เรื่อง : ปรากฏการณ์สื่อสารมวลชน ยุคการเมืองแยกฝ่าย
ผู้ศึกษา : นางสาว เรวดี พงศ์ไชยยง
กรรมการที่ปรึกษา : รศ.มาลี บุญศิริพันธ์
ปี : 2552
บทคัดย่อ
ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมือง ที่เริ่มก่อตัวขึ้นช่วงปลายปี 2548 เมื่อมีการรวมตัวกันของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเพื่อขับไล่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีขณะนั้น กระทั่งเกิดการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549
เกิดปรากฏการณ์การแบ่งเป็นฝ่ายที่สนับสนุนระบอบทักษิณ กับฝ่ายที่ไม่เอาทักษิณ ซึ่งในระยะแรก มีการเรียกร้องจากกลุ่มพันธมิตรฯให้สื่อเลือกข้างเพื่อต่อต้านระบอบทักษิณด้วย แม้จะไม่มีการประกาศเลือกข้างอย่างเป็นทางการ แต่แนวทางการนำเสนอข่าวและบทความแสดงความคิดเห็นของสื่อส่วนใหญ่ มีผลในทางลบกับระบอบทักษิณ
ด้านหนึ่ง สนธิ ลิ้มทองกุล หนึ่งในแกนนำพันธมิตรฯเจ้าของหนังสือพิมพ์ผู้จัดการและทีวีดาว เทียม เอเอสทีวี ใช้สื่อเป็นเครื่องมือในการต่อสู้ทางการเมืองจนสามารถสร้างเครือข่ายได้อย่างกว้างขวาง
อีกด้านหนึ่ง พรรคพลังประชาชน ได้ใช้สื่อของรัฐ โดยเฉพาะสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 เป็นเครื่องมือ พร้อมด้วยเครือข่ายวิทยุชุมชนและหนังสือพิมพ์ประชาทรรศน์ในการตอบโต้
สภาพการณ์ใช้สื่อเป็นเครื่องมือในการต่อสู้ทางการเมืองของฝ่ายต่างๆ ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมถึงความเป็นกลางของสื่อมวลชน และเกิดข้อโต้แย้งเรื่องความเป็นสื่อแท้และสื่อเทียมกันอย่างกว้างขวาง
อิทธิพลของสื่อเทียมที่เกิดขึ้นเพื่อตอบโต้ฝ่ายตรงข้าม ทำให้คนบางกลุ่มที่รับข้อมูลด้านเดียว หลงเชื่อและตกเป็นเครื่องมือสนับสนุนของกลุ่มนั้นๆได้ง่าย
ขณะที่สื่อแท้ ต้องทำหน้าที่ด้วยความระมัดระวัง ไม่ว่าจะนำเสนออย่างไร จะถูกกลุ่มคนที่ต่างความคิด พุ่งเป้ากล่าวหาการทำหน้าที่โดยไม่ฟังเหตุผล เพราะต่างฝ่ายต่างเชื่อว่ากลุ่มของตนเองถูกและฝ่ายตรงข้ามผิด
องค์กรวิชาชีพสื่อควรเพิ่มบทบาทหน้าที่การตรวจสอบการทำหน้าที่ของสื่อต่างๆด้วยความเข้มงวดและใกล้ชิด เพื่อให้สื่อได้นำเสนอข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงด้วยความโปร่งใสและเป็นธรรม เพื่อประโยชน์แก่ประชาชนอย่างแท้จริง