ผลการศึกษาความเข้าใจและการรับรู้ ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของ ลูกค้าธนาคารไทยพาณิชย์
ผู้ศึกษา : วัฒนี สมจิตต์
กรรมการที่ปรึกษา : นายปกป้อง จันวิทย์
ปี :2552
บทคัดย่อ
“ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย” มักเป็นหัวข้อหรือประเด็นที่เป็นข้อถกเถียงกันผ่านสื่อมวลชนในแง่ที่ธนาคาร พาณิชย์ ซึ่งเป็นองค์กรที่มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงกับ “ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย” ได้รับประโยชน์มากเกินสมควร ขณะที่ลูกค้าเงินฝากและลูกค้าเงินกู้เป็นผู้เสียประโยชน์จาก “ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย” ที่กว้างเกินไป โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์อาจไม่ได้ทำหน้าที่ คนกลาง ได้อย่างเหมาะสมในการให้ข้อมูลเชิงวิชาการต่อสาธารณชน ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นลูกค้าของธนาคาร ให้ได้รับทราบถึงปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อระดับของ “ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย” และความเหมาะสมของตัวเลขดังกล่าว ณ ขณะใดขณะหนึ่งบนพื้นฐานของข้อมูลเชิงวิชาการ การที่ ธปท. ต้องแสดงบทบาทดังกล่าว เนื่องจากประเด็นดังกล่าวเป็นเรื่องที่ยากต่อการทำความเข้าใจ ขณะที่หลากหลายตัวแปรมีความซับซ้อนในเชิงความสัมพันธ์ระหว่างกัน ซึ่งอาจส่งผลต่อความแคบหรือกว้างของ “ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย” ในลักษณะที่บุคคลทั่วไปไม่อาจเข้าใจได้โดยง่าย
ขณะเดียวกันสื่อมวลชนอาจต้องทบทวนบทบาทในการนำเสนอประเด็น “ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย” ดังกล่าว โดยเริ่มจากการปรับเพิ่มระดับความเข้าใจทั้งของตนและสาธารณชนในประเด็นหลัก การในเรื่องดังกล่าวให้อยู่บนพื้นฐานเดียวกันให้มากกว่าที่เป็นอยู่ ตลอดจนการกระตุ้นให้ ธปท. แสดงบทบาทในฐานะ คนกลาง ที่เป็นผู้ให้ข้อมูลในเรื่องดังกล่าวในเชิงวิชาการ มากกว่าการเน้นนำเสนอข่าวสารเฉพาะในประเด็น ความเห็น ต่อความเหมาะสมของ “ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย” จากธนาคารพาณิชย์ ธปท. หรือหน่วยงานอื่นๆ โดยปราศจากหลักการและข้อพิจารณาเชิงวิชาการประกอบ ทั้งนี้ เพื่อให้สาธารณชน ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสีย มีความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องตามหลักวิชาการมากเพียงพอที่จะสามารถ ตัดสินถึงระดับ ความเหมาะสม และ ความเป็นธรรม ของ “ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย” ที่ธนาคารพาณิชย์ได้รับ ณ ขณะใดขณะหนึ่งนั่นเอง