สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบสามในเวลานี้ ทำเอาหลายองค์กรธุรกิจได้รับผลกระทบไปตามกัน ที่ก็รวมถึงธุรกิจสื่อที่ส่วนใหญ่ต้องพึ่งเม็ดเงินโฆษณาประชาสัมพันธ์จากทั้งภาคธุรกิจเอกชนและภาครัฐ แต่ผลกระทบรอบนี้ สำหรับธุรกิจสื่อ จะได้รับผลกระทบมากน้อยแค่ไหน ต้องรอประเมินกันอีกครั้งหลังโควิดรอบสาม คลี่คลายลง
แต่สำหรับโควิดรอบแรกตั้งแต่มีนาคมปี 2563 และโควิดรอบสองช่วงต้นปี 2564 ก็เห็นชัดว่า ธุรกิจสื่อ-คนทำสื่อ-สื่อมวลชน พบว่ามีจำนวนไม่น้อยที่ต่างได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เช่นเดียวกับธุรกิจอื่นๆ โดยผลกระทบจากโควิดทั้งสองรอบ จะส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจ-การดำเนินกิจการของธุรกิจสื่อ ไม่ว่าจะเป็นสื่อแขนงใด และจะเป็นสื่อขนาดใหญ่หรือสื่อขนาดเล็กมากน้อยแค่ไหน สิ่งหนึ่งที่พอจะเห็นภาพดังกล่าวได้ชัดเจนก็คือ การดูที่ผลประกอบการของธุรกิจสื่อแต่ละแห่งในรอบปี 2563 ที่ผ่านพ้นไป ซึ่งผลประกอบการดังกล่าว ส่วนหนึ่งก็จะสะท้อนออกมาในรูปแบบของ”การจ่ายเงินเดือน-ค่าตอบแทนให้กับ พนักงาน-กองบรรณาธิการ” รวมถึงเงินพิเศษประจำปีอย่าง”โบนัสประจำปี”ตลอดจนเรื่องของสวัสดิการต่างๆ ที่องค์กรสื่อแต่ละแห่งมีให้กับพนักงาน-กองบก.
”หนังสือวันนักข่าวประจำปี 5 มีนาคม 2564 “ที่เผยแพร่เมื่อช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ได้รวบรวมสรุปมาเป็นข้อมูลในบางองค์กร ไว้โดยสังเขป “โดยเป็นการรายงานข้อมูลที่เกิดขึ้นก่อนโควิดรอบสาม เมื่อช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา” ดังนี้
ค่ายไทยรัฐคนข่าว ทีวี-ออนไลน์ เป๋าตุง
เริ่มที่ สื่อเครือไทยรัฐ ของตระกูล”วัชรพล”ที่มีสื่อในเครือ ทั้งหนังสือพิมพ์ไทยรัฐรายวัน -ไทยรัฐทีวีและเว็บไซด์ไทยรัฐออนไลน์
เริ่มที่”ไทยรัฐทีวี” พบว่าปี 2563 เป็นอีกหนึ่งปีที่มีการให้โบนัส-ค่าตอบแทนพิเศษกับพนักงานไทยรัฐทีวี โดยแม้ช่วงปี 2563 จะมีวิกฤตโควิดฯ มาจนถึงต้นปี 2564 แต่ผลประกอบการ-รายได้จากโฆษณา ยังเติบโตต่อเนื่อง ทำให้เมื่อปลายเดือนมกราคม 2564 ที่ผ่านมา ไทยรัฐทีวี มีการประกาศแจ้งพนักงานในเครือให้ทราบถึงการให้โบนัสประจำปี ที่มีการโอนเงินเข้าบัญชีพนักงานแต่ละคนเมื่อ 30 ม.ค. 2564
มีรายงานว่า ไทยรัฐทีวี มีการให้โบนัสกับพนักงาน-ฝ่ายข่าว โดยเป็นการให้ตามผลการพิจารณาประเมินผลการทำงานในรอบปี 2563 ที่มีการแบ่งเกรดออกมาเป็น ดังนี้ พนักงานหรือฝ่ายข่าวที่ได้เกรด D จะไม่ได้รับโบนัสแต่อย่างใด ถัดมาเป็นพนักงานเกรด C จะได้โบนัสจำนวน 1.5 หรือเท่ากับได้โบนัสครึ่งเดือนหรือ 50 เปอร์เซ็นต์ ของเงินเดือนที่รับประจำ จากนั้นเป็นเกรด B จะได้โบนัสเป็นจำนวน 0.9 หรือเท่ากับประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือนประจำที่ได้รับ
ส่วนพนักงานหรือฝ่ายข่าวที่ได้รับการประเมินผลงานว่าอยู่ในเกรด A จะได้โบนัสเป็นจำนวนเงิน 1.15 หรือประมาณเงินเดือนหนึ่งเดือนบวกกับสิบห้าวัน ของเงินเดือนที่ได้รับประจำ และดีสุดคือพนักงานที่ได้รับการประเมินผลการทำงานว่าอยู่ในเกรด A+ ก็จะได้โบนัสเป็นจำนวน 1.36 ของเงินเดือนประจำที่ได้รับแต่ละเดือน
ส่วนเรื่อง”การปรับขึ้นเงินเดือน”พบว่าจนถึงช่วงเดือนมกราคม 2564 ยังไม่มีสัญญาณใดๆออกมาในเรื่องนี้
“สำหรับเรื่องผลกระทบโควิดฯ ทั้งรอบแรกและรอบสองตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคม 2563 จนถึงช่วงมกราคม 2564 ภาพรวมไม่ถือว่ามีผลกระทบมากนัก กับพนักงานและฝ่ายข่าวของไทยรัฐทีวี เพราะไม่ได้มีการลดคน เอาคนออก หรือตัดเงินต่างๆ เช่น ค่าโอทีหรือทำงานล่วงเวลาหรือค่าเบี้ยเลี้ยงต่างๆ อะไรออกไป ทุกอย่างเป็นปกติหมด ไม่มีการตัดสวัสดิการอะไรของพนักงานและฝ่ายข่าวแม้แต่อย่างเดียว
ขณะเดียวกัน ช่วงโควิด โดยเฉพาะช่วงโควิดรอบแรก ที่ตอนนั้นคนสนใจข่าวสารกันมาก ทำให้คนเข้ามาติดตามข่าวจากไทยรัฐทีวี มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทั้งการติดตามโดยตรงจากไทยรัฐทีวีและเฟซบุ๊กของไทยรัฐทีวี จนทำให้ยอดเรตติ้งคนดู คนตามไทยรัฐทีวี และสื่อโซเชียลของไทยรัฐทีวีมีเรตติ้งเพิ่มขึ้นอย่างมาก “แหล่งข่าวในไทยรัฐทีวีให้ข้อมูลไว้
เช่นเดียวกับสื่อในเครืออย่าง”ไทยรัฐออนไลน์”ก็พบว่ามีการจ่ายโบนัสให้กับพนักงาน-กองบก.ในส่วนของไทยรัฐออนไลน์เช่นกัน โดยมีการประกาศและจ่ายเงินโบนัสให้กับพนักงานไปเมื่อช่วงสิ้นเดือนมกราคม2564 ที่ผ่านมา
ตามข่าวพบว่า ในส่วนของไทยรัฐออนไลน์ มีการให้โบนัสตามเกณฑ์ประเมินงานแต่ละคนเช่นกัน ไม่ได้มีการให้แบบเหมารวมทุกคน โดยพบว่าเกณฑ์ทั้งขั้นต่ำและขั้นสูง ค่าเฉลี่ยแล้วอยู่ที่ประมาณแตะ 2 เดือน และเป็นการจ่ายที่มีการให้โบนัสที่มากกว่าตอนปี 2562 ที่มีการจ่ายในช่วงเดือนมกราคม 2563
“ช่วงโควิดฯ สองรอบก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะโควิดรอบแรก พบว่า ยอดการเข้าเว็บไซด์ไทยรัฐออนไลน์และผ่านเพจเฟซบุ๊กของไทยรัฐออนไลน์เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เพราะเป็นช่วงที่คนต้องการข้อมูลข่าวสารมาก ต้องการรู้ว่าการแพร่เชื้อ การติดเชื้อแต่ละพื้นที่เป็นอย่างไร มีคนติดโควิดฯมากน้อยแค่ไหน การป้องกันตัวเองไม่ให้ติดโควิด ทำให้ช่วงโควิดระบาดรอบแรก คนจะเข้าติดตามข่าวและตัวเลขในไทยรัฐออนไลน์จำนวนมาก
ที่น่าสังเกตุอย่างหนึ่งก็คือพบว่าข่าวเกี่ยวกับเรื่องมาตราการช่วยเหลือของภาครัฐ ที่ช่วยเหลือประชาชนจากผลกระทบโควิดฯ โดยเฉพาะข่าวเรื่องการให้เงินเยียวยา แก่ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ หรือเรื่องโครงการ คนละครึ่งพบว่ามีคนเข้ามาชมข่าวเรื่องนโยบายการช่วยเหลือจากภาครัฐจำนวนมาก ทั้งการติดตามรายละเอียดโครงการ เรื่องขั้นตอนการเปิดลงทะเบียน รวมถึงอีกหลายนโยบายที่รัฐบาลออกมาเช่น เราเที่ยวด้วยกัน เที่ยวปันสุข พบว่า มีคนเข้ามาติดตามกันมาก เช่นเดียวกับตอนโควิดรอบสอง ที่เริ่มช่วงปลายเดือนธันวาคม 2563 พบว่ายอดการเข้าชมข่าว ในไทยรัฐออนไลน์ก็เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน “แหล่งข่าวจากทีมงานไทยรัฐออนไลน์ให้ข้อมูล
ขณะที่เรื่องผลกระทบจากโควิดฯ พบว่าในส่วนของ”ทีมข่าว-กองบก. ไทยรัฐออนไลน์”ไม่ได้รับกระทบอะไรมาก ทุกอย่างยังเหมือนเดิม ทางผู้บริหาร ไม่ได้มีการขอลดเงินเดือน-ลดสวัสดิการ-ลดโอที อะไรทั้งสิ้น ขณะเดียวกันก็ไม่ได้มีการเอาคนออกหรือเลิกจ้างพนักงานของไทยรัฐออนไลน์เช่นกัน แต่กลับกลายเป็นว่าเงินโบนัสได้มากขึ้นกว่าปี 2562 ตอนไม่มีโควิดเสียอีก
ปิดท้ายที่สื่อในเครือไทยรัฐอีกหนึ่งสื่อและเป็นสื่อดั้งเดิม-เรือธงทางธุรกิจ ที่ทำให้ เครือไทยรัฐเติบโตมาถึงทุกวันนี้นั่นก็คือ”หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ”
ข้อมูลที่ออกมา พบว่า ปี 2563 ที่ผ่านไปเป็นปีที่สองติดต่อกันแล้วที่ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ไม่ได้มีการจ่ายเงินโบนัสให้กับพนักงาน-กองบก.หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ จากเดิมที่จะมีการจ่ายโบนัสช่วงประมาณปลายปีของทุกปี แต่ปี 2563 ก็ไม่ได้มีการจ่ายโบนัสให้แต่อย่างใด
ตามข่าวบอกว่า แม้ผู้บริหารของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ จะไม่ได้มีการแจ้งเหตุผลให้กับพนักงานและกองบก.หนังสือพิมพ์ไทยรัฐทราบอย่างเป็นทางการถึงการที่ไม่มีโบนัสให้กับพนักงาน แต่ก็เป็นที่รู้กันในหมู่พนักงาน-กองบก.หนังสือพิมพ์ไทยรัฐว่าเป็นผลจากสภาวะเศรษฐกิจถดถอยและผลกระทบจากโควิดฯรวมถึงสภาวะดิสรัปชั่นของสื่อสิ่งพิมพ์ ทำให้ยอดขายและยอดโฆษณาลดลงต่อเนื่อง จนส่งผลให้มีรายได้เข้ามาที่หนังสือพิมพ์ลดน้อยลงไปทุกปี จึงไม่มีการจ่ายเงินโบนัสให้พนักงานแต่อย่างใด
นอกจากนี้พบว่า เมื่อช่วงกลางๆปี 2563 ทางหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ได้มีการลดขนาดองค์กร ลดจำนวนพนักงานในส่วนของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐลง โดยมีการเปิดโครงการเออรี่รีไทร์ ให้พนักงานและกองบก.ได้เข้าร่วมโครงการเพื่อลาออกและรับเงินชดเชยตามกฎหมาย ที่ก็มีคนสมัครเข้าร่วมโครงการจำนวนหนึ่ง แต่ต่อมา ก็ได้มีการปรับโครงสร้างกองบก.อีกรอบเพื่อให้กองบก.หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ มีขนาดเล็กลงเพื่อความคล่องตัวและควบคุมค่าใช้จ่ายในกองบก. ทำให้มีการเลิกจ้างนักข่าวไปจำนวนหนึ่ง เช่นโต๊ะข่าวการเมือง ก็มีการเลิกจ้างพนักงาน-กองบก.ประมาณ 3 คน โดยมีการจ่ายค่าเลิกจ้างตามกฎหมายทุกประการ
ช่อง 7 เอชดีไม่ค่อยได้รับผลกระทบมาก
ด้าน สถานีโทรทัศน์ช่องยักษ์ใหญ่ อย่าง “ช่อง 7 เอชดี”จากข้อมูลที่ได้รับพบว่า จนถึงช่วงปลายเดือนมกราคม 2564 แหล่งข่าวในกองบก. สถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7 ให้ข้อมูลว่า ได้รับสัญญาณว่าจะมีการให้โบนัสกับพนักงานของสถานีกองทัพบกช่อง 7 เหมือนเช่นทุกปี โดยการให้โบนัสจะพิจารณาตามผลงานของแต่ละคน ไม่ได้ให้แบบเหมารวม ส่วนการพิจารณาปรับขึ้นเงินเดือนยังไม่มีการแจ้งกับฝ่ายข่าว
สำหรับผลกระทบโควิดฯ ต่อเรื่องรายได้และสวัสดิการของฝ่ายข่าว-กองบก. ช่อง 7 พบว่า ในส่วนของนักข่าว -คนทำงานในภาคสนามเช่นนักข่าวทีวี-ช่างภาพ ไม่ได้รับผลกระทบอะไร เพราะฝ่ายบริหาร ไม่ได้มีการขอลดเงินเดือน หรือลดค่าครองชีพ ลดโอทีแต่อย่างใดทุกอย่างยังเป็นปกติ
“แต่ที่นักข่าวภาคสนามได้รับผลกระทบมากกว่าในช่วงโควิดฯ คือเรื่องข้อจำกัดในการทำงานอย่างตอนโควิดรอบสองเมื่อช่วงต้นปี 2564 ที่มีการประกาศพื้นที่สีแดง 28 จังหวัด ก็ทำให้นักข่าวที่ทำข่าวภูมิภาค หรือนักข่าวส่วนกลางแต่ต้องไปข่าวต่างจังหวัด พอเกิดโควิดระบาดหนัก ก็ทำให้การทำข่าวข้ามจังหวัดต้องหยุดไปเลย เพราะมีข้อยุ่งยากมากในการเดินทาง และกองบก.ก็บอกว่าเพื่อความปลอดภัยของตัวนักข่าวด้วยจะได้ไม่เสี่ยงติดโควิดฯ ส่วนสวัสดิการอื่น ๆก็ยังอยู่ครบเหมือนเดิมเช่นค่าเบี้ยเลี้ยงแบบเหมาจ่ายก็ยังให้ตามปกติ ไม่ได้มีการตัดออกหรือขอปรับลดแต่อย่างใด “แหล่งข่าวจากกองบก.ข่าวช่อง 7 ให้ข้อมูล
นอกจากนี้ มีรายงานว่า แต่ในส่วนของกองบก.ข่าว ช่อง 7 ที่ทำงานในออฟฟิศที่สถานี ฯ อาจจะมีบ้างที่ได้รับผลกระทบ เพราะเป็นส่วนที่ต้องมาสแกนบัตรทำงานให้ครบตามชั่วโมงทำงาน ก็ปรากฏว่าในช่วงโควิดระบาดโดยเฉพาะช่วงแรก ช่วงปี 2563 ทางสถานีก็มีการให้พนักงาน-กองบก.บางส่วนทำงานแบบ work from home ทำให้ ฝ่ายข่าว กองบก. ก็มีการแบ่งทีม แบ่งเวลากันทำงาน ทำให้กองบก.บางส่วนที่อาจเคยเข้าเวรแล้วเลิกค่ำหรือทำงานเกินเวลา 8 ชั่วโมง ที่จะได้ค่าทำงานล่วงเวลา แต่เมื่อมีการให้ทำงานแบบ work from home โดยอยู่ในสถานีน้อยลง ช่วงดังกล่าวจะไม่ได้เงินค่าทำงานล่วงเวลา อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้มีข้อดี เพราะทำให้พนักงานมีเวลาส่วนตัวมากขึ้น
"ของทางช่อง 7 ที่ผ่านมา ไม่เคยมีการเอาคนนอกแต่อย่างใด ทุกคนยังอยู่กันครบหมด เว้นแต่ลาออกเองไปทำงานที่อื่น ขณะที่สถานีอื่นๆ มีการเปิดโครงการให้คนลาออกหรือเอาคนนอกกันหลายครั้ง รวมถึงรายได้ สวัสดิการค่าตอบแทน เรื่องโบนัส อะไรต่างๆ ที่พวกเราเคยได้อย่างไร ทุกอย่างยังได้เช่นเดิม เพียงแต่ผลจากโควิด อาจมีผลกระทบบ้างแต่น้อยมาก และกระทบกับคนเพียงบางส่วนในกองบก. ที่ก็แค่ช่วงโควิดเท่านั้นอย่างตอนโควิดรอบแรก พอสถานการณ์ดีขึ้น ทุกอย่างกลับสู่สภาพเดิม เช่น หากทำงานเกินเวลาก็ได้ค่าโอทีแบบที่เคยได้ เรียกได้ว่า โควิดมีผลกระทบแค่บางส่วนและเป็นแค่ช่วงสั้นๆ เท่านั้น สำหรับนักข่าวและ กองบก.ของสถานีช่อง 7 เอชดี "แหล่งข่าวในกองบก.สถานีโทรทัศน์ช่อง 7 รายหนึ่งให้ข้อมูล
ช่อง 3 เอชดี วืดโบนัสเป็นปีที่ห้าติดต่อกัน
ถัดมาที่”สถานีโทรทัศน์ช่อง 3 เอชดี” พบว่าปี 2563 ที่ผ่านไป ทางพนักงานและกองบก.ของข่าวช่อง 3 เอชดี ไม่ได้รับโบนัสเป็นปีที่ห้าติดต่อกัน รวมถึงไม่ได้มีการปรับขึ้นเงินเดือนให้กับพนักงานและฝ่ายข่าวเช่นเดียวกัน เป็นปีที่สี่ติดต่อกัน
มีรายงานว่าช่วงก่อนสิ้นปี 2563 พนักงานของสถานีและ ฝ่ายข่าวต่างก็ลุ้นจะได้รับโบนัสประจำปี เพราะที่ผ่านมา ไม่ได้โบนัสมาหลายปีติดต่อกันแล้ว แต่สุดท้าย ก็เป็นอีกหนึ่งปีที่ไม่ได้มีการให้โบนัสกับพนักงานแต่อย่างใด โดยทางผู้บริหารของสถานีเอง พบว่าก็ไม่ได้มีการให้เหตุผลอย่างเป็นทางการออกมา แต่เป็นที่รู้กันในกลุ่มพนักงานว่า เป็นเรื่องของผลประกอบการของบริษัทที่ยังไม่กระเตื้อง รายได้ลดลงต่อเนื่อง แม้ก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา ทางบริษัทในเครือ ก็มีการปรับโครงสร้างองค์กร เช่น มีการควบรวมบริษัทในเครือบางแห่งที่ประสบปัญหาขาดทุน จนมีการเลิกจ้างพนักงานบางส่วนที่เป็นบริษัทในเครือที่ขาดทุน เช่น ฝ่ายการเงิน ฝ่ายธุรการ
มีรายงานว่า ในช่วงโควิดฯ ทางสถานีและฝ่ายข่าวช่อง 3 เอชดี ไม่มีการเลิกจ้างพนักงานในช่วงโควิดแต่อย่างใด เพราะก่อนหน้าจะเกิดโควิดฯ รอบแรก ทางช่อง 3 เคยมีการปรับโครงสร้าง เลิกจ้างฝ่ายข่าวไปแล้วจำนวนหนึ่ง
“สถานการณ์ช่วงโควิดทั้งสองรอบ ทำให้บริษัทในเครือและสถานีช่องสาม เอชดี ต้องประหยัดค่าใช้จ่าย เพราะผลกระทบโควิดกับสื่อก็รู้กันอยู่มีหลายด้านเช่น รายได้จากโฆษณาก็จะหายไปส่วนหนึ่ง ช่วงนั้นก็เริ่มมีการเซฟค่าใช้จ่ายต่างๆ เหมือนกัน เช่นเรื่องของเงินค่าล่วงเวลา โดยพบว่า การทำงานช่วงโควิด ทางกองบก.ข่าว ก็จัดเวลาการทำงานกันภายในกองบก. ไม่ให้เกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน เพื่อจะได้ตัดค่าใช้จ่ายเรื่องการจ่ายโอทีให้เหลือน้อยลง ก็ใช้วิธีการเช่น การเหลื่อมเวลากันในกองบก.แต่ละส่วน ซึ่งการที่ปีที่ผ่านมาไม่มีโบนัสให้พนักงาน หรือการที่บริษัทพยายามเซฟค่าใช้จ่ายต่างๆ ฝ่ายข่าวทุกคน ต่างเข้าใจดี เพราะทุกคนรู้ถึงสถานการณ์เศรษฐกิจของธุรกิจสื่อในช่วงนี้เป็นอย่างดี ต่างก็บอกว่าขอทำงานของตัวเองต่อไปให้ดีที่สุด”แหล่งข่าวที่เป็นกองบรรณาธิการข่าวช่อง 3 คนหนึ่งบอกไว้
ช่อง8 ยังจ่ายโบนัสตามปกติ
ถัดมาที่ “ช่อง 8 “ที่มีเจ้าของและดำเนินการโดย บริษัท อาร์เอสวิชั่น จำกัด
จากข่าวที่ได้รับมา พบว่า เป็นอีกหนึ่งองค์กรธุรกิจสื่อที่มีการให้โบนัสกับพนักงาน แต่ก็เป็นการให้โบนัสที่พบว่าโดยภาพรวมให้ลดลงจากปี 2562 เพราะตอนปี 2562 ที่มาจ่ายให้ตอนตรุษจีน ปี 2563 พบว่าอัตราการให้โบนัสอยู่ที่ได้ประมาณเฉลี่ยคนละ หนึ่งเดือนหรือหนึ่งเดือนครึ่งของเงินเดือนของพนักงานแต่ละคน แต่ปี 2563 ที่มีการจ่ายให้ในช่วงวันตรุษจีนปี 2564 ที่ผ่านมา มีรายงานว่ามีการให้โบนัสกับพนักงาน ในอัตราเริ่มต้นที่ครึ่งเดือนถึงหนึ่งเดือน โดยแต่ละคนจะได้ไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับการประเมินผลงานในรอบปี
ขณะที่การปรับขึ้นเงินเดือนพนักงานและฝ่ายข่าว จนถึงช่วงกลางเดือนมกราคม 2564 พบว่า ยังไม่มีสัญญาณดังกล่าวแจ้งให้พนักงาน-ฝ่ายข่าวทราบว่าจะมีการปรับขึ้นเงินเดือนแค่ไหนและมีการปรับขึ้นหรือไม่ แต่เมื่อช่วงกลางเดือนมกราคม 2564 ทางบริษัทมีการให้พนักงานฝ่ายข่าว มีการทำแบบฟอร์มประเมินผลงานตัวเอง ในรอบปีจากนั้นส่งให้หัวหน้าแผนกของตัวเองพิจารณาอีกครั้ง เพื่อนำเสนอตามระบบการพิจารณาการประเมินผลงานของพนักงาน ที่มีการทำลักษณะดังกล่าวทุกปี
“สำหรับผลกระทบโควิดทั้งสองรอบ ต่อฝ่ายข่าวของช่อง 8 พบว่า ผลกระทบโดยตรงไม่มี เพียงแต่พอเริ่มมีผลกระทบโควิด ก็มีการประสานขอความร่วมมือให้แต่ละฝ่ายช่วยกันประหยัดค่าใช้จ่ายในองค์กร ประหยัดค่าใช้จ่ายในการทำข่าว แต่ไม่ได้เป็นแบบทางการอะไร แต่ช่วงดังกล่าว ฝ่ายข่าว ทำงานหนักขึ้น เพราะเมื่อเกิดโควิด ทำให้มีการงดการถ่ายละครของช่อง8 จนไม่มีเทปละครมาออกอากาศ เลยต้องมีการเพิ่มเวลาการเสนอข่าวให้มากขึ้น ก็ทำให้ฝ่ายข่าวทำงานหนักขึ้น แต่จำนวนคนน้อยลงกว่าก่อนโควิด เพราะก่อนหน้าโควิด ระบาดหนักช่วงมีนาคม ปี2563 ทางสถานี มีการปรับโครงสร้างองค์กร โดยเลิกจ้างพนักงานบางส่วน ทำให้ฝ่ายข่าวของสถานีช่อง 8 ที่เหลืออยู่ทุกคนก็ต้องทำงานหนักขึ้น
ขณะที่เรื่องการรัดเข็มขัด ประหยัดค่าใช้จ่ายตอนช่วงโควิด ก็ไม่ได้มีมาตรการอะไรออกมาเป็นพิเศษ เพราะอย่างเรื่องโอที ก็จะมีการจัดเวลาการทำงานของกองบก.และนักข่าว ให้แต่ละคนได้ทำงานคนละไม่เกิน8 ชั่วโมงต่อวันตามสัญญาการจ้างงานอยู่แล้ว แต่หากทำงานเกิน8 ชั่วโมง ก็จะได้โอที ตามอัตราของเงินเดือนตัวเอง ส่วนคนที่เข้าเวรข่าวแต่ละวัน หากทำงานเกินช่วง 22.00 น. ก็จะมีการจ่ายโอทีให้ตามฐานเงินเดือนแต่ละคนเช่น บางคนได้ 400 บาท บางคนได้ 600 บาท เป็นต้น “แหล่งข่าวจากกองบรรณาธิการข่าวช่อง 8 ให้ข้อมูลไว้โดยละเอียด
สื่อเครือมติชน
เซฟเงิน งดจ่ายโบนัส
มาที่สื่อในเครือ”มติชน”ที่มีสื่อในเครือ อาทิ หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน-ประชาธุรกิจ-ข่าวสด -มติชนออนไลน์-ข่าวสดออนไลน์ พบว่าจนถึงปลายเดือนมกราคม 2564 ยังไม่มีการประกาศการให้โบนัส-เงินพิเศษกับพนักงานและกองบก.สื่อในเครือมติชนแต่อย่างใด ตลอดจนยังไม่มีสัญญาณเรื่องการพิจารณาปรับขึ้นเงินเดือนพนักงานและกองบก.เช่นกัน
โดยก่อนหน้านี้เมื่อช่วงต้นปี 2563 พนักงานและกองบก.สื่อในเครือมติชน ต่างลุ้นกันว่าน่าจะมีการให้โบนัสกับพนักงาน หลังผลประกอบการของบริษัทในภาพรวมกระเตื้องขึ้น แต่ก็มาเกิดโควิดฯระบาดรอบแรกช่วงกุมภาพันธ์-มีนาคม 2563 จนมีการออกมาตราการล็อกดาวน์จากรัฐบาลออกมา ทำให้หลายภาคส่วนทางธุรกิจได้รับผลกระทบไปตามกัน และมีผลต่อเรื่องยอดโฆษณาที่เข้ามาลงโฆษณากับสื่อในเครือมติชนลดลง รวมถึงยังได้รับผลกระทบจากโควิดฯ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เครือมติชนเคยใช้เป็นช่องทางในการหารายได้และโฆษณาเช่นการจัดอีเวนต์ต่างๆ ต้องหยุด-ยกเลิกไปก่อนจากแผนงานที่เคยวางไว้และบริษัทต้องการประหยัดค่าใช้จ่ายและเตรียมเงินสำรองเอาไว้เพราะตอนนั้นไม่รู้ว่าสถานการณ์โควิดฯ จะจบลงเมื่อใดและจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของสื่อในเครือมติชนอย่างไร เลยทำให้ สุดท้าย จึงไม่ได้มีการจ่ายโบนัสให้กับพนักงานและกองบก.ในเครือมติชนในช่วงปี 2563 แต่อย่างใด
และกับปี 2564 ที่มาเกิดโควิดฯรอบสอง ตั้งแต่ช่วงธันวาคม 2563 จนถึงช่วงมกราคม 2564 โดยก่อนหน้าที่จะเกิดโควิดฯรอบสอง เดิมพนักงาน-กองบก. สื่อในเครือมติชน เคยประเมินว่าอาจจะมีการจ่ายโบนัสหรือค่าตอบแทนพิเศษให้กับกองบก.สื่อในเครือมติชน แต่เมื่อดูจากผลโควิดรอบสอง ที่กว่าสถานการณ์จะคลี่คลายอาจใช้เวลาถึงช่วงไตรมาศแรกของปี 2564 ทำให้มีการประเมินกันว่า ปี 2564 ที่ตามปกติจะมีการให้โบนัสปี 2563 กับพนักงานย้อนหลัง ดูแล้ว น่าจะไม่มีการให้โบนัสแต่อย่างใด
TNN ช่อง16
ใครผลงานดี จัดไปโบนัสก้อนใหญ่
ด้าน”สถานีข่าว TNN ช่อง16 “ที่เป็นบริษัทย่อยในเครือทรูวิชั่นส์ ในเครือเจริญโภคภัณฑ์
มีรายงานว่า ทางพนักงาน-กองบก.และนักข่าวของ สถานีข่าว TNN ช่อง16 ไม่ได้รับผลกระทบมากนักทั้งโควิดรอบแรกปี 2563 และรอบสองตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม 2563 จนถึงมกราคม 2564 โดยผู้บริหารของสถานี ไม่ได้มีการขอลดเงินเดือน -ลดค่าตำแหน่งอะไรทั้งสิ้นกับกองบก. -นักข่าว โดยทุกอย่างยังคงปกติเหมือนก่อนเกิดโควิดทั้งสองรอบ ที่อาจมีการปรับบ้าง ก็เป็นเรื่องของ การบริหารงานในกองบก. กันเองที่ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องโควิดฯ ซึ่งก็คือการที่ จากปกติสัญญาการทำงานของพนักงาน-ฝ่ายข่าว-กองบก. คือทำงานสัปดาห์ละห้าวัน โดยหากทำงานวันที่หก เช่นมาเข้าเวรประจำกองบก. ก็จะได้รับโอที แต่ในช่วงปี 2563 ที่ผ่านมา ก็มีการปรับในส่วนนี้ คือกองบก. -ฝ่ายข่าว มีการบริหารกันเองในการจัดสรรวันหยุด-วันทำงาน เพื่อให้พนักงาน-กองบก. แต่ละคนทำงานกันภายในห้าวันต่อสัปดาห์ตามสัญญาจ้างงาน เช่น กองบก. คนหนึ่ง ก็ทำงานห้าวันแล้วหยุดสองวันเช่น หยุดศุกร์กับเสาร์ โดยทำงานตั้งแต่วันอาทิตย์จนถึงวันพฤหัสบดี แล้วกองบก.อีกคนหนึ่ง ก็ทำงานวันอังคารถึงวันเสาร์ แล้วได้หยุดวันอาทิตย์กับวันจันทร์
“ทำให้ช่วงหลังฝ่ายข่าว กองบก. จะไม่ได้โอทีจากปกติที่อาจเคยได้ ซึ่งแนวทางดังกล่าว จริงๆ เคยมีการทำมาก่อนหน้านี้แล้ว และต่อมายกเลิกไป แต่ตอนหลังก็มีการนำมาใช้อีกเมื่อตอนปี 2563 โดยแม้จะทำให้ พนักงาน-กองบก. ไม่ได้รับโอที แต่ทำให้พนักงานและฝ่ายข่าว ได้วันหยุดเพิ่มขึ้นที่แน่ชัดคือสัปดาห์ละสองวัน”แหล่งข่าวจากกองบก.ช่อง TNN ให้ข้อมูล
ส่วนเรื่องการได้เงินโบนัสประจำปี ของ พนักงานและฝ่ายข่าวของ สถานีข่าว TNN ช่อง16 ที่จะมีการให้ในช่วงวันตรุษจีนของทุกปี
จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า จนถึงปลายเดือนมกราคม 2564 แหล่งข่าวในกองบก. สถานีช่อง TNN ให้ข้อมูลว่า พนักงานและฝ่ายข่าว ได้ยินมาว่า ทางบริษัทอาจจะมีให้โบนัสพนักงานประจำปีกับพนักงานโดยการให้จะให้ตามผลการประเมินผลงานประจำปี ไม่ได้ให้แบบเหมารวม แต่จะไม่มีการปรับขึ้นเงินเดือนขึ้น
“อย่างโบนัสที่มีการให้เมื่อปี 2563 ที่เป็นโบนัสของปี 2562 ที่ให้ย้อนหลังเพราะมีการให้ช่วงตรุษจีน คนที่ได้ก็ได้ตามการประเมินการทำงานของแต่ละคน โดยปีที่แล้ว พบว่า บางคนมีผลงานดี เกณฑ์การประเมินผลงานออกมาสูง มีข่าวว่าได้โบนัสกันมากถึงสามเดือนก็มี บางคนก็ได้หนึ่งเดือนหรือหนึ่งเดือนครึ่ง แต่สำหรับผลกระทบโควิดฯ ต้องบอกว่าฝ่ายข่าวแต่ละคนไม่มีใครได้รับผลกระทบใดๆ เลยโดยเฉพาะเรื่องรายได้ค่าตอบแทน สวัสดิการต่างๆทุกอย่างอยู่ครบหมด”แหล่งข่าวจากกองบก. สถานีข่าว TNN ช่อง16 ให้ข้อมูลไว้
PPTV ยังได้เงินขวัญถุงต่อเนื่อง
ถัดมาที่ “สถานีโทรทัศน์ PPTV “ที่บริหารโดยบริษัท บางกอกมีเดียแอนด์บรอดคาสติง จำกัด ซึ่งเป็นหนึ่งในธุรกิจ ของ นพ. ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ นักธุรกิจชื่อดังของประเทศไทย เจ้าของเครือโรงพยาบาลกรุงเทพและสายสายการบิน บางกอกแอร์เวย์ และธุรกิจอีกหลายแห่ง จนทำให้ สถานีโทรทัศน์ PPTV ถูกมองว่าเป็นสื่อที่มีทุนหนา มากที่สุดแห่งหนึ่งในวงการสื่อมวลชนประเทศไทย
มีรายงานว่าสำหรับ สถานีพีพีทีวี การให้โบนัสกับพนักงาน จะเป็นการให้ที่เรียกกันว่า”เงินพิเศษ เงินขวัญถุง” ซึ่งก็มีการให้กับพนักงานทุกปี โดยค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 10,000-20,000 บาท ซึ่งสถานี ก็จะใช้ระบบการให้เงินพิเศษลักษณะดังกล่าวมาตั้งแต่แรกๆ ของการก่อตั้งสถานี โดยเกณฑ์การพิจารณาว่าพนักงาน-ฝ่ายข่าวคนใดจะได้เงินพิเศษดังกล่าวมากน้อยแค่ไหน จะดูจากองค์ประกอบเช่น อายุการทำงานในบริษัทของแต่ละคน
ส่วนเรื่องการปรับขึ้นเงินเดือนฝ่ายข่าว-กองบก. สถานีโทรทัศน์พีพีทีวี พบว่า จนถึงช่วงกลางเดือนมกราคม 2564 ก็ยังไม่มีสัญญาณดังกล่าวออกมาว่าจะมีหรือไม่มีการปรับขึ้นเงินเดือนประจำปี แต่หากจะมี ก็จะเกิดขึ้น หลังเดือนมกราคมของทุกปี เพราะเป็นช่วงหลังทางบริษัทมีการประเมินผลงานและเรียกพนักงานแต่ละคนไปคุยเป็นการส่วนตัวแล้ว แต่เนื่องจากปี 2564 เกิดโควิดระบาดรอบสอง ตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม 2563 ทำให้ กระบวนการดังกล่าวเลยมีการเลื่อนออกไปก่อนชั่วคราว
“ในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะโควิดรอบแรก ที่ทำให้เศรษฐกิจซบเซา ทางสถานี ก็มีการปรับในเรื่องกรอบเวลาการทำงานเช่นกัน เพราะตามสัญญาการจ้างงานระหว่างบริษัทกับพนักงานโดยเฉพาะฝ่ายข่าว คือทำงานสัปดาห์ละห้าวัน แต่ส่วนใหญ่ฝ่ายข่าว ก็ทำงานกันสัปดาห์ละหกวัน ทำให้วันที่หกบริษัทต้องจ่ายโอทีให้พนักงาน รวมถึงแต่ละวัน หากทำงานเกินแปดชั่วโมง ก็จะได้โอที แต่ตอนโควิดรอบแรก ผนวกกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ก็ทำให้มีการพยายามประหยัดค่าใช้จ่ายในกองบก. ด้วยการ ลดการเบิกจ่ายโอที โดยมีการแบ่งงานในกองบก. ทั้งนักข่าวและกองบก.ในสถานี เพื่อให้การทำงานของแต่ละคนไม่เกินสัญญาจ้าง เช่น หากนักข่าวสายรัฐสภา ทำข่าวเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจตั้งแต่เช้าจนถึงค่ำ ที่จะทำข่าวเกินแปดชั่วโมง ปกติจากที่เคยเบิกโอทีได้
แต่ช่วงหลัง เราก็มีการบริหารงานในกองบก. เพื่อไม่ให้ทำงานเกินแปดชั่วโมง เช่น ส่งทีมอื่นไปเสริมทีมแรก อย่างไรก็ตาม ในส่วนของโอที หากทำงานวันที่หก บริษัทก็ยังมีการจ่ายให้ตามปกติ เช่นหากมีการชุมนุมทางการเมืองในช่วงวันหยุด เสาร์-อาทิตย์ ใครเข้าเวรไปทำข่าว ก็จะได้โอทีตามปกติ” กองบก.ข่าว ช่อง PPTV ให้ข้อมูลกับกองบก.หนังสือวันนักข่าวฯ
ช่องวัน 31 ไม่ตกขบวน
ได้โบนัสเหมือนกัน
ด้าน” สถานีโทรทัศน์ช่องวัน 31” ที่บริหารงานโดย บริษัท วัน สามสิบเอ็ด จำกัด ซึ่งถือหุ้นทั้งหมดโดย เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ ในเครือจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่
มีรายงานว่า ในส่วนของพนักงานประจำและกองบรรณาธิการข่าวของช่องวัน 31 ได้รับโบนัสเมื่อตอนสิ้นปี 2563 โดยการได้โบนัสพบว่า พนักงานและกองบก.จะได้ไม่เท่ากันโดยจะได้ตามเกณฑ์การประเมินผลงาน แต่ส่วนใหญ่ก็คือ จะได้กันขั้นต่ำคือหนึ่งเดือนของเงินเดือนประจำที่ได้ตามปกติ ซึ่งคนไหนเกณฑ์การประเมินผลงานออกมาสูง ก็จะได้โบนัสสูงกว่าคนอื่น ขณะที่เรื่องการปรับขึ้นเงินเดือนพบว่า ทางพนักงานและกองบก.กำลังรอสัญญาณจากฝ่ายบริหารอยู่ ซึ่งจนถึงปลายเดือนมกราคม 2564 ก็ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องดังกล่าว
“ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา แม้ช่องวัน จะเป็นช่องวาไรตี้ ช่องละคน แต่หลังมีการพยายามทำให้การรายงานข่าวของช่องวัน มีความรวดเร็ว ทำเรื่องที่อยู่ในกระแสของประชาชนและเป็นข้อมูลข่าวสารที่ประชาชนได้ประโยชน์รวมถึงตรงกับกลุ่มเป้าหมายของสถานี ก็พบว่า เรตติ้งรายการข่าวมีการเติบโตขึ้นมาก เพราะด้วยความที่ช่องวันเองมีฐานผู้ชมละคนจำนวนมากระดับหนึ่งอยู่แล้วทำให้พอมีการเสนอข่าวที่รวดเร็ว อยู่ในกระแส กลุ่มคนที่ติตดามรายการของช่องจำนวนมากก็จะได้ติดตามข่าวตามไปด้วย
อย่างเช่นข่าว Breaking News ของช่องวันที่มีเรตติ้งสูงๆ ก็คือการรายงานข่าวเรื่องเหตุกราดยิงที่จังหวัดนครราชสีมา เมื่อ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 หรือเหตุการณ์การเผชิญหน้ากันระหว่างตำรวจกับม็อบที่สี่แยกปทุมวัน เมื่อ 16 ตุลาคม 2563 ที่พบว่า ข่าวทั้งสองข่าวที่กองบก.มีการตัดเข้าเป็นข่าวด่วน และรายงานสดอย่างรวดเร็ว โดยมีการยกโฆษณาออก เพื่อให้เสนอข่าวได้ในเวลาที่มากกว่าข่าวสั้นปกติ ผลตอบรับที่ออกมามีสูงมากเพราะพบว่า ทั้งสองข่าว ทำให้เรตติ้งข่าวของทีวีดิจิตอล ของช่องวัน มาอันดับสูงมาก สูงกว่าช่องข่าวเสียอีก และทำให้หลายคนเริ่มรู้จักและมาติดตามข่าวช่องวันมากขึ้น”แหล่งข่าวจากกองบก. ข่าวช่อง one ให้ข้อมูล
ขณะที่ผลกระทบจากโควิดฯ ทั้งสองรอบ พบว่าทางสถานีช่องวันโดยเฉพาะฝ่ายข่าวไม่ได้รับผลกระทบอะไรมากนัก เรียกได้ว่าแทบไม่ได้มีผลอะไรเลย เพราะทางสถานีไม่ได้มีการขอลดเงินเดือน ลดสวัสดิการอะไร รวมถึงไม่ได้มีการเลิกจ้างพนักงานแต่อย่างใด แต่กลับพบว่ายิ่งช่วงโควิดฯ ที่ทำให้คนอยู่บ้านมากขึ้น คนติดตามข้อมูลข่าวสารมากขึ้น เลยยิ่งทำให้ เรตติ้งการชมรายการต่างๆ ของสถานีเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดด้วย
เดลินิวส์-ปีนี้ไร้โบนัส
ถัดมาที่ หนังสือพิมพ์”เดลินิวส์” หนังสือพิมพ์รายวันที่มียอดจำหน่ายเป็นอันดับต้นๆ ในประเทศไทย ที่มีเจ้าของคือ บริษัท สี่พระยาการพิมพ์ จำกัด
มีรายงานว่ารอบปี 2563 ที่ผ่านไป เป็นปีแรกในรอบหลายปีที่ผ่านมา ที่เดลินิวส์ ไม่มีการให้เงินโบนัสกับพนักงานโดยเฉพาะกองบรรณาธิการข่าว รวมถึงไม่มีการแจ้งถึงการปรับขึ้นเงินเดือนให้กับกองบก.ด้วยจากปกติที่เดลินิวส์จะมีการให้โบนัสกับพนักงาน-กองบก. มาตลอดแทบทุกปีติดต่อกัน อย่างปี 2562 ซึ่งหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ไม่มีการให้โบนัสกับพนักงาน แต่ทางเดลินิวส์ก็มีการให้โบนัสกับพนักงานอยู่แต่มีอัตราที่เริ่มลดลง
โดยก่อนหน้านี้เมื่อช่วงสิงหาคม 2563 ที่ตอนนั้นสถานการณ์โควิดรอบแรกเริ่มคลี่คลายลงแล้ว ทางเดลินิวส์ ก็มีการปรับโครงสร้างการทำงานของพนักงานส่วนหนึ่ง โดยมีการเลิกจ้างพนักงานในส่วนของหนังสือพิมพ์และเดลินิวส์ออนไลน์ไปส่วนหนึ่ง และในช่วงดังกล่าว ก็มีการขอความร่วมมือขอตัดลดเงินรายได้ค่าตอบแทนคนในกองบก.โดยขอตัดเงินเฉลี่ยคนละ 3,000 บาท ไล่ตั้งแต่ระดับ บรรณาธิการข่าว-หัวหน้าข่าว-ผู้สื่อข่าว และพบว่า จนถึงช่วงเดือนมกราคม 2564 ก็ยังไม่มีสัญญาณว่าจะมีการคืนเงินดังกล่าวที่หักไปให้กับพนักงาน -กองบก. โดยมีข่าวว่าทางผู้บริหาร ได้ยกเหตุผลเรื่องผลประกอบการที่รายได้จากการขายหนังสือพิมพ์และรายได้จากการลงโฆษณาที่ลดลง ทำให้ต้องประหยัดค่าใช้จ่าย จึงต้องขอความร่วมมือกับพนักงานในการออกนโยบายรัดเข็มรัดดังกล่าว ซึ่งพนักงาน-กองบก.ส่วนใหญ่ก็เข้าใจถึงสถานการณ์เพราะเป็นช่วงที่ธุรกิจสื่อได้รับผลกระทบในวงกว้างทั้งเรื่องผลพวงจากโควิดฯ และสภาพเศรษฐกิจที่ซบเซา จนมีผลต่อรายได้ที่เข้ามาขององค์กร
เนชั่นฯ กับมาตรการรัดเข็มขัดสู้โควิด
ด้านอีกหนึ่งบริษัทที่มีสื่อในเครือหลายแขนงนั่นก็คือ “บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)”ที่มีสื่อในเครือเช่น หนังสือพิมพ์และเว็บไซด์ข่าวกรุงเทพธุรกิจ-เว็บไซด์คมชัดลึก-เนชั่นทีวี เป็นต้น โดยรอบปีที่ผ่านมา มีข่าวเกี่ยวกับเรื่องของบริษัทเนชั่นฯปรากฏออกมาหลายครั้ง เช่นกรณี ทีมผู้ประกาศข่าวชื่อดังหลายคนของช่องเนชั่นทีวีฯ อาทิเช่น กนก รัตน์วงศ์สกุล-อัญชะลี ไพรีรัก -ธีระ ธัญไพบูลย์ ยกทีมลาออกจากเนชั่นทีวี และต่อมาเมื่อ 1 ก.พ. ทั้งหมดก็ไปปักหลักอ่านข่าวอยู่ที่ช่อง TOP NEWS ทางเคเบิ้ลทีวี
มีรายงานว่า สำหรับรอบปี 2563 ที่ผ่านมา จนถึงตอนปลายเดือนมกราคม ยังไม่มีการประกาศให้โบนัสหรือที่เรียกกันว่า เงินสินน้ำใจ เพื่อเป็นกำลังใจในการทำงานให้กับพนักงานในเครือ บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป แต่อย่างใด โดยก่อนหน้านี้ ช่วงกลางเดือนมกราคม กลุ่มพนักงานของบริษัทฯ เคยได้รับการบอกเล่าอย่างไม่เป็นทางการว่า มีแนวโน้มที่บริษัทเนชั่นฯจะมีการให้โบนัสกับพนักงาน โดยคาดว่าน่าจะได้ในช่วงตรุษจีนประมาณ 12 ก.พ. 2564 หรือไม่ก็ในช่วงวันเกิดของบริษัทฯ แต่จนถึงช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ก็ยังไม่มีสัญญาณใดๆออกมา มีเพียงข่าวที่ออกมาภายในอย่างไม่เป็นทางการว่า ผู้บริหารของบริษัทกำลังรอดูสถานการณ์โควิดระบาดรอบสองก่อนว่าจะสิ้นสุดเมื่อใดและจะส่งผลกระทบต่อเรื่องยอดโฆษณาที่ธุรกิจสื่อในเครือได้รับมากน้อยแค่ไหน เพื่อจะได้ประเมินสถานการณ์ถูก ดังนั้น จึงต้องเลื่อนการจ่ายโบนัสให้กับพนักงานออกไปก่อน จากเดิมที่คาดว่าจะให้ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ก็ขอขยับไปก่อนเพื่อรอดูสถานการณ์จนถึงช่วงประมาณหลังเมษายน 2564 ซึ่งหากว่าสถานการณ์ดูแล้วไม่น่าจะมีผลกระทบกับการบริหารงานภายในองค์กร ก็อาจจะมีการให้โบนัสกับพนักงานย้อนหลัง โดยจะจ่ายให้ได้ในช่วงไม่เกินกลางปีคือไม่เกินกลางเดือนกรกฎาคม 2564
ซึ่งก่อนหน้านี้เมื่อปี 2562 พบว่าทางบริษัทเนชั่นฯ มีการให้โบนัสกับพนักงาน-กองบก.ของสื่อในเครือทุกแห่งโดยมีการจ่ายให้ตามผลประกอบการของแต่ละแพลตฟอร์มไม่ได้ให้แบบเหมารวมเช่นหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ที่มีผลประกอบการในรอบปี 2562 ค่อนข้างดี ทางกองบก. ก็จะได้โบนัสมากกว่ากองบก.สื่ออื่นๆในเครือ เป็นต้น
ขณะเดียวกัน มีรายงานว่า ก่อนหน้านี้ตอนช่วงโควิดระบาดหนักรอบแรก ช่วงมีนาคม-พฤษภาคม 2563 ที่สภาพเศรษฐกิจของประเทศโดยภาพรวมได้รับผลกระทบอย่างหนัก จน ทางบริษัทเนชั่นฯ ได้มีการขอความร่วมมือกับพนักงานในเครือด้วยการขอหักเงินพนักงาน-กองบก. สื่อในเครือเนชั่นฯ โดยเป็นการหักไปประมาณ 4-5 เดือน จนเมื่อสถานการณ์โควิดคลี่คลาย ทางบริษัท ก็ยกเลิกการหักเงินดังกล่าว แล้วกลับมาให้เงินเดือนเต็มตามปกติ โดยบริษัทฯ เคยบอกไว้ว่า หลังจากสถานการณ์โควิดคลี่คลายและเศรษฐกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัว เงินที่บริษัทหักไปดังกล่าว ที่พนักงาน-ฝ่ายข่าว แต่ละคนจะถูกหักไม่เท่ากัน ทางบริษัทจะมีการจ่ายเงินคืนให้ ซึ่งจนถึงช่วงเดือนมกราคม 2564 ก็ยังไม่มีการคืนเงินดังกล่าวแต่อย่างใด
“ตอนโควิดรอบแรก พนักงาน-ฝ่ายข่าว ก็ถือว่าได้รับผลกระทบระดับหนึ่ง เพราะก็มีการหักเงินค่าตอบแทน-รายได้ออกไป แต่ก็ไม่นานมาก พอสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย มีการปลดล็อกต่างๆ ก็มีการกลับมาจ่ายเงินให้พนักงานตามปกติ โดยตอนที่หักไป ก็เป็นการหักตามฐานเงินเดือนของแต่ละคนเช่น คนไหนฐานเงินเดือนสูง อาทิ หักเป็นขั้นบันได 2-3 หมื่น หัก 10% , 3-5 หมื่น หัก 20% , 5 หมื่น- 1 แสน หัก 30% , 1 แสนขึ้นไป หัก 40% เป็นต้น โดยมีการหักไปประมาณสี่เดือนตั้งแต่โควิดระบาดรอบแรกเลยตอนช่วงมีนาคม 2563 แต่ปัจจุบันก็มีการกลับมาจ่ายตามปกติแล้ว ก็ถือว่าเป็นการได้รับผลกระทบโควิดกับพนักงานฝ่ายข่าวโดยตรง แต่ตอนนั้นทุกคนก็เข้าใจถึงสถานการณ์ของบริษัทและสภาพเศรษฐกิจดีเพราะทุกธุรกิจต่างก็ได้รับผลกระทบจากโควิดตอนนั้นกันหมด”แหล่งข่าวจากกองบก. สื่อในเครือเนชั่นฯรายหนึ่งให้ข้อมูล
จากการตรวจสอบข้อมูลล่าสุดในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2564 ที่อยู่ระหว่างที่กำลังเกิดโควิดรอบสาม พบว่า จนถึงเดือนพฤษภาคม ทางบริษัทเนชั่น ฯ ยังไม่มีการส่งสัญญาณหรือมีประกาศบริษัท ในการให้โบนัสประจำปีกับพนักงาน-กองบก.แต่อย่างใด จากเดิมที่พนักงานคาดกันว่าน่าจะได้โบนัสย้อนหลังในช่วงเดือนก.ค. 2564
เช่นเดียวกับเรื่องการคืนเงินที่บริษัทหักจากพนักงานไปตามฐานเงินเดือน ที่เคยแจ้งว่าจะเริ่มทยอยคืนในเดือนมีนาคม-เมษายน ก็พบว่า ผ่านมาถึงช่วงเดือนพฤษภาคม ก็ยังไม่มีการคืนเงินที่บริษัทหักกับพนักงาน-กองบก. ไปในช่วงโควิดรอบแรกปีที่แล้วแต่อย่างใด
จากการสอบถามพบว่า ฝ่ายข่าวเครือเนชั่น ฯ หลายบางส่วนก็เข้าใจสถานการณ์ในช่วงนี้เป็นอย่างดีเพราะมองว่า จากสถานการณ์โควิดรอบสามที่ยังไม่รู้ว่าจะจบเมื่อใดและจะมีผลกระทบกับบริษัทอย่างไรบ้าง ทำให้ผู้บริหารบริษัทอาจต้องเตรียมเงินสำรองไว้ก่อน จึงอาจชะลอการให้โบนัสและคืนเงินส่วนที่หักไปจากเดิมที่เคยมีสัญญาณว่าจะได้รับในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม
เครือบางกอกโพสต์ คุมค่าใช้จ่ายกองบก.
ถัดมาที่สื่อในเครือ”บริษัท โพสต์พับลิชชิ่ง จำกัด”ที่มีสื่อในเครืออย่าง Bangkok Post , เว็บไซด์ Post Today ,นิตยสาร forbes Thailand และนิตยสาร elle
พบว่า ปี 2563 ที่ผ่านมา เป็นอีกหนึ่งปีที่บริษัท โพสต์พับลิชชิ่ง จำกัดฯ ไม่มีการจ่ายเงินโบนัสให้กับพนักงาน-กองบก.แต่อย่างใด รวมถึงไม่มีการพิจารณาปรับขึ้นเงินเดือนพนักงาน-ฝ่ายข่าวด้วยเช่นกัน โดยการไม่ให้โบนัสและไม่ปรับขึ้นเงินเดือน ดังกล่าว พบว่า เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาหลายปีติดต่อกันแล้ว ด้วยเหตุผลเรื่องผลประกอบการของบริษัทที่ไม่ค่อยดีนักในช่วงหลัง เพราะยังมีผลประกอบการขาดทุนหลายปีติดต่อกัน จนมีการลดค่าใช้จ่ายหลายอย่าง เช่นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ไม่มีการเปิดรับพนักงานหรือนักข่าว กองบก. คนใหม่เข้ามาทดแทนคนที่ลาออกไป
อสมทฯ รัดเข็มขัดสู้ศึก
สำหรับ” บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) “หรือ บมจ. อสมท รัฐวิสาหกิจ สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี จดทะเบียนจัดตั้งในรูปบริษัทมหาชน จำกัด ที่มีสื่อในเครือข่ายครอบคลุมทั่วประเทศทั้ง สถานีโทรทัศน์ช่อง 9 MCOT HD -สถานีวิทยุฯ บมจ. อสมท ในส่วนกลาง ระบบเอฟเอ็ม และระบบเอเอ็มและสำนักข่าวไทย
ที่ผ่านมา คนที่ทำงานสื่อจำนวนมาก ต่างก็ต้องการเข้าไปทำงานในองค์กรอย่าง อสมท.-สำนักข่าวไทย เพราะความที่เป็นองค์กรสื่อรัฐวิสาหกิจ จึงมีความมั่นคงและมีจ่ายเงินเดือนค่าตอบแทน -สวัสดิการให้กับพนักงาน-นักข่าวค่อนข้างดี โดยเฉพาะโบนัสที่ให้กับพนักงานที่มีการให้เกือบทุกปีและได้โบนัสกันหลายเดือน รวมถึงสวัสดิการอื่นๆ เช่น ค่าทำงานล่วงเวลาหรือโอที ก็มีเรทการให้โอทีที่ค่อนข้างสูง ในฐานะรัฐวิสาหกิจ
อย่างไรก็ตามในช่วงหลัง นับตั้งแต่เกิดการประมูลทีวีดิจิตอล ที่ทำให้มีทีวีหลายช่องเกิดขึ้นจำนวนมาก รวมถึงการเติบโตอย่างรวดเร็วของสื่อโซเชียลมีเดีย ที่มีสื่อแพลตฟอร์มใหม่ๆ เกิดขึ้นจำนวนมาก ก็ส่งผลต่อการประกอบการของบริษัท อสมท. ฯ อย่างมากเช่นกัน โดยเฉพาะรายได้ที่ลดลงจากเม็ดเงินค่าโฆษณา ที่ถูกแชร์ไปยังสื่อแพลตฟอร์มอื่นๆ จนทำให้มีผลกระทบตามมาถึงพนักงานและฝ่ายข่าวในเครือบริษัท อสมท. ฯ เป็นเวลาหลายปีติดต่อกันในช่วงหลัง
พบว่าปี 2563 ที่ผ่านมา บริษัทอสมท. ก็เป็นอีกหนึ่งองค์กรธุรกิจสื่อ ที่ไม่ได้มีการให้เงินโบนัสประจำปีกับพนักงานรวมถึงไม่มีการพิจารณาปรับขึ้นเงินเดือนให้กับพนักงานเช่นกัน หลังก่อนหน้านี้เมื่อช่วงกลางปี 2563 ทางบริษัท อสมท. มีการเปิดโครงการ “เต็มใจจาก” และโครงการสมัครเกษียณอายุก่อนกำหนด (เออร์ลีรีไทร์) ซึ่งก็มีพนักงานเข้าร่วมโครงการประมาณ 325 คน ที่บริษัทก็ต้องนำเงินก้อนหนึ่งมาจ่ายให้กับอดีตพนักงานที่เข้าร่วมโครงการ ทำให้บริษัทอสมท. ฯ ต้องมีการรัดเข็มขัด เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายต่างๆ รวมถึงการที่ไม่มีการจ่ายโบนัสให้กับพนักงานในปี 2563 ที่ผ่านมา
“พอคนเข้าโครงการลาออกกันจำนวนหนึ่งโดยที่ บริษัท ก็ไม่มีนโยบายเปิดรับคนใหม่เข้ามา ทำให้พนักงานและฝ่ายข่าวที่อยู่ปัจจุบันต้องทำงานทุ่มเทหนักขึ้น เพราะคนน้อยลง รวมถึงช่วงปัจจุบัน ทางบริษัท อสมท. มีการรัดเข็มขัดด้วยการพยายามควบคุมเวลาการทำงานของนักข่าว กองบก. ไม่ให้ทำงานเกินแปดชั่วโมงต่อวัน เพื่อจะได้ไม่ต้องมีการจ่ายค่าล่วงเวลาให้กับพนักงาน โดยใช้วิธีการแบ่งเวรสลับกันไปเช่น หากมีการประชุมสภาฯ ที่กว่าจะเลิกอาจค่ำ ก่อนหน้านั้น คนที่ประจำสภาฯ ทีมที่เข้าไปทำข่าวประชุมสภาฯตั้งแต่เช้า ก็อาจทำรวดเดียวไปจนเลิกเลย แล้วก็ได้โอทีไปตามเวลาที่ทำงานจริง แต่ตอนหลัง ก็มีการแบ่งทีม โดยจะส่งอีกทีม ไปทำงานที่รัฐสภาเพื่อแตะมือต่อจากทีมแรก เพื่อเป็นการคุมเวลาไม่ให้เกินแปดชั่วโมง “แหล่งข่าวจากฝ่ายข่าว บริษัท อสมท.ให้ข้อมูล
นอกจากนี้ มีรายงานว่าสำหรับการจัดรายการวิทยุของอสมท. ที่เป็นรายการของอสมท.เอง เช่นการจัดรายการทางคลื่นเอฟเอ็ม 100.5 พบว่าในช่วงหลัง ก็มีการขอปรับลดค่าจัดรายการลง ทั้งในส่วนของนักจัดรายการของอสมท.และนัดจัดรายการข้างนอกที่เข้ามาจัดรายการแล้วได้เงินค่าจัดจากอสมท.
“การลดค่าจัดรายการวิทยุของอสมท.เริ่มมาเกิดขึ้นในช่วงหลัง ซึ่งเดิมอย่างพนักงานของอสมท.ไปจัดรายการก็จะได้ค่าจัดรายการในระดับหนึ่งแต่ก็ไม่ได้มากมายอะไร แต่ช่วงปี 2563 ที่ผ่านมา ก็มีการขอลดเงินค่าจัดรายการลง โดนลดไป 50 เปอร์เซ็นต์จากที่เคยได้ก่อนหน้านั้นเช่น บางคนได้ครั้งละ 500 บาท ก็จะเหลือ 250 บาท ส่วนหากเป็นนักจัดรายการข้างนอก ที่ไม่ใช่เป็นพนักงานของอสมท. ก็มีการขอปรับลดลงไป 30 เปอร์เซ็นต์ ก็เป็นอีกหนึ่งมาตรการรัดเข็มขัดของอสมท.ในช่วงปีที่ผ่านมา”แหล่งข่าวจากบริษัทอสมท.คนเดิม ให้ข้อมูลปิดท้าย
สื่อเล็กมีเฮ
นอกจากนี้แล้ว ก็ยังมีรายงานว่า ก็มีสื่ออีกหลายแห่งไม่ว่าจะเป็นองค์กรสื่อขนาดใหญ่-สื่อขนาดเล็ก ที่ในรอบปี 2563 ที่ผ่านมา ไม่ได้มีการจ่ายโบนัส-เงินพิเศษ ให้กับพนักงาน -กองบก.แต่อย่างใด รวมถึงไม่มีสัญญาณในเรื่องการปรับขึ้นเงินเดือนให้กับพนักงาน-กองบก.ด้วยเช่นกัน โดยบางค่ายเช่น สื่อในเครือ”ผู้จัดการ”ที่เรียกกันว่า”ค่ายบ้านพระอาทิตย์” ทางผู้บริหาร ได้มีการให้เงินสินน้ำใจกับพนักงาน-กองบรรณาธิการทั้งสื่อสิ่งพิมพ์และเว็บไซด์-ทีวีดาวเทียม คนละ 2,000 บาท เท่ากันหมดทุกคน โดยไม่ได้มีการปรับขึ้นเงินเดือนให้กับพนักงานแต่อย่างใด ส่วน”ไทยโพสต์” ที่ทำหนังสือพิมพ์รายวันและเว็บไซด์ไทยโพสต์ พบว่า มีการให้โบนัสกับพนักงาน-กองบก.ทุกคนแบบเท่าเทียมกันหมด คือให้โบนัสคนละหนึ่งเดือน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2562 ที่เคยได้คนละครึ่งเดือน ก็ได้เพิ่มมาเป็นหนึ่งเดือน ขณะที่”แนวหน้า”มีรายงานว่ารอบปีที่ผ่านมา ไม่ได้มีการให้โบนัสหรือมีการปรับขึ้นเงินเดือนพนักงาน-กองบก.
ส่วนสื่อออนไลน์ -สำนักข่าวออนไลน์ เท่าที่สำรวจ อย่างเช่น “The MATTER มีรายงานว่า The MATTER ไม่มีการจ่ายโบนัสและไม่มีการปรับขึ้นเงินเดือนพนักงาน-กองบก.เช่นกัน แต่ก็พบว่าในช่วงโควิด ทางทีมงาน The MATTER ก็ไม่ได้รับผลกระทบใดๆ เพราะไม่มีการปรับลดเงินเดือน-ค่าตอบแทนอะไรทั้งสิ้น สวัสดิการทุกอย่างยังอยู่ครบ
ปล.-เป็นเนื้อหาบางส่วนจากหนังสือวันนักข่าว 5 มีนาคม 2564 ที่ปิดต้นฉบับเมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ก่อนการระบาดของโควิดฯรอบสาม