ร่างล่าสุด ผ่าน ครม.3มค. 2554-พรบ.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพและส่งเสริมมาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. ….

ร่าง พระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและส่งเสริมมาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. ....

(อยู่ระหว่างการระดมความคิดเห็นและการประชาพิจารณ์) ข้างบนเป็นร่างเก่า

 

 

//////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

ร่าง พรบ. ล่าสุด ณ วันที่ 3 มกราคม 2554

บันทึกหลักการและเหตุผล

ประกอบร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ

และส่งเสริมมาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน

พ.ศ. ....

 

หลักการ

 

ให้มีกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและส่งเสริมมาตรฐาน
ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน

 

เหตุผล

 

โดยที่มาตรา ๔๖ วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ได้บัญญัติให้พนักงานหรือลูกจ้างของเอกชนที่ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ หรือสื่อมวลชนอื่น ย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าวและแสดงความคิดเห็นภายใต้ข้อจำกัดตามรัฐธรรมนูญ โดยไม่ตกอยู่ภายใต้อาณัติของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือเจ้าของกิจการนั้น แต่ต้องไม่ขัดต่อจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพ
และมีสิทธิจัดตั้งองค์กรเพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพและความเป็นธรรม  สมควรตรากฎหมาย
เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและส่งเสริมมาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนตามบทบัญญัติ
ของรัฐธรรมนูญ  จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

 

ร่าง

พระราชบัญญัติ

คุ้มครองสิทธิเสรีภาพ

และส่งเสริมมาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน

พ.ศ. ....

 

...............................

...............................

...............................

 

..........................................................................................................

โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและส่งเสริมมาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน

พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๔๓ และมาตรา ๔๖ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

...........................................................................................................................................

 

มาตรา ๑  พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ
และส่งเสริมมาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. ....”

 

มาตรา ๒  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศใน
ราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

 

มาตรา ๓  ในพระราชบัญญัตินี้

“สื่อมวลชน” หมายความว่า สื่อหรือช่องทางที่ใช้ในการสื่อสารมวลชนเพื่อประโยชน์สาธารณะ

“ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน” หมายความว่า บุคคลซึ่งประกอบวิชาชีพเป็นปกติธุระในสาขาที่เกี่ยวข้องกับสื่อสารมวลชน และเป็นสมาชิกองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน หรือได้รับสิทธิคุ้มครองโดยตรงจากคณะกรรมการ

 

“จริยธรรมสื่อมวลชน” หมายความว่า การประพฤติปฏิบัติทางวิชาชีพสื่อมวลชนที่สังคมยอมรับ ตามที่องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนตามพระราชบัญญัตินี้ได้กำหนดไว้

“องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน” หมายความว่า คณะบุคคลไม่ว่าจะเป็น
นิติบุคคลหรือไม่ก็ตาม ที่มีวัตถุประสงค์และมีการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมวิชาชีพและมาตรฐาน
ทางจริยธรรมสื่อมวลชนซึ่งได้รับการรับรองจากคณะกรรมการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและส่งเสริมมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน

“ประเด็นสาธารณะ” หมายความว่า ข้อเท็จจริงหรือสาระสำคัญที่ประชาชน
มีความชอบธรรมที่จะแสดงความคิดเห็นหรือสาธารณชนสมควรรับรู้ในเรื่องที่เกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะ

“ประโยชน์สาธารณะ” หมายความว่า สิ่งที่เป็นผลดีหรือเป็นคุณต่อสาธารณชน

“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและส่งเสริมมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน

“กรรมการ” หมายความว่า กรรมการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและส่งเสริมมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน

“พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ผู้ซึ่งผู้อำนวยการแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

“ผู้อำนวยการ” หมายความว่า ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและส่งเสริมมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน

“สำนักงาน” หมายความว่า สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและส่งเสริมมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน

มาตรา ๔ ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

กฎกระทรวงนั้นเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

หมวด ๑

การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน

มาตรา ๕  ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าวและ
แสดงความคิดเห็นภายใต้ข้อจำกัดตามรัฐธรรมนูญ โดยไม่ตกอยู่ภายใต้อาณัติของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือเจ้าของกิจการสื่อมวลชน  และมีหน้าที่ต้องประพฤติและปฏิบัติตามจริยธรรมสื่อมวลชน

มาตรา ๖  การกระทำใดๆ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือเจ้าของกิจการสื่อมวลชน อันเป็นการขัดขวางหรือแทรกแซงการเสนอข่าวหรือแสดงความคิดเห็นในประเด็นสาธารณะของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน
ให้ถือว่าเป็นการจงใจใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบและไม่มีผลใช้บังคับ เว้นแต่เป็นการกระทำ
เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายหรือจริยธรรมสื่อมวลชน

มาตรา ๗ ผู้บังคับบัญชาหรือหัวหน้างานในหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ จะอ้างเอากฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง หรือระเบียบการปฏิบัติในหน่วยงาน หรือกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ในรัฐวิสาหกิจมาเป็นเหตุแห่งการจำกัดเสรีภาพของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนมิได้

มาตรา ๘ เจ้าของกิจการสื่อมวลชนจะอ้างเอาความสัมพันธ์ทางด้านแรงงงานตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์มาเป็นเหตุแห่งการจำกัดสิทธิเสรีภาพของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนมิได้

 

หมวด ๒

จริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน

 

มาตรา ๙  ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนจะใช้สิทธิคุ้มครองตาม พระราชบัญญัตินี้ได้ต่อเมื่อได้เสนอข่าวหรือแสดงความคิดเห็นภายใต้กรอบข้อบังคับ
ว่าด้วยจริยธรรมสื่อมวลชนที่องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนซึ่งตนเป็นสมาชิกอยู่จัดทำขึ้น

องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนต้องจัดทำข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมสื่อมวลชน
ซึ่งอย่างน้อยต้องมีรายละเอียดดังต่อไปนี้ รวมทั้งมีมาตรการที่จะดำเนินการในกรณีที่
ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนที่เป็นสมาชิกได้เสนอข่าวหรือแสดงความคิดเห็นที่ฝ่าฝืนข้อบังคับดังกล่าว

(๑)  การเสนอข่าวเพื่อประโยชน์สาธารณะ

(๒)  การเสนอความจริงด้วยความถูกต้องและครบถ้วนรอบด้าน

(๓)  การให้ความเป็นธรรมต่อผู้ตกเป็นข่าว

(๔)   การเคารพสิทธิมนุษยชนของผู้ที่เกี่ยวข้องในข่าว

(๕)   การซื่อสัตย์สุจริตต่อวิชาชีพสื่อมวลชนและไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน

 

หมวด ๓

คณะกรรมการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ

และส่งเสริมมาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน

มาตรา ๑๐  ให้มีคณะกรรมการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและส่งเสริมมาตรฐาน
ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ประกอบด้วยประธานกรรมการคนหนึ่งและกรรมการอื่นอีกสิบคน ซึ่งสรรหาและแต่งตั้งตามมาตรา ๑๑ จากผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีความรู้ ประสบการณ์ และเป็นผู้ที่มีผลงานหรือเคยปฏิบัติงานที่แสดงให้เห็นถึงการเป็นผู้มีความรู้หรือความเชี่ยวชาญ ดังต่อไปนี้

(๑)  ตัวแทนเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ ตัวแทนบรรณาธิการ และตัวแทนผู้ปฏิบัติงานด้านบรรณาธิการเป็นกรรมการ ประเภทละหนึ่งคน

(๒)   ตัวแทนเจ้าของกิจการวิทยุกระจายเสียงและกิจการวิทยุโทรทัศน์ ประเภทละหนึ่งคน ตัวแทนบรรณาธิการข่าววิทยุกระจายเสียงหรือวิทยุโทรทัศน์ และตัวแทนผู้ปฏิบัติงานข่าววิทยุกระจายเสียงหรือวิทยุโทรทัศน์ ประเภทละหนึ่งคน

(๓)  ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ด้านสิทธิมนุษยชน ด้านวิชาการสื่อมวลชน และด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านละหนึ่งคน ซึ่งเสนอชื่อโดยมติเสียงส่วนใหญ่ของกรรมการตาม (๑) และ (๒)

ให้ผู้อำนวยการเป็นเลขานุการของคณะกรรมการ

มาตรา ๑๑  ให้มีคณะกรรมการสรรหาคณะหนึ่งจำนวนเจ็ดคน ทำหน้าที่คัดเลือกบุคคลที่สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและส่งเสริมมาตรฐาน
ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ประกอบด้วย

(๑) กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติตามมติของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

(๒) ผู้ตรวจการแผ่นดินตามมติของคณะกรรมการผู้ตรวจการแผ่นดิน

(๓) กรรมการองค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคตามมติของคณะกรรมการองค์กรอิสระเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค

(๔) นายกสภาทนายความ

(๕) ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน

(๖) ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ

(๗) ประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย

ในกรณีที่ผู้ดำรงตำแหน่งตาม (๔) (๕) (๖) หรือ (๗) ไม่สามารถเข้าประชุมได้
ผู้ที่เข้าประชุมแทนต้องเป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายจากที่ประชุมของสภาคณะกรรมการขององค์กรนั้นให้เข้าประชุมแทน

ในกรณีที่ไม่มีกรรมการสรรหาครบตามที่กำหนดตามวรรคหนึ่ง หรือมีแต่
ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ภายในเวลาสามสิบวันนับแต่เมื่อมีเหตุให้ทำการสรรหา
ให้คณะกรรมการสรรหาประกอบด้วยกรรมการสรรหาที่เหลืออยู่ แต่ต้องไม่น้อยกว่าห้าคน

กรรมการสรรหาไม่มีสิทธิได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการ

ให้คณะกรรมการสรรหาเลือกกรรมการสรรหาคนหนึ่งเป็นประธานกรรมการ
สรรหา และเลือกกรรมการสรรหาอีกคนหนึ่งเป็นเลขานุการกรรมการสรรหา

หลักเกณฑ์และวิธีการสรรหา ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการสรรหากำหนด ทั้งนี้ ต้องคำนึงถึงความโปร่งใสและความเป็นธรรมในการสรรหา

ให้สำนักงานทำหน้าที่เป็นหน่วยงานธุรการในการดำเนินการสรรหา

มาตรา ๑๒  กรรมการต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้

ก. คุณสมบัติ

(๑) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด

(๒) มีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบห้าปีบริบูรณ์

ข. ลักษณะต้องห้าม

(๑) เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น

(๒) เป็นผู้ดำรงตำแหน่งของพรรคการเมือง

(๓) เป็นบุคคลวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ

(๔) ติดยาเสพติดให้โทษ

(๕) เป็นบุคคลล้มละลาย

(๖) เป็นบุคคลที่ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล

(๗) เป็นบุคคลที่เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกตั้งแต่สองปีขึ้นไป โดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงห้าปีในวันได้รับการเสนอชื่อ เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท

(๘) เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ หน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ หรือจากหน่วยงานของเอกชน เพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือเพราะประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง หรือถือว่ากระทำการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ

(๙) เคยถูกถอดถอนจากตำแหน่งทางการเมืองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

(๑๐) เคยถูกถอดถอนจากการเป็นสมาชิกองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนตามมาตรา ๔๕ วรรคสอง

กรรมการที่เป็นตัวแทนบรรณาธิการและตัวแทนผู้ปฏิบัติงานตามมาตรา ๑๐ (๑) และ (๒) จะต้องไม่เป็นเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์หรือเจ้าของกิจการวิทยุ กระจายเสียงและกิจการวิทยุโทรทัศน์ หรือเป็นผู้บริหารหรือเป็นผู้มีอำนาจในการจัดการของกิจการดังกล่าว

มาตรา ๑๓  การเลือกกรรมการตามมาตรา ๑๐ (๑) และ (๒) ให้คณะกรรมการสรรหาดำเนินการดังต่อไปนี้

(๑) จัดให้องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนตามมาตรา ๑๔ เสนอชื่อผู้แทนที่จะ
รับเลือกเป็นกรรมการ

(๒) พิจารณาคัดเลือกบุคคลที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๒ เป็นกรรมการ

การดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่คณะกรรมการสรรหาประกาศกำหนด

เมื่อได้คัดเลือกบุคคลเป็นกรรมการครบจำนวนแล้ว ให้ผู้ที่ได้รับเลือกทั้งหมดประชุมร่วมกันเพื่อเลือกกันเองให้คนหนึ่งเป็นประธานกรรมการ

ให้คณะกรรมการสรรหาแจ้งรายชื่อประธานกรรมการและกรรมการพร้อมหลักฐานแสดงคุณสมบัติและการไม่มีลักษณะต้องห้าม ตลอดจนความยินยอมของบุคคลดังกล่าวต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อแต่งตั้งเป็นกรรมการ

ให้นายกรัฐมนตรีประกาศรายชื่อกรรมการในราชกิจจานุเบกษา

มาตรา ๑๔  องค์กรที่มีสิทธิเสนอชื่อบุคคลเพื่อเข้ารับการสรรหาเป็นคณะกรรมการมาตรา ๑๓ ต้องเป็นองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนที่จดทะเบียนเป็นสมาคมตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องมาไม่น้อยกว่าห้าปี  มีผลงานในด้านการส่งเสริมวิชาชีพและมาตรฐานทางจริยธรรมสื่อมวลชนอย่างต่อเนื่องจนเป็นที่ประจักษ์ และได้รับการรับรองจากคณะกรรมการ

มาตรา ๑๕  กรรมการมีวาระอยู่ในตำแหน่งสี่ปีนับแต่วันที่ประกาศใน
ราชกิจจานุเบกษา

ให้กรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระ อยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าจะมีการแต่งตั้งกรรมการขึ้นใหม่

ในกรณีมีกรรมการพ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระไม่น้อยกว่าหกสิบวัน ให้มีการสรรหากรรมการคนใหม่มาปฏิบัติหน้าที่แทน โดยกรรมการคนดังกล่าวมีวาระการดำรงตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการที่ตนแทน

มาตรา ๑๖  นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ กรรมการพ้นจากตำแหน่งเมื่อ

(๑) ตาย

(๒) มีอายุครบเจ็ดสิบปีบริบูรณ์

(๓) ลาออก

(๔) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๒

มาตรา ๑๗  การประชุมคณะกรรมการ ต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่า
กึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม

ให้ประธานกรรมการเป็นประธานในที่ประชุม ถ้าไม่มีประธานกรรมการหรือประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการที่มาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม

วิธีการประชุม การลงมติ และการปฏิบัติงานของคณะกรรมการหรือกรรมการ
ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด

ในการประชุม ถ้ามีการพิจารณาเรื่องที่กรรมการผู้ใดมีส่วนได้เสีย กรรมการผู้นั้นไม่มีสิทธิเข้าประชุม

ในการปฏิบัติหน้าที่ คณะกรรมการอาจมอบหมายให้กรรมการคนหนึ่งหรือ
หลายคนเป็นผู้รับผิดชอบในกิจการด้านต่างๆ ตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ

มาตรา ๑๘  คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงาน หรือมอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ หรือตามที่ได้รับมอบหมายได้ ทั้งนี้ วิธีการปฏิบัติหน้าที่ของคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการกำหนด

 

มาตรา ๑๙  ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้คณะกรรมการคณะอนุกรรมการ หรือคณะทำงาน มีอำนาจสั่งหน่วยงานของรัฐหรือบุคคลใดมีหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริง มาให้ถ้อยคำหรือส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาได้

มาตรา ๒๐  ให้กรรมการ อนุกรรมการ และคณะทำงานตามมาตรา ๑๘ ได้รับค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายอื่นในการปฏิบัติหน้าที่ตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

มาตรา ๒๑  คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(๑) พิจารณาเรื่องร้องเรียนของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ภายในกรอบจริยธรรมสื่อมวลชนหรือไม่

(๒) สั่งให้มีการแก้ไขหรือเยียวยาแก่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนที่ถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพตามที่เห็นสมควร รวมทั้งให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนสามารถประกอบวิชาชีพ
ในตำแหน่งหน้าที่เดิมได้ต่อไป หรือดำเนินการให้มีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในเรื่องดังกล่าว

(๓) มีคำวินิจฉัยในกรณีที่มีการฝ่าฝืนหรือละเมิดบทบัญญัติใน
พระราชบัญญัตินี้ ซึ่งระบุให้ต้องรับโทษทางปกครอง และส่งให้สำนักงานดำเนินการ
ตามกฎหมายต่อไป

(๔) รับรองหรือเพิกถอนการรับรององค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด

(๕) เสนอความเห็นหรือให้คำแนะนำต่อคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับมาตรการในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและส่งเสริมมาตรฐานของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน

(๖) กำหนดกรอบจริยธรรมสื่อมวลชนขั้นต่ำที่องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนต้องปฏิบัติ

(๗) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่น
ซึ่งกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ

เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง
ให้คณะกรรมการมีอำนาจออกระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง หรือข้อกำหนด

บรรดาระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง หรือข้อกำหนดใดๆ ที่ใช้บังคับเป็นการทั่วไป เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

มาตรา ๒๒  คณะกรรมการ ผู้อำนวยการ หรือคณะอนุกรรมการตาม
มาตรา ๑๘ อาจเชิญข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ
หรือบุคคลหนึ่งบุคคลใดมาให้ข้อเท็จจริงหรือแสดงความคิดเห็นหรือให้จัดส่งเอกสาร
หรือข้อมูลเพื่อประกอบการพิจารณาได้ตามที่เห็นสมควร

ให้ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ
หรือบุคคลตามวรรคหนึ่งให้ความร่วมมือแก่คณะกรรมการ ผู้อำนวยการ หรือคณะอนุกรรมการดังกล่าว

 

หมวด ๔

สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ

และส่งเสริมมาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน

มาตรา ๒๓  ให้มีสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและส่งเสริมมาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน เป็นนิติบุคคลและมีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่ใช่
ส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินหรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมาย
ว่าด้วยวิธีการงบประมาณหรือกฎหมายอื่น และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของประธานกรรมการ

มาตรา ๒๔  สำนักงานมีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับกิจการทั่วไปของคณะกรรมการ และมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้ด้วย

(๑) รับผิดชอบงานธุรการของคณะกรรมการ

(๒) ศึกษา วิจัย และวิเคราะห์ข้อมูล หรือร่วมมือกับบุคคลอื่นในการวิจัยเกี่ยวกับกับคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและส่งเสริมมาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน เพื่อประโยชน์แก่
การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ หรือตามที่คณะกรรมการมอบหมาย

(๓) รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนที่ได้รับความเสียหาย
จากการละเมิดสิทธิตามมาตรา ๕ หรือมาตรา ๖

(๔) ติดตามและสอดส่องการกระทำใดๆ อันมีลักษณะเข้าข่ายเป็นการละเมิดสิทธิของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการ

(๕) สนับสนุนและให้การช่วยเหลือแก่องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนในด้านต่างๆ
เพื่อการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งขององค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนดังกล่าว ตลอดจนประสานงานการสนับสนุนและการให้การช่วยเหลือดังกล่าวจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน

(๖) ปฏิบัติการอื่นตามที่คณะกรรมการมอบหมาย

 

มาตรา ๒๕  ให้มีผู้อำนวยการคนหนึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบการปฏิบัติหน้าที่ของสำนักงาน ขึ้นตรงต่อประธานกรรมการ และเป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานและลูกจ้างของสำนักงาน

ในกิจการของสำนักงานที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก ให้ผู้อำนวยการเป็นผู้แทนของสำนักงาน เพื่อการนี้ ผู้อำนวยการจะมอบอำนาจให้พนักงานหรือลูกจ้างของสำนักงานปฏิบัติหน้าที่เฉพาะเรื่องหนึ่งเรื่องใดแทนก็ได้  ทั้งนี้ ตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

มาตรา ๒๖  ให้ประธานกรรมการโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการเป็น
ผู้แต่งตั้งและถอดถอนผู้อำนวยการ

ผู้อำนวยการต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๒ รวมทั้งคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามอื่นตามที่คณะกรรมการกำหนด

มาตรา ๒๗  ผู้อำนวยการมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสี่ปี นับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง

มาตรา ๒๘  นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ผู้อำนวยการพ้นจากตำแหน่งเมื่อ

(๑) ตาย

(๒) มีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์

(๓) ลาออก

(๔) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๒๖ วรรคสอง

(๕) คณะกรรมการมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนกรรมการทั้งหมดให้ออกเพราะมีความประพฤติเสื่อมเสียอย่างร้ายแรง หรือบกพร่องในหน้าที่อย่างร้ายแรง หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้

มาตรา ๒๙  สำนักงานมีรายได้และทรัพย์สิน ดังต่อไปนี้

(๑) ทุนประเดิมที่รัฐบาลจ่ายให้เป็นการอุดหนุนซึ่งเพียงพอต่อการดำเนินงานเพื่อให้มีการจัดตั้งสำนักงาน

(๒) เงินอุดหนุนทั่วไปที่รัฐบาลจัดสรรให้โดยตรงเป็นรายปีจากงบประมาณแผ่นดินประจำปี โดยรัฐบาลพึงจัดสรรให้เป็นจำนวนที่เพียงพอสำหรับการบริหารงาน
ของคณะกรรมการและค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการดำเนินงานของสำนักงาน

(๓) รายได้และผลประโยชน์อันได้มาจากการดำเนินงานตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการและสำนักงาน

(๔) รายได้และดอกผลจากทรัพย์สินของสำนักงาน

(๕) เงินและทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้แก่สำนักงาน

รายได้ของสำนักงานไม่ต้องนำส่งคลังตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง
และกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ

มาตรา ๓๐  เพื่อประโยชน์ในการจัดสรรงบประมาณแผ่นดินเป็นเงินอุดหนุนทั่วไปตามมาตรา ๒๙ (๒) ให้สำนักงานเสนองบประมาณรายจ่ายตามมติของคณะกรรมการ
ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อจัดสรรเงินอุดหนุนทั่วไปของสำนักงานไว้ในร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีหรือร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม แล้วแต่กรณี และในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีหรือร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม สภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาอาจขอให้ผู้อำนวยการเข้าชี้แจงเพื่อประกอบการพิจารณาได้

มาตรา ๓๑  เพื่อประโยชน์ในการบริหารงานของสำนักงาน คณะกรรมการอาจขอให้ผู้บังคับบัญชาของข้าราชการหรือพนักงานของส่วนราชการหรือหน่วยงานอื่นของรัฐสั่งให้ข้าราชการหรือพนักงานดังกล่าวไปช่วยปฏิบัติหน้าที่ในสำนักงานได้เมื่อข้าราชการหรือพนักงาน
ผู้นั้นยินยอม โดยจะให้ไปช่วยปฏิบัติหน้าที่เต็มเวลา บางเวลา หรือนอกเวลาก็ได้  ในกรณีเช่นนั้นให้ถือว่าข้าราชการหรือพนักงานผู้นั้นไปปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา และให้ถือว่าเป็นพนักงานหรือลูกจ้างของสำนักงาน

คณะกรรมการอาจกำหนดค่าตอบแทนให้แก่ผู้ไปช่วยปฏิบัติหน้าที่ตามวรรคหนึ่งก็ได้

มาตรา ๓๒  การบัญชีของสำนักงานให้จัดทำตามมาตรฐานการบัญชีตามแบบ
และหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด และต้องจัดให้มีการตรวจสอบภายใน เกี่ยวกับการเงิน การบัญชี และการพัสดุของสำนักงาน ตลอดจนรายงานผลการตรวจสอบให้คณะกรรมการทราบอย่างน้อยปีละครั้ง

ในการตรวจสอบภายใน ให้มีผู้ปฏิบัติงานในสำนักงานทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบภายในโดยเฉพาะ และให้รับผิดชอบขึ้นตรงต่อคณะกรรมการตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด

มาตรา ๓๓  ให้สำนักงานจัดทำงบดุล งบการเงิน และบัญชีทำการส่งผู้สอบบัญชีภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันสิ้นปีงบประมาณ

ในทุกรอบปีงบประมาณ ให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินหรือผู้สอบบัญชีอิสระที่คณะกรรมการแต่งตั้งโดยได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้สอบบัญชี
และประเมินผลการใช้จ่ายเงินและทรัพย์สินของสำนักงาน โดยให้แสดงความคิดเห็น
เป็นข้อวิเคราะห์ว่า การใช้จ่ายดังกล่าวเป็นไปตามวัตถุประสงค์ ประหยัด และได้ผลตามเป้าหมายเพียงใด แล้วทำบันทึกรายงานผลเสนอต่อคณะกรรมการ คณะรัฐมนตรี และรัฐสภา

ให้สำนักงานเป็นหน่วยรับตรวจตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน

 

หมวด ๕

การวินิจฉัยเรื่องร้องเรียน

 

มาตรา ๓๔  ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนที่ได้รับความเสียหายจากการละเมิดสิทธิตามมาตรา ๕ และมาตรา ๖ ให้แจ้งเป็นหนังสือพร้อมด้วยพยานหลักฐานต่อคณะกรรมการภายในกำหนดระยะเวลาเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับความเสียหาย

การยื่นเรื่องร้องเรียนให้ทำตามแบบที่คณะกรรมการกำหนด

มาตรา ๓๕  เรื่องที่คณะกรรมการจะพิจารณาดำเนินการ มีหลักเกณฑ์ดังนี้

(๑) เรื่องที่ได้รับคำร้องเรียนจากผู้เสียหายตามมาตรา ๓๔

(๒) เรื่องที่คณะกรรมการเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญ หรือมีเหตุอันควรสงสัยเกี่ยวกับการกระทำที่มีลักษณะละเมิดสิทธิในการเสนอข่าวและแสดงความคิดเห็นของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน

 

มาตรา ๓๖  เมื่อคณะกรรมการมีมติให้พิจารณาเรื่องตามมาตรา ๓๕
ในการพิจารณาตรวจสอบและดำเนินการในเรื่องดังกล่าว หากคณะกรรมการไม่ดำเนินการเอง อาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะเรื่องให้ดำเนินการได้

การพิจารณาเรื่องร้องเรียนต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในระยะเวลาหกสิบวันนับแต่วันที่คณะกรรมการมีมติให้รับเรื่องไว้ หากพิจารณาไม่เสร็จ มีสิทธิขอขยายระยะเวลาได้
ครั้งละสามสิบวัน แต่จะขอขยายระยะเวลาได้ไม่เกินสองครั้ง

มาตรา ๓๗  ในระหว่างการพิจารณา คณะกรรมการอาจสั่งให้ใช้มาตรการคุ้มครองผู้ถูกละเมิดสิทธิเป็นการชั่วคราว เพื่อบรรเทาความเสียหายก็ได้ ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎกระทรวง

 

มาตรา ๓๘  เมื่อคณะกรรมการได้มีคำวินิจฉัยแล้ว ให้สำนักงานแจ้งคำวินิจฉัยให้คู่กรณีทราบภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีคำวินิจฉัย

คำวินิจฉัยของคณะกรรมการให้เป็นที่สุด

มาตรา ๓๙ ในกรณีที่คณะกรรมการได้มีคำวินิจฉัยแล้ว หากมีการอุทธรณ์

คำวินิจฉัยนั้นต่อศาลปกครองเพื่อมีคำสั่งยกเลิกหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำสั่งของคณะกรรมการ หรือได้มีการนำมูลเหตุของเรื่องที่คณะกรรมการได้มีคำวินิจฉัยไปฟ้องเป็นคดีต่อศาลแรงงานแล้ว ศาลปกครองและศาลแรงงานอาจใช้สำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการประกอบการพิจารณา
ก็ได้

 

หมวด ๖ มาตรการส่งเสริมมาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน

มาตรา ๔๐  ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนรายใดที่ต้องการได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ ต้องสมัครเข้าเป็นสมาชิกขององค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนที่จัดทำหรือสนับสนุนการจัดทำมาตรฐานทางจริยธรรมสื่อมวลชน ซึ่งได้รับการรับรองจากคณะกรรมการ

การสมัครเข้าเป็นสมาชิกองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนตามวรรคหนึ่ง สามารถกระทำได้ต่อเมื่อผู้สมัครได้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับจากวันที่เริ่มประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน

ในกรณีที่องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนปฏิเสธการรับเข้าเป็นสมาชิก ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนอาจยื่นเรื่องการถูกละเมิดสิทธิตามมาตรา ๕ หรือมาตรา ๖ ต่อคณะกรรมการได้

มาตรา ๔๑  ผู้ที่ได้รับความเสียหายเนื่องจากการเสนอข่าวหรือการแสดงความคิดเห็นของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน อันเป็นเท็จหรือละเมิดสิทธิ เสรีภาพ เกียรติยศ ชื่อเสียง สิทธิในครอบครัว หรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอาจร้องเรียนต่อคณะกรรมการได้

ให้คณะกรรมการส่งเรื่องพร้อมความเห็นของคณะกรรมการให้องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนที่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนผู้นั้นเป็นสมาชิกอยู่ รวมทั้งสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย หรือองค์กรควบคุมการประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนอื่น
ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ดำเนินการสอบสวนหรือเยียวยาให้แก่ผู้เสียหายตามหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติขององค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนหรือองค์กรควบคุมการประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนนั้น

เมื่อองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนหรือองค์กรควบคุมการประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ได้แจ้งผลการดำเนินการให้คณะกรรมการทราบแล้ว ให้สำนักงานแจ้งผู้ร้องเรียนทราบผล
การดำเนินการโดยเร็ว

มาตรา ๔๒ ในกรณีที่องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนที่คณะกรรมการได้รับรองแล้ว เพิกเฉยไม่ดำเนินการตามมาตรา ๔๑ โดยไม่มีเหตุอันสมควร หรือไม่ควบคุมให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนที่เป็นสมาชิกของตนเสนอข่าวหรือแสดงความคิดเห็นอยู่ในข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมสื่อมวลชน คณะกรรมการอาจพิจารณาเพิกถอนการรับรององค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนนั้นได้


หมวด ๗ โทษทางปกครอง

มาตรา ๔๓ ในกรณีที่ปรากฏว่า องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนใด ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับขององค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนตามที่คณะกรรมการได้ให้คำรับรองตามมาตรา ๒๑ (๔) หรือผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๕ ให้ผู้อำนวยการ
โดยมติของคณะกรรมการสั่งให้องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนหรือผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนนั้น ปฏิบัติให้ถูกต้องหรือเหมาะสมภายในระยะเวลาที่กำหนดก็ได้

 

มาตรา ๔๔ ในกรณีที่ผู้ที่ได้รับคำสั่งจากผู้อำนวยการตามมาตรา ๔๓ ไม่พอใจในคำสั่งดังกล่าว ให้มีสิทธิโต้แย้งต่อคณะกรรมการได้ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งดังกล่าว คำวินิจฉัยของคณะกรรมการให้เป็นที่สุด

มาตรา ๔๕ ในกรณีที่ผู้ที่ได้รับคำสั่งไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้อำนวยการตามมาตรา ๔๓ และพ้นกำหนดระยะเวลาโต้แย้งตามมาตรา ๔๔ หรือคณะกรรมการวินิจฉัยยืนตามคำสั่งผู้อำนวยการ เมื่อผู้อำนวยการได้มีหนังสือเตือนแล้วยังไม่มีการปฏิบัติตามคำสั่งนั้น ให้ผู้อำนวยการพิจารณากำหนดค่าปรับทางปกครองตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ซึ่งต้องไม่ต่ำกว่า ๑,๐๐๐ บาทต่อวัน สำหรับกรณีองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน หรือไม่ต่ำกว่า ๑๐๐ บาทต่อวัน สำหรับกรณีผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน

ในกรณีที่บุคคลดังกล่าวตามวรรคหนึ่งยังเพิกเฉยไม่ปฏิบัติการให้ถูกต้อง
ให้คณะกรรมการมีอำนาจเพิกถอนการรับรององค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน หรือสั่งให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนพ้นจากการเป็นสมาชิกองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน แล้วแต่กรณี

มาตรา ๔๖  ในกรณีที่คณะกรรมการได้มีคำวินิจฉัยตามมาตรา ๒๑ (๓) แล้ว

ผู้มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัยดังกล่าวฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตาม และไม่ได้อุทธรณ์คำวินิจฉัยต่อศาลปกครอง ให้คณะกรรมการมีอำนาจสั่งลงโทษปรับทางปกครองเป็นจำนวนไม่เกินสามหมื่นบาท และปรับอีกไม่เกินวันละสามพันบาท ตลอดเวลาที่ยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง

บทเฉพาะกาล

มาตรา ๔๗ ในวาระเริ่มแรก ให้มีคณะกรรมการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและส่งเสริมมาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนเป็นการชั่วคราวเท่าที่จำเป็นตามพระราชบัญญัตินี้ไปพลางก่อน จนกว่าจะมีคณะกรรมการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและส่งเสริมมาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนตามพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ ต้องไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และมิให้นำมาตรา ๑๐ มาใช้บังคับ

คณะกรรมการชั่วคราวประกอบด้วยปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีหรือรองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีซึ่งปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธานกรรมการ ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้แทนสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติและสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย องค์กรละสองคน และผู้สอนวิชานิเทศศาสตร์ หรือสื่อสารมวลชนในสถาบันอุดมศึกษาซึ่งเสนอโดยสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติและสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย องค์กรละหนึ่งคน เป็นกรรมการ

ให้สำนักปลัดนายกรัฐมนตรีทำหน้าที่หน่วยงานธุรการของคณะกรรมการชั่วคราว โดยให้แต่งตั้งข้าราชการระดับผู้เชี่ยวชาญทำหน้าที่เลขานุการคณะกรรมการและปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่ประธานกรรมการมอบหมายไปจนกว่าคณะกรรมการชั่วคราวเห็นว่าสำนักงานสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้

คณะกรรมการชั่วคราวไม่มีสิทธิได้รับการคัดเลือกเป็นคณะกรรมการสรรหาคณะกรรมการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและส่งเสริมมาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน

คณะกรรมการชั่วคราวมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(๑) กำหนดหลักเกณฑ์ชั่วคราวในการได้มาซึ่งคณะกรรมการสรรหาคณะกรรมการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและส่งเสริมมาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน

(๒) จัดตั้งสำนักงาน

 

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

 

 

..................................

นายกรัฐมนตรี

 

คำชี้แจงความจำเป็นในการตรากฎหมาย

๑. ชื่อร่างพระราชบัญญัติ ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและส่งเสริมมาตรฐาน

ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. ....

 

๒. ส่วนราชการหรือหน่วยงานผู้เสนอ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี

 

๓. เหตุผลและความจำเป็นในการตรากฎหมาย

๓.๑ วัตถุประสงค์และเป้าหมายของภารกิจ

เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและส่งเสริมมาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน
ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ โดยให้มีสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและส่งเสริมมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชนที่เป็นอิสระจากหน่วยงานของรัฐ

๓.๒ ความจำเป็นที่ต้องทำภารกิจ

เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๖ วรรคหนึ่ง โดยให้
ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนมีสิทธิได้รับเลือกเป็นคณะกรรมการเพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพและ
ความเป็นธรรมให้แก่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน เนื่องจากพนักงานหรือลูกจ้างของเอกชนที่ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ หรือสื่อมวลชนอื่น อาจไม่มีเสรีภาพในการเสนอข่าวและแสดงความคิดเห็นภายใต้ข้อจำกัดตามรัฐธรรมนูญ เพราะตกอยู่ภายใต้อาณัติของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือเจ้าของกิจการนั้น

๓.๓ ปัญหาและข้อบกพร่องที่ต้องแก้ไข

ไม่มี

๓.๔  มาตรการที่จะบรรลุวัตถุประสงค์ของภารกิจ

กำหนดให้มีคณะกรรมการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและส่งเสริมมาตรฐาน
ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ประกอบด้วยกรรมการซึ่งเป็นตัวแทนของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน เจ้าของกิจการสื่อมวลชน และผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง มีอำนาจพิจารณาเรื่องร้องเรียนของ
ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนที่ได้รับความเสียหายจากการละเมิดสิทธิและเสรีภาพในการเสนอข่าว
เพื่อสั่งให้มีการแก้ไขหรือเยียวยาแก่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน รวมทั้งกำหนดมาตรการส่งเสริมมาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน

๓.๕ ทางเลือกอื่นที่จะสามารถบรรลุวัตถุประสงค์เดียวกัน

ไม่มี

๓.๖ เหตุผลที่ทำให้เชื่อว่ามาตรการนี้จะสามารถแก้ไขปัญหาหรือข้อบกพร่องนั้นได้

คณะกรรมการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและส่งเสริมมาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนเป็นองค์กรที่เป็นอิสระไม่อยู่ภายใต้กำกับของหน่วยงานของรัฐ มีอำนาจออกคำสั่งลงโทษทางปกครององค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนและเจ้าของกิจการสื่อมวลชนที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของ
คณะกรรมการฯ เกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน

๔. ใครควรเป็นผู้ทำภารกิจ

๔.๑ เมื่อคำนึงถึงประสิทธิภาพ ต้นทุน และความคล่องตัวแล้ว เหตุใดจึงไม่ควรให้เอกชนทำภารกิจนี้

เป็นภารกิจที่เอกชนไม่สามารถทำได้ เนื่องจากต้องดำเนินการด้วยการ
ตรากฎหมายเท่านั้น

๔.๒ ถ้าเอกชนไม่ควรทำ เหตุใดจึงไม่ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทำภารกิจนี้

เป็นภารกิจที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากต้องดำเนินการด้วยการตรากฎหมายเท่านั้น

๕. ความจำเป็นในการออกฎหมาย

๕.๑ ในการทำภารกิจ เหตุใดจึงจำเป็นต้องตรากฎหมาย

เป็นการจัดตั้งองค์กรเพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนซึ่งมีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐและเป็นการใช้อำนาจของรัฐ

๕.๒ ถ้าจำเป็นต้องตรากฎหมาย เหตุใดจึงไม่สมควรให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ออกกฎหมายระดับท้องถิ่น

เป็นภารกิจที่ต้องดำเนินการด้วยการตรากฎหมายระดับพระราชบัญญัติเท่านั้น

๕.๓ การใช้บังคับกฎหมาย

พร้อมกันทุกท้องที่ เนื่องจากเป็นการตรากฎหมายระดับพระราชบัญญัติ
ซึ่งมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป

๕.๔ ระยะเวลาสิ้นสุดการใช้บังคับกฎหมาย

ไม่มี

๖. ความซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่น

๖.๑ กฎหมายอื่นในเรื่องเดียวกันหรือทำนองเดียวกัน

ไม่มี

๖.๒ เหตุผลที่ไม่สมควรยกเลิก แก้ไข หรือปรับปรุงกฎหมายอื่นที่มีอยู่เดิม

ไม่มี

๗. ภาระต่อบุคคลและความคุ้มค่า

๗.๑ ผู้ซึ่งถูกกระทบโดยกฎหมาย

ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน และเจ้าของกิจการสื่อมวลชน

๗.๒ ภาระหน้าที่ที่เกิดขึ้นกับบุคคลที่ถูกกฎหมายบังคับใช้

(๑) ไม่เป็นภาระแก่ประชาชนในฐานะผู้บริโภคสื่อ แต่จะเป็นประโยชน์แก่
ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนและประชาชนเป็นส่วนรวม

(๒) ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน และเจ้าของกิจการสื่อมวลชน ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๖ วรรคหนึ่ง

๗.๓ สิทธิและเสรีภาพที่ถูกจำกัด

ไม่มี

๗.๔ ประโยชน์ที่ประชาชนและสังคมจะได้รับ

ทำให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูล ข่าวสาร และความคิดเห็นที่เป็นจริงและ
เป็นกลาง

๗.๕ ความยุ่งยากที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการปฏิบัติตามกฎหมาย

ไม่มี

๗.๖ ความคุ้มค่าของภารกิจเมื่อคำนึงถึงงบประมาณที่ต้องใช้ ภาระหน้าที่
ที่เกิดขึ้นกับประชาชนและการที่ประชาชนจะต้องถูกจำกัดสิทธิและเสรีภาพเทียบกับประโยชน์
ที่จะได้รับ

ไม่มี

๘. ความพร้อมของรัฐ

เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยให้มีองค์กรที่เป็นอิสระเพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพและความเป็นธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน จึงกำหนดให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาจัดสรรเงินงบประมาณรายจ่ายเป็นเงินอุดหนุนทั่วไปเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการตามแผน
ที่คณะกรรมการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและส่งเสริมมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชนเสนอตามความจำเป็น

๙. ข้อเสนอแนะในการดำเนินการกับหน่วยงานอื่นที่ปฏิบัติภารกิจซ้ำซ้อนหรือใกล้เคียงกัน

ไม่มีความซ้ำซ้อนกับภารกิจของหน่วยงานอื่น

๑๐. วิธีการทำงานและระบบตรวจสอบ

คณะกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมายของนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีรัฐมนตรีประจำ
สำนักนายกรัฐมนตรีมนตรีเป็นประธาน ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการยกร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและส่งเสริมมาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. .... ซึ่งประกอบไปด้วยผู้แทนจากผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน นักวิชาการ และนักกฎหมาย

๑๑. กรอบหรือมาตรการป้องกันมิให้มีการตราอนุบัญญัติที่เป็นการขยายอำนาจเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือเพิ่มภาระแก่บุคคลจนเกินสมควร

ไม่มี

๑๒. การรับฟังความคิดเห็น

คณะอนุกรรมการยกร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและส่งเสริมมาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. .... ได้จัดให้มีการประชุมระดมความเห็นผู้ประกอบวิชาชีพ
และนักวิชาการด้านสื่อมวลชนในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคต่อร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว จำนวน ๕ ครั้ง