เรื่อง: การใช้สื่อพื้นบ้านในการสื่อสารทางการเมือง ศึกษากรณีหมอลำ
ผู้ศึกษา : นายภัทรวุธ บุญประเสริฐ
กรรมการที่ปรึกษา ดร.สุรศักดิ์ จิรวัสตร์มงคล
ปี : 2552
บทคัดย่อ
เอกสารวิชาการชิ้นนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงการใช้หมอลำ ซึ่งเป็นสื่อพื้นบ้านประจำภาคอีสานอีกแขนงหนึ่งในการสื่อสารทางการเมืองว่ามีบทบาทอย่างไรต่อวิถีชีวิตของประชาชนชาวภาคอีสานอดีต เพื่อจะนำไปสู่การอนุรักษ์สื่อพื้นบ้านประเภทนี้ให้คงอยู่สืบไป
จากการศึกษาพบว่า ประวัติศาสตร์หมอลำเกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยโบราณ เป็นสื่อพื้นบ้านอีกแขนงหนึ่งที่มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อวิถีชีวิตของชาวไทยภาคอีสาน เนื้อหาส่วนใหญ่ของกลอนลำได้กล่าวถึงวรรณกรรมประเภทคำสอนทางพุทธศาสนา เรื่องราววรรณกรรมพื้นบ้านอีสาน ให้ผู้ฟังอยู่ในกรอบของศีลธรรมอันดีงาม
นอกจากนี้กลอนลำยังได้สอดแทรกเนื้อหาเกี่ยวกับการณรงค์ทางด้านลัทธิการเมือง การแสดงแนวคิดอุดมการณ์ทางการเมืองเพื่อสื่อถึงความไม่เป็นธรรมทางสังคมสื่อไปถึงผู้มีอำนาจปกครองรัฐ และเพิ่มแนวร่วมทางความคิด เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองตามที่หมอลำต้องการ ขณะเดียวกันยังพบว่า หมอลำยังถูกใช้เป็นเครื่องมือของรัฐในการรณรงค์ให้ประชาชนปฏิบัติตามนโยบายในวาระต่างๆด้วย.