วิวัฒนาการ “การสอบสวน” ของตำรวจไทย?

“คดีผกก.โจ้ เอาถุงคลุมหัวผู้ต้องหาเครือข่ายยาเสพติด”  ถือเป็นคดีเขย่าวงการตำรวจไทย ยิ่งหากการทรมานประสงค์รีดทรัพย์เหยื่อจนเสียชีวิต  สังคมยิ่งรับไม่ได้กับพฤติกรรมที่โหดร้ายโดยใช้สถานที่ราชการเป็นที่ลงมือก่อเหตุ  รวมทั้งการพยายามปิดบังสาเหตุการเสียชีวิต  ด้วยการยัดเยียดเสพยาเกินขนาดเพื่อปิดบังความผิดของตัวเอง  จนเกิดข้อครหาว่า “ตำรวจกลายเป็นโจรในเครื่องแบบ”

กรณีอดีตผู้กำกับเมืองนครสวรรค์ ตกเป็นผู้ต้องหาหลังร่วมกับลูกน้อง 6 คนทรมานผู้ต้องหาคดียาเสพติด โดยใช้ถุงพลาสติกคลุมศีรษะจนขาดอากาศหายใจเสียชีวิตคาห้องสืบสวน ถือเป็นครั้งแรกที่วิธีการคลุมหัวทรมานผู้ต้องหาถูกเผยแพร่ออกสู่สาธารณะ แม้จะเป็นวัฒนธรรมที่ตำรวจทำกันมานาน ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น แต่ไม่ใช่เรื่องที่จะนำมาคุยกันในที่แจ้ง

อลงกรณ์ เหมือนดาว บรรณาธิการข่าว 3 มิติ  ยอมรับว่า การบังคับทารุณกรรมด้วยอุปกรณ์ต่างๆ ทั้งใช้ไฟลน และถุงครอบหัว เป็นวิธีการสืบสวนสอบสวนของตำรวจไทยที่ปฏิบัติสืบทอดกันมานานแล้ว ซึ่งเป็นการซ้อมทรมานผู้ต้องหาเพื่อให้ได้ข้อมูล  แต่เนื่องจากในอดีตยังไม่มีการถ่ายคลิปหรือกล้องวงจรปิด   ส่วนตัวกลับมองว่าความรุนแรงในปัจจุบันเมื่อเปรียบเทียบกับในอดีตถือว่าลดน้อยลง เพราะนักสืบรุ่นใหม่จะมีวิธีการต่างๆ โดยอาศัยอุปกรณ์เทคโนโลยีความก้าวหน้าตามยุคสมัย

การพิสูจน์ข้อเท็จจริงด้วยเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาช่วยลดการซ้อมทรมานผู้ต้องหาได้มากขึ้น  แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีการทำร้ายผู้ต้องหาเลย  เช่นการใช้โทรศัพท์มือถือและกล้องวงจรปิดที่มีการติดอยู่ตามสถานที่ และถนนหนทาง  วิธีการสืบก็เปลี่ยนไป ยกตัวอย่างเหตุคนร้ายปล้นชิงทรัพย์ ตำรวจสามารถติดตามผู้ต้องหา ผ่านกล้องวงจรปิดในที่เกิดเหตุ  เราจะเห็นเส้นทางต่างๆที่คนร้ายขับรถหนี จนนำไปสู่การจับกุมได้อย่างรวดเร็ว  ทั้งนี้ยอมรับว่า วิวัฒนาการของการสืบสวนของไทยดีขึ้น  นิติวิทยาศาสตร์ก็มีความสำคัญมากในการสืบสวนสอบสวน

อลงกรณ์  ยังบอกอีกว่าจากประสบการณ์ทำข่าวมานานกว่า 30 ปี ที่ผ่านมาเคยตรวจสอบการทุจริตของภาครัฐหลายหน่วยงาน รวมถึงเกี่ยวข้องกับผู้มีอิทธิพล  ก็มีบ้างที่ทีมข่าวภาคสนามถูกข่มขู่แต่ยังไม่เคยได้รับอันตรายถึงชีวิต ซึ่งทีมข่าวต้องมีวิธีการหลีกเลี่ยง  เพราะนักข่าวแตกต่างจากตำรวจที่มีอาวุธและกฎหมายอยู่ในมือเมื่อเจอคนร้ายก็สามารถสู้กับคนร้ายได้   แต่นักข่าวมีเพียงกล้องบันทึกภาพและเสียง  ดังนั้นการแฝงตัวไปสืบเพื่อเอาหลักฐานมาตีแผ่อาจต้องใช้เวลาเป็นเดือนเพื่อให้ได้งานชิ้นนั้นมา 

นอกจากนี้มองว่าการสืบสวนถูกพัฒนามาอีกขั้นหนึ่งด้วยอุปกรณ์ที่เยอะขึ้นทำให้การทำงานของเจ้าหน้าที่ง่ายขึ้นเช่นกัน  กรณีผู้สื่อข่าวเมื่อได้ข้อมูลลับมา ต้องตั้ง2ประเด็น ว่าเราจะดำเนินการอย่างไร 1.คือตีแผ่เปิดประเด็นเลย  หรือ2. เราเลือกจะเปิดเผยกับเจ้าหน้าที่ที่ไว้ใจได้เพื่อร่วมตรวจสอบข้อเท็จจริง  

สำหรับพฤติกรรมถุงคลุมหัวรีดทรัพย์  ถือว่ามีมานานแล้วรวมถึงการทุบซ้อมผู้ต้องหาด้วยไม้ที่หุ้มด้วยผ้า  หรือหมอนรอง เพื่อไม่ให้มีรอยช้ำตามลำตัว เป็นวิธีที่ให้คนร้ายยอมสารภาพ  ที่ผ่านมาผมได้คุยกับหมอชันสูตรพลิกศพ  ระบุว่าเมื่อไหร่ที่รัดปากถุงบริเวณลำคอมนุษย์ทั่วไปสามารถทนได้นานที่สุดคือ 4 นาทีเศษๆ ซึ่งเมื่อดูจากคลิปอดีต ผกก.โจ้  ใช้เวลารัดคอผู้ต้องหานานถึง 6นาทีกว่า ซึ่งเกินกว่ามนุษย์จะทนได้

กรณีคดี ผกก.โจ้ ที่รับสารภาพ วิเคราะห์ว่าพฤติกรรมนี้ไม่ได้เป็นการทำครั้งแรก โดยตั้ง 3ประเด็นหลัก คือ 1. การแจ้งว่ามีสารแอมเฟตามีนในร่างกายไม่เกี่ยวกับการเสียชีวิต  2.หลังเกิดเหตุเริ่มมีเหยื่อที่เคยเข้ามาห้องนี้ ถูกซ้อมรีดทรัพย์ และ3.คดีนี้มองว่ายังไม่ได้มีการเรียกเงิน  เพราะมี 1 ตำรวจชุดปราบปรามยาเสพติด ของสภ.เมืองนครสวรรค์  ให้ปากคำกับตำรวจกองปราบว่าวิธีการรีดของตำรวจชุดนี้ จะต้องรีดขยายผลหาของกลางก่อน  ซึ่งหากได้ของกลางมากเท่าไหร่หลักสินบนก็จะเพิ่มขึ้น

ติดตามรายการ​ ช่วยกันคิดทิศทางข่าวทุกวันอาทิตย์ เวลา 11.00 12.00 น. เป็นความร่วมมือของ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  และคลื่นข่าว MCOT News FM 100.5

#ช่วยกันคิดทิศทางข่าว

#สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

#สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ #Thaijournalistsassociation