บันทึกคนข่าว 7 ตุลา ข้อเท็จจริงที่แตกต่าง
บันทึกคนข่าว 7 ตุลา ข้อเท็จจริงที่แตกต่าง จัดพิมพ์โดย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ ธันวาคม 2551 นายธีรเดช เอี่ยมสำราญ บรรณาธิการหนังสือเล่มนี้ ได้กล่าวถึงที่มาของหนังสือว่า ค่ำวันที่ 8 ตุลาคม หลังเหตุการณ์ความรุนแรงจากการ สลายม๊อบหน้ารัฐสภาผ่านไป 1 วัน ผมและเพื่อนักข่าวอีก 2 คนมีนัดกับธีรยุทธ บุญมี อาจารย์ประจำวิชาคระสังคมวิทยาและมนุษย์วิทยา มหาวิทยาลัยธรรมสาสตร์ ณ ซอกหลืบหนึ่งของกรุงเทพฯ จากมุมที่เรานั่นสนทนา มองลงไปเบื้อล่าง คนหนุ่มสาวยังใช้ชีวิตตามปกติ เดินจับจ่าย ช็อบปิ้ง และดื่มกิน อีกด้านหนึ่ง ช่างเทคนิคกำลังติดตั้ง ระบบไฟ และระบบเครื่องเสียงสำหรับเวทีคอนเสิร์ต
อดีตผู้นำนักศึกษาช่วงตุลาคม 2516 เปรยว่า ไม่กี่ชั่วโมงที่ผ่านมา เพิ่งมีการบาดเจ็บล้มตายกลางกรุงเทพฯ แต่ดูสิผู้คนยังใช้ชีวิตตามปกติ เหมือนกับว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น... อีกไม่นานคนไทยก็ลืมว่าเกิดอะไรขึ้น เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551
3 วันต่อมา คุณประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ เลขาธิการสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ติดต่อมาให้ช่วยเป็นบรรณาธิการหนังสือ บันทึกคนข่าว 7 ตุลา ข้อเท็จจริงที่แตกต่าง ไม่แน่ใจว่าถูกเลือกให้เป็นบรรณาธิการหนังสือเฉพาะกิจด้วยเหตุผลใด แน่ชัด แต่ที่แน่ ๆ จุดยืนส่วนตัวตลอด 20 ปี บนเส้นทางนักข่าว ชอบอะไรที่เป็นข้อเท็จจริง ไม่ชอบใส่สีตีไข่ ชอบข่าวสืบสวนสอบสวนมากกว่าข่าวตีปิงปอง และที่สำคัญ ไม่ฝักใฝ่ทั้งระบอบทักษิณ และไม่เลื่อมใสในการเมืองใหม่
เมื่อรับรายงานมาแล้ว ได้เรียกประชุมทีมงานที่ประกอบด้วยนักข่าวและช่างภาพที่อยู่ในเหตุการณ์วันที่ 7 ตุลาคม เกือบทุกสำนักข่าว และที่สำคัญต้องการให้นักข่าวเขียนความจริงจากสิ่งที่เห็น โดยไม่ต้องเอาความเห็นความชอบส่วนตัวใส่เข้าไปในเรื่อง สรุปง่าย ๆ ว่า วันเวลานั้น คุณอยู่ตรงไหน เห็นอะไร เขียนออกมาให้หมด พร้อมกำชับทีมงานครั้งสุดท้ายว่าหนังสือเล่มนี้คือบันทึกประวัติศาสตร์ของคนทำข่าว ทำให้เร็ว และดีที่สุด
หลังจากนั้น สิ้นเดือนตุลาคม เรียกเก็บต้นฉบับทั้งหมด ใช้เวลาอ่านต้นฉบับข้ามวันข้ามคืน ก่อนส่งสำนักพิมพ์มติชน และออกมาเป็นหนังสือเล่มนี้ บอกกันตรง ๆ ว่าอาจไม่ใช่บันทึกเหตุการณ์วันที่ 7 ตุลา ฉบับที่ดีที่สุด แต่ยืนยันได้ว่า เป็นบันทึกที่น่าอ่านมากที่สุด เพราะคนเขียนคือนักข่าวกว่า 20 ชีวิต ที่เสี่ยงตายอยู่ในสนามข่าวในวันที่เกิดเหตุ
ตัวอย่างเนื้อหาข้อมูลที่น่าสนใจในเล่มประกอบด้วย
- ลำดับเหตุการณ์ 7 ตุลาคม 2551 “นาทีต่อนาที สลายม๊อบหน้ารัฐสภา”
- ตุลา ลืมไม่ลง : หัสยา ชาติมนตรี สำนักข่าวเนชั่น
- ไอ้เสือเผ่น !! : ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์
- “ตัดช่องน้อย” : จีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง หนังสือพิมพ์แนวหน้า
- กำแพงความรู้สึก บทบันทึกจากซอยสวนอ้อยถึงเพลงชาติ
- "วิกฤตการเมือง" เหนื่อยทั้งกาย เหนื่อยทั้งใจ : มานพ ทิพย์โอสถ หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์
- ขอร่วมประวัติศาสตร์ ไม่ขอเป็นประวัติศาสตร์ : โอฬาร เลิศรัตนดำรงกุล หนังสือพิมพ์บ้านเมือง
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของหนังสือเล่มนี้เท่านั้น ยังมีเรื่องราวที่น่าสนใจรอให้คุณได้ศึกษาข้อมูลอีกมากจากตัวหนังสือที่เขียนขึ้นโดยนักข่าวภาคสนาม ผู้เสี่ยงภัยในสมรภูมิรบ ที่ต้องการถ่ายทอดความรู้สึกและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ให้สังคมได้รับรู้ จึงเป็นที่มาของหนังสือเล่มนี้ โปรดติดตาม !!
#
สนใจศึกษาข้อมูลหนังสือเล่มนี้ได้ที่ ห้องสมุดสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
เปิดทำการ วันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 10.00 – 18.00 น.
538/1 ถ.สามเสน ดุสิต กรุงเทพฯ 10300 โทร 0-26689422