษราคัม ศิลปะลาวัลย์ หนังสือพิมพ์ The Nation
3. นายไพรัช มิ่งขวัญ หนังสือพิมพ์แนวหน้า
4. นางสาวนันทภัค เมนัช หนังสือพิมพ์บ้านเมือง
5. นางสาวดารินทร์ หอวัฒนกุล สำนักข่าวทีนิวส์
6. นายประเสริฐ ช่วยแก้ว มหาวิทยาลัยบูรพา
7. นางสาววิภารัตน์ เพียราช สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา
8. นางพรมนต์ จันทร์ศรี การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
9. นางสาวชวาลา ภวภูตานนท์ ณ มหาสารคาม มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่
///////////////////////////////////////////////
บทนำ
สื่อมวลชนมีหน้าที่ในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ให้ความรู้ สร้างความบันเทิง เผยแพร่เหตุการณ์ต่าง ๆ ให้ประชาชนได้รับรู้ ภายใต้กรอบแห่งจรรยาบรรณและจริยธรรม ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนหรือสาธารณชนได้ประโยชน์สูงสุด จากข้อมูลข่าวสารที่สื่อได้เผยแพร่ออกมา ข้อกำหนดเรื่องจรรยาบรรณของสื่อมวลชน รวมไปถึงจริยธรรม และการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ซึ่งจำกัดขอบเขตไว้ที่สื่อ 3 ประเภท คือ หนังสือพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์ เพราะเป็นสื่อที่เข้าถึงการรับรู้ของสาธารณชนอย่างกว้าง มีอิทธิพลต่อการรับรู้ข่าวสารของประชาชน และเป็นที่ยอมรับกันว่าเป็นสื่อกระแสหลักในปัจจุบัน แม้จะมีสื่อสมัยใหม่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก เช่น สื่ออินเตอร์เน็ต วิทยุชุมชน โทรทัศน์ดาวเทียม เคเบิลทีวี เป็นต้น แต่ก็ยังไม่สามารถเข้าถึงการรับรู้ของประชาชนอย่างกว้างขวางเท่าสื่อกระแสหลัก
จรรยาบรรณของสื่อมวลชนมีเจตนารมณ์เพื่อควบคุมให้สื่อมวลชน ทำงานอย่างเที่ยงตรงต่อข้อเท็จจริง ซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ และยึดถือประโยชน์ของสาธารณชนเป็นใหญ่ ดังจะเห็นได้จากข้อกำหนดแห่งจรรยาบรรณของสื่อมวลชนประเภทต่างๆที่ตราไว้อย่างละเอียด ซึ่งหากสื่อมวลชนสามารถรักษาจริยธรรมของตนคือการปฏิบัติตามหลักแห่งจรรยาบรรณได้อย่างเต็มที่แล้ว ย่อมจะหวังได้ว่า สาธารณชนคือคนรับข้อมูลข่าวสารย่อมจะได้ประโยชน์อย่างสูงสุดจากการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน
และในขณะสังคมไทยในปัจจุบันเดินเข้าสู่ยุคแห่งข้อมูลข่าวสาร ทำให้มีสื่อเกิดขึ้นมากมาย และมีการแข่งขันกันสูง จนบางครั้ง การนำเสนอข่าว หรือข้อมูล อาจจะละเลยจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชน มีการละเมิดผู้ตกเป็นข่าวอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งข่าวที่สื่อมวลชนนำเสนอไปนั้นบางครั้งเป็นที่สงสัย ถกเถียง และกังขาว่า สมควรแล้วหรือไม่ ที่ข่าวสารนั้น ๆ ควรเผยแพร่ออกสู่สาธารณะ
จากหลักการและเหตุผลข้างต้น คณะผู้จัดการสัมมนากลุ่มที่ 2 “ หลักสูตรการสื่อสารมวลชนระดับต้น (กสต.)” รุ่นที่ 1 จึงได้เลือกหัวข้อในการสัมมนา เรื่อง จริยธรรมการนำเสนอข่าว : สิทธิของผู้ตกเป็นข่าว เพื่อศึกษาถึงจริยธรรมของสื่อมวลชน ในการนำเสนอข่าวโดยเฉพาะประเด็นเรื่อง สิทธิของผู้ตกเป็นข่าว และเพื่อหาแนวทางในการแก้ไข และข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ในการนำเสนอต่อสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เพื่อจะใช้เป็นข้อมูลที่จะนำไปสู่การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้นรวมไปถึงการปรับบทบาทการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนต่อไป
คณะผู้จัดทำ
กลุ่มที่ 2 “หลักสูตรการสื่อสารมวลชนระดับต้น (กสต.)” รุ่นที่ 1