นายปราเมศ เหล็กเพ็ชร์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย นางสาวพิมลพรรณ ศิริวงศ์วานงาม ผู้อำนวยการ ด้านสื่อสารองค์กรและประชาสัมพันธ์การตลาด บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น นายบรรยงค์ สุวรรณผ่อง กรรมการควบคุมจริยธรรม สมาคมนักข่าวฯ และ นางสาวน. รินี เรืองหนู อุปนายกฝ่ายวิชาการ สมาคมนักข่าวฯ และประธานคณะกรรมการตัดสิน รางวัลพิราบน้อย ร่วมพิธีมอบรางวัล พิราบน้อย ประเภทต่าง ๆ และรางวัล ริต้า ปาติยะเสวี ประจำปี ๒๕๖๐ เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๔ มีนาคม ๒๕๖๑ ที่สมาคมนักข่าวนักหนัสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
ผลการประกวดรางวัลพิราบน้อย รางวัลริต้า ปาติยะเสวี และข่าวTJACYBER REPORTER ประจำปี ๒๕๖๐ ของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้ดำเนินการจัดประกวดหนังสือพิมพ์ฝึกปฎิบัติ นิตยสารฝึกปฏิบัติ ข่าวหนังสือพิมพ์ฝึกปฎิบัติ ข่าวสิ่งแวดล้อมฝึกปฏิบัติ ข่าวออนไลน์ฝึกปฏิบัติ และบรรณาธิกรหนังสือพิมพ์ฝึกปฏิบัติ ในสถาบันอุดมศึกษารางวัล “พิราบน้อย” และประกวดสารคดีเชิงข่าว “รางวัลริต้า ปาติยะเสวี” เพื่อส่งเสริมและพัฒนาการจัดทำหนังสือพิมพ์และการทำข่าวของนิสิตนักศึกษาวิชานิเทศศาสตร์และวารสารศาสตร์ในสถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ โดยจะมีการประกาศเกียรติคุณและมอบรางวัล “พิราบน้อย” และรางวัล “ริต้า ปาติยะเสวี” เป็นประจำทุกปี การตัดสินรางวัลพิราบน้อยประจำปี ๒๕๖๐ ปรากฎผล ดังนี้
รางวัลพิราบน้อย ของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ซึ่งได้รับการสนับสนุนการจัดประกวดและเงินรางวัลโดย บริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) โดยในปีนี้รางวัลพิราบน้อยประเภทหนังสือพิมพ์ฝึกปฎิบัติดีเด่น มีผลงานหนังสือพิมพ์ฝึกปฏิบัติส่งเข้าประกวดจำนวน ๑๒ ฉบับ จาก ๑๑ มหาวิทยาลัย ผลงานหนังสือพิมพ์ที่ได้รับรางวัลดีเด่นได้แก่ หนังสือพิมพ์ลูกศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้รับรางวัลเงินสด ๒๐,๐๐๐ บาท พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณ รางวัลชมเชยอีก ๒ รางวัล ได้แก่หนังสือพิมพ์หอข่าว ของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และหนังสือพิมพ์นิสิตนักศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับรางวัลเงินสด รางวัลละ ๗,๕๐๐ บาท พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณ และรางวัลพิราบน้อย ประเภทบรรณาธิกรหนังสือพิมพ์ ดีเด่นได้แก่ หนังสือพิมพ์ลูกศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้รับรางวัลเงินสด รางวัลละ ๕,๐๐๐ บาท พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณ
รางวัลพิราบน้อยประเภทข่าวฝึกปฏิบัติดีเด่น ในปีนี้มีผลงานข่าวส่งเข้าประกวดจำนวน ๒๓ ข่าว จาก ๑๐ มหาวิทยาลัย ผลงานข่าวที่ได้รับรางวัลดีเด่นได้แก่ ข่าวแฉงบกีฬาสีเด็กมัธยม หนังสือพิมพ์หอข่าว มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้รับรางวัลเงินสด ๑๕,๐๐๐ บาท พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณ รางวัลชมเชยอีก ๒ รางวัล ได้แก่ ข่าวยอดดูซีรีส์วายพุ่งเกิน ๖๐๐ ล.คอซีรีย์-นิยายวายท้วงแค่ขายได้ แต่สังคมยังไม่ยอมรับ หนังสือพิมพ์นิสิตนักศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลย และ ข่าวยัดเงิน-ข่มขู่-ยืดสอบ เอื้อครูลามกย่ามใจก่อเหตุซ้ำ หนังสือพิมพ์ลูกศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้รับรางวัลเงินสด รางวัลละ ๕,๐๐๐ บาท พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณ
รางวัลพิราบน้อย ประเภทข่าวสิ่งแวดล้อมในสถาบันอุดมศึกษาดีเด่น มีผลงานข่าวส่งเข้าประกวดจำนวน ๑๕ ข่าว จาก ๖ มหาวิทยาลัย ผลงานข่าวที่ได้รับรางวัลดีเด่นได้แก่ ข่าวหมีของกลางค้างติดกรง หนังสือพิมพ์ลูกศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้รับรางวัลเงินสด ๑๐,๐๐๐ บาท พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณ รางวัลชมเชย มี ๒ รางวัล ได้แก่ ข่าวแห่ขายแบตถุงยาง หวั่นเพิ่มขยะอันตราย หนังสือพิมพ์หอข่าว มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และ ข่าวชาวบ้านโวยเทศบาลมหาสารคามปล่อยน้ำเสียงลงห้วยคะคางนาน ๒๐ ปี หนังสือพิมพ์สื่อมวลชน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณ
รางวัลพิราบน้อย ประเภทข่าวออนไลน์ฝึกปฏิบัติในสถาบันอุดมศึกษาดีเด่น มีผลงานข่าวส่งเข้าประกวดจำนวน ๘ ข่าว จาก ๔ มหาวิทยาลัย ผลงานที่ได้รับรางวัลดีเด่นได้แก่ ข่าวรถเมล์ไทยภายใต้อำนาจ "รัฐราชการ" ส่วนกลางรวบอำนาจ ชี้ชะตาสิทธิการสัญจรท้องถิ่น facebook.com/looksilp/ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้รับรางวัลเงินสด ๑๐,๐๐๐ บาท พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณ ส่วนผลงานข่าวออนไลน์ที่ได้รับรางวัลชมเชย มี ๒ รางวัล ได้แก่ ข่าวตำรวจรับมีจริง ป่าชายเลนแหล่งมั่วเซ็กส์พ่วงค้ากาม coconews.in.th มหาวิทยาลัยบูรพา และ ข่าวป่ากางเกงในแหล่งมั่วสุมใหม่ในสารคาม https://suemuanchonnews.com มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณ
รางวัลพิราบน้อย ประเภทนิตยสารฝึกปฎิบัติดีเด่น มีผลงานนิตยสารฝึกปฏิบัติส่งเข้าประกวดจำนวน ๔ ฉบับ จาก ๔ มหาวิทยาลัย ผลงานนิตยสารที่ได้รับรางวัลดีเด่นได้แก่ นิตยสารอ่างแก้วพลัส มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับเงินรางวัลเงินสด ๑๐,๐๐๐ บาท พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณ
รางวัลริต้า ปาติยะเสวี สารคดีเชิงข่าวฝึกปฏิบัติในสถาบันอุดมศึกษา ของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เป็นรางวัลที่จัดประกวดเพื่อรำลึกถึงนางสาวริต้า ปาติยะเสวี อดีตนักหนังสือพิมพ์ผู้ล่วงลับ ในปีนี้มีผลงานสารคดีเชิงข่าวส่งเข้าประกวดจำนวน ๑๘ ชิ้น จาก ๗ มหาวิทยาลัย ในปี ๒๕๖๐ ผลงานสารคดีเชิงข่าวที่ได้รับรางวัลดีเด่นได้แก่ สารคดีเชิงข่าว ก่อนโลมาจางหายใต้คลื่น หนังสือพิมพ์ลูกศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้รับรางวัลเงินสด ๑๐,๐๐๐ บาท พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณ รางวัลชมเชยอีก ๒ รางวัล ได้แก่ สารคดีเชิงข่าว พฤติกรรมเด็กบริโภคขนมและอาหารหน้าโรงเรียนไม่ถูกหลัก "เสี่ยง" สารพัดโรค หนังสือพิมพ์บ้านกล้วย มหาวิทยาลัยกรุงเทพและ สารคดีเชิงข่าวส่องทางเลือก ทรานส์เจนเดอร์ ณแดนภารตะ หนังสือพิมพ์อ่างแก้ว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณ
ส่วนผลการตัดสินรางวัลข่าวเว็บไซต์ TJACyberReporter จากการอบรมเชิงปฏิบัติการ พิราบน้อยรุ่นที่ ๒๐ ของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ข่าวยอดเยี่ยม ๑ รางวัล ได้รับเงินรางวัล ๓๐๐๐ บาทได้แก่ ข่าวกรรมการบัณฑิตฯ แจงปมประท้วงภาพรับปริญญา มช. เกินครึ่งหมื่น ยันไม่ผูกขาดร้าน-ไม่ทุจริต โดย ชนฐิตา ไกรศรีกุล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รองชนะเลิศ ๒ รางวัล ได้รับเงินรางวัลๆ ละ ๒๐๐๐ บาทได้แก่ ข่าวปรับแผนรถเมล์เทศบาลเชียงใหม่ หลังประชาชนไม่นิยมใช้บริการ โดย ชุติมณฑน์ สอนไพบูลย์ มหาวิทยาลัยพายัพ และ ข่าวประมงตรังโอด ลงทุนเลี้ยงหอยแมลงภู่แทนใช้โพงพางจับปลาไม่คุ้ม โดย สมิตานัน หยงสตาร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ส่วนรางวัลข่าวยอดผู้เข้าชมสูงสุด(ยอดวิว) ได้รับเงินรางวัล ๑๐๐๐ บาท ได้แก่ ข่าว แฉ!! "ชายรักชาย" ใช้ทวิตเตอร์ นัดเสียวตามมุมตึก-ห้าง โดย ขวัญแก้ว แช่มโสภา มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ๖๒๘ ครั้ง
รางวัลพิราบดิจิทัล ประเภทข่าวฝึกปฏิบัติในสถาบันอุดมศึกษา มีผลงานข่าวส่งเข้าประกวดจำนวน ๘ ข่าว จาก ๔ มหาวิทยาลัย ผลงานที่ได้รับรางวัลดีเด่น ได้แก่ ข่าว “เปิดโปงพนันยุคดิจิทัล” มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้รับรางวัลเงินสด ๑๐,๐๐๐ บาท พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณ ส่วนผลงานข่าวที่ได้รับรางวัลชมเชย มี ๒ รางวัล ได้แก่ ข่าว “Cyberbullying เครื่องมือรังแกกันของเด็กยุคไซเบอร์” มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และ ข่าว “แฉบ่อนเฟซบุ๊กไลฟ์ ซ่อนในกลุ่มปิดสมาชิกกว่าล้าน นักพนันรุ่นเยาว์เพียบ” มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ได้รับรางวัลเงินสด ๕,๐๐๐ บาท พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณ โดยอาจารย์บรรยงค์ สุวรรณผ่อง ที่ปรึกษาชมรมนักข่าวสายเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นผู้มอบรางวัล