2550-บันทึกความเข้าใจระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ-เรื่อง การโฆษณา เสนอข่าว และประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพทางสื่อ พ.ศ.2550

บันทึกความเข้าใจ

ระหว่าง

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

และสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ

เรื่อง

การโฆษณา เสนอข่าว และประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพทางสื่อ

.ศ.2550

____________________

 

เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมาย ว่าด้วยการโฆษณาที่อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา  โดยเฉพาะที่มีการโฆษณาทางสื่อต่างๆ เป็นไปอย่าง          มีประสิทธิภาพ บรรลุวัตถุประสงค์ของกฎหมาย และลดปัญหาข้อโต้แย้งในกรณีที่มีการดำเนินคดีตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการโฆษณา อีกทั้งเพื่อเป็นการประสานความร่วมมือและสร้างสัมพันธภาพที่ดีต่อกันระหว่างสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ในอันที่จะคุ้มครองผู้บริโภคด้านการโฆษณาให้มีประสิทธิภาพ  และเข้มแข็งอย่างมีบูรณาการ  สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ จึงได้ร่วมกันจัดทำบันทึกความเข้าใจไว้ ดังต่อไปนี้

 

หมวด 1

บททั่วไป

  1. 1. ในบันทึกความเข้าใจนี้

“โฆษณา” หมายความรวมถึง  กระทำการไม่ว่าด้วยวิธีใดๆให้ประชาชนเห็นหรือทราบ

ข้อความเพื่อประโยชน์ในทางการค้า

การประชาสัมพันธ์” หมายความว่า  การที่สื่อมวลชนนำเสนอข่าว  ภาพ  หรือบทความ  โดยไม่ได้รับประโยชน์ทางการค้า

ข้อความ”  หมายความรวมถึง  กระทำให้ปรากฏด้วยอักษร  ภาพ  ภาพดนตรี  แสง  เสียง  เครื่องหมาย  หรือกระทำการอย่างใดๆที่ทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจความหมายได้

ผู้ประกอบธุรกิจ” หมายความว่า ผู้ขาย ผู้ผลิตเพื่อขาย ผู้สั่งหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขาย หรือซื้อเพื่อขายต่อซึ่งสินค้า หรือบริการ  เเละหมายความรวมถึงผู้ประกอบกิจการโฆษณาด้วย

“สื่อโฆษณา” หมายความว่าสิ่งที่ใช้เป็นสื่อในการโฆษณา เช่น หนังสือพิมพ์  สิ่งพิมพ์  วิทยุกระจายเสียง  วิทยุโทรทัศน์  ไปรษณีย์โทรเลข  โทรศัพท์  หรือป้าย

“โฆษณาแฝง” หมายความรวมถึงการแสดงสรรพคุณ  คุณประโยชน์  หรือคุณภาพของผลิตภัณฑ์สุขภาพ  ซึ่งมิได้แสดงในรูปแบบของการโฆษณาโดยทั่วไปหรือในสิ่งโฆษณา  แต่ได้นำเสนอในรูปของบทความ  บทสัมภาษณ์  คอลัมน์  หรือรูปแบบอื่นใดอันมีลักษณะสื่อถึงสรรพคุณ  คุณประโยชน์  หรือคุณภาพของผลิตภัณฑ์สุขภาพนั้นๆ

“ผลิตภัณฑ์สุขภาพ” หมายความว่า  ผลิตภัณฑ์ยา  อาหาร  เครื่องมือแพทย์  เครื่องสำอาง  หรือวัตถุอันตราย

 

2.  ข้อกำหนดการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพตามกฎหมาย

2.1 การโฆษณาผลิตภัณฑ์ยา  อาหาร  และเครื่องมือแพทย์  ผู้โฆษณาจะต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาก่อนจึงจะโฆษณาได้  ตามข้อกำหนดพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 และพระราชบัญญัติเครื่องมือแพทย์ พ.ศ.2531 ตามลำดับ

(1) การโฆษณายา  และเครื่องมือแพทย์  ที่กระทำเพื่อประโยชน์ในทางการค้าต้องได้รับอนุญาตก่อนจึงจะทำการโฆษณาได้

(2) การโฆษณาอาหาร  หากโฆษณาสรรพคุณ  คุณประโยชน์ หรือคุณภาพของอาหาร เพื่อประโยชน์ทางการค้าไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม  ต้องได้รับอนุญาตก่อนจึงจะทำการโฆษณาได้   แต่ถ้าไม่มีการแสดงสรรพคุณ  คุณประโยชน์ หรือคุณภาพของอาหารนั้น ไม่อยู่ในเกณฑ์ที่ต้องได้รับอนุญาตโฆษณา

2.2 การโฆษณาเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย  สามารถโฆษณาได้โดยไม่ต้อง
ขออนุญาตโฆษณาโดยแสดงข้อความหรือภาพ ตามข้อกำหนดพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง    พ.ศ. 2535   พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535   ประกอบพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค   พ.ศ. 2522

 

3.  การประสานความร่วมมือ

เพื่อเป็นการป้องกัน   และลดการกระทำที่เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพอันจะทำให้การโฆษณาเป็นไปโดยถูกต้องตามกฎหมาย และผู้บริโภคได้รับข้อมูลข่าวสารอย่างถูกต้อง จึงกำหนดแนวทางการพิจารณาและประสานความร่วมมือ  ดังนี้

3.1 การเสนอข่าวและประชาสัมพันธ์  ข้อความ  ภาพ  บทความ  หรือการโฆษณาแฝงของสื่อและผู้ประกอบธุรกิจให้คำนึงถึงหลักเจตนาเป็นสำคัญ

3.2 การเสนอข่าวและประชาสัมพันธ์  ข้อความ  ภาพ  บทความ  หรือการโฆษณาแฝง  หากก่อให้เกิดความเข้าใจผิดต่อประชาชน  ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเห็นว่าจำเป็นต้องแก้ไข  ให้สื่อเป็นผู้แก้ไข  ชี้แจง  หรืออธิบายข้อเท็จจริงดังกล่าวด้วย

3.3 ใช้คู่มือเกี่ยวกับการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพตามที่ปรากฏในภาคผนวก เป็นข้อมูลแนวทางประกอบการพิจารณาดำเนินการโฆษณา  ดังนี้

(1)   ภาคผนวก ก.   คู่มือการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพสำหรับผู้รับผิดชอบสื่อโฆษณา

(2)   ภาคผนวก ข.   คู่มือแนวทางการพิจารณาข้อความหรือภาพที่มีลักษณะเกินจริง  เป็นเท็จ  หลอกลวง  หรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค และอื่นๆ

3.4 ก่อนที่จะโฆษณาผลิตภัณฑ์ยา อาหาร และเครื่องมือแพทย์ในสื่อต่าง ๆ ให้บรรณาธิการตรวจสอบกับผู้ประกอบธุรกิจในเบื้องต้นก่อนว่าข้อความหรือภาพที่จะลงโฆษณานั้น ได้รับอนุญาตให้โฆษณาจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแล้วหรือไม่

หากตรวจสอบแล้วมีใบอนุญาตให้โฆษณา  และแม้จะมีข้อความหรือภาพนอกเหนือจากที่ได้รับอนุญาตซึ่งมิใช่เป็นการกระทำของสื่อ  การโฆษณาของสื่อนั้น ย่อมไม่เป็นความผิดตามกฎหมาย

3.5   จัดให้มีการประชุม  อบรม  สัมมนาร่วมกัน  เพื่อประสานความร่วมมือให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ  อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

3.6   การประสานและปรึกษาหารือเกี่ยวกับการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพให้ติดต่อโดยตรงกับหน่วยงานโฆษณาของแต่ละผลิตภัณฑ์  ตามที่ปรากฏในท้ายภาคผนวก ข

หมวด 2

การกระทำที่ไม่เข้าข่ายเป็นความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการโฆษณา

4.  การโฆษณา เสนอข่าว และประชาสัมพันธ์ของสื่อที่ไม่เข้าข่ายเป็นความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการโฆษณา

4.1  ผลิตภัณฑ์ยา และเครื่องมือแพทย์ ซึ่งได้รับอนุญาตโฆษณาจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือการโฆษณาแต่เพียงภาพลักษณ์กิจการของผู้ประกอบธุรกิจ    ไม่ว่าสื่อจะได้รับค่าจ้างตอบแทนหรือไม่ก็ตาม

4.2  ผลิตภัณฑ์อาหารซึ่งได้รับอนุญาตโฆษณาจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา   หรือการโฆษณาที่ไม่ต้องขออนุญาต ได้แก่ การโฆษณาที่ไม่แสดงสรรพคุณ คุณประโยชน์ หรือคุณภาพ   หรือการโฆษณาที่แสดงแต่เพียงชื่อ ประเภทของอาหาร หรือภาพลักษณ์กิจการของ     ผู้ประกอบธุรกิจ ไม่ว่าสื่อจะได้รับค่าจ้างตอบแทนหรือไม่ก็ตาม

4.3  ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง และวัตถุอันตราย ที่ไม่มีการกล่าวอ้างหรือโอ้อวดสรรพคุณ คุณประโยชน์ หรือคุณภาพของผลิตภัณฑ์อันเป็นเท็จหรือเกินจริง หรืออาจก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์นั้นโดยพิจารณาจากคู่มือในภาคผนวก ข.  เป็นแนวทาง  ทั้งนี้ไม่ว่าสื่อจะได้รับค่าจ้างตอบแทนหรือไม่ก็ตาม

4.4  การโฆษณา  เสนอข่าวและประชาสัมพันธ์ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจได้จัดเปิดตัวสินค้าใหม่เป็นครั้งแรก โดย

(1)  ผลิตภัณฑ์ยาและเครื่องมือแพทย์ที่ไม่มีการกล่าวอ้างหรือแสดงให้เข้าใจได้ถึงสรรพคุณ คุณประโยชน์หรือคุณภาพ  หรือได้ระบุแต่เพียงกลุ่มของยาและภาพลักษณ์กิจการของผู้ประกอบธุรกิจ  สำหรับกรณีที่เป็นการเสนอข่าวหรือประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ยานั้นจะต้องอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์พระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 มาตรา 88 มาตรา 89 และมาตรา 90 ด้วย

(2)  ผลิตภัณฑ์อาหาร ที่ไม่มีการกล่าวอ้างหรือแสดงให้เข้าใจได้ถึงสรรพคุณ คุณประโยชน์หรือคุณภาพ หรือได้ระบุแต่เพียงชื่อและประเภทของอาหาร รวมถึงภาพลักษณ์กิจการของผู้ประกอบธุรกิจ

(3)  ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง และวัตถุอันตราย ที่ไม่มีการกล่าวอ้างหรือโอ้อวดสรรพคุณ คุณประโยชน์ หรือคุณภาพของผลิตภัณฑ์อันเป็นเท็จหรือเกินจริง หรืออาจก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์นั้น

4.5  การโฆษณา เสนอข่าวและประชาสัมพันธ์ซึ่งแสดงเฉพาะข้อความตามที่ระบุไว้ในฉลากของผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผู้ประกอบธุรกิจได้จัดทำขึ้น  สำหรับกรณีที่เป็นการเสนอข่าวหรือประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ยานั้นจะต้องอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์พระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 มาตรา 88 (4) (5) (6) และ (8)  ด้วย

4.6  การโฆษณา เสนอข่าว และประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ที่มาจากสมุนไพรตามที่กำหนด

ในข้อ 4.1 - 4.5

 

5.  การโฆษณา เสนอข่าว และประชาสัมพันธ์ของผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่เข้าข่ายเป็นความผิด    ตามกฎหมายว่าด้วยการโฆษณา

5.1  ผลิตภัณฑ์ยา และเครื่องมือแพทย์ ซึ่งได้รับอนุญาตให้โฆษณาจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา  หรือการโฆษณาแต่เพียงภาพลักษณ์กิจการของผู้ประกอบธุรกิจ

5.2  ผลิตภัณฑ์อาหาร ซึ่งได้รับอนุญาตให้โฆษณาจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา  หรือการโฆษณาที่ไม่ต้องขออนุญาต ได้แก่ การโฆษณาที่ไม่แสดงสรรพคุณ คุณประโยชน์ หรือคุณภาพ หรือการโฆษณาที่แสดงแต่เพียงชื่อ ประเภทของอาหาร หรือภาพลักษณ์กิจการของผู้ประกอบธุรกิจ

5.3  ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง และวัตถุอันตราย ที่ไม่มีการกล่าวอ้างหรือโอ้อวดสรรพคุณ คุณประโยชน์ หรือคุณภาพของผลิตภัณฑ์อันเป็นเท็จหรือเกินจริง หรืออาจก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์นั้น   โดยพิจารณาจากคู่มือในภาคผนวก ข. เป็นแนวทาง

5.4  การโฆษณา  เสนอข่าวและประชาสัมพันธ์ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจ ผลิตภัณฑ์สุขภาพได้จัดเปิดตัวสินค้าใหม่เป็นครั้งแรก   ภายใต้เงื่อนไขดังนี้

(1)  ผลิตภัณฑ์ยา   และเครื่องมือแพทย์ ที่ไม่มีการกล่าวอ้างหรือสื่อให้เข้าใจได้ถึงสรรพคุณ  คุณประโยชน์  หรือคุณภาพ  หรือได้ระบุแต่เพียงกลุ่มของยาและภาพลักษณ์กิจการของผู้ประกอบธุรกิจ สำหรับกรณีที่เป็นการเสนอข่าวหรือประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ยานั้นจะต้องอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์พระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 มาตรา 88 มาตรา 89 และมาตรา 90 ด้วย

(2)  ผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่มีการกล่าวอ้างหรือสื่อให้เข้าใจได้ถึงสรรพคุณ คุณประโยชน์  หรือคุณภาพด้วยแล้ว  หรือได้ระบุแต่เพียงชื่อและประเภทของอาหาร  รวมถึงภาพลักษณ์กิจการของผู้ประกอบธุรกิจ

(3)  ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง และวัตถุอันตราย  ที่ไม่มีการกล่าวอ้างหรือโอ้อวดสรรพคุณ  คุณประโยชน์  หรือคุณภาพของผลิตภัณฑ์อันเป็นเท็จหรือเกินจริง  หรืออาจก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์นั้น

5.5  การโฆษณา เสนอข่าวและประชาสัมพันธ์ ซึ่งแสดงเฉพาะข้อความจากฉลากของผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผู้ประกอบธุรกิจได้จัดทำขึ้น  สำหรับกรณีที่เป็นการเสนอข่าวหรือประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ยานั้นจะต้องอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์พระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 มาตรา 88 (4) (5) (6) และ (8) ด้วย

หมวด 3

การกระทำที่เข้าข่ายเป็นความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการโฆษณา

6.  การโฆษณา เสนอข่าว และประชาสัมพันธ์ของสื่อที่เข้าข่ายเป็นความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการโฆษณา

6.1  ผลิตภัณฑ์ยา อาหาร และเครื่องมือแพทย์ ที่ไม่ได้รับอนุญาตโฆษณาซึ่งสื่อได้รับค่าจ้างตอบแทนตามสัญญาว่าจ้าง หรือตามข้อตกลงตามประเพณีในธุรกิจ  มีความผิดตามกฎหมายเช่นเดียวกับผู้ประกอบธุรกิจ หรือบุคคลอื่นใดที่มีส่วนร่วมในการโฆษณา

6.2  ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง   และวัตถุอันตราย   ที่มีการกล่าวอ้างหรือโอ้อวดสรรพคุณ คุณประโยชน์ หรือคุณภาพของผลิตภัณฑ์อันเป็นเท็จ หรือเกินจริง หรืออาจก่อให้เกิดความ       ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค

6.3  กระทำการโฆษณาแฝงเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพไม่ว่ารูปแบบหรือลักษณะใดที่สื่อได้รับค่าจ้างตอบแทนตามสัญญาว่าจ้าง หรือตามข้อตกลงตามประเพณีในทางธุรกิจ ซึ่งกระทำครบองค์ประกอบความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการโฆษณา

7.  การโฆษณา เสนอข่าว และประชาสัมพันธ์ของผู้ประกอบธุรกิจที่เข้าข่ายเป็นความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการโฆษณา

7.1  ผลิตภัณฑ์ยา   อาหาร และเครื่องมือแพทย์ ที่ไม่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา   หรือใช้ข้อความหรือภาพนอกเหนือจากที่ได้รับอนุญาต

7.2  ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง   และวัตถุอันตราย   ที่มีการกล่าวอ้างหรือโอ้อวดสรรพคุณ คุณประโยชน์ หรือคุณภาพของผลิตภัณฑ์อันเป็นเท็จ หรือเกินจริง หรืออาจก่อให้เกิดความ       ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค

7.3  กระทำการโฆษณาแฝงเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพไม่ว่ารูปแบบหรือลักษณะใดซึ่งกระทำครบองค์ประกอบความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการโฆษณา

 

_________________________