“ทุกปัญหาโยงใยกันหมด หากไม่เร่งแก้ไขประเทศก็จะติดหล่มความขัดแย้งอย่างนี้ไปอีกยาวนาน”
ปราเมศ เหล็กเพ็ชร์ ผู้สื่อข่าวสายการเมืองกว่า 20 ปี วิเคราะห์ถึงทางออกของประเทศ หลังจาก คดีคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทย ให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ กกปส. ว่า หนีไม่พ้นต้องมีการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) อย่างแน่นอน เพราะรัฐมนตรี 3 กระทรวงพ้นจากตำแหน่ง เรื่องนี้ถูกจับตามองมาตั้งแต่การอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งเข้าทางกลุ่มต่างๆในพรรคพลังประชารัฐ ที่กำลังเคลื่อนไหวมากที่สุดเพราะต้องการขยับเขยื้อนเก้าอี้ หรือกลุ่มที่ไม่มีตัวแทนเป็นรัฐมนตรีก็ต้องการเป็นบ้าง ส่วนที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ คือ พรรคเล็กพรรคน้อยซึ่งตอนนี้ก็แตกเป็น 2 ฝ่าย
ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาล คือ ประชาธิปัตย์และภูมิใจไทยเกาะกันเหนียวแน่น เห็นได้จาก เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเป็นเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ไปบุกกระทรวงสาธารณสุขเพื่อพบกับ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข หัวหน้าพรรคภูมใจไทย แม้จะบอกว่าไปตรวจโควิดและมาทักทายกันเป็นธรรมดา แต่ความจริงแล้วเป็นการส่งสัญญาณ ให้พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ทราบว่า 2พรรคนี้ไปด้วยกัน อย่างน้อยต้องได้เก้าอี้เท่าเดิม
นอกจากนี้ยังมีพลังจากผลโพลต่างๆ พลังจากภาคประชาชนและนักการเมืองฝ่ายค้าน อยากให้นายกฯปรับคณะรัฐมนตรี โดยไม่ต้องสนใจการต่อรองของกลุ่มการเมือง ขอให้ปรับรัฐมนตรีที่โลกลืมออกไป แล้วเอาตัวจริงที่มีฝีไม้ลายมือในการบริหารประเทศเข้ามาแทน เพราะปัญหาต่างๆนอกจากวิกฤตโควิด วิกฤตเศรษฐกิจที่รุมเร้า ก่อให้เกิดวิกฤตสังคม วิกฤตกลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมืองตามมา รวมไปถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งทุกปัญหาโยงใยกันหมด หากไม่เร่งแก้ไขประเทศก็จะติดหล่มความขัดแย้งอย่างนี้ไปอีกยาวนาน แล้วก็จะวนกลับมากระทบกันอีก นี่คือเรื่องใหญ่ที่รอวันคลี่คลาย หากการเมืองยังลุ่มๆดอนๆบริหารจัดการแบบเดิมไม่มีอะไรใหม่ ประเทศไทยก็จะติดกับดักอยู่ 3-4 วิกฤตนี้
ทั้งหมดอยู่ที่พลเอก ประยุทธ์ จะเป็นผู้ชี้ขาด แม้ว่าส.ส.พลังประชารัฐจะรวมกลุ่มล่ารายชื่อ 70-80 คน ขอให้พลเอกประวิตรมีอำนาจในการคัดเลือกตัวรัฐมนตรีส่งให้นายกรัฐมนตรีก็ตาม แม้จะมองว่าเป็นการกดดันนายกฯ แต่เกมนี้สุดท้าย 3 ป.ปลา ก็ต้องคุยกันว่าจะออกมารูปแบบไหน ซึ่งการปรับคณะรัฐมนตรีแบบดรีมทีมนั้นคงเป็นไปไม่ได้เนื่องจากต้องเกลี่ยผลประโยชน์ระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลให้ลงตัว
“ส่วนตัวเป็นคนชอบเถียงกับนักรัฐศาสตร์ มักจะพูดกันถึงเรื่องของประชาธิปไตยคืออะไร จะพูดกันว่าความจริงแล้วระบบประชาธิปไตยทั่วโลกที่เป็นอยู่ เป็นระบบแบ่งสันปันส่วนผลประโยชน์ที่ลงตัวให้กับกลุ่มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นประชาชน กลุ่มทุน กลุ่มผู้มีบารมี กลุ่มผู้มีอำนาจ ถ้าลงตัวเมื่อไหร่ประเทศก็ขยับ ถ้านำทฤษฎีนี้มาใช้กับการปรับคณะรัฐมนตรี แล้วประโยชน์ที่ได้เยอะสุดก็ คือ เมื่อคุณเข้าไปแล้วต้องทำงานเพื่อประเทศและประชาชนอย่างแท้จริง แม้ว่าจะมีอะไรรั่วไหลบ้าง แต่ถ้าไม่คำนึงถึงประเทศหรือประชาชน สุดท้ายคุณเข้าไปก็อยู่ไม่ได้ เพราะปัจจุบันสังคมจับตาดูอยู่ แม้จะไม่มีใบเสร็จว่าคุณทำอะไรนอกกติกา แต่พฤติกรรมต่างๆก็รู้กันอยู่ว่ารั่วไหลไปอย่างไร สุดท้ายแล้วก็ต้องไปวัดที่การเลือกตั้ง”
แท็กติกที่นายกฯต้องนำไปใช้ คือ เคลียร์ให้ลงตัวทั้งในพรรคพลังประชารัฐ และพรรคร่วมรัฐบาลเดิม ส่วนพรรคการเมืองขนาดเล็กนั้นเชื่อว่ายากที่จะสอดแทรกเข้ามา เฉพาะในพรรคพลังประชารัฐเองเก้าอี้ก็ไม่พออยู่แล้ว ใครก็อยากเป็นรัฐมนตรีโดยเฉพาะกลุ่ม 3 ช.ช้าง ที่มีบารมีมากในพรรคพลังประชารัฐ ใฝ่ฝันต้องการขึ้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวง และอาจจะยังมีตัวแทนกลุ่มทุนเข้ามาอีก ตรงนี้ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ เพราะการขยับจากรัฐมนตรีช่วยว่าการไปสู่รัฐมนตรีว่าการ ก็ต้องไปเจรจากับพรรคร่วมรัฐบาลในภาพรวม เพื่อที่จะให้เกิดเสถียรภาพ ซึ่งพรรคร่วมรัฐบาลเองก็มีรอยปริร้าว หากเกิดเรื่องนี้ขึ้นมาอีกรับรองว่าเสถียรภาพของรัฐบาลในอนาคตอาจจะไม่ราบเรียบ แม้จะมีกลุ่มงูเห่าที่ฝากไว้กับฝ่ายค้านหรือกลุ่มนั้นกลุ่มนี้ โดยมีพรรคการเมืองขนาดเล็กเป็นอะไหล่ก็ตาม
ติดตามรายการ "ช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ได้ทุกวันอาทิตย์ เวลา 11.00-12.00 น.โดยความร่วมมือของ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และคลื่นข่าว MCOT News FM 100.5
#ช่วยกันคิดทิศทางข่าว
#สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
#สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ #Thaijournalistsassociation