สหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย (National Union of Journalists Thailand)
ได้ก่อตั้งขึ้นแล้วอย่างเป็นทางการเมื่อวันอาทิตย์ที่ 20 มกราคม 2556 โดยมีนายสุเมธ สมคะเน จากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เป็นประธาน
นักข่าวรวมตัวจัดตั้งสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทยสำเร็จแล้ว การประชุมใหญ่ ในการจัดตั้งสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลไทย Nation Union of Journalists, Thailand (NUJT) ที่ห้องประชุมสมาคมนัดข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถ.สามเสน
โดยนายสุเมธ สมคะเน ผู้สื่อข่าวไทยรัฐ เป็นประธาน นายชิษณุชา เรืองศิริ รองประธาน และกรรมการอื่นรวม 9 คน โดยมีนักวิชาการ นักสหภาพแรงงานร่วมแสดงความยินดี เช่นนายศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา นายโกศล นาคาชล ประธานสหภาพแรงงานหนังสือพิมพ์บางกอกโพ สต์. นายเสด็จ บุนนาค ประธานสหภาพแรงงานสื่อสารมวลชนไทย(หนังสือพิมพ์เนชั่น) นายสุเมธ กล่าวว่าการจัดตั้งสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย ได้รับการรับรองจากนายทะเบียน เมื่อวันที่ 26 กย. 2555 โดยนายอาทิตย์ อิสโม อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน การประชุมใหญ่ครั้งนี้ ถือเป็นขั้นตอนตามกฏหมายที่จะทำให้การจัดตั้งสหภาพแรงงานมีความสมบูรณ์ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นในการดูแลพี่น้องสื่อมวลชนทุกแขนง และไม่ว่าจะอยู่ในขบวนการผลิตข่าวในขั้นตอนใด เช่นนักข่าว ช่างภาพ ฝ่ายผลิต คนขับรถ ซึ่งหมายถึงทุกคนในกิจการสื่อ ประธานสหภาพแรงงาน กล่าวถึงจุดเริ่มต้นในการพูดคุยของ”นักข่าวภาคสนาม” ได้รับแรงกดดันจากการทำงานทั้งในเรื่องสวัสดิการ ความปลอดภัยในการทำงาน
ในช่วงความขัดแย้งทางการเมือง ปี 2553 และวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2552 ที่สำนักข่าวบางแห่งมีการปลดนักข่าว ลดโบนัส ซึ่งเป็นที่มาของการจัดตั้งสหภาพแรงงาน รวมถึงการที่นักข่าวร่วมกันลงรายมือชื่อยื่นข้อเรียกร้องเสนอต่อองค์กรวิชาชีพและบริษัทสำนักข่าวแต่ละแห่งที่มีสาระสำคัญที่เป็นการเรียกร้องให้ผู้บริหารของสำนักข่าวสนับสนุนการทำงานข่าวในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง เช่นการจัดอบรมนักข่าวให้มีศักยภาพ และอุปกรณ์ในการสื่อข่าว รายงานข่าวอย่างมีประสิทธิภาพ จัดหาอุปกรณ์ป้องกันอันตราย ให้มีความปลอดภัย เช่นเสื้อเกราะป้องกันกระสุน และสวัสดิการอื่นเช่น กรณีฉุกเฉินให้จัดหาที่พัก ที่ใกล้สถานที่ติดตามข่าว รถที่ใช้ในการปฏิบัติงานติดตามข่าวและค่าเสี่ยงภัย ค่าตอบแทนในการทำงานล่วงเวลา กรณีที่ติดตามข่าว 10 ชม.ขึ้นไป ที่บริษัทส่วนใหญ่ไม่ได้ให้ความสำคัญข้อเสนอของนักข่าวภาคสนาม ทำให้รู้สึกหมดกำลังใจในการทำงาน “เราต้องการให้คนทำงานข่าว ได้รับการดูแลให้ได้รับค่าตอบแทนในการทำงาน สวัสดิการที่เป็นมาตรฐานที่เหมาะสม เท่าเทียมและเป็นธรรม”นายสุเมธกล่าวและว่า “หมาล่าเนื้อ”ที่ทุ่มเท กำลังในการทำงาน เมื่อวันหนึ่งเป็น “หมาแก่” สมควรที่จะได้รับดูแล เพื่อที่จะเป็นบรรทัดฐาน ให้คนทำงานรุ่นต่อไป นายศักดินา กล่าวถึงการจัดตั้งสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ว่าเป็นมิติที่ดี ที่เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ และเป็นแบบอย่างประชาธิปไตยในการรวมตัวจัดตั้งองค์กรเพื่อดูแลคนที่ทำงานด้านสื่อสารมวลชน
ทั้งนี้เห็นได้ว่าอาชีพนักข่าว สื่อมวลชน ต้องรายงานข่าว การใช้สิทธิ เสรีภาพของกลุ่มอาชีพ ประชาชนทั่วไป จึงจำเป็นที่จะต้องมีพลัง ทั้งนี้ผู้ประกอบการ ผู้บริหารสำนักข่าว ควรที่จะสนับสนุน ไม่ขัดขวางพนักงานเข้าเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานฯ ซึ่งถือเป็นสิทธิพื้นฐานที่ยอมรับทั่วโลก ทั้งนี้การทำงานของสหภาพแรงงานจะอยู่บนพื้นฐานของเหตุผล ในการเจรจาให้เกิดความเข้าใจ ความร่วมมือเพื่อองค์กรให้เกิดความเจริญก้าวไปด้วยกันทั้งผู้ประกอบการ ผู้บริหารและพนักงาน ทั้งนี้ในการประชุม ผู้เข้าร่วมในการประชุมได้มีการยืนไว้อาลัยนายวิทยา ตัณฑ์สุทธิ์ คอลัมนิสต์อาวุโส หนึ่งในผู้ซึ่งเป็นแรงสนับสนุน ผลักดันให้มีการจัดตั้งสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ที่เสียชีวิตลง ก่อนที่การจัดตั้งสหภาพแรงงานกลางฯมีความสมบูรณ์ในวันนี้ ทั้งนี้นายวิทยา ตัณฑสุทธิ์ ได้เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง และเป็นประธานสหภาพแรงงานสื่อคนแรกที่มีการจัดตั้งเมื่อปี 2524 แม้ในเวลาต่อมาสหภาพแรงงานสื่อดังกล่าวจะยุบตัวไปก็ตาม