B-4-3-2553-19_“ล้วงตับเสือนอนกิน บี้แบงก์ลดค่าต๋งช่วยคนทั้งชาติ”-โพสต์ทูเดบ์

รหัส B-4-3-2553-19

ชื่อเรื่อง_“ล้วงตับเสือนอนกิน  บี้แบงก์ลดค่าต๋งช่วยคนทั้งชาติ”

เจ้าของ-โพสต์ทูเดย์

ปีพิมพ์ พศ. 2553

 

ล้วงตับเสือนอนกิน  บี้แบงก์ลดค่าต๋งช่วยคนทั้งชาติ

กองบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

บทนำ

ตลอดระยะเวลานานระบบธนาคารพาณิชย์ถูกตราหน้าเป็นเสือนอนกินและทำนาบนหลังคนทั้งที่จนและไม่จน เพราะระบบเศรษฐกิจ ระบบการกำกับดูแลของทางการที่บิดเบี้ยว หละหลวมและเอื้อประโยชน์ให้กับนายธนาคาร ขณะที่ภาคประชาสังคมและบรรดาประชาชนผู้ที่ใช้บริการทางการเงินก็ไร้ซึ่งอำนาจและช่องทางในการต่อสู้เรียกร้องเพื่อขอความเป็นธรรมในการเข้าถึงบริการทางการเงิน ทำให้ในระยะเวลาที่ผ่านมาระบบธนาคารพาณิชย์ต่างฮั้วกันกำหนดอัตราค่าบริการที่เรียกกันโก้หรูว่า ค่าธรรมเนียม แต่ในความเป็นจริงแล้วเสมือนการโขก ค่าต๋ง ในการดำเนินการต่างๆชนิดที่ผู้ใช้บริการไม่มีทางเลือก แต่ในระยะที่ผ่านมาก็แทบจะไม่มีหน่วยงานใดเข้าไปตรวจสอบว่ามีความเป็นธรรมต่อผู้ใช้บริการมากน้อยแค่ไหน และสะท้อนถึงต้นทุนที่แท้จริงอย่างไร

ธนาคารกลางที่ทำหน้าที่ในการกำกับดูแลสถาบันการเงินก็ปล่อยปละละเลยให้บรรดานายธนาคารที่มีอยู่ 15-16 แห่ง เป็นผู้กำหนดราคากันเอง โดยยกคำอ้างแต่เพียงว่าเป็นเรื่องของ กลไกตลาดการเงินเสรี ทั้งๆที่ระบบธนาคารมีการฮั้วกันในการกำหนดราคาการให้บริการแทบทุกประเภท ตั้งแต่การกำหนดอัตราดอกเบี้ย การกำหนดค่าธรรมเนียมในการออกบัตรเอทีเอ็ม ค่าธรรมเนียมรายปี การคิดค่าบริการเอทีเอ็ม การคิดค่าสมุดคู่ฝาก ตลอดจนค่าบริการการโอนเงิน จนทำให้ระบบมีรายได้สูงถึงไตรมาสละ 2.3-2.4 หมื่นล้านบาท ปีหนึ่งๆมีรายได้จากการเปิดให้ประชาชนเจ้าของเงินที่ถูกบีบให้ต้องใช้บริการทางการเงินสูงถึง 8 หมื่นล้านบาทถึง 1 แสนล้านบาท

ถึงเวลาที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนผู้ใช้บริการจะรุกขึ้นมาเรียกร้องความเป็นธรรม และถึงเวลาแล้วที่ธนาคารกลางจะต้องเข้ามากำหนดกฎ กติกา เพื่อลดการฮั้วและการโขกค่าต๋งในระบบธนาคาร จากนั้นก็ทำให้การคิดค่าบริการจากประชาชนถูกลงและสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ไม่ใช่ปล่อยให้ระบบธนาคารมาทำนาบนหลังคนอยู่อีกต่อไป

 

รูปแบบการดำเนินการ และคุณค่าของข่าว

กองบรรณาธิการโพสต์ทูเดย์ได้เกาะติดข่าว ล้วงตับเสือนอนกิน  บี้แบงก์ลดค่าต๋งช่วยคนทั้งชาติ ซึ่งมีหลักคิดและวิธีการทำงานที่แตกต่างจากข่าวปกติทั่วไปที่นำเสนอเรื่องราวที่เกี่ยวเนื่องกับการกระชากหน้ากาก หรือข่าวที่เกี่ยวกับการทุจริตคอรัปชัน แต่นี่คือการนำเสนอข่าวสารในเชิงของความล้มเหลวของนโยบายเศรษฐกิจที่หลากหลายรูปแบบทั้ง ข่าว สกู๊ป รายงาน บทวิเคราะห์ บทบรรณาธิการ เพื่อสะท้อนให้เห็นภาพของการบิดเบี้ยวทางนโยบายการเงิน รวมถึงรูโหว่ของกลไกการกำกับดูแลที่มิได้ปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนผู้ใช้บริการในระบบธนาคาร จนนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงทางนโยบายในการกำกับดูแลเพื่อปกป้องการเอารัดเอาเปรียบ และพิทักษ์ผลประโยชน์ของประชาชนในประเทศหลายสิบล้านคน

กองบรรณาธิการโพสต์ทูเดย์ เริ่มนำเสนอในรูปของข่าวหน้า 1 มาตั้งแต่ปลายปี 2552 โดยการพาดข่าวหัว ธปท.ห้ามโขกค่าต๋งโหด ด้วยการสั่งการให้นักข่าวไปซักถามผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศไทยว่า ทำไมถึงมีการปล่อยให้ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากลูกค้าผู้ใช้บริการที่สูงและซ้ำซ้อนกัน และทำไมม่มีการประกาศแจ้งเตือนให้ลูกค้ารับรู้ว่ามีการคิดอย่างไรเพื่อจะได้ตัดสินใจได้ถูกต้องและก่อให้เกิดการแข่งขันของตลาดที่แท้จริง จนทำให้กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทยต้องหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาหารือ เพื่อกำหนดเป็นนโยบายก่อนที่จะมีมติห้ามคิดค่าธรรมเนียมซ้ำซ้อน และมีการว่าจ้างทีดีอาร์ไอศึกษาการคิดค่าธรรมเนียมต่างๆ

จากนั้นเป็นต้นมากองบรรณาธิการโพสต์ทูเดย์ จึงสั่งเกาะติดการรายงานข่าวในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง ทั้งในรูปแบบข่าว สกู๊ป รายงาน บทวิเคราะห์ บทบรรณาธิการ มาอย่างต่อเนื่อง จนธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลังซึ่งได้ยกประเด็นนี้ขึ้นมาเป็นนโยบาย กดดันจนกระทั่งธนาคารพาณิชย์ในระบบต่างยอมลดค่าต๋งในการคิดค่าธรรมเนียมในการโอนเงิน การกดเงิน การใช้บริการอิเลคทรอนิกส์จากประชาชนลง จนทำให้รายได้ของระบบธนาคารลดลงไม่น้อยว่า 7,000- 1 หมื่นล้านบาท จากยอดค่าธรรมเนียมต่างๆที่แบงก์มีรายได้ปีละกว่า 1 แสนล้านบาท

ในขวบปีที่ผ่านมาธนาคารหลายแห่งทนแรงกดดันของสังคมในเรื่องการขูดรีดค่าต๋งไม่ไหว ได้ค่อยทยอยประกาศลดค่าต๋งลงมาในหลายรายการ ประกอบด้วย

1. การปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และยกเลิกค่าธรรมเนียมรีไฟแนนซ์สินเชื่อเอสเอ็มอี การลดค่าธรรมเนียมรีไฟแนนซ์สินเชื่อจากที่เคยคิดที่ 2-3% ของวงเงินรีไฟแนนซ์ ลงเหลือ 0.50% เพื่อแสดงให้เห็นว่าธนาคารตอบสนองนโยบายรัฐ มิได้รีดเลือดกับปูถ่ายเดียว

2. การโอนเงินผ่านเอทีเอ็มธนาคารเดียวกันแต่ข้ามเขต ปัจจุบันคิดค่าบริการหมื่นละ 10 บาท บวกค่าธรรมเนียมอีกรายการละ 10 บาท เฉลี่ยรวมค่าธรรมเนียมขั้นต่ำ 20 สูงสุดไม่เกิน 1,000 บาทต่อรายการแล้วแต่วงเงิน อัตราใหม่จะเปลี่ยนเป็น โอนเงินได้ฟรีในครั้งแรกของแต่ละเดือน ครั้งต่อไปคิดรายการละไม่เกิน 15 บาท เพื่อช่วยเหลือแรงงานซึ่งเป็นคนต่างจังหวัดในเขตกรุงเทพ หรือทำงานข้ามเขตมีความจำเป็น ต้องโอนเงินรายได้กลับบ้าน เริ่มใช้ไตรมาสแรกปี 2554

3. ล่าสุดฝ่ายระบบชำระเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ประกาศว่า ตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค. 2553 เป็นต้นไป ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งจะต้องปรับลดอัตราค่าธรรมเนียมการให้บริการโอนเงินทางอิเล็กทรอนิกส์รายย่อยระหว่างธนาคารทีละหลายรายการ (NITMX Bulk Payment - Credit Next Day)เป็นอัตราเดียวเหมือนกันทั้งหมดคือ 12 บาทต่อรายการ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนของผู้ประกอบการ เป็นการลดการคิดค่าบริการโอนเงินทางอิเล็กทรอนิกส์จากที่คิดตามวงเงิน 1 แสนบาท คิด 12 บาทต่อรายการ วงเงิน 1 แสนบาทขึ้นไป คิด 40 บาทต่อรายการ และวงเงินตั้งแต่ 5 แสนบาท จนถึง 2 ล้านบาท คิดค่าบริการ 100 บาทต่อรายการ

การปรับลดค่าบริการดังกล่าวเป็นอัตราเดียวจะช่วยให้ผู้ประกอบการรายย่อยเจ้าของกิจการ ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าหลักที่ใช้บริการประเภทนี้เป็นหลักเพื่อโอนจ่ายเงินเข้าบัญชีเงินเดือนพนักงาน โอนจ่ายค่าสินค้าและบริการต่างๆ พร้อมๆ กันทีละหลายรายการ และหลายๆ ธนาคารจะได้ประโยชน์มากที่สุด เพราะช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายได้ค่อนข้างมากแถมยังมีความสะดวกมากขึ้น เพราะไม่ต้องเดินทางไปทำธุรกรรมที่สาขาธนาคาร สามารถทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ทันที

การดำเนินการปรับลดค่าบริการเหล่านี้เป็นไปตามการเจรจาระหว่าง ธปท. ในสมัยนางธาริษา วัฒนเกส เป็นผู้ว่าการธปท. กับผู้บริหารธนาคารพาณิชย์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 9 ก.ย. 2553 เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ใช้บริการส่วนใหญ่ที่เป็นผู้ประกอบการ และเป็นการสนับสนุนให้มีการใช้ระบบการโอนเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-pay ment) แทนเงินสดและเช็ค

นอกเหนือจากการลดค่าธรรมเนียมการโอนเงินให้รายย่อยแล้ว ยังมีค่าธรรมเนียมอีก 4 รายการที่ ธปท.ได้ตกลงกับธนาคารพาณิชย์เพื่อขอให้ลดค่าบริการลงในต้นปี 2554 เป็นต้นไป

 

รายการแรก คือ การโอนเงินผ่านเครื่องเอทีเอ็มธนาคารเดียวกันข้ามเขต ซึ่งปัจจุบันจะฟรีในครั้งแรกของเดือน ครั้งต่อไปคิดไม่เกิน 15 บาท/รายการ โดยจะเริ่มบังคับใช้ในไตรมาสแรก ปี 2554

รายการที่สอง ลดค่าบริการการถอนเงินผ่านเครื่องเอทีเอ็มในธนาคารเดียวกันแต่เบิกถอนข้ามเขต ที่ขณะนี้คิดไม่เกิน 15 บาท/รายการ โดยจะใช้ไตรมาสแรก ปี 2554

รายการที่สา จะมีการลดค่าบริการเบิกถอนเงินหรือถามยอดเงินในบัญชีผ่านเครื่องเอทีเอ็มต่างธนาคาร ซึ่งปัจจุบันเปิดให้ฟรี 4 ครั้ง/เดือน ครั้งที่ 5 ขึ้นไปธนาคารทุกแห่งจะคิดไม่เกิน 10 บาท/รายการจะเริ่มใช้ไตรมาส 2 ปี 2554

รายการสุดท้าย คือการเบิกถอนเงินต่างธนาคารและการถอนเงินข้ามเขตปัจจุบัน คิดรายการละไม่เกิน 20 บาท ส่วนอัตราค่าบริการใหม่ จะสรุปใช้ในไตรมาส 2 ปี 2554

นี่คือคุณูปการของการเกาะติดข่าวเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องจนธนาคารยอมเฉือนกำไรของตัวเองลง แม้ว่าจะเป็นรายได้หลักที่สำคัญก็ตาม

ขนาด ธาริษา วัฒนเกส อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งเป็นผู้ลงนามในประกาศเรื่องนี้ได้ถือเป็นผลงานชิ้นโบแดงก่อนอำลาตำแหน่ง

โดยธาริษาให้เหตุผลการปรับลดค่าต๋งครั้งนี้ว่า เป็นประวัติศาสตร์ทางการเงินของไทย และของตัวเองที่ผลักดันเรื่องนี้เพราะต้องการให้เกิดความทัดเทียมกันระหว่างคนใช้บริการในพื้นที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด

 

บทสรุป

การเกาะติดข่าว ล้วงตับเสือนอนกิน  บี้แบงก์ลดค่าต๋งช่วยคนทั้งชาติและผลการดำเนินงานของธนาคารแห่งประเทศไทย และระบบธนาคารพาณิชย์ของ โพสต์ทูเดย์ ถือว่าเป็นการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนในการสะท้อนรากเหง้าของปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ และปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนทั่วไปที่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากระบบการเงินของประเทศจนเกิดการ ฮั้ว กันมาอย่างยาวนาน โดยที่สาธารณะชนมิมีทางเลือก หรือไม่สามารถส่งเสียงร้องออกมาได้ เพราะการผูกขาดของระบบการเงินที่ไร้ซึ่งกลไกในการกำกับดูแลที่ดีมีมาตรฐาน

กองบรรณาธิการมีความเชื่อว่า กำแพงทางการเงิน ซึ่งกางกั้นมิให้ ผู้ใช้บริการ กล้า ต่อกรกับ ธนาคาร สถาบันการเงินผู้ให้บริการ ได้พังทลายลงมาแล้ว หลังจากที่นายธนาคารยอมลดค่าธรรมเนียมในการให้บริการแก่เจ้าของเงินซึ่งก็คือประชาชนทั่วไปในรูปแบบต่างๆลงมา

กองบรรณาธิการโพสต์ทูเดย์เชื่อว่า หลังจากนี้ไปหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในด้านการเงิน การคลังจะได้ตระหนักและหามาตรการในการจัดการกับปัญหาทางการเงินอย่างเป็นระบบมากขึ้น เพื่อไม่ให้ประชาชนตกเป็นผู้ถูกโขก ขูดรีด จากสถาบันการเงิน โดยไร้ซึ่งการควบคุมอย่างมีมาตรฐานของมืออาชีพอีกต่อไป