กลยุทธ์การตลาดและประชาสัมพันธ์โครงการธงฟ้า – นางสาวสุวิภา บุษยบัณฑูร

เรื่อง : กลยุทธ์การตลาดและประชาสัมพันธ์โครงการธงฟ้า               
ผู้ศึกษา : นางสาวสุวิภา บุษยบัณฑูร
กรรมการที่ปรึกษา :   นางสาวดวงกมล โชตะนา
ปี :2552

บทคัดย่อ

จากปัญหาราคาน้ำมันโลกที่พุ่งสูงขึ้น ตามด้วยวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่มีต้นเหตุจากวิกฤติการเงินในประเทศสหรัฐ ฯ ส่งผลให้ประเทศไทย ได้รับผลพวงกระทบต่อเนื่องในช่วง 5 ปี ( 2548-  ปัจจุบัน (2552 )  เหตุนี้เองทำให้โครงการธงฟ้า  เครื่องมือของภาครัฐซึ่งคนไทยรู้จักกันมาช้านานนับสิบปี  ยิ่งเพิ่มความสำคัญมากขึ้น ดังเห็นได้จากรัฐบาลช่วงที่ผ่านมา ได้ต่อยอดโครงการธงฟ้า ทั้งด้านตัวโปรดักส์สินค้าและบริการที่หลากหลายขึ้น  เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนด้านค่าครองชีพ เพิ่มทางเลือกให้ประชาชนในภาวะค่าครองชีพสูง  อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือถ่วงดุลการฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้าของบรรดาผู้ประกอบการ-ผู้ผลิต

งานเอกสารวิชาการส่วนบุคคลชิ้นนี้  ต้องการนำเสนอวิวัฒนาและบริบทของโครงการธงฟ้าซึ่งได้เปลี่ยนแปลงไปตามความจำเป็นของยุคสถานการณ์เศรษฐกิจ   โดยเฉพาะในสมัยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ (  สิงหาคม 2548 – 19 กันยายน 2549 ) ต่อเนื่องถึงรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ  และชี้ถึงประสิทธิภาพการใช้เครื่องมือ ในขณะที่ประชาชนมีทางเลือกในการเข้าถึงสินค้าราคาถูกผ่านช่องทางโมเดิร์ทเทรดมากขึ้น

พร้อมทั้งจับประเด็นว่าโครงการดังกล่าวจะขับเคลื่อนได้มากหรือน้อย ยังขึ้นอยู่กับงบประมาณ/เงินที่กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ในฐานะเจ้าภาพงานได้รับจัดสรรในแต่ละปี   จึงทำให้โครงการธงฟ้า ถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อการประชาสัมพันธ์ผลงานของนักการเมือง หรือนัยหนึ่งเป็นโครงการประชานิยม เพื่อหาเสียงให้กับฝ่ายการเมืองนั่นเอง      

วัตถุประสงค์ในการศึกษา เพื่อศึกษาถึงนโยบายของฝ่ายการเมือง  ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการกำหนดบทบาทโครงการธงฟ้า , กลยุทธ์การตลาดและประชาสัมพันธ์โครงการธงฟ้า ในแต่ละช่วง  ผลกระทบข้างเคียงต่อตลาด,ผู้ประกอบการรายย่อย และการเข้าถึงประชาชนผู้เดือดร้อน   นัยยะที่แฝงมากับฝ่ายการเมืองกับการดำเนินนโยบายประชานิยมผ่านโครงการธงฟ้า

โดยวิธีที่ใช้ในการศึกษา  เป็นการวิเคราะห์เนื้อหา จากการสัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้องแบบเจาะลึก  การสืบค้นความเป็นมา ปัญหาของโครงการธงฟ้าในอดีต จนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้พบว่าโครงการธงฟ้ามีประโยชน์ต่อประชาชนก็จริง แต่การบรรเทาความเดือดร้อนด้านภาระค่าครองชีพ  ตามความจำเป็นอาจจะช่วยไม่ได้มากเมื่อเทียบกับปัจจุบันที่ประชาชนมีทางเลือกเข้าถึงสินค้าราคาถูกโดยเฉพาะโมเดิร์นที่มีการจัดโปรโมชั่นสินค้าราคาถูกอย่างต่อเนื่อง  อีกทั้งราคาสินค้าในโครงการธงฟ้า บางชนิดแม้จะถูกกว่าตลาด 20-40% แต่ก็เกิดจากการที่ภาครัฐได้เข้าไปสนับสนุนงบส่วนหนึ่ง อาทิ การออกค่าเช่าแผงซึ่งทำให้ผู้ผลิตและผู้ประกอบการที่จำหน่ายสินค้า ไม่มีค่าการตลาด

ดังนั้นภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องหารือในองค์รวม โดยชั่งน้ำหนักว่านำงบไปเพื่อการช่วยเหลือประชาชนด้านใด ให้ตรงจุดและเกิดประสิทธิภาพมากที่สุด  อาทิการสร้างงาน หรือพัฒนาแหล่งทำกินเป็นต้น    รวมไปถึงการหาทางบูรณาการโครงการธงฟ้าอย่างยั่งยืน  โดยการสร้างระบบความเข้มแข็งให้กับเครือข่ายสมาชิกโครงการธงฟ้า อาทิร้านมิตรธงฟ้า ร้านข้าวแกงธงฟ้า อาสาธงฟ้า  ซึ่งปัจจุบันมีรวมกว่า 8,000 ราย  การนำผู้ผลิตพบกับเครือข่ายสมาชิกเหล่านี้ให้เข้าถึงต้นทุนสินค้าราคาถูก  เพื่อที่ฐานกลุ่มเหล่านี้จะเป็นแขนขาให้รัฐบาล ในการช่วยเหลือประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ  แทนการพึ่งงบสนับสนุนจากรัฐแต่ฝ่ายเดียว  ซึ่งมีความไม่แน่นอนในแต่ละปี และยังแฝงผลทางการเมือง.

(ดาวโหลดไฟล์ต้นฉบับที่นี้)