คู่มือสื่อมวลชนไทย-ลาว
โดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสมาคมนักข่าวแห่ง ส.ป.ป.ลาว
นาตยา เชษฐโชติรส นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงที่มาของหนังสือเล่มนี้ว่า ในฐานะที่เป็นหนึ่งในคณะของสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทยที่ได้เดินทางไปสาธารณะรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเมื่อปี 2549 (ค.ศ.1986) ซึ่งถือเป็นคณะที่เริ่มต้นเปิดศักราชแห่งความสัมพันธ์ของสมาคมนักข่าวฯทั้ง 2 ประเทศ รู้สึกยินดีและภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ความเข้าอกเข้าใจของพี่น้องไทย-ลาว นับวันมีแต่จะเพิ่มพูนขึ้น
22 ปี ที่ผ่านมา สื่อมวลชนทั้ง 2 ฝ่าย มีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ทำให้เกิดการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน จนกระทั่งมีผลงานที่เป็นรูปธรรมคือ คู่มือ การายงานข่าวความสัมพันธ์ไทย-ลาว เล่มนี้ อันเป็นผลิตผลของความร่วมมือกันของสองสมาคม
แม้จะต้องใช้เวลาเกือบสิบปี ในการผลักดันคู่มือเล่มนี้ จากที่เริ่มต้นต้องการให้เป็นคู่มือที่มีเนื้อหาครอบคลุม ทั้งประวัติศาสตร์ การเมือง การปกครอง ตลอดจนสังคม และวัฒนธรรม ของทั้งสองประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์ให้นักข่าวจากทุกมุมโลกที่ประสงค์จะเข้ามารายงานข่าวในสองประเทศได้ประโยชน์จากการศึกษาคู่มือเล่มนี้อย่างรอบด้าน
เจตนารมณ์ดังกล่าวได้ผ่านความพยายามร่วมกันของสมาคมนักข่าวทั้ง 2 ประเทศ โดยมีการตั้งคณะทำงานหลายคณะเพื่อค้นคว้า และสัมภาษณ์ นักวิชาการด้าน ประวัติศาสตร์ และด้านภาษาศาสตร์ทั้งสองประเทศ เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของเนื้อหาซึ่งไม่ใช่เรื่องที่จะสามารถทำได้ในเวลาอันรวดเร็ว เนื่องจากแต่ละประเทศมีระบบการปกครองที่ต่างกันโดยเฉพาะของ ส.ป.ป.ลาวนั้น การทำหนังสือที่มีเนื้อหาประวัติศาสตร์และการเมือง จะต้องผ่านการตรวจสอบข้อมูลจากส่วนราชการ หลายกระทรวงซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาอีกไม่น้อยสำหรับขั้นตอนดังกล่าว
ในขณะที่ฝ่ายไทยประสงค์จะเห็นความสำเร็จของคู่มือเล่มนี้ในปีนี้เพราะผู้สนับสนุนในการจัดทำคู่มือเล่มนี้ อย่างกระทรวงการต่างประเทศก็ดี สมาคมไทย-ลาวเพื่อมิตรภาพ ก็ดี ต่างติดตามคู่มือเล่มนี้มานานแล้ว ในที่สุด เมื่อท่าน ศ.ดร.บ่อแสงดำ วงดาลา รองรัฐมนตรีกระทรวงแถลงข่าวและวัฒนธรรม ประธานสมาคมนักข่าวแห่ง ส.ป.ป.ลาว และประธานสมาคมลาว-ไทยเพื่อมิตรภาพ จึงเสนอให้ปรับเนื้อหาคู่มือเล่มนี้ โดยให้ตัดประเด็นประวัติศาสตร์และการเมืองออกไป และให้เน้นให้เป็นหนังสือคู่มือคำศัพท์ไทย-ลาว เป็นด้านหลัก โดยเน้นคำไทย-ลาว ที่พึงระวัง ถึงความแตกต่าง และบางคำมีความละเอียดอ่อนในการใช้ที่แตกต่างกัน
สาระสำคัญของหนังสือคู่มือสื่อมวลชนไทย-ลาว ประกอบด้วย
- ความเป็นมาของสมาคมนักข่าวไทย-ส.ป.ป.ลาว และที่มาของการจัดทำ คู่มือการรายงานข่าวความสัมพันธ์ไทย-ลาว
- คำไทย-ลาวพึงระวัง
- คำศัพท์ไทย-ลาว
- กรอบการผ่านแดนตามข้อตกลงระหว่างไทยกับลาว
คู่มือการรายงานข่าวฯ จึงสำเร็จได้โดยผู้อ่านที่ประสงค์ศึกษาการรายงานข่าวของ 2 ประเทศ จะได้ทราบถึงประวัติความสัมพันธ์ของสองสมาคม คำไทย-ลาว ที่พึงระวัง คำศัพท์ทั่วไป กรอบการผ่านแดนตามข้อตกลงระหว่างไทยกับลาว และทำเนียบสื่อมวลชนไทยลาว
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ขอขอบคุณผู้สนับสนุนงบประมาณส่วนหนึ่งในการจัดทำคู่มือเล่มนี้ ทั้งกระทรวงการต่างประเทศและสมาคมไทย-ลาวเพื่อมิตรภาพ ตลอดจนคณะกรรมการบริหารสมาคมทุกชุดที่ผ่านมา โดยเฉพาะคณะทำงานชุดต่าง ๆ รวมทั้งนักวิชาการทุกท่านที่ให้ความร่วมมือที่ทุ่มเททั้งกำลังกาย กำลังใจอย่างเต็มที่ จนกระทั่งประสบความสำเร็จในการจัดทำคู่มือเล่มนี้ และหวังว่าจะเป็นประโยชน์กับผู้อ่านทุกคนไม่มากก็น้อย
#
สามารถศึกษาข้อมูลหนังสือเล่มนี้ได้ที่ ห้องสมุดสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
เปิดทำการ วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 10.00-18.00 น.
538/1 ถ.สามเสน ดุสิต กรุงเทพฯ 10300
โทร 0-2668-9422