นักข่าวท้องถิ่น : กับมาตรฐานความเป็นวิชาชีพ- นายปิยะ วงษ์ไพศาล

เรื่อง : นักข่าวท้องถิ่น : กับมาตรฐานความเป็นวิชาชีพ
ผู้ศึกษา :    นายปิยะ วงษ์ไพศาล
กรรมการที่ปรึกษา :    นายเรืองชัย  ทรัพย์นิรันดร์
ปี : ๒๕๕๒

บทคัดย่อ

ปัจจุบันไม่เพียงสื่อมวลชนกระแสหลัก และคนทำสื่อมวลชนในส่วนกลางเท่านั้น ที่ถูกเรียกร้องให้ปฏิรูปตัวเองให้เป็นสื่อที่ดีมีคุณภาพ นำเสนอเนื้อหาสาระที่สร้างสรรค์ สื่อมวลชนท้องถิ่น ก็ถูกเรียกร้องให้ปฏิรูปตัวเองเช่นกัน

สื่อมวลชนท้องถิ่นทั้งหนังสือพิมพ์  เคเบิลทีวี และวิทยุชุมชน มีบทบาทในการนำเสนอข่าวสารต่อสังคมท้องถิ่นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะปัจจุบัน เหตุการณ์ความขัดแย้ง เลือกข้าง และกลายเป็นความรุนแรงในที่สุด ได้ระบาดไปต่างจังหวัดมิได้จำกัดวงอยู่เพียงกรุงเทพ ฯ สื่อมวลชนท้องถิ่นกระโดดเข้าไปขยายวงความขัดแย้งให้เกิดขึ้นอย่างน่าวิตกต่อสังคมปัจจุบัน

ข่าวที่นำเสนอเบื้องต้นจะมาจากนักข่าว ปฏิเสธไม่ได้ว่าทิศทางข่าวนอกจากเป็นไปตามนโยบายของกองบรรณาธิการแล้ว ตัวนักข่าวเองก็คือผู้กลั่นกรองเบื้องต้น ในการรวบรวมข้อเท็จจริงของสิ่งที่เกิดขึ้น ก่อนจะรายงานสู่กองบรรณาธิการ และเป็นข่าวนำเสนอสู่สังคม ซึ่งในสภาวการณ์ที่เป็นอยู่นักข่าวท้องถิ่นส่วนใหญ่ก็จะเป็นนักข่าวให้กับสื่อมวลชนส่วนกลางด้วย ดังนั้นบางข่าวสำคัญจึงถูกนำเสนอในสื่อมวลชนส่วนกลาง แต่ข่าวที่นำเสนอไปนั้นจะคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงมากน้อยก็อยู่ที่นักข่าวท้องถิ่น ต้องยอมรับว่านักข่าวท้องถิ่นกับแหล่งข่าวนั้น มีความใกล้ชิดกัน หากนักข่าวไม่เข้าใจบทบาทหน้าที่ตนเองดีพอการบิดเบือนข่าวจึงเกิดขึ้น

การใกล้ชิดแหล่งข่าว ในบริบทของสังคมท้องถิ่นที่แคบ หากนักข่าวนำเสนอข่าวที่เป็นข้อเท็จจริง แต่เป็นผลได้ หรือผลเสียต่อฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ปัญหาย่อมเกิดขึ้นได้ง่าย อาทินำไปสู่การฟ้องร้อง การถูกคุกคามสิทธิ เสรีภาพ การใช้ความรุนแรง กระทั่งต้องเสียชีวิต ดังที่เกิดขึ้นกับนักข่าวหนังสือพิมพ์มติชน หรือแม้แต่นักข่าวหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นก็เคยถูกยิงเสียชีวิตมาแล้ว

อีกด้านหนึ่งนักข่าวท้องถิ่น คือผู้ที่ทำตัวใกล้ชิดกับแหล่งข่าว โดยเฉพาะนักการเมือง หรือผู้มีผลประโยชน์ในท้องถิ่น นำเสนอข่าวชนิดเอียงข้างหรือเชียร์เพียงเพื่อให้ตัวเองและสื่อที่ตนทำอยู่รอด โดยไม่คิดถึงจริยธรรม หรือจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ และความจริงอีกอย่างหนึ่งของนักข่าวท้องถิ่น คือจะเข้ามาเป็นนักข่าวไม่จำเป็นต้องมีความรู้มากมาย เพียงแค่รู้จักการเข้าถึงแหล่งข่าวก็ทำงานได้ ไม่มีมาตรฐานทางวิชาชีพดีพอ ขาดจริยธรรมแห่งวิชาชีพ และมาตรฐานทางวิชาชีพ สิทธิ เสรีภาพของนักข่าว ย่อมต้องถูกละเมิดในทางใดทางหนึ่ง นำไปสู่การบั่นทอนสิทธิ เสรีภาพในการรับรู้ข่าวสารของประชาชน และนำไปสู่การเสื่อมศรัทธาต่อสถาบันสื่อมวลชนด้วย การพัฒนามาตรฐานทางวิชาชีพของนักข่าวจึงน่าจะเป็นเรื่องที่ต้องให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

การศึกษาเรื่องนักข่าวท้องถิ่น : กับมาตรฐานความเป็นวิชาชีพครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวทางการดำเนินงานด้านการทำข่าว ของนักข่าวท้องถิ่น ที่ใช้สิทธิ เสรีภาพ ทำให้มีผลกระทบต่อมาตรฐานวิชาชีพของสื่อมวลชน เพื่อศึกษาปัญหาและอุปสรรคของนักข่าวท้องถิ่นต่อมาตรฐานวิชาชีพ และหาแนว ทางในการพัฒนามาตรฐานวิชาชีพ โดยมุ่งเน้นไปที่เรื่องของจริยธรรม และจรรยาบรรณ ของสื่อมวลชนท้องถิ่น และนักข่าวท้องถิ่น

การศึกษาใช้วิธีการศึกษาจากเอกสารเรื่องที่เกี่ยวกับสื่อมวลชน สัมภาษณ์ผู้ที่ปฏิบัติงานในสื่อมวล ชนท้องถิ่น และนักข่าวท้องถิ่น พร้อมรวบรวมเอกสารที่มีบทบัญญัติ และเรื่องเกี่ยวกับจริยธรรมของสื่อมวล ชน ประโยชน์ที่จะได้จากการศึกษา ทำให้สื่อมวลชนท้องถิ่น และนักข่าวท้องถิ่น มีแนวทางในการทำข่าวที่มีประสิทธิภาพจากมาตรฐานวิชาชีพ ตระหนักถึงบทบาท หน้าที่ตนเอง ตระหนักในเรื่องจริยธรรมวิชาชีพ   สังคมเกิดความเชื่อถือต่อสถาบันสื่อมวลชนโดยรวม

ผู้ศึกษาเห็นว่าการจะพัฒนามาตรฐานวิชาชีพ ควรให้ความสำคัญกับองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนหลัก เช่น สถาบันอิศรา , สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ , สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เป็นต้น เพื่อให้เข้ามาเชื่อมโยงการพัฒนามาตรฐานวิชาชีพ กับสื่อมวลชนท้อง ถิ่นทุกแขนงซึ่งเกือบทุกจังหวัดองค์กรสื่อมวลชนท้องถิ่น หรือนักข่าวท้องถิ่น ได้มีการรวมตัวกันจัดตั้งองค์กรวิชาชีพของตนขึ้น และการพัฒนามาตรฐานวิชาชีพ ต้องการให้เริ่มต้นที่ผู้ปฏิบัติหน้าที่หรือนักข่าวเป็นสำคัญ นอกจากนี้องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนหลัก จะต้องมีอำนาจมากกว่าที่เป็นอยู่ สามารถใช้อำนาจนั้นในทางกฎหมายได้ เช่นมีอำนาจในการอนุญาตให้เปิดหนังสือพิมพ์ฉบับใหม่ ที่มิใช่จะต้องขออนุญาตจากหน่วยงานราชการดังเช่นในปัจจุบัน หรือมีอำนาจเข้าไปตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชน ที่ละเมิดจริยธรรม หรือจรรยาบรรณ โดยมีอำนาจสั่งปรับปรุง พักกิจการ หรือ ปิดกิจการได้

 

(ดาวโหลดไฟล์ต้นฉบับได้ที่นี้)