เรื่อง : ปัญหาอุปสรรคในการใช้ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สเพื่อการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารผ่านเว็บไซต์
ผู้ศึกษา : นางสาวฐานิญา ภักดีมงคล
กรรมการที่ปรึกษา : อาจารย์ปกป้อง จันวิทย์
ปี : 2552
บทคัดย่อ
การศึกษาปัญหาอุปสรรคในการใช้ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สเพื่อการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารผ่านเว็บไซต์ มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการทราบถึงปัญหาและอุปสรรคในการนำมาวิเคราะห์หาแนวทางแก้ไข เพื่อให้การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารผ่านเว็บไซต์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุด โดยนำมาศึกษาวิจัยเชิงประมาณที่มีกลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้น 107 คน ที่ประกอบด้วยกลุ่มผู้ใช้ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส ที่มีหน้าที่หลักในการอัพเดตข้อมูล รวมถึงการปรับแต่งเว็บไซต์ตามความสามารถของโอเพนซอร์สนั้นๆ ที่มีให้ และกลุ่มนักพัฒนาที่สามารถนำโอเพนซอร์สนั้นๆ มาพัฒนาต่อยอดให้ตรงตามความต้องการ ซึ่งเมื่อได้ผลการสำรวจแล้ว ผู้ศึกษาได้นำวิเคราะห์ร่วมกับการศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพ ที่ได้ข้อมูลมาจากประสบการณ์ของผู้ที่เลือกใช้และไม่เลือกใช้ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สในการเผยแพร่ข้อมูลผ่านเว็บไซต์ รวมถึงข้อมูลจากประสบการณ์ของผู้ผลิตหรือผู้ให้บริการซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส ประกอบกับข้อมูลกรณีศึกษาที่ได้จากความสำเร็จขององค์กรที่นำโอเพนซอร์สไปใช้ นอกจากนี้ผู้ศึกษายังได้ทำการศึกษาข้อมูลในอินเตอร์เน็ต เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการอ้างอิงถึงความนิยมในการใช้ซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สตามข้อมูลที่ได้จากการศึกษาวิจัยเชิงปริมาณ โดยทำการศึกษาจากอดีตถึงปัจจุบัน เพื่อนำมาวิเคราะห์หาแนวทางการพัฒนาโอเพ่นซอร์สให้เป็นที่นิยมในกลุ่มผู้ใช้ต่อไป
และจากวิธีการศึกษาที่กล่าวมานั้นพบว่าปัญหาและอุปสรรคสำคัญ ของการใช้โอเพนซอร์สในการเผยแพร่ข้อมูลผ่านเว็บไซต์ อยู่ที่การขาดผู้ให้คำปรึกษา หรือ บริษัทที่ให้บริการดูแลรักษา และขาดแหล่งข้อมูลที่ใช้ในการค้นคว้า/ศึกษา ซึ่งเมื่อผู้ใช้หรือนักพัฒนาเองขาดการศึกษาข้อมูลต่างๆ อย่างเพียงพอ ก็ทำให้เกิดปัญหาความสามารถระบบไม่สอดคล้องกับความต้องการ และผู้ใช้ขาดความมั่นใจในการนำมาใช้ ส่วนปัญหาที่ว่าโอเพนซอร์สใช้งานยากนั้น เป็นปัญหาที่ขึ้นอยู่กับระดับของผู้ใช้ ที่ทำให้ปัญหาที่พบมีความแตกต่างกันออกไป บางปัญหาจะไม่เกิดขึ้นหากผู้ใช้ได้ทำการศึกษาอย่างเพียงพอ และบางปัญหาสามารถแก้ไขได้โดยผู้ใช้ระดับนักพัฒนา แต่ถึงแม้ว่าการศึกษานี้ยังพบปัญหาและอุปสรรคมากมาย แต่กับตัวเลขของผู้ใช้งานโอเพนซอร์สเพื่อการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารผ่านเว็บไซต์พบว่า Joomla เป็น CMS ที่ได้รับความนิยมสูงสุด และมีตัวเลขผู้นำไปใช้ในการสร้างเว็บไซต์ทั่วโลกกว่า 37 ล้านเว็บเพจ ซึ่งตัวเลขนี้ยังไม่นับผู้ที่นำไปใช้แล้วไม่ได้ระบุว่าเป็น Joomla และผู้ที่นำ Joomla มาใช้เป็นเว็บอินทราเน็ตหรือระบบภายในองค์กรรวมถึงผู้ใช้ CMS อื่นๆ อีกที่มีผู้ใช้อยู่ในจำนวนมากเช่นกัน
อย่างไรก็ตามในประเทศไทยภาครัฐเองควรเพิ่มการประชาสัมพันธ์ให้ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส CMS ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น โดยมุ่งเน้นการประชาสัมพันธ์ให้ Community กลุ่มผู้พัฒนาโอเพนซอร์ส และผู้ประกอบการให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น เพื่อให้ผู้ใช้ทราบว่าในประเทศมีผู้ให้บริการรายใดบ้าง และแต่ละรายมีความเชี่ยวชาญทางด้านใด ซึ่งในระดับของผู้ใช้เองก็ควรเข้าใจวงจรการพัฒนาโอเพนซอร์ส ซึ่งจะทำให้ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สอยู่ได้ และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับในต่างประเทศที่นักพัฒนาและผู้ใช้มีความเข้าใจเป็นอย่างดี นอกจากนี้การสร้างแหล่งข้อมูลด้านโอเพนซอร์สที่มีความน่าเชื่อถือ ซึ่งนอกจากชุมชนจะเป็นแหล่งข้อมูลและเป็นผู้ให้ความรู้กับผู้ใช้แล้ว ภาครัฐควรมีส่วนช่วยสนับสนุนให้เกิดแหล่งข้อมูลต่างๆ มากขึ้นไม่ว่าจะเป็นงานวิจัย เอกสารวิชาการ หนังสือ หรือ บทความต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้งานโอเพนซอร์สทุกระดับ โดยมุ่งเน้นข้อมูลเชิงลึกมากขึ้น เพื่อให้กลุ่มผู้ใช้มีแหล่งข้อมูลเพียงพอ อันจะนำไปสู่ความเชื่อมั่นในการใช้งานโอเพนซอร์สที่มากขึ้น
สิ่งสำคัญที่สุดจากการศึกษาข้อมูลจากผู้ใช้และนักพัฒนา รวมถึงกรณีศึกษาจากองค์กรที่ประสบความสำเร็จในการนำโอเพนซอร์สมาใช้พบว่า ผู้ใช้งานโอเพนซอร์ส ควรหมั่นติดตามข่าวสาร ค้นหาข้อมูล และอัพเดตตัวเองเป็นประจำ เพราะเทคโนโลยีมีการพัฒนาอยู่เรื่อยๆ การให้ความสำคัญกับการศึกษาเรียนรู้การใช้งาน CMS นั้นๆ อย่างจริงจัง จะช่วยให้สามารถเลือกใช้ CMS ได้อย่างเหมาะสมกับงาน และความต้องการ
สุดท้ายเพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาโอเพนซอร์สที่ใช้ในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารผ่านเว็บไซต์ หรือ Open Source CMS นั้น ควรยึดแนวทางการพัฒนาที่ง่ายต่อการใช้งาน การใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย มีความสวยงาม และสามารถรองรับความต้องการขั้นสูง เพื่อความนิยมของผู้ใช้ที่เพิ่มมากขึ้น