ความสัมพันธ์ระหว่างการสื่อสารกับการมีส่วนร่วมทางการเมืองของ ประชาชน: ศึกษาเฉพาะกรณีอำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี-นางวิภาดา อิศระ

เรื่อง : ความสัมพันธ์ระหว่างการสื่อสารกับการมีส่วนร่วมทางการเมืองของ ประชาชน: ศึกษาเฉพาะกรณีอำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี
ผู้ศึกษา :    นางวิภาดา อิศระ
กรรมการที่ปรึกษา :    นายวันชัย   ตันติวิทยาพิทักษ์
ปี : 2552

บทคัดย่อ

การที่ประเทศไทยประสบปัญหาในการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยมาโดยตลอดนั้น อาจเป็นเพราะประชาชนขาดความสนใจและความรอบรู้ทางข่าวสารทางการเมือง  เหตุที่กรณีเช่นนี้มักเกิดขึ้นกับประชาชนตามชนบทเป็นพิเศษ ก็เนื่องมาจากประชาชนมีฐานะยากจน อาศัยอยู่ตามท้องถิ่นทุรกันดาร การคมนาคมขนส่ง รวมทั้งการติดต่อสื่อสารทำได้ไม่สะดวกพวกเขาเหล่านี้มีจำนวนไม่น้อยที่ดำเนินชีวิตและประกอบอาชีพตามแบบที่บรรพบุรุษถ่ายทอดให้ จึงมักขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวิทยาการสมัยใหม่  ข่าวสารความเคลื่อนไหวและเหตุการณ์บ้านเมือง  ซึ่งสามารถปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้

การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงสำรวจ โดยแผนการวิจัยเป็นการวัดครั้งเดียว (One-shot Descriptive) โดยทำการสุ่มตัวอย่างกับผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งแบบ Multi-stage Sampling ในเขตอำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี จำนวน 350 คน โดยมิได้ศึกษาเกี่ยวกับสื่อโทรทัศน์  เนื่องจากประชาชนบริเวณนั้น มีฐานะยากจน  จึงไม่มีโทรทัศน์ในครอบครอง  ผลการวิจัยพบว่า พบว่ากลุ่มตัวอย่างฟังวิทยุมากกว่าอ่านหนังสือพิมพ์และนิตยสาร มีการสื่อสารเรื่องข่าวสารทางการเมืองกับเพื่อนบ้าน และรับฟังจากวิทยุมากที่สุด รองลงมาคือการอ่านข่าวการเมืองจากหนังสือพิมพ์ อีกทั้งยังพบว่ามีผู้เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง โดยการไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ครั้งล่าสุด จำนวน 339 คน คิดเป็นร้อยละ 96.9 สำหรับสาเหตุที่ไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ส.ส. เป็นเพราะต้องการไปใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้ง ส่วนสื่อที่ทำให้ทราบนโยบายของผู้สมัคร ส.ส. และ ส.จ. คือตัวผู้สมัครเอง และสื่อที่ชักจูงให้ไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งได้มากที่สุด คือผู้ใหญ่บ้าน

ผู้วิจัยเห็นว่าการสื่อสารระหว่างบุคคลมีแนวโน้มที่จะมีความสัมพันธ์กับการมีส่วนร่วมทางการเมืองสูงกว่า การสื่อสารมวลชน ผู้ใหญ่บ้านสามารถชักจูงให้ประชาชนไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง สมาชิกสภาจังหวัด และ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้เป็นอย่างดี แสดงว่า ผู้ใหญ่บ้านเป็นแหล่งข่าวสารที่น่าเชื่อถือ และทำให้ประชาชนมีความตื่นตัวทางการเมือง จึงควรที่จะมีการส่งเสริมให้มีการเผยแพร่ข่าวสารทางการเมืองผ่านสื่อบุคคลดังกล่าว โดยอาจจัดให้มีการ     อบรมเพื่อพัฒนาความรู้และความสามารถในการเป็นผู้นำความคิดเห็นให้มากยิ่งขึ้น และมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันของผู้ใหญ่บ้านในหลายๆ พื้นที่ ของจังหวัดอุบลราชธานี หรือของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อจะได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และช่วยกันแก้ไขข้อบกพร่องที่มีอยู่ให้ค่อย ๆ หมดไป

(ดาวโหลดไฟล์ต้นฉบับได้ที่นี้)