แนวทางพิจารณาการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพทางสื่อหนังสือพิมพ์

แนวทางพิจารณาการโฆษณา
ผลิตภัณฑ์สุขภาพทางสื่อหนังสือพิมพ์
ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
ตามข้อหารือของสมาคมนักข่าวหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
พ.ศ. 2548
-----------------------------------

เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมาย ว่าด้วยการโฆษณาที่อยู่ในความรับผิดชอบของ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดยเฉพาะที่มีการโฆษณาทางหนังสือพิมพ์ต่างๆ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ บรรลุวัตถุประสงค์ของกฎหมาย และลดปัญหาข้อโต้แย้งในกรณีที่มีการดำเนินคดีตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ว่าด้วยการโฆษณา อีกทั้งเพื่อเป็นการประสานความร่วมมือและสร้างสัมพันธภาพที่ดีต่อกันระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กับสมาคมนักข่าวหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ในอันที่จะคุ้มครองผู้บริโภคด้านการโฆษณาให้มีประสิทธิภาพ และเข้มแข็งอย่างมีบูรณาการ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และสมาคมนักข่าวหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จึงได้ร่วมกันจัดทำแนวทางพิจารณาในการโฆษณาไว้ ดังต่อไปนี้

1. การโฆษณาผลิตภัณฑ์ยา ผลิตภัณฑ์อาหาร และผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ ผู้โฆษณาจะต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาก่อนจึงจะโฆษณาได้ ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 และพระราชบัญญัติ เครื่องมือแพทย์ พ.ศ.2531 ตามลำดับ
      1.1 การโฆษณายา และเครื่องมือแพทย์ ถ้าได้กระทำเพื่อประโยชน์ในทางการค้าแล้ว จะต้องได้รับอนุญาตก่อน จึงจะทำการโฆษณาได้
      1.2 การโฆษณาอาหาร จะต้องเป็นการโฆษณาสรรพคุณ คุณประโยชน์ หรือคุณ ภาพของอาหารด้วย จึงจะอยู่ในเกณฑ์ที่จะต้องได้รับอนุญาตก่อน หากไม่มีการกล่าวถึงสรรพคุณ คุณประโยชน์หรือคุณภาพของอาหารไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมแล้ว ก็ไม่อยู่ในเกณฑ์ที่ต้องได้รับอนุญาตก่อนแต่อย่างใด

2. การโฆษณาผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์วัตถุอันตราย ผู้โฆษณาไม่ต้องขออนุญาตการโฆษณาจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาก่อนแต่อย่างใด เพียงแต่ ข้อความหรือภาพประกอบที่โฆษณา จะต้องไม่เป็นเท็จ หรือไม่เกินจริง หรืออาจก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์นั้น
      2.1 เมื่อมีการโฆษณาผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ลงในหนังสือพิมพ์บรรณาธิการหนังสือพิมพ์จะต้องตรวจสอบให้ชัดเจนเสียก่อนว่าข้อความหรือภาพ ประกอบ ที่ลงโฆษณานั้นมีการใช้ข้อความอันเป็นเท็จ หรือเกินจริง หรืออาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิด หรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคหรือไม่ หากเป็นข้อความหรือภาพในลักษณะดังกล่าว ย่อมเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ.2535 ประกอบพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 ในกรณีเป็นที่สงสัย หรือไม่แน่ใจว่าข้อความหรือภาพประกอบการโฆษณาเข้าข่ายเป็นความผิดตามกฎหมาย หรือไม่ ให้นำข้อความหรือภาพประกอบนั้นมาให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ตรวจพิจารณาเบื้องต้น หรือยื่นคำขอความเห็นเกี่ยวกับข้อความสำหรับโฆษณาเครื่องสำอางต่อคณะกรรมการเครื่องสำอาง
      2.2 การโฆษณาผลิตภัณฑ์วัตถุอันตรายลงในหนังสือพิมพ์ จะต้องปฏิบัติเช่นเดียวกับข้อ 2.1 แต่การดำเนินการอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานคณะกรรมการคุ้ม ครองผู้บริโภค

3. การพิจารณาว่าการกระทำใดเป็นการโฆษณาหรือไม่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จะใช้ความหมายของคำว่า “โฆษณา” ตามคำนิยามของพระราชบัญญัติคุ้มครอง ผู้บริโภค พ.ศ.2522 คือ “กระทำการไม่ว่าด้วยวิธีใดๆ ให้ประชาชนเห็นหรือทราบข้อความ เพื่อประโยชน์ในทางการค้า” ซึ่งเป็นกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่งมาใช้บังคับ

4. เมื่อบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ได้ตรวจสอบการขออนุญาตการโฆษณาตาม ข้อ 1. แล้วพบว่าผลิตภัณฑ์ที่จะลงโฆษณา ได้รับอนุญาตให้โฆษณาจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแล้ว ให้ตรวจสอบโดยละเอียดอีกชั้นหนึ่งว่าข้อความหรือภาพประกอบที่จะลงโฆษณานั้น ตรงตามที่ได้รับอนุญาตหรือไม่ เพราะแม้จะได้รับอนุญาตให้โฆษณาแล้วก็ตาม แต่หากมีข้อความหรือภาพประกอบไม่ตรงตามที่ได้รับอนุญาตก็ย่อมเป็นความผิดตาม กฎหมายเช่นเดียวกัน

5. ในกรณีการเสนอข่าวเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ อันได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยา อาหาร เครื่องมือแพทย์ เครื่องสำอาง และวัตถุอันตราย ไม่ว่าจะได้เสนอในรูปของการเปิดตัวสินค้าใหม่ การประชาสัมพันธ์ บทความ หรือในรูปอื่นใด การพิจารณาว่าเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายที่เกี่ยวข้องหรือไม่ อย่างไร ให้พิจารณาถึงขอบเขต และเนื้อหาของการเสนอข่าวหรือประชาสัมพันธ์ ตามที่กำหนดในข้อ 6.

6. การเสนอข่าว หรือประชาสัมพันธ์ ที่เข้าข่ายเป็นความผิดตามกฎหมาย ว่าด้วยการโฆษณา
      6.1 การเสนอข่าวหรือประชาสัมพันธ์ที่หนังสือพิมพ์หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับหนังสือพิมพ์ได้รับค่าจ้างตอบแทนตามสัญญาว่าจ้าง หรือตามข้อตกลงตามประเพณีในทางธุรกิจ หากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา พิจารณาแล้วเห็นว่าครบองค์ประกอบของความผิดของกฎหมายผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ เกี่ยวข้อง นอกจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาจะดำเนินคดีกับเจ้าของผลิตภัณฑ์หรือผู้ จำหน่ายที่จัดให้มีการเสนอข่าวหรือประชาสัมพันธ์แล้ว ก็จะดำเนินคดีกับหนังสือพิมพ์ ในฐานะที่เป็นผู้ร่วมกระทำความผิดตามบทบัญญัติว่าด้วยการโฆษณา
      6.2 การเสนอข่าวหรือประชาสัมพันธ์ไม่ว่าในรูปแบบใดก็ตาม ที่มีการแอบแฝงโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เข้าองค์ประกอบความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการโฆษณา อยู่ด้วย และหนังสือพิมพ์หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับหนังสือพิมพ์ได้รับค่าจ้างตอบแทน จะดำเนินคดีเช่นเดียวกับ ข้อ 6.1
      กรณีตามข้อ 6.1 และ 6.2 ถ้าหนังสือพิมพ์หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ พิมพ์ไม่ได้รับค่าจ้างตอบแทน แต่เป็นการกระทำที่เจ้าของผลิตภัณฑ์ หรือผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพได้กระทำไปครบองค์ประกอบความผิดของกฎหมาย ผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เกี่ยวข้อง เจ้าของผลิตภัณฑ์หรือผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์เท่านั้น ที่จะต้องรับผิดตามกฎหมาย
      6.3 ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง และวัตถุอันตราย ที่มีการกล่าวอ้างหรือโอ้อวด สรรพคุณ คุณประโยชน์ หรือคุณภาพของผลิตภัณฑ์อันเป็นเท็จ หรือเกินจริง หรืออาจก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์นั้น ต้องรับผิดตามกฎหมาย

7. การเสนอข่าวหรือประชาสัมพันธ์ในลักษณะที่เจ้าของผลิตภัณฑ์หรือผู้จำหน่าย ผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ได้จัดให้มีการเปิดตัวสินค้าใหม่เป็นครั้งแรก ให้พิจารณาตามประเภทของผลิตภัณฑ์ ดังนี้
      7.1 ผลิตภัณฑ์ยา และเครื่องมือแพทย์ ถ้าไม่มีการกล่าวอ้างหรือสื่อให้เข้าใจได้ถึงสรรพคุณ คุณประโยชน์ หรือคุณภาพ หรือได้ระบุแต่เพียงกลุ่มของยา รวมถึงภาพลักษณ์ของกิจการผู้ผลิต หรือผู้จำหน่าย ก็ย่อมสามารถเสนอข่าวหรือประชาสัมพันธ์ในลักษณะเช่นนี้ได้ สำหรับ กรณีที่เป็นการเสนอข่าวเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ยา จะต้องอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 มาตรา 88 มาตรา 89 และมาตรา 90 ด้วย
      7.2 ผลิตภัณฑ์อาหาร ถ้าไม่มีการกล่าวอ้างหรือสื่อให้เข้าใจได้ถึงสรรพคุณ คุณประโยชน์ หรือคุณภาพด้วยแล้ว หรือได้ระบุแต่เพียงชื่อและประเภทของอาหาร รวมถึงภาพลักษณ์ของกิจการผู้ผลิต หรือผู้จำหน่าย ก็ย่อมสามารถเสนอข่าวหรือประชาสัมพันธ์ในลักษณะเช่นนี้ได้
      7.3 ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง และวัตถุอันตราย ที่ไม่มีการกล่าวอ้าง หรือโอ้อวดสรรพคุณ คุณประโยชน์ หรือคุณภาพของผลิตภัณฑ์อันเป็นเท็จ หรือเกินจริง หรืออาจก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์นั้น ก็ย่อมสามารถเสนอข่าวหรือประชาสัมพันธ์ในลักษณะเช่นนี้ได้

--------------------

ดาวน์โหลดเอกสาร