เรื่อง: พัฒนาการและปัญหาของหนังสือพิมพ์ออนไลน์ : ศึกษากรณีหนังสือพิมพ์สยามรัฐและเอเอสทีวีผู้จัดการ
ผู้ศึกษา : นายธวัชชัย ศรีพูล
กรรมการที่ปรึกษา : นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี
ปี : 2552
บทคัดย่อ
ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงต่อวงการสื่อสารมวลชนอย่างมหาศาล รวมทั้งแนวปฏิบัติทางวิชาชีพ บทบาทและรูปแบบที่ได้รับผลกระทบจากวิวัฒนาการของเทคโนโลยีการสื่อสารแบบไร้สาย (Digital Technology) ซึ่งทราบกันดีว่ามีศักยภาพของการสื่อสารอย่างไร้ขีดจำกัด และยังสามารถเชื่อมโยงแบบบูรณาการสอดประสานลักษณะการสื่อสารทุกรูปแบบได้อย่างอัศจรรย์ อาจด้วยลักษณะเฉพาะอันหลากหลายจนแทบหาจุดเด่นชัดในการกำหนดชื่อสื่อชนิดใหม่นี้ให้ตรงตามคุณสมบัติล้ำเลิศที่มีอยู่มากมาย คำว่า “สื่อใหม่” (New media) จึงกลายเป็นศัพท์ใหม่ที่ค่อนข้างมีความหมายกว้างขวาง แต่ก็ยังไม่สามารถแสดงถึงคุณสมบัติทางรูปธรรมของสื่อชนิดใหม่นี้ได้ครอบคลุมนัก
อย่างไรก็ดี “สื่อออนไลน์” ได้ถูกกำหนดให้หมายถึง การสื่อสารทางอิเล็กทรอนิคส์ที่สามารถส่งผ่านข้อมูลข่าวสารทางโครงข่ายอินเทอร์เน็ต หรือการสื่อสารออนไลน์ซึ่งเป็นสื่อที่ต้องอาศัยเทคโนโลยีสมัยใหม่ในการนำเสนอหรือส่งผ่านสารไปยังผู้รับโดยต้องมีอุปกรณ์คอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือสื่อสาร มีศักยภาพในการส่งผ่าน ปรับเปลี่ยนข้อมูลต่างๆ ให้อยู่ในสภาพที่ไปถึงผู้รับสารได้อย่างถูกต้องรวดเร็วจึงเป็นสื่อที่เอื้อประโยชน์ต่อการขยายขอบเขตการสื่อสารความรู้ เข้าถึงแหล่งข้อมูล และมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ส่งและผู้รับสารได้ตลอดเวลา
จะเห็นได้ว่า เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตได้เอื้อให้การสื่อสารผ่านสื่ออิเล็กทรอนิคส์สารขยายขอบเขตกว้างขวางขึ้นทุกระดับ ตั้งแต่การสื่อสารระหว่างบุคคลจนถึงการสื่อสารมวลชนในหลายรูปแบบ หลายมิติ หลากเป้าหมาย หนังสือพิมพ์หลายฉบับได้พัฒนาเว็บไซต์ (Website) หนังสือพิมพ์บนอินเตอร์เน็ตเพื่อจับกลุ่มผู้อ่านยุคใหม่ขณะที่ยังคงรักษากลุ่มผู้อ่านเดิมไว้ให้ได้ สื่อออนไลน์จึงจัดเป็นช่องทางการสื่อสารที่ตอบสนองความต้องการเนื้อหาข่าวสารและสนองตอบศักยภาพการรับสารของผู้รับได้อย่างน่าพิศวง และเป็นสามารถโต้ตอบกับผู้รับสารได้ทันที (Interactive Media) แตกต่างจากสื่อประเภทอื่นๆ แต่คุณสมบัติดังกล่าวกลายเป็นดาบสองคมที่กำลังเป็นประเด็นที่ยากจะควบคุมได้ทั้งผู้ส่งและผู้รับสาร ฉะนั้น ผู้รับสารต้องเพิ่มความระมัดระวังการรับส่งสารทางอินเตอร์เน็ต โดยต้องตระหนักรู้ถึงผลดีและผลร้ายที่แฝงมากับเนื้อหาที่ไม่พึงปรารถนาด้วย
สื่ออิเล็กทรอนิคส์มีข้อจำกัดในส่วนที่ต้องอาศัยอุปกรณ์และเครื่องคอมพิวเตอร์ในการรับสาร ภาวะทางเศรษฐกิจของผู้บริโภค และความพร้อมของสาธารณูปโภคจึงเป็นเงื่อนไขสำคัญของการสื่อสารผ่านระบบอินเตอร์เน็ต จนกล่าวกันว่าด้วยพลังของเทคโนโลยีสมัยใหม่ทำให้พัฒนาการการสื่อสารด้วยสื่อต่างๆ เปลี่ยนแปลงไปมาก จนถึงจุดที่สื่อทุกสื่อสามารถหลอมรวมเป็นสื่อทรงอานุภาพในการเสนอเนื้อหาภายในสื่อชนิดเดียวกัน (Media Convergence) สื่ออิเล็กทรอนิคส์กำลังเข้ามามีบทบาทต่อรูปแบบการสื่อสารทุกระดับรวมทั้งงานสื่อสารมวลชนมากขึ้นทุกที