เปิดนาทีก่อนเส้นตายปิดกรอบ นสพ.ฉบับประวัติศาสตร์

ท่ามกลางข่าวบัญชีนายกฯจากพรรคไทยรักษาชาติ จนถึงพระราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ในช่วงดึกของวันที่ 8 ก.พ.2562 กลายเป็นข่าวใหญ่ของประเทศที่สื่อมวลชนทุกแขนง นำเสนอรายงานข่าวตลอดทั้งวัน ไม่เว้นแต่สื่ออย่างหนังสือพิมพ์หยิบยกเป็นหน้าข่าว 1 ของหนังสือพิมพ์หลายฉบับไปแล้ว

จากกระบวนการผลิตหนังสือพิมพ์จนถึงวางขายบนแผง ต้องผ่านหลายกระบวนการ ตั้งแต่นักข่าวภาคสนาม ช่างภาพ รีไรท์เตอร์ ฝ่ายจัดหน้า ไปจนถึงขั้นตอนการผลิต ทุกหน้าที่อยู่ภายใต้สถานการณ์ "กดดัน" ทุกนาที จากกำหนดเส้นตายต้องปิด "ต้นฉบับ" หนังสือพิมพ์ฉบับพิเศษให้ทันเหตุการณ์ใหญ่ไปพร้อมกับการวางขายในเช้าวันรุ่งขึ้น วันนี้ "จุลสารราชดำเนิน" ได้พูดคุยกับบุคคลในเหตุการณ์ครั้งสำคัญ บนแรงกดดันในค่ำคืนที่ถูกกำหนดการปิดต้นฉบับหนังสือพิมพ์ให้ทันเหตุการณ์ บนหน้าประวัติศาสตร์ของการเมืองไทย

เริ่มต้นที่ "ธีระพงษ์ เหลืองทองกุล" บรรณาธิการข่าวหน้า 1 หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ในฐานะบรรณาธิการข่าวหน้า 1 ประจำวันที่ 8 ก.พ. "ธีระพงษ์" เล่าให้ฟังว่า ตั้งแต่เช้ารู้แล้วว่าประเด็นข่าวการเมืองวันนี้ ทุกคนจับจ้องไปที่พรรคไทยรักษาชาติจะมีบิ๊กเซอร์ไพรส์อะไรหรือไม่ จนเมื่อมีข่าวออกมายืนยันว่าเป็นเรื่องจริง ถือเป็นประวัติศาสตร์การเมืองไทย ต้องปรับหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ให้พิเศษ ต้องพาดหัวข่าวให้โดดเด่น จึงออกแบบไว้ให้พาดหัวขนาดใหญ่ขึ้น ซึ่งเดลินิวส์ก็มีหนังสือพิมพ์ 2 กรอบที่สามารถลงได้ตามเวลาเช่นเดียวกับหนังสือพิมพ์ฉบับอื่นในกรอบแรกๆ จากนั้นเมื่อรู้ว่าจะมีพระราชโองการประมาณ 21.30 น. จึงได้เตรียมให้หนังสือพิมพ์กรอบสุดท้าย (6 ดาว) ที่ต้องปิดในคืนวันที่ 8 ก.พ. ตั้งใจยืนประเด็นข่าวนี้อยู่แล้วในข่าวพาดหัวหน้า 1

"ธีระพงษ์" บอกถึงนาทีสำคัญว่า แต่เมื่อมีพระราชโองการออกมาช่วงเวลา 22.40 น. ได้เผื่อไว้แล้วว่าต้องปรับหัวข่าวใหม่อย่างไร โดยประสานรีไรท์เตอร์เตรียมข้อมูลให้พร้อม ส่วนตัวได้เตรียมเขียนให้หัวข่าวไว้ เรียกว่าต้องเรียกว่าคิดเร็วทำเร็ว ต้องแข่งกับเวลา ต้องวางแผนจะปิดหนังสือพิมพ์กรอบสุดท้ายกี่โมง และต้องไปแจ้งให้เตรียมตัวใส่ข่าวประเด็นใหม่เข้าไปใหม่แทนกรอบแรก เพื่อให้ทุกกระบวนการเดินหน้าไปพร้อมกัน สุดท้ายก็ปิดข่าวทันเวลา สามารถส่งขายหนังสือพิมพ์ได้ เพราะสถานการณ์พิเศษแบบนี้จะรอข่าวมาถึงเราไม่ได้ ต้องวิ่งเข้าหาข่าวทันที

"ธีระพงษ์" เปิดเผยด้วยว่า ที่ผ่านมาในช่วงที่เป็นบรรณาธิการข่าวหน้า 1 หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ได้ผ่านมาหลายเหตุการณ์ที่เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ต้องปิดต้นฉบับหนังสือพิมพ์ให้เสร็จ แต่ต้องนึกถึงคุณภาพของหนังสือพิมพ์ให้มาเป็นอันดับแรก ที่สำคัญต้องเป็นไปตามจริยธรรมจรรยาบรรณของคนทำสื่อหนังสือพิมพ์ ยอมรับว่า แต่ละสถานการณ์มีความกดดัน ถ้าข่าวมาในเวลาฉิวเฉียดกับการปิดต้นฉบับ แต่ทั้งหมดจะอยู่ที่การประสานงาน เรียกง่ายๆ ว่าต้องเป็นมือประสาน 10 ทิศ ต้องนึกถึงทุกแผนก เพราะหลายเหตุการณ์ใหญ่เกิดขึ้นก่อนเวลาปิดข่าวก็จำเป็นต้องรอ

ถามว่ารู้สึกอย่างไรที่เมื่อเกิดเหตุการณ์ใหญ่เกิดขึ้นคนในสังคมยังต้องการซื้อหนังสือพิมพ์เก็บไว้ "ธีระพงษ์" ยอมรับว่า จากวิกฤติของสื่อสิ่งพิมพ์ เราจะทำแบบเช้าชามเย็นชามไม่ได้ ต้องคิดและปรับตัวอยู่ตลอดเวลา ต้องผลิตออกมาให้มีคุณภาพและสวยงาม หลายครั้งใช้เวลาคัดเลือกภาพถ่ายให้ออกมาดี รวมถึงต้องเขียนข่าวให้กระชับ เพื่อให้ผู้อ่านได้อ่านง่ายและเข้าใจเร็วที่สุด และต้องเตรียมพร้อมทำงานเสมอ ต้องเรียนรู้เป็นบทเรียนและนำประสบการณ์ไปใช้ต่อไป

ขณะที่เจ้าของสโลกแกน "อิสรภาพแห่งความคิด" หนังสือพิมพ์ "ไทยโพสต์" เป็นอีกสำนักข่าวที่มีกลุ่มคนชอบอ่านข่าวการเมืองเหนียวแน่น ต้องรับความท้าทายก่อนยิงเพลทส่งขึ้นแท่นพิพม์เพียงไม่กี่นาที โดย "ปรัชญาชัย ดัชถุยาวัตร" หัวหน้าข่าวหน้า 1 หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ เล่าถึงบรรยากาศการทำงานให้ฟังว่า ตั้งแต่ช่วงเช้าเมื่อทราบชื่อบัญชีนายกฯ ออกมา ก็คุยกันในกองบรรณาธิการว่าจะใช้คำราชาศัพท์อย่างไรในการพาดหัวข่าว เพราะถือว่าไม่เคยอยู่ในบรรยากาศแบบนี้มาก่อน ทำให้ต้องเช็คสถานการณ์หลังจากมีข่าวลือมา 2-3 วันแล้ว เมื่อปรากฏชื่อออกมาชัดเจน ก็ประเมินไว้ว่าน่าจะมีประกาศจากสำนักพระราชวังออกมาหรือไม่ ในช่วงนั้นก็รายงานข่าวไปตามสิ่งที่เกิดขึ้น แต่นักข่าวก็แจ้งมาในข่วงดึกว่า จะมีประกาศออกมาในช่วงเวลา 21.40 น. จนมาทราบอีกครั้งว่าประกาศจะมีออกมาช่วงเวลา 23.00 น. แต่เรายังไม่รู้ว่าจะมีเนื้อหาพระราชโองการเป็นอย่างไร บก.ข่าวบอกว่าให้รอถึงนาทีสุดท้าย และพร้อมรื้อหัวใหญ่ที่เตรียมไว้แล้ว ซึ่งเวลาจริงๆ เพลทสุดท้ายต้องยิงเวลา 23.00 น.พอดี

"ปรัชญาชัย" ยอมรับว่าถ้าเปลี่ยนหัวไม่ทันเหตุการณ์ข่าวก็เอาท์ไปเลย เพราะสถานการณ์ตอนเช้าอาจเปลี่ยนไปอีก ดังนั้นเมื่อไทยโพสต์มีกรอบเดียวต้องยื้อจนนาทีสุดท้าย และต้องไปลุ้นว่าจะตกรถส่งหนังสือพิมพ์หรือไม่ แต่สุดท้ายก็ทันหวุดหวิด เพราะถ้าเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นหลังเวลา 23.00 น.ก็ต้องทำใจ ถ้าปิดต้นฉบับไม่ทันจะมีผลกระทบโดยเฉพาะหนังสือพิมพ์อาจถูกตีกลับมาได้ ถึงแม้ก่อนหน้านี้ในเชิงข่าวการเมืองจะมีสถานการณ์แบบนี้เกิดขึ้น แต่ครั้งนี้ถือว่าเป็นปรากฏการณ์ครั้งแรก ต้องปรับแผน ต้องตรวจสอบข่าวหลายครั้ง เพื่อกำหนดแผนงานในกองบรรณาธิการให้ถูกต้องมากที่สุด และรอประกาศออกมาอย่างเป็นทางการ

"เสน่ห์ของหนังสือพิมพ์มันอยู่ตรงนี้ ยังไม่ตาย มันยังมีชีวิต เป็นเสน่ห์ของสื่อไปอีกแบบ ตื่นเช้ามากินกาแฟอ่านหนังสือพิมพ์ ข่าวออนไลน์ไปเร็ว แต่หนังสือพิมพ์เก็บไว้เป็นประวัติศาสตร์ไว้ดูได้ เป็นเสน่ห์ที่ต่างจากสื่อออนไลน์ ที่ยังมีจริยธรรม ตรวจสอบ ถูกต้อง รอบด้าน ยังเป็นความภูมิใจ ทุกสื่อหนังสือพิมพ์เคยเจอเหตุการณ์ลักษณะนี้และมีประสบการณ์อยู่แล้ว ได้ลุ้นความเคลื่อนไหวก่อนปิดหนังสือพิมพ์ ต้องปรับตัวให้ทันและสแตนบายตลอดเวลา"ปรัชญาชัย ระบุ

ด้านสื่อยักษใหญ่ย่านบางนา "กรุงเทพธุรกิจ" เป็นอีกหนึ่งฉบับที่ต้องปรับแผนเพิ่มกรอบ 2 ออกมาให้ทันกับเนื้อหาพระราชโองการ โดย "นิภาวรรณ แก้วรากมุกข์" บรรณาธิการข่าวการเมืองหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เล่าให้ฟังว่า ในช่วงหัวค่ำหนังสือพิมพ์กรอบแรกได้ปิดไปแล้วตอนเวลา 20.00 น. แต่ก็ได้รับแจ้งมาว่าช่วงเวลา 21.50 น. จะมีพระราชโองการ ก็เชื่อว่าน่าจะเป็นเรื่องสำคัญ ถึงแม้จะมีหนังสือพิมพ์กรอบแรกไปแล้ว ก็ต้องมีแผนเตรียมกรอบ 2 เพิ่มเติม เพราะจัดส่งในพื้นที่กรุงเทพฯ ในเวลานั้นต้องรอเนื้อหาและให้ทีมสแตนบายเพื่อตรวจสอบประเด็นสำคัญ โดยเฉพาะต้องมีการรื้อหน้าและภาพใหม่ รวมถึงการพาดหัวข่าวต้องมีทุกฝ่ายมาช่วยกันดู เพราะเนื้อหาค่อนข้างจะละเอียดอ่อน ส่วนเนื้อหาในหนังสือพิมพ์ต้องไปร้อยเรื่องใหม่ โดยนำสถานการณ์ปัจจุบันเข้าไปเพิ่มเติม เพราะเป็นเหตุการณ์ครั้งประวัติศาสตร์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ต้องให้ความสำคัญในเรื่องนี้ ต้องเลือกเนื้อหาที่เป็นข้อเท็จจริง และหลีกเลี่ยงความเห็น

"สำหรับกรุงเทพธุรกิจถ้ามีสถานการณ์พิเศษ ต้องเพิ่มเป็น 2 กรอบเตรียมไว้อยู่แล้วเพราะเป็นนโยบาย แต่ถือว่าบรรยากาศไม่กดดันมากนัก เพราะมีประสบการณ์ที่ผ่านมารู้ได้ว่าเป็นเรื่องใหญ่ จึงตัดสินใจไม่ยาก แต่จะยากเรื่องการสื่อสารอย่างไร โดยจะยึดเนื้อหาในพระราชโองการมากกว่าความเห็นทางการเมือง อีกทั้งกรอบ 2 จัดส่งในพื้นที่กรุงเทพฯ ทำให้ถือว่ายังมีเวลาที่จะเตรียมข้อมูลให้เรียบร้อยมากที่สุด ก่อนจะปิดต้นฉบับในเวลา 00.00 น."นิภาวรรณ ระบุ

มาที่ฝั่งยักษ์ใหญ่หนังสือพิมพ์ "ไทยรัฐ" ในค่ำคืนเฝ้ารอพระราชโองการออกประกาศทั่วประเทศ หนึ่งในกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เล่าให้ฟังว่า ได้ให้ทีมงานทุกฝ่ายอยู่สแตนบายเตรียมพร้อม รอฟังเนื้อหาในพระราชโองการ ตั้งแต่ฝั่งเว็ปไซค์ ไทยรัฐทีวี หนังสือพิมพ์ และเมื่อมีพระราชโองการออกมา ก็นำเนื้อหามาปรับให้เข้าสไตล์ของแต่ละสื่อ โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ในกรอบกทม. ได้ถูกเลื่อนการปิดออกประเกือบ 1 ชั่วโมง เพราะถือว่าเรื่องนี้เป็นประเด็นใหญ่มาก ต้องตรวจสอบจากคนที่เกี่ยวข้อง ในช่วงแรกมีบางคนในกองบรรณาธิการคาดว่าจะปิดต้นฉบับไม่ทัน แต่สุดท้ายก็สามารถปิดทันจนสำเร็จ จนรุ่งเช้ามาก็เห็นว่าหนังสือพิมพ์หลายฉบับก็ปิดข่าวนี้ได้ทันเช่นกัน

ก่อนหน้านี้ "ไทยรัฐ" เคยตกอยู่ในสถานการณ์เกือบปิดข่าวไม่ทัน ในช่วงเกิดเหตุการณ์สำคัญขึ้นมา หลายอย่างฉุกละหุก ถ้ามีข่าวเกิดขึ้นในช่วง 3 ทุ่มกว่าๆ ทุกอย่างต้องวางแผนก่อนส่งขึ้นสู่ระบบแท่นพิมพ์ ที่ผ่านมากระบวนการผลิตได้เดินหน้าไปแล้ว แต่ปรากฏว่ามีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น ต้องให้ผู้ใหญ่ในไทยรัฐเป็นผู้ตัดสินใจว่าจำเป็นต้องหยุดพิมพ์ในช่วงนั้นหรือไม่ เพราะถ้าเกิดความล่าช้าก็มีความเสียหายตามมาเช่นกัน ถ้าขายไม่ทันตอนเช้าวันรุ่งขึ้นผลจะเป็นอย่างไร เพราะทุกข่าวต้องไม่เอาท์ สำหรับไทยรัฐแล้วถ้ารู้ว่าจะมีข่าวใหญ่สะเทือนทั้งแผ่นดินจะต้องรอ ย้ำว่าอย่างไรก็ต้องรอได้ ถ้าไม่รอจะมีความเสียหายมากกว่าการรอ เพราะเป็นหัวใจสำคัญของการทำสื่อหนังสือพิมพ์ เช่นเดียวกับทุกสื่อ หากเกิดอะไรขึ้นต้องรอ เพื่อปิดข่าวให้สมบูรณ์ที่สุด