Special Report
โดยทีมข่าวจุลสารราชดำเนิน
วิกฤตโควิด-19 ในประเทศไทยถึงปัจจุบัน ยังคงเป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง เพราะตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตยังคงสูงต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน การนำเสนอข่าวสาร-ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด ก็เป็นเรื่องน่าสนใจไม่น้อย เพราะเมื่อการต่อสู้กับโรคระบาดโควิด-19 คือวาระแห่งชาติ-ปัญหาใหญ่ของสังคม สื่อทุกแพลตฟอร์มจึงให้พื้นที่ในการนำเสนอคอนเทนต์เกี่ยวกับโควิดฯ มากเป็นพิเศษโดยเฉพาะในช่วงนี้
โดยเมื่อโฟกัสไปที่สื่อแพลตฟอร์มออนไลน์ ที่เน้นการเสนอข่าวเกี่ยวกับ"สาธารณสุข-การแพทย์-ระบบสุขภาพ"เป็นหลักหรือเป็นเนื้อหาส่วนใหญ่ของแพลตฟอร์มนั้น จะพบว่าช่วงที่ผ่านมา สื่อแพลตฟอร์มออนไลน์หลายแห่งนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับสถานการณ์โควิดได้อย่างหลากหลาย -ครบเกือบทุกมิติ ถือเป็นประโยชน์กับประชาชนอย่างมาก
"ทีมข่าวจุลสารราชดำเนิน" พาไปเจาะลึกที่มาที่ไปและทิศทางการเสนอข่าวของสื่อออนไลน์บางแห่งที่เน้นการเสนอข่าวเรื่องสาธารณสุข-การแพทย์-ระบบสุขภาพแบบเจาะลึก ในช่วงโควิดฯ ที่น่าสนใจ โดยเลือกมาสามแห่ง
เริ่มที่ https://theactive.net/ โดยเราได้พูดคุยกับ "อรุชิตา อุตมะโภคิน- News Editor Social Agenda and Public Policy Communication CenterThai Public Broadcasting Service (Thai PBS) ผู้ดูแลรับผิดชอบคอนเทนต์ สื่อ The Active ในทุกแพลตฟอร์ม"
"อรุชิตา "เล่าให้ฟังว่า theactive เป็นชื่อแพลตฟอร์มและแบรนด์ที่ทีมงานช่วยกันคิดขึ้นมาใหม่ หลังจากเมื่อสองปีที่ผ่านมา มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการทำงานในองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย หรือไทยพีบีเอส แล้วมีการตั้งศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะที่แยกออกมาจากสำนักข่าวไทยพีบีเอส จากเดิมที่กองบรรณาธิการจะเป็นส่วนหนึ่งของสำนักข่าว เป็นลักษณะโต๊ะข่าวย่อย ที่ชื่อว่า "กลุ่มข่าวยุทธศาสตร์และวาระทางสังคม"
โดยเมื่อศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะแยกออกมาจากสำนักข่าวตั้งแต่ปี 2563 เรามีการวางภารกิจไว้ว่าจะเน้นการนำเสนอและทำข่าว-คอนเทนต์ที่เป็นเรื่องของ social movement ที่จะขับเคลื่อนไปสู่การเป็นนโยบายสาธารณะ เช่น เรื่องสิทธิ-เสียงของภาคประชาชนและภาคประชาสังคม โดยหลังมีการแตกออกมาเป็นศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมฯ เราก็มีการขบคิดกันว่า จะทำอย่างไรให้เนื้อหาที่ทำออกมามีความชัดเจนและเป็นตัวเราได้มากที่สุด ก็คุยกันถึงการนำเสนอในพื้นที่แพลตฟอร์มออนไลน์ เพราะเห็นว่าจะทำให้คอนเทนต์ของศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมฯ ชัดเจนขึ้นเพราะในความที่มีความเป็นไทยพีบีเอสอยู่ด้วย ก็ทำให้เนื้อหาจะค่อนข้างหลากหลาย ที่มีทั้งข่าวสถานการณ์-ข่าวสาระครอบครัว แต่ทางศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมฯ เห็นว่าเพื่อให้การนำเสนอเนื้อหาชัดเจนขึ้นว่าต้องการเน้นเรื่อง วาระของสังคมที่เป็นวาระสำคัญหรือเรื่องที่คนพยายามผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางนโยบาย เราเห็นว่าต้องใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ เป็นช่องทางหลักในการทำให้เนื้อหาเหล่านี้โดดเด่นขึ้นมา
...ทั้งหมดจึงเป็นที่มาของการสร้างแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ชื่อว่า theactive ซึ่งมีที่มาจาก 2-3 keyword คือ Active Citizen คือ Action -Active -Activity เพราะเรามองว่ากิจกรรมของผู้คนมันก็เปรียบเหมือน activity ก็จริง แต่หลายครั้งมันมาสู่ Action การแสดงออก และสุดท้ายเราก็คาดหวังว่ากลุ่มเป้าหมายของเรา คือ พลเมืองที่มีความแอคทีฟ มีความกระตือลือล้นและลุกขึ้นมาทำบางสิ่งบางอย่าง
...จึงเป็นที่มาของชื่อที่เราใช้ theactiveบนแพลตฟอร์มออนไลน์ นอกจากนี้ การที่ใช้สื่อออนไลน์เพื่อสื่อสารคอนทเนต์ให้ชัดเจนแล้ว ก็เป็นเรื่องของการ"ขยายกลุ่มเป้าหมาย"เพราะโดยภาพรวมของกลุ่มผู้ติดตามไทยพีบีเอส จะค่อนข้างเป็นกลุ่มวัยกลางคนคือประมาณ 35-40 ปีขึ้นไป หรือไม่เช่นนั้นก็เป็นกลุ่มเด็กไปเลยที่ติดตามคอนเทนต์เกี่ยวกับเด็ก ทางทีมงาน theactive เรามีความคิดกันว่า ต้องการขยายกลุ่มเป้าหมายให้มากขึ้น เลยคิดว่าแบนด์ theactive ต้องมีคาแรกเตอร์เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มคนที่ใช้แพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น -กลุ่มเป้าหมายอายุลดลง -การคิดว่าจะนำเสนอคอนเทนต์อย่างไรให้กับกลุ่มคนที่อายุลดลงมา แต่ยังเน้นหนักคอนเทนต์เกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารเชิงโครงสร้าง-นโยบายด้านต่างๆ เช่นเดิม
การทำงานของศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมฯ กองบก.เราแยกออกมาหมดเลยจากสำนักข่าวไทยพีบีเอส ไม่ได้ใช้ร่วมกับทางไทยพีบีเอส โดยจะมีทีมบรรณาธิการอยู่ประมาณ 5-6 คน ที่จะมีทั้งบรรณาธิการ -ผู้ช่วยบรรณาธิการ รวมถึงผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่เราชวนมาเป็นที่ปรึกษาในคอนเทนต์ที่เราทำในแต่ละช่วง เช่นช่วงปีที่ผ่านมา เราก็จะมี 2 อะเจนด้าหลักๆ คือเรื่องของ “จักรวาลความจน” ในมิติของความเหลื่อมล้ำ และ "ระบบสุขภาพ" ที่ปรึกษากอง บก. ก็จะเข้ามาร่วมให้คำปรึกษาและร่วมตัดสินใจในการนำเสนอเนื้อหาต่างๆ ของกองบก. theactive
-ก่อนเกิดวิกฤตโควิด รอบแรกตั้งแต่ปีที่แล้ว ก่อนหน้านั้น คอนเทนต์หลักของtheactive เป็นคอนเทนต์แนวไหน ?
ก่อนที่เราจะแยกตัวออกมาเป็น ศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ เรามีการทำแผนยุทธศาตร์การทำงานไว้ตอนช่วงปลายปี 2562 ที่ยังไม่มีโควิดแพร่ระบาดในประเทศไทย ซึ่งก็มีประเด็นที่ทีมงานเกาะติดมาก่อนหน้านี้เช่นเรื่องการจัดทรัพยากรต่างๆ เช่น ที่ดิน หรือเรื่องการกระจายอำนาจ ทั้งด้านการปกครองและการจัดการทรัพยากร เช่น การเมืองท้องถิ่น หรือ แนวคิดจังหวัดจัดการตนเอง เรื่องสารเคมีทางการเกษตร รวมถึงประเด็นเรื่องกลุ่มคนชายขอบ กลุ่มคนเปราะบางในสังคม ทั้งกลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มผู้พิการ กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มเด็ก แรงงานข้ามชาติ เรื่องความหลากหลายทางเพศ และ social movement ต่างๆ โดยเลือกประเด็นที่จะไปเกี่ยวข้องกับเรื่องทางโครงสร้างและประเด็นเชิงนโยบาย
ซึ่งพอแยกออกมาเป็น ศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมฯได้ไม่นาน เริ่มเกิดโรคระบาดโควิดในประเทศไทยตอนต้นปี 2563 ประมาณเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ด้วยภารกิจเราคือนำเสนอปัญหาเชิงโครงสร้างและเรื่องข้อเสนอเชิงนโยบาย ช่วงแรกของการระบาดโควิด ทางทีมงานเรายังตั้งหลักไม่ถูก ตอนแรกก็เน้นเสนอข่าวเชิงสถานการณ์ เช่นข้อมูลคนติดเชื้อ คนได้รับผลกระทบโควิด เช่นคนจนเมือง
อย่างไรก็ตาม เมื่อตั้งหลักได้ เราค่อยๆ มาแกะทีละประเด็น เราก็คุยกับทีมงานเช่น อดีตนักข่าวสายสาธารณสุขที่เป็นทีมที่ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญของเราด้วย มาร่วมประชุมวางแผนการทำข่าว จนได้เห็นโครงสร้างของกระทรวงสาธารณสุขทั้งหมด จนเห็นภาพการทำงานทั้งระบบของกระทรวง จนเห็นข้อมูลเพิ่มขึ้นเช่นเรื่อง"ระบาดวิทยา" "โครงสร้างระบบสาธารณสุขทั้งหมด"ทั้งของกรุงเทพมหานครและในต่างจังหวัดที่อยู่ในสังกัดก.สาธารณสุข จนเมื่อเราทำข้อมูล และทำข่าวไป จนตกผลึกออกมาเป็นงานกราฟฟิกแบบ data visualization ที่ใช้ชื่อว่า"โควิด 19 ทำให้เราเห็นอะไรในระบบสุขภาพไทย"ที่ถือเป็นงานชิ้นตั้งต้นของการทำข่าว-ข้อมูลเรื่องโควิด19 และแพลตฟอร์มออนไลน์ของ theactive
เมื่อเราตั้งหลักได้ จากการทำข่าวสถานการณ์ เราก็เริ่มเข้าสู่การทำงานเชิงความคิดในเรื่องการรับมือกับสถานการณ์โรคระบาด จนนำมาสู่การศึกษาและเสนอข้อมูลต่างๆ เช่น ประวัติศาสตร์โรคระบาด งานด้านระบาดวิทยา โดยช่วงปีที่แล้ว จะพบว่ามีการพูดถึงเรื่อง new normal กันมาก ทาง theactiveเห็นว่าเราต้องทำให้เนื้อหาครอบคลุมเช่น ให้เห็นมุมผลกระทบโควิดกับคนกลุ่มต่างๆ เช่น คนพิการ คนสูงอายุ การเรียนรู้ของเด็กๆ ลูกจ้างรายวัน รวมถึงผลกระทบด้านปากท้อง ที่เราทำให้เห็นว่า ผลกระทบเรื่องสุขภาพแยกไม่ออกจากปัญหาของสังคม ชีวิตความเป็นอยู่ของคน เพื่อทำให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของกระบวนทัศน์ทางสังคม โดยนำเสนอเนื้อหาให้มันเหมือนเป็น solution โดยมี inspiration และมี Case study ที่น่าสนใจที่ใดบ้าง เรียกว่าเป็น sequence ที่สองของช่วงโควิด
สำหรับสถานการณ์โควิดปัจจุบันที่มีการระบาดรุนแรง ทาง theactive เรานำเสนอเนื้อหาไปตามสถานการณ์ แต่เรื่องที่เราเน้นคือเรื่องการแก้ปัญหาในเชิงระบบ เพราะจากสถานการณ์ที่มีคนติดเชื้อจำนวนมาก คนเสียชีวิตเยอะ และมาถึงปัจจุบันที่เป็นช่วงหนึ่งปีครึ่งของการระบาด เราก็คุยกันว่า การนำเสนอเนื้อหาของ theactive เราควรทำอะไร เราก็ตกผลึกกันว่า เราควรเน้นเรื่องปัญหาเชิงระบบ วิธีการแก้ปัญหาเชิงระบบ และโมเดลการรับมือกับโควิดมีที่ใดบ้างที่ทำได้สำเร็จและที่อื่นสามารถนำไปใช้ได้
-ตัวเลขหรือยอดคนที่เข้ามาติดตามแพลตฟอร์มtheactive ในช่วงก่อนมีโควิดกับช่วงเกิดโควิด ว่ามีการเพิ่มขึ้นหรือไม่อย่างไร และคอนเทนต์เกี่ยวกับโควิดเรื่องไหนที่คนติดตาม ให้ความสนใจกันมาก?
ด้วยความที่สื่อออนไลน์จะมีลักษณะเฉพาะ อย่างช่วงแรกที่เราตั้งเพจใหม่ๆ และมีคอนเทนต์ที่คนให้ความสนใจ ก็ทำให้มีคนเข้ามาดูค่อนข้างเยอะ ในแง่ของการกดไลค์เพจ แต่ถ้าเป็นธรรมชาติของสื่อออนไลน์ ก็จะเป็นที่ทราบกันดีว่า พอมีคนติดตามถึงระดับหนึ่ง เช่นเราทำมาหนึ่งปี มีคนติดตามหนึ่งแสน พอยอดคนติดตามแตะที่หนึ่งแสน จากนั้นตัวเลขคนติดตาม คนกดไลค์ จะเริ่มเพิ่มขึ้นช้า แต่ว่ากลับกัน คนจะเข้าถึงตัวโพสต์และเว็บไซด์ theactive รวมถึงยูทูปและทวิสเตอร์ เพิ่มขึ้นหมดเลย
ต่อมาเราก็เริ่มจับทางได้ว่า หากเป็นข่าวเชิงสถานการณ์ น้อยครั้งมากที่เราจะดึงความสนใจของคนได้ เพราะว่า กลายเป็นว่ากลุ่มเป้าหมายที่คาดหวังจากเพจและแพลต์ฟอร์มของtheactive เขาคาดหวังว่าจะให้เราช่วยอธิบายเรื่องยากๆ ให้เข้าใจง่าย หรือให้เราอธิบายสิ่งที่เราเรียกแบบภาษานามธรรมว่าเรื่องของโครงสร้างหรือเรื่องเชิงระบบ ให้คนเข้าใจได้ว่าสิ่งดังกล่าวคืออะไร โดยพบว่าหากเป็นคอนเทนต์แนวนี้ คนจะเข้าถึงเยอะขึ้น
..ยกตัวอย่างเรื่องปัญหาคนไร้บ้าน ที่พอเรามานำเสนอทางออนไลน์มากขึ้น เราก็จะเห็นความรู้สึก ความคิดเห็นของคนว่าเขารับรู้ในประเด็นเรื่องคนไร้บ้านอย่างไร ความเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่งที่เราเห็นคือ ทัศนคติของคนที่รับรู้ข้อมูลจะเปลี่ยนไป เพราะเมื่อก่อนคนจะคิดว่าคนไร้บ้านคือคนเร่ร่อน คนมีอาการป่วยทางจิต คนไม่มีงานทำ แต่พอเราทำงานในพื้นที่เยอะขึ้นและนำมาเสนอ พบว่าทัศนคติของคนเปลี่ยนไป อันนี้คือสิ่งที่เราได้เพิ่มขึ้นจากยอดคนกดไลค์ กดแชร์ คนคอมเมนต์ เราได้ฟีดแบคกลับมาว่าการนำเสนอคอนเทนต์ของเราทำให้คนมองคนไร้บ้านเปลี่ยนไป และมองต่อไปว่าจะแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างได้อย่างไร
..สำหรับการนำเสนอข่าวและข้อมูลเรื่องโควิดของtheactive พบว่า เนื้อหาที่คนเข้ามาติดตามดูมากที่สุดผ่านช่องทางเว็บไซด์ https://theactive.net/ ก็คือ เนื้อหาที่เป็น Data Visualizationชุด "โควิด-19 ทำให้เราเห็นอะไรในระบบสุขภาพไทย" พบว่ายอดคนเข้ามาดูหลายแสนคนในช่วงเวลาไม่กี่วัน ประมาณหนึ่งสัปดาห์คนเข้ามา1-2 แสน ที่ถือว่าเราถือว่าประสบความสำเร็จเพราะ theactiveเป็นแพลตฟอร์มที่เปิดใหม่และคนเข้ามาติดตามมากขนาดนี้ก็ถือว่าเป็นงานที่ประสบความสำเร็จ
นอกจากนี้ ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ชิ้นงานที่ผู้ชมมากที่สุด ก็ยังคงเป็นเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 ชิ้นแรกคือ อินโฟกราฟิกเปรียบเทียบประสิทธิภาพวัคซีนซิโนแวค กับซิโนฟาร์ม ซึ่งจริง ๆ เราเผยแพร่ไปตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงแรกของการพูดถึงวัคซีนทางเลือกซิโนฟาร์ม นั่นหมายความว่าแม้จะผ่านไปเกือบ 3 เดือน ก็ยังมีคนต้องการทราบข้อมูลอยู่ อีกชิ้นก็คือ data visualization ชุด "โควิด-19 ทำให้เราเห็นอะไรในระบบสุขภาพไทย” ที่แม้จะเผยแพร่ตั้งแต่กลางปีที่แล้ว แต่ข้อมูลหลายอย่างยังอยู่ในความสนใจของผู้คน ทั้งเรื่องโครงสร้างระบบสาธารณสุข และความรู้ด้านระบาดวิทยา อีกชิ้นกราฟิกที่คนสนใจมาก ก็คือ data set ชุด"เดิมพันหมดหน้าตัก วัคซีนหยุดระบาดกรุงเทพฯ" ความน่าสนใจของงานชิ้นนี้ จากที่หลายคนสะท้อนกลับมา คือ ข้อมูลที่ทำให้เห็นความแตกต่างเรื่องประสิทธิภาพของวัคซีน กับระยะเวลาในการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการระบาด เพราะมันมีคำอธิบายในเชิงข้อมูลที่ชัดเจนว่า แม้จะฉีดวัคซีนเข็มแรกแล้วเหมือนกัน แต่ระยะเวลาในการเริ่มสร้างภูมิคุ้มกันไม่เท่ากัน ระหว่างแอสตราเซเนกาและซิโนแวค นั่นคือคำอธิบายที่เพียงพอว่าทำไมกรุงเทพฯ และประเทศไทยจำเป็นต้องใช้วัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงในช่วงที่การระบาดอยู่ในขั้นวิกฤต ซึ่งใน #datacovid19series นี้ผลตอบรับดีมาก เราทำมาทั้งหมด 14 ชุด แล้ว ในประเด็นโควิดที่เกี่ยวข้องกับมิติต่าง ๆ ในสังคม
ส่วนเนื้อหาที่เป็นเชิงสถานการณ์ พบว่างานที่คนเข้ามาดูเยอะ จะเป็นข่าวที่ไม่ได้ถูกนำเสนอในสื่ออื่น เช่น เรื่อง"สภาพโรงพยาบาลสนามในโรงงานชำแหละไก่ที่สระบุรี"ซึ่งเป็นการทำงานของนักข่าวในทีม theactive ที่ติดตามเรื่องมลพิษ-สิ่งแวดล้อม โดยมีแหล่งข่าวแจ้งให้ทราบถึงสภาพความเป็นอยู่ของ โรงงานชำแหละไก่ที่ทำเป็นรพ.สนาม ซึ่งเวลาเราพูดถึงโรคระบาด ข่าวหลักก็จะเป็นเรื่องยอดคนติดเชื้อ คนเสียชีวิต การตรวจเชิงรุก แต่ข่าวนี้มีความแตกต่างคือ การติดเชื้อจำนวนมากในโรงงาน ถือเป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งหลังจากนั้น ก็มีข่าวเรื่องคนติดเชื้อในโรงงานแยกไข่ไก่ โรงงานชำแหละไก่ มันมาพอดี แล้วพอมีประเด็นที่แตกต่างเช่นสภาพของโรงพยาบาลสนามที่อยู่ในโรงงาน พบว่าไม่พร้อม สภาพไม่เอื้อ เลยทำให้ข่าวชิ้นนี้มีคนเข้าถึงค่อนข้างมากในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา
-มองว่าคอนเทนต์ข่าวเรื่องสุขภาพ การแพทย์ สาธารณสุข มีความสำคัญหรือไม่ อย่างไร เพราะคนบางส่วนอาจยังมองว่าข่าวแนวนี้เป็นเรื่องไกลตัว หากไม่ได้เจ็บป่วย และคิดว่าที่ผ่านมาก่อนเกิดโควิด สื่อให้พื้นที่ข่าวแนวนี้มากน้อยแค่ไหน?
มุมมองก่อนมีโควิด จริงๆ เราก็ไม่ได้เป็นนักข่าวที่ตามเรื่องกระทรวงสาธารณสุข ก็ต้องบอกว่า ก็คิดเหมือนสังคมส่วนใหญ่ เพราะว่าเราไม่เคยเจอกับตัว แต่พอมีสถานการณ์โควิด มันทำให้เห็นได้เลยว่า การเจ็บป่วย ไม่ใช่แค่เรื่องเชิงปัจเจก อย่างเราทำงานในเขตเมือง กรุงเทพมหานคร เราทำงานมารักษาตัวเอง จนในอดีตบางคนบอกว่าถึงขั้นล้มละลายเลย จนต่อมามีระบบหลักประกันสุขภาพ ทำให้การรักษาดีขึ้น แต่ก็อาจไม่ตอบโจทย์คนกรุงเทพฯ อีก เพราะอย่างที่เห็นรพ.ส่วนใหญ่ในกรุงเทพฯ เป็นรพ.เอกชนที่มีเป็นหลักร้อย แต่รพ.รัฐมีแค่หลักสิบ คนกทม. แม้จะมีระบบประกันสุขภาพ มีบัตรทอง มีประกันสังคม แต่เขาจะไม่คิดถึงรพ.รัฐเป็นลำดับแรก ถ้าไม่เจอสถานการณ์การป่วยที่จำเป็นต้องรักษากับบุคลากรทางการแพทย์ที่เชี่ยวชาญสูงอย่างอาจารย์แพทย์ เขาก็จะเลือกใช้บริการกับรพ.เอกชน
พอเราเห็นปัญหาตรงนี้ ทำให้เรารู้ได้เลยว่า กรุงเทพมหานคร มีโครงสร้างสาธารณสุขที่มีปัญหา แต่ของต่างจังหวัด เป็นอีกหนึ่งเรื่องเลย มันเลยย้อนกลับมาหา ทำให้เห็นว่าทำไมระบบควบคุมโรคระบาดของกรุงเทพฯกับต่างจังหวัดจึงแตกต่างกัน ซึ่งจริงๆ เรื่องแบบนี้มันไม่ได้ต่างกันเลยในสถานการณ์ปกติ เช่นหากเราถามหาระบบแพทย์ปฐมภูมิในกรุงเทพฯ คนจะนึกไม่ออก ว่าคืออะไร คนจะนึกถึงแค่คลีนิคเอกชน ที่คนกรุงเทพฯอาจพอจ่ายได้ แต่พอเกิดปัญหาโควิด ทำให้เห็นถึงความไม่เชื่อมโยงของระบบสาธารณสุขทั้งระบบ
ซึ่งเรื่องเชิงระบบโครงสร้างแบบนี้ พบว่า อย่างในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่เราได้ฟังในคลับเฮ้าส์หรือความเห็นในโซเชียลมีเดีย ที่คนรุ่นใหม่สะท้อนออกมาาว่าเขาอยากเห็นพบว่าเรื่องสุขภาพกลายเป็นเรื่องที่เขาคาดหวัง เพราะเขารู้สึกว่าเวลาใช้ชีวิตประจำวันหรือในการทำงานที่เขาต้องจ่ายภาษีให้กับรัฐ แต่พอเวลาที่เขาต้องใช้บริการทางสุขภาพที่รวดเร็วและมีคุณภาพ เขากลับต้องควักเงินจ่ายเองหรือต้องไปซื้อประกันสุขภาพในราคาสูง จึงมีคำถามกลับมาว่าเมื่อเรามีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าแล้ว แต่ทำไมมาตรฐานการรักษาถึงไม่ใกล้เคียงกัน อันนี้แค่ในกรุงเทพมหานคร พบว่ามีความแตกต่างกันมากเลยคิดว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องใกล้ตัว ซึ่งถ้ามีmovement ทางสังคม เพื่อให้เกิดการทำอะไรบางอย่าง เกิดการเปลี่ยนแปลง มันน่าจะเริ่มต้นได้จากการมองเห็นปัญหาเชิงระบบแบบนี้ ซึ่งถ้าการนำเสนอของสื่อทำให้คนเห็นถึงความเชื่อมโยงแบบนี้ได้ มันก็น่าจะทำให้ข่าวแนวนี้เป็นเรื่องใกล้ตัว ไม่ใช่เรื่องปัจเจกเพียงแค่ว่า บ้านหลังไหนมีเงิน เวลามีใครป่วย ก็นำเงินไปรักษาอาการเจ็บป่วยได้ แต่ครอบครัวไหนไม่รวย เวลาป่วย จะไปโรงพยาบาลรัฐ ก็ต้องเข้าคิวรอตั้งแต่เช้าเพื่อเข้ารับการรักษา
สำหรับการมองว่า สื่อให้พื้นที่หรือเสนอข่าวเกี่ยวกับด้านสาธารณสุข สุขภาพ น้อยเกินไปหรือไม่ ต้องบอกว่าหากดูจากสถานการณ์ปัจจุบัน คงเปรียบเทียบได้ยาก เพราะเวลานี้ทุกสื่อมีเรื่องของ public health เพราะสื่อปฏิเสธที่จะเสนอไม่ได้เพราะขณะนี้อยู่ในช่วงวิกฤตทางสุขภาพ แต่หากมองย้อนกลับไปเมื่อสองปีก่อนหน้านี้ ก็คิดว่าสื่อยังนำเสนอข่าวในส่วนนี้น้อยเกินไปจริงๆ เพราะกลายเป็นว่าหากไม่ใช่เรื่องที่เป็นดรามาในโซเชียลมีเดีย สื่อหลักแทบไม่ได้นำเสนอเลยเช่น มีคุณยายคนหนึ่ง ต้องใช้เวลาในการเข้าถึงระบบสุขภาพ จนยื้อชีวิตไว้ไม่ได้ จนกลายเป็นดรามาในโลกออนไลน์มานำเสนอทั้งที่ในการทำหน้าที่ของสื่อ เอาเข้าจริงแล้วอาจต้องคิดว่าจะทำอย่างไรไม่ให้เกิดเคสแบบนี้อีก เพราะอย่างที่บอกตอนต้น สถานการณ์โควิดเวลานี้ทำให้เราเห็นระบบสาธารณสุขชัดขึ้น ทั้งเรื่องระบบแพทย์ปฐมภูมิ -หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า -กองทุนประกันสุขภาพที่มีหลายกองทุน แล้วทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกัน หรืออย่างการเรียกร้องให้เปิดข้อมูลเรื่องโควต้าและแผนการกระจายวัคซีนที่สื่อร่วมลงชื่อเพราะสื่อรู้สึกว่ารัฐต้องเปิดข้อมูล เพื่อให้สื่อนำเสนอข่าวที่มีผลต่อระบบสุขภาพในสภาวะโรคระบาดได้อย่างตรงไปตรงมาและถูกต้อง ให้เป็น open data ไม่ใช่แค่ข่าวแถลงจากกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงกรณีรัฐบาลมีการออกข้อกำหนดตามพรก.สถานการณ์ฉุกเฉินฯ ที่มีลักษณะจำกัดการทำหน้าที่ของสื่อ จนต่อมาองค์กรวิชาชีพสื่อได้ร่วมกันออกแอ็กชั่นตรงนี้อย่างชัดเจน
สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เราเห็นได้ว่าบทบาทของสื่อโดยเฉพาะสื่อออนไลน์รุ่นใหม่ กับบทบาทองค์กรวิชาชีพสื่อ ที่หากทำหน้าที่พร้อมกันไปได้อย่างดี จะเป็นโอกาสที่ทำให้ในอนาคตหากมีประเด็นเรื่องสุขภาพ เรื่องสำคัญ ๆ ก็น่าจะทำให้การเสนอข่าวเป็นไปได้อย่างมีระบบ และไปแตะเรื่องประเด็นการแก้ไขปัญหาได้มากขึ้น
"สิ่งที่น่าจับตาก็คือ หลังจบโควิด ทิศทางการเสนอข่าวเกี่ยวกับเรื่องสาธารณสุข จะเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ โดยหากยังเป็นเหมือนเดิม นั่นหมายถึงว่าปัญหาที่มันถูกทิ้งไว้ ตอนโควิด 19 มันน่าจะต้องสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ โดยมีสื่อเป็นกลไกที่ร่วมเคลื่อนหนัก คิดว่าหน้าที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของสื่อคือมากกว่าแค่รายงานว่าวันนี้เกิดอะไรขึ้น แต่ต้องชวนสังคมเปิดบทสนทนาใหม่ และชวนสังคมคิดต่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นวันนี้มันมีที่มาจากอะไร และจะทำอย่างไรถึงจะแก้ปัญหานี้ได้ ซึ่งบทบาทสื่อในสถานการณ์เวลานี้ มันคือการปรับตัวแล้ว คือสื่อไม่ใช่แค่บอกว่าวันนี้เกิดอะไรขึ้น แต่ต้องบอกและหาให้เจอด้วยว่าที่มาของปัญหาคืออะไรและทางแก้ ทางออกของปัญหาคืออะไร และใครกำลังทำเรื่องแบบนี้อยู่บ้าง ซึ่งจะทำให้เห็นเนื้อหาเชิงระบบมากขึ้น คิดว่าเรื่องเหล่านี้ คือสิ่งที่สื่อควรจะทำโดยเฉพาะในช่วงโควิด-19 ในเวลานี้"
อรุชิตา จาก The Active กล่าวย้ำบทบาทสื่อต่อการนำคอนเทนต์เชิงระบบเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างในระบบสาธารณสุขประเทศไทย
Hfocus เจาะลึกระบบสุขภาพ
ถัดมาที่อีกหนึ่งแพลตฟอร์มสื่อ ที่นำเสนอคอนเทนต์เรื่อง สาธารณสุข-การแพทย์-สุขภาพ เป็นหลัก จนได้รับการพูดถึงอย่างมากในเรื่องการนำเสนอเนื้อหาที่โดดเด่นในช่วงวิกฤตโควิด นั่นก็คือ https://www.hfocus.org/ ที่มีคอนเสปต์ว่า "เจาะลึกระบบสุขภาพ"
โดย"น.ส.วารุณี สิทธิรังสรรค์ หรือแคท ผู้สื่อข่าว และผู้ช่วยบรรณาธิการสำนักข่าว Hfocus"บอกเล่าถึงความเป็นมาของ Hfocusรวมถึงความเห็นต่อพื้นที่สื่อ ในการเสนอข่าวเรื่องสาธารณสุข-สุขภาพ ในช่วงก่อนมีโควิดและช่วงโควิด ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร
"วารุณี-ผู้ช่วยบรรณาธิการสำนักข่าว Hfocus"แนะนำตัวเองว่า เคยเป็นผู้สื่อข่าวอยู่นสพ.มติชนมาประมาณ14ปี โดยประจำอยู่กระทรวงสาธารณสุขประมาณ 11-12 ปี จากนั้นก็ลาออกไปอยู่ PPTVออนไลน์ และปัจจุบันเป็น ผู้สื่อข่าวและผู้ช่วยบรรณาธิการข่าว สำนักข่าว Hfocus โดยตอนเป็นผู้สื่อข่าวอยู่มติชน จะทำข่าวรายวัน ข่าวรูทีนทั่วไปและข่าวเชิงนโยบายด้านสาธารณสุข รวมไปถึงข่าวสืบสวนสอบสวน สิทธิสวัสดิการต่างๆ ก็มีการดำเนินการตามปกติ แต่สำหรับการทำงานข่าวที่ Hfocus ไม่แตกต่างกันมากนัก แต่จะเน้นข่าวเชิงนโยบายสาธารณสุข โดยเฉพาะข่าวเกี่ยวกับสิทธิ-สวัสดิการต่างๆ ของบุคลากรสาธารณสุข เพราะกลุ่มเป้าหมายที่ติดตาม Hfocus ส่วนใหญ่เป็นบุคลากรและคนที่อยู่ในแวดวงสาธารณสุขที่เข้ามาติดตามกันมาก ซึ่งจริงๆ จากที่ทำงานที่ผ่านมา ไม่ได้แตกต่างกันมากนัก เพราะเป็นนักข่าวประจำกระทรวงสาธารณสุขมาตลอดรวม ๆก็เกิน 15 ปี
ขณะที่การทำงานเชิงสืบสวนสอบสวน ณ ปัจจุบันยอมรับว่าไม่ได้ทำมาก เพราะด้วยเป็นข่าวออนไลน์ต้องมีการทำข่าวตามกระแส อย่างข่าววัคซีน ข่าวยา แต่อย่างที่กล่าวไปว่า เมื่อบุคลากรสาธารณสุขติดตามมาก ก็จะเน้นในเรื่องสิทธิสวัสดิการ ความทุกข์จากการทำงานของบุคลากร และการช่วยเหลือเยียวยาจากกระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น อย่างไรก็ตาม จริงๆ Hfocus ไม่ได้เน้นแค่ข่าวรายวัน แต่เรายังทำคอนเทนต์ที่อาจไม่ต้องใช้ความเร็วในการนำเสนอมากนัก อย่างคอนเทนต์เชิงสุขภาพ การให้ความรู้ เรื่องความเคลื่อนไหวของแวดวงบุคลากรสาธารณสุข เช่น ชีวิตการทำงานของบุคลากรทางสาธารณสุขทำงานอย่างไร มีความยากลำบากอย่างไร ก็มีการนำเสนอมาตลอด
"ผู้ช่วยบรรณาธิการสำนักข่าว Hfocus"กล่าวถึงที่มาที่ไปของสำนักข่าว Hfocus ที่ทำเว็บไซด์ www.hfocus.org และเพจ Hfocus ว่า ต้องออกตัวว่าไม่ได้เข้ามาตั้งแต่แรกที่มีการก่อตั้งและเปิดตัวHfocus โดยสำหรับHfocus เริ่มก่อตั้งประมาณช่วงปี 2553 ซึ่งตอนนั้นสื่อกระแสหลัก แม้จะมีการนำเสนอประเด็นสุขภาพ แต่ด้วยความที่เป็นสื่อหลักจำเป็นต้องนำเสนอข่าวสารทั้งหมด ดังนั้น Hfocus จึงเป็นสื่อทางเลือกในการนำเสนอข้อมูลสุขภาพโดยตรง แม้ขณะนั้นจะยังไม่ได้มีโรคระบาดรุนแรง แต่ก็มีการนำเสนอข้อมูลสุขภาพ การทำงานของบุคลากร สิทธิสวัสดิการต่างๆ ของบุคลากรสาธารณสุข รวมไปถึงสิทธิของผู้ประกันตนด้วยเช่นกัน กล่าวคือ มีการเปรียบเทียบระหว่าง "สิทธิบัตรทอง" กับสิทธิประกันสังคมของผู้ประกันตน ว่าแตกต่างอย่างไร เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการเพิ่มสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ช่วงแรก Hfocus ก็ไม่ได้ใช้ชื่อว่า Hfocus เพราะระยะแรกใช้ชื่อว่า health focus แต่เพื่อให้คนจดจำได้ง่าย ก็เลยใช้คำย่อให้เหลือ Hfocus
สำหรับแนวทางการเสนอข้อมูลข่าวสารของ ที่มีนโยบายว่า"เจาะลึกระบบสุขภาพ"ก็คือ Hfocus จะเน้นเสนอเรื่องสถิติ ตัวเลข จำนวนในข้อมูลเรื่องต่างๆ เช่นเมื่อมีการแถลงข่าวเรื่องใดออกมาเช่นภาพรวมต่างๆ เราก็จะไปหาข้อมูลมาเพิ่มเติมว่าที่ผ่านมา บุคลากรมีผลกระทบอย่างไรบ้าง คือต้องได้ข้อมูลที่มากกว่า เพียงแต่ว่า ณ ปัจจุบัน Hfocusไม่ได้เน้นเรื่องเจาะลึกระบบสุขภาพอย่างเดียวแล้ว เพราะHfocusกำลังขยายกลุ่มเป้าหมาย เช่น เรื่องแรงงาน -ข้อเรียกร้องของบุคลากรเป็นหลักมากขึ้น รวมไปถึงสิทธิสวัสดิภาพของสตรี หรือหญิงตั้งครรภ์
-ช่วงวิกฤตโควิดในประเทศไทยตั้งแต่ต้นปีที่แล้ว ทำให้มีคนเข้ามาติดตามเว็บไซต์และเพจของ Hfocus มากขึ้นหรือไม่อย่างไร?
พบว่าเพิ่มขึ้น โดยตั้งแต่เริ่มมีการระบาดของโควิดในประเทศไทยรอบแรกตั้งแต่ต้นปี 2563 มีคนเข้ามาติดตามข่าวสารในเว็บไซต์ Hfocus เพิ่มขึ้น ซึ่งปกติคนที่เข้ามาติดตาม ก็จะเป็นบุคลากรทางการแพทย์ เพราะมีข่าวสารเกี่ยวกับเรื่องสิทธิสวัสดิการต่างๆ รวมถึงความเคลื่อนไหวในแวดวง อย่างนโยบายเพิ่มเติม ทั้งกรณี ครม.เห็นชอบทั้งเรื่องการบรรจุข้าราชการผู้ปฏิบัติงานโควิด19 และเรื่องเงินเพิ่มค่าตอบแทนพิเศษ เมื่อมีเรื่องเหล่านี้ ทำให้ Hfocus ได้รับการตอบรับจากข่าวแนวนี้มากขึ้น
อย่างการบรรจุข้าราชการสี่หมื่นกว่าคน ไม่ใช่ว่าจะได้ทุกคน เพราะผู้ปฏิบัติงานในกระทรวงสาธารณสุขมีจำนวนมากและหลากหลายวิชาชีพ โดยก็จะมีบุคลากรวิชาชีพต่างๆ ส่งข้อมูล ข้อเรียกร้องมากให้ทางกอง บก.Hfocus เลยทำให้ยอดผู้ติดตามข่าวของHfocusเพิ่มขึ้น ยอดคนเข้ามาติดตามHfocusก็ไต่ขึ้นมาเรื่อยๆ แม้จะยังไม่มากเท่ากับเพจอื่นๆ แต่ก็ถือว่า เป็นในระดับที่ค่อยเป็นค่อยไป
ยิ่งมาโควิดรอบสามในช่วงสถานการณ์ปัจจุบัน ที่มีเรื่องของการให้วัคซีนกับบุคลากรทางการแพทย์ ทั้งเรื่องยี่ห้อวัคซีน -การฉีดบูสเตอร์ โดส คนก็เลยยิ่งเข้ามาดูเยอะ จนช่วงหลัง ก็ไม่ได้มีแต่บุคลากรสาธารณสุขแล้ว แต่ยังมีประชาชนทั่วไปที่สนใจข้อมูลและเข้ามาติดตาม Hfocus มากขึ้น เพราะคนก็อยากรู้ข้อมูลเรื่องโควิดเชื้อกลายพันธุ์-การลงทะเบียนจองวัคซีน เป็นต้น
ภาพรวมคอนเทนต์ในช่วงปัจจุบันที่คนเข้ามาติดตามดูมากสุดยังคงเป็นเรื่องข่าวสารเกี่ยวกับการบรรจุรับราชการ-สิทธิสวัสดิการต่างๆ -ความเหลื่อมล้ำในวิชาชีพ -การทำงานของด่านหน้าในการรับมือกับโควิด โดยเฉพาะข่าวเกี่ยวกับปัญหาของคนที่ทำงานในระดับพื้นที่ และการจองลงทะเบียนฉีดวัคซีน ที่ยอดคนดูก็จะสูสีกัน ส่วนยอดแชร์ก็เป็นพันขึ้นไป
ส่วนการทำสกู๊ปข่าว การสัมภาษณ์พิเศษแหล่งข่าวว่าจะเลือกทำเรื่องอะไรหรือสัมภาษณ์ใคร ก็จะดูที่สถานการณ์แต่ละช่วงเป็นหลัก อย่างการสัมภาษณ์จะเน้นบุคคลที่เป็นคนทำงานในพื้นที่ เช่น ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่เพื่อให้เขาสะท้อนปัญหา รวมไปถึงวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุขอื่นๆ เช่น"นักรังสีวิทยา-นักเทคนิคการแพทย์" ส่วนวิชาชีพอื่นๆ ก็ให้ความสำคัญเช่นกัน รวมไปถึงระดับปฐมภูมิ อย่าง อสม. หมออนามัย
-มองว่าข่าวเกี่ยวกับเรื่องโควิด ภาพรวมดูแล้วสิ่งที่สื่อส่วนใหญ่ยังเสนอน้อยเกินไปเกี่ยวกับโควิด ที่ควรให้ประชาชนได้รับรู้คือเรื่องใด?
ขณะนี้สื่อมีจำนวนมากขึ้น โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ ซึ่งการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับโรคโควิดก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ในฐานะคนทำงานสื่อคนหนึ่ง การนำเสนอข้อมูลไม่ใช่แค่เรื่องสุขภาพ แต่ไม่ว่าจะเป็นข่าวด้านไหน หากเป็นไปได้ในกรณีข่าวที่ยังมีคำถาม หรือหากนำเสนอเรื่องใดเรื่องหนึ่งไปแล้ว อาจก่อผลกระทบหรือเกิดเสียงวิพากษ์ ก็ควรมีการหาข้อมูลข้อชี้แจงมารวมและนำเสนอไปพร้อมกัน
หมายถึงว่า หากมีข้อมูลหนึ่งนำเสนอเรื่องที่พาดพิงถึงบุคคลใด หรือยังเป็นข้อมูลที่ไม่มีการยืนยันข้อเท็จจริง หากเป็นไปได้ และด้วยเวลาที่สามารถทำได้ ขอให้สอบถาม หรือสัมภาษณ์ผู้ถูกพาดพิง เพื่อให้การนำเสนอเป็นไปอย่างรอบด้าน และทำให้ตัวข่าวดูน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น เพราะหากเรานำเสนอสิ่งที่ยังไม่ยืนยันออกไปก่อน หรือข่าวที่ไปพาดพิงใครโดยไม่ได้สอบถามคนที่ถูกพาดพิง ก็อาจได้รับผลกระทบ ทั้งตัวผู้ถูกพาดพิง และตัวสื่อเอง เนื่องจากอาจถูกตำหนิ หรือถึงขั้นดำเนินคดีได้ อีกทั้ง ผู้รับสารส่วนใหญ่จะรับสารครั้งแรกเป็นหลัก หากมีสารชี้แจงก็อาจไม่ได้รับความสนใจมากนัก
-ในฐานะทำข่าวด้านสาธารณสุข การแพทย์ สุขภาพ คิดว่าข่าวด้านนี้ มีความสำคัญอย่างไรกับประชาชน เพราะคนอาจมองว่าข่าวแนวนี้ไกลตัว จะมาติดตามก็ต่อมาได้รับผลกระทบกับตัวเองหรือคนรอบข้าง?
สำคัญมาก เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัว อย่างข่าวสาธารณสุข ไม่ใช่แค่เรื่องโควิด แต่เป็นเรื่องที่จะอยู่กับเราเลย เป็นข่าวสารข้อมูลที่จะสร้าง Health literacy หรือการสร้างการตระหนักรู้ด้านสุขภาพ เพราะหากเราอ่านข่าวด้านสาธารณสุขเรื่อยๆ -ติดตามข่าวสารจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ มันก็จะเป็นองค์ความรู้ให้กับเรา ยกตัวอยางเช่น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ที่โฆษณาว่าช่วยดุูแลสุขภาพอะไรต่างๆ หรือบอกว่าเป็นวิตามินที่ทำให้ผิวขาว ที่เป็นการทำให้คนซื้อเสียเงินโดยไม่จีรัง มันไม่ได้ช่วย ข่าวด้านสาธารณสุข ก็จะเป็นพื้นฐานการให้ความรู้กับคนตรงนี้ เพียงแต่ว่าช่วงนี้โควิดเยอะ เรื่องเกี่ยวกับสาธารณสุข สุขภาพ สื่อหลายแห่งก็เลยนำเสนอเยอะ
-แพลต์ฟอร์มต่างๆที่เสนอข่าวด้านการแพทย์ สาธารณสข ทั้งสื่อกระแสหลัก สื่อกระแสรอง และหน่วยงานรัฐที่ทำเพจกันเองในปัจจุบัน มีเพียงพอหรือยัง ควรต้องมีมากขึ้นหรือไม่ เพื่อให้ข้อมูลข่าวสารกับประชาชน?
ปัจจุบันก็พบว่ามีเยอะขึ้น โดยหากมองในเชิงเรื่องการให้ความรู้ด้านสุขภาพที่ทำโดยหน่วยงานราชการ อย่าง สสส. หรือสปสช. ที่มีการทำเพจ ทำข่าวออกมา ถ้ามองอีกทางหนึ่งก็เป็นทางเลือกที่ดีให้กับผู้รับสาร เช่นหากประชาชนอยากได้ความรู้เรื่องการสร้างเสริมสุขภาพ ก็ไปหาข้อมูลจากตรงไหนได้ หรือหากไปดูแล้ว ไม่มี ก็ไปหาจากแหล่งอื่นได้ แต่หากเป็นเพจที่มีการก่อตั้งกันในปัจจุบัน ซึ่งมีมาก ทางประชาชนผู้รับสาร ก็ต้องใช้วิจารณญาณว่า สิ่งที่เพจบางแห่งนำเสนอข้อมูลเป็นอย่างไร ต้องศึกษาจากหลายๆแห่ง
อย่างไรก็ตาม การจะวิเคราะห์ว่า ข่าวสารด้านการแพทย์และสาธารณสุขทั้งสื่อกระแสหลัก และสื่อรอง หรือหน่วยงานรัฐ นำเสนอเพียงพอหรือไม่อย่างไรนั้น ความเป็นจริงควรมีการศึกษาวิจัยให้เป็นกิจลักษณะ ซึ่งอาจต้องอาศัยนักวิชาการ นักวิจัยในการศึกษาข้อมูลตรงนี้ ว่า ผลลัพธ์เป็นอย่างไร น่าจะตอบโจทย์ได้มากกว่า เนื่องจากจะได้ข้อมูลเป็นผลการศึกษาที่ชัดเจน และสามารถอ้างผลการวิจัยได้
เมื่อถามถึงว่าสื่อมีบทบาทสำคัญหรือไม่ ในการทำให้สถานการณ์โควิดในประเทศ ดีขึ้นเช่น การช่วยทำให้คนติดเชื้อลดลง สื่่อจะมีบทบาทตรงนี้ได้หรือไม่ "วารุณี -ผู้ช่วยบรรณาธิการสำนักข่าว Hfocus"ย้ำว่า มีส่วนมาก คือในสถานการณ์โควิด จะมีมาตราการสองมาตรการหลักๆ คือมาตรการป้องกันโรค และมาตรการควบคุมโรค รวมไปถึงมาตรการอื่นๆ ซึ่งมาตรการที่ออกมา ก็ต้องมีการสื่อสารให้ประชาชนรับรู้ข้อมูลข้อเท็จจริงว่า เป็นอย่างไร ต้องทำอย่างไร ซึ่งยังต้องนำเสนออย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันการสื่อสารให้หน่วยงานรัฐปรับปรุงการทำหน้าที่ในประเด็นที่ประชาชนตั้งคำถามก็เป็นสิ่งจำเป็น ส่วนประเด็นดรามา หากจะให้ก้าวข้ามไปเลยคงยากในช่วงยุคออนไลน์ขณะนี้ แต่หากมีการนำเสนอประเด็นดรามา อยากให้มีการตรวจสอบและนำเสนอข้อมูลจากการตรวจสอบ เพื่อให้ประชาชนได้พิจารณาข้อมูลด้วยตัวเอง
ส่วน Hfocus ประเด็นดรามา หากจะนำเสนอต้องมีการตรวจสอบข้อมูล และนำเสนอเรื่องดังกล่าว เพื่อให้ประชาชนพิจารณาข้อมูลดังกล่าว แต่หลักๆ ยังคงนำเสนอในเรื่องของมาตรการป้องกันตัวเองจากโรคระบาด มาตรการต่างๆ นโยบายต่างๆ เป็นไปตามที่ตั้งเป้าหรือไม่ อย่างไร รวมไปถึงการฉีดวัคซีนที่เป็นไปตามกลุ่มเป้าหมายหรือไม่ จำนวนวัคซีนที่ลงไปแต่ละพื้นที่เป็นอย่างไร เป็นต้น
-มีเสียงสะท้อนว่า ที่ผ่านมา การให้ข้อมูล หรือการสื่อสารจากภาครัฐ มักใช้การสื่อทางเดียว เช่นการแถลงจากศบค. หรือก.สาธารณสุข ทั้งที่โควิดเป็นเรื่องใหญ่ สื่ออาจต้องการข้อมูลหลากหลาย จำนวนมาก บางทีก็เลยต้องใช้วิธีไปดึงความเห็นจากเพจส่วนตัวของหมอมาทำเป็นข่าว มองว่า ภาครัฐควรให้ข้อมูลมากขึ้นกว่าที่ทำอยู่ตอนนี้หรือไม่?
ต้องแยกเป็นหลายประเด็น เกี่ยวกับเรื่องนี้ อย่างของ Hfocus จะบอกว่าไม่ประสบปัญหาเลยก็อาจไม่ใช่ แต่ด้วยกลุ่มเป้าหมายจะเป็นบุคลากรมากกว่า การสัมภาษณ์ หรือการประสานข้อมูลต่างๆ จะเน้นไปที่บุคลากร การทำงานของบุคลากร ส่วนเรื่องข้อมูลเชิงลึกก็ประสบปัญหาบ้างเช่นกัน เนื่องจากต้องมีการประสาน และอาจไม่ได้อย่างรวดเร็ว หรือการโทรศัพท์หาแหล่งข่าว สามารถติดต่อได้ แต่หลายครั้งก็ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากหลายปัจจัย อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันสถานการณ์โควิดระบาดหนัก ทำให้กระทรวงสาธารณสุขเน้นการแถลงข่าวแบบออนไลน์ ซึ่งก็ทำให้เรามีข้อจำกัดในการเดินทาง การเข้าหาข้อมูลจากแหล่งข่าวเช่นกัน
จริงๆเป็นเรื่องดีหากรัฐมีช่องทาง หรือเปิดข้อมูลตัวเลขต่างๆให้ชัดเจน จากการสัมภาษณ์ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ได้ข้อมูลว่า มีการดำเนินการในเรื่องข้อมูลจำนวนวัคซีนที่กระจายลงในแต่ละจังหวัด ซึ่งในระบบ “หมอพร้อม” มีการเก็บข้อมูลตรงนี้ ส่วนกรณีอื่นๆ หากรัฐรับฟัง และมีการปรับปรุง พัฒนาข้อมูลให้เป็นสาธารณะ สืบค้นได้ก็จะช่วยให้สังคมเข้าใจ และรู้สึกว่ารัฐโปร่งใส ไม่ต้องมีประเด็นดรามาอย่างที่ผ่านมา ดังนั้น หากรัฐมีการประชาสัมพันธ์หรือสื่อสารประเด็นเหล่านี้เพิ่มเติมก็จะช่วยได้มากทีเดียว
"น.ส.วารุณี-ผู้ช่วยบรรณาธิการสำนักข่าว Hfocus"กล่าวทิ้งท้าย Hfocusเหมือนเป็นสื่อทางเลือกสื่อหนึ่งที่เสนอข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสุขภาพและสาธารณสุข โดยเน้นเรื่องนโยบายสาธารณสุขที่หลากหลายประเด็น และหลายมิติ ดังนั้นถ้าสนใจเรื่องข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสุขภาพ ก็สามารถเข้ามาดูในเว็บไซต์ https://www.hfocus.org และเฟซบุ๊กแฟนเพจ Hfocus ได้ รวมถึงเข้ามาฝากข้อความในกล่องข้อความได้ว่า อยากให้ Hfocusนำเสนอข่าวสารอะไรเกี่ยวกับด้านสุขภาพ สาธารณสุข ซึ่งปัจจุบัน มีคนที่ทำงานด้านสาธารณสุขในพื้นที่ก็ส่งข้อมูล บอกข่าวสารมายัง Hfocus เช่นกัน
"หากอนาคตเมื่อสถานการณ์โควิดหมดไป ทางHfocusก็จะนำเสนอข่าวสารเรื่องโรคอุบัติใหม่ต่อไป เพราะเราเน้นเรื่องโรคอุบัติใหม่-อุบัติซ้ำอยู่แล้ว รวมถึงเรื่องความเคลื่อนไหวการทำงานของบุคลากรสาธารณสุข เช่น การบรรจุเข้ารับราชการ ปัญหาการทำงานต่างๆซึ่งยังพบเห็นอยู่เสมอ ตลอดจนข่าวสารด้านความหลากหลายของวิชาชีพด้านสาธารณสุข"
น.ส.วารุณี กล่าวปิดท้าย
The Coverage คู่มือใช้ชีวิตในวิกฤตโควิด เปิดพื้นที่คนเล็กคนน้อยได้สื่อสาร
ปิดท้ายที่อีกหนึ่งสื่อที่นำเสนอคอนเทนต์เรื่องระบบสุขภาพ-สาธารณสุข ที่มีเนื้อหาหนักแน่น รอบด้าน ครอบคลุมเรื่องระบบสุขภาพทุกมิติ นั่นก็คือ "The Coverage" https://www.thecoverage.info/
โดย"ธนวัฒน์ เพ็ชรล่อเหลียน จากThe Coverage"เกริ่นนำถึงความเป็นมาของ The Coverage ว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 3 ระบบใหญ่ ได้แก่ ระบบบัตรทอง ระบบประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ ซึ่งแน่นอนว่า คนไทยต้องข้องแวะกับระบบใดระบบหนึ่งอย่างแน่นอน
...ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านี้เองที่เปรียบได้กับ “กำแพงพิงหลัง” ให้กับคนในประเทศไทยตั้งแต่เกิดจนตาย แต่ด้วยข้อมูลที่มากอย่างล้นทะลัก มีความกระจัดกระจายและแยกส่วนกัน บางเรื่องบางราวซับซ้อนและเฉพาะทางจนยากเกินกว่าการทำความเข้าใจ นั่นจึงไม่แปลกที่ที่ผ่านคนไทยอาจเข้าใจเรื่องระบบหลักประกันสุขภาพฯ เพียงผิวเผิน
"หน้าที่ของ The Coverage คือการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ด้วยการสื่อความหมายอย่าง “ง่าย” สำหรับประชาชนทุกกลุ่มคน
The Coverage จะเป็นสื่อกลางและช่องทางการสื่อสารที่บอกเล่าเรื่องราว พาผู้รับสารไปสำรวจชีวิต ติดตามแง่คิดและมุมมองของบุคคล อัพเดทข้อมูลข่าวสารไทย-เทศ ในทุกมิติที่เกี่ยวพันกับระบบสุขภาพ และระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า"
"ธนวัฒน์" บอกว่าหากอธิบายโดยสังเขป The Coverage เป็นสำนักข่าวที่มุ่งเน้นนำเสนอเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับ “ระบบสุขภาพ” ซึ่งครอบคลุมทั้งระบบบริการ กำลังคน การเงินการคลัง เวชภัณฑ์-ยา ฯลฯ และ “ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” ซึ่งมีด้วยกัน 3 ระบบใหญ่ข้างต้น
...สำหรับชื่อของ The Coverage มาจากคำว่า Universal health coverage อันหมายถึงระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และเฉพาะคำว่า Coverage เพียงอย่างเดียว ยังหมายถึง “ความคุ้มครอง” อีกด้วย
...ทุกวันนี้ The Coverage บริหารงานรูปแบบของกองบรรณาธิการขนาดเล็ก มีสมาชิกรวมทั้งสิ้น 7 ชีวิตคละกันในทุกช่วงวัย โดยแบ่งออกเป็น บรรณาธิการ ผู้สื่อข่าว ดีไซน์เนอร์ และเว็บมาสเตอร์ นำทีมโดย ธนวัฒน์ เพ็ชรล่อเหลียน อดีตผู้สื่อข่าวสาธารณสุข เจ้าของรางวัลข่าวดีเด่น รางวัลอิศราอมันตกุล ปี 2545 จากผลงาน “ทวงสิทธิ 10 ล้านคน ลดเหลื่อมล้ำระบบสุขภาพ”
...นับตั้งแต่วันก่อตั้งสำนักข่าวอย่างเป็นทางการ จนถึงขณะนี้ The Coverage มีอายุราว 1 ขวบปี มีจำนวนผู้ติดตามทางแฟนเพจ “The Coverage” ประมาณ 32,000 คน ซึ่งในมุมมองของกองบรรณาธิการแล้ว ไม่ได้ให้ความสำคัญกับตัวเลข หรือจำนวนผู้ติดตามสักเท่าใด เนื่องจากตัวเลขเหล่านั้นไม่ได้เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของการสื่อสาร ในแต่ละชิ้นงาน-แต่ละโพสต์ ล้วนแต่มีความจำเพาะของตัวเอง ฉะนั้นจึงมีอยู่หลายครั้งที่เพจระดับ 3 หมื่นไลค์ สามารถสร้างแรงสั่นสะเทือนในสังคมออนไลน์ได้ในระดับหลายพันแชร์ มีผู้รับสารเห็นถึงหลักล้านครั้ง
"ธนวัฒน์" ย้ำว่าในสถานการณ์โควิด-19 The Coverage หมายมั่นปั้นมือว่าจะหนุนเสริมการทำงานของภาครัฐและภาคประชาสังคมด้วยการ “สื่อสาร” ฉะนั้นการคัดเลือกประเด็นการนำเสนอจึงมีความเปลี่ยนแปลงไป แต่ถ้าใช้คำว่าเปลี่ยนแปลงก็อาจไม่ตรงความหมายสักเท่าใดนัก เนื่องจากไม่ได้เปลี่ยนไปทั้งหมด แต่เป็นการ “เพิ่มสัดส่วน” ของเนื้อหาอื่นๆ มากกว่า อย่างไรก็ดี เมื่อประเด็นโควิด-19 ได้กลายมาเป็นประเด็นหลักที่สามารถช่วงชิงพื้นที่ข่าวจากทุกสื่อ-ทุกช่องทางทั้งหมด จึงไม่แปลกที่ประชาชน-ผู้รับสารจะได้รับข้อมูลหลักหรือข่าวสำคัญๆ จากสื่อทุกแขนงไปแล้ว
...ดังนั้น “The Coverage” จึงปรับบทบาทมาทำหน้าที่เป็น “คู่มือ” ในการใช้ชีวิตในสถานการณ์โควิด-19 ควบคู่ไปกับการ “เปิดพื้นที่ให้คนเล็กคนน้อย” ได้สื่อสาร อาทิ ปากคำของอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) ที่ทำหน้าที่เป็นด่านหน้าคัดกรองผู้ป่วยในชุมชนแออัด แต่ทว่ายังขาดแคลนอุปกรณ์เครื่องป้องกัน รวมถึงพยายามแสวงหา “ต้นแบบ” การบริหารจัดการโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพ อาทิ คลองเตยโมเดล กับการตั้งศูนย์พักคอยรอการส่งต่อแห่งแรกใน กทม. เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และนำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป
...นอกเหนือจากบทบาทสำนักข่าวในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารอย่างตรงไปตรงมาแล้ว หลังบ้านของ The Coverage ยังเต็มไปด้วยความเดือดเนื้อร้อนใจและการขอความช่วยเหลือของผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 โดยเฉพาะการประสานหาเตียง ซึ่ง The Coverage ได้ช่วยประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จนช่วยให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาได้เป็นจำนวนมาก
....ท่ามกลางการแพร่ระบาดโควิด-19 ชนิดที่มองไม่เห็นจุดสิ้นสุด พบผู้อ่าน-ผู้รับสารจำนวนไม่น้อยที่มีความกังวล หดหู่ และเคียดแค้น สะท้อนจากการแสดงความคิดเห็นต่อเนื้อหา 2 ส่วนที่มักจะได้รับความสนใจและถูกนำไปเผยแพร่ต่อ ได้แก่ 1. เนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับความพิรุธหรือข้อกังขา ที่ชัดเจนที่สุดคือเรื่องวัคซีน-19 ชุดตรวจ Antigen Test Kit และการโยนหินเรื่องกฎหมายนิรโทษกรรม 2. เนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการของหน่วยบริการ อาทิ การจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ให้แก่ประชาชนทั่วไปที่ยังไม่เข้าถึงการรักษา การเปิด Community Isolation พื้นที่ต่างๆ
"ธนวัฒน์" ให้ความเห็นต่อไปว่า อย่างไรก็ดี แม้ว่าผู้อ่าน-ผู้รับสารจะมีความทุกข์อย่างสาหัส หากแต่ได้แบ่งปันความห่วงใยให้กับบุคลากรทางการแพทย์-คนทำงานด่านหน้าตลอดเวลา นั่นทำให้เมื่อมีข่าวความสูญเสียของบุคลากรด่านหน้า หรือวัคซีนโควิด-19 ไปไม่ถึงแพทย์-พยาบาล จะพบว่าอารมณ์ร่วมของสังคมผู้อ่าน The Coverage เป็นไปอย่างเคียดแค้นและเดือดดาล
....ก่อนสถานการณ์โควิด-19 พบว่าพื้นที่การสื่อสารในประเด็นการแพทย์ การรักษา หมอหยูกยา มีอย่างกว้างขวาง โดยปรากฏอยู่ในทุกแพลตฟอร์ม ที่สำคัญคือไม่ได้ผูกติดเฉพาะช่องทางของสื่อมวลชน หรือองค์กรสื่อเท่านั้น แต่ถ้าพิจารณาเฉพาะการนำเสนอของสื่อมวลชนแล้ว พบว่าประเด็นสุขภาพ-สาธารณสุข จะได้รับการนำเสนอตามวาระเสียมากกว่า หรือที่พบบ่อยก็จะเป็นการมุ่งเน้นไปที่ “How-To” เกี่ยวกับโรค ซึ่งอย่างที่กล่าวไว้ตอนต้นว่า เนื้อหาที่เกี่ยวกับระบบสุขภาพ หรือการปะติปะต่อ-ย่อยเนื้อหาที่เข้าใจยากให้ง่าย ยังถือเป็น “ช่องว่าง” หรือสิ่งที่ขาดหายไปในพื้นที่การสื่อสาร โดยเฉพาะ “บทวิเคราะห์” และการเชื่อมโยงความสัมพันธ์เพื่ออธิบายเบื้องลึกเบื้องหลังของเหตุการณ์ปัจจุบันยังมีน้อยมาก แม้แต่ “The Coverage” เองก็ยังต้องเพิ่มเติมเนื้อส่วนนี้ขึ้นอีก ที่เห็นในปัจจุบันมีเพจ “Gossipสาสุข” ที่ทำหน้าที่นี้ได้อย่างน่าชื่นชม
"The Coverage” จึงปรับบทบาทมาทำหน้าที่เป็น “คู่มือ” ในการใช้ชีวิตในสถานการณ์โควิด-19 ควบคู่ไปกับการ “เปิดพื้นที่ให้คนเล็กคนน้อย” ได้สื่อสาร อาทิ ปากคำของอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร ที่ทำหน้าที่เป็นด่านหน้าคัดกรองผู้ป่วยในชุมชนแออัด แต่ทว่ายังขาดแคลนอุปกรณ์เครื่องป้องกัน รวมถึงพยายามแสวงหา “ต้นแบบ” การบริหารจัดการโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพ
และหลังอ่านบทสัมภาษณ์คนทำงานจากทั้งสามสื่อดังกล่าว หากใครยังไม่เคยได้ติดตามหรือเข้าไปชมคอนเทนต์ต่างๆ ในสามสื่อดังกล่าว ก็ไม่ควรรอช้า คลิกเข้าไปอ่านข้อมูลต่างๆ ด้านการแพทย์-สาธารณสุข ที่มีให้อ่านมากกว่าแค่เรื่องโควิด-19 ได้เลย