เมื่อวิชาชีพสื่อเข้าสู่ “วัฒนธรรมก๊อบปี้ข่าว”

เมื่อวิชาชีพสื่อเข้าสู่

“วัฒนธรรมก๊อบปี้ข่าว”

ท่ามกลางข้อจำกัดอันหลากหลายในสังคมการสื่อสารที่ซับซ้อนมากขึ้นทุกวัน การปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ก็ต้องรวดเร็วตามไปด้วย โดยเฉพาะอาชีพ “นักข่าว”  ที่ทำหน้าที่  “สื่อสาร” อยู่ในทุกสนามข่าว ไม่เว้นว่าจะเป็นสนามข่าวการเมือง เศรษฐกิจ สังคม บันเทิง หรืออาชญากรรม

การเปลี่ยนแปลงที่ว่าได้เกิดวัฒนธรรม  “ก๊อบปี้ข่าว” หรือ “การพูลข่าว”  กันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน เด่นชัดและจงใจมากขึ้น จากเดิมที่นักข่าวจะแข่งขันกันอย่างรุนแรง เพื่อให้ได้มาซึ่ง “ข่าวเดี่ยว”  หรือ “ข่าวเอ็กซ์คลูซีฟ”  จะเพื่อการสร้างผลงานให้มีคุณภาพ หรือเพื่อแสดงความเป็นมืออาชีพก็ตาม

ปรากฏการณ์ใหม่ที่เกิดขึ้นในวงการข่าวในขณะนี้ ได้แปรเปลี่ยนไปสู่ “วัฒนธรรมการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่”  กันมากขึ้น แม้การเอื้อเฟื้อที่ว่าจะมีการแข่งขันกันอยู่ในทีก็ตาม

นักข่าวในสนามแต่ละแห่งได้มีการแบ่งกลุ่มกันทำข่าวเป็นทีม แต่ละทีมจะประกอบด้วยนักข่าวจากหลายสำนัก หลายฉบับ โดยมีการแบ่งกลุ่มกันตามความพึงพอใจ หรือประโยชน์เรื่องการนำเสนอข่าวที่ลงตัว แล้วค่อยทำหน้าที่ “ส่งสาร” หรือต้นฉบับที่ได้มาไปยังโรงพิมพ์ของตัวเองและเพื่อนร่วมทีม โดยแต่ละกลุ่มจะแบ่งหน้าที่แยกย่อยซอยลงไป เป็นต้นว่า แบ่งกันทำข่าว แบ่งหน้าที่พิมพ์ และ e-mail ไปยัง address ของกลุ่มตัวเอง รวมทั้งการยืนยัน “ประเด็นข่าว” กับเพื่อนร่วมทีมต่างฉบับด้วย

วัฒนธรรมเหล่านี้เกิดขึ้นในหมู่นักข่าวหลายสนาม ไม่ว่าจะเป็นนักข่าวการเมืองที่ประจำอยู่ที่รัฐสภา ทำเนียบรัฐบาล กระทรวงต่างๆ

เกิดอะไรขึ้นในวงการนักข่าว การก๊อปปี้ข่าวมีสาเหตุจากอะไรกันแน่ ?

ย้อนกลับในช่วงประมาณปี 2540 ที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ต้องไม่ลืมว่านักข่าวเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ไม่แพ้กลุ่มอาชีพอื่น ผลพวงของเศรษฐกิจที่พังระเนระนาด ทำให้สำนักพิมพ์หลายแห่งต้องปิดตัวลง หลายสำนักต้องลดต้นทุนการผลิตเพื่อให้อยู่รอด ไม่ว่าการลดจำนวนนักข่าว ตัดเงินเดือน ตัดค่าสวัสดิการในหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับภูมิคุ้มกันของแต่ละสำนัก ปรากฏการณ์นี้เองได้สะเทือนไปถึงสนามข่าวที่มีการแข่งขันกันระหว่างสำนักข่าว ระหว่างนักข่าวด้วยกัน  อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ยุคนั้นเริ่มมีคำถามจาก “นักข่าว”  ถึง “นายทุนสื่อ”  ทั้งหลายว่า  นักข่าว ในฐานะผู้ผลิตย่อยส่วนหนึ่งของหนังสือพิมพ์  ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในลำดับต้นๆ ได้รับความเป็นธรรมจากการทำงานมากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะในภาวะเศรษฐกิจที่เป็นอยู่  เป็นคำถามที่ทุกคนถามไปในทำนองเดียวกันว่า  “การแข่งขัน”  ในสนามข่าวอย่างเอาเป็นเอาตาย เพื่อให้ได้มาซึ่งข่าว (ที่ไม่เหมือนคนอื่น) ยังมีความจำเป็นอยู่หรือไม่ เมื่อเทียบกับ “ผลตอบแทนต่ำๆ“ ที่ได้รับ

คำตอบมีอยู่ว่า แม้นักข่าวจะเป็นคนที่ทำงานหนักและภักดีต่อองค์กรเพียงใด แต่เมื่อภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เข้าใครออกใคร ส่งผลกระทบต่อนักข่าวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  นักข่าวบางคนถูกเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม จากการลดต้นทุนของสำนักพิมพ์แต่ละแห่ง ทำให้นักข่าวในสนามของแต่ละสำนักพิมพ์ก็ลดจำนวนลง คนข่าวส่วนหนึ่งหายไปจากตลาดแรงงาน

ขณะที่ในเชิง  “ปริมาณ”  นักข่าวแต่ละสำนักพิมพ์ลดลง ในทางกลับกัน ภาระหน้าที่ความรับผิดชอบของนักข่าวเพิ่มมากขึ้น เช่นเดียวกับการรักษา “คุณภาพ” ที่มีความจำเป็นต้องผลิตข่าวในปริมาณจำนวนเท่าเดิมหรือมากกว่า อาจทำให้นักข่าวต้องรับแรงกดดันที่ประเดประดังเข้ามาบีบคั้นหลายด้าน ในห้วงเวลาที่ใกล้กัน

แล้วที่สุด นักข่าวในสนามจึงจำเป็นต้องเลือกเส้นทางที่จะ “ฮั้วข่าว” มากกว่าความพยายามที่จะทำข่าวเดี่ยวหรือข่าวเจาะ

ภาวะกดดันเหล่านั้นได้ถูกสะท้อนผ่านไปยังหัวหน้าข่าว บรรณาธิการข่าว เป็นลำดับ  จนในที่สุด ทำให้เกิดการยอมรับข้อจำกัดที่เกิดขึ้นในระดับหนึ่ง

หลังรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เข้ามาบริหารประเทศในปี 2544 หลายฝ่ายเริ่มมองเห็นเค้าลางว่า ภาวะเศรษฐกิจทั่วไปเริ่มเข้าสู่ช่วงขาขึ้น หรือมีแนวโน้มว่าเศรษฐกิจจะกลับมามีอัตราการขยายตัวสูงอีกครั้ง หลายสำนักพิมพ์เริ่มคลายกฎเกณฑ์และข้อจำกัดต่างๆ ขององค์กรลง เพื่อปรับเข้าสู่สภาพเดิมอีกครั้ง

หลายสำนักพิมพ์ประกาศรับสมัครนักข่าวเพิ่ม  ปรับระบบสวัสดิการต่างๆ ให้กับนักข่าวมากขึ้น  เรียกได้ว่านักข่าวเริ่มหายใจคล่องกันในระดับหนึ่ง แต่ไม่เท่าเทียมกันทุกสำนักพิมพ์ ในสำนักพิมพ์เล็กๆ  ก็ยังคงใช้เงื่อนไขและข้อจำกัดด้านเศรษฐกิจ ต้องดิ้นรนเพื่อการอยู่รอดอยู่ต่อไป

เป็นการดิ้นรนดำรงอยู่ในท่ามกลางวัฒนธรรมการเมืองใหม่ที่ใช้ “การตลาด”  เข้ามาเป็นกลไกในการทำงาน ได้มีการอาศัย “ช่องว่าง” ของภาวะเศรษฐกิจเข้ามาแทรกแซงการทำงานของสื่อ โดยใช้เงื่อนไขของ

“งบโฆษณา” ที่เป็นรายได้หลักของสำนักพิมพ์ มาต่อรองเพื่อให้ “สื่อ” ยอม “เซ็นเซอร์” ตัวเอง ด้วยการไม่นำเสนอข่าวที่กระทบกระทั่งผู้นำหรือบุคคลในรัฐบาล

เกิดเงื่อนไขใหม่ ที่ว่าเป็นการยื่นหมูยื่นแมว เพื่อแลกผลประโยชน์ระหว่างนายทุนสื่อกับนักการเมืองในฐานะผู้บริหารประเทศหรือเป็นเจ้าของสินค้า

นอกจากนั้นแล้ว การบริหารประเทศใน “ยุคทักษิณ” ได้สร้างวัฒนธรรมการเมืองแบบคิดไว ทำไว วัฒนธรรมส่งผลให้นักข่าวที่อยู่ในแต่ละสนามต่างต้องวิ่งไล่ตามข่าวที่ถูก “ผู้นำ” เปิดประเด็นใหม่ๆ ออกมากลบประเด็นเก่าๆ อย่างสม่ำเสมอ

ในแง่ปริมาณคนที่มีน้อยอยู่แล้ว ทำให้นักข่าวจำเป็นต้องสร้างทีมขึ้นอย่างอัตโนมัติ เพื่อรับมือกับข่าวไล่ล่าประเด็นที่ถูกปล่อยออกมาไม่เว้นแต่ละวัน

จากปัจจัยทั้งหมดข้างต้น ทำให้ “วัฒนธรรมก๊อบปี้ข่าว” ก็ยังคงดำรงอยู่

เมื่อหนังสือพิมพ์ยอม “วาง” จรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ เพื่อแลกกับความอยู่รอดของธุรกิจสื่อ ทำให้มีการส่งสัญญาณผิดๆ ไปยังนักข่าวในสนาม นักข่าวในฐานะลูกจ้างที่แม้มากไปด้วยไฟและอุดมการณ์เต็มเปี่ยม จึงต้องยอมจำนน  เกิดภาวะหลิ่วตาตามแนวนโยบายของสำนักพิมพ์ ในฐานะเจ้าของธุรกิจสื่อ มองไม่เห็นหรือบางครั้งมองข้ามประเด็นข่าว หรือแม้จะยังทำหน้าที่ตรวจสอบหรือถ่วงดุล  และตกอยู่ในบรรยากาศ “เซ็นเซอร์”  ตัวเองไปโดยปริยาย

ท่ามกลางบรรยากาศที่หลายสำนักพิมพ์ยังคงทำหน้าที่ของ  “นักหนังสือพิมพ์” อย่างแข็งขันต่อไป มองข้ามเงื่อนไข “ธุรกิจของสื่อ” ข้ามช็อตไปถึงเป้าหมายการให้บริการด้านข่าวสารอย่างรอบด้านเท่านั้น

อาจกล่าวได้ว่า ผลสะเทือนจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจโดยรวมที่ถูกทำให้ล่มสลายลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผสมกับวัฒนธรรมการเมืองใหม่ ยิ่งทำให้นักข่าวสร้างสิ่งแวดล้อมใหม่ที่เอื้อเฟื้อต่อกัน จนไม่อาจแยกแยะ “สาร” ที่ถูกสื่อไปยังผู้อ่านได้โดยปริยาย

ผลที่ตามมาก็คือ “สาร” ที่ถูกสื่อไปยัง “ผู้บริโภค” ไม่มีความแตกต่างในเนื้อหา เท่ากับสื่อกำลังทำร้ายผู้อ่านโดยไม่รู้ตัว กลายเป็นผู้ทำหน้าที่ “จุดพลุ” ตามการชี้นำของผู้กำกับกลไก ทำให้พลังในการตรวจสอบถูกทำลายไปหลายส่วน

ประสิทธิภาพของนักข่าวไม่ได้รับการพัฒนาไปสู่  “ความเป็นมืออาชีพ”  เคยชินกับวัฒนธรรมการ “ลอกข่าว”  ข่าวที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์แต่ละฉบับแทบไม่ต่างจาก “สาร”  ในสื่อสาขาวิทยุหรือโทรทัศน์

วงจร  “ก๊อบปี้ข่าว”  กำลังกร่อนทำลายวิชาชีพ “นักหนังสือพิมพ์” ให้อ่อนล้าลงไปตามกาลเวลาและสิ่งแวดล้อมใหม่ที่ถาโถมเข้ามาเป็นระลอก