บทบาทและบทเรียนสื่อมวลชน ในการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น

บทบาทและบทเรียนสื่อมวลชน ในการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น

ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธ์

อิศรินทร์ หนูเมือง

การหยุดยั้งคอร์รัปชั่นที่ชะงัดที่สุด คือการทำหนังสือพิมพ์เชิงสืบสวนสอบสวน (Investigative Journalism) คอร์รัปชั่นไม่กลัวความเห็น แต่กลัวความรู้ ความจริงทำให้นักคอร์รัปชั่นจนมุมกลางกระดานได้

นายแพทย์ประเวศ วะสี

ในสังคมการเมืองหนึ่งๆย่อมแนวคิดเกี่ยวกับบทบาทของสื่อมวลชนแตกต่างกันไป ในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบเผด็จการย่อมมองว่า สื่อมวลชนเป็นเพียงเครื่องมือและสนองนโยบายรัฐบาลในการเผยแพร่ผลงานและนโยบายของรัฐไปสู่ประชาชนในลักษณะการสื่อสารทางเดียว ทำให้การทำงานของสื่อมวลชนถูกควบคุมอย่างเข้มงวดจากอำนาจรัฐ

อย่างไรก็ตามทฤษฎีเกี่ยวกับสื่อสารมวลชนมีค่อนข้างหลากหลาย อาทิ นักทฤษฎีแนวเสรีนิยมเชื่อว่า สื่อมวลชนเป็นตลาดเสรีแห่งความคิด และมีความเป็นกลางในการทำหน้าที่ของตน

ขณะที่บางทฤษฎีมองว่า สื่อมวลชนเป็นตัวแทนของชนชั้นนายทุนและผู้กุมอำนาจ โดยทำงานภายใต้ตรรกะของระบบเศรษฐกิจการเมืองทุนนิยมซึ่งผูกขาดโดยคนส่วนน้อย ดังจะเห็นได้ว่าสื่อมวลชนกระแสหลักมีการทำงานตามกลไกการตลาดโดยเสนอสิ่งทีคนส่วนใหญ่นิยมชมชอบ

ทฤษฎีดังกล่าวพยายามอธิบายว่า การที่สื่อมวลชนมีอำนาจในการโน้มน้าวใจ การสร้างประชามติ การควบคุมจิตใจและวิถีวัฒนธรรมของประชาชน สื่อมวลชนจึงถูกกลุ่มทุนรวมถึงอำนาจรัฐนำมาใช้เป็นเครื่องมือรักษาผลประโยชน์ของกลุ่มตน

การที่กลุ่มทุนและรัฐมีอำนาจเหนือสื่อมวลชน ทำให้โครงสร้างของระบบสื่อมวลชนเป็นไปในทิศทางที่จะรับใช้กลุ่มอำนาจเหล่านี้ กลายเป็นเครื่องมือในการโฆษณาชวนเชื่อและสร้างความชอบธรรมในทางการเมือง รัฐบาลจึงไม่ต้องการให้สื่อมวลชนมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการวิพากษ์วิจารณ์

อย่างไรก็ตามโดยทั่วไปแล้ว สื่อมวลชนโดยเฉพาะหนังสือพิมพ์มีหน้าที่หลักคือ การให้ข้อมูลข่าวสารโดยการนำเสนอเหตุการณ์ ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในรูปแบบต่างๆ ซึ่งแต่ละวัน มีเหตุการณ์และข้อเท็จจริงเกิดขึ้นอย่างมากมาย สื่อมวลชนมีข้อจำกัดที่ไม่สามารถนำเสนอได้ทั้งหมด จึงต้องทำหน้าที่"นายทวาร"ข่าวสารคัดกรองข้อมูลข่าวสารดังกล่าวเพื่อนำเสนอต่อสาธารณะโดยยึดหลักประโยชน์สาธารณะและความสนใจของประชาชน เป็นปัจจัยสำคัญ

ในระบอบการเมืองประชาธิปไตยแบบเน้นการมีส่วนร่วม สื่อมวลชน นอกจากเป็นเวทีในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนอย่างอิสระ เป็นสื่อกลางระหว่างกลุ่มคนหรือประชาสังคม เป็นช่องทางในการเรียนรู้ร่วมกันแล้ว สื่อมวลชนยังมีบทบาทในการตรวจสอบอำนาจรัฐด้วย (The watchdog theory)

ทฤษฎีดังกล่าว สื่อมวลชนมีหน้าที่ทางสังคมหรือพันธกิจทางสังคม ( social functions) เป็นผู้ที่เฝ้าระวังและตรวจสอบสิ่งแวดล้อมทางสังคม และการเมือง เป็นสุนัขเฝ้าบ้าน (watchdog) คอยบอกให้สมาชิกสังคมรู้ว่า เกิดอะไรขึ้นรอบๆบ้านของตน แน่นอนว่า ในการทำหน้าที่ดังกล่าว ย่อมหนีไม่พ้นการตรวจสอบการฉ้อราษฎร์บังหลวง และการคอร์รัปชั่นซึ่งเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปกำลังเกิดขึ้นอย่างชุกชุมโดยเฉพาะเป็นการกระทำของผู้มีอำนาจทางการเมืองและอำนาจรัฐเป็นส่วนใหญ่

บทบาทของสื่อมวลชนในการนำเสนอข่าวเพื่อการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น

ก่อนที่จะกล่าวถึงการตรวจสอบคอร์รัปชั่นของสื่อมวลชน ต้องนิยามคำว่า "คอร์รัปชั่น"ในความหมายกว้างกว่า การทุจริต การฉ้อราษฎร์บังหลวงให้กินความถึงพฤติกรรมที่ไม่ชอบมาพากลหรือมีวาระซ่อนเร้นบางอย่างซึ่งอาจนำไปสู่หรือเป็นสาเหตุในการแสวงหาผลประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ อาทิ การกำหนดนโยบายการเอื้อประโยชน์ในหมู่พวกพ้อง ครอบครัว หรือมีเป้าหมายแฝงเร้นในเรื่องต่างๆ การหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ การปกปิดข้อมูลเพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบจากสาธารณะ

ในการทำหน้าที่ในการตรวจสอบคอร์รัปชั่นของสื่อมวลชนโดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ มีหลักฐานยืนยันว่า มีมาเป็นเวลานานหลายสิบปี ดูได้จากข่าวหนังสือพิมพ์ที่ส่งเข้าประกวดข่าวยอดเยี่ยมของมูลนิธิ อิศรา อมันตกุล สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยพบว่า ข่าวส่วนใหญ่เป็นข่าวเกี่ยวกับการเปิดโปงการทุจริตคอรัปชั่นทั้งของนักการเมืองและข้าราชการระดับสูงรวม การใช้อำนาจโดยมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐ

ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี อดีตเลขาธิการสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยได้รวบรวมข่าวที่เคยได้รับรางวัลข่าวยอดเยี่ยมและรางวัลชมเชยของมูลนิธิอิศรา อมันตกุล ระหว่างปี 2515-2542 จำนวน 40 ข่าวพบว่า  เป็นข่าวการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของข้าราชการ 11 ข่าว ,ข่าวทำลายสิ่งแวดล้อมและทรัพย์พากรธรรมชาติของนักการเมืองข้าราชการ 10 ข่าว,ข่าวทุจริตคอร์รัปชั่น 9 ข่าว,ข่าวอาชญกรรมทางเศรษฐกิจ 2 ข่าวและข่าวอื่นๆ 8 ข่าว

สื่อมวลชนมีบทบาทเป็นอย่างมากในการแสวงหาข้อมูลมาเปิดเผยให้กับสาธารณะได้รับทราบ และให้ความรู้กับประชาชน รวมทั้งให้ข้อมูลการคอร์รัปชั่นทั้งในวงราชการ และในวงการเมือง เช่น กรณีค่าโง่ทางด่วน การฉ้อโกงจัดซื้อเรือขุด กรณีการทุจริตการจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิด ในสนามบินสุวรรณภูมิ ของกระทรวงคมนาคม หรือกรณีการฉ้อโกงทีดินธรณีสงฆ์ ไปสร้างสนามกอล์ฟและบ้านจัดสรร การทุจริตการจัดซื้อกล้ายาง การทุจริตในโครงการรับจำนำลำไย ในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

บทบาทของสื่อมวลชน จะมีพลังมากยิ่งขึ้นต้องมีการจับมือประสานงานกับเครือข่ายต่างๆในสังคม เช่น นักวิชาการอิสระ และนักวิชาการในมหาวิทยาลัย องค์กรพัฒนาเอกชน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสมาชิก กรรมาธิการชุดต่างๆ และสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างหนังสือพิมพ์ต่อหนังสือพิมพ์ด้วยกัน เพื่อคิดค้นประเด็น ใหม่ๆ หรือหาแนวทางในการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น ทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ถือเขาถือเรา จัดวาระทางสังคมร่วมกัน และกำหนดให้วาระว่าด้วยการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น เป็นวาระแห่งชาติของสื่อมวลชนทุกคน เพื่อร่วมแก้ปัญหาการคอร์รัปชั่น และทำหน้าที่เป็นตัวเร่งให้เกิดการแก้ปัญหา

บทบาทของสื่อมวลชน  นอกจากจะเป็นพลังที่สำคัญในการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นแล้ว ยังมีส่วนสำคัญที่ทำให้ประชาชนตระหนักรู้เห็นภัยของปัญหาการฉ้อราษฏ์บังหลวงว่า เป็นปัญหาของชาติ ต้องร่วมกันแก้ไขให้หมดไป มีส่วนทำให้ภาคประชาชนมีความรู้และมีความเข้มแข็งในการเป็นแนวร่วมกับสื่อ และเป็นแนวร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชน

สื่อมวลชนยังมีบทบาทในการตรวจสอบ รายงานข้อมูลเชิงลึก  หรือนำข้อเท็จจริงมาตีแผ่ สามารถกดดันบุคคล หน่วยงาน องค์กรที่รับผิดชอบ  ส่งผลให้เกิดการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นได้ระดับหนึ่ง  เช่น การออกมาตรการในการป้องกันคอร์รัปชั่น (วัวหายล้อมคอก) หรือ ลงโทษผู้กระทำความผิด หรือผู้อยู่เบื้องหลังการกระทำผิด ซึ่งมีวิธีการที่สำคัญคือการแสดงข้อเท็จจริง ตอกย้ำต่อสังคมจนกระทั่งสังคมเห็นคล้อยตาม

บทบาทของสื่อมวลชน มี 3 ระดับ คือ

1.ระดับเจ้าของกิจการสื่อ ต้องไม่มองว่าสื่อเป็นเพียงสินค้าตัวหนึ่ง แต่เป็นองค์กรธุรกิจที่ตระหนักถึงส่วนรวม มีจิตสำนึกสาธารณะ สร้างความรู้และความเข้าใจให้คนในสังคม

2.ระดับบรรณาธิการข่าว ต้องมีนโยบายในการสร้างสรรค์ข่าวการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างจริงจัง ในทุกเซกชั่นของข่าว  ต้องเปิดพื้นที่เพื่อรองรับการเสนอข่าวคอร์รัปชั่น

3.ระดับนักข่าวในสนามข่าว (ประจำทำเนียบรัฐบาล รัฐสภา กระทรวงต่างๆ) ต้องได้รับการปลูกฝังอุดมการณ์ในการทำงาน ให้ตระหนักรู้ถึงบทบาทที่สำคัญในการทำหน้าที่เพื่อสังคมและส่วนรวม

ผู้สื่อข่าวบางคนให้ความเห็นว่า สื่อมวลชนไม่ได้มีหน้าที่แค่เหมือนสายลมพัดผ่าน แต่ต้องเป็นพายุหรือเหมือนคลื่นยักษ์สึนามิ ที่พัดพาปัญหาคอร์รัปชั่นให้หายไปให้ได้ เพราะ การคอร์รัปชั่นเกิดขึ้นในรูปแบบใหม่ๆ และมีความซับซ้อนมากขึ้น อาจกล่าวได้ว่าปัจจุบันการคอร์รัปชั่นแทบทุกระดับ ทั้งในระดับนักการเมือง ระดับข้าราชการ  เป็นการคอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย กล่าวคือ ผู้กำหนดนโยบาย ผู้นำนโยบายไปปฏิบัติ นั้นเป็นคนกลุ่มเดียวกัน

ดังนั้น     การทำงานเป็นทีมของวงการสื่อมวลชน  ซึ่งเป็นหัวใจในการทำข่าวแบบสืบสวนสอบสวน หรือข่าวเจาะ ต้องมีการวางแผน พร้อมกับการปลูกฝังอุดมคติไปด้วยเพื่อให้การทำงานของสื่อบรรลุเป้าหมาย สามารถสืบค้นข้อมูล และประเด็นใหม่ๆ นำเสนอต่อสังคมได้

อย่างไรก็ตาม บทบาทของสื่อมวลชน  มี 2 บทบาท คือบทบาทการเป็นนักข่าวตามกระแส ที่ทำข่าวไปตามหน้าที่ ใครทำอะไรที่ไหนอย่างไรเท่านั้น

ส่วนสื่อมวลชนที่มีอุดมการณ์จะมุ่งมั่นเกาะติดประเด็นที่มีความไม่โปร่งใสเป็นกรณีพิเศษ ทั้งนี้สื่อมวลชนที่ข่าวตามกระแส เมื่อมีประสบการณ์ในวิชาชีพระยะหนึ่งแล้ว ก็จะสามารถพัฒนาตัวเองขึ้นมาเป็นสื่อมวลชนที่ทำข่าวเจาะ และทำข่าวแบบเกาะติดเพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ เป้าหมายสุดท้ายในการทำงานของสื่อมวลชน มีทั้งการเสนอข่าวตามกระแสสังคม ตามประเด็นที่สังคมสนใจ และเสนอข่าวแบบเจาะลึก เกาะติด แต่การทำข่าวของสื่อแบบเกาะติดในประเด็นคอร์รัปชั่น ประเด็นใดประเด็นหนึ่งเป็นระยะเวลานาน  นำเสนอข่าวแบบเกาะติด หรือทำข่าวแบบเจาะลึก หรือข่าวแบบ สืบสวนสอบสวน (Investegative Reporting)

สื่อมวลชนส่วนใหญ่มีเป้าหมายตรงกันคือ ต้องการให้คนที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตถูกลงโทษ และหากบุคคลนั้นเป็นฝ่ายบริหาร มีตำแหน่งรัฐมนตรี หรือข้าราชการระดับสูง ก็ต้องการให้ “หลุดจากตำแหน่ง” เพื่อจะได้ไม่มีส่วนได้เสีย ในโครงการอื่นๆ อีกต่อไป

อย่างไรก็ตามสื่อมวลชนในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ยังมีการเสนอข่าวตามกระแส ทั้งนี้ เกิดจากนโยบายขององค์กรสื่อมวลชนนั้น ๆ  และการให้คุณค่าของผู้บริหารหนังสือพิมพ์ ที่เห็นว่า “ข่าว” เป็นเพียง “สินค้า” ตัวหนึ่งเท่านั้น

 

บทบาทของสื่อมวลชนในการต่อต้านคอร์รัปชั่น

ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ..2540

·         กรณีการแสดงบัญชีทรัพย์สินของนักการเมือง (ม.295)

ต้องยอมรับว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2540 ให้ความสำคัญเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนค่อนข้างมากโดยเฉพาะหลักประกันด้านการพูด การคิด การเขียนและแสดงความคิดเห็น รวมถึงสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารสาธารณะ

นอกจากนั้นยังวางกฎเกณฑ์ให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสำคัญ เช่น บัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของคณะรัฐมนตรีที่ต้องแสดงต่อสาธารณะ(รัฐธรรมนูญมาตรา 293)ซึ่งรัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและตำแหน่งอื่นๆต้องแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)

ถ้าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองรายใดจงใจแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จถือว่า ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ มาตรา 295 ต้องถูกห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองนาน 5 ปี

นับแต่รัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ ป.ป.ช.ตรวจสอบพบนักการเมืองประมาณ 30 รายแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จตามมาตรา 295 ของรัฐธรรมนูญ(อ้างอิงจากสรุปผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ระหว่างเมษายน 2542-ธันวาคม 2546) ทำให้นักการเมืองเหล่านั้นถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองนาน 5 ปีเกือบทุกราย(ยกเว้น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพียงรายเดียว)

อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่า นักการเมืองรายสำคัญที่ ป.ป.ช.ตรวจพบว่า แสดงรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จนั้นสื่อมวลชนเป็นผู้ตรวจสอบพบและนำข้อเท็จจริงนำเสนอต่อสาธารณชน จนกระทั่ง ป.ป.ช.นำข้อมูลจากการนำเสนอข่าวดังกล่าวไปใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการไต่สวนจนกระทั่งนำไปสู่การชี้ขาดของ ป.ป.ช.ว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองดังกล่าวจงใจแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จ

รายแรก พ...ทักษิณ ชินวัตร ที่สื่อมวลชนเริ่มแกะรอยจากการโอนหุ้นบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน)และอีกหลายบริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยของพ.ต.ท.ทักษิณและคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ให้แก่บุตรชายและนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ พี่บุญธรรมคุณหญิงพจมาน จนกระทั่งพบว่า มีการโอนหุ้นให้แก่คนรับใช้ ยามและคนขับรถมูลค่านับหมื่นล้านบาทในช่วงที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย ปี 2535

รายที่สอง พล..สนั่น ขจรประศาสน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่ถูกพรรคฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางใจสมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย ปลายปี 2542 แสดงข้อสงสัยในการกู้ยืมเงิน 45 ล้านบาทจากบริษัท เอเอเอส ออโต้เซอร์วิสเนื่องจากมีข้อพิรุธหลายอย่างต่อ ป.ป.ช.

สื่อมวลชนจึงเริ่มตามแกะรอยงบการเงินของบริษัทที่เกี่ยวข้องจนกระทั่งหลักฐานสำคัญว่า งบการเงินของบริษัท เอเอเอส ออโต้เซอร์วิสไม่ปรากฏรายการเงินกู้ดังกล่าว ทั้งๆที่เป็นเงินก้อนใหญ่ แต่กลับปรากฏรายการการให้กู้ยืมแก่พนักงานและกรรมการบริษัทมีจำนวนเพียง 8,000 บาทในงบการเงินฉบับเดียวกัน

รายที่สาม นายพูนผล อัศวเหม สื่อมวลชนเริ่มแกะรอยจากคำพิพากษาของศาลในคดีธนาคารกรุงเทพพาณิชย์การ(บีบีซี)ฟ้องเรียกบริษัทในเครือเอ็มพีของตระกูลอัศวเหม 2,000 ล้านบาท จากนั้นจึงเริ่มค้นการจดทะเบียนบริษัทและการถือหุ้นของบริษัทในเครือดังกล่าวพบว่า บริษัทในตระกูลอัศวเหมมีการเพิ่มทุนจำนวนมหาศาล มีรายชื่อผู้ถือหุ้นมูลค่าหลายสิบล้านบาทหลายคนน่าสงสัย เมื่อตามแกะรอยพบว่า เป็นเพียงพนักงานบริษัทธรรมดา หรือแม้แต่คนขับรถ (อ้างอิงจากหนังสือ"ข่าวเจาะ" ของสำนักพิมพ์OPEN)

·         กรณีการใช้ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540

การเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สื่อมวลชนสามารถทำหน้าที่ในการการตรวจสอบการทำหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐได้อย่างมีประสิทธิผล

มีหลายกรณีที่ผู้สื่อข่าวอาศัยความสามารถส่วนตัวในการเสาะแสวงหาข้อมูลจาก"แหล่งข่าว"ได้เป็นการส่วนตัว

แต่ในหลายกรณีที่หน่วยงานของรัฐพยายามที่จะปกปิดข้อมูลมิให้ข้อมูลข่าวสารรั่วไหลออกสู่สาธารณะ

การใช้ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 จึงเป็นกลไกสำคัญในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารดังกล่าวได้

มีหลายตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่า การใช้พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯสามารถทำให้สื่อมวลชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่ถูกปกปิดจนสามารถนำมาเปิดเผยต่อสาธารณะได้ อาทิ

- สัญญาสัมปทานสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 ระหว่างกองทัพบกกับบริษัทกรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัดที่ทำขึ้นอย่างเงียบๆในวันที่ 15 พฤษภาคม 2547

-สัญญาการขายทรัพย์สินขององค์การปฏิรูประบบสถาบันการเงิน(ปรส.)

-ข้อมูลที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)เปรียบเทียบปรับนายอดิศัย โพธารามิก  เป็นเงิน 69 ล้านหุ้นในเดือนธันวาคม 2541

-สัญญาการเงินกู้ระหว่างธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย(ธสน.)กับธนาคารการค้าระหว่างประเทศแห่งพม่าพร้อมกับรายชื่อบริษัทไทยที่ได้รับการคัดเลือกส่งสินค้าเข้าไปในพม่า

-ข้อมูลที่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นำเงินหวยบนดิน 2 ตัว 3 ตัวของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลไปใช้ในด้านต่างๆ

นอกจากการสื่อมวลชนยังอาศัยข้อมูลในคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยข้อมูลข่าวสารของราชการไปใช้ประโยชน์ได้อีกในหลายกรณีเพราะในคำวินิจฉัยดังกล่าวมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์เป็นจำนวนมาก

  • การใช้กลไกรัฐธรรมนูญพ.. 2540 กรณีอื่นๆ

หลังการบังคับใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ทำให้เกิดองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่น ตามมาหลายองค์กร เช่น สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับการเลือกตั้ง (กกต.) คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ศาลปกครอง ศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมือง เป็นต้น

นอกจากนี้ ในฝ่ายนิติบัญญัติ มีการตั้งกรรมาธิการเพิ่มมากขึ้นโดยในปัจจุบัน มีกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 31 ชุด และกรรมาธิการของวุฒิสภา จำนวน 21 ชุด รวมระบบตรวจสอบกันเองในฝ่ายนิติบัญญัติแล้วมีมากถึง 52 ชุด

จากการตรวจสอบและการทำข่าวของสื่อมวลชนประจำรัฐสภา พบว่ากรรมาธิการทั้ง 52 ชุด มีประเด็นหรือวาระในการพิจารณาเกี่ยวกับการคอร์รัปชั่นแล้วแทบทั้งสิ้น แต่อาจจะปรากฏเป็นข่าวไม่มากและเป็นข่าวเล็กๆ มากกว่าจะเป็นข่าวพาดหัวหน้าหนึ่ง  เนื่องจากการเสนอข่าวเป็นไปด้วยความรัดกุมและรอบคอบเพราะส่วนใหญ่พบว่าเป็นการคอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย จึงทำให้การตรวจสอบที่ชัดเจนเกิดขึ้นยาก

  • ผลกระทบในแง่บวก

ภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540  ทำให้เกิดระบบตรวจสอบมากยิ่งขึ้น สร้างโอกาสและช่องทางให้สื่อมวลชน ได้สืบค้นประเด็นข่าวที่เกี่ยวกับการคอร์รัปชั่นได้มากขึ้น ทำให้เกิดสมาชิกวุฒิสภา ที่มาจากการเลือกตั้ง มีกลุ่มการเมืองที่ไม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลทางการเมืองเกิดขึ้น แม้จะเป็นเพียงส่วนน้อย แต่ก็มีประโยชน์ต่อสาธารณะได้ เพราะกลุ่มการเมืองกลุ่มนี้จะช่วยสื่อมวลชน ในการสืบค้นข้อมูลได้ในบางครั้งที่สื่อมวลชนไม่อาจเข้าถึงแหล่งข้อมูลบางอย่าง

บทบาทของสื่อในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่น มีมากขึ้น เพราะ  1.สื่อปรับทิศทางการทำงานเพื่อมุ่งประโยชน์สาธารณะมากขึ้น  2.มีช่องทางในการเข้าถึงข้อมูล เช่น กฎหมายข้อมูลข่าวสารของทางราชการ    3.มีแรงกดดันที่มาจากความคาดหวังจากสังคม

รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ยังเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนเข้ามาบทบาททางการ                      เมือง และมีบทบาทในการตรวจสอบฝ่ายการเมืองเพิ่มมากขึ้น ทำให้ในระยะกลาง              และระยะยาว ภาคประชาชนจะมีความเข้มแข็ง มีความรู้เท่าทันการเมืองมากยิ่งขึ้น                 เมื่อประชาชนมีความรู้เท่าทันแล้ว จะเป็นผลให้สร้างแรงกดดันให้สื่อมวลชน ต้อง                  หันมานำเสนอข่าวในเชิงตรวจสอบมากขึ้นตามไปด้วย นับเป็นผลบวกในทางอ้อม                         ของรัฐธรรมนูญที่มีผลกระทบต่อการทำงานของสื่อมวลชน

 

  • ผลกระทบในแง่ลบ

ภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 สื่อมวลชนส่วนหนึ่งให้ความเห็นว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ เปิดโอกาสให้ ฝ่ายบริหาร องค์กรการเมือง พรรคการเมือง มีความเข้มเข็งขึ้น แต่ทำให้ฝ่ายตรวจสอบอ่อนแอลง อีกทั้งยังทำให้ภาคประชาชน แม้ว่าจะรวมตัวกันลงชื่อ 50,000 ชื่อ เพื่อถอดถอนนักการเมือง หรือเสนอกฎหมายได้ แต่ในทางปฏิบัติแล้ว ยังไม่เคยมีผลปรากฏว่า การเมืองภาคประชาชนในการลงชื่อ 50,000 ชื่อจะทำอะไรที่สัมฤทธิ์ผลได้

 

การทำข่าวกระบวนการยุติธรรมเพื่อแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น

ระบบกระบวนการยุติธรรม มีโครงสร้างแบ่งเป็น 3 ฝ่าย ประกอบด้วย ศาล-อัยการ-กระทรวงยุติธรรม ตำรวจ   ซึ่งมีอำนาจหน้าที่แตกต่างแต่สัมพันธ์กันโดยระบบจึงรวมเรียกการทำข่าวต่อสามหน่วยงานนี้ว่า “ข่าวสายกระบวนการยุติธรรม”

ในกลไกระบบการยุติธรรมว่าทั้งสามฝ่ายมีอำนาจและหน้าที่แตกต่างและสัมพันธ์ต่อกันอย่างไร  ซึ่งอันดับแรกหัวใจสำคัญของข่าวสายกระบวนการยุติธรรมคือ  “กฎหมาย” อันหมายถึง ประมวลกฎหมายอาญา , ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ,ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งและพาณิชย์ ฯลฯ

กฎหมายทั้ง 4 ฉบับถือเป็นเพียงหลักพื้นฐาน  ยังมีกฎหมายอีกมากมายที่เป็นองค์ประกอบสำคัญในบ้านเมือง อาทิ กฎหมายรัฐธรรมนูญ ,กฎหมายปกครอง ฯลฯ

ศาลยุติธรรม เป็นสถาบันตุลาการที่ตัดสินคดีความ เนื้องานที่จะตกเป็นข่าวส่วนใหญ่จึงเป็น “คดีความ” ทั้งคดีอาญาและคดีแพ่ง  ขณะเดียวกันศาลมีหน่วยงานบริหารบุคคลบริหารงบประมาณคือ “สำนักงานเลขาธิการศาลยุติธรรม” เนื้องานที่จะตกเป็นข่าวในส่วนนี้จึงเป็นข่าวเกี่ยวกับการบริหารองค์กรบริหารบุคคล ซึ่งประเด็นของการทุจริตคอรัปชั่นอันเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของ “ผู้พิพากษา” หรือ “เจ้าหน้าที่ธุรการศาล” จึงอาจเกิดมีได้จากสาเหตุการวิ่งเต้นคดี หรือการคอรัปชั่นงบประมาณ และสำนักงานเลขาธิการศาลยุติธรรมจะต้องเป็นฝ่ายตรวจสอบส่วนการพิจารณาลงโทษเป็นหน้าที่ “คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม” ก.ต.ซึ่งประกอบด้วยผู้พิพากษาและคนนอก ฉะนั้น “แหล่งข่าว” ที่สำคัญในศาลก็คือ สำนักงานเลขาธิการศาลยุติธรรม และ ก.ต. มิใช่ตัว “ผู้พิพากษา” ผู้ตัดสินคดีซึ่งมีกฎหมายและระเบียบกำหนดห้ามให้ข่าวหรือพูดถึงงานคดีของตน ขณะเดียวกันศาลมีกฎหมายเกี่ยวกับการละเมิดอำนาจศาลอันเป็นกฎหมาย ที่ทรงอิทธิพลในการปิดปากสื่อมวลชนและคนทั่วไปมิให้สามารถวิพากษ์วิจารณ์การตัดสินคดีของศาลได้

สำนักงานอัยการสูงสุด สังกัดกระทรวงยุติธรรม มีหน้าที่เป็นทนายแผ่นดิน มีโครงสร้างองค์กรสัมพันธ์กับศาล  แบบที่ไหนมีศาลที่นั่นต้องมีอัยการ  แต่อำนาจหน้าที่ของอัยการนอกจากทำคดีความเหมือนศาลแล้วแต่มีส่วนที่แตกต่างจากศาลคือ ด้านหนึ่งอัยการต้องเป็นหน่วยงานรับใช้ฝ่ายบริหารหรือการเมืองด้วยในตัว เช่นเป็นที่ปรึกษากฎหมายของรัฐ   ประเด็นการคอรัปชั่นที่อาจเกิดขึ้นก็คล้ายคลึงกันกับองค์กรศาลคือ วิ่งเต้นคดีและคอรัปชั่นงบประมาณ  กระบวนการตรวจสอบทุจริตคอรัปชั่นของอัยการจะมี “คณะกรรมการข้าราชการอัยการ” หรือ ก.อ.ประกอบด้วย อัยการและคนนอก เป็นผู้พิจารณา  สำหรับอัยการนี้ไม่มีกฎหมายหรือระเบียบห้ามให้ข่าว  ตลอดจนไม่มีบทบัญญัติเรื่องละเมิดการทำงานของอัยการ  “อัยการ” ทุกตำแหน่งจึงเป็น“แหล่งข่าว” ได้หมด  สื่อมวลชนสามารถติดตามสอบถามข่าวคดีสำคัญและหรือข่าวที่เกี่ยวข้องกับประเด็นการเมืองจากทางอัยการได้มากกว่าศาล

กระทรวงยุติธรรม เป็นฝ่ายบริหารและการเมือง รัฐมนตรีจึงเป็นแหล่งข่าวอันดับแรก อธิบดีกรม เป็นแหล่งข่าวอันดับสอง  เช่น กรมราชทัณฑ์  กรมพินิจคุ้มครองเด็กและเยาวชน ฯลฯ ประเด็นการทุจริตคอรัปชั่นจึงหนักไปในด้านการบริหารงบประมาณ โครงการจัดซื้อจัดจ้างสร้างหน่วยงานต่างๆ ของกระทรวง

เนื้องานข่าวสายกระบวนการยุติธรรมโดยรวมแล้วก็คือ  “คดีความ”   ทำให้ธรรมชาติการหาข่าวในระบบนี้ผู้สื่อข่าวส่วนใหญ่จึงเน้นหนักไปในทางเสนอข่าว “คดี” ที่ศาลตัดสิน หรือ “คดี” ที่อยู่ในชั้นการพิจารณาของอัยการ และคดีที่มีการร้องเรียนไปยังกระทรวงยุติธรรม

 

 

ปัญหาอุปสรรคในการทำงานของสื่อมวลในการสืบค้น

และการร่วมแก้ปัญหาการคอร์รัปชั่น

 

นายแพทย์ประเวศ วะสี เคยกล่าวไว้ว่า “สื่อมวลชนของเรายังขาดวัฒนธรรมและความสามารถในการรายงานแบบสืบสวนสอบสวน จึงขาดพลังในการหยุดยั้งคอร์รัปชั่น การรายงานเพียงการสัมภาษณ์ว่าใครมีความเห็นหรือว่าอะไรใคร ไม่มีพลังแห่งการใช้ความจริง เป็นเพียงความหวือหวา (Sensational) หรือความสะใจเท่านั้น หามีน้ำหนักในการหยุดยั้งคอร์รัปชั่นไม่”

ปัญหาและอุปสรรคการใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540

กรณีการตรวจสอบทรัพย์สินนักการเมือง (.295)

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่มีผู้ดำตำแหน่งทางการเมืองหลายสิบรายต้องถูกเล่นงานด้วยมาตรา 295 แล้ว ทำให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่างระมัดระวังในการยื่นแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช.มากยิ่งขึ้น นอกจากนั้นยังอาศัยช่องวางทางกฎหมายโอนทรัพย์สินโดยเฉพาะหุ้นไปยังเครือญาติโดยหลีกเลี่ยงรัฐธรรมนูญ มาตรา 209 ซึ่งทำให้การตรวจสอบทรัพย์สินทำได้ยากลำบากยิ่งขึ้น

รัฐธรรมนูญ มาตรา 209 มีบทบัญญัติห้ามรัฐมนตรีถือหุ้นในบริษัทจำกัดหรือห้างหุ้นส่วนจำกัดเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด(พ.ร.บ.จัดการหุ้นส่วนและหุ้นรัฐมนตรี พ.ศ.2543 กำหนดรัฐมนตรีห้ามถือหุ้นเกินร้อยละ 5 ของทุนจดทะเบียน)

ถ้ารัฐมนตรีคนใดต้องการถือหุ้นจำนวนดังกล่าวไว้เพื่อรับประโยชน์ต่อไป ต้องโอนหุ้นจำนวนดังกล่าวให้แก่บริษัทหลักทรัพย์ซึ่งมีหน้าที่จัดการทรัพย์สินให้เป็นผู้ดำเนินการแทนโดยรัฐมนตรีผู้นั้น ห้ามเข้ายุ่งเกี่ยวหรือแทรกแซงการจัดการหุ้นดังกล่าว

อย่างไรก็ตามจากข้อเท็จจริงพบว่า มีรัฐมนตรีเกือบทั้งหมดไม่ยอมโอนหุ้นให้แก่บริษัทที่มีหน้าที่ในการจัดการหุ้นดังกล่าว แต่ใช้วิธีการหลีกเลี่ยงโดยอ้างว่าขายหุ้นให้แก่ ลูก ญาติหรือบุคคลใกล้ชิดในราคาพาร์ ขณะที่ราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์มีราคาสูงกว่าหลายสิบเท่าตัว  ทำให้ผู้รับโอนหุ้นได้รับประโยชน์จาก"ส่วนต่าง"ของราคาหุ้นจำนวนมหาศาล แต่กรมสรรพากรกลับตีความว่า เมื่อบุคคลที่ได้รับผลประโยชน์จาก"ส่วนต่าง"ดังกล่าว ยังมิขายหุ้นจึงถือว่า ยังไม่เกิดเป็นรายได้ จึงไม่ต้องเสียภาษี

การตีความดังกล่าว ของกรมสรรพากรทำให้บรรดารัฐมนตรีทั้งหลายใช้วิธีการเดียวกันเพื่อจะได้ไม่ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 209และ พ.ร.บ.จัดการหุ้นส่วนและหุ้นรัฐมนตรี

มีข้อสังเกตด้วยว่า การโอนหุ้นให้ลูกและบุคคลใกล้ชิดถือกรรมสิทธิ์แทน แต่สิทธิที่แท้จริงในการบริหารจัดการทรัพย์สินและบริษัทยังอยู่ที่ตัวรัฐมนตรีหรือไม่

นอกจากการอาศัยช่องวางทางกฎหมายดังกล่าวแล้ว วิธีการปฏิบัติงานของป.ป.ช.ก็เป็นอุปสรรคสำคัญกล่าวคือ การเก็บรวบรวมเอกสารการแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินขาดระบบการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ เก็บเป็นข้อมูลดิบๆ ไม่มีการวิเคราะห์หรือสังเคราะห์ให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างการยื่นแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินฯของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองคนเดียวกันในแต่ละครั้ง

ขณะเดียวกันการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารบัญชีทรัพย์สินของนักการเมือง โดยประชาชนและสื่อมวลชนยังเป็นไปด้วยความยากลำบาก เช่น มีการห้ามการถ่ายสำเนาและไม่มีการอำนวยความสะดวกในเรื่องดังกล่าว ผู้ที่ต้องการข้อมูลข่าวสารต้องไปคัดลอกที่ละบรรทัดด้วยลายมือ ทำให้การนำข้อมูลข่าวสารมาตรวจสอบเป็นไปด้วยความยากลำบาก

 

ปัญหาอุปสรรคการใช้รัฐธรรมนูญตาม กรณี พ...ข้อมูลข่าวสารทางราชการ พ..2540

 

ในการใช้ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯนั้นยังคงมีอุปสรรคและปัญหาอยู่หลายประการ

1.ขั้นตอนเป็นไปอย่างล่าช้า เริ่มตั้งแต่หน่วยงานรัฐ ผู้ครอบครองข้อมูลข่าวสารมักใช้เวลานานในการที่จะปฏิเสธการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร ทำให้ผู้ขอข้อมูลไม่สามารถอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ(กขร.)ได้

นอกจากนั้น หน่วยงานของรัฐยังปฏิเสธการเปิดเผยข้อมูลทุกประเภททั้งๆที่ไม่เข้าข่ายข้อมูลข่าวสารที่ไม่สามารถเปิดเผยได้ตามาตรา 15 ของ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ

ในการอุทธรณ์ต่อ กขร.ซึ่งกฎหมายบัญญัติให้คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร(กวฉ.)ต้องวินิจฉัยให้เสร็จภายใน 30 วันและต่ออายุได้อีกไม่เกิน 30 วัน รวมแล้ว ไม่เกิน 60 วัน แต่ตามข้อเท็จจริงแล้ว การวินิจฉัยเกือบทุกเรื่องจะใช้เวลานานกว่า 60 วัน บางเรื่องนานนับปี เช่น กรณีข้อมูลที่สำนักงาน ก.ล.ต.เปรียบเทียบปรับนายอดิศัย โพธารามิก

2.การไม่ยอมปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯของหน่วยงานของรัฐ การไม่ยอมปฏิบัติตามดังกล่าว เริ่มตั้งแต่การปฏิเสธการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารฯทั้งๆที่เป็นข้อมูลข่าวที่กฎหมายกำหนดให้เปิดเผย เช่น สรุปรายงานผลการขัดซื้อจัดจ้าง, สัญญาสัมปทาน  แผนการและงบปะมาณ

นอกจากนั้นยังไม่ยอมปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของ กวฉ.เช่น กรณีที่ กวฉ.สาขาสังคม การบริหารราชการแผ่นดินและการบังคับใช้กฎหมายวินิจฉัยให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติลบทะเบียนประวัติอาชญากรของอดีตนักเรียนออกจากทะเบียนประวัติอาชญากร(คำวินิจฉัยที่ สค.2548/032), กรณีกวฉ.สาขาสังคมฯวินิจฉัยให้การรถไฟแห่งประเทศไทยเปิดเผยข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการประมูลโครงการพัฒนาที่ดินบนถนนกำแพงเพชร 2(คำวินิจฉัยที่ สค.2548/018)

ในการบังคับให้หน่วยงานของรัฐปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของ กวฉ.นั้น คณะรัฐมนตรีเคยมีมติเมื่อเดือนธันวาคม 2542 ให้หน่วยงานของรัฐต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดภายใน 7 วัน แต่ปรากฏว่า รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในฐานะประธาน กขร.มิได้แจ้งให้ผู้บังคับบัญชาของหน่วยงานนั้นลงโทษทางวินัยแก่ผู้ที่ไม่ยอมปฏิบัติตามคำวินิจฉัยดังกล่าว

3.กขร.ไม่ยอมออกกฎกระทรวงบังคับให้หน่วยงานอื่นของรัฐ เช่น บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย(บสท.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยให้อยู่ภายใต้บังคับของ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ(มาตรา 4)ทั้งๆที่หน่วยงานทั้งสองหน่วยเป็นหน่วยงานสำคัญและเต็มไปด้วยผลประโยชน์

4.องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญไม่ยอมอยู่ภายใต้บังคับของ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ เช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ คณะกรรมการการเลือกตั้ง

ดังนั้น จึงควรมีการแก้ไข พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯให้ครอบคลุมหน่วยงานของรัฐทุกหน่วยรวมทั้งๆองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ และให้สำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการเป็นหน่วยงานอิสระแยกต่างหากจากฝ่ายบริหาร

ปัญหาอุปสรรคและเงื่อนไขของการทำข่าวกระบวนการยุติธรรม

ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นที่อาจจะเกิดในกระบวนการยุติธรรม เกิดจากเงื่อนไข ดังนี้

1. ปัจจัยเรื่องขอบเขตและขีดจำกัด หมายถึง  สถานะของแหล่งข่าวหรือองค์กรในกระบวนการยุติธรรมแต่ละฝ่ายมีอิทธิพลต่อการเข้าถึงข้อมูลของสื่อ เช่น  ศาล เป็นหน่วยงานที่ชัดเจนที่สุดที่สื่อมวลชนยังมีความกริ่งเกรงในอำนาจตุลาการและยังมีกฎหมายละเมิดอำนาจศาลคุ้มครองทำให้สื่อมวลชนส่วนใหญ่ไม่สามารถเจาะเข้าไปตรวจสอบการพิพากษา หรือเจาะตัวตุลาการที่อาจเกี่ยวพันกับการทุจริต   ด้วยเหตุผลนี้ทำให้ปัจจัยเรื่องขอบเขตและขีดจำกัดไปสัมพันธ์กับปัจจัยภายนอกเรื่องนโยบายสำนักพิมพ์ที่บางครั้งสำนักพิมพ์อาจจะเลือกละเว้นต่อการเสนอข่าวการตรวจสอบองค์กรศาลไปโดยอัตโนมัติ

2. ขณะที่การตรวจสอบทุจริตภายในสำนักงานอัยการสูงสุดและกระทรวงยุติธรรมของสื่อมวลชน มีโอกาสเจาะเข้าไปตรวจสอบการทำหน้าที่ได้สูงกว่าเพราะไม่มีอำนาจที่สื่อมวลชนกริ่งเกรงเหมือนศาล อีกทั้งอัยการและกระทรวงยุติธรรมเป็นองค์กรเชิงบริหารที่สื่อมวลชนมีช่องทางในการเจาะข่าวมากกว่าและง่ายกว่า

3. ทัศนคติเป็นเรื่องความคิดเห็นหรือมุมมองของผู้สื่อข่าวต่อการเสาะหาข่าวและนำเสนอข่าวซึ่งในปัจจุบันนี้สื่อมวลชนกว่าร้อยละ 90 ยังมองว่าข่าวกระบวนการยุติธรรมคือ ข่าวคดีความ เมื่อศาลตัดสินคดีหรืออัยการสั่งคดีและผู้สื่อข่าวได้นำเสนอ “ผล” คดีนั้นๆ แล้วเป็นอันจบข่าว  ผู้สื่อข่าวส่วนใหญ่ยังขาดมุมมองเชิงขยายผล ตั้งข้อสงสัยวิพากษ์วิจารณ์หรือเก็บเป็นประสบการณ์เพื่อนำไปสู่การทำข่าวเชิงวิเคราะห์เจาะลึกในข่าวคดี  จึงแทบจะไม่ทำข่าวทุจริตคอรัปชั่น ทำให้เสียโอกาสในการสร้างแหล่งข่าวในทางลับและลึกตามไปด้วย

4. ทักษะและประสบการณ์  ที่ให้น้ำหนักต่อการทำข่าวคดีความซึ่งเป็นข่าวเชิงปรากฎการณ์ของสังคมที่ผู้คนสนใจนำเสนอง่ายเพราะ ข่าวคดีมีรูปแบบหรือฟอร์มที่หลับตาพิมพ์ได้ ประสบการณ์ข่าววิเคราะห์เจาะลึกทุจริตคอรัปชั่นจึงน้อยยิ่งกว่าน้อย

5. สำนักพิมพ์ ไม่มีนโยบายเสนอข่าวทุจริตคอรัปชั่น หรือสำนักพิมพ์เลือกปฏิบัติเสนอข่าวทุจริตกับบางองค์กรในกระบวนการยุติธรรม  สำนักพิมพ์ไม่กำหนดประเด็นหรือไม่กระตุ้นเตือนให้ผู้สื่อข่าวหาข่าวทุจริตคอรัปชั่นจึงกลายเป็นส่วนผสมที่นานวันเข้าทำให้ผู้สื่อข่าวกระบวนการยุติธรรมนิ่งเฉยต่อวิธีคิดทำข่าวตรวจสอบได้ บางครั้งเคยมีผู้อ้างเหตุผลที่ว่า “บริษัทไม่มีนโยบาย”เพราะกลัวถูกฟ้องมาตอบคำถามตัวเองว่าเหตุใดไม่วิเคราะห์เจาะลึกข่าวทุจริตคอรัปชั่นในวงการยุติธรรมมานำเสนอ          

ปัญหาอุปสรรคทั่วไป

แม้จะมีบทบาทและบทเรียนที่เกิดขึ้นในวงการสื่อมวลชน หลายเหตุการณ์ แต่ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาสื่อมวลชนยังทำหน้าที่ได้ไม่เต็มที่ บางช่วงขาดการทำข่าวแบบเจาะลึก และเกาะติด อย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากปัญหาอุปสรรคนานัปการ อาทิ

1. ทิศทางและนโยบายของสื่อมวลชนบางฉบับ ไม่ชัดเจนเกี่ยวกับการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น

2. ในช่วงที่รัฐบาลมีเสถียรภาพทางการเมืองสูง สื่อมวลชนจะมีบทบาทน้อย ในการทำหน้าที่เสนอข่าวการคอร์รัปชั่น ขณะเดียวกันหากรัฐบาลขาดเสถียรภาพแล้ว การเปิดประเด็นปัญหาจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น  เช่นเดียวกับในวงการตำรวจ ที่หากตำรวจระดับผู้น้อยทุจริตในระบบการออกใบสั่ง การออกใบค่าปรับ หากมีการร้องเรียน และมีสื่อมวลชนเสนอข่าวจึงจะถูกไล่ออก หรือถูกลงโทษ  หรือกรณีของ กลุ่มแม่ค้าที่ร้องเรียนว่าเทศกิจ มีการทุจริตในการเก็บค่าใช้จ่ายแผงลอย แต่ผู้บังคับบัญชา คือ นายสมัคร สุนทรเวช (อดีตผู้ว่ากทม.) ปกป้องลูกน้องของตัวเอง ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนต่อไป ขณะที่เทศกิจที่ถูกกล่าวหาก็ยังอยู่ในตำแหน่งหน้าที่ต่อไปได้

3. การเสนอข่าวเปิดโปงอย่างเดียว บางครั้งก็ไม่สามารถนำคนผิดหรือคนที่เกี่ยวข้องมาลงโทษตามกฏหมายได้ สื่อมวลชนจึงต้องทุ่มเทการทำงานด้วยการนำเสนอมากกว่าการรายงานข่าว

4. สื่อมวลชนตื่นตัวในการทำข่าวเจาะ สืบสวนสอบสวนเฉพาะกลุ่ม ยังไม่มีการทำงานเป็นเครือข่ายอย่างเต็มรูปแบบมากนัก ทำให้การนำเสนอข่าวการคอร์รัปชั่น ไม่มี Impact ต่อวงกว้าง

5. ประชาชนไม่สนใจปัญหาคอร์รัปชั่น เพราะปัญหาเศรษฐกิจ สังคม รอบตัวสำคัญกว่า จึงขาดความร่วมมือกับประชาชนส่วนใหญ่ของสังคม

6. ค่านิยมของคนในสังคม ที่มองว่า “โกงไม่เป็นไร ถ้าทำงานด้วย” เป็นอันตรายและอุปสรรคต่อการทำงานของสื่อมวลชน เพราะสื่อมวลชน จะถูกมองว่าเป็นคนทำให้สังคมวุ่นวาย เช่นกรณีเครื่องตรวจวัตถุระเบิดในสนามบินสุวรรณภูมิ มีประชาชนส่วนหนึ่งมองว่า “สนามบินจะเสร็จล่าช้าเพราะการตรวจสอบของฝ่ายค้าน และสื่อมวลชน”  ดังนั้นสื่อต้องแสดงให้ประชาชนเห็นและเชื่อว่า “ที่สนามบินเสร็จล่าช้าเพราะมีการคอร์รัปชั่น และต้องหาคนผิดมาลงโทษ”

7. แม้ว่าการทำงานของสื่อจะนำเสนอปัญหาคอร์รัปชั่น เป็นจำนวนมากมาย หลายประเด็น ในหลายกระทรวง และหลายหน่วยงานของรัฐ แต่บุคคลที่เกี่ยวข้องยังไม่ได้รับการลงโทษ หากนโยบายรัฐบาลไม่เอาจริงหรือมีความมุ่งมั่นทางการเมือง  (political will) ที่จะหาคนผิดมาลงโทษ มีเพียงข้าราชการระดับล่าง ชั้นผู้น้อยเท่านั้นที่ได้รับโทษ

8. การดิสเครดิต หรือทำให้สื่อไม่มีความน่าเชื่อถือโดยบุคคลในระดับสูงของฝ่ายบริหาร ทำให้ประชาชนที่ต้องการเป็นเครือข่าย และมีส่วนร่วมกับสื่อ เกิดความลังเลและไม่แน่ใจในการเข้าร่วมกระบวนการตรวจสอบ เช่น กรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคไทยรักไทย กล่าวไปในทางที่ปกป้องหรือเชื่อถือเมื่อ สื่อมวลชนเปิดประเด็นว่า นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และเลขาธิการพรรคไทยรักไทย มีส่วนในการทำให้เกิดการคอร์รัปชั่นในโครงการจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิด CTX9000 ในสนามบินสุวรรณภูมิ

9. สื่อมวลชนในยุคปัจจุบัน บางส่วนเริ่มเล่นบทบาท 2 บทบาทในตัวคนเดียว เช่นเป็นทั้งแหล่งข่าว และนักข่าว ทำให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อนในวงการสื่อมวลชน ตัวอย่างเช่น ตัวนักข่าวมีความสัมพันธ์ส่วนตัว เป็นญาติ กับนักการเมือง หรือบุคคลระดับสูงในฝ่ายบริหาร ก็จะมีการเสนอข่าวที่เป็นเชิงบวกของแหล่งข่าวเท่านั้น ไม่มีการเสนอข่าวที่มีแนวโน้มความไม่โปร่งใส หรือ กรณีที่นักข่าว มีหุ้นส่วนในบริษัทที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์องค์กร ก็จะเสนอข่าวที่เชิงบวกมากกว่าข่าวที่อาจจะเกิดการคอร์รัปชั่น

10. กรณีที่บางหน่วยงาน บางกระทรวง ที่มีประเด็นการคอร์รัปชั่นจนเป็นธรรมเนียมประเพณี (กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม) มีกระบวนการ Block ข่าวและข้อมูล กรณีเช่นนี้ข้าราชการจะมีส่วนร่วมกับนักการเมือง หรือข้าราชการที่ตกอยู่ภายใต้อำนาจของนักการเมือง ปิดกั้นการให้ข้อมูลพื้นฐาน ที่จะนำไปสู่การตรวจสอบ  กรณีการสืบค้นประเด็นข่าวปกปิดการระบาดของไข้หวัดนก จึงถูกเปิดประเด็นมาจากนักข่าวนอกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

11. นักข่าวในระดับกระทรวง บางแห่งยังขาดทักษะในการสืบค้นข้อมูลที่มีความซับซ้อน

ในขณะที่แหล่งข่าวมีการสืบค้นข้อมูลแข่งกับนักข่าวเช่นกัน เป็นการพัฒนา “ศาสตร์แห่งการตอบโต้” ด้วยการตั้งทีมประชาสัมพันธ์ขึ้นมาให้ข่าวและ หาข้อมูลฝ่ายตรงข้ามมาตอบโต้กับสื่อมวลชน ทำให้บางครั้งบทบาทของสื่อมวลชนต้องอยู่ในภาวการณ์ตั้งรับ

12. การทำข่าวเจาะ หรือข่าวการคอร์รัปชั่น ต้องสืบค้นข้อมูลจากฝ่ายตรงข้าม หรือศัตรูของผู้ที่อยู่ในข่ายการคอร์รัปชั่น จึงต้องใช้เทคนิคขั้นสูง ต้องทำงานมากกว่าบทบาทผู้สื่อข่าวทั่วไป

13. องค์กรธุรกิจสื่อมวลชน เติบโตอย่างรวดเร็ว ภายหลังวิกฤติเศรษฐกิจ ทำให้การผลิตบุคลากรเพิ่มไม่สนองตอบต่อการขยายตัวดังกล่าว ทำให้บุคลากรในวงการสื่อส่วนใหญ่ยังด้อยประสบการณ์ในการทำข่าวแบบสืบค้น หรือทำข่าวแบบเกาะติด ประกอบกับในยุคที่ทุนนิยมมีอิทธิพลต่อองค์กรสื่อมวลชนสูงผ่านรูปแบบต่างๆ เช่น การเสนอซื้อพื้นที่โฆษณา ทำให้การการเสนอข่าวที่ต้องพาดพิงบุคคลที่อาจเข้าข่ายทุจริตคอร์รัปชั่น อาจทำได้ไม่เต็มที่

14. สื่อมวลชน ต้องเผชิญกับปัญหาการฟ้องร้องทางกฎหมาย เกิดคดีระหว่างแหล่งข่าวกับนักข่าว ทำให้เพิ่มเป็นภาระต้นทุนขององค์กรปีละจำนวนมาก การเสนอข่าวจึงต้องมีความรัดกุม และรอบคอบมากยิ่งขึ้น

15. สื่อมวลชน จำนวนมากยังมีความเกรงใจแหล่งข่าว ระดับสูง เช่น รัฐมนตรี ข้าราชการระดับสูง ระดับปลัด อธิบดี ทำให้ไม่กล้าที่จะถามคำถามแบบตรงๆ  ทั้งๆ ที่คำถามแบบตรงประเด็นนั้นไม่ใช่คำถามที่แสดงถึงความก้าวร้าว ความเกรงใจตามธรรมเนียมแบบไทย จึงทำให้ข้อสงสัยของสังคมในประเด็นการคอร์รัปชั่นไม่มีคำตอบ เพราะการเงียบ การหนีไม่ตอบคำถามของแหล่งข่าว หรือการไม่มีข่าว ก็เท่ากับเป็นการตอบคำถามด้วยภาษากาย ว่าอาจมีความไม่ชอบมาพากลหรือความไม่โปร่งใสเกิดขึ้นจริง สื่อมวลชนต้องพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้คำตอบแม้คำตอบนั้นจะมีเพียงสั้นๆ ว่า “ไม่ใช่”  หรือ “ใช่”  แล้วนำเสนอในรูปแบบของข่าว หรือ รายงานพิเศษ

 

 

ปัญหาอุปสรรคที่เกิดจากศักยภาพของตัวผู้สื่อข่าว ในการทำข่าวต้านคอร์รัปชั่น

ข้อจำกัดของตัวผู้สื่อข่าว ที่ไม่สามารถทำข่าวเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น เช่น ขาดความรู้ด้านภาษาต่างประเทศ องค์ความรู้พื้นฐาน ความรู้ทั่วไป ความรู้เฉพาะทาง เช่น ความรู้ด้านรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และความรู้ด้านเทคโนโลยี

ในการทำข่าวแบบเจาะลึก เพื่อค้นหาวิธีการคอร์รัปชั่น และค้นหาบุคคลที่อยู่เบื้องหลังการคอร์รัปชั่น ทั้งในโครงการขนาดใหญ่ ไปจนถึงโครงการย่อย ต้องใช้ความรู้และความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ในการพัฒนาประเด็น และแนวทางการทำงานของสื่อ เช่น ความรู้ด้านกฎหมายเศรษฐกิจ ระเบียบปฏิบัติ โครงสร้างการทำงาน ของหน่วยงานต่างๆ

หากขาดความรู้ดังกล่าว ก็ไม่สามารถ นำเสนอข่าว รายงาน ที่น่าสนใจ ทำให้ประชาชนเข้าใจง่ายแล้ว การที่จะทำให้ประชาชนหันมาเป็นแนวร่วมในการตรวจสอบจึงทำไม่ได้ เช่น ครั้งหนึ่งนักข่าวที่ทำเนียบรัฐบาลถาม พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในกรณีข่าวการซุกหุ้นไว้ที่คนใช้ คนขับรถ และคนใกล้ชิด นายกรัฐมนตรีย้อนถามนักข่าวกลับว่า “คุณเล่นหุ้นเป็นหรือเปล่า”  เรื่องนี้แม้ไม่เกี่ยวกับเรื่องความรู้โดยตรง แต่ก็สะท้อนว่า แหล่งข่าวมีสมติฐานว่านักข่าวไม่มีความรู้จึงใช้วิธีย้อนถามแทนการให้คำตอบที่นักข่าวต้องการ

จิตวิญญาณในการเป็นสื่อมวลชนถูกละเลย มาตั้งแต่การศึกษาในระดับอุดมศึกษา ดังนั้น การหวังให้นักข่าวใหม่ๆ เป็นแนวรบที่ดี เป็นคลื่นลูกใหม่ในวงการ จึงต้องต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง

ความเป็นทีม ในการทำข่าวเพื่อต่อต้านการคอร์รัปชั่น เป็นเรื่องสำคัญในการสืบค้นประเด็นสำคัญหรือการค้นหาข้อมูลที่ครบถ้วนสมบูรณ์ แต่หากว่า นักข่าวในสนามข่าว หัวหน้าข่าว บรรณาธิการข่าว และกรรมการบริหารของบริษัท ไม่เห็นด้วย และมีนโยบายที่ไม่ชัดเจน หรือไม่สอดคล้องกัน การจะเสนอในรูปแบบของข่าว ให้สังคมได้รับรู้ก็อาจจะไม่บรรลุผล

หรือบางครั้ง บางฉบับ หัวหน้าข่าวขาดประสบการณ์ในการทำข่าวการคอร์รัปชั่น จึงมักจะตั้งประเด็นไว้ที่ “มูลค่า” ของการคอร์รัปชั่นที่มีวงเงินงบประมาณสูงๆ เช่น ต้องเป็นโครงการที่เกิน 1,000 ล้านบาทเท่านั้น จึงจะเสนอข่าว แต่ไม่ได้สนใจว่า “วิธีการ” คอร์รัปชั่นนั้น ไม่ว่าโครงการมูลค่ามากน้อยเพียงไร ก็มักจะใช้วิธีการที่ไม่แตกต่างกัน

 

ภัยคุกคาม และเงื่อนไขที่มีอิทธิพล

ต่อการเสนอข่าวต่อต้านคอร์รัปชั่นของสื่อมวลชน

ภัยคุกคามและเงื่อนไข ที่มีผลต่อการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชน ปัจจุบันมีหลากหลายรูปแบบมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ เงื่อนไขและภัยคุกคามทั้งทางตรงและทางอ้อม แบ่งเป็น 1. เงื่อนด้านอำนาจรัฐ     2. เงื่อนไขด้านกลุ่มทุนที่มีอิทธิพลต่อธุรกิจสื่อ    3. เงื่อนไขที่เป็นนโยบายองค์กรสื่อเอง

  1. เงื่อนไขด้านอำนาจรัฐ

รูปแบบเงื่อนไขด้านอำนาจรัฐ ในที่นี้หมายถึงอำนาจตามหน้าที่ และอำนาจตามธรรมเนียมปฏิบัติ ของนักการเมืองฝ่ายบริหาร และข้าราชการ อำนาจรัฐอาจมาถึงสื่อมวลชนในรูปแบบ “การจับเข่าคุย” แบบไทยๆ กล่าวคือ มีการขอร้อง ในฐานะเพื่อน หรือญาติมิตร  หรือข่มขู่ ให้หยุดการนำเสนอข่าวที่แสดงถึงความไม่โปร่งในในการดำเนินงานในแต่ละโครงการ หรือข่มขู่ด้วยการใช้อำนาจตามหน้าที่สั่งการไม่ให้หน่วยงานราชการ หรือรัฐวิสาหกิจภายใต้การกำกับของรัฐมนตรี ไม่ให้ซื้อพื้นที่โฆษณา ในสื่อฉบับนั้นๆ

ในอดีต มีรูปแบบการคุกคามสื่อมวลชน ที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยผู้ที่มีอำนาจ สั่งการให้ สำนักงานป้องกันการฟอกเงิน (ปปง.) ตรวจสอบทรัพย์สิน และการจ่ายภาษีของผู้บริหาร องค์กรสื่อมวลชนด้วย

เงื่อนไขด้านอำนาจรัฐ อีกรูปแบบหนึ่งที่ได้รับการพัฒนา คิดค้นขึ้นในยุครัฐบาล “ทักษิณ” ก็คือ การมอบหมายให้ผู้มีอำนาจ หรือรัฐมนตรีล็อบบี้สื่อมวลชน ที่มีความเป็นอาวุโสกลุ่มหนึ่ง ให้นำเสนอข่าวการคอร์รัปชั่นให้มีรูปแบบที่ “เบาลง” หรือนำเสนอประเด็นข่าวที่จากแข็งกร้าวเป็นอ่อนลงได้ หรือบางครั้งขอให้มีการเปลี่ยน “มุม” ของข่าว จากข่าวลบมาก  เป็นข่าวลบน้อย ก็มี นอกจากนี้ยังมีการขอร้องให้เปลี่ยนการนำเสนอข่าวที่หน้า 1 ไปเป็นนำเสนอไว้ที่หน้าในของหนังสือพิมพ์ไปเลย

เมื่อเป็นเช่นนี้ ทำให้การลงโทษมักจะเกิดขึ้นกับข้าราชการชั้นผู้น้อย มากกว่าระดับสูง โดยเฉพาะกับนักการเมืองแทบจะไม่ปรากฏ  คดีที่นำไปสู่การลงทำให้นักการเมืองถูกลงโทษ มักจะเป็นคดีเป้นความผิดเฉพาะตัว เช่น ปกปิดบัญชีแสดงรายการทรัพย์สิน แต่คดีคอร์รัปชั่น เอาผิดกับนักการเมืองได้น้อย เพราะมีรูปแบบซับซ้อน ซ่อนเงื่อน ยากที่จะติดตามตรวจสอบได้  เช่น คดีเจ้าของกิจการแก๊สปิดนิคปั่นหุ้น ทำให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยเสียเปรียบในการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์

ทัศนคติของหน่วยงานรัฐ ที่เป็นปัญหาในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารหรือเอกสารที่เป็นต้นตอ ส่วนประกอบที่สำคัญของข่าวเจาะเพื่อต่อต้านการคอร์รัปชั่นให้บรรลุผล     เพราะความเชื่อแบบเก่าของหน่วยงานของรัฐที่ว่า “ปกปิด ไว้ก่อน เปิดทีหลัง”

สอดคล้องกับบทความเรื่อง “ป้อมปราการแห่งสามัญสำนึก บทบาทหนังสือพิมพ์ในการเมืองไทย”  ที่เขียนโดย บุญรักษ์ บุญญะเขตมาลา ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน (2 มิถุนายน 2548) ที่ระบุว่า

“เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าท่านมักจะไม่ค่อยพอใจการเสนอข่าวในทางลบเกี่ยวกับรัฐบาล       ของท่านใดๆ        ทั้งสิ้น ดังเป็นที่ทราบกันดีทั่วไปอยู่แล้วว่าในยุคสมัยที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชิน         วัตร เป็นนายกฯ นั้น ท่านและ           พวกพ้องทั้งภายในและภายนอกพรรคไทยรักไทย ได้        ดำเนินการในอันที่จะควบคุมสื่อหลายประการ   รวมทั้งการเข้าไปเป็นเจ้าของ           สถานีโทรทัศน์ การใช้งบการโฆษณาและประชาสัมพันธ์เป็นเครื่องมือใน         การจัดการ          หนังสือพิมพ์และสื่ออื่นๆ การตรวจสอบทรัพย์สินของบุคคลในวงการสื่อ การไล่ล่าซื้อหุ้น            ในสื่อบางกลุ่ม

 

การใช้กฎหมายหมิ่นประมาทข่มขวัญบุคคลที่ตั้งใจต่อสู้การถือครองและ     การใช้สื่อ            โดยฝ่ายตน เป็นอาทิ  ทั้งนี้ ยังไม่ได้กล่าวถึงเรื่องราวมากมายอันเป็นที่รู้กันดี         เกี่ยวกับ              ความพยายามในอันที่จะ     กดดันการทำงานของบรรณาธิการและผู้สื่อข่าวหลายคน             ทั้ง        ที่เป็นคนไทยและต่างชาติ ในสื่อต่างๆ ทั้ง ภาษาไทยและอังกฤษ ในหลายๆ กรณี     รวมทั้งการให้ออกจากงานเป็นกลุ่มหรือรายบุคคล การระบุชื่อ คนข่าวในที่สาธารณะใน เชิงหมายหัว เป็นต้น

 

เหนือสิ่งอื่นใด คนไทยทั้งประเทศทราบดีมานานแล้วว่าการคอร์รัปชันเป็นจุดสำคัญที่ใน          หลวงทรงต้องการให้ประชาชนช่วยกันต่อสู้ จนกระทั่งบุคคลชั้นนำของประเทศต่างระดม    สรรพกำลังมาช่วยกันหาทางแก้ไขกันอย่างกว้างขวาง

 

ด้วยประการฉะนี้ ตราบใดที่ผู้กระทำผิดยังไม่ได้รับการลงโทษ ปรากฏการณ์การต่อสู้ของ       หนังสือพิมพ์ในทั้งกรณี อันล้วนเกี่ยวข้องกับการป้องกันและขจัดการคอร์รัปชันเป็นสิ่งที่ "ป้อมปราการแห่งสติสัมปชัญญะ" จะไม่สามารถเลิกราได้”

 

ทั้งนี้ ในการจัดการกับปัญหา ด้านเงื่อนไขอำนาจรัฐนั้น ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ และขนาดของทุน ขององค์กรสื่อมวลชนด้วย หากเป็นกลุ่มทุนที่ใหญ่และมีประสบการณ์มากพอ ก็จะสามารถควบคุมปัญหาการคุกคามจากอำนาจรัฐได้  แต่หากเป็นองค์เล็กและมีประสบการณ์น้อย การควบคุมปัญหาการคุกคามในรูปแบบต่างๆ ก็อาจจะต้องใช้เวลา และสามารถแก้ปัญหาได้เพียงระดับหนึ่งเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ปัญหาในลักษณะดังกล่าว เกิดกับสื่อมวลชนที่เป็นสิ่งพิมพ์ภาษาไทย มากกว่าสิ่งพิมพ์ภาษาอังกฤษ และสื่อโทรทัศน์ เนื่องจากสื่อโทรทัศน์ส่วนใหญ่เป็นการสัมปทานจากรัฐ ดังนั้น การประนีประนอมจึงมีโอกาสเป็นไปได้สูงกว่า สื่อสิ่งพิมพ์ ที่มีเจ้าของเป็นเอกชน แทบทั้งสิ้น

วิธีการการแก้ปัญหาภัยคุกคาม ที่เป็นเงื่อนไขด้านอำนาจรัฐนั้น ส่วนใหญ่สื่อมวลชนจะใช้วิธีการ ถ่วงดุลข้อมูล พยายามนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน ให้มากที่สุด นอกจากนี้ยังใช้วิธีการหาแนวร่วมกับสื่อมวลชนด้วยกันให้ร่วมกันนำเสนอประเด็นการคอร์รัปชั่นให้มีความถี่มากยิ่งขึ้น ก็จะทำให้เกิดผลกระทบต่อความรับรู้ของประชาชนในวงกว้างและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้ ตามที่ ศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ วะสี เคยกล่าวไว้ว่า การต่อสู้กับการทุจริตมีเพียงสิ่งเดียวเท่านั้น คือการเปิดโปงความจริง

 

2.  เงื่อนไขด้านทุน

เงื่อนด้านทุน ที่มีอิทธิพล ในการกำหนดการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน เป็นเงื่อนไขของสื่อมวลชนทั่วโลก แม้แต่กรณีของหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์  ในประเทศสหรัฐอเมริกาประเทศที่ได้ชื่อว่ามีเสรีภาพที่สุด เงื่อนไขข้อนี้บางครั้งทำให้ สื่อมวลชน ต้อง senser ตัวเอง กล่าวคือ งดเสนอข่าว ในประเด็นที่พาดพิงต่อกลุ่มทุนเหล่านั้นไปเลย ทำให้การแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น ไม่สามารถลุล่วงไปด้วย ในขณะเดียวกับกลับเพิ่มปริมาณและรูแบบได้มากยิ่งขึ้น

ทุนที่เป็นไปในระบบอุปถัมภ์ และ ทุนที่อยู่ในรูปแบบผู้ถือหุ้นในองค์กรสื่อมวลชน ที่เป็นบริษัท ในตลาดหลักทรัพย์ บางกรณีทำให้เป็นอุสรรคต่อการนำเสนอข่าวได้ เช่น เคยมีการนำเสนอข่าวว่า รองนายกรัฐมนตรีคนหนึ่ง บุกรุกที่ดินบนเกาะที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว แต่รองนายกรัฐมนตรีคนนั้น มีลูกสาวถือหุ้นอยู่ในบริษัทของสื่อแห่งนั้น ทำให้ในที่สุดข่าวเกี่ยวกับการคอร์รัปชั่นชิ้นนั้นไม่ได้ถูกนำเสนอต่อสาธารณะ และทำให้นักการเมืองคนนั้น ยังคงครอบครองและบุกรุกที่ดินของรัฐเพื่อสร้างรีสอร์ตได้ต่อไป ในขณะที่ประชาชนเป็นจำนวนมากไร้พื้นทีทำกินเพื่อยังชีพ

บุญรักษ์ บุญญะเขตมาลา สะท้อนให้เห็นว่า ตัวแปรสำคัญที่เป็นข้อจำกัดต่อการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน นอกจากกองบรรณาธิการข่าว นายทุนเจ้าของหนังสือพิมพ์ และหลักจรรยาบรรณของหนังสือพิมพ์แล้วยังมีอิทธิพลทางเศรษฐกิจ สังคม ข้อจำกัดด้านกฏหมาย รายได้จากโฆษณา คู่แข่งทางการตลาด เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

นอกจากนี้ ความเข้มงวดของกฎเกณฑ์แห่งการสร้างกำไร เนื่องจากเป็นธุรกิจในระบบทุนนิยม เป้าหมายของธุรกิจต่างๆ รวมทั้งสื่อย่อมมีความสำคัญมาก เมื่อเน้นผลกำไรมาก ธุรกิจสื่อจึงมีแนวโน้มที่จะสร้างผลิตภัณฑ์ประเภทที่มุ่ง "เอาใจตลาด" โดยไม่ค่อยคำนึงว่าอะไรควรไม่ควรเท่าไรนัก เช่น การเน้นผลิตภัณฑ์ด้านความรุนแรง ด้านกามารมณ์ และการตกแต่งเรื่องราวต่างๆ ให้ดูน่าตื่นเต้นเร้าใจอย่างไม่น่าเชื่อ เป็นอาทิ”

การยอมรับระบบเศรษฐกิจแบบตลาดจนราวกับเป็นศาสนา ความที่สื่อมีความเชื่อมโยงกับระบบเศรษฐกิจแบบตลาดอย่างแน่นแฟ้น นั่นก็คือ รายได้ของสื่อมาจากแจ้งความโฆษณาต่างๆ และการขายสื่อให้แก่ตลาดในรูปแบบตรงๆ หรืออ้อมๆ ต่างๆ จึงเป็นธรรมดาอยู่เองว่าสื่อจะยอมรับการดำรงอยู่ของกฎเกณฑ์ของระบบเศรษฐกิจแบบตลาด ความจริงของโลกก็คือหากทำอะไรไม่ได้กำไรเพียงพอก็จะตั้งอยู่ไม่ได้

 

3. เงื่อนไขที่มาจากนโยบายองค์กรของสื่อมวลชน

นโยบายขององค์กรสื่อมวลชน ในที่นี้หมายถึง นโยบายของบริษัท ที่กำหนดโดย กรรมการบริหารบริษัท ที่ผลิตสื่อ ทั้งในรูปแบบของสื่อโทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์ หรือสื่อในลักษณะของเวบไซต์ มีความหมายมากกว่าข้อกำหนด และแนวทางการทำข่าวที่สั่งการโดยบรรณาธิการ หรือหัวหน้าข่าว แต่อย่างไรก็ตาม ตัวบุคคลที่เป็นบรรณาธิการข่าว แต่ละฉบับ แต่ละองค์กร ต้องเป็นบุคคลที่ ประธานบริษัท หรือกรรมการผู้จัดการ ไว้วางใจให้เป็นผู้ควบคุมทิศทางข่าว

ทั้งนี้ ในวิทยานิพนธ์เรื่อง “บทบาทของสื่อสิ่งพิมพ์ต่อการเสนอข่าวคอร์รัปชั่นในหน่วยงานรัฐ” โดย อมรรัตน์ มหิทธิรุกข์ ผู้สื่อข่าวประจำหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ นำเสนอผลการศึกษาจากการสัมภาษณ์ผู้บริหารหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับนโยบายและการให้ความสำคัญกับการทำข่าวเจาะ เพื่อต่อต้านการคอร์รัปชั่น ไว้ว่า

“หนังสือพิมพ์มติชน รายวัน หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์               หนังสือพิมพ์        ผู้จัดการรายวัน และหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ มีนโยบายให้          ความสำคัญต่อข่าวการ       คอร์รัปชั่น แม้จะไม่มีการกำหนดไว้เป็นลายลักษณ์อักษรก็ตาม    การเสนอข่าวส่วนใหญ่ จะให้น้ำหนักกับข้อมูลจากเอกสาร มากกว่าข้อมูลบุคคล            ความสำคัญของข่าวขึ้นอยู่กับสถานภาพของบุคคล ที่ปรากฏเป็นข่าว ส่วนรูปแบบการ    เสนอข่าวจะขึ้นอยู่กับนโยบายของ    หนังสือพิมพ์แต่ละฉบับไม่มีกฏเกณฑ์ตายตัว ขึ้นอยู่กับ  ความซับซ้อนและรายละเอียดของ       ข้อมูลข่าว โดยมีการนำเสนอในรูปแบบ รายงานพิเศษ   บทความ และบทบรรณาธิการ ซึ่งมีผลต่อการกระตุ้นความสนใจจากผู้อ่าน”

 

ข้อเสนอแนะบทบาทสื่อมวลชนในการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นในระยะสั้นและระยะยาว

ข้อเสนอแนะกรณีพ...ข้อมูลข่าวสาร

เพื่อให้การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารสาธารณะได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลข่าวสารขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ เช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ทั้งสองหน่วยงานควรปฏิรูประบบการจัดเก็บข้อมูลที่จะเผยแพร่ต่อสาธารณะใหม่ทั้งหมด อาทิ รายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของคณะรัฐมนตรี, บัญชีเงินบริจาคของให้แก่พรรคการเมือง

ปัจจุบันการจัดเก็บและเผยแพร่ข้อมูลบัญชีทรัพย์สินของคณะรัฐมนตรีทำในรูปของข้อมูลดิบ ไม่มีการรวบรวมและสังเคราะห์เปรียบเทียบการยื่นบัญชีทรัพย์สินแต่ละครั้งให้ทันสมัย จึงยากที่จะตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงรายการบัญชีทรัพย์สินของนักการเมืองได้

เช่นเดียวกับเงินที่บุคคลต่างๆบริจาคให้แก่พรรคการเมือง กกต.จัดในรูปของข้อมูลดิบ ไม่เคยมีการสังเคราะห์เปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่าง ไม่สามารถบ่งบอกได้ว่า ใครบริจาคเงินให้แก่พรรคการเมืองใด และบริจาคไปแล้วเป็นเงินจำนวนเท่าใด นอจากนั้นยังไม่เคยมีการสังเคราะห์ว่า เมื่อนักการเมืองรายหนึ่งรายได้บริจาคเงินให้แก่พรรคการเมืองแล้ว เงินในบัญชีทรัพย์สินที่แจ้งต่อ ป.ป.ช.หรือ กกต.ลดลงมากน้อยได้สัดส่วนกับเงินที่บริจาคไปหรือไม่

การที่ข้อมูลดังกล่าวของทั้งสองหน่วยงานกระจัดกระจายไม่เป็นระบบ ย่อมเป็นอปสรรคสำคัญในการตรวจสอบข้อมูลจากทั้งสื่อมวลชนและสาธารณชน

ดังนั้น ควรมีการจัดตั้ง"ศูนย์ข้อมูล"ขึ้นมารวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลดังกล่าวอย่างเป็นระบบ

ข้อเสนอแนะสำหรับการปฏิบัติงานในระยะสั้นและระยะยาว

1. สำนักพิมพ์ต้องมีนโยบายการนำเสนอข่าวตรวจสอบทุจริตคอรัปชั่นที่ชัดเจน และสั่งการลงไปที่ผู้สื่อข่าวสายกระบวนการยุติธรรมเพื่อเป็นการให้น้ำหนักและรับรองการทำหน้าที่อันจะสร้างความมั่นใจอีกทั้งยังเป็นการกดดันให้ผู้สื่อข่าวไม่สามารถอยู่นิ่งเฉยหรือละเว้นที่จะไม่ติดตามตรวจสอบข่าวทุจริตคอรัปชั่นในกระบวนการยุติธรรมได้

 

2.  สร้างทัศนคติ เสริมทักษะเพื่อเพิ่มประสบการณ์  ด้วยการส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้สื่อข่าวศึกษากฎหมายเพิ่มเติมแบบเปิดเผย  เพราะปัจจุบันสำนักพิมพ์ส่วนใหญ่ยังไม่เปิดโอกาสให้ผู้สื่อข่าวได้ศึกษาวิชาเฉพาะทางเพิ่มเติม  เพื่อให้ผู้สื่อข่าวสามารถ รู้เท่าทันแหล่งข่าวนักกฎหมาย , เข้าใจประเด็นข่าวกฎหมาย, ใช้ความรู้กฎหมายเพื่อขยายผลหาข่าวกฎหมาย ฯลฯ และ สามารถเขียนข่าวอย่างไรไม่ให้ถูกฟ้อง อีกทั้งช่วยให้สามารถเขียนรายงาน สกู๊ปข่าวภาษากฎหมายให้เป็นภาษาสามัญหรือภาษาชาวบ้านเพื่อประโยชน์ตกแก่ผู้อ่านหรือประชาชน ต้องตามเจตนารมณ์การเป็นสื่อสารมวลชน

 

3.ให้โอกาสเปิดพื้นต่อผู้สื่อข่าวเพื่อสั่งสมประสบการณ์  กรณีนี้หมายถึง  ข่าวสายกระบวนการยุติธรรมถือเป็น “ข่าวเฉพาะทาง” ที่ต้องอาศัยความชำนาญจึงจำเป็นต้องให้เวลาผู้สื่อข่าวใหม่ๆ อย่างน้อย 3 ปีขึ้นไปในการจะอยู่เป็นผู้สื่อข่าวในแต่ละพื้นที่ไม่ว่าจะเป็น ศาล  อัยการ และกระทรวงยุติธรรม  จากนั้นเปลี่ยนประสบการณ์โดยหมุนผู้สื่อข่าวให้ครบทั้งระบบยุติธรรมเพราะกระบวนการยุติธรรมเป็นสายงานที่เชื่อมโยงสอดประสานกันหากให้หมุนเวียนจะทำให้ผู้สื่อข่าวมีมุมมองประเด็นข่าวอย่างเป็นระบบมากขึ้น

 

4.หากสำนักพิมพ์ไม่มีนโยบายให้ผู้สื่อข่าวศึกษากฎหมายเพิ่มเติม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ควรจัดอบรมกฎหมายอาญา, กฎหมายแพ่งและพาณิชย์, กฎหมายปกครอง และกฎหมายอื่นๆ เช่น รัฐธรรมนูญ ,กฎหมายป.ป.ช. เพื่อเพิ่มทักษะ ในหมวดที่สื่อมวลชนควรรู้ และพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้เฉพาะทางเพิ่มมากขึ้น เช่น รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์

 

5.ผู้สื่อข่าวควรมี ‘จิตสำนึก’ ต่อหน้าที่เมื่อรู้ว่าตนต้องทำงานเฉพาะทางอย่างกฎหมายก็จำต้องค้นคว้าให้เวลาทำความเข้าใจ ด้วยการใช้ทักษะพื้นฐานนิเทศศาสตร์และความมุ่งมั่น

6.สื่อมวลชนต้องตระหนักตลอดเวลาว่า ไม่ว่าจะเป็นข่าวคดีความหรือข่าวทุจริตคอรัปชั่นในวงการยุติธรรมเป็นหน้าที่ ต้องจริงจังต่อการปฏิบัติเพื่อให้งานในรับผิดชอบเสร็จสิ้นโดยสมบูรณ์ให้สมฐานะสื่อสารมวลชนที่ดี

7. นโยบายขององค์กรสื่อต้องให้ความสำคัญกับการเสนอข่าวอย่างต่อเนื่อง เกาะติด เจาะลึก และเพิ่มแรงจูงใจในการทำงานข่าวให้ผู้สื่อข่าว เช่น การให้รางวัล

8. องค์กรสื่อต้องทุ่มเทเวลา ทุน เพื่อแสวงหาข่าวที่มีแนวโน้มว่าจะมีการคอร์รัปชั่น เพื่อรักษาผลประโยชน์ของสาธารณะ

9. การนำเสนอข่าวทุจริตคอร์รัปชั่น ต้องรวบรวมข้อมูลด้วยความรอบคอบ รัดกุม ป้องกันการฟ้องร้องทางกฎหมาย

10. จัดวาระการทำข่าวการคอร์รัปชั่นในทุกระดับ ให้เป็นวาระร่วมกันของสื่อมวลชนทุกแขนง

11. มีรูปแบบการนำเสนอข่าวที่น่าสนใจ เข้าใจง่าย เช่นเป็นรายงานพิเศษ สารคดีเชิงข่าว สกู๊ปพิเศษ เพื่อโน้มน้าวประชาชนทั่วไปให้สนใจปัญหาคอร์รัปชั่นและตระหนักรู้ถึงผลกระทบ

12. โน้มน้าว หัวหน้าข่าว เพื่อนร่วมงาน บรรณาธิการข่าว  กรรมการบริหารบริษัท หรือเจ้าของกิจการ ให้หันมาสนใจข่าวที่ช่วยต่อต้านการคอร์รัปชั่น

13. ควรมีหลักสูตร สำหรับนักข่าวหรือผู้ที่ศึกษาในระดับอุดมศึกษา เพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้กับนักศึกษาว่าการคอร์รัปชั่น หรือการร่ำรวยผิดปกติ นั้นเกิดจากการทุจริต เบียดเบียนไปจากระบบภาษีของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ

14. สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ควรเชิญสื่อมวลชนที่ประสบการณ์ในการเสนอข่าวการคอร์รัปชั่นในระดับสากล จากต่างประเทศ มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับสื่อมวลชนไทย เพื่อเป็นแนวทาง เทคนิค ให้กับผู้สื่อข่าว และสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ

15. สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ควรมีการสร้างเครือข่ายร่วมกับ สื่อมวลชนต่างประเทศ เช่น BBC วอชิงตันโพสต์ เพื่อส่งผู้สื่อข่าวจากประเทศไทยไปเรียนรู้งานได้

16.สร้างค่านิยมให้คนในสังคมเคารพนับถือคนดี มากกว่าผู้ดีหรือคนรวย และปลูกฝังให้เกิดความรักเกียรติยศ และศักดิ์ศรีในวิชาชีพ

17. สื่อโทรทัศน์ ซึ่งเข้าถึงประชาชนได้มากที่สุด เร็วที่สุด ต้องผลิตสื่อให้ประชาชนได้ตระหนักรู้ว่าการคอร์รัปชั่นเป็นเรื่องที่ทำให้ประเทศเสียโอกาสในการพัฒนาทุกด้าน

18. พัฒนาบุคลากรในแวดวงสื่อมวลชน สร้างคนรุ่นใหม่ ให้มีอุดมคติในการทำงานเพื่อสังคมมากยิ่งขึ้น

19. ต้องใช้นักข่าวที่มีประสบการณ์ มีอาวุโส หาข้อมูลจากแหล่งข่าวที่เป็นนักการเมือง เพราะค่านิยมสังคมไทยมีความเกรงใจผู้อาวุโส ดังนั้น นักข่าวอาวุโสจึงมีโอกาสได้ข้อมูลการทุจริตมากกว่านักข่าวใหม่ ๆ

20. สร้างแนวร่วมเครือข่ายการทำงานร่วมกับองค์กรภาคประชาชน เช่น สถาบันเพื่อความโปร่งใสประเทศไทย เพื่อให้การเสนอข่าวมีผลกระทบและมีประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น

 

21. ประชาชนน่าจะช่วยกันบริจาคตั้ง “กองทุนวิจัยเพื่อสื่อมวลชน” เพื่อสนับสนุนนักข่าวให้สามารถทำการวิจัยสืบสวนสอบสวนได้มากยิ่งขึ้น ทำให้ระงับการคอร์รัปชั่นไปได้

 

 

 

 

เอกสารอ้างอิง

 

บุญรักษ์ บุญญะเขตมาลา  หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน (2 มิถุนายน 2548) กรุงเทพฯ

อมรรัตน์ มหิทธิรุกข์ วิทยานิพนธ์เรื่อง “บทบาทของสื่อสิ่งพิมพ์ต่อการเสนอข่าวคอร์รัปชั่นในหน่วยงานรัฐ” กรุงเทพฯ  พ.ศ.2546

 

เสนาะ สุขเจริญ “ข่าว-เจาะ” สำนักพิมพ์ Openbook กรุงเทพฯ พ.ศ.2548