เรื่อง : ทิศทางการรายงานข่าวปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และภาวะโลกร้อนในสื่อหนังสือพิมพ์
ผู้ศึกษา : ปิยะภรณ์ วงศ์เรือง
กรรมการที่ปรึกษา : นายวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์
ปี : 2552
บทคัดย่อ
ในช่วงระยะเวลาราว 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและปัญหาภาวะโลกร้อนได้ถูกพิสูจน์ให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ด้วยการศึกษาเชิงวิทยาศาสตร์ของนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำทั่วโลกในนามของคณะศึกษาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระหว่างรัฐบาล (Inter-governmental Panel on Climate Change, IPCC) ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานในสหประชาชาติ (United Nations)
ในการสรุปผลการศึกษาครั้งล่าสุดในปี 2007 โลกได้ประจักษ์ด้วยข้อมูลที่หนักแน่นจาก IPCC ว่ามีความน่าจะเป็นอย่างสูงที่มนุษย์คือตัวการหลักในการสร้างปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก และหากปล่อยให้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับที่เป็นอยู่ โลกจะร้อนขึ้นถึงราว 3 องศาเซลเซียสภาย ในศตวรรษนี้
จากผลการสรุปการศึกษาที่หนักแน่นด้วยข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่น่าเชื่อถือของ IPCC ครั้งล่าสุด ประเทศต่างๆทั่วโลกได้เกิดการตื่นตัวเรื่องปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและปัญหาภาวะโลกร้อนอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
ในประเทศไทยเอง การนำเสนอข้อมูลข่าวสารเรื่องปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีมาเป็น ระยะๆ อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสนใจว่าการนำเสนอข้อมูลข่าวสารในเรื่องดังกล่าวมีความเท่าทันกับประเด็นปัญหาที่นับวันจะทวีความซับซ้อนยิ่งขึ้นทุกขณะหรือไม่ประการใด เพราะนอกเหนือจากประเด็นปัญหาและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ยังมีประเด็นปัญหาใหม่ๆทั้งในเรื่องของการเจรจาต่อรองเพื่อแสดงความรับผิดชอบและเพื่อเรียกร้องหาความรับผิดชอบจากผู้เกี่ยวข้องเกิดขึ้นซึ่งเป็นสิ่งที่ประชาชนควรมีโอกาสได้รับรู้เพื่อนำไปสู่การร่วมตัดสินใจในชะตากรรมของตนอย่างดีที่สุด
การศึกษาในเรื่องดังกล่าวเป็นไปเพื่อศึกษาทบทวนการนำเสนอข้อมูลข่าวสารประเด็นปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภาวะโลกร้อนทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพในสื่อหนังสือพิมพ์ ทั้งนี้ เพื่อนำไปสู่การตรวจสอบทิศทางการนำเสนอประเด็นปัญหาดังกล่าวและความสอดคล้องเท่าทันกับสถานการณ์ และการแสวงหาแนวทางใหม่ๆ ในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารเพื่อให้สื่อหนังสือพิมพ์สามารถนำเสนอประเด็นปัญหาดังกล่าวได้อย่างถูกต้องครบถ้วนยิ่งขึ้น เพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดแก่สาธารณะที่อาจต้องเผชิญกับผลกระทบจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภาวะโลกร้อนในอนาคต
การศึกษาได้ทบทวนจากเอกสารหลักที่เกี่ยวข้องได้แก่ หนังสือพิมพ์ที่มียอดจำหน่ายสูงสุดของประเทศ 2 ฉบับ ได้แก่ หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ และหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ในห้วงระยะเวลา 2 ปีนับตั้งแต่ที่ IPCC ได้เผยแพร่ผลการศึกษาล่าสุดเมื่อปี 2007 โดยศึกษาในเชิงปริมาณข่าว และประเด็นหลักๆที่นำเสนอ (ผ่าน archive) และการสัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้อง
การศึกษานี้เป็นเพียงการศึกษาเบื้องต้น โดยมุ่งหวังว่าจะสามารถสะท้อนแนวทางการนำเสนอข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับประเด็นปัญหาภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นในสื่อที่ได้ชื่อว่าสามารถช่วยอธิบายความให้ความกระจ่างกับประชาชนได้เป็นอย่างดี
การศึกษามีข้อจำกัดด้วยกรอบเวลาและการดำเนินการ ผู้ศึกษาได้สำรวจตรวจสอบข่าวที่เกี่ยวข้องจากคำค้นหาที่ค่อนข้างจำกัดและอาจทำให้เกิดภาพแนวทางการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ยังไม่ชัดเจครบถ้วน
การศึกษาในรายละเอียดจากจำนวนตัวอย่างข่าวและตัวอย่างสื่อที่มากขึ้นและการวิเคราะห์รายละเอียดในแต่ละประเด็นที่เกี่ยวข้องในช่วงเวลาต่างๆอาจช่วยให้ภาพที่ชัดเจนมากกว่านี้
จากข้อมูลที่ได้จากการสำรวจตรวจสอบการนำเสนอข้อมูลข่าวสารประเด็นเรื่องโลกร้อนนี้ จะเห็นได้ว่าสื่อหนังสือพิมพ์ได้มีการนำเสนอข่าวในประเด็นดังกล่าวไม่น้อย หากแต่เมื่อประกอบเข้ากับการสำรวจตรวจสอบในรายประเด็นและการสังเกตการณ์ของผู้ที่เกี่ยวข้องจะพบว่า สื่อในประเทศยังคงพึ่งพาการนำเสนอข้อมูลข่าวสารจากต่างประเทศเป็นหลัก โดยขาดการกำหนดทิศทางในการนำเสนอของตัวเอง ทำให้การนำเสนอประเด็นปัญหาไม่ต่อเนื่องเชื่อมโยงเป็นประโยชน์มากพอแก่ประชาชนผู้รับสาร
โดยสรุปอาจกล่าวได้ว่าข่าวที่ปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์ค่อนข้างทันกระแสโลก แต่ไม่เท่าทันปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นที่อาจส่งผลกระทบใหญ่หลวงกับประชาชนในพื้นที่
สื่อ โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ที่ถูกคาดหวังให้มีการอธิบายความอย่างชัดเจนครบถ้วนแก่ประชาชน ควรศึกษาปัญหาอุปสรรคในการรายงานข้อมูลข่าวสารประเด็นปัญหาเรื่องโลกร้อนนี้อย่างจริงจัง เพื่อที่จะสามารถระบุและจัดลำดับปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นในการทำงาน ทั้งนี้เพื่อที่จะได้ทำการแก้ไขทันท่วงทีเพื่อที่จะได้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
นอกจากนนี้ สื่อควรมีการกำหนดทิศทางในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารประเด็นปัญหาโลกร้อนขึ้นมาให้ชัดเจนและวางแผนอย่างเป็นระบบในระยะยาวง ทั้งนี้เพื่อให้การนำเสนอประเด็นที่เกี่ยวข้องได้รับการจัดลำดับความสำคัญและการให้ความสำคัญที่เหมาะสมกับจังหวะเวลาและสถานที่ เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนต่อไป