(วิ)วาทกรรม นายกฯสมัครกับสื่อ-รายงานผลการศึกษา

จัดทำโดย
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
และ มีเดียมอร์นิเตอร์


การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ ศึกษา “พฤติกรรม-แบบแผนและกลวิธีการสื่อสาร” ของนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ที่มีต่อสื่อมวลชน ว่ามีลักษณะเสริมสร้างและเป็นประโยชน์ต่อการรายงานข่าวเพื่อการพัฒนาสังคมระบอบประชาธิปไตยเช่นไร
โดยคัดเลือกหน่วยศึกษาจากคำสัมภาษณ์ผ่านสื่อมวลชนของนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ตั้งแต่ช่วงที่เข้ามารับเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชาชนจนถึงปัจจุบัน ทั้งจากในรายการข่าวโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ หรือในรายการนายกสมัครพบประชาชน (ช่วงเดือน ตุลาคม 2550- มีนาคม 2551)

1. ประเด็นการตอบคำถาม
นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี มักตอบคำถามของผู้สื่อข่าวด้วยการให้คำตอบใน 2 ลักษณะที่ชัดเจน คือ 1) ตอบคำถามไม่ตรงประเด็น และ 2) ตอบคำถามที่ไม่ใช่คำตอบ ในขณะเดียวกันการตอบคำถามที่ตรงประเด็นของนายสมัครส่วนใหญ่ จะที่ให้รายละเอียดของข้อมูลที่มีความสำคัญเพียงเล็กน้อย มีลักษณะที่สั้น ห้วน ตัดบท เพื่อให้การตอบคำถามนักข่าวสิ้นสุดอย่างรวดเร็ว แต่หากเป็นคำตอบยาว ๆ ก็มักขาดสาระสำคัญของคำตอบที่ตรงประเด็น

2. กลวิธีการตอบคำถาม

พบว่า นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี มี  กลวิธีการเลี่ยงการตอบคำถาม (J.T. Dillion) 6 ลักษณะ สำคัญ คือ การโจมตีคำถาม การโจมตีผู้สัมภาษณ์ การเปิดประเด็นทางการเมือง การบอกปัดหรือปฏิเสธที่จะตอบ การตั้งคำถามเอากับตัวคำถาม การรับรู้ว่ามีคำถามแต่ไม่อยากตอบคำถามนั้น โดยใช้รูปแบบภาษา คือ การพูดเป็นนัย การพูดโดยให้ผู้อื่นตีความ การพูดแบบประชดประชัน การละคำพูดเอาไว้

3. การใช้ภาษาของนักการเมือง

จากการศึกษาพบว่า นายสมัครมักจะพูดเสียดสี โดยพาดพิง เปรียบเปรยว่ากระทบกระทั่ง และเหน็บแนมฝ่ายตรงข้าม หรือผู้ที่มีแนวคิด รวมไปถึงความคิดเห็นในเรื่องต่าง ๆ ที่มีแตกต่างไปจากตนเองอย่างสม่ำเสมอ และถือเป็นกลวิธีที่นายสมัครใช้มากที่สุด รองลงมาคือการพูดอุปลักษณ์ การพูดจาอ้อมค้อมวกวนในเรื่องผลงานของรัฐบาล การพูดให้เป็นเรื่องตลก ทั้งหมดก็มีวัตถุประสงค์เพื่อเลี่ยงประเด็นการถูกตรวจสอบ เพราะเน้นแต่จะชี้แจงเรื่องที่มีปัญหากับสื่อมวลชนเท่านั้น
การใช้ภาษาที่รุนแรง เกือบทั้งหมดเป็นไปเพื่อการแก้ไขและให้เหตุผลเพื่อหักล้างความเข้าใจผิดของสื่อมวลชน น้อยมากที่นายสมัครจะใช้ภาษารุนแรงต่อสาระการดำเนินงานของรัฐบาล

4. การความร่วมมือในการสนทนา
พบว่า นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี มักมีท่าทีที่ไม่ให้ความร่วมมือกับสื่อมวลชนในการสนทนา หรือการสัมภาษณ์ โดยใช้กลวิธีการลีกเลี่ยงคำตอบ หรือตอบไม่ตรงประเด็น และเมื่อพิจารณาในคุณภาพของคำตอบ ก็มักไม่สมบูรณ์ เพราะ 1) ไม่ให้ข้อมูลเท่าที่จำเป็น เพราะมักบ่ายเบี่ยงตีรวนชวนทะเลาะกับผู้สื่อข่าวจนทำให้ไม่ได้ข้อมูลเหตุผล-เหตุการณ์ที่จำเป็น และ 2) การประโยคซ้ำความ เพราะมักเลือกพูดประโยคซ้ำๆ ไม่ว่าจะเป็นคำตอบต่อสื่อหรือคำถามกลับต่อสื่อมวลชน

5. การใช้อวัจนะภาษา
จากการศึกษา พบว่า นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี เป็นบุคคลที่มีความโดดเด่นในการแสดงออกทางอวัจนะภาษา โดยแบ่งลักษณะการใช้อวัจนะภาษาออกเป็น 4 ลักษณะ
1. สีหน้าและสายตา มักแสดงขมวดคิ้ว ทำหน้าบึ้งตึงอย่างเห็นได้ชัดในยามที่นักข่าวถามคำถามที่ไม่เข้าหู และบ่อยครั้งมักแสดงสีหน้าอวดดีเมื่อต้องการกล่าวโจมตีคู่แข่งขันทางการเมือง หรือในขณะที่กล่าวดูหมิ่นดูแคลนสื่อมวลชน แต่หากอยู่ในช่วงของการเริ่มให้สัมภาษณ์หรือเริ่มรายการสนทนาประสาสมัคร นายสมัครมักแสดงสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส กล่าวได้ว่า ผู้ที่สัมภาษณ์สามารถรู้ได้ทันทีว่า นายกรัฐมนตรีกำลังมีความรู้สึกใดอยู่ในขณะนั้น
2 ท่าทาง มักยกมือทั้งสองข้างประกอบการพูดคุยกับสื่อมวลชน อีกทั้งยังพบกรณีที่นายสมัครใช้นิ้วชี้หน้านักข่าวที่กำลังปะทะคารมอยู่ด้วย และท่าทางแข็งกร้าว
3 น้ำเสียง พบว่า น้ำเสียงของนายสมัคร สุนทรเวช ถือเป็นเอกลักษณ์ที่เด่นชัด และสะท้อนบุคลิกโผงผาง ดุดัน นายสมัครมักให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนด้วยน้ำเสียงแข็งกร้าว ห้วน กระชับ ชัดเจน พูดเร็วหรือบางครั้งเรียกได้ว่า พูดรัว มักไม่มีหางเสียงคำว่าครับ บ่อยครั้งที่มักพูดด้วยน้ำเสียงกระแทกแดกดันในกรณีที่กล่าวกระทบกระเทียบบุคคลที่ 3 หรือนักข่าว
4 อารมณ์ พบว่า มักแสดงอารมณ์ออกมาอย่างชัดเจน ตรงไปตรงมา เช่น หากไม่พอใจก็จะมีสีหน้าบึ้งตึง คิ้วขมวด หรือหากอารมณ์ดี ก็จะมีสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส พูดจาด้วยน้ำเสียงที่อ่อนลงกว่าปกติ


6. เนื้อหาสาระจากรายการสนทนาประสาสมัคร
พบเนื้อหา 4 ประเด็นเนื้อหา คือ ด้านการเมือง ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และเนื้อหาด้านอื่นๆ ที่ส่วนมากเป็นการโต้ตอบ วิพากษ์กลับ แฝงเนื้อหาที่สะท้อนให้เห็นถึงภาพลักษณ์ที่ดี การดำเนินงาน และการแก้ไขปัญหาที่ราบรื่นในรัฐบาลของนายสมัครเอง ซึ่งถือได้ว่าเป็นการนำสื่อมาใช้เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการประชาสัมพันธ์และโฆษณาชวนเชื่อ ทั้งนี้ รายการสนทนาประสาสมัครยังถูกใช้เป็นพื้นที่ทางเกมการเมือง เพื่อโต้ตอบกลับกับกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับตน เช่น สื่อหนังสือพิมพ์-โทรทัศน์ นักการเมืองฝ่ายค้าน นักวิชาการ และกลุ่มพันธมิตประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

7. การใช้ภาษาที่ไม่สุภาพ
พบว่า การใช้ภาษาของนายสมัครนั้น มักจะเป็นคำพูดที่ไม่มีความสุภาพ หยาบกระด้าง และไม่มีหางเสียงอยู่ตลอดเวลา ทั้งนี้พบว่า ลักษณะคำพูดของนายสมัคร จะมีระดับความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ประกอบกับอารมณ์ที่ไม่คงเส้นคงวา และโมโหฉุนเฉียวอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเกิดความไม่พอใจในคำถามต่าง ๆ หรือเมื่อต้องการต่อว่า เหน็บแนบ และพาดพิงการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน

8. วิวาทกรรมสมัครกับสื่อ
พบว่านายสมัครใช้กลวิธีการสื่อสารที่ไม่ให้ความร่วมมือ การตอบคำถามเพื่อบ่ายเบี่ยง เลี่ยงประเด็น การใช้กลวิธีทางภาษาโต้ตอบกลับในลักษณะคำถามกลับ เช่น มีปัญหาอะไรกับเรื่องนี้ ถามหาอะไร มีใครตายจากเรื่องนี้ สติปัญญาสื่อมีแค่นี้ ซึ่งเป็นบทสนทนาที่ไม่สุภาพ เพื่อควบคุมเกมการสนทนา และพยายามให้เป็นการสื่อสารทางเดียวเพื่อที่ตนจะไม่ต้องให้ข้อมูล หลังจากนั้นจึงใช้ภาษาเชิงโน้มน้าวใจว่าตนถูกรังแก ถูกให้ร้าย และวาทกรรมที่นายสมัครสร้างและมักใช้มาที่สุดคือ คือขอเวลาให้ตนได้ทำงาน ขณะที่ก็ปิดท้ายว่ากล่าวตักเตือนคนที่มาวิพากษ์วิจารณ์ตนกลับว่าไม่มีจริยธรรม หยาบคาย และเป็นผู้ร้าย

ผลกรศึกษาสรุปว่านายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีนั้น ขาดความเข้าใจเรื่องบทบาท สถานภาพ และหน้าที่ของตนและผู้อื่น เพราะนายสมัคร (ในฐานะผู้พูด) มีกลวิธีการสื่อสารความที่ไม่เป็นมิตรกับสื่อ และไม่เอื้อำนวยประโยชน์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย เพราะข้อความที่สื่อได้จากการทำข่าวนั้นไม่สามารถสร้างผลประโยชน์ได้ ไม่นำไปสู่กระบวนการมีส่วนร่วมทางการเมืองและการตรวจสอบรัฐบาลได้
ไม่ว่าจะเป็น
(1) แง่มุมของการให้ความร่วมมือ – (cooperate in conversation/inetview) ทั้งจากการไม่ตอบคำถาม การบ่ายเบี่ยงเลี่ยงประเด็น การให้เหตุผลแก้ตัว การปฏิเสธความผิด การฟ้องร้องและกล่าวโทษผู้อื่น การย้อมคำถามกลับไปยังตัวผู้ถาม การควบคุมบทสนทนาและการสื่อสารให้เป็นไปในทางเดียว
(2) การให้ความคิดเห็น ความรู้สึกมิใช่ข้อเท็จจริง (fact) ทั้งจากคุณภาพของข้อมูลที่เป็นเท็จ ไม่เปิดผยข้อเท็จจริงแต่เน้นให้ความคิดเห็นส่วนตัว การแสดงอารมณ์ความรู้สึกส่วนตัวเพื่อปกปิดข้อมูล การปฏิเสธว่าตนไม่สามารถให้ข้อมูลได้ การอ้างว่าคำถามของนักข่าวมิสามารถจะถามได้และเป็นการไม่สมควรถาม
(3) การให้ข้อมูลที่จำเป็น ถูกต้อง ครบถ้วน (accuracy) ทั้งจากการให้ข้อมูลที่ไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่เป็นประโยชน์และตรงกับคำถาม ให้ข้อมูลเพียงบางส่วนหรือเพียงครึ่งเดียว การปกปิด เบี่ยงประเด็น การยกตัวอย่างเปรียบเทียบที่ไม่เกี่ยวข้องและไม่จำเป็นกับคำตอบ การให้ข้อมูลมากเกินความจำเป็น
(4) การใช้ภาษาที่ไม่เป็นมิตร ขาดความสุภาพและขาดน่าเชื่อถือ (Aggressive, Impolite and incredibility) ทั้งจากภาษาพูด และอวัจนะภาษาที่แสดงออกถึงความก้าวร้าว รุนแรง ดุเดือด การใช้คำพูด เสียดสี ประชดประชัน สำนวนโวหารเหน็บแนม การใช้จากจังหวะคำพูดที่สะท้อนให้เห็นความต้องการปกปิด เบี่ยงเบนข้อเท็จจริง การให้ข้อมูลด้านเดียว
(5) การสื่อสารเพื่อการเล่นเกมทางการเมือง ทั้งจากการโฆษณาประชาสัมพันธ์รัฐบาล การปกป้องและแก้ต่างรัฐมนตรี การโน้มน้าวใจผู้ฟังให้เชื่อ การกล่าวโจมตีกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงกันข้าม ซึ่งไม่ได้ส่งผลประโยชนโดยตรงไปยังการดำเนินงานกิจการการเมืองที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยตรง ขาดเนื้อหาการดำเนินงานของรัฐตามนโยบายที่ประกาศหาเสียง  (politics game not public interest)
(6) ความไม่เข้าใจในสถานภาพและบทบาทของตนในกระบวนการสื่อสารทางการเมือง ซึ่งไม่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย ทั้งจากพฤติกรรมการสื่อสารที่ไม่ให้ความร่วมมือกับสื่อมวลชนในการรายงานข่าว ไม่ยอมรับการวิพากษ์วิจารณ์ ไม่นำเอาคำวิจารณ์มาปรับปรุงแก้ไข ไม่เข้าใจธรรมชาติของสื่อ แทรกแซงสื่อด้วยการไม่ให้ความร่วมมือกับสื่อในการให้ข้อมูล ปกปิด เบี่ยงเบน เลี่ยงประเด็น มีพฤติกรรมคุกคามสื่อในลักษณะขู่ ท้าทายไปยังตัวบุคคลและสื่อหลายหัวว่าจะเอาเรื่อง ซึ่งส่งผลต่อความปคุณภาพข้มูลข่าสวสารและความต้องการรู้ของประชาชน เท่ากับเป็นการแทรกแซงสื่อโดยอ้อม
และด้วยรูปแบบ พฤตกรรมการสื่อสารของนายสมัคร สุนทรเวช แสดงออกถึงความเพิกเฉย ไม่สนใจ มองไม่เห็นคุณค่าของสื่อในสังคมประชาธิปไตย ด้วยการไม่เคารพศักดิ์ศรคีและเกียรติภูมิของสื่อ

////////////////////////////////////////////////////////////////////


(ดาวโหลดฉบับเต็ม)