พรบ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.๒๕๕๑ กับทิศทางการประกอบกิจการในอนาคต-นายโกศล สงเนียม

เรื่อง :พรบ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.๒๕๕๑ กับทิศทางการประกอบกิจการในอนาคต
ผู้ศึกษา :    นายโกศล  สงเนียม
กรรมการที่ปรึกษา :    นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี
ปี : ๒๕๕๒

บทคัดย่อ

จากผลการศึกษา เรื่อง “พรบ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. ๒๕๕๑ กับทิศทางการประกอบกิจการในอนาคต” พบว่า ตลอดระยะเวลากว่า ๕๐ กว่าปีที่พระราชบัญญัติวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ พ.ศ. ๒๔๙๘ มีผลบังคับใช้นั้น ไม่สามารถก้าวตามได้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี พฤติกรรมผู้บริโภคหรือผู้รับสื่อ และแนวคิดเรื่องการกระจายอำนาจไปสู่ภาคส่วนต่างๆ ในสังคม การแก้ไข พรบ.ฉบับนี้ จำนวน ๔ ครั้ง เป็นไปเพื่ออุดช่องโหว่ให้ทันกับพัฒนาการของสังคม แต่ทั้งนี้ไม่ได้เปลี่ยนแปลงหลักการกระจายการถือครองคลื่นความถี่ให้กับหน่วยงานใดๆ นอกจากหน่วยงานภาครัฐเพียงอย่างเดียว (state service)   
การผ่านร่างพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. ๒๕๕๑ โดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ถือเป็นการต่อรองระหว่างกลุ่มผลประโยชน์เดิมกับกลุ่มอำนาจใหม่ที่มาพร้อมกับนโยบายการกระจายอำนาจ (decentralize) กระแสการปฏิรูปสื่อ และทิศทางที่เปลี่ยนไปตามกระแสโลกาภิวัตน์ แม้กฎหมายฉบับนี้จะไม่ได้รับความยอมรับจากทุกภาคส่วนและเชื่อว่ามีการซ่อนเร้นผลประโยชน์ให้กับกิจการบางประเภท แต่ก็นับว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงหลักการสำคัญที่จะก่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติในด้านการลดทอนบทบาทของสื่อภาครัฐที่ทำหน้าที่ผูกขาดการถือครองคลื่นความถี่อยู่ฝ่ายเดียวมาเกือบ ๘๐ ปี

ปัจจัยสำคัญ ๒ ประการที่จะทำให้พระราชบัญญัติฉบับนี้มีผลเป็นรูปธรรมได้จริงนั้นขึ้นอยู่กับการได้มาซึ่งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และการจัดทำแผนแม่บทการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติการขอใบอนุญาต การกำกับดูแล และการส่งเสริมให้ผู้ประกอบกิจการแต่ละประเภทผลิตสื่อวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ให้เป็นไปตามแนวทางที่กำหนด เนื่องจาก พรบ.ฉบับนี้ให้อำนาจแก่คณะกรรมการฯ ในการกำหนดหลักเกณฑ์ต่างๆ อย่างกว้างขวางโดยมิได้กำหนดกรอบการใช้ดุลยพินิจ หรือวัตถุประสงค์ไว้อย่างชัดเจน แต่ทั้งนี้การจะสรรหาบุคคลที่คุณสมบัติที่มีความรู้ความเข้าใจและมีความสามารถทั้งในด้านกิจการสื่อสารมวลชนและกิจการโทรคมนาคมไปพร้อมกันนั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากยิ่ง ขณะเดียวกันการรวม ๒ ประเภทกิจการที่มีผลประโยชน์จากการลงทุนหลายแสนล้านบาทให้คณะกรรมการชุดเดียวกำหนดนโยบายและกำกับดูแลการประกอบกิจการย่อมจะก่อให้เกิดข้อห่วงใยในเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนด้วยเช่นเดียวกัน

ทิศทางการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ในระยะ ๑ – ๓ ปีนั้น จะยังไม่สามารถเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรม เนื่องจากบทเฉพาะกาลให้อำนาจคณะกรรมการ กทช. ทำหน้าที่ออกใบอนุญาตในกิจการประเภทไม่ใช้คลื่นความถี่ และกิจการบริการชุมชน ซึ่งไม่ส่งผลกระทบต่อหน่วยงานภาครัฐที่ถือครองใบอนุญาตและคลื่นความถี่ที่มีอยู่เดิม ขณะที่ระยะเวลาในการสรรหาและคุณสมบัติของคณะกรรมการ กสทช. จะเป็นตัวบ่งชี้ถึงความสำเร็จหรือล้มเหลวของบังคับใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้

(ดาวโหลดไฟล์ต้นฉบับได้ที่นี้)