ปัจจัยที่มีผลต่อการคัดเลือกและนำเสนอข่าวเกี่ยวกับคณะกรรมการการเลือก ตั้ง(กกต.)ของสื่อมวลชน-นางสาวปิ่นทอง อินทรศรี

เรื่อง  :ปัจจัยที่มีผลต่อการคัดเลือกและนำเสนอข่าวเกี่ยวกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ของสื่อมวลชน
ผู้ศึกษา  :     นางสาวปิ่นทอง อินทรศรี
กรรมการที่ปรึกษา  :     อาจารย์บรรยงค์  สุวรรณผ่อง
ปี  : 2552

บทคัดย่อ

คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในฐานะองค์กรที่รับผิดชอบในการจัดการเลือกตั้งทุกระดับและการสร้างความรู้ ความเข้าใจแก่ประชาชนเกี่ยวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและเตรียมความพร้อมให้กับเยาวชนและประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ตระหนักถึงความสำคัญและบทบาทหน้าที่ของตนในทางการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และกระตุ้นให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองและไปใช้สิทธิเลือกตั้งในทุกระดับทั้งการเลือกตั้งระดับชาติและการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นอย่างมีคุณภาพให้เกิดกับประชาชนได้นั้น  สื่อมวลชนคือช่องทางสำคัญในการนำข่าวสารไปสู่ประชาชน ดังนั้น สำนักประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งจึงได้จัดให้มีการแถลงข่าวของผู้บริหารเป็นประจำทุกครั้งภายหลังที่มีการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง และการจัดทำเอกสารข่าวแจก (Press Release) เผยแพร่ผ่านสื่อมวลชนสาขาต่างๆและเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ www.ect.go.th ของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง และเพื่ออำนวยความสะดวกแก่สื่อมวลชนทุกสาขาในการมารายงานข่าวที่เกี่ยวกับคณะกรรมการการเลือกตั้งได้จัดให้มีห้องสื่อมวลชนประจำสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งซึ่งในแต่ละวันมีสื่อมวลชนเข้ามารายงานข่าวจำนวนไม่น้อยกว่า 10 คน แต่เมื่อดูสถิติการลงข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์หรือการออกข่าวทางสถานีโทรทัศน์ของสื่อมวลชนพบว่าข่าวส่วนใหญ่เป็นข่าวตามกระแสความสนใจ ข่าวความคิดเห็น ข่าวที่เกี่ยวข้องกับนักการเมือง เนื้อหาข่าวมุ่งเน้นที่มีสีสันมากกว่าข่าวที่มีเนื้อหาสาระเกี่ยวกับการสร้างความรู้ความเข้าใจให้เกิดกับประชาชน และเอกสารข่าวประชาสัมพันธ์ หรือ ข่าวแจกขององค์กรก็ได้รับการเผยแพร่ในปริมาณน้อยทั้งๆที่มีการส่งข่าวอย่างต่อเนื่อง  

ดังนั้น ผู้ศึกษาจึงได้ศึกษาถึงปัจจัยที่มีผลต่อความสนใจของสื่อมวลชนในการคัดเลือกและนำเสนอข่าวเกี่ยวกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)ของสื่อมวลชน โดยกำหนดวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงปัจจัยที่มีผลต่อความสนใจของสื่อมวลชนในการคัดเลือกและนำเสนอข่าวที่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง      ( กกต.) ในช่วงที่มีการจัดการเลือกตั้ง และในช่วงที่ไม่มีการจัดการเลือกตั้ง  

การศึกษาในครั้งนี้เป็นการศึกษาในเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) โดยการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก  (In-Depth Interview) ผู้อำนวยการสำนักประชาสัมพันธ์และผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์และผลิตข่าว สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ที่มีหน้าที่โดยตรงในการกำหนดประเด็นและเนื้อหาข่าวเพื่อเผยแพร่และจัดทำเอกสารข่าวประชาสัมพันธ์ (Press Release) และผู้สื่อข่าวประจำ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)  ประเภทสื่อหนังสือพิมพ์  รวมทั้งสื่อมวลชนระดับหัวหน้าข่าวหน้า 1  และบรรณาธิการข่าว  ประเภทสื่อหนังสือพิมพ์ ควบคู่กับการศึกษาเอกสารข่าวแจกของคณะกรรมการการเลือกตั้ง และ ข่าวที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านสื่อหนังสือพิมพ์ตั้งแต่เดือนมกราคม –มีนาคม 2552    
ผลที่ได้รับจากการศึกษา  มีรายละเอียดดังนี้                                                                              
1.ประเด็นและเนื้อหาข่าวในการจัดทำเอกสารข่าวประชาสัมพันธ์ของสำนักประชาสัมพันธ์  สำนักงานคณะกรรมการเลือกตั้ง พบว่าเนื้อหาในการเขียนข่าวแจก   มี   3 ประเภท คือ   
1.1. ข่าวเผยแพร่เพื่อให้ประชาชนเห็นบทบาทหน้าที่และผลงานของกกต. เช่น ผลการประชุมของกกต. มติของ กกต.เช่น การให้ใบเหลือง-ใบแดง การประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ว. ,ส.ส.และการเลือกตั้งท้องถิ่น รวมทั้งข่าวผลงานด้านต่างๆของกกต.                     
1. 2. ข่าวความรู้สาระที่ประชาชนควรทราบ เช่น ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายเลือกตั้ง วิธีการปฏิบัติของ  ผู้สมัคร ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง                                                         
1.3. ข่าวแก้ความเข้าใจผิด  เกี่ยวกับข่าวหรือบทความทางสื่อมวลชนที่มีผลกระทบเชิงลบต่อองค์กร

2.ประเด็นที่สื่อมวลชนประจำ กกต. ให้ความสนใจและรายงานข่าว   คือ
1.1 เนื้อหาที่มีผลกระทบทางการเมืองของพรรคการเมือง และ นักการเมืองและประชาชน
1.2 เนื้อหาเป็นประเด็นที่อยู่ในสถานการณ์ หรืออยู่ในกระแสข่าวในช่วงเวลานั้น
1.3 เนื้อหาเกี่ยวกับการดำเนินงานหรือการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง
1.4  เนื้อหาเกี่ยวกับผลการเลือกตั้ง และสถิติที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง
1.5 เนื้อหาเกี่ยวกับการประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง การร้องคัดค้านการเลือกตั้งและการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง(การแจกใบเหลือง-ใบแดง)
1.6เนื้อหาเกี่ยวกับปมประเด็นที่มีข้อเคลือบแคลงสงสัย
1.7.เนื้อหาเกี่ยวกับความขัดแย้งภายในองค์กร

3 .ปัจจัยที่มีผลการคัดเลือกข่าวและนำเสนอข่าวเกี่ยวกับคณะกรรมการการเลือกตั้งของสื่อมวลชน ประกอบด้วย
3.1 ปัจจัยเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองและผลกระทบทางการเมืองและผลกระทบต่อประชาชน
3.2 ปัจจัยเกี่ยวกับแหล่งข่าว ซึ่งมีหน้าที่ความรับผิดชอบหรือมีความเกี่ยวข้องโดยตรง
3.3    ปัจจัยเกี่ยวกับวันเวลาและความสดใหม่ของเรื่องราวที่เกิดขึ้น
3.4 ปัจจัยเกี่ยวกับอารมณ์ในการถ่ายทอดหรือการให้สัมภาษณ์                                             
3.5 ปัจจัยในเชิงคุณค่าข่าว และองค์ประกอบข่าว เช่น มาจากความก้าวหน้า ความเคลือบแคลงสงสัยหรือมีเงื่อนงำ และความขัดแย้ง

นอกจากนี้ผู้ศึกษายังได้นำมุมมองและทัศนะของรองบรรณาธิการอำนวยการหนังสือพิมพ์มติชนที่มีต่อเนื้อหาข่าวเกี่ยวกับคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ปรากฏตามสื่อต่างๆมาประมวลไว้เพื่อจะเป็นประโยชน์ทั้งในส่วนของสื่อมวลชนและสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง  รวมทั้งผู้ศึกษาได้ให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการจัดทำข่าวประชาสัมพันธ์ของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งและการคัดเลือกและนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนไว้ในท้ายเล่มด้วย

(ดาวโหลดไฟล์ต้นฉบับได้ที่นี้)