เรื่อง : บทบาทของ “ข่าวอาชญากรรม” กับการชี้นำคนในสังคม
ผู้ศึกษา : นายสมศักดิ์ ศรีกำเหนิด
กรรมการที่ปรึกษา :นางกนกกาญจน์ อนุแก่นทราย
ปี : 2552
บทคัดย่อ
ในภาวะที่สังคมเกิดความแตกแยกทางความคิด ทำให้สังคมคาดหวังว่าสื่อมวลชนจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะเข้ามาช่วยสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ช่วยบรรเทาเยียวยาปัญหาต่างเพื่อก่อให้เกิดความสงบสุขขึ้นให้กับสังคมได้ ในขณะเดียวกันสื่อมวลชนยังถูกมองว่าเป็นสถาบันที่ทรงอิทธิพลในการกำหนดทิศทางการรับรู้ของคนในสังคม เช่นเดียวกับกับสื่อมวลชนสายตระเวนข่าวอาชญากรรม ถือว่า มีความสำคัญและมีบทบาทต่อสังคมอย่างมาก เพราะปัญหาของข่าวอาชญากรรม ล้วนเป็นสิ่งใกล้ตัวเป็นเรื่องที่ประชาชนกระหายใคร่อยากจะรู้ โดยเฉพาะคดีเกี่ยวกับความมั่นคง การประทุษร้ายต่อชีวิตทรัพย์สิน คดีที่เกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งมักส่งผลกระทบต่อบุคคลในข่าวไม่ว่าจะเป็นผู้ต้องหา ผู้เสียหาย พยานในคดี การนำเสนอข่าวหลายครั้งเกี่ยวกับพฤติกรรมการก่อเหตุ สื่อมักถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าชี้นำคนในสังคมจนก่อเกิดเป็นพฤติกรรมการลอกเลียนแบบ
อย่างไรก็ตาม มีข้อถกเถียงกันว่า การนำเสนอข่าวอาชญากรรมของผู้สื่อข่าวและองค์กรสื่อนั้น เป็นการนำเสนอเพื่อเตือนสังคมไว้เป็นอุทาหรณ์ ให้เกิดการระวังป้องกัน หรือนำเสนอเพื่อสร้างเรตติ้ง ต้องการขายข่าว สร้างยอดขายให้องค์กรมากเกินไป จนเกิดพฤติกรรมเลียนแบบผู้ต้องหาในข่าวหรือไม่ โดยเฉพาะประเด็นที่เยาวชนมักเลียนแบบเอาไปก่อเหตุ ทำให้ข่าวอาชญากรรมถูกมองว่ามีเนื้อหาไร้สาระ นำเสนอเพื่อสนองความกระหายใคร่รู้ของคนในสังคมเท่านั้น ไม่ได้สร้างสรรค์ทำประโยชน์ หรือให้คุณค่าใดๆ ต่อสังคมเลย
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาทัศนคติของบุคคลในสังคมที่มีต่อเนื้อหาข่าวอาชญากรรมตามสื่อสิ่งพิมพ์ โดยการศึกษาทัศนคติต่อข่าวอาชญากรรมและพฤติกรรมการเลียนแบบข่าวอาชญากรรม ตัวอย่างบุคคลที่มีพฤติกรรมการเลียนแบบจากข่าวทั้งด้านบวกและลบ รวมทั้งได้สัมภาษณ์ความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน
ในการศึกษาสรุปได้ว่า ทัศนคติของบุคคลส่วนใหญ่ที่มีต่อนักข่าวอาชญากรรมยังคงเป็นบวก และมองเห็นว่าข่าวอาชญากรรมมีประโยชน์ต่อสังคมมากกว่าโทษ แต่ปัจจัยที่ทำให้บุคคลมีพฤติกรรมการเลียนแบบข่าวอาชญากรรมจากการนำเสนอของสื่อมีทั้งด้านบวกและลบ อยู่ที่ความรู้และประสบการณ์ ความรับผิดชอบของสื่อมวลชน การขยายตัวของสื่อรูปแบบใหม่ ตลอดจนสภาพของสังคมและสิ่งแวดล้อม ผู้ที่จะได้รับผลกระทบจึงเกิดได้กับทุกคน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนที่ส่วนใหญ่ยังขาดการสังเคราะห์ ไตร่ตรอง ข้อมูลข่าวสาร ทั้งก่อนและหลังการบริโภคสื่อ ทำให้ในบางครั้งมองข้ามการคัดกรองข้อมูลข่าวสารก่อนบริโภคสื่อ