เรื่อง : บทบาท อำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินในมุมมองสื่อมวลชน
ผู้ศึกษา : นางสาวดารารัตน์ โพธิ์อุไร
กรรมการที่ปรึกษา : นางสาวดวงกมล โชตะนา
ปี : 2552
บทคัดย่อ
สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เดิมชื่อ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาเป็นองค์กรอิสระที่จัดตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกตามมาตรา 196-198 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ต่อมาเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2550 ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 แทนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ยังคงองค์กรผู้ตรวจการแผ่นดินไว้เพื่อให้เป็นกลไกการคุ้มครองสิทธิของประชาชน และตรวจสอบการใช้อาจรัฐ ซึ่งได้บัญญัติบทบาท อำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินไว้ตามมาตรา 242 - 245
เนื่องจากความรู้เกี่ยวกับผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นเรื่องใหม่สำหรับสังคมไทย การสื่อความหมายการเผยแพร่ความรู้สู่สาธารณชนเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกัน จำเป็นต้องอาศัยช่องทางของการกระจายข่าวสารในทุกด้านโดยเฉพาะสื่อมวลชน การศึกษาในหัวข้อเรื่องบทบาท อำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินในมุมมองสื่อมวลชน จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาท อำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินจากสื่อมวลชน แนวทางในการทำความเข้าใจอย่างเหมาะสม รวมทั้งเปรียบเทียบวิธีการรับเรื่องร้องเรียนและการนำเสนอเรื่องร้องเรียนระหว่างผู้ตรวจการแผ่นดินและสื่อมวลชน
การศึกษาผลงานในครั้งนี้ ใช้วิธีการศึกษาเชิงคุณภาพโดยเก็บรวมรวมข้อมูลจากการวิเคราะห์เอกสาร และการสัมภาษณ์แบบเจาะลึกจากผู้ที่ปฏิบัติงานด้านสื่อมวลชนสายต่าง ๆ จำนวน 9 คน ทั้งจากสื่อสิ่งพิมพ์ นิตยสาร สื่อวิทยุ สื่อโทรทัศน์ และสื่อออนไลน์ ผลการศึกษาครั้งนี้ สรุปว่า สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินต้องเน้นและให้ความสำคัญต่อการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร รวมทั้งทำการประชาสัมพันธ์เชิงรุกอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สื่อมวลชนนำเสนอข้อมูลข่าวสารสู่สาธารณชนอย่างถูกต้องและชัดเจน สร้างภาพลักษณ์ขององค์กรให้เป็นที่จดจำได้อย่างแม่นยำลดปัญหาความสับสนในการเรียกชื่อขององค์กรระหว่างสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)
สำหรับประโยชน์ที่จะได้รับนอกเหนือจากการปรับกลยุทธ์ด้านการประชาสัมพันธ์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการประชาสัมพันธ์ของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินแล้วนั้น ยังได้รับประโยชน์จากการได้รับความร่วมมือจากสื่อมวลชนในการส่งเสริมและเผยแพร่ให้ความรู้แก่ประชาชนให้เกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินและสิทธิ์ในการร้องเรียนอย่างถูกต้องด้วย