การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนในการเสนอข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์ความขัดแย้งทาง การเมือง : ศึกษากรณีข่าวการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อ ประชาธิปไตย เดือนพฤษภาคม ถึงธันวาคม 2551-นางธัชมน ศรีแก่นจันทร์

เรื่อง : การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนในการเสนอข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง  : ศึกษากรณีข่าวการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย  เดือนพฤษภาคม ถึงธันวาคม 2551
ผู้ศึกษา :  นางธัชมน ศรีแก่นจันทร์
กรรมการที่ปรึกษา :   นายเรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์
ปี :                   2552

บทคัดย่อ

การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเนื้อหาที่ปรากฏในข่าวหนังสือพิมพ์โดยเปรียบเทียบระหว่างการนำเสนอข้อเท็จจริงกับความคิดเห็น เพื่อวิเคราะห์การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนในการเสนอความจริงและสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับประชาชนผู้รับสารในสถานการณ์ที่ประชาชนมีความแตกต่างทางความคิด

วิธีการศึกษาเป็นการศึกษาจากเอกสารเกี่ยวกับทฤษฎีและแนวคิดการให้คุณค่าของข่าว ความเป็นกลางของสื่อมวลชนและการทำหน้าที่ของสื่อ  การวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis) จากข่าวที่ปรากฏในหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ เพื่อเปรียบเทียบระหว่างการนำเสนอข้อเท็จจริงที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์กับการนำเสนอความคิดเห็นของแหล่งข่าว โดยศึกษาเนื้อหาของหนังสือพิมพ์รายวัน 3 ฉบับ ได้แก่ มติชน ไทยโพสต์ และไทยรัฐ ประกอบกับข้อมูลจากการสัมภาษณ์ผู้ประกอบวิชาชีพและนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน

ผลที่ได้รับจากการที่ได้ศึกษา
1.  หนังสือพิมพ์เป็นสื่อมวลชนที่มีบทบาทหน้าที่ทางด้านหลักในการสอดส่องดูแลความเป็นไปและการตีความหมายปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม จากการศึกษาเนื้อหาของหนังสือพิมพ์รายวัน 3 ฉบับ ประกอบด้วย มติชน ไทยโพสต์ และไทยรัฐ พบว่าหนังสือพิมพ์ทั้ง 3 เน้นหนักการทำหน้าที่เหล่านี้และทำให้พบข้อเท็จจริงที่น่าสนใจว่าในปรากฏการณ์เดียวกันหนังสือพิมพ์ทั้ง 3 ฉบับ ตีความหมายไปในทิศทางที่แตกต่างกันทำให้ประชาชนที่อยู่ห่างไกลซึ่งไม่ได้มีโอกาสสัมผัสกับเหตุการณ์โดยตรง  ยากที่จะสรุปได้ว่าข้อเท็จจริงของเหตุการณ์นั้นเป็นอย่างไร
2. สัดส่วนของเนื้อหาระหว่างข้อเท็จจริงกับความคิดเห็นที่ปรากฏในข่าวหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ทั้ง 3 ฉบับ มีสัดส่วนที่ใกล้เคียงกันระหว่างข้อเท็จจริงจากการสังเกต และการสัมภาษณ์ แต่เมื่อเข้าไปดูสัดส่วนเฉพาะข้อมูลจากการสัมภาษณ์พบว่าหนังสือพิมพ์บางฉบับให้น้ำหนักกับการสัมภาษณ์ข้อคิดเห็นมากกว่าข้อเท็จจริง นอกจากนี้เมื่อไปวิเคราะห์เนื้อหาเชิงคุณภาพพบว่าเมื่อผู้สัมภาษณ์ได้รับข้อมูลที่อ้างว่าเป็นข้อเท็จจริงจากแหล่งข่าวแล้วมิได้มีการตรวจสอบเพื่อยืนยันความถูกต้องของข้อเท็จจริงนั้นอีกครั้งหนึ่ง

ข้อเสนอแนะจากข้อสรุปดังกล่าว  ทำให้ผู้ศึกษามีข้อเสนอแนะต่อการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนดังต่อไปนี้
1. สื่อมวลชนควรพยายามเข้าถึงข้อเท็จจริงที่แท้จริงด้วยการรายงานข่าวจากข้อมูลที่มาจากแหล่งข้อมูลหลายแหล่งเพื่อตรวจสอบซึ่งกันและกัน
2. การรายงานข่าวควรรายงานตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏโดยอาศัยข้อมูลสารสนเทศหรือข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์แทนการรายงานตามความรู้สึกของแหล่งข่าวและผู้รายงานข่าว
3. ผู้อยู่ในวิชาชีพสื่อมวลชนควรร่วมกันสร้างกฎเกณฑ์ กติกา ระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับการรายงานข่าวที่เที่ยงตรงเป็นธรรม และยึดถือปฏิบัติจนเป็นที่ยอมรับและเป็นวัฒนธรรมองค์กร เพื่อสร้างความเข้มแข็งของกลุ่มผู้ปฏิบัติงานฝ่ายวิชาชีพ
4. ควรจัดทำแผนปฏิบัติการ แนวทางการดำเนินงานเกี่ยวกับการรายงานข่าวการชุมนุมทางการเมืองหรือการรายงานข่าวในภาวะวิกฤติ

(ดาวโหลดไฟล์ต้นฉบับได้ที่นี้)