นิเทศยุคใหม่ งานข่าวไม่เวิร์คแล้วพี่
เป็นธรรมเนียมของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สำหรับการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการนักข่าวพิราบน้อยต่อเนื่องเข้าสู่ปีที่ 12 ระหว่างวันที่ 6 – 9 สิงหาคม 2552 ที่วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา จ.หวัดชลบุรี เพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาทั่งประเทศที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการได้ ทำข่าวจริง
จุดประสงค์หลักของโครงการคือการส่งเสริมการพัฒนาวิชาชีพสื่อมวลชนด้าน สิ่งพิมพ์ แต่ดูเหมือนพิราบน้อยกว่า 70 คน ที่บินมาจากสถาบันต่าง ๆ ทั่วประเทศต่างส่ายหน้าให้กับวิชาชีพ “หนังสือพิมพ์” มากขึ้นทุกปี
อาชีพยอดฮิตของเหล่าพิราบน้อยยังคงวนเวียนอยู่กับ นักข่าวสารคดี ผู้ประกาศข่าว คอลัมนิสต์ที่ต่างคนต่างสะท้อนความฝันให้กับพี่ ๆ นักข่าฟัง น้อยคนนักที่บอกว่าอยากเป็นนักข่าวเพื่อชาวบ้าน นักข่าวเพื่อสังคม ฝันของน้อง ๆ วารสารศาสตร์ นิเทศศาสตร์เหล่านี้ไม่ต่างจากเด็กที่เข้าฝึกพิราบน้อยในช่วง 2- 3 ปี ที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นการอยากมีตัวตนอย่างรวดเร็วโดยไม่อยากรู้พื้นฐานการทำข่าว ไม่สนใจรากเหง้าของความเป็นนักข่าว ด้วยเหตุผลหลากหลาย
“หนูอยากเป็นผู้ประกาศข่าวมากกว่า หนูไม่ค่อยอดทนพอ เจอแดดร้อน ๆ ไม่ไหว ” นิชุดา อนันต์นาท หรือน้องแน็ต นักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ เอกวารสารศาสตร์สิ่งพิมพ์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ สาวน้อยหน้าใสจาก กรุงเทพฯ ที่เข้าร่วมโครงการบอกกับเรา
น้องแน็ตบอกว่าชื่นชมรายการดาวกระจายเป็นที่สุด ซึ่งเป็นรายการในฝันหากเรียนจบอยากไปร่วมรายการด้วย ส่วนผู้ประกาศในดวงใจคือ “พัชรศรี เบญจมาศ ” เพราะเคยเจอตัวจริงเสียงจริง “กาละแมร์” เป็นคนพูดจาน่ารัก พูดเก่ง มีสาระ แต่ถ้าเอาจริงก็อยากเป็นเหมือน “นาเดีย นิมิตรวานิช”
ส่วนสาเหตุที่นอกจากตากแดดร้อน ๆ ไม่ไหว คือ การโดนแหล่งข่าวหนุ่ม ๆ โทรศัพท์มาจีบจากการทำหนังสือพิมพ์บ้านกล้วย หนังสือพิมพ์ฝึกหัดของมหาวิทยาลัย ทำให้รู้สึกหวาดกลัวการเป็นนักข่าว ถึงแม้จะเข้าร่วมโครงการพิราบน้อยกลับมา “หนูก็ยังอยากเป็นผู้ประกาศ”
คล้ายกับความต้องการของ “กานต์ ชีวสาธน์” หนุ่มน้อยคณะนิเทศศาสตร์จากมหาวิทยาลัยพายัพ ที่ชื่นชอบการทำรายการเกี่ยวกับวิทยุ และโทรทัศน์ เพราะหลักสูตรนิเทศศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยจะเรียนรวม ๆ ไม่แยกสาขา ฉะนั้นเด็กรุ่นใหม่จึงไม่ชื่นชอบการทำข่าว เพราะมองว่าการทำข่าวเป็นเรื่องยาก
“เรามักได้ยินคนทำข่าวบ่นเสมอว่า เหนื่อย หนัก ไม่เหมือนผู้ประกาศทำให้ทัศนคติของเด็กสมัยใหม่รู้สึกงานข่าวไม่เวิร์คแล้ว พี่” กานต์ให้ความเห็น
แต่หลังจากที่เข้าร่วมโครงการพิราบน้อย กานต์ บอกว่าเริ่มเข้าใจขั้นตอนการได้มาซึ่งข่าวและที่สำคัญทำให้เห็นว่าการทำข่าว มีอะไรมากกว่าที่คิด
“ปรัญชัย ฮวดชัย หรือ บาส” นักศึกษามหาวิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ก็ยอมรับตรง ๆ ว่า ไม่ชื่นชอบการออกค่ายในลักษณะการอบรมเพราะเป็นคนไม่ชอบทำอะไรเยอะๆในเวลาอัน สั้น แต่เนื่องจากมีความฝันเป็นมือสัมภาษณ์นิตยสารจึงคิดว่าควรเข้าร่วมอบรม เพราะต่อให้เดินเที่ยวในสถานที่ต่าง ๆ ก็คงไม่มีโอกาสได้เจอผู้ที่อยู่ในวงการวารสาร
“อย่างน้อยโครงการนี้ทำให้ผมได้รู้จักพูดคุยกับพี่ ๆ ที่อยู่ในวงการ เป็นการปูทางสู่อาชีพในอนาคต” ปรัญชัย บอกอย่างมุ่งมั่น
ขณะที่ “วิรัชชัย พงษ์เกาะ” หรือ ซอล นิสิตชั้นปีที่ 3 ภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่าเดิมทีที่เลือกเรียนวารสารสารสนเทศ ยังไม่มีเป้าหมายจะทำอาชีพใดในอนาคต แต่เมื่อได้เข้าร่วม “พิราบน้อย” เหมือนโดนจี้จุดว่าตัวตนที่แท้คืออะไร จบมาต้องลุยงานแบบใด พูดง่าย ๆ คือรู้ว่าเรียนสายงานหนังสือพิมพ์ แต่เรียนแล้วต้องทำเพื่ออะไร อุดมการณ์จรรยาบรรณคืออะไร และมีความสำคัญมากแค่ไหน
ซอลบอกว่า ชอบข่าวการเมืองเพราะอยากรู้เบื้องลึกหลายครั้งที่เพื่อนถามเรื่องข่าวสาร บ้านเมือง แต่เราเรียนวารสารตอบคำถามไม่ได้ แต่เด็กคณะอื่นอ่านข่าวบ่อยกว่า และสามารถวิเคราะห์การเมืองได้เป็นฉาก ๆ จึงรู้สึกว่าต้องเป็นนักข่าวสายนี้ เพื่อรู้จักประเทศไทยมากกว่านี้ และคิดว่านักข่าวการเมืองน่าจะล้ำลึก มีชั้นเชิง มีไหวพริบปฏิภาณและเข้ากับตัวเองได้ดีที่สุด
“ผมเคยฝันว่า ต้องเป็นนักข่าว ผมทิ้งความคิดที่จะเป็นธุรกิจเพื่ออิสรภาพทางการเงิน แต่ผมปักธงชีวิตว่าผมต้องทำอาชีพเพื่อสังคม เงินน้อยก็ทำ นักข่าวก็คืองานเพื่อสังคม ให้ผมไปทำอย่างอื่นที่ไม่ใช่นักข่าว ผมอาจจะทำได้ไม่เยี่ยมยอด เพราะผมไม่ได้เรียนมา ในเมื่อทุ่มเทตั้งใจเรียนมา 4 ปีเต็ม ผมจะไม่ทำให้อุดมการณ์ในตัวผมดับมอดไปแน่ ๆ ครับ ”
นี่คือเสียงสะท้อนของเด็กนิเทศศาสตร์กับวิกฤตเชิงโครงสร้างวิชาชีพสื่อ เมื่ออัตลักษณ์ทางสังคมกำลังกดทับความกระหายการเป็นคนข่าวของเด็กกลุ่มนี้ อย่างน่าใจหายไปบ้าง แต่ก็ยังมีบางส่วนที่ยังไม่ละทิ้งความฝันที่อยากเป็นคนข่าวเพื่อสังคม
///////////////////////
ข้อมูลจากจุลสารราชดำเนิน เล่มที่ 18