สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้คนในสังคมไทยทุกระดับและทั่วประเทศอย่างรุนแรง มีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่ม และมีจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นทุกวัน ทำให้รัฐบาลไทย มีประกาศบังคับใช้ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสดังกล่าว เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2563 รวมทั้งยังส่งผลกระทบต่อการทำงานของสื่อมวลชนทุกแขนง โดยเฉพาะสื่อมวลชนที่ปฏิบัติหน้าที่ในภาคสนาม ไม่ว่า จะเป็น ผู้สื่อข่าว ช่างภาพ ผู้ช่วยช่างภาพ ในการทำหน้าที่บริการสาธารณะบอกเล่าสถานการณ์ เผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้อง อย่างรอบด้าน ตามกรอบจรรยาบรรณวิชาชีพสื่อมวชน เพื่อให้ทุกคนในสังคมได้เข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นจริง และรัฐบาลสามารถแก้ไขปัญหาได้ถูกจุด แต่การทำหน้าที่ดังกล่าวจะไม่สามารถเกิดผลอย่างที่กล่าวมาได้ หากผู้สื่อข่าว ช่างภาพ ที่เป็นทีมข่าวภาคสนาม ไม่สามารถลงพื้นที่ปฏิบัติงานในพื้นที่เสี่ยงภัยได้อย่างปลอดภัย เพราะจะไม่สามารถตรวจสอบข้อมูลต่างๆ ที่ไหลบ่าในสื่อออนไลน์ต่างๆ นั้น เป็นข้อมูลที่ถูกต้อง หรือเป็นเพียงข่าวลวงที่สร้างกระแสให้ผู้คนตื่นตระหนก ประกอบกับในห้วงเวลา นับตั้งแต่เกิดสถานการณ์แพร่ระบาดอย่างรุนแรงในกรุงเทพมหานคร จนระบาดไปทั่วประเทศมากถึง 57 จังหวัด มีนักข่าว ช่างภาพ และผู้ช่วยช่างภาพ ทั้งเป็นที่สื่อมวลชนส่วนกลาง และสื่อมวลชนในส่วนภูมิภาค หลายคนกลายเป็นผู้ต้องสงสัยว่าเสี่ยงติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 เนื่องจากไม่มีอุปกรณ์ป้องกันตัวที่เหมาะสมและปลอดภัยเพียงพอ ในการทำงานในพื้นที่ จนต้องถูกกักตัว หยุดพักการปฏิบัติงานเป็นการชั่วคราว
จากสถานการณ์ดังกล่าว สหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย จึงมีข้อเสนอแนะต่อสมาคม องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน และกองบรรณาธิการของสื่อแต่ละสำนักที่ปฏิบัติงานในประเทศไทยเพื่อให้ตระหนักถึงความสำคัญในการดูแลความปลอดภัยของช่างภาพ ผู้สื่อข่าวในสังกัด ดังนี้
1.ในสถานการณ์ที่สังคมเกิดความแตกแยกทางความคิดอย่างรุนแรง ผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ในการควบคุมเนื้อหาและทิศทางข่าวในกองบรรณาธิการควรนำเสนอข้อมูลข่าวสารอย่างตรงไปตรงมา ลดการแสดงอารมณ์ อคติที่จะเพิ่มพูนความเกลียดชังขึ้นในสังคม ที่อาจเป็นการสร้างไม่ปลอดภัยแก่นักข่าว และช่างภาพที่ปฏิบัติงานในพื้นที่
2.ช่วยประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐและผู้นำชุมชนเพื่อให้รับรองความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกในการทำหน้าที่
3.จัดหาอุปกรณ์ป้องกันชีวิตที่มีประสิทธิภาพในการใช้งานได้จริงและเพียงพอต่อช่างภาพและนักข่าวทุกคน สำหรับการลงพื้นที่เสี่ยงภัย อาทิ หน้ากากป้องกันใบหน้า หน้ากากป้องกันระบบทางเดินหายใจ ชุดเสื้อกันฝน และถุงมืออนามัย (ยาง)
4.สนับสนุนอุปกรณ์อินเตอร์เน็ตความเร็วสูงเพื่อใช้ในการส่งภาพและข่าว ที่สามารถใช้งานสื่อสารทางไกลได้ทุกสถานที่
5.กองบรรณาธิการ หรือสำนักข่าวต้นสังกัด หาควรจัดที่พักที่ปลอดภัยให้กับนักข่าว และช่างภาพ ที่ปฏิบัติภาคสนาม ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่เสี่ยงภัยได้พัก โดยไม่ต้องสร้างภาระกังวลว่า จะทำให้ครอบครัวได้รับภาวะความเสี่ยงติดเชื้อไปด้วย
6.ขอให้มีการดูแลและช่วยเหลือสวัสดิการรักษาพยาบาลนักข่าว ช่างภาพ และผู้ช่วยช่างภาพ ที่เจ็บป่วยจากการปฏิบัติงานในภาคสนามตามค่าใช้จ่ายจริง
7.ควรจัดเบี้ยเลี้ยงในกรณีที่ช่างภาพ-นักข่าวอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยหรือมีค่าล่วงเวลาในกรณีที่ต้องปฎิบัติหน้าที่ติดต่อกันเป็นเวลานานกว่า 10 ชั่วโมงขึ้นไป เพื่อเป็นขวัญและกำลังในการทำงาน
8.ต้นสังกัดควรมีวันหยุดพิเศษที่ไม่นับเป็นวันลาให้กับนักข่าวภาคสนาม เพื่อเปิดโอกาสให้ได้พักผ่อนเยียวยาฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจ.
สหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย
28 มีนาคม 2563