“การทวงคืนสมบัติชาติของไทยหลายชิ้นที่ผ่านมา เป็นการทำงานอย่างหนักหน่วง ของฝ่ายไทยและสหรัฐ โดยมีกฎหมายที่เอื้อให้กับประเทศไทย คือการปราบปรามการฟอกเงิน จึงเข้าล็อกเมืองไทย”
ผลสำเร็จการทำงานของทุกสาขาอาชีพ ในการสร้างขวัญกำลังใจและเกิดความร่วมมือ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานต่างๆที่มีคุณภาพต่อไป รวมถึงการทำงานของคนข่าวด้วยเช่นกัน
ล่าสุด “รางวัลนาฏราช” ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 12 มีชื่อผลงาน รางวัลสกู๊ปข่าวยอดเยี่ยม คือ สกู๊ป “ทวงคืนสมบัติชาติจากอุ้งมือสหรัฐฯ” เป็น 1 ในรางวัลประเภทรายการโทรทัศน์ จากจำนวน 11 รางวัล ที่ประกาศในปี 2564
“จิราพร คำภาพันธุ์ ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส” คนข่าวที่เป็นฟันเฟือนสำคัญ ในการทำให้สกู๊ปดังกล่าว ได้รับรางวัลอันทรงคุณค่านี้ ถ่ายทอดเรื่องราวผ่านรายการ “ช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ด้วยน้ำเสียงภูมิใจว่า ท้าทายความสามารถดิฉันมาก เพราะเป็นทั้งข่าวเจาะและข่าวสืบสวน ซึ่งสื่อไทยหลายช่องไปทำสกู๊ปข่าวมา ดังนั้นเราจะทำอย่างไรให้ข้อมูลนี้ลึกมากขึ้น ทำให้มองเห็นโครงสร้างข่าวเลยว่าคงไม่ได้คุยแค่กับคนไทย แต่คงต้องไปต่างประเทศ เพราะเกี่ยวข้องกับสหรัฐอเมริกา
เป้าหมายที่วางไว้คือต้องการจะทำให้เห็นช่องโหว่ ที่ยังมีกระบวนการลักลอบขนโบราณวัตถุออกนอกประเทศ อยากทำให้เห็นว่าสมบัติชาติที่หายไป ถ้าได้กลับคืนมาแล้ว จะทำให้ลูกหลานของคนในพื้นถิ่น ที่เขาไม่เคยเห็นเขาได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์บ้านของเขา ว่าโบราณวัตถุชิ้นนี้เกี่ยวข้องกับชุมชนของเขาอย่างไร
กรณี “ทับหลังปราสาทหนองหงส์” ต.โนนดินแดง อ. โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ และ “ทับหลังปราสาทเขาโล้น” บ้านเจริญสุข ต.ทัพราช อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว เป็นมหากาพย์ มีสื่อมวลชนหลายสำนักทำข่าวเรื่องนี้จำนวนมาก เนื่องจากรับรู้ข้อมูลข่าวสารจาก กลุ่มสำนึก 300 องค์ และเริ่มต้นจากกลุ่มนักวิจัยอิสระ ที่สนใจทางด้านโบราณคดี แล้วไปพบภาพถ่ายหลักฐานที่อยู่ตามพิพิธภัณฑ์ในต่างประเทศ
ดิฉันกลับไปทำงานชิ้นนี้อีกรอบ จากการที่กลุ่มชาวบ้านลุกขึ้นมาทวงคืนสมบัติชาติในท้องถิ่นของเขา ประกอบกับกลุ่มสำนึก 300 องค์ เป็นตัวตั้งตัวตีในการค้นคว้าหาข้อมูล และไปเจอภาพถ่าย หลักฐานต่างๆพบความเชื่อมโยงว่า โบราณวัตถุ ที่เขาเจอทั้ง “ทับหลังปราสาทหนองหงส์” และ“ปราสาทเขาโล้น” เคยทวงคืนเมื่อ 4 ปีที่แล้ว แต่ไม่มีความคืบหน้า ทำให้กองบรรณาธิการข่าว และดิฉันสนใจค้นคว้าข้อมูล
โดยวางแผนทำเป็นซีรี่ย์ 3 EP เดินทางลงพื้นที่ จ.บุรีรัมย์ ไปหาชาวบ้านร่วมกับนักวิชาการ เพื่อค้นคว้าในเรื่องนี้ ซึ่งแหล่งข่าวที่เรามีทั้งหมดในประเทศไทยได้ข้อมูลมาแล้ว แต่ยากตรงที่เชื่อมโยงกับต่างชาติ คือ สหรัฐอเมริกา จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายดิฉันมาก เพราะแหล่งข้อมูลอยู่ต่างประเทศทั้งหมด ทำอย่างไรถึงจะน่าสนใจ แต่เราอยากรู้ชุดข้อมูลจากต่างชาติ ที่เขาเคยทำเรื่องนี้มาแล้ว กับหน่วยงานที่เป็นกระทรวงความมั่นคงมาตุภูมิของสหรัฐ ดิฉันก็ได้ข้อมูลจากนักวิชาการอิสระ จึงอีเมลไปขอสัมภาษณ์ ถือว่าเป็นงานแรกที่เราใช้ภาษาอังกฤษ ในการสัมภาษณ์แหล่งข่าว
ขณะเดียวกันอาจารย์ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ นักวิชาการอิสระ กลุ่มสำนึก 300 องค์ ซึ่งเคลื่อนไหวในการทวงคืนมรดกวัฒนธรรมของไทยจากต่างชาติ แนะนำให้สัมภาษณ์นักข่าวของสหรัฐอเมริกาคนหนึ่ง มีประสบการณ์และการันตีบอกว่า ถ้าเราไปคุยกับเจ้าหน้าที่ security ของสหรัฐอเมริกา เพื่อที่จะนำทับหลังหรือสมบัติชาติของเรา ในพิพิธภัณฑ์ต่างๆกลับคืนมา โดยไม่เสียสตางค์แม้แต่บาทเดียวในการฟ้องศาล เราจึงอยากรู้ว่าประสบการณ์ของเขาที่ ทำงานต่อสู้นั้นมีความเป็นมาอย่างไร ทำให้ต้องสืบค้นข้อมูลเยอะมาก เพื่อที่จะไปขอสัมภาษณ์ ซึ่งก็ได้รับความร่วมมืออย่างดี แล้วดิฉันต้องไปคุยกับนักวิจัยต่างชาติที่เคยมาทำงาน พิพิธภัณฑ์บ้านเชียงในเมืองไทยเพื่อขอข้อมูลด้วย
ดิฉันได้ขอให้เพื่อน ซึ่งอยู่รัฐแคลิฟอร์เนีย ช่วยถ่ายภาพภายนอกพิพิธภัณฑ์ที่มีโบราณวัตถุของไทย 2 ชิ้นนี้ กับอีกหลายชิ้นส่งมาให้ เพราะอยากรู้ว่าที่พิพิธภัณฑ์เป็นอย่างไร และได้พูดคุยกับนักข่าวที่เคยไปพิพิธภัณฑ์แห่งนั้น ซึ่งเคยเห็นโบราณวัตถุอีกหลายชิ้นที่เป็นสมบัติชาติ ว่าอยู่ตรงจุดไหน เขาบอกว่าเป็นห้องพิพิธภัณฑ์ศิลปะของเอเชียโดยเฉพาะ ดังนั้นการทำสกู๊ปข่าวชิ้นนี้จึงต้องสร้างกราฟฟิกอิโมจิ เป็นห้องพิพิธภัณฑ์ภายในศิลปะเอเชีย สหรัฐอเมริกาขึ้นมา จึงต้องใช้หลากหลายศาสตร์หลากหลายองค์ประกอบ ในการที่จะทำข่าวชิ้นนี้
“การทวงคืนสมบัติชาติของไทยหลายชิ้นที่ผ่านมา ความจริงแล้วเป็นการทำงานอย่างหนักหน่วง ของฝ่ายไทยและสหรัฐ โดยมีกฎหมายที่เอื้อให้กับประเทศไทย คือการปราบปรามการฟอกเงิน จึงเข้าล็อกเมืองไทย เพราะเราก็มีกฎหมาย พ.ร.บ.โบราณสถานโบราณวัตถุศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพ.ศ. 2504 หมายความว่า ถ้าโบราณวัตถุชิ้นนั้น ถูกขนย้ายออกไปจากประเทศไทย หลังจากปี 2504 เป็นของผิดกฎหมายทันที ถ้าไม่มีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษร ไม่มีการประทับตราจากกรมศิลปากร และหากไปพบในพิพิธภัณฑ์เหล่านั้น หาหลักฐานที่มาที่ไปไม่ได้ คือ เป็นกระบวนการขโมยเอาไปทันที”
วัตถุโบราณของเราที่ไปอยู่ในพิพิธภัณฑ์ หลายชิ้นก็จะทยอยกลับมา ไม่ต้องมีข้อแลกเปลี่ยน ทั้งในเรื่องของเงินทองและโบราณวัตถุที่เขาขอแลกเปลี่ยน ไปไว้ในพิพิธภัณฑ์ เพราะว่าเขายอมจำนนด้วยหลักฐานว่า ขโมยเราไปหรือได้ไปแบบไม่ถูกต้อง ไม่มีหลักฐานว่าซื้อมาจากไหน หรือกรมศิลปากรประทับตราหลักฐานออกไป นอกจากทับหลัง 2 ชิ้นนี้ ยังมีโบราณวัตถุที่รอทวงคืน คือ ประติมากรรม กรุประโคนชัย มูลค่ากว่า1,000 ล้านบาท หลังถูกลักลอบขุดไปจากเขาปลายบัด 2 จ.บุรีรัมย์ จำนวน 300 องค์ ซึ่งขณะนี้ไม่เหลืออยู่ในประเทศไทยแม้แต่องค์เดียว
จิราพร ทิ้งท้ายด้วยน้ำเสียงภูมิใจว่า หากนำโบราณวัตถุกลับมายังประเทศไทยได้ ประเทศเพื่อนบ้านของเราที่มีอารยธรรม ,วัฒนธรรมและศิลปะคล้ายถึงกัน ซึ่งโบราณวัตถุตกไปอยู่ในมือต่างชาติ ก็จะได้รับอานิสงส์ในการทวงคืนด้วย เพราะมีแรงสั่นสะเทือนที่กระเพื่อมถึงกันด้วย
ติดตาม “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ทุกวันอาทิตย์ เวลา 11.00-12.00 น.โดยความร่วมมือของ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และ คลื่นข่าว MCOT News FM 100.5

#ช่วยกันคิดทิศทางข่าว
#สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
#สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ #Thaijournalistsassociation