การแปรรูป ปตท. เป็นบริษัทมหาชน : กลยุทธ์การใช้สื่อในการเผยแพร่ ข้อมูลข่าวสาร (ศึกษากรณี ปตท.และมูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค ตั้งแต่ 1-ม.ค.-31 ธ.ค. 2551)-นางเยาวลักษณ์ วีรุตธนะเศรษฐ

เรื่อง: การแปรรูป ปตท. เป็นบริษัทมหาชน : กลยุทธ์การใช้สื่อในการเผยแพร่
ข้อมูลข่าวสาร (ศึกษากรณี ปตท.และมูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค ตั้งแต่ 1
ม.ค.-31 ธ.ค. 2551)
ผู้ศึกษา:    นางเยาวลักษณ์   วีรุตธนะเศรษฐ
กรรมการที่ปรึกษา:    อาจารย์ปกป้อง   จันวิทย์
ปี:2552

บทคัดย่อ

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เหตุการณ์ที่สำคัญควบคู่กับสถานการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจในขณะนั้น คือ เรื่องที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคฟ้องศาลปกครองสูงสุดเพื่อให้ถอดถอนบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ออกจากตลาดหลักทรัพย์และให้กลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจดังเดิม โดยให้ยกเลิกพระราชกฤษฎีกา 2 ฉบับซึ่งเป็นสภาพของ ปตท. รวมทั้งกล่าวหาว่าผู้มีอำนาจในขณะนั้นคือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ปลัดกระทรวงพลังงาน กรมทรัพยากรธรณี และผู้ว่าการการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยขาดคุณสมบัติในการที่จะดำเนินการแปลงสภาพ ปตท.  จนกระทั่งศาลปกครองได้ยกฟ้องคดีนี้ไป แต่เรื่องระหว่าง ปตท. และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคก็ยังมีกระแสตอบโต้กันอยู่เป็นระยะ  

ทั้งนี้ในเวลาที่ผ่านมาการต่อสู้ระหว่างภาครัฐกับชุมชนมักจะเป็นเรื่องของโครงการของรัฐที่จะมีผลกระทบต่อปัญหาสภาพแวดล้อมและที่ทำกินตลอดจนสุขภาพอนามัยของชาวบ้าน เช่น โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติพม่าหรือโครงการท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย  โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งจะเป็นการต่อต้านในกลุ่มท้องถิ่นไม่ขยายกว้างขวางเป้นกลุ่มใหญ่เมื่อเทียบกับกรณีของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกับ ปตท.

จากการศึกษาพบว่า   มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคอาศัยช่องทางในการสื่อสาร โดยเฉพาะเวบไซต์เป็นส่วนใหญ่    เนื่องจากกระจายได้อย่างกว้างขวางโดยอาศัยเครือข่ายนักวิชาการและการเมืองที่อยู่ตรงข้ามกับรัฐบาลทักษิณฯ และกลุ่มรัฐบาลทักษิณร่วมด้วย โดยเสนอประเด็นว่า ปตท. เป็นแหล่งผลประโยชน์ของรัฐบาลทักษิณฯและพวก แต่ประเด็นทีน่าจะเรียกคะแนนนิยมได้มากที่สุดน่าจะเป็นการนำเสนอเรื่องปากท้องของชาวบ้าน  โดยเฉพาะปัญหาเรื่องราคาน้ำมันซึ่งสูงขึ้นอย่างมากเป็นประวัติการณ์อย่างไม่เคยเกิดมาก่อนและประชาชนเดือดร้อนกับเรื่องนี้อยู่แล้วมาเป็นประเด็น ทำให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่ที่ใช้น้ำมันโดยเฉพาะกลุ่มแท็กซี่ที่เดือดร้อนกับนโยบายรัฐบาลเรื่องของพลังงาน  ประกอบกับมีข่าวว่ารัฐบาลจะขึ้นราคาก๊าซแอลพีจี   ปัญหาการไม่มีเอ็นจีวี ซึ่งเป็นพลังงานทางเลือกให้เพียงพอแก่ความต้องการ  

หากศึกษาและวิเคราะห์จากการให้ข้อมูลข่าวสารของทั้งสองฝ่ายแล้ว จะเห็นว่าวิธีการที่กลุ่มมูลนิธิผู้บริโภคใช้ในการชี้นำสังคม จะเป็นประเด็นปัญหาที่เขามองว่าจะกระทบต่อคนกลุ่มใหญ่ เช่น เรื่องปากท้อง โดยเฉพาะในช่วงราคาน้ำมันสูงมาก ซึ่งสอดคล้องกับเหตุการณ์ทางการเมืองในขณะนั้น จึงทำให้สามารถจุดประเด็นขึ้นมาได้ง่ายประกอบกับวิธีการในการสื่อสารในประเด็นที่เข้าใจง่ายกับผู้บริโภค และการใช้กลยุทธ์การกระจายและตอกย้ำ

 

(สมารถดาวโหลดเอกสารต้นฉบับได้ที่นี้)