สหภาพแรงงานสื่อ จับมือ ส.นักข่าว อบรมรู้ทัน-ป้องกันละเมิดทางเพศ อัพเกรดสื่อ-ดึงสังคมร่วมแก้ปัญหา

สหภาพแรงงานสื่อ จับมือ ส.นักข่าว อบรมรู้ทัน-ป้องกันละเมิดทางเพศ อัพเกรดสื่อ-ดึงสังคมร่วมแก้ปัญหา

สหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย - สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ “รู้เท่าทันเพื่อป้องกันการล่วงละเมิดทางเพศ”  ตั้งเป้าเสริมศักยภาพสื่อในการทำข่าว และสร้างเครือข่ายในการป้องกันการเกิดปัญหาการคุกคามและล่วงละเมิดทางเพศ


……………………………..

(20 เม.ย.)  สหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย ร่วมกับ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ “รู้เท่าทันเพื่อป้องกันการล่วงละเมิดทางเพศ”  เพื่อเป็นการเสริมสร้างทักษะองค์ความรู้ของสื่อมวลชนไทยในการทำข่าว รายงานข่าว ในข่าวที่มีความเกี่ยวข้องกับการล่วงละเมิดทางเพศได้อย่างถูกต้องโดยได้รับการสนับสนุนจาก สมาพันธ์สื่อมวลชนนานาชาติ  International Federation of Journalists (IFJ) และ สหภาพสื่อมวลชนนอร์เวย์ Norsk Jornalistlag     

โดยมี 3 วิทยากร ที่มาร่วมบรรยายให้ความรู้ ในหัวข้อต่างๆที่น่าสนใจ คือ “กฎหมายน่ารู้ที่ไม่ควรเพิกเฉย” บรรยายโดย นายวีรศักดิ์ โชติวานิช อดีต อุปนายกฝ่ายช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย สภาทนายความ ,  “การเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศในที่ทำงานและบทเรียนจากต่างประเทศ” โดย มณฑิรา นาควิเชียร เจ้าหน้าที่ผู้ชำนาญการด้านสื่อสารองค์กร UN Women บรรยายในหัวข้อ และ หัวข้อ  อย่างไหนถึงเรียกว่า ความรุนแรงทางเพศ”  โดย ดร.วราภรณ์ แช่มสนิท ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ

โดยในการอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมอบรมทั้งสื่อมวลชนและผู้ที่สนใจสมัครเข้าร่วมอบรมจากหลากหลายอาชีพ มีการแบ่งกลุ่มทำกิจกรรม Case Study  ให้ผู้เข้าร่วมอบรมนำเสนอผลการทำกิจกรรมกลุ่มย่อย สรุปและประเมินผล  ก่อนมีพิธีมอบใบประกาศเกียรติคุณ


นาย สุเมธ สมคะเน ประธานสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย กล่าวว่า ในช่วง 4-5 ปีมานี้ ไม่ใช่เพียงแต่ประเทศไทย แต่รวมถึงหลายๆ ประเทศ แม้แต่ในยุโรปและสหรัฐอเมริกา มีความตื่นตัวปัญหาการคุกคามและการล่วงละเมิดทางเพศ  ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญ ที่จริงแล้วกฎหมายของไทยก็มีความก้าวหน้า แต่วัตถุประสงค์ที่ทำให้มีการจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ “รู้เท่าทันเพื่อป้องกันการล่วงละเมิดทางเพศ” เนื่องจากมองว่าเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อน แม้จะมีสิทธิด้านแรงงานดีขึ้น มีกฎหมายคุ้มครองดีขึ้น แต่การล่วงละเมิดทางเพศ ไม่ว่าจะเกิดกับวัยใด หรือเพศใดก็ตาม กลับมีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งที่เป็นคดีและไม่เป็นคดี โดยพบมากในสื่อออนไลน์  แม้แต่คนทำงานสื่อเองก็ยังพบปัญหานี้

“มีหลายคนกล่าวว่าเราเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับชาวบ้าน แต่ไม่เคยเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับตัวเราเอง ฉะนั้นเรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่ปัญหาหนึ่ง ที่สหภาพแรงงานกลางและสมาคมนักข่าวนักหนังสือแห่งประเทศไทย โดยเฉพาะฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อให้ความสำคัญตลอดในระยะ 2-3 ปีนี้ เราจึงวางแผนจัดการอบรมนี้ขึ้น เพื่อที่จะร่วมกันสร้างให้เกิดเครือข่ายในการช่วยกันแก้ไขและป้องกัน  โดยได้รับความช่วยเหลือและสนับสนุนทุนจัดอบรมจากสหพันธ์สื่อมวลชนนานาชาติและสหพันธ์สื่อมวลชนนอร์เวย์”


ด้านนาย มงคล บางประภา นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า การอบรมในวันนี้ไม่ถือว่าสายจนเกินไปสำหรับสิ่งที่เดินหน้าแล้วถูกต้องและไปในทิศทางที่เป็นไปได้ ซึ่งส่วนตัวเคยหารือร่วมกับคุณมณฑิรา เรื่องการผลักดันแนวทางการคุ้มครองป้องกันการล่วงละเมิดทางเพศในวงวิชาชีพสื่อมวลชนให้เกิดขึ้นจริง

“ในวันนี้มีทั้งมุมที่เกิดกับนักวิชาชีพสื่อมวลชนเอง และมุมที่สื่ออาจไปกระทำจากการรายงานข่าวผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งโดยส่วนตัวเคยมีประสบการณ์การเป็นผู้จัดการโครงการอบรมการทำข่าวสิทธิเด็ก ทำให้ทราบเป็นอย่างดีว่าความละเอียดอ่อนของการรายงานข่าว การรับรู้ วิเคราะห์ปัญหาและแก้ปัญหาของเด็กนั้น หนักกว่าสิทธิสตรี ซึ่งเป็นผู้ใหญ่ที่สามารถต่อสู้ได้ด้วยตนเอง แต่เด็กต้องอยู่ภายใต้ผู้ปกครอง ซึ่งมีทั้งผู้ปกครองที่เข้าใจและไม่เข้าใจหลักของสิทธิเด็ก ทำให้ผู้ปกครองเองก็เป็นส่วนหนึ่งที่ละเมิดสิทธิเด็กด้วย และตัวสื่อเองก็ละเมิดสิทธิเด็กโดยการกระทำซ้ำในการเผยแพร่ภาพ  หวังอย่างยิ่งให้การอบรมครั้งนี้บรรลุผล คือ ไม่เกิดการละเมิดซ้ำ โดยผู้ละเมิดคนเดิมหรือกลุ่มเดิม ซึ่งเป็นบทบาทของสื่อมวลชน  และยังมีโจทย์ของสื่อในออนไลน์เข้ามาเพิ่ม เราทุกคนในฐานะกลุ่มสังคมจะต้องช่วยกันผลักดันไม่ให้เกิดการกระทำซ้ำกับผู้ถูกละเมิด และไม่สร้างให้เกิดการกระทำตาม”   นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวทิ้งท้าย

ขณะที่ผู้เข้าร่วมอบรม นางสาวสุมนชยา  จึงเจริญศิลป์ สื่อมวลชนอิสระ กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่ได้มาเข้าร่วมอบรมในครั้งนี้ วิทยากรที่มาบรรยายต่างเป็นผู้มีความรู้ และเชี่ยวชาญในแต่ละด้านเป็นอย่างดี

“ก่อนมาก็มีหลายคำถาม คิดว่ายังไม่เข้าใจประเด็นนี้มากนัก แต่วิทยากรสามารถตอบคำถามได้อย่างตรงประเด็นเข้าใจง่าย มีการนำเสนอแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันอย่างเปิดกว้าง  การอบรมในครั้งนี้ที่ริเริ่มโดยองค์กรวิชาชีพสื่อ เป็นการแสดงออกให้เห็นสำคัญว่า ผู้ประกอบวิชาชีพให้ความตระหนักในเรื่องนี้ และนอกจากสื่อมลวชนเองแล้ว ยังมีผู้สนใจจากหลายวิชาชีพมาเข้าร่วม ซึ่งน่าจะเป็นการปูทางไปสู่ความร่วมมือ และการแลกเปลี่ยนในอนาคตได้”


นางสาวชวิดา วาทินชัย อดีตผู้สื่อข่าวและบรรณาธิการข่าวโทรทัศน์ ปัจจุบันเป็น ผู้จัดการสื่อสารองค์กร ต่อต้านคอรัปชัน ฯ อีก 1 ในผู้เข้าร่วมอบรม กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่าการอบรมครั้งนี้เป็นการเริ่มต้นที่ดี เพราะกรรมการผู้ที่จัดการอบรม มีหลายท่านเป็นผู้ชาย แสดงถึงความใส่ใจที่จะร่วมกันแก้ปัญหาการคุกคามทางเพศของคนในวงการสื่อ  ที่ผ่านมาปัญหาแบบนี้เคยเกิดในวงการสื่อมาแล้ว การที่สื่อไปทำข่าวตรวจสอบ แก้ปัญหาให้คนอื่นได้ ดังนั้นเมื่อใดก็ตามที่เกิดขึ้นกับคนในองค์กรสื่อเอง ก็จะต้องไม่มองข้ามเรื่องพวกนี้ และต้องไม่ลดความเข้มข้นในการตรวจสอบเช่นกัน  หามาตรการที่รอบคอบและเห็นผลในการแก้ปัญหา

“ หลังจากนี้ตั้งใจจะนำความรู้ที่ได้ทั้งหมด  ไปสานต่อ สร้างวัฒนธรรมที่ดีในองค์กร เพื่อจะทำให้คนใกล้ตัวหรือองค์กรเราเป็นองค์กรที่ปลอดภัย  เพราะปัญหาการคุกคามทางเพศหรือการล่วงละเมิด มีทุกวงการ วันนี้ไม่ใช่เรื่องไกลตัวแล้ว ทุกคนไม่ควรเพิกเฉย หรือมองเป็นเรื่องปกติของสังคม  ไม่อยากให้ใครมองว่าเป็นเรื่องแซวกันเล่น อย่าไปคิดมาก เพราะการคิดแบบนี้จะทำให้ซึมไปอยู่ในพฤติกรรมของเราโดยไม่รู้ตัว จะทำให้สังคมคุ้นชินและไม่เห็นว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเหตุที่น่ากลัว ต้องป้องกันหรือแก้ไข เช่น การไปล่วงละเมิดผู้อื่นด้วยสายตา  ผู้ชายมองผู้หญิงที่แต่งตัวเข้ารูป ถ้าเราไปคิดว่าเขาเป็นคนหุ่นอย่างนี้มันก็ห้ามคนมองไม่ได้ มันไม่ถูก คนเราต้องรู้จักการให้เกียรติคนอื่น อย่าทำให้มันกลายเป็นเรื่องที่ต้องยอมรับกับการถูกจ้องมอง และอย่าคิดว่าคนที่เสียหายไม่ใช่เราจึงไม่จำเป็นต้องไปสนใจ  ถ้ามีใครทำแบบนี้ เราต้องบอก และต้องไม่ไปเล่นกลับ เพราะไม่อย่างนั้น เราเองก็อาจจะกลายเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหา หรือทำให้ปัญหามันไม่ลดลง ”