อภิปรายเรื่อง “เสรีภาพสื่อไทยในยุคเศรษฐกิจการเมืองผูกขาด”

 

อภิปรายเรื่อง “เสรีภาพสื่อไทยในยุคเศรษฐกิจการเมืองผูกขาด”

โดย

รศ.ดร.อุบลรัตน์  ศิริยุวศักดิ์ คณะนิเทศศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นายพงษ์ศักดิ์  พยัฆวิเชียร บรรณาธิการอำนวยการใหญ่ นสพ.มติชน

นายสมชาย  แสวงการ  นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย

ดร.สมเกียรติ  ตั้งกิจวาณิชย์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

โครงการสัมมนาทางวิชาการติดตามนโนบายสาธารณะเรื่อง“4 ปีประเทศไทย:ภาพจริง-ภาพลวง ?”

วันพฤหัสบดีที่ 25  พฤศจิกายน 2547 ณ ห้องประชุมจุมภฏ-พันธ์ทิพย์ ชั้น 4

อาคารประชาธิปปก  รำไพพรรณนี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

รศ.ดร.อุบลรัตน์  ศิริยุวศักดิ์

ดิฉันไม่ได้อยู่ประเทศไทยมาปีหนึ่งอาจจะตามเหตุการณ์ไม่ค่อยทัน หากตกหล่นอย่างไรคิดว่าผู้ฟังคงให้อภัย อยากเริ่มต้นในสิ่งที่เป็นข้อเท็จจริงที่หลายท่านประจักษ์อยู่ขณะนี้  งานนี้เป็นงานด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองจึงอยากจะพูด 2 ด้านเป็นพิเศษ คือ โครงสร้างของระบบสื่อ ที่เรามองเห็นปัญหาอยู่ทุกวันนี้ ว่าทำไมไม่เป็นสุนัขเฝ้าบ้านที่ดีแล้ว ทำไมถูกแทรกแซงอยู่ตลอดเวลา ขอมอง 2 ด้านที่ชัดเจน

ภายใต้เศรษฐกิจการเมืองแบบผูกขาดนั้น สื่อได้กลายเป็นสิ่งที่เรียกว่า corporate media ฐานะเป็นอย่างไร มีอำนาจ มีบทบาทอย่างไรในสังคม อยากใช้คำนี้ให้ชัดเจน เพราะว่าต่อไปเราคงจะตระหนัก มองเห็นโครงสร้างทั้งระบบว่าสื่อเป็นองค์กรธุรกิจ สื่อมีวัฒนธรรมการบริหารจัดการองค์กรในแบบของธุรกิจ สื่อทำงานในลักษณะเชิงพาณิชย์ มุ่งแสวงหากำไร และบวกด้วยการแสวงหากำไรสูงสุดด้วย ดูได้จากตัวอย่างที่เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ คือขนาดของธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นสื่อวิทยุโทรทัศน์ หรือสื่อหนังสือพิมพ์ ธุรกิจมีขนาดใหญ่ขึ้น เข้าไปอยู่ในตลาดหลักทรัพย์มาตั้งแต่ 10 กว่าปีที่แล้ว

ฉะนั้น ต้องถือว่าเป็นยุคที่สื่อนั้นเข้าสู่สภาวะของการเป็น corporate media อย่างเต็มศักยภาพ

ตัวอย่างล่าสุดคงจะเป็นสื่อโทรทัศน์ รัฐเองได้นำเอาสื่อที่เรียกว่าสื่อของรัฐเข้าสู่ความเป็น corporate media คือช่อง 9 หลายคนที่ติดตามอาจจะเป็นสมาชิกของหุ้นใหม่

ที่จะตามมาอีกตัวหนึ่ง คือช่อง 11 ซึ่งที่จริงแล้ว 11/1  ,11/2 นั้นก็คือค่อยๆ ทำให้เป็นพื้นที่เช่าซื้อ เช่าช่วงกันไปมากขึ้นเรื่อยๆ  เป็น corporate media ในนัยหนึ่ง แต่ว่าต่อไปคงทำได้เต็มรูปขึ้น ตรงนี้เป็นภาพสะท้อนว่า corporate media เป็นระบบที่จะเป็นกระแสหลักทั้งหมดของสังคมอย่างปฏิเสธไม่ได้ โดยเฉพาะในยุคของเศรษฐกิจการเมืองผูกขาดนั้น ถ้าเทียบกับสมัยจอมพลสฤษฏ์  ซึ่งได้เคยวิจัยไว้ว่าสื่อวิทยุโทรทัศน์เป็นสื่อเชิงพาณิชย์ หรือเป็น commercialize(การค้าขาย) ไปทั้งระบบในขณะนี้กลับมาทำเช่นนั้นอีก และทำแบบเข้มข้นขึ้นโดยที่เข้าไปสู่ในภาคเศรษฐกิจการเมืองของตลาดหุ้นไปแล้ว

ในยุคของจอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส  จนถึงสมัยจอมพลสฤษฏ์  ธนะรัตน์ก็ยังไม่ได้มีมูลค่าในตลาดหุ้น แต่ปัจจุบันนี้เลยไปแล้ว ฉะนั้น  corporate media นั้นจึงมีความน่าสนใจอยู่มาก

หากติดตามดูสภาพในเชิงการทำงานภายในจะพบว่า ขณะนี้กองบรรณาธิการจะมีอำนาจน้อยกว่าฝ่ายการตลาดและฝ่ายโฆษณา ได้รับทราบว่ากองบรรณาธิการบ่อยครั้งไม่สามารถรายงานข่าว  ใช้พื้นได้อย่างเต็มอย่างที่ได้มีการแบ่งกันไว้

ฝ่ายที่จะมีเสียงดังในปัจจุบันจะเป็นฝ่ายการตลาดและฝ่ายโฆษณา มีอำนาจเหนือกองบรรณาธิการ บางแห่งอาจจะเบ็ดเสร็จเด็ดขาดก็เป็นไปได้ เพราะฉะนั้นกองบรรณาธิการอาจจะขาดความเป็นอิสระในการทำหน้าที่ตามวิชาชีพ

ตรงนี้อยากให้มอง มี 2 ส่วน ในองค์กรสื่อเอง corporate media  มีการขัดแย้งกันภายใน มีการทำงานที่ยากยิ่งขึ้นอยู่ภายใน

ในฐานะองค์กรสื่อแบบ corporate media รับผิดชอบต่อใคร อยากใช้สมมติฐานรับผิดชอบต่อผู้ให้โฆษณามากกว่ารับผิดชอบต่อผู้อ่าน ถามว่าตรงนี้เป็นการพูดโดยอคติหรือไม่ อยากให้สื่อรับผิดชอบต่อเราเพราะเป็นผู้อ่านเป็นสาธารณชน

จำได้ว่ามีอยู่ช่วงหนึ่งที่เห็นหนังสือพิมพ์มีโฆษณาเล็กๆขึ้นบริเวณชื่อหนังสือพิมพ์ประมาณเกือบ 20 ปีที่แล้วก็นึกบ่นกับตัวเองว่าทำไม?ต้องเอาโฆษณาเล็กๆ มาแทรก เดี๋ยวนี้โฆษณาจะวิ่งไปตรงไหนก็ได้ ไปทั่วไปหมด โฆษณาขึ้นครั้งแรกก็เริ่มรู้สึกกว่าถูกแย่งพื้นที่ เพราะบริเวณชื่อหนังสือพิมพ์จะดูโดดเด่นมาก เพราะฉะนั้นการที่นำโฆษณาชิ้นเล็กๆมาวาง เป็นครีเอทีฟอย่างยิ่งของฝ่ายโฆษณา ทำให้สัดส่วนรายได้ของหนังสือพิมพ์กว่า 70-80 เปอร์เซ็นต์มาจากโฆษณา

นิตยสารก็เช่นเดียวกันรายได้ส่วนใหญ่จะมาจากโฆษณา เพราะฉะนั้นสื่อจะพึ่งกับโฆษณามากกว่า แล้วสื่อจะให้ความสวยงามกับโฆษณา เป็น 4 สี่จัดหน้าสวยงาม แต่ในหน้าสำหรับผู้อ่านจะประหยัด พิมพ์ตัวหนังสือธรรมดา ตรงนี้จะเห็นความใส่ใจที่แตกต่างระหว่างความรับผิดชอบ

ถ้าเป็นสื่อวิทยุโทรทัศน์ สื่ออินเตอร์เน็ต พึ่งโฆษณาบ้าง ตอนนี้เริ่มแล้ว แต่ว่าบางไซด์ หรือส่วนที่ให้เพื่อกิจการทางด้านของการหาข้อมูลข่าวสารที่เป็นเครือข่ายอิสระหรือเป็นการศึกษาจะยังไม่มีโฆษณามากนัก หรือว่าไม่มีโฆษณาเลย

ความรับผิดชอบอีกตัวหนึ่งที่น่าสนใจ คือ ขณะนี้สื่อหันไปรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้นด้วย เมื่อเป็นเช่นนั้น ย่อมหมายถึง การทำสื่อให้ติดตลาด เติบโต และในที่สุดนำกำไรมาสู่บริษัท และส่งเงินปันผลในอัตราส่วนที่สูงให้กับผู้ถือหุ้น ตรงนี้แหละที่เป็นจุดเริ่มต้นของความรุนแรงว่า สื่อนั้นได้เป็นส่วนหนึ่ง หรือเป็นอย่างเต็ม ๆ ตัวของเศรษฐกิจการเมืองของไทยที่ว่าเป็นแบบผูกขาด

โดยสรุปคือว่า corporate media นั้นอาจจะไม่ได้รับผิดชอบต่อผู้อ่าน ผู้ดู ผู้ฟัง มากเท่ากับรับผิดชอบต่อระบบทุนนิยม เนื้อหาของสื่อจึงจำเป็นที่จะต้องขายให้ได้ โดยให้ความเพลิดเพลินเป็นหลัก

ถามว่า ท่านดูข่าวโทรทัศน์ทุกวันนี้เห็นหรือไม่ว่าไม่ซีเรียสเลย เพราะมีการพูดคุยกัน พยายามโยนลูกระหว่างคนอ่านข่าวด้วยกัน เป็นลักษณะเบาบางให้วัยรุ่นดูข่าวได้ด้วย ทุกช่องจะเหมือนกันหมด

นี่คือแนวโน้มในปัจจุบัน รายการข่าวมีทั้งให้ความเพลิดเพลิน และพยายามที่จะไม่ให้มีสภาวะในเชิงการเมือง หรือโน้มนำไปทางใดทางหนึ่ง ไม่เจาะลึกทางการเมือง ข่าวคร่าวทั้งหลายไม่สืบสวน สอบสวนเรื่องที่จะกระทบกับผู้ให้โฆษณาสินค้า ระบบทุน หรือการเมืองที่มีกลุ่มทุน เช่น กรณีตากใบ ก็เข้าข่าย ถ้ากระทบกระเทือนกับอะไร ตรงไหนที่เกี่ยวกับรายได้ จะต้องเบาบางไว้ก่อน ตรงนี้ก็เป็นประเด็นสำคัญ

ผู้ดู ผู้ฟัง ผู้อ่านจะสำคัญก็ต่อเมื่อสามารถนำโฆษณาเข้ามาสู่สื่อได้ และที่เป็นหัวใจสำคัญคือผู้ดู ผู้ฟังในปัจจุบันนั้นไม่ได้มีฐานะเป็นพลเมืองในสายของสื่อมวลชนอีกต่อไป แต่เป็นผู้ซื้อ ผู้บริโภค ไม่ใช่สาธารณะชน ไม่ใช่ประชาชน สถานะตรงนี้ที่ถดถอยไป เป็นระบบประชาธิปไตยที่ปราศจากประชาชนภาคพลเมือง

ตรงนี้เป็นความรุนแรงที่น่าวิตก เสรีภาพของสื่อไทยในรูปแบบที่มีผู้ซื้อและเป็นเสรีภาพในทางเศรษฐกิจของ corporate media คือจะไม่ให้ความสำคัญกับมิติทางการเมือง บทบาททางสังคมมากเท่ากับวิถีทางเศรษฐกิจและถ้าจะเน้นมิติทางการเมืองที่ไม่กระทบกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ตรงนี้พูดในเชิงโครงสร้าง ไม่ได้กล่าวถึงบริษัทใด บริษัทหนึ่ง แต่มองในลักษณะที่สังคมจะเคลื่อนตัวไป อาจจะ 30 ปี 40 ปี อาจจะอยู่ในสภาวะของ political media คือสื่อถูกยึดครอง

เรียกว่าผูกพัน แต่งงานกันไปแล้ว เป็นกลุ่มเป็นองค์กรชุดเดียวกัน ในทางการเมือง คิดว่าหลายท่านเป็นห่วง มีคำถามเรื่องการแทรกแซงสื่อ หากมองในทางกลับกันก็เป็นข้อดี สื่อมวลชนยังมีวิญญาณของนักวิชาชีพ  ไม่ได้พูดถึง corporate media แต่พูดถึงความเป็นเจ้าของ พูดถึงการจัดการทางธุรกิจ คือเจ้าของมีการมองการบริหารแบบหนึ่ง ในขณะที่คนที่อยู่ในกองบรรณาธิการคือนักวิชาชีพ นักหนังสือพิมพ์ นักวิทยุโทรทัศน์ยังสู้ แต่เป็นการสู้แบบกระจัดกระจาย สู้ด้วยจิตวิญญาณของการเป็นนักวิชาชีพ ดังนั้นการแทรกแซงทางการเมืองจึงเข้ามาจัดการกับแต่ละองค์กรที่กำลังสู้กันอยู่ ทั้งที่จัดการโดยตรง และจัดการผ่านกองบรรณาธิการ จัดการผ่านฝ่ายโฆษณา เอาให้ราบคราบ

เพราะฉะนั้นตรงนี้เรียกว่าเป็นสงครามจรยุทธ นักวิชาชีพในแต่ละที่ก็ทำเท่าที่ตัวเองจะทำได้ น่าจะเป็นสัญญาณที่ดีที่ยังมีการต่อสู้  ไม่รู้ว่าดีหรือไม่ดี แต่การแทรกแซงเข้ามาแน่ หากยังไม่สงบราบคราบ ยังมีคนที่ไม่สยบยอม ดิฉันพยายามมองโลกในแง่ดี แต่หลายคนมองว่าบัดนี้สื่อสงบยอมไปแล้ว 99 % จึงต้องหารือกันดูว่าทำอย่างไรดี

ตรงจุดนี้คิดว่านักการเมืองกดดันและจะกดดันเข้มข้นขึ้นไปเรื่อยๆ ตัวอย่างที่จะทำให้สามารถสรุปได้ว่าการแทรกแซงนั้น จะแทรกแซงเข้าไปที่กองบรรณาธิการซึ่งยังคุมไม่ได้ ส่วนเจ้าของหนังสือไม่ต้องแทรกแซงแล้วเพราะว่าอยู่ในกระแสของโครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองผูกขาดไปแล้ว

ดัชนีหนึ่งที่เคยสรุปไว้ตั้งแต่บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจถูกย้าย บรรณาธิการหนังสือพิมพ์คมชัดลึกถูกย้าย บรรณาธิการบางกองโพสต์รายสุดท้ายถูกย้าย คือการรบที่จะให้แม่ทัพฝ่ายสื่อในแต่ละกองถูกถอดถอนออกไป แล้วการจรยุทธก็จะยากยิ่งขึ้น เพราะว่าหัวหน้ากองไม่อยู่แล้ว จะสู้รบก็ไม่มีผู้นำ

บุคคลทั้ง 3 ท่านไปกระทบอะไรจึงถูกย้าย คือไปพูดเรื่องคดีซุกหุ้น ไปพูดเรื่องคุณพานทองแท้ อุตส่าห์ปิดข่าวได้ตั้งหลายฉบับ แต่ฉบับนี้ปิดไม่ได้ทลึ่งนำเสนอข่าวอยู่ได้ 2 วัน ก็เลยถูกขอให้เปลี่ยนบรรณาธิการ แม้กระทั่งคุณวีระ ซึ่งมีตำแหน่งใหญ่อยู่ในกองบรรณาธิการและยังมีตำแหน่งใหญ่อยู่ในสมาคมวิชาชีพด้วยนั้นก็ยังถูกเจรจาให้เปลี่ยนแปลงตำแหน่งหน้าที่การทำงานเช่นเดียวกัน

จนกระทั่งมีการล่ารายชื่อคัดค้านในหมู่สมาคมวิชาชีพ เพื่อนร่วมอาชีพในภูมิภาคในระหว่างประเทศด้วย

หลายคนอาจจะบอกว่าคงไม่ใช่อย่างนี้ทั้งหมด แต่ก็คิดว่าเป็นข้อสันนิฐานที่น่าจะถกแถลงกันได้ว่าการแทรกแซงที่เกิดขึ้นนั้น ตรงนี้ถือว่าหนักหนาสาหัสที่สุด ที่สื่อสามารถถูกให้เปลี่ยนหัวหน้ากองบรรณาธิการได้ ไม่ใช่แค่ปิดข่าว แต่ยังมีขั้นสุดท้ายที่เหลืออยู่คือปิดหนังสือพิมพ์

ในช่วงพฤษภาทมิฬ มีหนังสือพิมพ์ถูกสันติบาลส่งจดหมายเชิญ ในขณะที่สถานการณ์กำลังวิกฤต  แต่ว่าวิญญาณที่ไม่สยบยอม หนังสือพิมพ์ 3 ฉบับจับมือกันบอกว่า สันติบาลอยากมีคำสั่งปิด ก็ให้มาหาสื่อเองที่สำนักพิมพ์ ไม่มีฉบับใดยอมไปรับคำสั่งในตอนนั้น

หากประวัติศาสตร์ย้อนรอยจริง คือ สุดท้ายคือปิดหนังสือพิมพ์

ขออนุญาติยกตัวอย่างประเทศอินโดนีเซีย ในสมัยรัฐบาลเผด็จการซูฮาโต้อยู่ในอำนาจ 32 ปี นึกสภาพจอมพลสฤษดิ์  จอมพลถนอม จอมพลประภาส รวมกันอยู่ 32 ปี ทำนองนั้นก็แสนสาหัส เช่นเดียวกับอำนาจนิยมโดยทั่วๆ ไปก็ควบคุมสื่อย่างเข้มข้น ปรากฏว่าในช่วงต้นๆ สื่อก็แซ่ส้อง ก็ฮันนีมูนกันอยู่นานกับซูฮาโต้ ซึ่งมีสัญญาว่าจะพัฒนาประเทศ ถือเป็นบิดาแห่งการพัฒนาประเทศอินโดนีเซีย

แต่พออยู่ไปหลายๆ ปี เข้าปีที่ 25 ปีที่ 26 ความอึดอัดคับข้องใจก็มีอยู่เรื่อยๆ สื่อที่อยู่ในโอวาสก็ยังมีอยู่ แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์เปิดโปงกรณีซื้อเรือรบมือสองจากเยอรมันตะวันออกมาจำนวนหนึ่งเป็นกองเรือ ปรากฏว่าราคางบประมาณในการซื้อกองเรือนั้นน้อยกว่าค่าซ่อมกองเรือในระยะยาวจะแพงกว่า

สื่อได้เปิดเผยข้อมูลทั้งหมดขึ้นหน้าหนึ่ง หนังสือพิมพ์ 3 ฉบับถูกปิดทันที Tamper สื่อฉบับหนึ่งซึ่งค่อนข้างจะศรัทธากับซูฮาโต้เพราะเชื่อว่าให้เสรีภาพในการทำงานทางวิชาชีพพอสมควร กระโดดไปยืนอยู่ตรงฝ่ายค้านทันที แล้วจัดตั้ง 2 อย่าง คือ 1.สหภาพนักหนังสือพิมพ์อิสระ สมาคมนักข่าวของอินโดนีเซียอยู่ภายใต้กำกับของรัฐบาล ต้องแจ้งจดกับรัฐบาล แล้วคนที่จะเป็นสมาชิกจะต้องถูกตรวจสอบประวัติ พวกเขาจึงตั้งเป็นอิสระ ผู้ที่ไปเป็นสมาชิกของสมาคมอิสระทั้งหมดถูกขึ้นบัญชีดำทันที ถูกไล่ออกจากงาน ถูกกดดัน ขอให้ออกจากงาน ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ คอลัมน์นิสต์ หรือหัวหน้ากองบรรณาธิการ

อันที่ 2.คือไปทำหนังสือใต้ดิน Tonela independence คือเสียงอิสระภาพ ทำไป 2 ฉบับ เปลี่ยนชื่อเป็นอิสระภาพเฉยๆ ไม่มีเสียง แล้วขายใต้ดิน ขายจำนวนไม่มากนัก แต่สุดท้ายต้องใช้วิธีซีล็อก ใครที่ได้ไปก็ซีล็อกเผยแพร่กัน นักเขียนที่ไม่สามารถเขียนลงในสื่อกระแสหลักได้ก็เขียนลงที่ในสื่อฉบับนี้ อะไรที่เผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ตได้ก็ไปเผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ต เป็นเรื่องที่นักวิชาชีพลุกขึ้นมา เพราะไม่ยอมสยบ เถึงคราวหนึ่งหากมีการปิดหนังสือพิมพ์ก็คือการแสดงชัดเจนว่าหมดแล้วซึ่งสิทธิเสรีภาพที่จะทำหน้าที่เป็นสุนัขเฝ้าบ้าน

ดร.สมเกียรติ    ตั้งกิจวาณิชย์

จากหัวข้อสัมมนาโจทย์ที่สำคัญ มีคีย์เวิร์ดอยู่ 3 ตัว มีเรื่องเสรีภาพสื่อ เรื่องของเศรษฐกิจผูกขาด มีเรื่องของการเมืองผูกขาด

ขอขยายความเล็กน้อย เศรษฐกิจผูกขาด รัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลที่ได้รับการสนับสนุนโดยกลุ่มทุนผูกขาด กลุ่มทุนสัมปทาน กลุ่มสื่อ กลุ่มโทรคมนาคม ต่างๆที่ได้พูดกัน แต่คิดว่ามีอีกมิติหนึ่งที่ไม่ใช่กลุ่มทุนผูกขาดโดยทั่วไป แต่เป็นกลุ่มทุนผูกขาดซึ่งอยู่ในธุรกิจบริการที่มีความจำเป็นต้องสร้างภาพให้เห็นว่าแตกต่างจากบริการของคู่แข่งเพื่อที่จะได้ไม่ต้องไปตัดราคาสู้กัน เช่น โทรศัพท์มือถือรุ่นนี้สัญญาณแรงกว่าชัดกว่า เครือข่ายดีกว่า บริการเสริมดีกว่า ทำนองนี้

ด้วยการที่ต้องการทำให้สินค้าของตัวเองแตกต่างจากผู้อื่น กลุ่มทุนกลุ่มนี้จึงมีความจำเป็นต้องใช้สื่อมาโดยตลอด เพื่อประกอบธุรกิจสื่อเป็นช่องทางที่จะบอกประชาชนว่าสินค้าของเราไม่ได้เหมือนสินค้าทั่วไป ด้วยเหตุนี้กลุ่มทุนผูกขาดกลุ่มนี้จึงไม่ใช่กลุ่มทุนที่เหมือนกลุ่มทุนผูกขาดที่มีมาในอดีต แต่เป็นกลุ่มทุนผูกขาดที่มีมิติใหม่ที่ดีผลพอสมควร เพราะว่าติดต่อกับสื่อมานาน จึงรู้จักวิธีการใช้สื่อ

ประการต่อมา คือการเมืองผูกขาด ขอขยายความนิดเดียว ว่าเห็นชัดว่าเป็นการเมืองซึ่งมีพรรคการเมืองเดียวที่ได้เสียงข้างมาก มีการคุ้มครองตามกฏหมายรัฐธรรมนูญให้กับตัวนายกรัฐมนตรีค่อนข้างสูง กลไกการตรวจสอบมีปัญหา

เมื่อเศรษฐกิจผูกขาดมาเจอกับการเมืองผูกขาด รัฐปัจจุบันซึ่งหนุนหลังโดยกลุ่มทุน จึงเป็นกลุ่มที่มีพลัง 2 อย่างบวกกันอย่างเข้มแข็ง

อย่างแรกที่เรียกว่าเป็นพลังแบบแข็ง ภาษาอังกฤษเรียกว่า Hard power เช่น พลังของอำนาจรัฐ พลังเม็ดเงินของกลุ่มทุน ซึ่งได้กำไรมหาศาล ถ้าไปเทียบกับธุรกิจที่อยู่ในกลุ่มใกล้ ๆ ที่ไล่ตามกันก็จะพบว่าห่างกันหลายช่วงตัวมาก เพราะฉะนั้นเป็นกลุ่มที่เม็ดเงินอุดมสมบูรณ์มหาศาล และมีอำนาจรัฐอยู่ด้วย ทั้งกระสุนในรูปของอำนาจรัฐและในรูปของเม็ดเงินคิดว่าเป็นอำนาจในรูปแบบหนึ่งซึ่งมีอิทธิพลต่อทุกคนในสังคม ไม่จำกัดเฉพาะสื่อที่ไปโน้มน้าวในเรื่องต่างๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่ององค์กรอิสระ หรือเรื่องอะไรต่างๆ

แต่ว่าในช่วงแรกของรัฐบาลยังมีอำนาจอีกแบบหนึ่งด้วย คืออำนาจแบบละเอียด อำนาจแบบแรกคืออำนาจเงิน ถือว่าเป็นอำนาจแบบหยาบ แต่อำนาจแบบละเอียด คือ Soft power อำนาจที่มาจากความชอบธรรม แล้วผูกโยงในลักษณะที่ว่าเป็นอำนาจที่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน 11 ล้านเสียง ซึ่งนายกรัฐมนตรีมักจะนำมาอ้างเสมอว่าตัวเองมีความชอบธรรมในการดำเนินนโยบายต่างๆ

Soft power ถูกเสริมด้วย Hard power เพราะเมื่อมีการจัดการจากประชาชน มีอำนาจหยาบที่สามารถใช้เงินได้ แล้วสามารถมีอำนาจรัฐควบคุมสื่อของรัฐได้ก็ใช้อำนาจรัฐนี้สร้างภาพลักษณ์ของตัวเองโดยการโฆษณาชวนเชื่อต่างๆ

อำนาจเหล่านี้กระทบต่อเสรีภาพของสื่ออย่างสำคัญมาก เพราะฉะนั้นไม่ว่าผู้นำรัฐบาลจะเคยพูดไว้ที่ไหน ยกตัวที่เคยพูดไว้ไม่นานนี้ ในงานรวมพลคนข่าว พูดคล้ายๆกับว่ารัฐบาลไม่เคยไปแทรกแซง และไม่คิดไปแทรกแซงสื่อเลย หลังจากนั้นไม่นานก็มีปรากฏการณ์ที่ว่าท่านผู้นำไม่พอใจหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษที่ตีพิมพ์ข่าวเรื่องภาคใต้ แล้วบอกว่าพวกนี้ทำลายชาติ

ตรงนี้คิดว่าพฤติกรรมกับโวหารของผู้นำนั้นมีช่องว่างอยู่พอสมควร แต่หากไปดูรูปธรรมการแทรกแซงสื่อยิ่งชัดเจน

เท่าที่ใช้ระยะเวลาสั้นๆนึกดูรูปแบบการแทรกแซงสื่อของรัฐบาลได้ 10 ข้อ คิดว่า 6 ข้อเป็นการแทรกแซงโดยอำนาจรัฐ อีกอย่างน้อย 4 ข้อเป็นการแทรกแซงโดยอำนาจทุน

แทรกแซงโดยอำนาจรัฐ 6 ข้อคือ 1.การใช้สื่อของรัฐในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ตัวเอง ตรงนี้ชัดเจนมาก รัฐบาลไหนๆ ก็ใช้กัน เพราะฉะนั้นเรื่องนี้จึงไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่รัฐบาลนี้อาจจะมีดีกรีของการที่ใช้สื่อของรัฐในการกีดกันคนที่มีความคิดเห็นแตกต่างจากรัฐออกไปให้มีโอกาสให้สัมผัสกับสื่อของรัฐน้อยกว่าที่ผ่านมา

นอกจากนี้แล้วยังมีแนวโน้มใหม่ซึ่งเป็นแนวโน้มที่น่าเป็นห่วงมาก คือ การที่รัฐใช้สื่อของรัฐนำเสนอบุคคลที่มีประวัติส่งเสริมลัทธิเผด็จการและเป็นกลุ่มขวาจัด ซึ่งตอนนี้ได้มีบทบาทสูงมากในสื่อของรัฐออกทีวีหลายช่อง เป็นแนวโน้มที่น่าเป็นห่วงกับเรื่องทางสังคม

2.การแทรกแซงสื่อวิทยุโทรทัศน์ที่รับสัมปทานจากรัฐ ตรงนี้ชัดเจนสื่อไหนทำท่าล้ำเส้นในสายตาของรัฐจะถูกถอดรายการ ถอดผู้จัดรายการ

3.แทรกแซงสื่อสิ่งพิมพ์โดยใช้กฏหมายโบราณที่มีอยู่ เช่น กฏหมายการพิมพ์

4.แทรกแซงสื่อต่างๆ โดยใช้กฏหมายอื่นๆ ซึ่งไม่ใช่กฏหมายเกี่ยวกับการพิมพ์ เช่น กฏหมายฟอกเงิน กฏหมายอื่นๆ ที่จะหาวิธีเล่นงานสื่อที่ไม่เห็นด้วยกับตนเอง เชื่อว่าเวลา 2-3 ปีคงไม่นานเกินไปที่จะลืม เรื่องที่ป.ป.ง.ได้เข้าไปตรวจสอบบุคคลในสื่อบางกลุ่ม

5.เกิดขึ้นพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเทคโนโลยีและระบบการกำกับดูแลสื่อ คือการใช้อำนาจรัฐในการขัดขวางการขยายตัว ขัดขวางการผลิต ขัดขวางการกระจายของสื่อซึ่งรัฐบาลเชื่อว่าไม่ได้เป็นมิตรกับตน

ตัวอย่างที่เห็นเกิดขึ้น คือ สื่อบางกลุ่มที่ต้องการตั้งสถานีโทรทัศน์ กลุ่มพวกนั้นจะถูกขัดขวาง เช่น

ต้องการขอสัญญาณดาวเทียมลิ้งต่อด้วย จะบอกว่าสัญญาณดาวเทียมให้ไม่ได้เพราะไม่ได้ขออนุญาติจากหน่วยงานรัฐ จะมีขั้นตอนมากมาย

หรือกรณีของวิทยุชุมชนก็เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่บล็อกภาคประชาชนที่เข้าไปใช้สื่อ กรณีของเคเบิ้ลทีวีในท้องถิ่นก็คงมีลักษณะเดียวกัน แม้ว่าในช่วงหลังรูปแบบของการไปบล็อกนั้นจะถูกคลี่คลายด้วยการเข้าไปสวมรอยแทน

มีตัวอย่างของสื่อสิ่งพิมพ์ที่ถูกบล็อกโรงพิมพ์  อย่างที่ปรากฏว่ามีสิ่งพิมพ์เล็กๆ ซึ่งวิพากวิจารณ์รัฐบาลมาทุกยุค ทุกสมัย แต่พอมาถึงสมัยนี้หาที่พิมพ์ไม่ได้ ต้องย้ายโรงพิมพ์ไปเรื่อยๆ กว่าจะลงตัวได้อย่างทุกวันนี้

 

6. แทรกแซงในส่วนของบุคลากร คือไม่ได้แทรกแซงระดับเจ้าของแล้ว แต่ลงไปเล่นงานในระดับบุคลากรเลย ที่เห็นชัดเจนที่สุด คือการไปเปลี่ยนบรรณาธิการของสื่อหลายแห่ง เช่น นสพ.คมชัดลึก นสพ.บางกองโพสต์ นั่นก็เป็นวิธีที่ใช้อำนาจรัฐ

นอกจากนี้ยังมีวิธีแทรกแซงอย่างน้อยอีก 3-4 วิธีที่ใช้อำนาจเงิน

7.การเข้าไปเป็นเจ้าของชัดเจนว่า มีอย่างน้อย 2 ช่อง ซึ่งบุคคลในคณะรัฐบาลมีเครือญาติที่เป็นเจ้าของๆสื่อทีวีและสื่อวิทยุที่เกี่ยวข้องอยู่ ตรงนี้เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นในช่วงรัฐบาลอื่นที่ผ่านมา

8.การช่วยเหลือธุรกิจที่พร้อมจะเป็นพันธมิตรกับรัฐบาลและกีดกันธุรกิจอื่นซึ่งไม่ยอมรับ เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเนื่องจากธุรกิจสื่อในประเทศไทยนั้นนอกจากจะทำธุรกิจสื่อโดยตัวเองแล้วยังมีลักษณะที่ไปทำธุรกิจอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับสื่อด้วย เช่น ห้างสรรพสินค้า ไปมีธุรกิจที่ใช้สถานที่ของราชการต่าง ๆ หรือไปขยายตัวใหญ่เกินไปในช่วงก่อนวิกฤต

เมื่อเกิดวิกฤตก็เกิดปัญหาทางการเงิน รัฐจึงใช้ทั้งอำนาจเงินและอำนาจรัฐเข้าไปช่วยเหลือเกื้อกูลกลุ่มสื่อที่พันธมิตรและกีดกันกลุ่มอื่นเพื่อกดดันให้เป็นพันธมิตรของตัวเอง

9.เป็นวิธีที่แปลกใหม่อีกเหมือนกัน คือใช้พันธมิตรของตนในซีกของธุรกิจหรือบางทีใช้ฝ่ายการเมืองเองในการฟ้องร้องต่อสื่อมวลชน ซึ่งปริมาณการฟ้องร้องในช่วงหลังนั้นเพิ่มสูงขึ้นจนเป็นที่น่าตกใจ กรณีหลังๆ ที่เกิดขึ้น เป็นการฟ้องร้องเอ็นจีโอด้านสื่อ อย่างคุณสุภิญญา  กลางณรงค์ก็ถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียไปทั้งหมด 400 ล้านบาท อย่างนี้เป็นต้น สมัยก่อนก็มีเรื่องการฟ้องร้องแต่รูปแบบพัฒนาไปไกลมากในช่วงหลังนี้

10.เป็นวิธีที่ทุกคนวิตกกังวลมากที่สุด คือการแทรกแซงผ่านเม็ดเงินโฆษณา ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นทั้งการใช้อำนาจของกลุ่มทุนที่เป็นเครือข่ายของตน ถ้าวัดเม็ดเงินโฆษณาแล้วจะเป็นรองธุรกิจอุปโภคบริโภคที่ใช้ในครัวเรือนเท่านั้น รองลงมาคือโทรศัพท์มือถือ ถ้าไปผนวกเข้ากับการโฆษณาของรัฐวิสาหกิจซึ่งอยู่ในบัญชาการของรัฐแล้ว ตรงนี้ถือเป็นกระสุนหรือเป็นอำนาจแบบหยาบที่สามารถมีอิทธิพลต่อสื่อได้มาก

ท่ามกลางสภาพแบบนี้เสรีภาพยังหาได้หรือไม่ คำตอบคือมีแนวโน้มด้านดีหลายด้าน ที่ทำให้เสรีภาพสื่ออาจจะเกิดขึ้นได้

เสรีภาพสื่อในสายตาผม น่าจะมีมิติอย่างน้อย 4 ด้าน 1.เสรีภาพจากการถูกคุกคามด้วยอำนาจรัฐ อำนาจการเมือง 2.เสรีภาพทางการเงินซึ่งพูดง่ายๆ ต่อให้สื่อไม่ถูกคุกคามด้วยอำนาจรัฐอำนาจเถื่อน แต่ว่าถ้าคุกคามทางการเงินก็เป็นเรื่องเดือดร้อนเหมือนกัน เพราะว่าสื่อในที่สุดก็คือธุรกิจ

3.เสรีภาพจากการที่ไม่ถูกปั่นข่าว ไปอคติกับคนบางคนที่พยายามทำการบ้านกับสื่อเป็นประจำ มีแนวโน้มในทางที่ดีที่เสรีภาพของสื่อจะเกิดขึ้นได้

เรื่องแรกเสรีภาพในการถูกคุกคามจากอำนาจรัฐ คิดว่าแม้ว่าในปัจจุบันมีแนวโน้มว่ารัฐบาลยังมีอำนาจ แม้จะเป็นอำนาจแบบหยาบจากการได้เสียงข้างมาก แต่ในระยะเวลาต่อไปหลังเลือกตั้งครั้งหน้าก็คงน่าจะได้เป็นแกนนำรัฐบาลอีกครั้งหนึ่ง อำนาจของกลุ่มทุนก็ยังมั่นคงอยู่ ยังไม่เห็นวี่แววที่กลุ่มทุนที่เม็ดเงินจะหร่อยเหรอลงไป กำไรก็เพิ่มขึ้นทุกที ถึงแม้ว่าจะชะลอตัวบ้าง แต่ถ้าธุรกิจใหม่ประสบความสำเร็จ อำนาจของกลุ่มทุนก็จะยิ่งหนาแน่นขึ้น

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับรัฐบาลในช่วงหลังคิดอำนาจละเอียดลดหายไปมาก ความชอบธรรมจากการได้ 11 ล้านเสียงถูกลบออกไปจากพฤติกรรมของคนในรัฐบาลเองที่ทำให้ความชอบธรรมนั้นหายไป

อย่างแรกคือลักษณะที่เคยเปิดกว้างต่อประชาชนกลุ่มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นม็อบคนจน ม็อบกลุ่มต่างๆนั้นหายไป เพิ่งจะกลับมาเปิดกว้างอีกครั้งในช่วงหลังที่มีอาจารย์ 100 กว่าคนเข้าชื่อยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี เพิ่งจะกลับมาทำท่าเปิดกว้าง แต่เชื่อว่าคนในสังคมอ่านได้ว่าโดยลักษณะของรัฐบาลที่มีอำนาจเศรษฐกิจอำนาจการเมืองผูกขาดเช่นนี้ ความเปิดกว้างมีน้อยอยู่แล้ว เพราะว่ามีความเชื่อมั่นในตัวเองสูงมาก

เรื่องที่ 2 ความชอบธรรมอีกแบบหนึ่งหายไป คือความเชื่อแบบมายาคติที่เชื่อว่ามีอะไรที่วิเศษที่รัฐบาลนี้เนรมิตรได้ ยกตัวอย่าง เช่น เสกกระดาษเป็นเงินได้ ทำสิ่งที่คนอื่นทำไม่ได้ รัฐบาลนี้สามารถทำได้ มีประกาศิต สั่งอะไรแล้วต้องเกิด ไม่เกิดย้ายได้ ปรับได้ เปลี่ยนได้ เกิดได้ สั่งการได้สำเร็จ

แต่คิดว่าอำนาจแบบวาจาศิต อำนาจแบบมายาคติตรงนี้ทุกวันนี้คนในสังคมเห็นแล้วว่าไม่ได้มีอยู่จริง ปัญหาหวัดนก ปัญหาภาคใต้ ปัญหาสารพัด โครงการต่างๆ ที่เกิดขึ้นแล้วล้มเหลว ฟ้องว่าไม่ได้มีวาจาศิต ไม่ได้มีอะไรวิเศษที่ดูเหมือนเศรษฐกิจฟื้นขึ้นมาได้ ทุกอย่างไปโผล่ที่หนี้สินของชาวบ้าน ไปโผล่ที่จุดโน้น จุดนี้ ไปโผล่ที่หนี้เสียของธนาคาร อะไรต่างๆ เหล่านี้ คนไทยเริ่มตาสว่างว่าอำนาจวาจาสิทธิตรงนี้ไม่ได้มีจริง ที่บอกว่าทำงานสำเร็จ จริงๆแล้วจะเห็นว่ามีโครงการล้มเหลวเกิดขึ้นมาก อย่างเช่น อีริคการ์ดซึ่งตอนนี้ยังแก้ปัญหากันไม่จบ กรุงเทพฯเมืองแฟชั่น และอีกสารพัดโครงการถ้าไปไล่ดูทีละโครงการจะเห็นว่าความล้มเหลวเกิดขึ้นเยอะมาก

คนจะเริ่มตาสว่าง รู้ว่าไม่ได้มีอะไรพิศดาร เป็นมนุษย์เหมือนกัน แต่สุดท้ายความชอบธรรมของอำนาจละเอียดจะหายไป สำคัญที่สุดก็คือคนไม่เชื่อว่ารัฐบาลจะซื่อสัตย์สุจริต ไม่เชื่อว่าไม่มีการแสวงหาผลประโยชน์ ไม่เชื่อว่าสิ่งที่ทำนั้นไม่มีวาระซ่อนเร้น ไม่เชื่อว่าไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน เหล่านี้เป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด

ในขณะที่ยังมีอำนาจเงิน อำนาจรัฐอยู่ แต่ว่าอำนาจความชอบธรรมทางการเมืองนั้นลดลงไปเรื่อยๆ นั้นสิ่งที่จะเกิดขึ้น คิดว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงในหลายๆ เรื่อง

สิ่งแรกคือ คงจะมีต้นทุนที่สูงขึ้นในการที่จะใช้อำนาจทางการเมืองและอำนาจเงิน เพราะความชอบธรรมลดลง การขอความร่วมมือจากคนทั่วไปจะขยากขึ้น วิธีขอความชอบธรรม ต้องซื้อ ต้องสั่ง

แต่ในขณะเดียวกัน การสั่งสื่อ สั่งอะไรแบบเดิมนั้นจะทำได้ยากขึ้นทุกทีๆ เพราะถึงที่สุดสื่อก็ต้องติดอยู่กับประชาชน หนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ขายดีฉบับหนึ่งเคยเขียนไว้ว่าสื่อจะไปด่ารัฐบาลที่ประชาชนรักไม่ได้ แต่ถ้าเกิดประชาชนไม่ได้รักรัฐบาล ประชาชนเห็นรัฐบาลมีปัญหาแล้วสื่อจะมีความสะดวกใจง่ายขึ้นที่จะวิพากวิจารณ์รัฐบาล ตรงนี้เชื่อว่าเป็นเรื่องปกติ

แต่ถ้ารอให้แนวโน้มเกิดขึ้นโดยไม่ต้องทำอะไร ให้สถานการณ์คลี่คลายไปเองคงจะเป็นวิธีที่สบายเกินไป ประชาชนและสื่อเองยังทำอะไรได้หลายอย่าง แนวโน้มหลายๆ อย่างที่สื่อ ประชาชน และองค์กรพัฒนาเอกชนพยายามจะลดการคุกคามจากอำนาจรัฐ เพิ่มเสรีภาพให้สื่อมีหลายอย่างที่น่าสนับสนุน และอยากเชิญชวนให้ทุกท่านสนับสนุน คือการที่ส่วนหนึ่งนำโดยสภาการหนังสือพิมพ์ที่พยายามรณรงค์ให้ปรับปรุงแก้ไขกฏหมายและวิธีการบังคับใช้กฏหมายที่ทำให้รัฐมีโอกาสเข้ามาละเมิดสิทธิเสรีภาพของสื่อได้ง่าย เช่น พ.ร.บ.การพิมพ์ที่ล้าสมัย และขัดรัฐธรรมนูญ หรือกฏหมายหมิ่นประมาทซึ่งมีทั้งส่วนที่เป็นกฏหมายแพ่งและกฏหมายอาญา อย่างกรณีของคุณสุภิญญา กลางณรงค์ จะเห็นชัดเจนว่ากฏหมายหมิ่นประมาทนั้นไม่ได้กระทบเฉพาะสื่อเท่านั้น แต่กระทบกับประชาชน กระทบกับองค์กรพัฒนาเอกชน กระทบทุกคนด้วย เพราะฉะนั้นสิ่งที่กลุ่มวิชาชีพสื่อมวลชนอย่างสภาการหนังสือพิมพ์ทำอยู่ เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับทุกคน และถ้าเสรีภาพของหนังสือพิมพ์ไม่มี เสรีภาพของคนในสังคมก็จะหมดไปด้วย

ขณะนี้จึงมีความพยายามที่ให้มีการทบทวนกฏหมายฟอกเงินเพื่อให้ใช้กฏหมายอย่างมีความรับผิดชอบ มีกลไกในการตรวจสอบมากขึ้น

ด้านที่ 2 คือ เสรีภาพทางการเงิน คิดว่าเป็นเรื่องที่อยู่ในใจของหลายๆคน แต่ดูแนวโน้มแล้วเชื่อว่ามีพัฒนาการในทางที่ดีขึ้นในช่วงปี สองปีที่ผ่านมา และจะดีขึ้นต่อไป สาเหตุ คือถึงแม้ว่าสื่อจะเป็นสื่อเชิงพาณิชย์จะเข้าสู่ตลาด จะเป็นสื่อที่ต้องพึ่งโฆษณาต้องตอบสนองผู้ถือหุ้นหรืออะไรก็แล้วแต่

หากดูแนวโน้มของตลาดโฆษณาที่เกิดขึ้น จะเห็นว่าตลาดโฆษณาได้ขยายตัวขึ้นพร้อมกับการที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้ไม่มีสินค้าบริการใหม่ๆซึ่งจำเป็นต้องพึ่งโฆษณา

ที่ชัดที่สุดคืออสังหาริมทรัพย์  หากไปเปิดหนังสือพิมพ์ในปัจจุบันจะเห็นว่าอสังหาริมทรัพย์เป็นโฆษณารายใหญ่ แล้วผู้ประกอบการในธุรกิจนี้ค่อนข้างกระจายตัวมากกว่า บริการแบบเดิมอย่างโทรศัพท์มือถือซึ่งมีบริษัทรายใหญ่เป็นเจ้าตลาดอยู่ 2-3 ราย

แต่หากเป็นอสังหาริมทรัพย์นั้นกระจายตัวเยอะกว่า สินค้าอุปโภค บริโภค กลับมาเยอะ ถ้าเศรษฐกิจโตขึ้น 1 % โฆษณาผ่านสื่อหนังสือพิมพ์จะโตขึ้น 2 % ผ่านสื่อโทรทัศน์โตขึ้น 3 % เรียกว่าเติบโตขึ้นเป็น 2-3 เท่าตามลำดับ ตรงนี้แปลว่า กลุ่มทุนที่เคยกระจุกตัวมากๆ มีงบโฆษณาเยอะ ๆ เช่น มือถือในปี 2544 มีเงินอยู่ 1,600 ล้านบาท บวกกับงบรัฐวิสาหกิจ กลายเป็น 4,200 ล้านบาท อิทธิพลต่อสื่อโดยทั่วไปจะลดลงไปด้วย

มีตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่ามีความหวังอยู่จริง เปิดรายงานการวิเคราะห์ของในตลาดหุ้นดูสื่อ 2 ฉบับ มีสื่อสิ่งพิมพ์และสื่ออื่นๆ ด้วย

สื่อ 2 กลุ่มซึ่งไม่ได้มีภาพพจน์ว่าเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดของรัฐบาล และเป็นสื่อที่ได้รับความเชื่อถือพอสมควร สื่อกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่เคยได้กำไรสุทธิในปี 2543 อยู่ที่ 112 ล้านบาท มาปีนี้คาดว่าจะได้ 180 ล้านบาท คือมีกำไรเยอะขึ้นพอสมควร เพราะว่ายอดขายทั้งรายได้โฆษณา รายได้สมาชิกสูงขึ้น จาก 1,600 ล้านบาท เป็น 3,200 ล้านบาท นี่เป็นตัวอย่างของกลุ่มที่หนึ่ง

บริษัทหลักทรัพย์ได้วิเคราะห์ไว้ว่า กลุ่มนี้ซึ่งอยู่ธุรกิจสิ่งพิมพ์อย่างเดียว และอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ด้วย ปี 2001 กำไรอยู่ที่ 118 ล้านบาท ปีนี้คาดว่าจะได้ 160 ล้านบาท ตรงนี้อาจจะเป็นการวิเคราะห์ก่อนที่ราคาค่ากระดาษ ราคาวัตถุดิบอะไรต่างๆ จะขึ้น

แต่ว่าโดยรวมแล้วเห็นว่าทิศทางเป็นบวก เพราะฉะนั้นถ้าเกิดหนังสือพิมพ์เหล่านี้ซึ่งมีจิตใจเป็นอิสระ มีประวัติการต่อสู้เพื่อประชาชนพอสมควร มีความพอใจกับการที่ให้ยอดขายอยู่ในระดับ 2,000-3,000 ล้านบาท แล้วมีกำไรสัก 150-200 ล้านบาท ธุรกิจไปได้ เพราะตลาดโฆษณาโตขึ้นเยอะ

แต่ถ้าผู้บริหารของสื่อเหล่านั้น ผู้ถือหุ้นของสื่อเหล่านั้นไม่ได้หยุด แต่มองสื่อในเชิงธุรกิจมากเกินไป ปัญหาเรื่องของเสรีภาพทางการเงินก็ยังหนีไม่พ้น

ข้อเสนอของผม คือสื่อควรกลับเข้าสู่พื้นฐานของวิชาชีพจริง ๆ ถึงแม้สื่อจะเป็นธุรกิจ สื่อก็ไม่ควรเป็นธุรกิจที่เหมือนกับธุรกิจทั่วไป เพราะฉะนั้นผู้บริหารสื่อ ผู้ถือหุ้นสื่อ ควรจะดำเนินธุรกิจอย่างระมัดระวัง

ผมมีข้อเสนอที่เป็นรูปธรรม 3-4 เรื่อง คือ 1.อย่าไปลงทุนในธุรกิจอื่นที่ตัวเองไม่มีความถนัด 2.อย่าไปทำธุรกิจที่เสี่ยงมากเกินไป หรืออย่าไปลงทุนเกินตัว เช่น ไปเทคโอเวอร์กิจการต่างประเทศ ไปขยายธุรกิจเกี่ยวกับไอที ไปขยายธุรกิจอื่นที่ตัวเองไม่ได้มีความเชี่ยวชาญ แล้วทำให้ขาดทุนหรือว่ามีปัญหาการเงิน เพราะหากมีปัญหาการเงินโอกาสที่จะขาดเสรีภาพด้านการเงินจะเกิดขึ้น

3.อย่าไปทำธุรกิจที่ต้องอาศัยอำนาจรัฐ เพราะถ้าไม่ต้องอาศัยอำนาจรัฐ จะไม่มีจุดอ่อนที่รัฐจะเข้ามาเบียดบังได้

4.ถ้าเป็นสื่อที่ยังไม่ได้เข้าตลาดหุ้น อย่าไปเข้าตลาดหุ้น เพราะถ้าเข้าตลาดหุ้นเมื่อไหร่ มีความเป็นไปไม่ได้ที่จะหลีกเลี่ยงไม่ตอบสนองกับผู้ถือหุ้น บริษัทโดยทั่วไปที่เจอมาไม่รู้กี่แห่ง มักจะบอกว่าเมื่ออยู่ในตลาดหุ้นจะมีแรงกดดันจากสื่อมวลชนที่มาสัมภาษณ์ว่าเมื่อไหร่บริษัทจะโต

กำไรปีนี้จะเพิ่มกี่เปอร์เซ็นต์ มีโครงการอะไรใหม่ๆ บ้าง พวกนี้เรียกว่าเป็นของแสลงสำหรับสื่อที่จะทำหน้าที่อย่างมีจริยธรรมได้

จริงๆ คนที่เข้าสู่ตลาดหุ้นแล้วคงมีทางเลือกน้อย แต่ว่าคงต้องพยายามกลับสู่พื้นฐานให้มากที่สุดเพราะฉะนั้นเสรีภาพทางด้านการเงินจึงเชื่อว่ายังมี

เสรีภาพจากการถูกปั่นข่าว คิดว่าช่วงที่ผ่านมาในระยะต้นๆจะเห็นว่าความเชื่อหรือมายาคติในเรื่องของรัฐบาลนี้มีอะไรพิเศษ มีกลไก มีมุขอะไรแปลก ๆ ออกมาเยอะ

ล่าสุดมีนโยบายแปลงทรัพย์สินให้เป็นทุน ซึ่งไม่รู้คืออะไร ทำอะไร เสกของที่ไม่มีค่าเป็นของมีค่าได้  อะไรต่างๆ ดูจะยังมีของอะไรแปลกๆ ใหม่ อยู่บ้าง แต่แนวโน้มของการถูกปั่นข่าวถูกลดลงไปเยอะ  สาเหตุสำคัญก็เพราะว่าใกล้เลือกตั้งแล้ว คะแนนเสียงอยู่ในช่วงขาลงแล้ว พลิกนโยบายที่ซับซ้อนไม่ทันแล้ว เพราะฉะนั้นนโยบายในช่วงหลังนี้สุกเอาเผากินมาก แจกโค แจกกระบือ ซึ่งคิดว่าเป็นวิธีที่ไม่มีความแยบยล แล้วสื่อสามารถติดตามได้ทัน

แต่ในระยะยาวเมื่อรัฐบาลมีเสถียรภาพ กลับเข้ามาอีกครั้งจากเลือกตั้งครั้งใหม่ นโนบายใหม่ ๆ วิธีการปั่นแบบใหม่ ๆจะกลับมาอีกเช่นเดิม

เพราะฉะนั้นในระยะยาวจริงๆ จะต้องทำ 2 อย่าง ประการแรกคือ ทำอย่างไรให้ประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจสูงขึ้น สื่อต้องให้ความรู้คนอ่าน ในระยะยาวคงมองในแง่ดีได้ ภายในอีก 10-20 ปี คิดว่าประชาชนไทยส่วนใหญ่ การศึกษาจบชั้นมัธยมขึ้นไป เป็นมิติที่มีความหวังได้

แต่อีกส่วนหนึ่งคงเป็นสิ่งที่สื่อมวลชนและสังคมต้องพยายามช่วยกันทำ คือ ทำอย่างไรจะช่วยยกระดับการทำข่าว การทำงานด้านสื่อสารมวลชนให้เป็นงานที่ใช้ความรู้ งานที่ใช้ทักษะสูงขึ้น เพราะว่าโลกซับซ้อนขึ้น

รัฐบาลในช่วงที่ไม่ยุ่งเหยิงจนเกินไปก็ซับซ้อนมาก เข้าใจยาก ถึงแม้ว่าช่วงนี้จะปล่อยไก่ออกมาเยอะ แต่ว่าโดยระยะยาวแล้วแนวโน้มที่จะต้องทำข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนจะเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ของพวกนี้ในระบบปัจจุบันเป็นสิ่งที่ต้นทุนสูง กว่าจะได้ข่าวๆ หนึ่งยากมาก ลงทุนเยอะมาก เผลอ ๆ ได้ข่าวมาแล้วแทนที่จะถือว่า เป็นผลดีกับกิจการ อาจจะเป็นผลเสียด้วย หากข่าวสืบสวนสอบสวนนั้นไปขุดคอร์รัปชั่น ไปขุดทุจริตใคร ไปจับได้ไล่ทันใครแล้วทำให้เกิดผู้มีอำนาจหรือกลุ่มทุนใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจไม่พอใจ

แน่นอนระยะยาวจริงๆ สื่อที่ทำข่าวสืบสวนสอบสวนมีผลงานมีเกียรติประวัติที่ดี คนจะเชื่อถือขึ้น แต่ผลตอบแทนจะมาช้ากว่าผลเสียที่อาจจะเกิดจากการที่ถูกใครไม่พอใจ เพราะฉะนั้นสิ่งที่สังคมต้องทำก็คือต้องมีการคิดกลไกอะไรบางอย่างที่สังคมเข้าไปช่วยให้สื่อสามารถทำหน้าที่ ทำข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนได้

ยกตัวอย่าง หากกรมศุลกากร หรือเจ้าหน้าที่ปปง.ทำงานเรื่องฟอกเงินมีส่วนแบ่งผลประโยชน์จากการทำหน้าที่ของตัวเอง เช่น ศุลกากรจับของเถื่อนได้เปอร์เซ็นต์ หรือการจับกุมเรื่องฟอกเงินมีแบ่งสัดส่วนกันว่า เลขาธิการสำนักฟอกเงินได้กี่เปอร์เซ็นต์ของเงินที่ยึดได้ ทำไมสังคมจึงจะไม่ให้โอกาส สื่อที่ทำงานสืบสวนสอบสวนจนนำไปสู่การแฉโพยการทุจริต คอร์รัปชั่นซึ่งเป็นประโยชน์กับสังคม ทำไมไม่มีโอกาสตรงนั้นบ้าง

วิธีการที่เสนอนั้นไม่ได้หมายความว่าให้สื่อไปกินเปอร์เซ็นต์กับเงินสินบนที่นักการเมืองคอร์รัปชั่นไป แต่ควรจะมีกลไกอะไรบางอย่างของสังคม มีมูลนิธิ มีกองทุนอะไรที่ให้ผลตอบแทนนอกจากผลตอบแทนด้านชื่อเสียงแล้ว ผลตอบแทนเรื่องการเงินที่เป็นเนื้อเป็นหนังพอสมควร ให้คุ้มค่าเสี่ยงของสื่อที่ลงทุนไปทำข่าวที่มีความเสี่ยงสูงๆ ตรงนี้คิดว่าเป็นสิ่งที่สังคมต้องช่วยสื่อด้วย

สุดท้ายเรื่องของเสรีภาพจากการมีอคติหรือไม่มีอคติ แนวโน้มเรื่องนี้อย่างน้อยเป็นมายาคติของรัฐบาล คำว่ารัฐบาลมีอภินิหาร รัฐบาลวิเศษ รัฐบาลมีวาจาศักดิ์สิทธิได้หายไปแล้ว

ฉันทาคติของสื่อที่มีกับกลุ่มการเมืองบางกลุ่ม หรือกลุ่มการเมืองบางกลุ่มที่พยายามต่อสายกับคอลัมน์นิสต์บางคนในสื่อบางฉบับจะเป็นสิ่งที่ทำได้ยากขึ้น เพราะสังคมเริ่มเห็นแล้วว่ารัฐบาลถึงแม้ว่าจะมี Hard power  แต่ขาด Soft power คือความชอบธรรม อนาคตในระยะยาวคงจะดีขึ้น

และในอนาคตระยะยาวจริงๆ คิดว่าจะดีขึ้น มีการวิจัยที่เป็นรูปธรรมที่ชี้ให้เห็นว่าในอดีตสื่ออย่างในประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นสื่อที่มีอคติอยู่เยอะ ตอนแรกๆ นั้นสหรัฐอเมริกาถือเป็นสื่อสมัยแรกๆ ที่มีความชัดเจน คือ พรรคลีพลับลีกัน หรือเดโมแครต เป็นคนให้ทุนมาทำสื่อ แล้วสนองอุดมการของพรรคการเมืองเหล่านั้น มาเชียร์นักการเมือง

แต่ต่อมาเมื่อตลาดหนังสือพิมพ์ของประเทศโตขึ้น ประชาชนอ่านหนังสือมากขึ้น ต้นทุนการผลิต ต้นทุนการวางจำหน่ายหนังสือพิมพ์ลดลง ก็เป็นธรรมชาติของตลาดที่ต้องเปลี่ยนจากการนำเสนอข่าวแบบอคติไปสู่ข่าวสารที่มีการลงทุนในการเก็บข้อมูลที่เป็นระบบมากขึ้น แล้วคุ้มค่ามากขึ้นที่จะทำอย่างนั้น เพราะฉะนั้นมุมหนึ่งแนวโน้มระยะยาวจะดีขึ้น

อย่างไรก็ตามบทบาทที่จำเป็นของสมาคมวิชาชีพอย่างสภาการหนังสือพิมพ์หรือว่าประชาชนต้องที่จะต้องช่วยกันทำ เพื่อช่วยให้การทำงานของสื่อปราศจากอคติจากฝ่ายการเมือง อันดับแรกคือควรมีวิธีการกำหนดกติกา อาจจะเป็นข้อกำหนดจริยธรรมอะไรบางอย่าง ในการที่ให้คนที่ทำงานด้านสื่อติดต่อกับฝ่ายการเมือง เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นจากการที่ถูกฝ่ายการเมือง Dominate ซึ่งคิดว่าสภาวิชาชีพมีบทบาทที่ดีมาก

สภาวิชาชีพมีบทบาทในการที่จะยกฐานะของสื่อให้เป็นที่เชื่อถือของสังคมและเป็นที่ยำเกรงของฝ่ายการเมือง  สภาพการณ์จะกลับตาลปัตรกัน แทนที่สื่อจะไปง้อกับการเมือง การเมืองจะต้องมาง้อสื่อ แล้วสื่อจะมีอำนาจต่อรองกับทุกฝ่ายได้เยอะขึ้น

วันหนึ่งประเทศไทยจะมีโอกาสเห็นนายกรัฐมนตรีของไทยไม่พอใจสื่อบางเรื่อง นายกรัฐมนตรีจะใช้กลไกวิชาชีพ อย่างสภาการหนังสือพิมพ์ อย่างที่นายกรัฐมนตรีของอังกฤษ คือนายโทนี่แบร์เคยไปร้องเรียนต่อสภาการหนังสือพิมพ์ของอังกฤษว่าเสนอข่าวต่อตัวเองอย่างไม่เป็นธรรม

อยากจะเห็นวันหนึ่ง นายกรัฐมนตรีของประเทศไทยซึ่งมีอำนาจรัฐ มีกระสุนดินดำอยู่ในมือมากมาย ต้องไปหาองค์กรด้านสื่อ หรือองค์กรประชาชน แล้วบอกว่าช่วยแก้ปัญหาให้ผมด้วย

สมชาย   แสวงการ

จริงๆ แล้วการเมืองการปกครองเป็นอย่างไร สื่อสารบ้านเมืองก็เป็นอย่างนั้น ในยุคเผด็จการสื่อก็มีเสรีภาพน้อยหน่อย ในยุคประชาธิปไตยเสรีภาพก็มีมาก แต่ก็ต้องยอมรับว่าในห้วงเวลานี้จริงๆ แล้วเป็นห้วงที่เศรษฐกิจและการเมืองเรียกได้ว่าเข้มแข็งที่สุดยุคหนึ่ง รัฐบาลที่มาจากไทยรักไทยต้องยอมรับว่าเข้มแข็งทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง

ถ้าดูให้ดี ความต้องการมี 5 กลุ่มในมือของผู้บริหาร ที่ต้องการให้เข้มแข็งไม่ว่าจะเป็นเรื่องเฉพาะกลุ่มโทรคมนาคมที่อยู่ในมือ  กลุ่มขนส่ง กลุ่มพลังงาน กลุ่มสถาบันการเงิน และด้านสาธารณสุข ที่ดินต่างๆ และที่สำคัญที่สุดคือมีสื่อสารมวลชนอยู่ในมือ

เพราะฉะนั้นความแข็งแรงของการเมืองบวกกับเศรษฐกิจผูกขาดจึงเข้าไปถือหุ้นในสถานีโทรทัศน์ช่องหนึ่ง นอกเหนือจากที่สามารถใช้อำนาจของรัฐบาลในการควบคุมสถานีโทรทัศน์ ไม่ว่าจะเป็นช่อง 9

อสมท. ช่อง 3  ช่อง 5 ซึ่งผ่านกองทัพบก ช่อง 7 ซึ่งผ่านมาทางช่อง 5 และช่อง 11 ซึ่งผ่านกรมประชาสัมพันธ์โดยตรง ทั้งหมดคือสถานีโทรทัศน์หลักที่รัฐบาลไหนก็ตาม ถ้ามีความเข้มแข็งในการควบคุมก็สามารถควบคุมสื่อได้

สถานีวิทยุกว่า 500  แห่งทั่วประเทศก็ผ่านกระบวนการในการจัดการ เพราะว่าสถานีวิทยุก็อยู่ในมือของหน่วยงานของรัฐ

รัฐเป็นเจ้าของสัมปทานทั้งสิ้น จะเหลือแต่สื่อหนังสือพิมพ์ที่สามารถทำหน้าที่โดยอิสระมากที่สุดกลุ่มหนึ่ง

หากสังเกตุให้ดีในรัฐบาลในปัจจุบันจะมีการรวบรวมของกลุ่มตระกูลที่เข้มแข็งที่สุดอีกเหมือนกันประมาณ 5 ตระกูล ในตระกูลเหล่านั้นมีความเกี่ยวพันกับสื่อ ไม่ขอเอ๋ยนามสกุล แต่จะเกี่ยวพันกับสถานีโทรทัศน์อย่างน้อยก็มีโทรทัศน์ 2 ช่องอยู่ในมือ

เกี่ยวพันกับหนังสือพิมพ์อย่างน้อย 1-2 ฉบับ หรืออาจจะหลายฉบับ เพราะว่าบังเอิญได้ทราบเรื่องกรณีหนังสือพิมพ์อันหนึ่งที่เป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาล ช่วงที่ผ่านมาได้มีการสั่งการให้หลายตระกูลที่มีความรู้เรื่องสื่อเข้าไปประเมินการซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์และซื้อสำเร็จในระดับหนึ่ง จนวันนี้สื่อแห่งนั้นก็เริ่มที่จะเบาลงเพราะว่าต้องรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้นด้วยประการหนึ่ง

นอกจากนั้นยังมีกลุ่มทุนที่ดูแลเครือข่ายโทรคมนาคม นอกจากวิทยุโทรทัศน์จะมีระบบสาย ระบบดาวเทียมอะไรต่าง ๆ ซึ่งสามารถเชื่อมโยงระบบสายทั้งประเทศด้วยเหมือนกัน เพราะฉะนั้นด้านโทรคมนาคมก็เข้มแข็ง ด้านสถานีวิทยุโทรทัศน์ก็เข้มแข็ง ในกลุ่มเหล่านี้ก็จะสามารถควบคุมได้หมด ถือเป็นความเข้มแข็ง แต่ที่สุดนอกเหนือจากการที่จะต้องสั่งการผ่านอำนาจรัฐตามปกติ

นอกเหนือจากการสั่ง หรือไม่ได้สั่งโดยตรง รัฐบาลทุกครั้งในแต่ละสมัยก็ยังมีสิ่งที่เรียกว่ามีความสามารถที่จะสั่งแบบไม่เป็นทางการ จากประสบการณ์ที่อยู่ในสื่อ เราจะรู้สึกดูถูกมากหากมีหนังสือสั่งการมามาจากรัฐบาล เราจะรู้สึกว่าว่าทำไมรัฐบาลไม่ฉลาดเลย ในสภาพความเป็นจริงจึงไม่มีสื่อใดที่เคยได้รับหนังสือสั่งการ จะมีเจ้าหน้าที่ที่เป็นเลขาฯส่วนตัวโทรศัพท์หรือส่งสัญญาณมาทุกครั้งในกรณีที่เกิดข่าวที่ไม่พึงประสงค์ออกไป

ทั้งหมดที่กล่าวมา คือการสะท้อนให้เห็นวิธีการควบคุมสื่อโดยเฉพาะวิทยุโทรทัศน์นั้นสามารถทำได้ง่าย ส่วนที่คืบคลานเข้าไปสื่อหนังสือพิมพ์ คือ โฆษณาก็มีผลต่อความอยู่รอดของสื่อทุกๆ ประการ

มีหลายๆ ครั้ง จากประสบการณ์ส่วนตัวที่เคยทำงานด้านสถานีวิทยุแห่งหนึ่งจะมีปัญหาในเรื่องการโฆษณาสินค้าประเภทผงชูรส แต่ก็ได้รับการบีบบังคับจากเจ้าของสัญญาที่ให้เรามาเช่าช่วงทางสถานีวิทยุว่าเขาจะต้องยกเลิกโฆษณาทั้งหมดของโทรทัศน์ นั่นแสดงว่ากลุ่มเหล่านี้ก็ยังมีอิทธิพลโดยเฉพาะเรื่องของการใช้โฆษณา

การยกเลิกทำให้เราต้องปิดเพราะเป็นผลต่อการอยู่รอด เราเองก็ตระหนักเหมือนกันว่า 1.การทำหน้าที่สื่อสารข้อมูลที่ถูกต้องกับเรื่องของความอยู่รอดต้องไปด้วยกัน คงไม่ใช่บอกว่าเราสู้หัวชนฝาจนตายไปก่อน มิเช่นนั้นจะมีโอกาสยืนพูดอยู่จนถึงทุกวันนี้

สถานีวิทยุของผมอาจจะจบไปเมื่อ 5 ปีที่แล้วเมื่อมีการสั่งยกเลิกถ้ายังดันทุรังอยู่ ก็ประเมินกันว่าเราควรจะถอยลงก้าวหนึ่งเพื่อที่จะเดินไปอีกหลายก้าว

วันนี้ถึงเวลาที่ต้องรับทราบนอกเหนือจากความเข้มแข็งของเศรษฐกิจกับการเมืองที่รวมกันอย่างเข้มแข็งของรัฐบาลชุดนี้แล้ว ภาวะตลาดเงินและตลาดทุนเข้ามามีส่วนสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงในธุรกิจสื่อ ต้องยอมรับว่าส่วนของสื่อสารสามารถทำหน้าที่แทนประชาชนหรือไม่นั้น ต้องพูดกันอีกเรื่องหนึ่ง

ขณะที่กำลังรอคณะกรรมการกสช.มา 7 ปีแล้ว และทำท่าจะเร่งกันในโค้งสุดท้ายนี้ให้เสร็จภายในสิ้นปีนี้แล้วนำกลับเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฏรในต้นปีหน้า แทบจะเป็นการบล็อกโหวตไว้เรียบร้อยแล้ว

7 คนที่จะเข้ามาเป็นกรรมการแทบจะอ่านขาดแล้วว่าเป็นใคร ตัวแทนของกลุ่มไหน จะเป็นคนกำหนดกติกาตามรัฐธรรมนูญใหม่ 2540 ในเรื่องของการจัดสรรความถี่ ในเรื่องของการใช้วิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์

เพราะฉะนั้นวิธีการของอำนาจรัฐบวกกับอำนาจเศรษฐกิจ คือการเข้าไปยึดกุมองค์กรอิสระทั้งหมด เพราะฉะนั้นกสช.จึงเป็น ตัวหนึ่งที่จะถูกยึดกุมอีกครั้ง หลังจากที่ไม่กล้าก้าวล่วงไปที่องค์กรอิสระหลายองค์กรที่ได้เข้าไปยึดกุมแล้ว

เคยได้ยินกับหูตัวเองจากผู้นำท่านหนึ่ง ซึ่งเคยบรรยายในห้องสอนว่าสภาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมีความวุ่นวายเพราะว่าจะต้องตรวจสอบเรื่องหลักๆ และอาจจะวุ่นวายต่อการทำงานการเมืองของรัฐบาล เพราะฉะนั้นทางที่จะไม่วุ่นวายก็คือการทำให้ยุ่งกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง

เพราะฉะนั้นสภาที่ปรึกษาจึงยุ่ง 2-3 เรื่อง เลยไม่ได้ไปยุ่งกับรัฐบาล ตรงนี้ก็แบบเดียวกัน ก็ต้องทำให้พวกเรายุ่งเข้าไว้จะได้ไม่ต้องมาสนใจว่ารัฐบาลจะทำอะไร

ประเด็นเรื่องการเงินกับทุนเข้ามาทำให้เกิดอะไรขึ้นในช่วงที่มีการรอกสช.เกิด วันนี้วิทยุกระจายเสียงต้องรอกติกาใหม่ว่าส่วนหนึ่งต้องกันไว้เป็นของเอกชน ส่วนหนึ่งต้องกันไว้เป็นเรื่องของข่าวสาร ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของบันเทิง

และจะต้องอยู่ในมือของหน่วยทหารเท่าไหร่ และภาคราชการเท่าไหร่ ขณะนี้ยังหาข้อยุติไม่ได้ แต่ความเป็นจริงอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้น คือมีเรื่องของทุนเข้ามาเกี่ยวข้อง ราคาสถานีวิทยุที่เปลี่ยนแปลงไปมาก เพราะว่าธุรกิจสื่อบางกลุ่มเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ พูดกันตรงๆ ว่าเป็นการปั่นหุ้น ราคาค่าเช่าต่างๆ ก็แพงมาก บวกกับความสับสนที่เกิดขึ้นอีก

หลังจากที่ภาคประชาชนจัดตั้งสถานีวิทยุชุมชนของตนเองขึ้นมาเพื่อเรียนรู้รองรับกับกติกาใหม่ที่จะเกิดขึ้น วันนี้กรมประชาสัมพันธ์มีหน้าที่รับมอบอำนาจจากคณะรัฐมนตรีเข้าไปจัดระเบียบ ได้สร้างความสับสนซ้ำสอง เสมือนทำหน้าที่อนุญาติความถี่แทนกสช.ไปแล้ว โดยบอกว่าจะไปจัดระเบียบ เปิดให้ทุกคนเข้ามาจดทะเบียนสถานีวิทยุชุมชน

สิ่งที่เกิดขึ้นในฐานะสมาคมที่ดูอยู่ คือ 1.ภาคประชาชนที่อุตส่าห์เรียนรู้เรื่องวิทยุชุมชนโดยไม่มีการโฆษณาจะถูกอีกนับพันคลื่น นับพันกลุ่ม ซึ่งอาจจะเป็นกลุ่มการเมือง เพราะเป็นช่วงที่ใกล้เลือกตั้ง มาจากธุรกิจนักจัดรายการอิสระ หรือแม้กระทั่งกลุ่มนักธุรกิจบันเทิงซึ่งตอนนี้มีอยู่ทุกจังหวัดแล้ว ที่ลงไปในพื้นที่เพื่อจัดจ้างให้คนเอาเครื่องส่งไปจัดตั้งที่บ้านแล้วเปิดเพลงของค่ายหนึ่งทั้งวัน เป็นวิทยุชุมชนเหมือนกัน เป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเกือบทุกจังหวัดไม่ต้องสนใจโฆษณา เปิดเพลงค่ายเดียว ค่ายใดค่ายหนึ่งก็พอแล้ว

เมื่อกรมประชาสัมพันธ์เปิดให้มีการจดทะเบียนวิทยุชุมชน ความสับสนอลหม่านก็เกิดขึ้น ประเมินว่ามีตั้งแต่ 1.การเอื้อกันหลายอย่าง ง่ายๆคือเครื่องซึ่งอาจจะมีเจ้าหน้าที่บางคนไปรู้เห็นในการผลิต หรือนำเข้าสามารถนำมาขายในราคาไม่ต่ำกว่า 1,000-2,000 เครื่อง รวมเครื่องและเสา ราคาอยู่ที่ประมาณ 200,000 บาทต่อเครื่อง ต่อชุด เพราะฉะนั้นจะมีเงินหมุนเวียนอีกหลายพันล้านในกลุ่มนี้

2.ความถี่ที่ถูกจับจองโดยบริษัทค่ายเทป ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของอบต. อบจ.ที่เข้าไปจับจองกันจดทะเบียนกัน ตอนนี้ก็ยังสับสนอลหม่าน

นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในห้วงเวลานี้ ประกอบกับผู้ประกอบการสถานีวิทยุหลักโดยเฉพาะเครือข่ายใหญ่ๆ ก็เร่งเข้าไปจับจองคลื่นความถี่ตามหัวเมืองในกรุงเทพฯเหมือนกัน ตอนนี้จึงไม่รู้ว่าอะไรคืออะไร ส่งผลให้ราคาที่ควรจะเป็นในการทำธุรกิจพอเป็นไปได้ ไม่น่าจะเป็นไปได้แต่ก็ต้องเอาไว้เพราะว่าชาวบ้านต้องการไปจับจองแผงไว้ก่อน หรือพูดให้เข้าใจง่ายๆ คือบุกป่าไว้ก่อนเผื่อไม่ได้ เกิดอาการเช่นนี้ขึ้นในหลายพื้นที่

ตัวสมาคมก็ขอให้ทางรัฐบาลทบทวนในสิ่งที่กำลังทำอยู่  นี่คือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น

แต่อย่างไรก็ตาม หลังจากกสช.เกิด หลังจากมีการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงในสิ่งที่เรายังสามารถทำได้ในหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องความถี่หากเราใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย หรือพวกเราที่ยังต้องถือว่าแข็งขืนต่อการควบคุมของนักการเมือง ผู้ควบคุมผูกขาดเศรษฐกิจก็ตาม ก็ยังต้องเป็นผู้ผลิตรายการดีๆ ผลิตข่าวสารดีๆ ยังมีช่องโดยเฉพาะวิทยุกับโทรทัศน์สามารถใช้เทคโนโลยีตัวอื่นๆ ได้โดยเฉพาะเรื่องของการที่จะต้องเอาดิจิตอลเข้ามาช่วย ตรงนี้เป็นช่องทางแห่งแสงสว่างเหมือนกันในการผลิตสื่อ ตามเครื่องมืออื่นๆ

นอกจากนั้น สื่อหนังสือพิมพ์ยังเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่สามารถยืนหยัดในอุดมการณ์ การต่อสู้ หรือลดช่องว่าง การสื่อสารข่าวสารของพี่น้องประชาชนได้

ยุคนี้เสรีภาพสื่อไทยรัฐจะผูกขาดอย่างไร จะมีความเข้มแข็งอย่างไรก็ยังมีช่อง และมีทิศทางที่จะสามารถทำให้เกิดความสมดุลกันได้

นายพงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร

ขอทักท้วง การเรียกตำแหน่งทางวิชาการ ต้องเรียกว่าศาสตราจารย์ ไม่ใช่ศาสดาจารย์ การที่เรียกผิดทำให้อาจารย์หรือว่านักวิชาการในมหาวิทยาลัยสำคัญตัวเองผิดว่าเป็นผู้ที่รู้แจ้งเห็นจริงในทุกๆ เรื่อง แล้วเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง จะคิดอะไร จะพูดอะไรในลักษณะที่เอาตัวเองเป็นตัวชี้วัด

บางครั้งก็พูดจาโหดร้าย ไม่เข้าใจผู้อื่น แล้วเรียกร้องให้คนอื่นทำเพียงอย่างเดียว โดยที่ตัวเองไม่ค่อยได้ทำอะไร หรือว่าทำ แต่ก็ทำอยู่บนหอคอย ทำในแนวความคิดของตัวเอง

ถ้าเป็นศาสตราจารย์ หมายถึงผู้ที่มีความรู้ที่จะอวยความรู้นั้น เผยแพร่ความรู้นั้น แลกเปลี่ยนความเห็นซึ่งกันและกัน ไปที่ไหนเห็นเรียกผิดเช่นนี้ทุกครั้งไป ไม่ว่าจะเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ หรือรองศาสตราจารย์ หรือเป็นศาสตราจารย์จริงๆ ก็ตาม เป็นศาสดาจารย์กันไปหมด

ความแตกต่างระหว่างความเป็นครู เป็นอาจารย์ก็หมดไป ฉะนั้นจึงมีความแตกต่างในการที่จะพูดในเรื่องนี้ เกี่ยวกับเสรีภาพของสื่อมวลชน ระหว่างอาจารย์ที่ออกไปปฏิบัติการไปทำหน้าอยู่ข้างนอก จึงมีความต่างจากอาจารย์สมเกียรติ(ดร.สมเกียรติ  ตั้งกิจวาณิชย์) อาจารย์อุบลรัตน์ ค่อนข้างจะเป็นรองศาสดาจารย์ บังเอิญท่านอาจจะเว้นว่างจากประเทศไทยไปนานก็เลยไม่รู้ว่าบริบทของสังคมไทยนั้นเป็นอย่างไร ฉะนั้นสิ่งที่ท่านพูดทั้งหลาย ทั้งปวงนั้น คือสิ่งที่ท่านพูดในมหาวิทยาลัย แล้วมองในมุมของมหาวิทยาลัย มองในมุมของนักวิชาการ

จึงขอเรียกร้อง และต่อว่า บางครั้งคำพูดที่พูดออกมานั้นได้ก้าวล่วงเข้าไปในกิจกรรมหรือในการดำเนินงานของคนอื่นซึ่งตัวท่านเองไม่รู้เรื่อง แต่ถือตำราวิชาการออกมาพูด

ผมจำเป็นต้องพูดเรื่องนี้เพราะรู้สึกว่าอาจารย์อุบลรัตน์จะโหดร้ายกับผม ทั้งๆ ที่ผมก็ทำงานกับท่านมานาน ตรงที่ท่านพูดถึงอำนาจของรัฐหรืออำนาจของใครก็ตามที่เที่ยวปลดโยกย้ายตำแหน่งบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ฉบับนั้น ฉบับนี้ ท่านพูดมาเป็นสูตรสำเร็จว่า ถ้าอย่างนี้ ตัดหัวขบวนไปแล้วก็ต้องเป็นอย่างนี้

ท่านไม่รู้ว่าข้างในกองบรรณาธิการเขาทำงานกันอย่างไร ทั้งๆที่เขาก็ทำงานกันมานาน ผมทำงานมาใกล้ๆ  45 ปี แล้วผมไม่รู้สึกท้อถอยอะไรด้วยซ้ำไป

ผมผ่านเรื่องของเสรีภาพมาหลายยุค จะขาดแคลน จะต่อสู้ หรือจะไม่ต่อสู้ หรืออะไรก็แล้วแต่ ทั้งในบริบทของสังคมผูกขาดหรือไม่ผูกขาดมาตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์   ธนะรัตน์มาจนถึงปัจจุบัน ผมก็ยังคงดำเนินการงานของผมอยู่ ประกอบวิชาชีพของผมอยู่ จะเป็นธุรกิจหรือไม่ก็ตาม แต่ก็เป็นวิชาชีพ เหมือนกับที่อาจารย์สอนหนังสืออยู่ในมหาวิทยาลัย

อยากจะให้พวกเราทั้งหลาย เวลาจะพูดจาอะไรกันที่เป็นเชิงวิชาการอย่าโดดร่มลงมา เพราะว่าพูดกันไปแล้วไม่ค่อยรู้เรื่อง ต่างฝ่ายต่างพูดเรื่องของตัวเอง ทั้งๆ เป็นบริบทของส่วนรวม เรื่องของสาธารณะ แต่มีการหยิบประเด็นของตัวเองมาเป็นตัวตั้ง มาเป็นตัวชี้วัดตลอดเวลา ไม่เข้าใจว่าคนอื่นเขามีบทบาท เขาก็มีชีวิต มีการทำงาน มีการต่อสู้อะไรต่างๆ หลายอย่างเหมือนกัน มีบริบทของความรู้ ซึ่งก็ไม่ได้แตกต่างกัน ประสบการณ์อาจจะมีมากกว่าด้วยซ้ำไปในงานซึ่งตัวเองได้ก้าวล่วงไปวิพากวิจารณ์เขา

ฉะนั้นสิ่งที่ต้องพูดถึงในประเด็นเรื่องของการโยกย้ายก็ดี การเปลี่ยนตำแหน่งก็ดี คิดว่าต้องพูดจาด้วยความระมัดระวัง ต้องให้ความเคารพกับคนอื่น หรือหน่วยงานอื่นบ้าง ไม่มีใครที่จะชั่วช้าหรือว่าเลวร้ายไปตลอด แต่เป็นเพราะท่านตั้งความหวังไว้มากว่าคนนั้นจะต้องเป็นอย่างนั้น จะต้องเป็นอย่างนี้ ลูกศิษย์ของท่านต้องเป็นอย่างนั้น ต้องเป็นอย่างนี้  แต่ท่านไม่ได้พูดถึงตัวเองว่าตัวท่านเองจะต้องเป็นอย่างนั้น ต้องเป็นอย่างนี้อะไรบ้าง

เมื่อท่านตั้งความหวังว่าจะต้องเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้ ท่านก็จะหยิบบรรทัดฐานของท่านในความเป็นศาสดาจารย์ทั้งหลายไปเที่ยวชี้ เที่ยววัด แล้วจะถ่ายทอดความรู้ ความรู้สึก นึกคิด ซึ่งดูเหมือนจะเป็นปัญญา แต่มันไม่ใช่  เป็นความรู้ที่แปลงออกมาเป็นปัญญา เป็นปัญญาที่ไม่ได้พูดถึงประเด็นรวมทั้งหมด เป็นปัญญาเฉพาะของศาสดาจารย์คนนั้นที่ Enliven ในเรื่องนั้น เฉพาะในบริบทอย่างนั้นแต่จะไปชี้นำคนอื่นเขา ว่าอย่างนั้นถูก พูดจาอย่างนั้นถูกใจก็หัวเราะกัน พรบมือกัน แต่ไม่นึกถึงว่าคนอื่นทำอย่างไรกันมาบ้าง เขาต่อสู้กันมาอย่างไรบ้าง เขาเลวร้าย เขาชั่วร้ายถึงขนาดนั้นเชี่ยวหรือ เขามีเหตุผลของเขาบ้างหรือเปล่า ทำไมต้องเอาเหตุผลของตัวเราเองเท่านั้นที่เป็นตัววัดคนอื่นเขา ทั้งที่ก้าวไปสู่เหตุผลคนอื่นเขาบ้าง หรือพยายามเข้าใจให้มากขึ้น จะได้มีบทสรุปที่ชัดเจน ไม่ไปดูถูกเหยียดหยามคนอื่นเขา

พวกวิชาชีพทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ สื่อมวลชน หรือวิชาชีพอื่นก็ตาม เขาคงไม่ได้เลวร้ายทั้งหมด

บุคคลข้างนอกที่เขาประกอบอาชีพธรรมดาอยู่ในสังคมที่มีบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป จะชอบหรือไม่ชอบก็แล้วแต่ เขาก็เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ที่เปลี่ยนจากอดีตมาเป็นปัจจุบันและจะก้าวไปสู่อนาคต ถ้าเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ศึกษาซึ่งกันและกัน ฟังซึ่งกันและกัน เข้าใจปัญหาซึ่งกันและกัน รู้จักความเจ็บปวดของเขาบ้าง เอื้ออาทรกันด้วยคำพูดคำจาบ้าง ด้วยความรู้สึกบ้าง เพราะไม่เช่นนั้นจะไม่มีทหารผ่านศึก จะไม่มีข้อคิดเห็นดีๆ อย่างที่อาจารย์สมเกียรติให้มา เพราะว่าศาสดาจารย์ปิดตาข้างหนึ่ง คุณปิดหูข้างหนึ่ง แล้วคุณก็ปิดสมองคุณข้างหนึ่ง

การปิดหู ปิดตาทให้ได้รับความรู้มาด้านเดียว แล้วก็ใช้ความคิดที่มีอยู่ในสมองสร้างปัญญาเพียงด้านเดียว ปัญญานั้นอาจจะถูก แต่ไม่อาจจะเข้ากับบริบทของส่วนร่วมที่จะช่วยกันแก้ไขปัญหา ที่เป็นหัวข้อในวันนี้เศรษฐกิจไทยในยุคการเมืองผูกขาดเป็นอย่างไร

เสรีภาพของสื่อเป็นเพียงส่วนหนึ่งของเสรีภาพไทยทั้งหมด แต่ทุกคนพูดเหมือนกับว่าสื่อไทยเป็นตัวทำลายเสรีภาพ เป็นตัวกำหนดเสรีภาพ เพราะมีความคิดว่าสื่อจะต้องทำหน้าที่อย่างที่พวกคุณคิด เป็นทุกอย่างที่คุณต้องการทำ แต่คุณก็ไม่เคยไปทำ

เขียนหนังสือไป สื่อก็ให้ลง พอสื่อตัดข้อความนิดหน่อย ก็โวยวายบอกให้เปลี่ยนสื่อซะ เพราะว่าสื่อฉบับนี้ไม่สู้  สื่อฉบับนี้ถูกซื้อ อะไรต่างๆที่หยิบกันขึ้นมา อะไรกันจะถึงขนาดนั้น ใครจะหลงตัวกันถึงขนาดนั้น ตัวเองเป็นความถูกต้องทั้งหมดเลยหรือ คนอื่นไม่ต้องทำหน้าที่ ของเขาไม่มีบริบทของเขาเองบ้างเล

ถ้าอย่างนั้นก็ป่วยการที่จะมาพูดกัน เพราะคุณเองไม่ได้สู้อะไรหรอก คนอื่นเขาสู้อยู่ แล้วสู้ในทุกบริบทของเสรีภาพ และเขาก็ไม่ได้อ้างอะไรมากมายว่าเขาได้เสรีภาพของประชาชนอย่างนี้มา เขาสู้กันมาตั้งแต่เริ่มต้น ตั้งแต่อำนาจธรรมดาถูกยิง ถูกฆ่า ถูกจับ ถูกขวางระเบิด มาถึงสู้กับทุนนิยม ทุกคนก็สู้กัน ทุกคนก็ถอยกัน แต่มีคนกลุ่มหนึ่งในสังคมขอให้คำหยาบ”ช่างแหม่มัน”ปล่อยให้คนอื่นทำ บอกว่าเองต้องไป แต่ไม่ได้ช่วยดูเลยว่าปัญหาทั้งหลายทั้งปวงมีอะไรบ้าง มาจากรากฐานอะไรบ้าง ตัวเองก็เป็นตัวปัญหาเหมือนกันในการที่จะให้ความรู้ด้านเดียวกับสังคม

ความจริงเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา สื่อมีหน้าที่ที่จะไปหาความจริงนั้น สื่อไม่ใช่คนที่สร้างข่าว สื่อไม่ใช่คนที่สร้างความจริง แต่สื่อเป็นคนไปหาความจริงอันนั้น แต่ความจริงอันนั้นจะได้มาครบถ้วนขนาดไหน ข้อเท็จขนาดไหน ข้อจริงขนาดไหน เป็นอีกเรื่องหนึ่ง จึงได้มีคำว่าข้อเท็จจริง

การที่ได้ข่าวมาอย่างนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าสื่อจะถูกซื้อ ถูกอะไรต่างๆ บริบทที่กล่าวกันนั้นมันซ้ำซาก ซองขาวอะไรต่างๆ เคยหันมามองตัวเองบ้างหรือเปล่าสอนหนังสืออย่างไร  มหาวิทยาลัยทำอะไรกันบ้าง  มีงานวิจัย 0.10 เปอร์เซ็นต์ ค่าเล่าเรียน 200,000 บาทสำหรับหลักสูตรนอกเวลา

ป่วยการพูด ผมก็ไม่พูด เพราะผมก็อยู่ในกระบวนการสอนหนังสือแต่ผมไม่ได้สอนอย่างเดียว ผมเรียนสอนร่วมกัน สอนหนังสือมา 30 กว่าปีเหมือนกัน เพราะฉะนั้นตรงนี้ต้องมาดู ถ้าพูดกันเรื่องนี้ ขณะนี้เสรีภาพเปลี่ยนไป เสรีภาพคงมีตามกฏหมาย มีคำพูดหนึ่งว่า เสรีภาพของคน คือ คนมีเสรีภาพในการแกว่งแขวน แต่การทำท่าเดินไปเท่านั้นแหละ แต่มันจะไปอยู่ที่ปลายจมูกของคนอื่น แต่ขณะนี้ปลายจมูกของคนอื่นมันเยอะ เป็นจมูกจริงบ้าง เทียมบ้าง ต้องมาช่วยกันหาทางออกว่าเสรีภาพซึ่งสื่อเอาไปใช้ และที่ให้สื่อใช้นั้น จะเรียกร้องจากเขาจะทำอย่างไรให้เขาเข้าใจการกำหนดเสรีภาพอันนั้น ไม่ใช่บอกว่าเขาไม่สู้ เขาท้อถอย เขาไม่ทำอย่างนั้น เขาผิดอุดมการณ์

ต้องเข้าใจในบริบทกันบ้าง ถ้าไม่ทันก็ต้องศึกษา ไม่ทันเหตุกาณณ์ 14  ตุลาคม 2516  ก็ไปดูว่าเริ่มต้นเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นจะพบว่าการเมืองที่ผูกขาด ผูกขาดมาจากอะไร เศรษฐกิจผูกขาด ผูกขาดมาจากอะไร ถ้าว่ากันตามกฏหมายในขณะนี้ผมมีความคิดว่าผมอยู่กับเสรีภาพของสื่อมานาน แล้วผมก็เห็นว่าเสรีภาพก็ไม่ได้แตกต่างอะไร ใช้ยังไม่ครบด้วยซ้ำไป ไม่ใช่สื่อใช้ไม่ครบ แต่สื่อมีบริบทที่ต้องไปเจือเข้า ประชาชน อาจารย์ทั้งหลายต่างหากที่ไม่ได้ใช้เสรีภาพอันนั้น ไม่ได้ใช้เสรีภาพในการต่อสู้ แต่อ้างเสรีภาพเพื่อที่จะถอย เพื่อที่จะไม่สู้ เพื่อที่จะช่างมัน

ยุคนอื่นไม่ให้ช่างมัน แต่ตัวเองช่างมันทุกครั้งไป มหาวิทยาลัยมีบทบาทอะไรบ้างในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ทั้งที่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ผู้ที่ใช้อำนาจรัฐเขาไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรเลย เผลอๆโดยกฏหมายตามรัฐธรรมนูญเราเสรีภาพมากด้วยซ้ำไป แต่ปรากฏว่าเราเอง ปล่อยให้คนหนึ่งมาบิดเบือนไม่ใช้ หรือทำลายรัฐธรรมนูญซึ่งให้เสรีภาพเราครบถ้วน ด้วยการไม่พูด ด้วยการไม่คิด ด้วยการไม่เขียน ด้วยการไม่รวมกลุ่มกัน เก่งแต่ในรู ถ้าพูดเองไม่ได้ก็รวมกลุ่มกันพูด

 

แค่ทำงานวิจัยก็ท้อถอยต้องมานั่งปลอบกัน ถ้านักวิชาการ อาจารย์ท้อถอย แล้วคนธรรมดาที่ต้องการความรู้ที่ครบถ้วน รอบด้านมากขึ้น ต้องการปัญญาที่นักวิชาการ อาจารย์มีมากกว่าเขา ต้องการสติที่จะมาช่วยเตือน ในขณะที่เขาทำงานอยู่ ต่อสู้อยู่ แล้วคนเหล่านั้นไม่ได้เลวทั้งหมด  แม้แต่คนที่เราวิพากษ์วิจารณ์เขาก็ไม่ได้เลวทั้งหมด ถ้าเขาพูด ถ้าเขาฟัง แต่ถ้าปล่อย ไม่พูด ไม่ฟัง ตั้งแต่คณะรัฐมนตรีไม่ฟัง ต้องการเป็นคนที่ถูกต้องตลอดเวลา ไม่กล้าค้าน ไม่กล้าพูด สภาไม่กล้าค้านไม่กล้าพูด ระบบต่างๆ ผูกกันมาอย่างนี้ ไล่มาเรื่อย ๆมหาวิทยาลัยคนที่ควรจะพูดได้ก็ไม่พูด ช่างมัน หมดยุค หมดวัยแล้ว สู้ไม่ไหวแล้ว เพราะเทคนิคเขามากขึ้น เขาก่งมากขึ้น

ถ้ายิ่งไม่พูด ยิ่งปล่อย ก็จะไปกันใหญ่ แต่คนเราถ้าคิดว่าส่วนดีก็มี ส่วนไม่ดีก็มี ท้วง ติงกันไป พูดจากันด้วยหตุด้วยผล ไม่ใช่กระทบแระแทกแดกดัน อธิบายให้เข้าใจว่าขาประจำ ขาจรนั้นไม่ใช่

มนุษย์ทุกคนในระบบประชาธิปไตยเป็นขาถาวรด้วยกันทั้งนั้น ถ้าทำให้รัฐบาลเห็น ให้รัฐบาลรู้ว่าการแสดงความคิดในระบอบประชาธิปไตย ในระบอบรัฐธรรมนูญที่มีให้ทุกอย่าง ทุกคนเป็นขาถาวรทั้งนั้น ไม่ว่าอาจารย์ ไม่ว่าอาชีพไหน ไม่ว่านักหนังสือพิมพ์อะไรต่างๆ เป็นขาถาวร ต้องพูดแสดงความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ฟังกัน ถ้าทำกันเป็นกิจจะลักษณะ พูดกันให้เห็น ในระบบในระบอบรัฐบาลก็ต้องฟัง

ต้องเตือนให้รัฐมนตรีทำหน้าที่ของเขา ให้ความรู้เขาให้ครบถ้วน ไม่ใช่ฟังอย่างเดียวทุกครั้งไป ให้รัฐมนตรีเข้ามามีบทบาทในการบริหารประเทศมากขึ้น เพราะโดยอาชีพโดยตำแหน่งเขาต้องทำ

อาจารย์ นักหนังสือพิมพ์ มีทบาทในการให้ข้อมูลความรู้กับสาธารณะ คนเดียวพูดไม่ได้ คนเดียวพูดแล้วถูกกล่าวหา มีกำลังไม่พอ แรงไม่พอ ก็พูดในนามของสมาคม ของกลุ่ม ของคณะ ของสาขาวิชาชีพ เขาก็ต้องฟัง

เพราะอย่างไรก็ตามก็ยังมีระบบของการเมือง ของการเลือกตั้ง ของวิธีการตามรัฐธรรมนูญที่บังคับอยู่ ในเวลาเดียวกันเราก็ต้องให้ความรู้ ให้ข้อมูลรอบด้านมากขึ้น ให้ทั้งปัญญาหลายๆ อย่าง ให้ทั้งสติกับประชาชน ให้กับคนปฏิบัติงาน อย่างเช่น เราพูดกันถึงว่า ถ้าเป็นสื่อ เราต้องแยกสื่อออกมาให้ชัดว่าขณะนี้แบ่งออกเป็น 2  สื่อ  คือสื่อของรัฐวิทยุและโทรทัศน์กับสื่อหนังสือพิมพ์ซึ่งเป็นของเอกชน มีการซื้อการขาย มีการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน คนอ่านจะชอบหรือไม่ชอบจะต้องซื้อหนังสือพิมพ์อ่าน

สื่อของรัฐ วิทยุและโทรทัศน์ ต้องผลักดันให้ผู้มีอำนาจรัฐไม่ว่าจะอีก 2 ปี 3 ปี หรือตลอดไปให้เขาเข้าใจว่าการใช้สื่อของรัฐ สื่อวิทยุโทรทัศน์ซึ่งมีบทบาทสำคัญมากต่อประชาชนต้องเป็นไปด้วยความระมัดระวัง ต้องให้ความรู้รอบด้าน แล้วถ้าจะให้ปัญญาต้องให้ความรู้จากปัญญา สอนวิธีคิด และให้สติ ต้องเตือนว่ารายการบางรายการไม่ใช่

ขณะนี้สื่อของรัฐปล่อยให้มีรายการบันเทิงมากมายกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ไม่ได้ เพราะความบันเทิงที่ให้ไปนั้นเป็นการมอมเมา และเป็นบันเทิงที่ไม่มีรสนิยมไม่สร้างสรรค์ เป็นรายการบันเทิงซึ่งสามารถจะเอาผู้หญิงโสเภณีคนหนึ่งไปเป็นนางเอกได้ ไปเป็นดารา เป็นน้องของคนทั้งประเทศได้ เป็นเรื่องที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง หรือการที่จะให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการสร้างเรตติ้ง ด้วยข้อความสั้นๆ โดยการส่งเอสเอ็มเอสในหัวข้ออย่างนั้น อย่างนี้ไม่ควรทำ หรือการเข้าไปเจาะลึกในเรื่องราวต่างๆ Who What When Where Why How          ในบางเรื่อง How ต้องระมัดระวังในการทำ พยายามหาคำตอบ Why ให้มากๆ ในขณะนี้สื่อมวลชนทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นของรัฐหรือของอะไรก็แล้วแต่ แม้แต่นักวิชาการทั้งหมด ไม่ค่อยตอบคำถาม Why เน้นแต่ How เพียงอย่างเดียว เผลอๆ How ก็ไม่ค่อยทำ ทำแค่ Who What When Where

How กลายเป็นเรื่องลึกลับพิศดาร เช่น ในกรณีโทรทัศน์ช่องหนึ่ง ออกรายการเบื้องหลังข่าว ที่มีผู้ต้องหาคนหนึ่งไปตัดอวัยวะเพศของเด็ก รายการนั้นได้แสดงวิธีการหาข่าว investigative new reporting อย่างดีเลยในการไปพูดจาทั้ง 2 ด้าน

โดยถามคนร้ายว่าทำไมถึงทำอย่างนั้น คนร้ายก็แสดงความสะใจบอกว่าจะทำมากกว่านี้อีก แล้วรายการก็ปล่อยให้ผู้ร้ายพูดออกมาทั้งหมด เหตุผลสารพัดอย่าง เอาความทารุณ  โหดร้ายต่างๆ ออกอากาศกันอย่างเต็มที่

ขณะเดียวกันก็ไปพูดกับเด็ก แล้วยังอุตส่าห์มีความคิดสร้างสรรค์ทางด้านสื่อมีคำถามให้ผู้ชมทางบ้านส่งเอสเอ็มเอสเข้าไปอีกว่าเห็นใจใครมากกว่ากันระหว่างเด็กที่ถูกทำร้ายเสียหาย กับผู้ต้องหาที่กระทำการครั้งนี้ อย่างนี้เป็นเรื่องที่ต้องช่วยกัน เพราะทั้งหมดนี้เป็นพื้นฐานของความรู้ในสังคมปัจจุบันนี้

รายการเกมทศกัณฑ์ฮิตมาก เอารูปผู้หญิงคนหนึ่งมาแล้วสอบถามเด็กที่เข้าร่วมรายการว่ารู้จักชื่อผู้หญิงคนนี้หรือไม่  ปรากฏว่าทุกคนตอบว่ารู้หมดแล้วหัวเราะกันคลื้นเคลง

ผู้ดำเนินรายการถามต่อว่าดูกันแล้วหรือยัง? แล้วรายการนี้ออกอากาศไปทั่วประเทศ ตรงนี้เป็นเรื่องความรู้ที่สื่อให้  เกมทศกัณฑ์เด็กมักจะชอบนำรูปหน้าดารา นักร้องมาถามเด็ก นี่คือการสร้างความรู้ซึ่งรัฐจะต้องรับผิดชอบ

สื่อ ครู อาจารย์ต้องรับผิดชอบว่า รายการลักษณะนี้ต้องมีสติกำกับ ไม่ใช่เอาเพียงความรู้ธรรมดา ๆ ที่รัฐนี้ให้กับสังคม ไม่นับความรู้ซึ่งซับซ้อน ไม่นับความรู้ที่ต้องการหลายมุม หลายด้าน ที่ต้องการทั้งความรู้รอบด้าน ต้องการความคิดที่ลึกซึ้ง ต้องการปัญญาที่มาแก้ไขปัญหาต่างๆ ออกมาอย่างกรณีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในภาคใต้ ข้อเท็จข้อจริงต่างๆก็ไม่ได้ออกมาทั้งหมดก็ไม่ได้มีความรู้ทางด้านนั้น ความคิดที่ออกมา เราจึงพบว่าสังคมนี้เมื่อสื่อปล่อยให้มีรายการลักษณะนี้ออกมาก็จะมีความคิด ความอ่านของคนในสังคมเข้าไป ไม่ว่าจะจัดตั้งหรือไม่จัดตั้งก็แล้วแต่ มีข้อความซึ่งไม่ได้แสดงถึงสติปัญญาเลย ไม่ได้แสดงถึงพื้นความรู้ที่ถูกต้องเลย อ่านไปก็มีความรู้สึกว่าสังคมนี้เป็นอย่างนี้หรือ

เพราะฉะนั้นระบบนี้ทั้งหมดมาจากเศรษฐกิจการเมืองผูกขาด ไล่กันมาหลายๆ จนกระทั่งคนๆ หนึ่งมีความชำนาญมาก จนกระทั่งผูกขาดทั้งเศรษฐกิจ ผูกขาดทั้งการเมือง ผูกขาดอะไรต่างๆ โดยที่ไม่ได้ไปแตะต้องเรื่องเสรีภาพเลย

แต่สังคมถูกนำไปอย่างนั้น แล้วไม่ได้เพิ่งถูกนำในช่วง 4 ปีนี้เท่านั้น แต่ถูกนำมาก่อนหน้านี้นานแล้ว แต่ในขณะนี้เห็นชัดว่าการที่มาผูกขาด หรือมีการนำ เสรีภาพที่มีตามปกติไปใช้โดยผู้นำรัฐในขณะนี้

ในเมื่อเรามีปัญญา มีความรู้ที่หลากหลาย มีความคิดในระดับของนักวิชาการ ของผู้ที่มีความรู้ แล้วควรที่จะเผยแพร่ความรู้ที่หลากหลายนั้นให้ความคิดตรงนั้นสังเคราะห์ออกมาเป็นปัญญาแล้วกระจายออกไปทุกด้าน เพราะในขณะนี้สื่อไม่ได้จำกัดเฉพาะสื่อกระแสหลักเท่านั้น ทุกคนเป็นสื่อทั้งนั้น

ทุกคนเป็นสื่อมวลชนได้ มีโทรศัพท์มือถืออยู่ในมือ 1 เครื่องท่านจะยอมตกเป็นเหยื่อของบริษัทโทรศัพท์มือถือหรือต้องการเป็นสื่อมวลชน ท่านเสียค่าอินเตอร์เน็ตเดือนละ 400 บาท ท่านก็สามารถเป็นสื่อมวลชนได้ ตั้งสถานีวิทยุเองได้ ตั้งหนังสือพิมพ์สัก 2 ฉบับก็ได้ จะพูด จะเขียนอย่างไรให้มีสติปัญญาเท่าไหร่ก็ได้ จะให้ความรู้อย่างไรก็ได้

หนังสือพิมพ์ต่างๆก็มีเยอะที่จะให้ทุกคนเขียนข้อความมาลง ความเข้าใจต่างๆ ความหวังยังมีอยู่ ไม่ได้เป็นท้อถอยอะไรเลย ถ้าคุณยังทำงานอยู่ปกติ พรุ่งนี้พระอาทิตย์ก็ยังขึ้น นกก็ยังร้อง แม้ไม่มีคุณอยู่ก็ตาม ตรงนั้นต่างหากที่ต้องมาพูดกัน รายละเอียดทั้งหลายทั้งปวงในเรื่องที่เกี่ยวกับหัวข้อนี้ได้พูดกันไปครบถ้วน สามารถนำข้อมูลนั้นมาทำความเข้าใจใช้ในบริบท ของตัวเองในหน้าที่ของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นสื่อเป็นนักการเมือง เป็นครู อาจารย์ หรือเป็นประชาชนธรรมดา คนค้า คนขายก็ตาม ต้องรู้เท่าทันสื่อ คำว่ารู้เท่าทันสื่อคือการรู้เท่าทันตัวเอง รู้ว่าตัวเองมีอะไรอยู่ มีบทบาทอย่างไร มีความสำคัญอย่างไงบ้าง

พร้อมกันนั้นต้องรู้เท่าทันคนอื่น รู้ว่าเขาได้ทำอะไรที่ล้ำเกินบทบาทไปบ้าง หรือไม่ได้ทำอะไรบ้าง แล้วถ้ารวมกันได้อย่างนี้ไป ถามว่าเขาจะไม่ฟังเชียวหรือ

นายกฯทักษิณ มีอำนาจมากมายผูกขาดอะไรทั้งหลายทั้งปวงจนกระทั่งกลายมาเป็นบริบทใหม่ของเผด็จการ

ถามว่าอำนาจของนายกฯทักษิณมาจากไหน อำนาจนายกฯทักษิณมาจากรัฐธรรมนูญใช่หรือไม่ ในอดีตสมัยจอมพลสฤษดิ์ มีหมดทุกอย่างไม่ใช่อำนาจเงินเพียงอย่างเดียว อำนาจทหาร อำนาจอะไรต่างๆ มีหมด ฆ่าใครก็ได้ จะจับใครขังคุก ขังลืมก็ได้ จะไปยิงเป้ากันตรงไหนก็ได้ จับเดี๋ยวนี้ยิงเดี๋ยวนี้ก็ได้ ฆ่าทั้งโครตก็ได้ เงินก็มีสารพัด เบ็ดเสร็จเด็ดขาด ถามว่าแตกต่างกันอย่างไรบ้างกับการต่อสู้ในสมัยนี้ บริบทในสมัยนั้นก็รุนแรงหนักข้อยิ่งกว่านี้อีก

ถามว่าสถานการณ์ในปัจจุบันถึงขนาดนั้นไหม ก็ไม่ถึง ตอนนี้บอกว่าทุกคนบอกว่าถูกคุกคามจากเผด็จการ ตัวคุณเองต่างหากเหล่า คุณไม่กล้าเองต่างหากเหล่า ที่จะทำงานในหน้าที่ของคุณ ที่จะพูด ที่จะคิด ที่จะให้ความรู้ในบริบทที่มีอยู่ ถ้าพูดไปทำไมเขาถึงจะไม่ฟัง

ถึงเวลาก็ต้องฟัง นายกฯทักษิณเหมือนอิฐทับหญ้า ท่าน Enliven ของท่านได้ทุกเรื่อง อ่านหนังสือมาเล่มหนึ่งท่านก็ Enliven ของท่านทันที ท่านถึงเป็นอย่างนี้ เมื่อวานท่านพูดอย่าง วันนี้ท่านพูดอย่าง แล้วท่านก็ลืมด้วย พวกเราก็เถียงท่านไม่ท่านเพราะท่านเปลี่ยนประเด็นของท่านตลอด ท่านนอกกรอบเสียจนท่านไม่รู้ว่ามีกรอบอะไรอยู่บ้าง

มนุษย์ต้องมีกรอบ การคิดนอกกรอบนั้นเป็นเรื่องที่ดี แต่ไม่ใช่ฟุ้งซ่าน ถ้าคิดนอกกรอบแล้วไม่มีกรอบให้ตัวเองว่าอยู่จุดไหนของกรอบ เรียกว่าฟุ้งซ่าน จะต้องบอกนายกฯทักษิณว่ากรอบของมันมีอยู่ ต้องบอกนายกฯทักษิณด้วยการพูด ด้วยการจาในบริบทของทุกคนว่าประเทศชาตินี้เป็นอย่างไร

นายกฯทักษิณเหมือนเด็กอัจฉริยะคนหนึ่ง ที่ถูกตามใจด้วยระบบต่างๆ เห็นนาฬิกาเสียก็มีความคิดว่าต้องแก้ จะแก้ได้หรือไม่ได้ไม่เป็นไหร่ แก้ไม่ได้ก็ทุบทิ้ง เพราะคิดว่าตัวเองซื้อใหม่ได้  พวกเราทุกคนต้องบอกให้นายกฯทักษิณรู้ว่าประเทศชาติ ไม่ใช่นึกอยากจะแก้ นึกอยากจะทำอะไรต่างๆ ขึ้นมาก็ทำได้ เพราะประเทศไม่ใช่นาฬิกา ไม่สามารถซื้อใหม่ได้  การทำงานทุกอย่างมีกรอบของมันอยู่ อย่างไรเสียประเทศชาติจะต้องอยู่ หากเปรียบประเทศไทยเหมือนเรือเราจะทำกันอย่างไร จะหาเรือใหม่มาแทนก็ไม่ได้ ฉะนั้นทุกคนต้องเข้าใจตรงนี้ร่วมกัน

ที่ผ่านมาพวกเราปล่อยให้นายกฯทักษิณหลงเชื่อมั่นในตัวเองในระบบซีอีโอของท่านอย่างนั้นหรือเปล่า พวกเราไม่ได้นำความรู้ที่มีอยู่ เป็นความคิดประเทืองปัญญาที่ถูกต้อง ช่วยกันตักเตือนเขาหรือเปล่า

พวกเรายอมกับสิ่งต่างๆเหล่านั้นหรือเปล่า ฉะนั้นอย่าไปเที่ยวโยนให้ใครต่อสู้เลย ช่วยกันต่อสู้ในบริบทของตัวเอง เพราะต่างคนต่างก็มีปัญหาด้วยกันทั้งนั้น แล้วอย่าไปดูถูก อย่าไปปรามาศคนอื่นว่าเขาคิดไม่ เขาทำไม่เป็น เขาไม่สู้ เขาท้อถอย เพราะต่างคนก็ต่างมีจุดยืน มีเกียรติยศของตัวเองเหมือน

ปัญหาขาถาวรในการแสดงความคิดเห็น  ในการโต้แย้งอะไรต่างๆ ในช่วงที่ผ่านมาก็ถือทำดีแล้ว แต่ต่อไปนี้ต้องทำให้ดีมากขึ้นไปอีก

สื่อหนังสือพิมพ์ ไม่ว่าจะทำมากี่ปีก็แล้วแต่ ถ้าสอนสั่งกันมา ให้เป็นหนังสือพิมพ์ที่มีอาชีวะปฏิญาณของอาชีพ อายุ 1 ปีก็เป็นนักหนังสือพิมพ์ได้ แต่ถ้าไม่เป็น อายุงาน 40 ปี 50 ปี ก็ไม่เป็น จะทำงานเพียงเพื่อจะตักน้ำใส่ถ้วยแก้วของตัวเองเท่านั้น

คนทำหนังสือพิมพ์คือคนที่เป็นทั้งผู้ให้ และรับ คือทำหน้าที่ที่มากกว่าการตักน้ำใส่กินเฉพาะแก้วของตัวเองเท่านั้น แต่ต้องตักน้ำใส่ภาชนะใหญ่ๆ ที่ตัวเองกินได้ด้วยและคนอื่นได้กินด้วย หมู หมา กา ไก่ก็ได้กินด้วย

นั่นคืออาชีพ นั่นคือสิ่งซึ่งไม่ใช่เรื่องอารมณ์ แต่เป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจ ในบรรดาผู้ที่อยู่ในแวดวงนี้ ไม่ว่าจะเป็นแวดวงข้างนอก หรือนักวิชาการ หรือนักสื่อสารมวลชน หรือครูบาอาจารย์ที่จะทำหน้าที่กับสื่อมวลชนต้องเข้าใจตรงนี้เสียก่อน

ทุกอาชีพมีอาชีวะปฏิญาณของตัวเอง แต่หนังสือพิมพ์จะมีลักษณะที่แปลกแตกต่างออกไป ถ้ายิ่งเรียน ยิ่งสอนอยู่ในคณะนี้ด้วยแล้ว ยิ่งต้องรู้ตรงนี้ให้มากขึ้น ถ้ารู้ตรงนี้มากขึ้น จะมองคนอื่น มากกว่ามองตัวเอง จะคิดถึงคนอื่นมากกว่าตัวเอง คิดถึงปัญหาของคนอื่นมากกว่าปัญหาของตัวเอง

ถ้าเป็นอย่างนั้นจะพูดกันด้วยความเข้าใจ ผมยืนยันว่าหนังสือพิมพ์ก็ยังคงทำหน้าที่ตรงนี้ในบริบทที่เขาทำได้ เหมือนอิฐทับหญ้า มันย้ายไปไหนไม่ได้ ถ้ายกอิฐเมื่อไหร่หญ้าก็ขึ้น แล้วสื่อก็ไม่งอมืองอเท้าที่จะไม่ยกอิฐ

คนที่ทำหนังสือพิมพ์ไม่ว่าจะทำประจำหรือทำเป็นอาชีพ หรือว่าเข้ามาเป็นขาจร หรือเข้ามาช่วย คือนักยกอิฐ ที่จะทำความจริงให้ปรากฏให้คนอื่นได้เห็น

ฉะนั้นคนทุกคนต้องช่วยกันยกอิฐของสังคมและยกอิฐของตัวเองออก เพื่อตัวเองจะได้ขึ้นมาทำหน้าที่ของตัวเองบ้าง แล้วอย่าไปคิดว่าตัวเองเท่านั้นที่ทำ แต่คนอื่นไม่ได้ทำ เพราะต่างคนก็ต่างก็มีบริบทของตัวเองที่ไม่เหมือนกัน อย่างนี้ถึงจะจับมือไปด้วยกันได้ อย่างนี้ถึงจะช่วยแก้ปัญหาได้

ถ้าไม่เช่นนั้นก็จะไม่แก้ปัญหาอะไร แต่จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของปัญหานั้น

มีหลายๆ เรื่องที่คิดว่าต้องการความเข้าใจ คือ ต้องเข้าใจบทบาท หน้าที่ของแต่ละคน และต้องช่วยกันในทุกสาขาอาชีพ ช่วยมองกัน สำหรับหนังสือพิมพ์นั้นจะต้องมองไปถึงอดีต ปัจจุบัน และอนาคต เพราะเป็นสิ่งที่จำเป็น เรียนรู้จากอดีต เพื่อที่จะมีขีดเส้นออกมาให้ได้ว่าอนาคตควรจะเป็นอย่างไร จึงจะถูกต้อง ถ้ามองเฉพาะปัจจุบันไม่มีอดีต เราก็จะลากเส้นที่ไม่ตรง

เหมือนเรือเล็ก เรือใบที่ออกทะเล พอพ้นฝั่งไปแล้วก็ต้องอาศัยอะไรต่างๆ  แม้แต่เข็มทิศที่ตั้งไว้ดีแล้ว ก็ต้องคอยเช็ค  หัวเรือก็ต้องคอยเช็คหัวเรือ ส้นไหมเล็กๆ ก็ต้องดูอยู่ตลอดว่าลมพัดไปทางไหน ต้องกระแสน้ำ ไต้องกระแสคลื่น ต้องดูดาวเหนือ เพราะบางครั้งเรานึกว่าเราเดินตรงแล้ว แต่ว่ามันอาจจะผิดทาง

มีบริบทข้างนอกที่เข้ามาประกอบกัน ใครที่ไม่เคยเล่นเรือใบจะบอกว่าทำไมไม่ไปทางตรงๆ แบบนี้ ทำไมต้องเลี้ยวซิกแซกไปอย่างนั้น ขอให้เข้าใจว่าเรือต้องอาศัยลม อาศัยน้ำ ให้เข้าใจธรรมชาติง่ายๆ ว่าแม่น้ำที่ยาว และตรงนั้นไม่มี

แม่น้ำที่ตรงคือ คลองขุด ซึ่งทั้งสั้น ทั้งแคบ ทั้งไม่กว้าง ทั้งไม่ลึก ทุกคนต้องเข้าใจอย่างนี้

สำหรับหนังสือพิมพ์ในขณะนี้จะต้องรวมสรรพกำลัง รวมความรู้ รวมประสบการณ์ทั้งของตัวเอง ทั้งของเพื่อนร่วมงาน ทั้งของอดีต เอามาใช้ อย่าไปตามบทบาทที่เขาบอกให้เล่น ไม่ใช่เขาขึ้นเพลงอะไรมาก็ว่ากันไปตามนั้น มันไม่ใช่ แฟ้มมี หนังสือพิมพ์ทำกันมา 30 ปี 40 ปี ตั้งแต่คนที่กุมอำนาจรัฐยังเป็นวุ้นอยู่เลย

ประสบการณ์มี ตัวเลขมี ห้องสมุดมี ข้อมูลต่างๆมีสามารถนำมารวบรวมแล้วพูดได้ ไม่ต้องแสดงความฉลาดมากมายนักหนา เอามาแย้งได้ ออกมาบอกได้ ออกมาเตือนสติกันได้ ว่าอดีตเป็นอย่างนี้ ข้อมูลตัวเลขเป็นอย่างนี้ นอกกรอบเป็นอย่างนี้ ความฝันเป็นอย่างนี้

คิดใหม่ คนเก่าเคยทำมาแล้วก็มี ทำใหม่ คนเคยทำพลาดมาในเรื่องนี้มาแล้วก็มี เตือนกันด้วยความเป็นผู้ใหญ่ ช่วยกัน หากความรู้ของสื่อมีน้อย ก็ดึงนักวิชาการเข้ามาช่วย  ช่วยกันส่ง ช่วยกันเสริม ช่วยกันคิด ช่วยกันพูด พูดคนเดียวไม่ได้ ถูกตอบกลับมาก็รวมกันเป็นกลุ่ม เป็นก้อน รวมเป็นสถาบัน รวมเป็นอุดมศึกษา รวมเป็นมหาวิทยาลัย รวมเป็นปราชญ์ ช่วยกันได้ทุกบริบท ถ้าออกทีวีไม่ได้ ก็ออกอย่างอื่น ทำอย่างอื่น พูดออกมาให้ได้

สำหรับผู้ปฏิบัติหน้าที่ประจำตอนนี้คือว่า ต้องใช้สติให้มากขึ้น แล้วให้รู้ว่าความรู้ที่เราได้มานั้นมันยังรู้น้อย ยังรู้ไม่ครบ ยังรู้ไม่ถ้วน ยังรู้ไม่ทัน เพราะฉะนั้นอย่าไปด่วนสรุปว่าความรู้ที่ได้มานั้นแล้วมาด่วนสรุปคิดกันว่าเป็นปัญญาที่เลิศเหลอแล้วถูกหมด ทั้งไม่ไปว่าคนอื่นเขา ทั้งไม่คิดอย่างนั้นกับตัวเอง ช่วยกัน และต้องพยายามเอาข้อมูลเก่า

นักข่าวทั้งหลาย หัวหน้าข่าวทั้งหลาย บรรณาธิการข่าวทั้งหลาย จะต้องลงไปห้องสมุดให้มากขึ้น แล้วหยิบแฟ้มข้อมูลเก่าๆ มาใช้ให้มากขึ้น ใช้ข้อมูลเก่าๆ มาเป็นข้ออ้างอิง ข้อบอกเล่า ไม่จำเป็นต้องเป็นข่าวสัมภาษณ์สดๆ ความคิดเห็นในหนังสือพิมพ์บางฉบับอื่น บทความที่อื่นก็สามารถจะนำมาแปลงเป็นข่าวได้

ข่าวไม่ใช่ต้องเกิดขึ้นเดี๋ยวนั้น เวลานั้น สามารถสาวข่าวจากอากาศได้ เพราะข่าวเกิดขึ้นทุกหนทุกแห่ง ความจริงเกิดขึ้นทุกหนทุกแห่ง หยิบข้อมูลตรงนั้นมาประกอบ แล้วทำข่าวประจำวันให้ดีที่สุด ให้มีสติให้มากที่สุด  เมื่อผิดพลาด แก้ไข ยอมรับ ไม่ดันทุรัง หนังสือพิมพ์ต้องเป็นผู้ใหญ่

ขณะนี้จุดอ่อนของผู้นำรัฐ คือ ไม่เข้าใจเรื่องการสื่อสาร และไม่เข้าใจสื่อ พูดกับนักข่าว แต่ไม่รู้ว่าพูดกับสื่อ  ซึ่งความจริงแล้วนักข่าวเป็นแค่เงาบางๆ ที่เป็นทางผ่านข้อมูลข่าวจากจากคนกลุ่มหนึ่งไปยังคนอีกกลุ่มหนึ่ง จากรัฐบาลผ่านไปถึงประชาชน

ผู้นำรัฐพูดกับสื่อก็เหมือนกับพูดคนอ่าน พูดกับคนฟัง พูดกับคนดู ซึ่งคนฟังคนดูก็มีทั้งคนซึ่งฉลาดมากกว่า รู้มากกว่า แก่กว่า ผ่านประสบการณ์มามากกว่า ไม่ใช่เห็นนักข่าวหน้าซื่อๆ เด็กๆ ที่ใครจะมาพูดจาเหยียดหยามดูถูกได้ คำพูดทั้งหมดของผู้นำรัฐออกไปหมด

นี่คือปัญหาอันหนึ่งที่เกิดขึ้นกับสังคมในปัจจุบันนี้ เพราะว่าผู้นำรัฐไม่เข้าใจการสื่อสาร ถ้าเป็นคนฉลาดจะไม่ทำอย่างนี้ จะพูดจาด้วยความระมัดระวัง ของบางอย่างถ้าต้องอ่าน เป็นเรื่องระดับชาติ เป็นเรื่องปัญหาของชาติ ก็จะต้องอ่าน ที่-ซึ่ง- และ- กับ ต้องไม่ขาด ไม่ใช่เอาอารมณ์ เอาความรู้สึกส่วนตัว เอาความเก่งส่วนตัว เอาความเป็นซีอีโอทั้งหมด บอกว่าทุกอย่างถูกต้องทั้งหมดไม่ได้  ไม่มีใครรู้แล้วทั้งหมด

เมื่อปิดการสื่อสาร 2  ทางเสียแล้วก็มีแต่ลงรก ลงเหว แล้วถ้าคนส่วนใหญ่ ไม่พูด ไม่เตือน ไม่ฟัง ไม่เอาธุระ ทิ้งธุระ ปล่อยให้สังคมเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ แล้วะไปโทษใคร เมื่อบ้านเมืองวิกฤต บ้านเมืองพังไปแล้ว จะไปเอาบุคคลคนหนึ่งมาลงโทษก็แก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว ต่อให้จับมายิงเป้า เอารูปมาเผา หรืออะไรต่างๆ ขึ้นมา ความเสียหายเกิดแล้ว แก้ไม่ได้แล้ว

เพราะฉะนั้นจึงเป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคนที่จะต้องใช้เสรีภาพที่มีอยู่ ไม่ให้ถูกคุกคาม ถูกบิดเบือนจากคนที่มีความสามารถ มีความฉลาดแต่ไม่มีความเฉลียว ต้องช่วยกันเตือน อย่างน้อยก็ต้องเป็นเสียงกบร้องที่จะบอกให้ช้างตาบอดได้รู้ว่าที่นี้ไม่ใช่เหว เพราะผมไม่เชื่อว่าทุกคนจะเป็นช้างตาบอดกันหมด

ตรงนี้คือสิ่งที่คิดว่าจะต้องทำงานกันหนักมากขึ้นในบริบทของสังคมปัจจุบัน

เสรีภาพนั้นมีอยู่ เราเป็นคนขีดวงเสรีภาพนั้นเพื่อตัวของเราเอง ทุกอย่างมีทางไป มีทางออกในบริบทของมัน แต่ขณะนี้เราอาจจะเงียบเกินไปหรือเปล่า เราอาจจะกลัวเงาเกินไปหรือเปล่า เราอาจจะพูดไม่ทัน ไม่กล้า หรืออาจจะรู้ไม่จริง หรือยังคลุมเครืออยู่ ไม่กล้าเถียง ไม่กล้าชี้จุด ไม่กล้าอธิบายอย่างชัดเจนหรือเปล่า

จะกลัวอะไรกับคำพูดที่ทะแบงออกมาแบบเด็กๆ ถ้าเป็นผู้ใหญ่อย่าหยุดไปตลอด ถึงผู้นำรัฐไม่ฟัง สังคมก็ต้องฟัง  คนอื่นก็ต้องฟัง คนอื่นก็ต้องได้ยิน

 

......................